๕๓. ทำสังคายนาพระไตรปิฎก

ในปีวอก สัมฤทธิศก นั้น พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชรำพึงถึงพระไตรปิฎกธรรม อันเป็นมูลรากแห่งพระปริยัติศาสนา ทรงพระราชศรัทธาพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นอันมาก ให้เป็นค่าจ้างลานจารึกพระไตรปิฎกลงลาน แต่บรรดามีฉบับในที่ใด ๆ ที่เป็นอักษรลาว อักษรรามัญก็ให้ชำระแปลงออกเป็นอักษรขอม สร้างขึ้นไว้ในตู้ ณ หอพระมนเทียรธรรมและสร้างพระไตรปิฎกถวายพระสงฆ์ให้เล่าเรียนทุก ๆ พระอารามหลวงตามความปรารถนา

จึงจมื่นไวยวรนารถกราบทูลว่า พระไตรปิฎกซึ่งทรงพระราชศรัทธาสร้างขึ้นไว้ทุกวันนี้ อักขระบทพยัญชนะตกวิปลาสอยู่แต่ฉบับเดิมมา หาผู้จะทำนุบำรุงตกแต้มดัดแปลงให้ถูกต้องบริบูรณ์ขึ้นมิได้ ครั้นได้ทรงสดับจึงทรงพระปรารภว่าพระบาลีและอรรถกถาฎีกาพระไตรปิฎกทุกวันนี้ เมื่อและผิดเพี้ยนวิปลาสอยู่เป็นอันมากฉะนี้ จะเป็นเค้ามูลพระศาสนากระไรได้ อนึ่งท่านผู้รักษาพระไตรปิฎกมีอยู่ทุกวันนี้ก็น้อยนัก ถ้าสิ้นท่านเหล่านี้แล้วเห็นว่าพระปริยัติศาสนา และปฏิบัติศาสนาและปฏิเวธศาสนา จะเสื่อมสูญเป็นอันเร็วนัก สัตว์โลกทั้งปวงจะหาที่พึ่งบมิได้ในอนาคตภายหน้า ควรจะทำนุบำรุงพระบวรพุทธศาสนาไว้ให้ถาวรวัฒนาการ เป็นประโยชน์ไปแก้เทพดามนุษย์ทั้งปวง จึงจะเป็นทางพระบรมโพธิญาณบารมี

ทรงพระราชดำริฉะนี้แล้ว จึงดำรัสให้ประชุมพระราชวงศานุวงศ์มีสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นประธานในพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ให้อาราธนาสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะฐานานุกรมเปรียญ ๑๐๐ รูปมารับพระราชทานฉัน ครั้นเสร็จสังฆภัตกิจแล้ว พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงถวายนมัสการดำรัสเผดียงถามพระราชาคณะทั้งปวงว่า พระไตรปิฎกธรรมทุกวันนี้ ยังถูกต้องบริบูรณ์อยู่หรือพิรุธผิดเพี้ยนประการใด จึงสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะทั้งปวง พร้อมกันถวายพระพรว่า “พระบาลีและอรรถกถาฎีกาพระไตรปิฎกทุกวันนี้พิรุธมาช้านานแล้ว หากษัตริย์พระองค์ใดจะทำนุบำรุงให้เป็นศาสนูปถัมภกมิได้ แต่กำลังอาตมภาพทั้งปวงก็คิดจะใคร่ทำนุบำรุงอยู่ แต่เห็นจะไม่สำเร็จ และกาลเมื่อสมเด็จพระสรรเพชญพระพุทธองค์ผู้ทรงทศอรหาทิคุณอันประเสริฐ เมื่อพระองค์บรรทมเหนือพระปรินิพพานมัญจพุทธอาสน์ เป็นอนุฏฐานะไสยาสน์ ณ ระหว่างนางรังทั้งคู่ในสาลวโนทยานของพระเจ้ามลราชใกล้กรุงกุสินารานคร มีพระพุทธฎีกาตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “ดูกรสงฆ์ทั้งปวงพระธรรมวินัยอันใดทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ อันพระตถาคตเทศนาสั่งสอนท่าน เมื่อพระตถาคตนิพพานแล้ว พระธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น จะเป็นครูสั่งสอนท่านและสรรพสัตว์ทั้งปวงต่างองค์พระตถาคตสืบไป พระองค์ตรัสมอบพระพุทธศาสนาไว้อาศัยพระปริยัติธรรมฉะนี้แล้ว ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน”

“จำเดิมแต่สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้านิพพาน ถวายพระเพลิงแล้วได้ ๗ วัน พระมหากัสสปเถรเจ้าระลึกถึงคำพระสุภัททภิกษุว่ากล่าวติเตียนพระบรมศาสดาเป็นมูลเหตุ จึงดำริการจะทำสังคายนา เสือกสรรพระภิกษุทั้งหลาย ล้วนพระอรหันต์ทรงพระจตุปฏิสัมภิทาญาณกับพระอานนท์เป็นเสกขบุคคลพระองค์หนึ่ง ซึ่งได้พระอรหัตในราตรีรุ่งขึ้นวันจะสังคายนา พอครบ ๕๐๐ พระองค์ มีพระเจ้าอชาตศัตรูราชเป็นศาสนูปถัมภก ทำสังคายนาพระไตรปิฎกในพระมณฑปแถบถ้ำสัตตบรรณคูหา ณ เขาเวภารบรรพต ใกล้กรุงราชคฤหมหานคร ๗ เดือน จึงสำเร็จการปฐมสังคายนา

“ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาแล้วได้ ๑๐๐ ปี พระภิกษุชาววัชชีคามเป็นอลัชชีสำแดงวัตถุ ๑๐ ประการ กระทำผิดพระวินัยบัญญัติ และพระมหาเถรขีณาสพ ๘ พระองค์ มีพระยศเถรเป็นต้น พระเรวัตตเถรเป็นปริโยสาน ชำระทศวัตถุอธิกรณ์ ๑๐ ประการให้ระงับ ยังพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์ แล้วเลือกสรรพระอรหันต์อันทรงพระปฏิสัมภิทาญาณ ๗๐๐ พระองค์ มีพระสัพพกามีเถรเจ้าเป็นประธาน ทำสังคายนาพระไตรปิฎกในวาลุการามมหาวิหารใกล้กรุงเวสาลี พระเจ้ากาลาโศกราชเป็นศาสนูปถัมภก ๘ เดือนจึงสำเร็จการทุติยสังคายนา

“ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๒๑๘ ปี ครั้งนั้นเหล่าเดียรถีย์เข้าปลอมบวชในพระศาสนา จึงพระโมคคลีบุตร ดิศเถรยังพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชให้เรียนรู้ในพุทธสมัย แล้วชำระสึกเดียรถีย์เสีย ๖๐,๐๐๐ ยังพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์ แล้วพระโมคคลีบุตรดิศเถรจึงเลือกพระอรหันต์อันทรงพระปฏิสัมภิทาญาณ ๑,๐๐๐ พระองค์ ทำสังคายนาพระไตรปิฎกในอโสการาม วิหารใกล้กรุงปาตลีบุตรมหานครพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเป็นศาสนูปถัมภก ๙ เดือน จึงสำเร็จตติยสังคายนา

“ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๒๓๘ ปี จึงพระมหินทรเถรเจ้าออกไปลังกาทวีป บวชกุลบุตรให้เล่าเรียน พระปริยัติธรรม คือหยั่งรากพระพุทธศาสนาลงในเกาะลังกาแล้ว พระขีณาสพทั้ง ๓๘ พระองค์ มีพระมหินทรเถรและพระอริฏฐเถรเป็นประธาน กับพระสงฆ์ซึ่งทรงพระปริยัติธรรม ๑,๑๐๐ รูป ทำสังคายนาพระไตรปิฎกในมณฑปถูปารามวิหารใกล้กรุงอนุราธบุรี พระเจ้าเทวานัมปิยดิศเป็นศาสนูปถัมภก ๑๐ เดือนจึงสำเร็จการจตุตถสังคายนา

“ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๔๓๓ ปี ครั้งนั้นพระอรหันต์ทั้งปวงในลังกาทวีปพิจารณาเห็นว่าพระพุทธศาสนาจะเสื่อมลง เพราะพระสงฆ์ซึ่งทรงพระไตรปิฎกให้ขึ้นปากเจนใจนั้นเบาบางลงกว่าแต่ก่อน จึงเลือกพระอรหันต์อันทรงปฏิสัมภิทาญาณ และพระสงฆ์บุถุชนผู้ทรงพระปริยัติธรรมมากกว่า ๑,๐๐๐ ประชุมกันในมหาวิหารใกล้เมืองอนุราธบุรีพระเจ้าวัฏฏคามินีอภัยเป็นศาสนูปถัมภกทำมณฑปถวายให้ทำการสังคายนา คือจารึกพระไตรปิฎกลงในใบลาน ทั้งพระบาลีและอรรถกถาเป็นสิงหฬภาษา ปี ๑ จึงสำเร็จการปัญจมสังคายนา

“ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๙๕๖ปี จึงพระพุทธโฆษาจารย์เจ้าออกไปแต่ชมพูทวีป แปลพระไตรปิฎกอันเป็นสิงหฬภาษาออกเป็นมคธภาษา แล้วจารึกลงในใบลานใหม่ในโลหปราสาทเมืองอนุราธบุรี พระเจ้ามหานามเป็นศาสนูปถัมภกปี ๑ จึงสำเร็จ นับเนื่องเข้าในฉัฏฐมสังคายนา

“ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๑๕๘๗ ปี ครั้งนั้นพระเจ้าปรากรมพาหุราชได้เสวยราชสมบัติในลังกาทวีป ย้ายพระนครจากอนุราธบุรีมาตั้งอยู่เมืองปุรัตถิมมหานคร จึงพระกัสสปเถรเจ้า กับพระสงฆ์บุถุชนผู้ทรงธรรมวินัย ประชุมกันชำระพระไตรปิฎกซึ่งเป็นสิงหฬภาษาบ้าง มคธบ้าง ปะปนกันอยู่ให้แปลงแปลออกเป็นมคธภาษาทั้งสิ้น แล้วจารึกลงลานใหม่ พระเจ้าปรากรมพาหุราชเป็นศาสนูปถัมภก ปี ๑ จึงสำเร็จบริบูรณ์ นับเนื่องเข้าในสัตตมสังคายนา

“เบื้องหน้าแต่นั้นมา จึงพระเจ้าธรรมานุรุธผู้เสวยราชสมบัติ ณ เมืองอริมัตถบุรี คือเมืองภุกาม ออกไปจำลองพระไตรปิฎกในลังกาทวีปเชิญลงสำเภามายังชมพูทวีปนี้ แต่นั้นมาพระปริยัติธรรมจึงแผ่ไพศาลไปในนานาประเทศทั้งปวงบรรดาที่เป็นสัมมาทิฏฐินับถือพระรัตนตรัยนั้นได้จำลองต่อ ๆ กันไป เปลี่ยนแปลงอักษรตามประเทศภาษาของตน ๆ ก็ผิดเพี้ยนวิปลาสไปบ้างทุก ๆ พระคัมภีร์ที่มากบ้าง ที่น้อยบ้าง

“ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาได้ ๒๐๒๐ ปี จึงพระธรรมทินเถรเจ้าผู้เป็นมหาเถรอยู่ ณ เมืองนพีสีนคร คือเมืองเชียงใหม่ พิจารณาเห็นว่าพระไตรปิฎกพิรุธมากทั้งบาลีและอรรถกถาฎีกาจึงถวายพระพรแก่พระเจ้าศิริธรรมจักรวรรดิ์ดิลกราช ซึ่งเสวยราชสมบัติ ณ เมืองเชียงใหม่ว่า จะชำระพระปริยัติธรรมให้บริบูรณ์ พระเจ้าศิริธรรมจักรวรรดิ์ดิลกราชจึงให้กระทำพระมณฑปในมหาโพธารามวิหารในพระนคร พระธรรมทินเถรจึงเลือกพระสงฆ์ซึ่งทรงพระไตรปิฎกมากกว่า ๑๐๐ ประชุมพร้อมกันในพระมณฑปนั้น กระทำสังคายนาพระไตรปิฎกตกแต้มให้ถูกถ้วนบริบูรณ์ พระเจ้าศิริธรรมจักรวรรดิ์ดิลกราชเป็นศาสนูปถัมภก ปี ๑ จึงสำเร็จ นับเนื่องเข้าในอัฏฐมสังคายนาอีกครั้งหนึ่ง

“เบื้องหน้าแต่นั้นมา พระเถรานุเถรในชมพูทวีปได้เล่าเรียนพระไตรปิฎกและสร้างสืบต่อกันมา และท้าวพระยาเศรษฐีคฤหบดีมีศรัทธาสร้างไว้ในประเทศต่าง ๆ คือเมืองไทย เมืองลาว เมืองเขมร เมืองพม่า เมืองมอญ เป็นอักษรส่ำสมผิดเพี้ยนกันอยู่เป็นอันมาก หาท้าวพระยาและสมณะผู้ใดที่จะศรัทธาสามารถอาจชำระพระไตรปิฎกขึ้นไว้ให้บริบูรณ์ ดุจท่านแต่ก่อนนั้นมิได้

“ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาได้ ๒๓๐๐ ปีเศษแล้วบรรดาเมืองที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งปวง ก็เกิดการยุทธสงครามแก่กันถึงพินาศฉิบหายด้วยภัยแห่งปัจจามิตร มีผู้ร้ายเผาวัดวาอารามพระไตรปิฎกก็สาบสูญสิ้นไป จนถึงกรุงศรีอยุธยาเก่าก็ถึงแก่กาลพินาศแตกทำลายด้วยภัยพม่าข้าศึก พระไตรปิฎกและพระเจดียสถานทั้งปวงก็เป็นอันตรายสาบสูญไป สมณะผู้รักษาร่ำเรียนพระไตรปิฎกนั้น ก็พลัดพรายล้มตายเป็นอันมาก หาผู้ใดที่จะเป็นที่พำนักป้องกันข้าศึกศัตรูมิได้ เหตุฉะนี้พระไตรปิฎกจึงมิได้บริบูรณ์ เสื่อมสูญร่วงโรยมาจนเท่ากาลทุกวันนี้”

พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ เมื่อได้ทรงสดับพระสงฆ์ราชาคณะถวายพระพรโดยพิสดาร ดังนั้น จึงดำรัสว่า “ครั้งนี้ขออาราธนาพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวง จงมีอุตสาหะในฝ่ายพระพุทธจักรให้พระไตรปิฎกบริบูรณ์ขึ้นให้จงได้ ฝ่ายข้างอาณาจักรที่จะเป็นศาสนูปถัมภกนั้น เป็นพนักงานโยม ๆ จะสู้เสียสละชีวิตบูชาพระรัตนตรัยสุดแต่จะให้พระปริยัติบริบูรณ์ เป็นมูลที่จะตั้งพระพุทธศาสนาจงได้ พระราชาคณะทั้งปวงรับสาธุแล้วถวายพระพรว่า “อาตมาภาพทั้งปวง มีสติปัญญาน้อยนักไม่เหมือนท่านแต่ก่อน แต่จะอุตส่าห์ชำระพระปริยัติธรรมสนองพระเดชพระคุณตามสติปัญญา และสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาครั้งนี้ ก็นับได้ชื่อว่า นวมสังคายนาคำรบ ๙ ครั้ง จะยังพระปริยัติศาสนาให้ถาวรวัฒนาขึ้นยาวไปในอนาคตสมัยสิ้นกาลช้านาน” แล้วถวายพระพรลาออกมาประชุมพร้อมกัน ณ วัดบางว้าใหญ่ จึงสมเด็จพระสังฆราชให้เลือกสรรพระราชาคณะฐานานุกรมเปรียญอันดับ ที่เล่าเรียนพระไตรปิฎกในเวลานั้นจัดได้พระสงฆ์ ๒๑๘ รูปกับราชบัณฑิตยาจารย์ ๓๒ คน ที่จะทำการชำระพระไตรปิฎก

จึงมีพระราชดำรัสให้จัดการที่จะทำสังคายนา ณ วัดนิพพานาราม เหตุประดิษฐานอยู่หว่างพระราชวังทั้ง ๒ และครั้งนั้นจึงพระราชทานนามใหม่ให้ชื่อวัดพระศรีสรรเพ็ชญดารามแล้วทรงบริจาคพระราชทรัพย์ แจกจ่ายเกณฑ์พระราชวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายในทั้งพระราชวังหลวง พระราชวังบวรฯ พระราชวังหลัง ให้ทำสำรับคาวหวานถวายพระสงฆ์ซึ่งชำระพระไตรปิฎกทั้งเช้าทั้งเพล เวลาละ ๔๓๖ สำรับทั้งคาวหวาน พระราชทานเป็นเงินตรา ค่าขาทนียโภชนียาหารสำรับคู่ละบาท

ครั้น ณ วันกัตติกปุรณมีเพ็ญเดือน ๑๒ ในปีวอก สัมฤทธิศก จุลศักราช๑๑๕๐ พระพุทธศักราช ๒๓๓๑ พรรษา เป็นพุธวาร ศุกรปักษ์ดฤถี เวลาบ่าย ๓โมง มีพระราชกำหนดให้นิมนต์พระสงฆ์ประชุมพร้อมกันในพระอุโบสถวัดพระศรีสรรเพ็ชญดารามแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและกรมพระราชวังบวรฯ ก็เสด็จพระราชดำเนินด้วยมหันตราชอิสริยยศบริวารยศ พร้อมด้วยเครื่องสูง และปี่กลองชนะแห่ออกจากพระราชวังไปยังพระอาราม เสด็จ ณ พระอุโบสถทรงถวายนมัสการพระรัตนตรัยด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วอาราธนาพระพิมลธรรมให้อ่านคำประกาศเทวดาในท่ามกลางสงฆสมาคม ขออานุภาพเทพยดาเจ้าทั้งปวง ให้อุปถัมภนาการให้สำเร็จกิจมหาสังคายนา แล้วให้แบ่งพระสงฆ์เป็น ๔ กอง สมเด็จพระสังฆราชเป็นแม่กองชำระพระสุตตันตปิฎกกอง ๑ พระวันรัตเป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎกกอง ๑ พระพิมลธรรมเป็นแม่กองชำระพระสัททาวิเศสกอง ๑ และครั้งนั้นพระธรรมไตรโลกเป็นโทษอยู่ มิได้เข้าในสังคายนา พระธรรมไตรโลกจึงมาอ้อนวอนสมเด็จพระสังฆราช ขอเข้าช่วยชำระพระไตรปิฎกด้วย ก็ได้เป็นแม่กองชำระพระปรมัตถปิฎกกอง ๑ และพระสงฆ์ทั้ง ๔ กองนั้น ทรงพระกรุณาโปรดให้นิมนต์แยกกันชำระพระปริยัติอยู่ ณ พระอุโบสถกอง ๑ อยู่ ณ พระวิหารกอง ๑ อยู่ ณ พระมณฑปกอง ๑ อยู่ ณ การเปรียญกอง ๑ ทรงถวายปากไก่หมึกหรดาลครบทุกองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอนุชาธิราช เสด็จพระราชดำเนินออกไป ณ พระอารามทุก ๆ วัน วันละ ๒ เวลา เวลาเช้าทรงประเคนสำรับประณีตขาทนียโภชนียาหารแก่พระสงฆ์ให้ฉัน ณ พระระเบียงโดยรอบ เวลาเย็นทรงถวายอัฏฐบานธูปเทียนเป็นนิตย์ทุกวัน และพระสงฆ์ทั้งราชบัณฑิตประชุมกันพิจารณาดูพระปริยัติ สอบสวนพระบาลีกับอรรถกถาที่ผิดเพี้ยนวิปลาส ก็ตกแต้มเปลี่ยนแปลงอักขระให้ถูกถ้วนบริบูรณ์ทุก ๆ พระคัมภีร์ใหญ่น้อยทั่วทั้งสิ้น และที่ใดสงสัยเคลือบแคลงก็ปรึกษาไต่ถามพระราชาคณะผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นมหาเถรให้วิสัชนาตัดสินที่ผิดและชอบ การชำระพระไตรปิฎกตั้งแต่ ณ วันเพ็ญเดือน ๑๒ ปีวอก สัมฤทธิศก มาจนถึงวันเพ็ญเดือน ๕ ปีระกา เอกศก จุลศักราช ๑๑๕๑[๕๗] พอครบ ๕ เดือนก็สำเร็จการสังคายนา จึงทรงพระกรุณาโปรดให้จำหน่ายพระราชทรัพย์ เป็นมูลค่าจ้างให้ช่างจานคฤหัสถ์และพระสงฆ์สามเณร จารึกพระไตรปิฎกซึ่งชำระบริสุทธิ์แล้วนั้นลงลานใหญ่สำเร็จแล้ว ให้ปิดทองทึบทั้งใบปกหน้าหลังและกรอบทั้งสิ้น เรียกว่าฉบับทอง ห่อด้วยผ้ายกเชือกรัดถักด้วยไหมเบญจพรรณ มีสลากงาแกะเป็นลวดลายเขียนอักษรด้วยน้ำหมึกและฉลากทอเป็นตัวอักษรบอกชื่อพระคัมภีร์ทุก ๆ พระคัมภีร์ อนึ่งเมื่อสำเร็จการสังคายนานั้น ทรงถวายไตรจีวรบริขารภัณฑ์แก่พระสงฆ์ทั้ง ๒๑๘ รูป มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน ล้วนประณีตทุกสิ่งเป็นมหามหกรรมฉลองพระไตรปิฎก และพระราชทานรางวัลเสื้อผ้าแก่พระยาธรรมปโรหิต พระยาพจนาพิมล และราชบัณฑิตทั้ง ๓๒ คนนั้นด้วย แล้วทรงสุวรรณภิงคาร หล่อหลั่งทักษิโณทกธาราอุทิศแผ่ผลพระราชกุศลศาสนูปถัมภกกิจ ไปถึงเทพยดามนุษย์สรรพสัตว์ทั้งหลายทั่วอนันตโลกธาตุ เป็นปัตตานุปทานบุญกริยาวัตถุอันยิ่ง เพื่อประโยชน์แก่พระบรมโพธิสัพพัญญุตญาณ

ครั้นเมื่อเสร็จการสร้างพระไตรปิฎกฉบับทองแล้ว จึ่งให้เชิญพระคัมภีร์ทั้งปวงขึ้นพระยานุมาศ พระราชยานต่าง ๆ ตั้งกระบวนแห่สมโภชพระไตรปิฎกมีเครื่องเล่นเป็นอเนกนานานุประการ เป็นมหรสพแก่ตาประชาราษฎรทั้งปวง แล้วเชิญพระคัมภีร์ปริยัติธรรมเข้าประดิษฐานไว้ในตู้ประดับมุก ตั้งไว้ในหอพระมนเทียรธรรมกลางสระในวัดพระศรีรัตนศาสดารามภายในพระราชวัง แล้วให้มีงานมหรสพสมโภชพระไตรปิฎก ณ หอพระมนเทียรธรรม ครั้งนั้นมีละครผู้หญิงด้วย

ครั้นเวลาค่ำจุดดอกไม้เพลิง ลูกพลุไปตกหลังคาหอพระมนเทียรธรรมเพลิงติดไหม้ขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจเาอยู่หัวดำรัสสั่งข้าราชการทั้งปวงให้เข้าไปยกตู้ประดับมุกและขนพระไตรปิฎกออกมาได้สิ้นเพลิงมิได้ไหม้ ไหม้แต่หอพระมนเทียรธรรมแห่งเดียวเท่านั้น และที่อุโบสถพระแก้วนั้นลูกไฟไปไม่ถึง บริบูรณ์ดีอยู่ จึงมีพระราชโองการตรัสว่าเทพยดาผู้บำรุงรักษาพระพุทธศาสนาเห็นว่าหอพระไตรปิฎกยังตํ่าอยู่ จึงบันดาลให้เพลิงไหม้แต่เฉพาะหอไตรมิให้ไหม้พระอุโบสถ ด้วยจะให้สร้างพระมณฑปขึ้นใหม่ไว้พระไตรปิฎก จึงมีพระราชดำรัสสั่งพระยายมราช (บุนนาค) ซึ่งเป็นพระยาอุไทยธรรมแต่ก่อนกับพระยาราชสงครามให้เป็นแม่กองทำพระมณฑป ให้ถมสระเดิมเสีย ขุดรากก่อพระมณฑปลงในที่นั้น ภายในมณฑปปูลาดด้วยแผ่นเงิน และตั้งตู้มณฑปประดับมุกเป็นที่ไว้คัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับทอง ส่วนบริเวณรอบพระมณฑปนั้นมีชั้นชาลา และกำแพงแก้วเป็นที่ทักษิณล้อมรอบพระมณฑป ลดพื้นลงมา ๓ ชั้น แล้วให้ขุดสระใหม่ลงเบื้องบูรพทิศ ก่ออิฐถือปูนรอบ แล้วโปรดให้ช่างจำลองรูปสิงห์ทองสัมฤทธิ์ ซึ่งได้มาแต่เมืองบันทายมาศแต่ก่อน ๒ รูปนั้น หล่อเติมขึ้นอีก ๑๐ รูป ทำฐานก่ออิฐถือปูนตั้งไว้นอกประตูกำแพงแก้วล้อมพระมณฑปชั้นล่าง ประตูละคู่ ทั้ง ๔ ประตูและตั้งไว้ตามมุมอีกมุมละรูปทั้ง ๔ มุม บนหลังกำแพงแก้วทั้ง ๓ ชั้นนั้น ให้ทำโคมรูปหม้อปรุด้วยทองแดงสำหรับตามประทีปตั้งเรียงรายไปโดยรอบ หว่างโคมนั้นให้ปักฉัตรทำด้วยทองแดง มีใบโพธิ์ ห้อยลงรักปิดทองด้วยทุกชั้น บูชาพระไตรปิฎกธรรมเป็นมโหฬารยิ่งนัก และกรมพระราชวังบวรฯ ก็ทรงจัดช่างวังหน้ามาสมทบทำหอพระมนเทียรธรรมขึ้นใหม่ฝ่ายทิศอีสานแห่งพระมณฑป เป็นที่ไว้ตู้พระไตรปิฎกฉบับครูเดิม และฉบับอื่นที่ทรงสร้างใหม่ และให้เป็นที่พักของราชบัณฑิตสำหรับบอกพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณรด้วย



[๕๗] พ.ศ. ๒๓๓๒

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ