๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๙ โปรดประทานพระวินิจฉัยคำลางคำมานั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้รับแล้ว พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ

ที่ทรงสันนิษฐานชื่อคนลางชื่อมานั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นดังกระแสพระดำริ ว่าความหมายจะเป็นดังที่ตรัส อ่วม ถ้าถือว่า อุ เป็น ว อุ่ม กับ อ่วม น่าจะเป็นคำเดียวกัน รวมทั้ง อำ ด้วยอีกคำหนึ่ง แต่ทั้ง ๓ คำนี้ไม่มีที่ใช้ในภาษาไทย เว้นแต่จะมี ชะ เติมอยู่ข้างหน้า ในภาษาจีนมีคำว่า อำ แปลว่ามืดมัว มืดดำ จะนำเอาความหมายอย่างนี้มาตั้งเป็นชื่อคน ดูก็ไม่น่าจะเปนได้ นอกจากจะให้หมายความว่า ผิวคล้ำดำ หรือครึ้มร่มเย็น แต่ก็ตกอยู่ในเดาที่ยังไม่มีหลักฐานอื่นมาประกอบ ข้าพระพุทธเจ้าพบคำว่า อิน ในภาษาจีนว่าเป็นชื่อคน แต่ไม่แปลความหมายไว้ กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้าแน่ใจขึ้นว่า อิน และ จัน เป็นชื่อไทยมาแต่เดิม

เรื่องแม่ซื้อ ทรงพระดำริว่า ควรจะเป็นคนที่รับร่อนและควรจะมีเบี้ยซื้อด้วยเช่นการศพ ที่ทรงพระดำรินี้ไม่ผิด เพราะปรากฏในศิลาจารึกวัดพระเชตุพนแผ่นว่าด้วย โองการแม่ซื้อ ซึ่งใช้เป็นบททำขวัญทารก ว่า เราสู้ขอซื้อไว้ให้เป็นเบี้ยสามสิบสาม ค่าตัวตามสินไถ่ ในสามวันเป็นลูกผี พ้นสี่วันนี้เป็นลูกคน ใช่ลูกของตนอย่าฝักใฝ่ เราให้รูปใหม่ไปต่างตัว จงไปชมชัวรูปในบัตร โภชนาจัดเส้นสรวง เราบำบวงใช้หนี้แล้ว อย่าแผ้วพานไปมา คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า แม่ซื้อ เป็น รางควาน ประจำตัวเด็ก ทำให้เกิดโรคภัยต่างๆ เมื่อคลอดออกมาภายใน ๓ วัน อาจตายได้ง่าย เพราะวิธีรักษาพยาบาลทารกเป็นอย่างง่ายๆ คงมีตายกันมาก จึงได้ว่า ๓ วันเป็นลูกผี ต่อพ้น ๓ วัน เด็กมีกำลังแข็งแรงขึ้นอาจรอดได้ มีหวังเป็นลูกคน เพื่อให้เด็กรอดจึงเอาเคล็ดสมมตให้หมอตำแยเป็นตัวแม่ซื้อ มอบเด็กให้กับหญิงคนหนึ่งรับเป็นมารดา ลางรายจะให้เงินค่าซื้อแก่หมอตำแยอัฐหนึ่ง ซึ่งคงจะเลือนมาจากให้เบี้ย ๓๓ เบี้ย หญิงรับที่เป็นมารดา ปักษ์ใต้เรียก แม่บำ หรือ มยำ อาจเป็นคำมลายู แปลกันว่าแม่ยก ดูก็เหมาะดี ข้อข้องใจข้าพระพุทธเจ้าอยู่ที่คำว่า แม่ซื้อ ในที่นี้ควรจะเป็น แม่ขาย จึงจะถูก จึงทำให้สงสัยในความหมายว่า ซื้อ ลางทีจะไม่ใช่เป็นคำเดียวกับคำว่า ซื้อขาย อาจพ้องเสียงกันก็ได้ คำที่ใกล้ที่สุดก็ สื่อ ซึ่งทางอิศานออกเสียงว่า ซือ แต่มีหางเสียงคล้าย ซื้อ หมายความว่าเข้าไปก่อน เป็นคำเดียวกับ สู่ ซึ่งทางอิศานใช้ว่า ซือ เสมอไป เทียบได้กับคำในพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรต์ รัชชกาลที่ ๒ เล่ม ๑ หน้า ๗๓ ว่า ได้ฟังคำเคืองขัดอัธยา ตวาดว่าน้อยหรือช่างซื้อรู้ ในอิศานใช้ ซือ ได้ทั้งในทางดีและทางร้าย คำว่า แม่สื่อ ในภาษาไทยก็มักเป็นไปในทางร้าย ดังในกลอนว่า อันแม่สื่อคือปิศาจ จะมีอยู่ในสุภาษิตไทยของสุนทรภู่ หรือในที่อื่น ข้าพระพุทธเจ้าจำไม่ได้ ข้าพระพุทธเจ้าจึงสงสัยว่า แม่ซื้อ จะเป็นคำเดียวกันกับ แม่สื่อ หรือ แม่สู่ ในโองการแม่ซื้อกล่าวว่า จงไปชมชัวรูปในบัตร น่าจะหมายความว่า ทำรูปทารกแทนไว้ในบัตรพลี แต่ในบัดนี้ไม่ปรากฏว่าได้ทำกัน

ที่ตรัสเล่าเรื่องพราหมณ์ทำภัทรบิฐ มีการโรยข้าวสารย้อมสีหลายสี ข้าพระพุทธเจ้าพึ่งได้ทราบเกล้า ฯ เป็นครั้งแรก เรื่องย้อมสีข้าว ในธิเบตมีแป้งย้อมสีต่าง ๆ เป็นเครื่องบูชา คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า จะมีที่มาจากอินเดียในตำราใดตำราหนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้ายังค้นหาอยู่

เรื่องพาหนะเท้าเวสวัณคือคน ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้นึกเฉลียวไปถึงเรื่องแผ่นผ้ารูปท้าวเวสวัณแขวนไว้ที่เปลเด็ก เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ ที่ประทานข้าพระพุทธเจ้ามา รวมทั้งเรื่องรังควาน ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าก็เพิ่งทราบเกล้า ฯ ว่าเป็นผีผู้หญิง ที่ทรงเห็นว่าแม่ซื้อหน้าม้าจะเป็นของเดิม ภายหลังพวกโหรคิดเพิ่มเติมขึ้นใหม่อีกหลายอย่าง คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าถูก เพราะแม่ซื้อนอกจากมีประจำวัน ๗ ตน ยังมีที่อยู่เมืองบนเมืองล่าง เดินหน และในไส้ในสะดือและที่อื่น ๆ ในตัวเด็กอีกตั้ง ๒๘ ตน ก็ไม่เห็นกล่าวไว้ว่า มีหน้าตาเป็นอย่างไร คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า แม่ซื้อ ๗ ตนแรกจะเป็นแม่ซื้อของโหร แม่ซื้อนอกนั้นจะเป็นของเดิม ข้าพระพุทธเจ้ายังค้นเรื่องม้าอยู่ว่า จะมีอะไรเกี่ยวกับแม่ซื้อบ้างหรือไม่

บัดแถลง ทรงเห็นว่าเป็นคำที่พูดกันว่า แสลง ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าถูก ว่าโดยเสียงก็สับเปลี่ยนกันได้ มีตัวเป็นแนวเทียบอยู่มาก ในตำรายาเด็กก็มีเรื่องปัดกล่าวไว้บ่อย ๆ เป็นไปในความว่าแสลงทั้งนั้น

เรื่องร่างแห พระชาลีโอรสพระเวสสันดรก็คูเหมือนได้ชื่อมาจากตาข่ายที่รองรับ แต่ที่ไปใช้คลุมเด็กตายกลับกันไป ข้าพระพุทธเจ้ากำล้งค้นหาประเพณีของชาติต่าง ๆ อยู่ ว่าจะมีพูดเรื่องร่างแหไว้บ้างหรือไม่

เรื่องฝังรก ชาวออสเตรเลียถือว่ารกเป็นที่สิ่งของวิญญาณส่วนหนึ่ง เวลาฝังต้องทำเครื่องหมายไว้ว่า ผีจะปั้นดินเป็นรูปคนเอาวิญญาณในรกนี้ไปใส่ท้องให้หญิง ทำให้ข้าพระพุทธเจ้านึกไปถึงบทสอนอ่านในมูลบทบรรพกิจ ที่ว่า พวกผีที่ปั้นลูก ติดจมูกลูกตาพลัน เป็นเรื่องที่มาพ้องความคิดเห็นกันอย่างปลาด ที่ฝังรกต้องปลูกต้นมะพร้าว คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า จะเกิดจากเรื่องไม้มิ่งประจำตัวเด็ก ซึ่งมีอยู่ในคัมภีรปฐมจินดา ของมหาเถรตำแย ว่าถ้าเกิดปีชวด เทพยดา ไม้มิ่งคือต้นมะพร้าว เกิดปีอื่นๆ ก็มีไม้มิ่งต่าง ๆ กัน เช่นเกิดปีขาล ผีเสื้อผู้ชาย ไม้มิ่งคือไม้รัง คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าถ้าถือตามนี้ เกิดปีขาลปลูกต้นรังเห็นจะไม่สะดวก เพราะลางแห่งหาต้นรังได้ยาก ส่วนต้นมะพร้าวมีอยู่ทั่วไป ทั้งดูเหมือนมีคติว่า ถ้าได้ปลูกได้ต้นตรง จะเป็นสิริมงคลด้วย จึงนิยมปลูกแต่ต้นมะพร้าว คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าน่าจะเคลื่อนที่มาดังนี้ การจะควรสถานไร แล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ที่ทรงสันนิษฐานว่า ชะ เปล่า ๆ จะเป็นอย่าง ฉันนั้น-ฉะนั้น ฉันนี้-ฉนี้ ข้าพระพุทธเจ้าลองนึกเข้าประกอบกับ ง่อน เป็น ชะง่อน แปลว่าสิ่งที่เหมือนยื่นออกมา ดูได้ความสนิท คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าจะเป็นดังที่ตรัส อนึ่งข้าพระพุทธเจ้าได้กราบทูลไปว่า ท้ายทอย กับ ทายดอย ใกล้กันมาก ยังมีคำว่า หนุ่ย ทุย ตุ่ย ล้วนมีความหมายว่ายื่นงอกออกมา ทั้ง ทุย กับ ทอย ก็มีแนวเทียบอย่าง นุ้ย กับ น้อย ท้ายทอย ก็น่าจะแปลว่าท้ายที่ทุยหรือหนุ่ยออกมา

ข้าพระพุทธเจ้าจับเขียนเรื่องพิธีเกี่ยวกับเกิด ไปได้ ๒๐ หน้ากว่า รู้สึกด้วยเกล้า ฯ มีเรื่องกระจุกกระจิกมาก เครื่องยาที่ใช้เกี่ยวกับหญิงอยู่ไฟและทารก มักไม่พ้นของหาง่ายๆ เช่น ขมิ้น ปูน ดินสอพอง มะกรูด ว่าน มหาหิง เครื่องมือก็ใช้ฝาละมีและก้นหม้อแกงเป็นพื้น จะเป็นของที่สืบมาจากโบราณจริง ๆ ส่วนที่มีแปลกออกไป จะเป็นของทีหลัง การอาบน้ำเด็กใช้อาบบนแข้ง เอาเด็กวางหว่างกลาง ก็แสดงว่าแต่ก่อนยังไม่มีภาชนะใช้ จึงต้องใช้ทำอย่างนั้น ครันข้าพระพุทธเจ้าเขียนมาถึงเรื่องทำบัตรพลีและเรื่องทำขวัญ ก็ติด เพราะบัตรพลีมีมากชะนิด เป็น ๓ มุม ๔ มุม อย่างบัตรคางหมู บัตรพลี และลางพิธีก็มีบัตรพระเกตุ ซักถามใครก็อธิบายไม่ได้ชัด แม้แต่ทำบายศรีปากชาม หนังสือลางแห่งว่ามีแมงดา แต่ที่ว่ามีเต่าก็มี ข้อสันนิษฐานที่ให้ไว้ก็เป็นชะนิดปริศนาธรรม อนุโลมไปทางพุทธศาสนาหมด เก็บเอาความรู้ที่แท้จริงไม่ได้ มาได้ความแจ่มแจ้งในลางตอน ก็ที่ในพระบรมราชาธิบาย ในพระราชพิธี ๑๒ เดือน คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าประเพณีเกี่ยวกับเกิดของเก่า เห็นจะหมดไปเร็วกว่าประเพณีเกี่ยวกับศพ เพราะสอบถามใครๆ ก็มักไม่ทราบได้ละเอียด ถ้าไม่รวบรวมไว้ จะรู้ยากเข้าทุกที

คำว่า ไส ในความว่า ไซร้ ไส้ นายสุดชี้แจงว่า ไม่มีใช้ทางภาคอีศาน ข้าพระพุทธเจ้าค้นดูในพจนานุกรมไทยถิ่นต่างๆ ก็ไม่พบ คงพบแต่คำว่า ซี ในอาหม อธิบายว่าเป็นคำประกอบหลังคำอื่นให้มีความแน่นขึ้น หรือบังคับ ถ้านึกถึงคำอย่าง พิรี้พิไร ติ กับ ไตร ในภาษาบาลีและสํสกฤต ซี กับ ไซร้ ก็เพี้ยนกันได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานอื่นยืนยัน ข้าพระพุทธเจ้านึกถึงคำว่า เสีย อีกคำหนึ่ง ในความเช่น นอนเสียเถิด มีลางท่านไม่ยอมใช้ เพราะไปคิดว่า เสีย ใช้แก่ความที่เสียหายและหมดสิ้นไป ไม่ควรใช้กับความอย่าง นอนเสียเถิด คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า เสีย จะเพี้ยนมาจาก ซี เพราะถ้าออกเสียง อิ ลากเสียงมานิดเดียว ก็เป็นสระสังโยคไป คือมีเสียง อา แซก อี อยู่นิดๆ จีนลางถิ่นออกเสียงสระเดียว เช่น อี เอ เพี้ยนเป็น เอีย ไปหมด เช่น ขี่ แต้จิ๋วจะเป็น เคี่ย แต่กวางตุ้งยังคงเสียงว่า ขี่ อยู่

ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานทราบเกล้า ฯ ว่า ๑๒ พระกำนัล กับ ๑๒ พระคลัง จะเป็นอย่างเดียวกันหรือประการไร มีนักเรียนมาถาม ข้าพระพุทธเจ้าก็จนด้วยเกล้า ฯ ตอบไม่ได้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ