๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๒)

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๔๘๒

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือของท่านลงวันที่ ๒๑ มิถุนายน ได้รับทราบความแล้ว

เรื่องนกการเวก ควรจะเอาไว้ที่ไหน การจัดตั้งเครื่องราชูปโภคก็มีกรรมการอยู่แล้ว ย่อมอยู่ในข่ายความวินิจฉัยแห่งคณะกรรมการนั้น

ขอบใจท่านที่ถอดคำอรรถ ในพระราชลัญจกรสยามโลกัคราช และแปลความให้ไป พร้อมทั้งลายตราซึ่งท่านประทับมาด้วยนั้น ฉันดูตัวอย่างนั้นเปนรูปสี่เหลี่ยมจตุรัศ ตระหนักในใจว่าเปนตราองค์ที่เรียกกันว่า ช้างหมอบ เพราะมีรูปช้างหมอบอยู่บนหลังตรา มีอีกองค์หนึ่งเรียกกันว่า ช้างยืน เพราะมีรูปช้างยืนอยู่บนหลังตรา พระตราองค์นั้นเปนรูปสี่เหลี่ยมรึ มีอักษรอยู่ในนั้นเหมือนกัน แต่ฉันไม่เคยอ่านทั้งสององค์ และองค์ไหนชื่อจริงจะเรียกว่าอะไรก็ไม่ทราบ จำได้แต่ว่าช้างหมอบนั้น แต่ก่อนเคยประทับในสัญญาบัตร เข้าคู่กับตราพระบรมราชโองการใหญ่ องค์สี่เหลี่ยมรีตัดมุม พระบรมราชโองการอยู่ข้างซ้าย ช้างหมอบอยู่ข้างขวา ส่วนตราช้างยืนนั้น จำได้ว่าประทับใบพระราชทานที่วิสุงคามสีมาดวงเดียว ได้ส่งตราตัวอย่างกลับคืนมานี้แล้ว ตราช้างยืนและตราช้างหมอบสองดวงนั้น สับสนกันในเรื่องชื่อ อยู่ระหว่าง สยามโลกัคราช กับ นามกรุง คำอรรถในตราช้างหมอบ มีปรากฏอยู่ว่า สฺยามโลกคฺคราชสฺส ก็ต้องเปนตราชื่อว่าสยามโลกัคราช ส่วนตราช้างยืนก็ต้องเปนนามกรุง ส่วนคำแปลอรรถในตราสยามโลกัคราช ซึ่งท่านแปลให้ไป ก็เปนไปในทางที่เกี่ยวกับวัดจริงอย่างท่านว่า

สำเนาพระราชบัญญัติพระราชลัญจกร ซึ่งท่านคัดไปให้สองฉะบับนั้นดีมาก ทำให้รู้ความที่ถูกขึ้นในนั้น เช่นตราพระครุฑพ่าห์ ซึ่งใช้ประทับประจำพระอภิไธย กับ ตราหงส์พิมาน ฉันสำคัญในใจว่าฉันเขียนถวายในรัชชกาลที่ ๕ แต่ปรากฏในพระราชบัญญัติ ร.ศ. ๑๓๐ เปนเขียนถวายในรัชชกาลที่ ๖ รู้สึกในใจอยู่เหมือนกัน ว่าเขียนทีหลังตรามหาโองการนาน แต่ไม่นึกว่าถึงข้ามรัชชกาล ส่วนพระครุฑพ่าห์องค์ที่ปรากฏในพระราชบัญญัติ ร.ศ. ๑๒๒ นั้น ฉันก็เขียนถวายเหมือนกัน กับตราจักรรถฉันก็คิดเขียนถวาย เหตุด้วยไม่โปรดตราที่ใช้อยู่เก่า เพราะมีหนังสือเจ๊ก (อ๊วง มีอุณาโลมเบื้องบนอยู่ในดอกบัว)

ขอบใจท่านเปนอันมาก ที่ให้สำเนาพระราชบัญญัติทั้งสองฉะบับนั้นไป

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ