๓๙. ปราบเมืองมลายู

ครั้นเสร็จการศึกพม่าแล้ว สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวร ฯ ทรงพระดำริว่า เมืองมลายู เคยเป็นข้าขอบขัณฑสีมาแต่ครั้งกรุงเก่า ครั้นกรุงเก่าเสียแก่พม่าแล้ว พวกเมืองมลายูพากันกระด้างกระเดื่อง เจ้ากรุงธนบุรียังหาได้ปราบปรามหัวเมืองมลายูเรียบร้อยทั่วไปดังแต่ก่อนไม่ และครั้งนี้ได้เสด็จลงไปรบพุ่งพม่าข้าศึกแตกฉานไปแล้ว กองทัพกรุงเทพฯ ก็มีกำลังพรักพร้อมกันอยู่ที่เมืองสงขลา สมควรจะปราบปรามหัวเมืองมลายูให้มาเป็นข้าขอบขัณฑสีมาดังแต่ก่อน จึงดำรัสให้ข้าราชการเป็นข้าหลวงเชิญรับสั่งออกไปยังหัวเมืองแขกมลายูให้เข้ามาอ่อนน้อมยอมเป็นข้าขอบขัณฑสีมาดังแต่ก่อน

สุลต่านเจ้าเมืองตานีได้ทราบรับสั่งแล้วขัดแข็งอยู่ไม่มาอ่อนน้อม จึงดำรัสให้กองหน้ายกออกไปตีเมืองตานี ทัพหลวงก็เสด็จยกหนุนไป ด้วยเดชพระบารมีพระราชกฤษฎาธิการบรรดาลพวกแขกทั้งปวงให้พ่ายแพ้พลข้าหลวงทั้งสิ้น ที่สู้รบปราชัยก็มีบ้าง ที่แตกหนีมิได้ต่อรบก็มีบ้าง ที่มาอ่อนน้อมยอมสวามิภักดิ์ก็มีบ้าง และเมืองตานีนั้นเป็นเมืองใหญ่ได้ปืนทองใหญ่ในเมือง ๒ บอก ทรงพระกรุณาให้เข็นลงในสำเภา และได้เครื่องสรรพศาสตราวุธต่าง ๆ กับทั้งทรัพย์สิ่งของทองเงินเป็นอันมาก บรรดาเจ้าเมืองกรมการแขกมลายูทั้งปวงนั้น ที่สู้รบตายในที่รบบ้าง จับได้บ้าง ที่หนีไปได้บ้าง ที่เข้าสวามิภักดิ์โดยดีก็มิได้ลงโทษบ้าง และพระเดชานุภาพก็ผ้านแผ่ไปในมลายูประเทศทั่วทั้งปวง

ครั้งนั้นพระยาไทร ๑ พระยากลันตันซึ่งขึ้นแก่เมืองตรังกานู ๑ พระยาตรังกานู ๑ ก็เกรงกลัวพระราชกฤษฎาเดชาธิการ ก็แต่งเครื่องราชบรรณาการนำมาทูลเกล้า ฯ ถวายขอเป็นเมืองขึ้นข้าขอบขัณฑสีมากรุงเทพฯ ต่อไป จึงมีพระราชบัณฑูรดำรัสให้แต่งหนังสือบอกข้อราชการ ซึ่งได้ชัยชนะแก่พม่าปัจจามิตร และเสด็จไปปราบปรามหัวเมืองแขกปราชัยได้เมืองตานีและเมืองอื่นที่มาขอขึ้นก็หลายเมือง ให้ข้าหลวงถือเข้ามา กราบทูลพระกรุณาสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเจ้ายังกรุงเทพมหานคร ข้าหลวงซึ่งถือหนังสือบอกข้อราชการทัพเมืองตานีเข้ามาถึงกรุงเทพมหานคร ทรงทราบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระโสมนัส ดำรัสสรรเสริญพระกฤษฎาเดชานุภาพสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า แล้วโปรดให้มีตราตอบออกไปแจ้งข้อราชการ ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินทัพหลวงขึ้นไปปราบอริราชไพรี ณ หัวเมืองฝ่ายเหนือปราชัยไปสิ้นแล้ว ให้เชิญสมเด็จพระอนุชาเสด็จยาตราพยุหทัพหลวงกลับคืนมายังพระมหานคร สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวร ฯ จึงดำรัสให้กวาดครอบครัวแขกเชลยที่ตีทัพจับบรรทุกลงเรือรบ กับทั้งทรัพย์สิ่งของทองเงิน และเครื่องศาสตราวุธต่าง ๆ ซึ่งได้ในการสงครามและให้แบ่งครอบครัวแขกไว้สำหรับบ้านเมืองบ้างทุก ๆ เมือง แล้วโปรดตั้งพระจะหนะซึ่งมีความชอบในการสงครามครั้งนั้นเป็นเจ้าเมืองอยู่รักษาหัวเมืองตานีซึ่งตีได้นั้น อนึ่งทรงทราบว่าธัญญาหารในกรุงยังไม่บริบูรณ์ จึงดำรัสให้ขนข้าวในเมืองแขก ลงบรรทุกในเรือกองทัพทุก ๆ ลำเสร็จแล้วจึงให้เลิกกองทัพกลับมาทางบกทางเรือ ถึงกรุงเทพมหานครในเดือน ๑๑ ปีมะเมีย อัฐศก จุลศักราช ๑๑๔๘[๔๘] เสด็จขึ้นเฝ้าสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเจ้า กราบทูลถวายปืนใหญ่ยาว ๓ วา ๑ศอก ๑ คืบ ๒ นิ้วกึ่ง กระสุน ๑๑ นิ้ว บอก ๑ ยาว ๕ ศอก ๑ คืบ ๙ นิ้ว กระสุน ๓ นิ้วกึ่ง บอก ๑ ซึ่งได้มาแต่เมืองตานี และกราบทูลถวายครอบครัวแขก และพม่าเชลยกับทั้งเครื่องศาสตราวุธต่างๆ ซึ่งไปได้มา และพม่าเชลยซึ่งจับได้มานั้นโปรดให้จำไว้ ณ คุกทั้งสิ้น ปืนบอกใหญ่ที่ได้มาแต่เมืองตานีนั้น ก็โปรดให้แก้ไขตกแต่งลวดลายท้ายสังข์ขัดสีเสียใหม่ ให้จารึกนามลงไว้กับบอกปืนว่า พระยาตานี แล้วให้ทำโรงไว้ที่ข้างหน้าศาลาลูกขุน ในฝ่ายขวา



[๔๘] พ.ศ. ๒๓๒๙

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ