- คำนำ
- บานแผนก
- รายงานทูลเกล้าฯ ถวาย
- บานแผนกเดิม
- ๑. สร้างกรุงรัตนโกสินทร์
- ๒. พระราชพิธีปราบดาภิเษก
- ๓. ประดิษฐานพระราชวงศ์
- ๔. ตั้งข้าราชการวังหลวง
- ๕. แบ่งหัวเมืองขึ้น กลาโหม มหาดไทย กรมท่า
- ๖. ตั้งข้าราชการวังหน้า
- ๗. ตั้งตำแหน่งพระราชาคณะ
- ๘. พงศาวดารเขมร ตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรีจนนักองเองเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ
- ๙. พระราชทานคืนพระบาง และให้เจ้านันทเสนไปครองเมืองล้านช้าง
- ๑๐. องเชียงสือญวนเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร
- ๑๑. เรื่องพงศาวดารญวน
- ๑๒. พระยาปังกลิมาเจ้าเมืองกำปอดแข็งเมือง
- ๑๓. พงศาวดารพม่า ตั้งแต่มังหม่องเป็นกบฏ จนพระเจ้าปะดุงได้เมืองยะไข่
- ๑๔. อ้ายกบฏ ๒ คนเข้าวังหน้า
- ๑๕. เจ้าพระยาอภัยภูเบศรไปรั้งเมืองเขมร
- ๑๖. ทัพพระยานครสวรรค์ไปตีเมืองไซ่ง่อน
- ๑๗. สร้างพระนคร
- ๑๘. สร้างพระราชมนเทียร
- ๑๙. ทัพกรมหลวงเทพหริรักษ์ไปตีเมืองไซ่ง่อน
- ๒๐. สร้างพระมหาปราสาท
- ๒๑. สร้างวัดพระแก้ว
- ๒๒. ตำนานพระแก้วมรกต
- ๒๓. ปฏิสังขรณ์วัดสลัก
- ๒๔. ปิดคลองลัด
- ๒๕. ทำศพเจ้ากรุงธนบุรี
- ๒๖. ได้ช้างสำคัญ
- ๒๗. ลดตำแหน่งพระเจ้านครศรีธรรมราช และตั้งเจ้าพระยานครพัด
- ๒๘. พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
- ๒๙. สมโภชพระนคร
- ๓๐. กรมหลวงอิศรสุนทรเสด็จมาอยู่พระราชวังเดิม
- ๓๑. น้ำมากข้าวแพง
- ๓๒. ศึกพม่าครั้งที่ ๑
- ๓๓. รบพม่าเมืองกาญจนบุรี
- ๓๔. รบพม่าเมืองราชบุรี
- ๓๕. กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จแหลมมลายู
- ๓๖. รบพม่าทางเมืองเหนือ
- ๓๗. ตั้งกรมพระราชวังหลัง
- ๓๘. รบพม่าทางแหลมมลายู
- ๓๙. ปราบเมืองมลายู
- ๔๐. หล่อปืนใหญ่
- ๔๑. ตั้งท้าวเทพสตรี ท้าวศรีสุนทร
- ๔๒. สร้างวังเจ้าเขมร
- ๔๓. องเชียงสือหนีจากกรุงเทพฯ
- ๔๔. ศึกพม่าครั้งที่ ๒
- ๔๕. สร้างมณฑปพระพุทธบาท
- ๔๖. กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จไปตั้งเมืองเชียงใหม่
- ๔๗. พระราชทานเรือและเครื่องอาวุธช่วยองเชียงสือ
- ๔๘. ทัพหลวงไปตีเมืองทวาย
- ๔๙. ฝรั่งเข้ามาพนันชกมวย
- ๕๐. พระราชทานเรือรบและปืนช่วยองเชียงสือ
- ๕๑. ทรงผนวชสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่
- ๕๒. องเชียงสือถวายต้นไม้ทองเงินครั้งที่ ๑ พระราชทานกำลังช่วยองเชียงสือ
- ๕๓. ทำสังคายนาพระไตรปิฎก
- ๕๔. องเชียงสือถวายข้าวสาร
- ๕๕. ไฟไหม้พระมหาปราสาท
- ๕๖. ปราบรายาเมืองตานี
- ๕๗. องเชียงสือตั้งตัวเป็นเจ้าอนัมก๊ก ถวายต้นไม้ทองเงินเป็นครั้งที่ ๒
- ๕๘. ทัพเวียงจันทน์รบญวนไกเซิน
- ๕๙. เจ้าอนัมก๊กกล่าวโทษเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์
- ๖๐. แขกเซียะตีเมืองสงขลา
- ๖๑. เจ้าอนัมก๊กถวายเรือรบ และพระราชทานปืนตอบ
- ๖๒. ทัพเวียงจันทน์ตีเมืองหลวงพระบาง
- ๖๓. เมืองทวายสวามิภักดิ์
- ๖๔. เจ้าอนัมก๊กมีศุภอักษรนัดให้ไปตีเมืองตังเกี๋ย
- ๖๕. ทัพพระยายมราชยกไปเมืองทวาย
- ๖๖. ทัพหลวงยกไปเมืองทวาย
- ๖๗. ยกทัพหลวงไปตีเมืองพม่า
- ๖๘. ทวายเป็นกบฏ
- ๖๙. เจ้าอนัมก๊กขอตราให้หัวเมืองช่วยการทัพ และถวายต้นไม้ทองเงินครั้งที่ ๓
- ๗๐. พม่าขอเป็นไมตรี
- ๗๑. ญวนไกเซินขอเป็นไมตรี
- ๗๒. ตั้งสมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ทรงผนวชสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และนักองเอง
- ๗๓. ตั้งนักองเองออกไปครองกรุงกัมพูชา นักองเองถวายเมืองพระตะบองเสียมราฐ
- ๗๔. ถอดเจ้านครล้านช้าง
- ๗๕. ได้ช้างเผือกพระอินทรไอยรา
- ๗๖. ศึกพม่าครั้งที่ ๓
- ๗๗. เชิญพระพุทธสิหิงก์มากรุงเทพฯ
- ๗๘. กรมพระราชวังบวรฯ ทรงผนวช
- ๗๙. สมเด็จพระนารายณ์รามารับอากับครอบครัวไปเมืองเขมร
- ๘๐. เจ้าอนัมก๊กถวายต้นไม้ทองเงินครั้งที่ ๔
- ๘๑. การพระเมรุพระบรมอัฐิสมเด็จพระชนกาธิบดี
- ๘๒. เกิดเหตุบาดหมางในระหว่าง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
- ๘๓. สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีพระเจ้ากรุงกัมพูชาพิราลัย
- ๘๔. ข่าวศึกพม่า กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จเมืองเชียงใหม่
- ๘๕. เจ้าอนัมก๊กถวายต้นไม้ทองเงินครั้งที่ ๕
- ๘๖. ฉลองพระมณฑปวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
- ๘๗. ข่าวศึกพม่า
- ๘๘. สมเด็จพระพี่นางสิ้นพระชนม์
- ๘๙. โปรดให้กองทัพเขมรไปช่วยเจ้าอนัมก๊ก
- ๙๐. เพลิงไหม้สำเพ็ง
- ๙๑. สร้างและฉลองวัดพระเชตุพน
- ๙๒. เจ้าอนัมก๊กถวายต้นไม้ทองเงินครั้งที่ ๖
- ๙๓. ได้ช้างเผือกพระเทพกุญชร
- ๙๔. เพลิงไหม้วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์
- ๙๕. เจ้าอนัมก๊กได้เมืองญวนและตั้งตัวเป็นพระเจ้ากรุงเวียตนามยาลอง
- ๙๖. พม่าขอเป็นไมตรี
- ๙๗. ศึกพม่าครั้งที่ ๔
- ๙๘. นักองจันท์ นักองสงวน เข้ามาเฝ้า
- ๙๙. พระเจ้าเวียตนามถวายของสนองพระคุณ
- ๑๐๐. กองทัพไทยไปตีเมืองเชียงแสน
- ๑๐๑. ตั้งเจ้าเชียงใหม่
- ๑๐๒. ได้ช้างสีทองแดงพระบรมฉัททันต์
- ๑๐๓. ราชทูตไปเมืองญวน
- ๑๐๔. กรมพระราชวังบวรสถานมงคลสวรรคต
- ๑๐๕. พระราชประวัติกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
- ๑๐๖. สิ่งซึ่งกรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงสร้าง
- ๑๐๗. เรื่องหม่อมลำดวน หม่อมอินทปัต
- ๑๐๘. เลื่อนกรมขุนเสนานุรักษ์และตั้งกรมขุนพิทักษ์มนตรี
- ๑๐๙. กองทัพกรมหลวงเทพหริรักษ์กลับจากเมืองเชียงแสน
- ๑๑๐. การพระเมรุกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
- ๑๑๑. พระเจ้าเวียตนามมีราชสาสน์มาทูลเตือน ให้ตั้งกรมพระราชวังบวรฯ
- ๑๑๒. เกณฑ์ทัพไปตีเมืองเชียงตุง เชียงรุ้ง
- ๑๑๓. ตั้งเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี
- ๑๑๔. ตั้งเจ้าอนุครองเมืองเวียงจันทน์
- ๑๑๕. กรมหลวงเทพหริรักษ์สิ้นพระชนม์
- ๑๑๖. ชำระกฎหมาย
- ๑๑๗. ได้ช้างสำคัญพระบรมนัขมณีและพระบรมคชลักษณ์
- ๑๑๘. ได้เมืองเชียงตุง เมืองเชียงรุ้ง และเมืองลื้อ สิบสองปันนา
- ๑๑๙. พระเจ้ากรุงเวียตนามมีราชสาสน์ถวายบรรณาการ
- ๑๒๐. ราชทูตไปเมืองญวน
- ๑๒๑. กรมพระราชวังหลังทิวงคต
- ๑๒๒. ตั้งนักองจันท์เป็นสมเด็จพระอุทัยราชาเจ้ากรุงกัมพูชา
- ๑๒๓. พระราชพิธีอุปราชาภิเษกเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร
- ๑๒๔. ตั้งพระบัณฑูรน้อย และตั้งกรมเจ้านาย
- ๑๒๕. การพระเมรุกรมพระราชวังหลัง
- ๑๒๖. พระเจ้าเวียตนามมีพระราชสาสน์ทรงยินดีในการอุปราชาภิเษก
- ๑๒๗. กรมหลวงจักรเจษฎาสิ้นพระชนม์
- ๑๒๘. ได้ช้างสำคัญ
- ๑๒๙. สมเด็จพระอุทัยทูลขอนักองอี นักองเภา
- ๑๓๐. เชิญพระพุทธรูปพระศรีศากยมุนีมากรุงเทพฯ
- ๑๓๑. ปราบปรามเมืองยิริง
- ๑๓๒. เจ้าฟ้ากรมขุนศรีสุนทรเทพสิ้นพระชนม์
- ๑๓๓. โสกันต์เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี
- ๑๓๔. แห่สระสนานใหญ่แห่พระกฐินและมีกระจาดใหญ่กัณฑ์เทศน์มหาชาติ
- ๑๓๕. ผลประโยชน์แผ่นดิน
- ๑๓๖. วัดที่ได้ทรงปฏิสังขรณ์
- ๑๓๗. พระราชานุกิจ
- ๑๓๘. สมเด็จพระอุทัยราชาเข้ามาเฝ้า
- ๑๓๙. งานสมโภชพระแก้วมรกต
- ๑๔๐. สวรรคต
- ๑๔๑. พระราชประวัติ
- ๑๔๒. เสนาบดีในรัชกาลที่ ๑
- ภาคผนวก
- หมายรับสั่ง เรื่อง ยกประตูพระบรมมหาราชวัง จ.ศ. ๑๑๔๔
- หมายรับสั่ง เรื่อง เกณฑ์ไพร่หลวง ไทย มอญ รับแขกเมือง ณ แม่น้ำน้อย จ.ศ. ๑๑๕๓
- หมายรับสั่ง เรื่อง เกณฑ์แห่เรือรับพระบรมสารีริกธาตุจากเมืองทวาย จ.ศ. ๑๑๕๓
- หมายกำหนดการ เรื่อง มหาอุปราชาภิเษก จ.ศ. ๑๑๖๘
- หมายกำหนดการ เรื่อง ฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จ.ศ. ๑๑๗๑
๘. พงศาวดารเขมร ตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรีจนนักองเองเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ
ฝ่ายข้างกัมพุชประเทศ นักองตนได้ทรงราชย์ตั้งแต่ปีขาลสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๒๐[๙] มีนามว่าองค์สมเด็จพระนารายณ์ราชาธิราชรามาธิบดี อยู่มาเกิดวิวาทกับนักองโนน ซึ่งมีนามว่าพระรามราชา ซึ่งเป็นญาติวงศ์ร่วมปัยยิกาเดียวกัน จะจับพระรามราชาฆ่าเสีย พระรามราชาสู้ไม่ได้ จึงหนีเข้ามาพึ่งเจ้ากรุงธนบุรี
ในปีฉลูเอกศก จุลศักราช ๑๑๓๑[๑๐] เจ้ากรุงธนบุรีมีศุภอักษรไปถึงสมเด็จพระนารายณ์ราชา เจ้ากรุงกัมพูชา ว่ากรุงศรีอยุธยาได้ตั้งขึ้นใหม่ ปราบปรามบ้านเมืองเรียบร้อยเหมือนแต่ก่อนแล้ว ให้สมเด็จพระนารายณ์ราชา จัดต้นไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายเหมือนครั้งกรุงศรีอยุธยาเก่า เจ้ากรุงกัมพูชามีศุภอักษรตอบเข้ามาว่า ไม่ใช่เชื้อเจ้านายเก่าไม่ยอมเป็นเมืองขึ้น เจ้ากรุงธนบุรีทรงขัดเคือง จึ่งดำรัสสั่งให้จัดกองทัพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ยังดำรงพระยศเป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ กับสมเด็จพระอนุชาธิราช แต่ยังดำรงพระยศเป็นพระยาอนุชิตราชา เป็นแม่ทัพ ๑ พานักองโนนซึ่งเป็นพระรามราชาไปด้วยในกองทัพ พระยาโกษา (ล่าย) เป็นแม่ทัพอีกทัพ ๑ ยกออกไปตีได้เมืองนครเสียมราฐ และเมืองพระตะบอง สมเด็จพระนารายณ์ราชา แต่งให้พระยากลาโหม (บาง) เป็นแม่ทัพออกมาต่อสู้ ก็สู้กองทัพกรุงธนบุรีไม่ได้ พระยากลาโหม (บาง) ตายในที่รบ ไพร่พลก็แตกกระจัดกระจายไป กองทัพไทยจะยกตามลงไป พอได้ข่าวเล่าลือออกไปถึงกองทัพว่า เจ้ากรุงธนบุรีไปสิ้นพระชนม์ที่เมืองนครศรีธรรมราช กองทัพไทยก็ยกกลับเข้ามากรุงธนบุรี
ครั้นปีเถาะตรีศก จุลศักราช ๑๑๓๓[๑๑] นักพระโสทัตเป็นใหญ่ในเมืองเปียม มีคุณแก่พระนารายณ์ราชาแต่ยังชื่อนักองตนมาแต่ก่อน นักองตนยอมเป็นบุตรเลี้ยง ครั้นนักองตนมีชัยชนะพระรามราชา ได้เป็นใหญ่แต่ผู้เดียวแล้วนักพระโสทัตก็มีความกำเริบ เกณฑ์ไพร่พลในแขวงเมืองบันทายมาศและเมืองกรัง เป็นกองทัพมาตีเมืองตราด เมืองจันทบุรี กวาดต้อนเอาครอบครัวไปเป็นอันมาก เจ้ากรุงธนบุรีทรงพระพิโรธ จึงดำรัสให้จัดกองทัพบก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเวลานั้นดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยาจักรี ได้เป็นแม่ทัพยกไปทางเมืองปราจีนบุรี พานักองโนนพระรามราชาไปด้วยในกองทัพ ส่วนกองทัพเรือนั้น เจ้ากรุงธนบุรี เป็นจอมพลเสด็จไปเอง ทัพหลวงตีได้เมืองบันทายมาศ แล้วยกไปตามคลองเล็ก ถึงเกาะพนมเพ็ญ ฝ่ายกองทัพเจ้าพระยาจักรีตีได้เมืองพระตะบอง เมืองโพธิสัตว์ และเมืองบริบูรณ์แล้ว ก็ยกล่วงลงไปตีได้เมืองบันทายเพ็ชร สมเด็จพระนารายณ์ราชาสู้รบต้านทานไม่ได้ ก็พาครอบครัวหนีไปเมืองญวน เจ้าพระยาจักรีก็ยกกองทัพไปตีได้เมืองบาพนมอีกเมือง ๑ แล้วก็มาสมทบทัพหลวงที่เกาะพนมเพ็ญ
ครั้งนั้น ครั้นกองทัพไทยเลิกกลับมา สมเด็จพระนารายณ์ราชาก็พากองทัพญวนขึ้นมารักษาเมืองดังเก่า เจ้าพระยาจักรีเดินทัพกลับมากลางทาง ทราบว่าญวนขึ้นมาช่วยเขมร ก็กวาดต้อนครอบครัวเมืองบาราย เมืองโพธิสัตว์ และจับได้ขุนนางเขมร คือ พระยายมราช ชื่อควร พระยารามเดชะ ชื่อมู พระยาไกร ชื่อลาย พระยาแสนทองฟ้า ชื่อลาย รวมกับครอบครัวที่ได้ในกรุงนั้นหมื่นเศษ ส่งเข้ามากรุงธนบุรี แล้วขุดเอาเมืองพระตะบอง เมืองนครเสียมราฐรักษาไว้ ครอบครัวเขมรที่เข้ามาครั้งนั้น เจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้ไปตั้งบ้านเรือน อยู่เมืองราชบุรี
ส่วนพระรามราชานั้น เจ้ากรุงธนบุรี ให้ตั้งอยู่ ณ เมืองกำปอด และให้กองทัพไทยอยู่ด้วยกอง ๑ และทรงตั้งพระยาพิพิธผู้ช่วยราชการในกรมท่า ให้เป็นพระยาราชาเศรษฐีว่าราชการเมืองบันทายมาศ ภายหลังทรงพระดำริเห็นว่า เมืองบันทายมาศอยู่ล่อแหลมนักจะรักษาไว้ไม่ได้ จึ่งมีตราให้หาพระยาราชาเศรษฐีกลับเข้ามากรุงเทพฯ คงรักษาไว้แต่เมืองกำปอด เมืองพระตะบอง และเมืองนครเสียมราฐ ๓ เมือง
ครั้นปีมะโรงจัตวาศก จุลศักราช ๑๑๓๔[๑๒] สมเด็จพระนารายณ์ราชาก็กลับขึ้นมาบ้านเมือง ตั้งอยู่แพรกปักปรัศ เจ้าเวียตนามก็ให้องเบาฮอคุมไพร่พลขึ้นมาอยู่ด้วย ในครั้งนั้นพอเกิดจลาจลขึ้นในเมืองญวน สมเด็จพระนารายณ์ราชาจึ่งดำริว่า ที่เมืองเว้ก็เกิดหยุกหยิกอยู่ แล้วไทยก็ยึดเอาเมืองบันทายมาศ เมืองกำปอด เมืองพระตะบอง และเมืองนครเสียมราฐไว้ จะไม่อ่อนน้อมเสีย จะขึ้นอยู่กับญวนฝ่ายเดียวก็ไม่เป็นสุข จึงให้พระองค์แก้ว ชื่อด้วง เข้ามาหาแม่ทัพไทยที่เมืองพระตะบอง ขอเลิกการรบเสีย เขมรจะยอมเป็นประเทศราชขึ้นตามเดิม แม่ทัพไทยก็ส่งพระองค์แก้วเข้ามากรุงธนบุรี กราบทูลประพฤติเหตุทรงทราบแล้ว ดำรัสว่า ความเรื่องนี้ไม่จริง ให้เอาตัวพระองค์แก้วไปจำคุกไว้ ภายหลังพระองค์แก้วทำเรื่องราวให้มุขมนตรีกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ได้รับพระราชอาชญาจำมานานแล้ว ซึ่งจะคิดการทรยศอย่างหนึ่งอย่างใดนั้นหามิได้ ถ้าทรงสงสัยอยู่ ขอให้มีศุภอักษรออกไปให้ส่งมารดาบุตรภรรยาครอบครัวเข้ามาไว้ ณ กรุงเทพมหานคร จะขอทำราชการฉลองพระเดชพระคุณอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่คิดกลับออกไปเมืองเขมรแล้ว เจ้ากรุงธนบุรีทรงพระกรุณาให้ถอดพระองค์แก้วออกทำราชการอยู่ที่กรุงเทพฯ
ลุจุลศักราช ๑๑๓๗[๑๓] ปีมะแมสัปตศก สมเด็จพระนารายณ์ดำริว่า การที่รบพุ่งฆ่าฟันกันนี้ ก็เพราะปรารถนาสมบัติ ถ้าจะนิ่งอยู่ดังนี้ ราษฎรก็ไม่มีความสุข จึงประชุมท้าวพระยาพระเขมรผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นผู้เข้าใจเหตุผลในราชการ และพระสังฆราชเป็นต้น แล้วชี้แจงข้อเหตุว่า นักองโนน สมเด็จพระรามราชาก็มิใช่ผู้อื่น ตั้งอยู่ที่เมืองกำปอด ใกล้เคียงกับเมืองเรานัก ถ้าจะยกทัพไปจับคุมเอาตัวมา ความทราบถึงพระเจ้ากรุงธนบุรี ๆ ก็จะทรงพระพิโรธเกิดการศึกใหญ่ขึ้นอีก ถ้าจะนิ่งเสียนักองโนนก็จะคิดมาทำแก่เราต่าง ๆ เรารักษาตัวยาก ถ้าเราไปเชิญนักองโนนมาว่ากล่าวประนีประนอมยอมให้เป็นทรงราชย์ ตัวเราจะขอออกเป็นแต่อุปโยราช ก็เห็นว่าจะได้ความสุขไปจนสิ้นชีวิต พระสังฆราชและมุขมนตรีเห็นชอบด้วยตามกระแสดำริ จึงให้พระสังฆราช พระมหาพรหมมุนีกับพระยาพระเขมร ขุนนางมีชื่อ ถือหนังสือลงมาเชิญพระรามราชา ที่เมืองกำปอด พระรามราชาก็ขึ้นไปด้วย พระสังฆราช พระมหาพรหมมุนี แล้วก็มีศุภอักษรเข้ามากราบทูลเจ้ากรุงธนบุรี ๆ ได้ทรงทราบแล้ว ก็ทรงพระโสมนัส ให้ข้าหลวงออกไปเสกนักองโนนเป็นสมเด็จพระรามราชาธิราชบรมบพิตร ฝ่ายนักองตนซึ่งเป็นสมเด็จพระนารายณ์ราชา เจ้ากรุงกัมพูชาเก่า ก็ลดลงเป็นพระมหาอุปโยราช แบ่งบรรดาขุนนางสำหรับที่ทรงราชย์ถวายสมเด็จพระรามราชา ขุนนางสำหรับที่อุปราช ก็แบ่งไปให้พระมหาอุปราช เอาแต่ขุนนางสำหรับที่อุปโยราชนั้นไว้ใช้สอย สมเด็จพระนารายณ์ราชานั้น ทรงราชย์มาแต่ปีขาลสัมฤทธิศก มาถึงปีมะแม สัปตศก ได้ ๑๘ ปี ชนมายุ ๓๗ ปี
ลุจุลศักราช ๑๑๓๘[๑๔] ปีวอกอัฐศก ญวนไกเซินเป็นกบฏรบกับเจ้าเวียตนาม แล้วมาตีเมืองไซ่ง่อน เจ้าเมืองไซ่ง่อนให้มาขอไพร่พลเสบียงอาหารไปช่วยรบไกเซิน สมเด็จพระรามราชาตอบไปว่า เขมรไม่ได้ขึ้นแก่ญวนแล้ว ไม่ยอมให้ เจ้าเมืองไซ่ง่อนโกรธ จึงให้ยกกองทัพมารบ เอาชัยชนะไม่ได้ก็ให้ยกกลับไปเมืองไซ่ง่อน
ครั้นมาถึงปีระกานพศก จุลศักราช ๑๑๓๙[๑๕] พระยาวิบูลยราชชื่อซู คิดจะเอาราชสมบัติให้แก่พระมหาอุปราช ๆ ไม่ยอม จึ่งกลับไปทูลสมเด็จพระรามราชาว่า พระมหาอุปราชคิดกบฏ สมเด็จพระรามราชาไม่ทันพิเคราะห์ เชื่อว่าเป็นความจริง จึ่งให้พระยาวิบูลยราชไปคิดฆ่าพระมหาอุปราช พระยาวิบูลยราชจึงให้พระยาศรีอรรคราชไปลอบฆ่าพระมหาอุปราชเสีย พระมหาอุปราชชนมายุได้ ๒๒ ปี ฝ่ายพระมหาอุปโยราชออกจากที่ทรงราชย์ได้ ๒ ปีก็ป่วย ครั้นแจ้งว่า มีผู้ลอบฆ่าพระมหาอุปราชอนุชาเสียแล้ว ก็มีความโทมนัสเป็นอันมาก โรคที่ป่วยอยู่ก็กำเริบขึ้น ถึงแก่พิราลัยในเดือนยี่ข้างแรม ปีระกานพศกนั้น ชนมายุได้ ๓๘ ปี มีธิดา ๓ องค์ ชื่อนักองเมน ๑ นักองอี ๑ นักองเภา ๑ โอรสชื่อนักองเอง เกิดเมื่อปีมะเส็ง เบญจศก จุลศักราช ๑๑๓๕[๑๖] องค์ ๑
ครั้นเดือนอ้ายปีจอ สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๔๐[๑๗] เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณวาธิราช ยกทัพกรุงธนบุรีออกไปหมื่นหนึ่งถึงเมืองบันทายเพ็ชร แจ้งความแก่สมเด็จพระรามราชาว่า จะขึ้นไปตีเมืองลาวตามลำแม่น้ำโขง ตลอดไปถึงเมืองเวียงจันทน์ขอไพร่พลหมื่นหนึ่งกับเสบียงอาหารด้วย สมเด็จพระรามราชาให้เกณฑ์ข้าคนเมืองกระพงสวาย เมืองศรีสุนทร เมืองตะบงคะมุม รวมได้คนหมื่นหนึ่ง เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณวาธิราชยกทัพเรือไปทางเมืองทะเลธม ถึงเมืองสมบุก สมบูรณ์ ฝ่ายสมเด็จพระรามราชา ให้พระยาพระคลัง ชื่อธรรม ไปตั้งกองสีข้าวสารส่งกองทัพอยู่ที่เมืองกระพงธม เมืองกระพงสวายเฆี่ยนตีเร่งรัดให้สีข้าว ทั้งผู้ชายผู้หญิง ลางคนผัวไปทัพเมียก็ต้องสีข้าว ราษฎรได้ความเดือดร้อนนัก พวกเขมรที่ไปทัพแจ้งดังนั้น ก็หนีมาหาครอบครัวเป็นอันมาก สมเด็จพระรามราชาได้ทราบว่าเขมรหนีตาทัพกลับมา ก็แต่งให้ข้าหลวงเที่ยวจับตัวมาทำโทษ ราษฎรก็คุมกันเข้าจับข้าหลวงกับพระยาพระคลังฆ่าเสีย แล้วสมเด็จพระรามราชาให้ไปเอาตัวพระยาเดโช ชื่อแทน พระยาแสนท้องฟ้า ชื่อเปียง พระยามนตรีเสน่หา ชื่อโส ซึ่งหนีตาทัพนั้นมาเมืองบันทายเพ็ชร ให้ฆ่าพระยามนตรีเสน่หาเสีย แต่พระยาแสนท้องฟ้าน้องพระยาเดโชนั้นให้เฆี่ยน ๕๐ ที ถอดเสียจากที่ พระยาเดโชนั้นให้คงที่อยู่ตามเดิม แล้วให้คืนไปอยู่เมืองกระพงสวายดังเก่า
ในจุลศักราช ๑๑๔๑[๑๘] ปีกุน เอกศก พระยาเดโช (แทน) พระยาแสนท้องฟ้าผู้น้อง อพยพครอบครัวหนีไปอยู่แดนเมืองญวน กองทัพสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณวาธิราช ตีเมืองล้านช้างได้แล้ว ให้เก็บทรัพย์สิ่งของปืนใหญ่น้อย ครอบครัวเข้ามา ณ เมืองพันพร้าว แล้วให้ทัพเมืองหลวงพระบางไปตีเมืองทันต์ ญวนเรียกว่าเมืองซือหวี เมืองม่อย ๒ เมืองนี้เป็นลาวทรงดำ อยู่ริมเขตแดนเมืองญวน ได้ครอบครัวลาวทรงดำมาเป็นอันมาก พาครอบครัวลาวเวียง ลาวทรงดำ ลงมาถึงกรุงในเดือนยี่ปีกุนเอกศกนั้น ลาวทรงดำนั้นโปรดให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่เพชรบุรี ลาวเวียงลาวหัวเมืองฟากโขงตะวันออก ก็โปรดให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่เมืองสระบุรีบ้าง เมืองราชบุรีบ้าง ตามหัวเมืองตะวันตกบ้าง อยู่เมืองจันทบุรีบ้าง ก็มีเชื้อสายมาจนทุกวันนี้
ฝ่ายที่เมืองเขมร สมเด็จพระรามราชาจึงให้ฟ้าทะละหะชื่อ มู คุมพวกพลไปจับพระยาเดโช (แทน) พระยาแสนท้องฟ้า ครั้นฟ้าทะละหะ (มู) ไปพบพระยาเดโช พระยาแสนท้องฟ้า ก็พูดปรึกษาหารือกันว่า เมื่อครั้งก่อนเราคิดราชการ เอาแผ่นดินถวายสมเด็จพระนารายณ์ราชา ได้ยิงสมเด็จพระรามราชาถูกลูกปืนที่อกไม่เป็นอันตราย พวกเราจับตัวได้ใส่กรงไว้ แล้วมีผู้คัดกรงพาหนีไปได้ ผูกพยาบาทเราอยู่ จะทำราชการไปด้วยก็คงจะพาลฆ่าเราเสียวันหนึ่ง ครั้นคิดพร้อมใจกันแล้ว ก็เกณฑ์ไพร่ตั้งค่ายรายทัพลาดตระเวนมาถึงเมืองเปียมแสน สมเด็จพระรามราชาได้ทราบว่า ฟ้าทะละหะไปร่มคิดด้วยพระยาเดโชเป็นกบฏ ก็ยกไพร่พลไปต่อรบด้วยพวกกบฏ ฝ่ายพระยาวิบูลยราช (ซู) ซึ่งรักษาเมืองบันทายเพ็ชรอยู่นั้นกลับคิดกบฏ ใช้ให้พระยาวรชุนชื่อหลง ไปหาองเฮากุน ขอกองทัพญวนกับทัพพระยาอาทิตยวงศา ชื่อลวด เจ้าเมืองป่าสัก ยกขึ้นมาเมืองพนมเพ็ญ จะโรยจังวาพระยาวิบูลยราชนำกองทัพมาถึงเมืองบันทายเพ็ชรเชิญนักองเอง บุตรนักองตนสมเด็จพระนารายณ์ราชา ชนมายุได้ ๗ ขวบ กับเจ้าหญิง ๕ องค์ลงเรือแง่โอ แล้วขึ้นไปเก็บเอาพระราชทรัพย์ และจับเอาบุตรสมเด็จพระรามราชา ๔ องค์ฆ่าเสีย เอาไฟเผามนเทียรสถานไหม้สิ้น ฝ่ายพรรคพวกของสมเด็จพระรามราชาหนีไปทูลสมเด็จพระรามราชาที่เมืองกระพงธม ทราบความแล้วสมเด็จพระรามราชาถอยทัพกลับมาถึงเมืองกระพงชะนัง พบทัพญวนเขมรอยู่แพรกป่าพัง สมเด็จพระรามราชาสู้ไม่ได้ หนีขึ้นบกทิ้งเรือเสีย ไปอยู่เมืองพนมกำแรง กองทัพญวนทัพเขมรก็ตามไปจับตัวได้ ใส่กรงถ่วงน้ำเสียที่บึงขยอง เมื่อเดือน ๔ ปีกุนเอกศกนั้น สมเด็จพระรามราชาได้ทรงราชย์มาแต่ปีมะแมสัปตศกได้ ๕ ปี ชนมายุได้ ๔๐ ปี
ครั้งนั้นฟ้าทะละหะ (มู) ตั้งตัวขึ้นเป็นสมเด็จฟ้าทะละหะมหาราชบพิตร ให้พระยาศรีธิกรณ์ชื่อปก ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงนักองเองขึ้นเป็นพระยาวัง พระยาวิบูลยราช (ซู) เป็นพระยากลาโหม พระยาแสนท้องฟ้า (เปียง) เป็นพระยาจักรี สมเด็จฟ้าทะละหะทำนุบำรงพระองค์เองว่าราชการแผ่นดินอยู่ ฝ่ายพระยายมราชชื่อแบน เป็นข้าเก่าของสมเด็จพระรามราชา เป็นเพื่อนน้ำสบถกับพระยากลาโหม (ซู) ๆ ช่วยคิดแก้ไขไว้จึงไม่ตาย สมเด็จฟ้าทะละหะให้ไปอยู่กับพระยาเดโช ณ เมืองกระพงสวาย ความที่เขมรเป็นกบฏจับสมเด็จพระรามราชาฆ่าเสียนั้น ทราบถึงเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงพิโรธ ทรงพระดำริว่าพระยายมราช (แบน) ก็เป็นคนสนิทของสมเด็จพระรามราชา ไม่ระวังเจ้านายให้เขาทำร้ายได้ จึงใช้ให้พระองค์แก้วเชิญศุภอักษรไปถึงสมเด็จฟ้าทะละหะ ขอเอาตัวพระยายมราช (แบน) มาทำโทษที่กรุง สมเด็จฟ้าทะละหะมอบตัวพระยายมราช (แบน)ให้พระองค์แก้วเข้ามา ณ กรุง แล้วรับสั่งให้เอาตัวไปจำคุกไว้ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกก็ทำนุบำรุงพระยายมราช (แบน) ให้ได้อยู่ในคุกเป็นสุข
ลุจุลศักราช ๑๑๔๓ ปีฉลูตรีศก[๑๙] เมื่อเดือนอ้ายนั้นเจ้ากรุงธนบุรีได้ทราบข่าวว่า เขมรไปฝักไฝ่ขึ้นอยู่กับญวนตามเดิม จึงรับสั่งให้พระเจ้าลูกเธอ กรมขุนอินทรพิทักษ์กับสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และ เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณวาธิราชยกไพร่พลสองหมื่นแยกไป ๓ ทาง สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขอเอาพระยายมราช (แบน) ไปด้วยยกไปทางนครวัด พระเจ้าลูกเธอ กรมขุนอินทรพิทักษ์ ยกไปทางเมืองบันทายเพ็ชร เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณวาธิราชนั้นยกไปทางเมืองกระพงสวาย ครั้งนั้นสมเด็จฟ้าทะละหะรู้ความว่ากองทัพธนบุรียกออกไป ก็แต่งให้คนไปกวาดครอบครัวที่มีเรือ แต่เมืองนครวัด เมืองพระตะบอง เมืองสะโตง เมืองกระพงสวาย ให้มาอยู่เมืองบันทายเพ็ชรให้พระยาเดโช (แทน) ตระเตรียมไพร่พลเป็นกองรักษาเมืองกระพงสวาย ฝ่ายสมเด็จฟ้าทะละหะเกณฑ์ไพร่พลตั้งค่ายรักษากระพงหลวงและเปียมชำนิดกับท่าเกวียน พระยากลาโหม (ซู) ยกทัพเรือไปทางเมืองทะเลธม กวาดครอบครัวเมืองกะแจะ เมืองสมบุก สมบูรณ์ลงเรือมาอยู่เกียนสวาย แล้วขอกองทัพญวนมาช่วยรบกองทัพกรุงธนบุรี ฝ่ายกองทัพพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนอินทรพิทักษ์ยกมาทางเมืองพระตะบอง เมืองตระคร้อ เมืองขลุง เมืองครอง เมืองบริบูรณ์ ราษฎรลงเรือหนีมาเมืองพนมเพ็ญ ฝ่ายพระองค์เองหนีไปอยู่ที่เกาะเกิด พระยากลาโหม (ซู) ตั้งตัวขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยา ให้พระยาวิบูลยราช ชื่อปา เป็นพระยากลาโหมตั้งทัพอยู่จะโรยจังวา ฝ่ายเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณวาธิราชยกกองทัพมาถึงเมืองกระพงสวาย ตีทัพพระยาเดโช (แทน) แตกหนีเข้าป่าไป เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณวาธิราชยกทัพมาตั้งค่ายอยู่ที่เมืองเปียมชีดอง ครั้น ณ เดือน ๔ ปีฉลู ตรีศก เจ้ากรุงธนบุรีเสียพระจริตเกิดจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี จนพระยาสรรค์คุมพรรคพวกมาจับเอาออกจากราชสมบัติ ความทราบถึงสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ก็ให้ยกกองทัพรีบรุดกลับมาก่อนเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณวาธิราช แต่พระเจ้าลูกเธอ กรมขุนอินทรพิทักษ์นั้นหารู้ว่าที่กรุงธนบุรีเกิดเหตุขึ้นไม่ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกเข้ามาถึงกรุงธนบุรี อาณาประชาราษฎรร้องทุกข์ต่าง ๆ ขอเชิญเสด็จให้ทรงชำระเสี้ยนศัตรูและเชิญเสด็จขึ้นครอบครองสิริราชสมบัติสืบต่อไป
ลุจุลศักราช ๑๑๔๔ ปีขาล จัตวาศก[๒๐] สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกก็ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติ ในครั้งนั้น พวกญวนไกเซินยกมาตีเมืองไซ่ง่อน องเชียงสือให้มาขอกองทัพเขมรไปช่วย สมเด็จฟ้าทะละหะ (มู) สมเด็จเจ้าพระยา (ซู) แต่งให้พระยากลาโหม (ปา) คุมคนห้าพันไปช่วยองเชียงสือ พระยากลาโหม (ปา) ตายในที่รบที่ทุ่งป่ายุง เสียไพร่พลเป็นอันมาก องเชียงสือก็หนีลงเรือเข้ามาในเขตแดนกรุงเทพฯ ครั้นเมื่อเดือน ๘ ปีขาลนั้น สมเด็จเจ้าพระยา (ซู) ซึ่งเป็นมิตรสหายน้ำสบถกับพระยายมราช (แบน) ที่อยู่กรุงเทพฯ มีหนังสือเข้ามาถึงพระยายมราช (แบน) ให้กราบทูลลาออกไปช่วยราชการ จะให้คิดเอาเมืองเขมรมาขึ้นกรุงดังเก่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้พระยายมราช (แบน) ออกไปถึงเมืองพระตะบอง สมเด็จเจ้าพระยา (ซู) ทราบแล้วมีความยินดี มารับพระยายมราช (แบน) ไปเมืองบันทายเพ็ชร คิดพร้อมใจกันยกไปรับสมเด็จฟ้าทะละหะ(มู) กับพระยาจักรี (เปียง) สมเด็จฟ้าทะละหะ (มู) สู้ไม่ได้ก็หนีไปอยู่เมืองป่าสัก พระยาอาทิตยวงศา ชื่อลวด เจ้าเมืองป่าสัก จับตัวสมเด็จฟ้าทะละหะ (มู) ส่งเข้ามาให้สมเด็จเจ้าพระยา (ซู) พระยายมราชก็ฆ่าเสีย พระยาจักรี (เปียง) หนีไปอยู่ในป่า จับได้ก็ฆ่าเสียเมื่อเดือนสิบเอ็ดข้างขึ้น ครั้น ณ เดือนสิบสอง แรมสิบห้าค่ำ พระยายมราช (แบน) ก็ลอบฆ่าสมเด็จเจ้าพระยา (ซู) เสีย เพราะด้วยว่าทำร้ายเจ้านายของตัว แล้วก็ฆ่าขุนนางที่ทำร้ายสมเด็จพระรามราชาเจ้าของตัวนั้นเสียหมด แล้วพระยายมราช (แบน) ก็ยกตัวขึ้นเป็นผู้ว่าที่ฟ้าทะละหะ แล้วตั้งขุนนางพรรคพวกของตัวขึ้นเป็นผู้ใหญ่ผู้น้อยเต็มตามตำแหน่ง จึง่ให้พระยาจักรี (แกบ) ไปจับพระยาเดโช (แทน) ที่เมืองกระพงสวาย พระยาเดโช (แทน) หนีไปเมืองจำปรัง ฝ่ายพระยามหาเทพ พระยาวรชุน กับพวกแขกจามเมืองตะบงคะมุม คิดกันยกทัพเรือมาเมืองพนมเพ็ญจะจับพระยายมราช (แบน) พระยากลาโหม (ปก) ฆ่าเสีย พระยายมราช (แบน) พระยากลาโหม (ปก) เห็นจะสู้มิได้ ไม่ทันจะตระเตรียมตัว ก็พาพระท้าวสองนางซึ่งเป็นกนิษฐภคินีของสมเด็จพระนารายณ์ราชา กับพระเรียม สามนางซึ่งเป็นบุตรี กับนักองเองซึ่งเป็นบุตราสมเด็จพระนารายณ์ราชาลงเรือ กวาดต้อนครอบครัวเขมรเข้ารีตมาด้วยประมาณ ๕๐๐ คน หนีเข้ามาขึ้นที่เมืองพระตะบองเข้ามา ณ กรุงเทพมหานคร ในปีขาลจัตวาศก นั้น ชนมายุนักองเองได้ ๑๐ ปี แต่นักองเมนป่วยถึงแก่พิราลัยเสีย ยังอยู่แต่พระเรียมสององค์ คือ นักองอี นักองเภา สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้ากราบทูลขอไปเป็นพระสนมเอกในพระราชวังบวรทั้ง ๒ องค์ นักองเองนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาเลี้ยงเป็นพระราชบุตรบุญธรรมแล้วโปรดให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่กับพระท้าวสองนาง และพระยากลาโหม (ปก) พี่เลี้ยงที่ตำบลคอกกระบือ เขมรเข้ารีตพวกออกญาแป้น ออกญานวนนั้น ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่เหนือวัดสมอราย พระยายมราช (แบน) นั้น โปรดตั้งเป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศรวิเศษสงคราม รามนรินทรบดี อภัยพิริยปรากรมพาห