๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒

ขอประทานกราบทูลใต้ฝ่าพระบาท ทรงทราบ

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒ และวันที่ ๔ ไว้แล้ว พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

ที่ทรงพระเมตตาประทานข้อทรงสันนิษฐานเรื่องการพลี ข้าพระพุทธเจ้าอ่านเพลินที่สุด เพราะทำให้ได้ความรู้สว่างหมด ไม่มีข้อเคลือบคลุมสงสัยอีกต่อไป การตั้งบัตรพลีบนสาน เป็นพลีผีชั้นสูง ส่วนบัตรพลีเวลาทำพิธีเบิกโลงเป็นพลีผีชั้นเลว จึงได้วางเครื่องพลีไว้ในโลง เครื่องพลีก็มีน้อยกว่า การถวายข้าวพระพุทธก็คงเป็นพลีอย่างหนึ่ง เป็นจัดตั้งพลีด้วยใจเคารพ พอเป็นพิธี ซึ่งในชั้นเดิมคงจะตั้งใจลากเข้าเรื่องเซ่นผี เพราะทิ้งเรื่องนับถือผีไม่ได้

เรื่องตารางเผาศพ เดิมเป็นหกเสาเท่ากับเป็นสองห้อง คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า เรือนโบราณมักทำเป็นสามห้อง อาจหลีกเรื่องปลูกเรือนเป็นหกเสา เพราะไปเข้ารูปกับที่เผาศพ ข้าพระพุทธเจ้าซักถามนายสุด ได้ความว่าทางอีศานถือนัก ไม่ยอมปลูกเรือนเป็นสองห้อง แม้เป็นกระท่อมจะมีขนาดเล็กเท่าใด ก็ต้องทำเป็นสามห้องเสมอ ที่ทรงสันนิษฐานเรื่องตารางเผาศพสี่เหลี่ยมหกเสา แก้เป็นสี่เหลี่ยมสี่เสา เป็นพะยานว่าศพหีบมาก่อน ศพโกศมาที่หลัง ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำริเป็นอย่างยิ่ง เป็นอันได้ความชัดขึ้นว่าประเพณีแต่งศพมาจากอินเดีย และมาสู่ประเทศไทยในยุคหลัง ย่นทางค้นคว้าต่อไปแคบเข้า ข้าพระพุทธเจ้าจะลองหาและส่งหนังสือที่เขาอ้างไว้ในเรื่องแต่งศพนั่ง ของอินเดีย ดังได้กราบทูลชื่อหนังสือไปแล้ว ลางทีจะได้เค้าจากหนังสือนี้บ้าง

เรื่องบุรุษมีปมร้อยหนึ่งของมอญ เจ้าคุณสุเมธาเล่าให้ข้าพระพุทธเจ้าฟัง ไม่ได้กล่าวถึงพระนามกษัตริย์ ครั้นข้าพระพุทธเจ้าได้อ่านเรื่องในหนังสือลำดับสกุลคชเสนี แจกในงานศพพระยาพิพิธมนตรี กล่าวไว้ว่ากษัตริย์องค์นั้นทรงพระนามว่า พระเจ้าสมิงสินนะคงคา กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้าเชื่อขึ้นมากว่าเรื่องแสนปม จะมาจากอินเดียใต้ เพราะคงคา หรือคางคะ เป็นชื่อราชวงศ์กษัตริย์ในอินเดียใต้ มีแพร่หลายอยู่มากศาขา ลางทีก็ว่าราชวงศ์คางคะเป็นศาขาหนึ่งของราชวงศ์ปัลลว ราชวงศ์คางคะซึ่งเป็นสายสำคัญในสมัยโบราณมีอยู่ ๒ สาย คือ ราชวงศ์คางคะครองแคว้นเตลิงคานะสายหนึ่ง และราชวงศ์คางคะครองแคว้นไมโสรหรือมหิศาสุรอีกสายหนึ่ง แคว้นเตลิงคานะ ว่าเป็นคำเดียวกับ ตริกลิงค์ คือกลิงค์ทั้งสาม แคว้นกลิงคราษฎร์ก็อยู่ในเตลิงคานะตอนเหนือ คำว่า เตลง นักปราชญ์ฝรั่งลงความเห็นว่า มาจากชื่อแคว้นเตลิงคานะ เพราะชาวอินเดียแคว้นนี้ไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ในประเทศมอญมาแต่โบราณกาล มอญเองก็รังเกียจ จะไม่เรียกชาติของตนว่า เตลง เพราะพะม่าลากเข้าไปเป็นคำของพะม่า แปลว่า เหยียบย่ำ หมายความว่ามอญถูกพระเจ้าอลองพญาเหยียบย่ำจนมอญต้องเสียบ้านเมือง ในพงศาวดารมอญ ฉะบับโรงพิมพ์หลวง กล่าวถึงต้นเหตุสร้างเมืองหงสาวดีว่า พวกแขกชาวเมืองพิทยานครลงเรือสำเภาเภตรามาจองที่สร้างเมืองในประเทศมอญ แต่ถูกพระอินทร์ช่วยมอญโกงแขก โดยลอบไปฝังเสาทองคำให้ลึกลงไปกว่าเสาของแขก เมืองพิทยานครนี้คือเมืองวิชัยนคร ในแคว้นเตลิงคานะ จึงส่อให้เห็นว่าชาวอินเดียแคว้นเตลิงคานะเกี่ยวข้องกับมอญมาก ถ้ามอญจะได้เรื่องบุรุษมีปมร้อยหนึ่งมาจากเรื่องนิยายของกษัตริย์ในราชวงศ์คังคะครองแคว้นเตลิงคานะ ดูก็สมเหตุผล แต่นิยายชะนิดนี้ในหนังสือพงศาวดารคงไม่มีกล่าว จะมีก็แต่เป็นเรื่องนิยายชาวบ้าน ข้าพระพุทธเจ้าได้วานสวามีสัตยนันท์ช่วยสอบถามชาวอินเดียแคว้นเตลิงคานะ แต่ก็ไม่ได้ความเรื่องนิยายนี้

เรื่องราชวงศ์คางคะแห่งแคว้นไมโสร ก็แปลก นักปราชญ์อินเดียคนหนึ่งอ้างหลักฐานไว้ว่า เจ้าในราชวงศ์คางคะองค์หนึ่ง ได้ลงเรือข้ามทะเลอ่าวเบงคอลมาขึ้นบกที่แถวตะกั่วป่า แล้วเดินบกมาตั้งบ้านเมืองอยู่แถวไชยา เจ้าองค์นี้คือปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ไศเลนทร แห่งอาณาจักรศรีวิชัย นักปราชญ์ฝรั่งคนหนึ่งกล่าวว่า ไศเลนทร เป็นชื่อหนึ่งของภูเขาหิมาลัย แม่น้ำคงคาจึงได้ชื่อว่าธิดาแห่งไศเลนทร กษัตริย์แห่งกรุงศรีวิชัยจึงเอานามไศเลนทร ซึ่งเกี่ยวกับคงคามาตั้งเป็นชื่อราชวงศ์ ข้อแปลกอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในทำเนียบศักดินาเจ้าเมืองชุมพร เป็น พระยาเคางะทราธิบดีศรีสุรัตวลุมหนัก เสียงใกล้กับ คางคะ มาก ชรอยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงทราบความข้อนี้ จึงทรงแก้เป็นพระยาคงคาธราธิบดี สุรัตวลุมหนัก ก็เป็นคำที่แปลก ผู้รู้ภาษาสํสกฤตก็แปลไม่ออก แต่ วลุม มีปรากฏเป็นสร้อยชื่อของกษัตริย์จาม

ข้าพระพุทธเจ้าได้สำรวจดูคำพ้องระดับเสียง ที่ใช้ไม้เอกและไม้โทปรากฏว่าของไทยใหญ่ออกเสียงไม่เหมือนกัน เช่น

(กรุงเทพฯ) (อีศาน) (ไทยใหญ่)
ข้า (ทาส) ข่า ข้า
ค่า ค๊า ก้า
ข้าง ข่าง ข้าง
ค่าง (ลิง) ค๊าง ก้าง
ขี้ ขี่ ขี้
คี่ คี๊ก กี้ก
ขั้น ขั่น ขั้น (แปลว่าแยกออกเป็นตอน)
คั่น คั๊น กั๋น (คัน กั้น แปลว่าล้อมไว้)
ท่า (คอย) ท๊า ถ้า
ท่า (น้า) ท๊า ต้า
เถ้า เถ่า เถ้า
ขี้เท่า เท๊า เต้า
ผึ้ง เผิ่ง เผิ้ง
พึ่ง เพิ๊ง เบิ้ง
ผู้ ผู่ ผู้
พู่ พู๊ ปู้

คำที่กรุงเทพ ฯ เขียนเป็นอักษรต่ำผันไม้เอก ของไทยใหญ่เป็นอักษรกลางผันไม้โท ระดับเสียงตรงกัน ถ้าเป็นอักษรสูงผันไม้โท เสียงพยัญชนะและระดับเสียงตรงกัน นับว่าระดับเสียงของไทยใหญ่ใกล้กับของกรุงเทพ ฯ มากกว่าอีศาน อักษรไทยใหญ่ไม่มีพวกอักษรต่ำ นอกจากพวกนาสิก คือ ง ญ น ม ส่วนอรรธสระ ย ร ล ว มีครบ แต่ ร ใช้เฉพาะคำมาจากบาลี ถ้าเป็น ร ในคำไทยก็ใช้ ห ทุกคำ อักษรสูงในไทยใหญ่อ่านเป็นอักษรต่ำในวรรคได้เช่น คน (กวน ผสม) เขียนเป็น ขุน แต่อ่านว่า คน ส่วน คน (มนุษย์) เขียนเป็น กุน แต่อ่านว่า ก๋น คำที่ขึ้นต้นด้วยอักษรกลางที่ไม่มีผัน ออกเสียงเป็นไม้จัตวาทุกคำ เช่น กิน เป็น กิ๋น ตน เป็น ต๋น ส่วนคำที่มีผันตรงระดับเสียงกับของกรุงเทพ ฯ หมด เสียง ซ ไม่มี ใช้พยัญชนะ ส ตัวเดียว ซึ่งออกเสียงเป็น ส หรือ ซ แล้วแต่คำ อย่างเดียวกับ ข-ค ถ-ท และ ผ-พ เสียง ฝ ฟ ไม่มี ใช้ ผ-พ แทน พยัญชนะ ญ ออกเสียงเป็นขึ้นนาสิก และมักชอบใช้เป็นตัวสกดในแม่กน ถ้ามีเสียงสระ อุ อู เช่น กุญ กูญ ก็ออกเสียงเป็น กุย กอย กวย ไป สระอิ อ่านเป็น อิ เอ แอ ได้ สุดแล้วแต่คำที่ใช้ ต้องเรียนจากพูด ดูตัวหนังสือไม่ได้ อย่างเดียวกับระดับเสียง ซึ่งต้องเรียนจากพูดเหมือนกัน สระ อุ ก็เป็น อุ โอ และ อัว เช่น ขุน อ่านเป็น ขุน คน ควน ก็ได้ แล้วแต่ข้อความในประโยค

ข้าพระพุทธเจ้าสอบเรื่อง ประโคมศพ ได้มาดั่งนี้

ครั้งโบราณการประโคมศพ ตามปกติใช้กลองมลายู ๒ คู่ ปี่ ๑ และฆ้องเหม่ง ๑ เรียกกันเป็นสามัญว่า กลองสี่ปี่หนึ่ง ประโคมเป็นเพลงบัวลอย เป็นระยะทุกยามตลอดรุ่ง เดี๋ยวนี้เล่นเพียง ๒ ยาม ไปประโคมอีกครั้งเมื่อย่ำรุ่ง ระหว่างประโคม ถ้ามีผู้อยากฟังเพลงอื่น ๆ ก็เล่นให้ได้ ในเวลานี้การเล่นเพลงบัวลอยประโคมศพ ใช้กลองมลายูคู่ ๑ ปี่ ๑ และฆ้องเหม่ง ๑ เพลงที่ใช้เล่นเป็นพื้น มีชื่อโดยลำดับ คือ บัวลอย นางหน่าย กระดี้รี นางหง หกขะเมน ไต่ลวด (หกขะเมรตีลังกา ข้าพระพุทธเจ้าเคยค้นหาเหตุไม่พบ ดูเป็น หกของเขมร และ ตีของลังกา) เพลงเหล่านี้ใช้เป็นประโคมทั่วไป จะแซกเพลงอื่นในระหว่างเมื่อเวลาพระสวดจบเป็นคราว ๆ ไปก็ได้ เพลง ทุบมะหร้าว แร้งกระพือปีก กาจับปากโลง ชักฟืนสามดุ้น ไฟชุม เพลงเหล่านี้ใช้ประโคมในเวลาเผา แต่เวลาจุดไฟใช้เพลงบัวลอย การบรรเลงจะแซกเพลงอื่นก็ได้ ห้ามแต่เพลงมงคล เช่น มหาฤกษ์มหาชัย สาธุการ เทวาประสิทธิ์ ตระนิมิตร เป็นต้น เวลาทำเพลงขณะพระฉันเช้า ไม่จำกัดเพลง โดยมากใช้เพลงฉิ่งชั้นเดียวหรือเพลงฉิ่งพระฉัน ถ้าฉันเพลเล่นเพลงกระบอก ซึ่งเป็นประเภทเพลงเรื่อง ถ้ามีร้องส่งก็เปลี่ยนเป็นเล่นเพลงประเภทเสภาจำพวก ๓ ชั้น

ชื่อเพลง ที่เขาบอกข้าพระพุทธเจ้า ลางเพลงข้าพระพุทธเจ้าก็เพิ่งได้ยินชื่อ สอบถามก็ปรากฏว่ามีผู้เล่นไม่ได้หมดทุกเพลง เห็นจะสูญ เพราะในเวลานี้ ปี่พาทย์ที่เขาจ้างไปประโคมศพ ก็เล่นแต่ทำนองเพลงนางหง ๒ ชั้น เมื่อเริ่มประโคมต่อจากทำเพลงบัวลอย ต่อนั้นไปก็ทำเพลงต่างๆ เป็นเพลงตับหรือออกเป็นเพลงภาษาเท่านั้น

เรื่องคำเกี่ยวกับช้าง ข้าพระพุทธเจ้าติดขัดมากที่สุด คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าต่อไปคงสูญ เพียงแต่เรื่องกล่อมช้าง ใช้กล่อมกันที่ไหนบ้าง ตามที่พระราชวังเมือง และผู้รู้อีกคนหนึ่งอธิบายให้ข้าพระพุทธเจ้าฟัง ก็ไม่ตรงกันทั้งหมด ข้าพระพุทธเจ้าเลยบันทึกคำอธิบายไว้ทั้งสองอย่าง เก็บรักษาไว้ในหอพระสมุด เพราะมีครูและนักเรียนมาขอค้นอยู่บ้าง แต่ข้าพระพุทธเจ้านึกวิตกว่า ถ้าผิดและนำเอาไปอธิบายแก่นักเรียนก็ยิ่งยากเข้าไปอีก ในภาษามลายูมีคำว่า พังคา แปลว่า รั้วล้อม ค่าย เนินดินก็ใช้คำ พังคา ประกอบเข้ากับ ดิน อีกคำหนึ่ง พังคาร์ ว่า เสียงสนั่นหวั่นไหว โกฏ ว่าป้อม ฝรั่งนำเอาไปใช้เป็น Kote มาจนทุกวันนี้ (มลายูเป็น Kota ใช้เกี่ยวกับเชิงตะกอนเผาศพ ในวรรณคดีมลายูด้วยแห่งหนึ่ง) อาจเกี่ยวข้องกับ โคด (ในหนังสือลางแห่งเขียนว่า โคตร์แล่น ว่าเป็นพวกช้างน้ำมัน ค่ายคำ ลางแห่งเขียนเป็น ค้ำค่าย) ได้ แต่เป็นการเดา เพราะไม่ได้คำประกอบของคำว่า พังคา และ โคด จากข้อความในหนังสือ ซึ่งพอจะเดาเอาความมาเปรียบเทียบกับคำที่กราบทูลมาข้างต้นได้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ