๑๒๐. ราชทูตไปเมืองญวน

ลุจุลศักราช ๑๑๖๘[๙๒] ปีขาล อัฐศก เป็นปีที่ ๒๕ ในรัชกาลที่ ๑ พระยารัตนากาศ พระยาสุริยวงศา กราบทูลว่านายคำเทพ นายขนานมหาวงศ์ พี่น้องตกไปอยู่เมืองทันช้านานจะขอให้ลงมาทำราชการ ณ กรุง จึงโปรดให้พระยาเชียงเงินขึ้นไปรับ พระยาเชียงเงินไปชักชวนครอบครัวเมืองทัน ๑๐๐ เศษ ญวนจึงได้ยึดพระยาเชียงเงินไว้ องเลโบมีหนังสือฟ้องพระยาเชียงเงินส่งเข้ามาทางเมืองเขมร จึงได้ทรงทราบว่า พระยาเชียงเงินไปทำการเกินรับสั่ง พระเจ้าเวียตนามไม่รู้ความก็จะสงสัยว่าที่กรุงเทพมหานคร ใช้ให้พระยาเชียงเงินไปกวาดครอบครัวแดนเมืองญวนมา จึงใช้ให้ข้าหลวงขึ้นไปจำพระยาเชียงเงินลงมา ครอบครัวเมืองทันก็คืนกลับไป และทรงพระราชดำริว่า จะต้องจัดทูตออกไปแจ้งความแก่พระเจ้าเวียตนามให้สิ้นสงสัย ครั้งนั้นทรงพระราชดำริว่าทูตจะไปทางทะเลในเดือน ๗ เดือน ๘ เป็นเทศกาลคลื่นลมกล้า จึงให้แต่งราชสาสน์ตามสำเนานี้ ให้พระยาจักราราชมนตรี พระยาราชวังสัน นายเสน่ห์มหาดเล็ก เชิญพระราชสาสน์ไปทางบก จะได้ดูทางบกด้วย ราชทูตกราบถวายบังคมลา ณ เดือน ๗ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีขาล อัฐศกจุลศักราช ๑๑๖๘[๙๓] เป็นปีที่ ๒๕ ในรัชกาลที่ ๑ ไปทางเมืองลาว ทูตไปครั้งนั้นนายไพร่ ๙๕ คน ลาวเมืองเวียงจันทน์เป็นล่ามไปด้วย ๑๖ คน รวม ๑๑๑ คน ราชทูตไปทางด่านกำโล เจ้าเมืองกวางตีบอกไปกรุงเวียตนาม เจ้าพนักงานจัดเรือให้ขุนนางและไพร่ ขึ้นไปรับมาลงกรุงเวียตนาม ณ เดือน ๘ ทุติยาษาฒขึ้น ๑ ค่ำ ทูตอยู่ที่กงกวนเกิดไข้ป่าติดไป ทูตไปครั้งนั้นป่วยตาย พระยาจักราราชมนตรีราชทูต ๑ นายเสน่ห์มหาดเล็กตรีทูต ๑ ไพร่ ๑๔ ลาวเวียงจันทน์ ๗ รวม ๒๓ คน เหลืออยู่พระยาราชวังสัน ๑ ขุนหมื่น ๖ ไพร่ ๗๒ คน รวม ๗๙ คน ลาวเมืองเวียงจันทน์ ๙ คน รวม ๘๘ คน และเมื่อความไข้สงบแล้ว พระเจ้ากรุงเวียตนามมีพระราชสาสน์ให้พระยาราชวังสันเชิญเข้ามาเมื่อ ณ เดือน ๑๐ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีขาล อัฐศกนั้น ใจความว่า การซึ่งพระยาเชียงเงินก่อเหตุชักชวนเอาตัวนายคำทิพ นางคำนัก กับครอบครัวไปนั้น พระเจ้ากรุงเวียตนามไม่มีความสงสัยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตัวหมื่นศรี ตัวเพี้ยจันอาสากับไพร่ที่ยึดไว้ ณ เมืองซือหงีนั้น ได้สั่งให้มีหนังสือไปให้ปล่อยกลับไปบ้านเมืองแล้ว ครั้นจะให้ทูตกลับขึ้นไปทางเมืองลาว เดินบกได้ความลำบาก จึงให้ส่งทูตเข้ามา ณ กรุงเทพมหานครทางเรือ ให้เจ้าเมืองไซ่ง่อนและหัวเมืองญวนจัดส่งเข้ามา แต่ลาวเวียงจันทน์ ๙ คนสมัครไปทางบก และพระยาราชวังสันคนนี้เป็นที่พระยาชลบุรี เมื่อครั้งพาองเชียงสือเข้ามา ณ กรุงเทพมหานคร องเชียงสือนับถือมาก เป็นทูตไปครั้งนี้ก็ไม่ได้อยู่กงกวน จัดให้ไปอยู่ที่ตึกอื่นให้ทำนุบำรุงไว้เป็นอันดี ทูตญวนเข้ามา ณ กรุงครั้งไร ก็มีของฝากเข้ามาให้พระยาราชวังสันทุกครั้ง



[๙๒] พ.ศ. ๒๓๔๙.

[๙๓] พ.ศ. ๒๓๔๙.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ