๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๔๘๒

พระยาอนุมานราชธน

จะตอบหนังสือลงวันที่ ๑๒ มีนาคม ของท่าน

เถาก๊วย ฉันเคยได้ยินมา ๓ อย่าง เปน เฉาก๊วย เต๋าก๊วย เถาก๊วย ฉันเคยพูดว่าเถาก๊วย ก็เขียนให้มาเปนเถาก๊วย เปนคำตลาด ที่จริงไม่ทราบว่าคำจริงเปนอย่างไร ท่านบอกคำจริงให้ทราบเข้าใจ ขอบใจท่านเปนอันมาก ตามที่เคยได้ยินมา ๓ อย่างนั้น เฉาก๊วย เปนใกล้คำจริงมากกว่าอีก ๒ คำ ทั้งขอบใจที่ท่านบอก เต้าฮวย ให้ทราบด้วยว่าทำด้วยอะไร รู้สึกเห็นไม่เปนประโยชน์เลยที่เอาแป้งหินใส่ให้กิน เพราะแป้งหินไม่ใช่อาหาร เท่ากับคนแพ้ท้องกินดิน ทีนี้จะไม่กินอีกต่อไป ในการที่ตั้งใจจะไม่กินนั้นไม่มีขัดข้องเลย ด้วยตามปกติก็ไม่ได้กินอยู่แล้ว เว้นแต่จะมาถึงปากเข้าเองจึ่งกินโดยไม่รู้ ท่านจะบอกอีกได้หรือไม่ ว่า เต้าฮู่ เขาเอาแป้งหินใส่ให้กินหรือเปล่า เฉาก๊วยเปนใบไม้ ไม่เปนไร เปนผัก กินได้

ให้รู้สึกตันใจเปนอันมาก ที่ท่านบอกว่าพระยาอรรคนิธินิยม เกิดในกรุงเทพ ฯ อันไม่ควรจะชื่อสมุยเลย ท่านจะถามเอาสาเหตุจากพระพาหิรรัชฏวิบุลน้องชายดูนั้นดีเต็มที เสียดายแต่ไม่ทัน เพราะขึ้นไปนครราชสีมาเสียแล้ว แต่เห็นไม่ขัดข้องอะไร ท่านจะมีหนังสือขึ้นไปถามดูก็ได้ เปนแต่จะรู้ช้าไปหน่อยเท่านั้น ท่านบอกชื่อหัวเมืองและตำบลอะไรต่าง ๆ ทางปักษ์ใต้ซึ่งเข้าใจไม่ได้นั้นดีเต็มที ฉันอยากรู้อยู่ทีเดียว

อันเรื่องหนังสือไทยนั้น เปนเรื่องที่ยุ่งใหญ่มาก แต่ก็ได้คิดมากเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเมื่อคิดเห็นอย่างไรก็จะบอกให้ท่านทราบ จะใช้ได้หรือไม่ได้ก็ตามที

หนังสือของเราควรจะมีโครงเปนหนังสือจีน แต่ทำไมจึ่งเปนโครงอริยก เหตุนี้พิจารณาเห็นว่าเพราะเราต้องการเรียนธรรมทางพระพุทธศาสนา บรรดาธรรมที่มีมาก็ย่อมเขียนด้วยหนังสือทางอริยกทั้งนั้น เมื่อเราอยากรู้ธรรมก็ต้องเรียนหนังสือทางอริยกเพื่อให้อ่านธรรมออก เมื่อรู้หนังสือทางอริยกแล้วก็ถอดเอามาเขียนภาษาของตนอีกต่อหนึ่ง ซึ่งเราเรียกว่าแปลร้อย แม้พวกประเทศอื่น ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกันก็เดินทางนี้ ที่จริงเขาเดินมาก่อนด้วยซ้ำ เราเอาอย่างเขา

ตามเหตุที่เปนอยู่เช่นนี้ จึงมีนักปราชญ์คิดแก้ไขดำเนินไปเปนสองทาง คือทอนหนังสือทางอริยกออกเสียทางหนึ่ง ด้วยคิดเห็นว่าหนังสือทางอริยกนั้น จำเพาะใช้เขียนแต่ธรรม การแสวงธรรมไม่ใช่จะแสวงไปหมดทุกคน คนสามัญถ้าเรียนหมดก็เหนื่อยเปล่า จึ่งตัดเอาแต่พอที่จะเขียนภาษาของตนได้ เปนการช่วยคนสามัญ มีกอข้อเล็กของเราและหนังสือไทยน้อยของพวกอีศานเปนอย่างอยู่ ผู้ที่แสวงธรรมก็เรียนลึกเข้าไปอีก จะเปนไรไป ส่วนอีกทางหนึ่ง ท่านคิดเห็นว่ามีอะไรก็ให้เรียนรู้ไว้ให้หมด อาจเขียนอ่านอะไรก็ได้ทุกอย่าง ไม่มีบกพร่อง ที่สุดอย่างก่อนก็แพ้อย่างหลังแพ้ด้วยในภาษาของเรามีคำมคธสํสกฤตปนอยู่มาก จำเปนต้องเขียนด้วยตัวธรรม ทั้งตัวธรรมนั้นเอง อ่านออกเสียงต่างถิ่นต่างก็ไม่ลงกัน อย่าหาแต่ว่าไกลไปเลย เอาแต่ธรรมยุติกับมหานิกายในบ้านเราก็สวดมนต์ไม่เหมือนกันเสียแล้ว ซ้ำภาษาก็ไม่เหมือนภาษาอริยก แล้วมีคำของเพื่อนบ้านในภาษาอื่นอันอยู่ใกล้เคียงกันเข้ามาปะปนอีกมากด้วย เหล่านี้เปนเหตุให้ต้องเติมอะไรต่ออะไรเข้าอีกทั้งนั้น รอดตัวที่ไม่ใช่เติมฮวบฮาบในครั้งเดียว คงจะค่อยเติมค่อยไป สุดแต่จะมีอะไรขัดข้องขึ้นจึ่งพอจำ อาจสังเกตเห็นได้ที่คำว่า ฟ้า ทางเราเขียน พญา มาก่อน ทางเขมรเขียน ห๎วา ทางพม่าเขียน พวา นั่นก็เปนด้วยหนังสือทางอริยกซึ่งเปนโครงไม่มีตัว ฟ จึ่งผสมหนังสือขึ้นใช้ต่างตัว ฟ ตามที่เห็นใกล้ ภายหลังเราจึ่งเติมตัว ฟ ขึ้นใช้ นี่เปนอุทาหรณ์

ข้อประหลาดที่สำคัญมีอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งภาษาไทยไม่เหมือนภาษาเขมร มอญ พม่า ที่มีเสียงผัน จนมีนิทานเล่าหัวเราะกันอยู่ว่า พวกไทยเงี้ยวสร้างศาลาขุดบ่อน้ำไว้ริมทาง เพื่อบำรุงคนเดินทาง แต่ที่อันจะขุดบ่อน้ำนั้นจำเปนต้องทำลึกเข้าไป อันจะแลเห็นไม่ได้ในถนน จึ่งเขียนหนังสือปักบอกไว้ว่า ที่นี่มีนำ ความประสงค์ของผู้ที่เขียนไว้ ก็ตั้งใจจะบอกคนเดินทางให้รู้ว่า ที่นี่มีน้ำ อันอาจตักกินได้ แต่คนเดินทางอ่านแปลความไปเสียอย่างหนึ่งว่า ที่นี่หมีหนำ เลยรีบหนีเตลิดเปิดเปิงไป ไม่ได้พักและไม่ได้กินน้ำ เหตุนี้แหละทำให้ต้องจัดอักษรสามหมู่และวรรณยุตเพิ่มเติมเข้าอีก ทางเขมรมอญพม่าเขาสบายไม่ต้องจัดทำ ฉันจะบอกท่านให้ทราบว่า เมื่อฉันเล็ก ๆ เคยได้รับสอนให้อ่านว่า กน กั๋น กาน กิ๋น กีน อย่างเช่นท่านคิดว่าควรจะเปนเช่นนั้น ที่ท่านเคยได้ยินอ่านเปน กน กั๊น กาน กิ๊น กิน นั่นเคลื่อนไปเสียแล้ว ปฐมมาลาฉะบับที่ฉันดูไม่พบที่กล่าวถึงไม้ตรีไม้จัตวา แต่ขอสารภาพว่าไม่สู้ได้ตรวจถี่ถ้วนนัก จะหยุดเพียงเท่านี้ ยิ่งพูดไปก็จะยิ่งมากความไปอีก

เรื่องคำซึ่งเกี่ยวแก่ช้าง คาดเห็นว่าจะไม่เกี่ยวด้วยกระบวน คงจะเปนชื่อทางปฏิบัติ เช่น ช้างค่าย ก็จะหมายความว่าเรียงเปนต้น ได้ลองนึกต่อไป ช้างค้ำ สมจะเปนสำหรับรุนอะไร เช่น ช้างคัดไม้ ช้างพังคา นึกขึ้นมาได้ว่าเคยอ่านอินเดียนแฟรีเตล มีผีน้ำเรียกว่า บงคา จึ่งได้ลองเปิดพจนานุกรมสํสกฤตดู พังค วังค แปลให้ไว้ว่าชื่อเมืองเบงคัล หมดดี ช้างโคตแล่น ว่าตามที่ท่านพบในพจนานุกรมมลายู ก็เปนว่า ป้อมวิ่ง อาจได้แก่ ช้างเขน ก็ได้ โจมทัพ เห็นด้วยว่าไม่ใช่ชื่อชนิดช้างจริง

ฉันได้ตริตรองถึงข้อที่ท่านรู้สึกว่า ธรรมเนียมไทยแต่ก่อนจะถือซ้ายเปนใหญ่ เมื่อคิดประกอบกับที่ฉันบอกท่าน ถึงว่าทางราชการถือทิศเปนใหญ่นั้น เมื่อคิดเทียบกันก็ลงกัน คือถ้าถือว่าทิศตะวันออกเปนทิศหน้า ทิศเหนือก็เปนซ้าย จัดเอาผู้ใหญ่ไว้ทางเหนือ ก็คือถือว่าซ้ายเปนใหญ่นั่นเอง

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ