๘๔. ข่าวศึกพม่า กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จเมืองเชียงใหม่

ลุจุลศักราช ๑๑๕๙ ปีมะเส็ง นพศก[๗๔] เป็นปีที่ ๑๖ ในรัชกาลที่ ๑ ครั้น ณ เดือน ๑๒ แรม ๙ ค่ำ พม่าเอาหนังสือเข้ามาแขวนที่ด่านเมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี เมืองไทรโยค เมืองอุทัยธานี เมืองตาก เมืองเชียงใหม่ เมืองหลวงพระบาง ความต้องกันว่า พม่าจะเข้ามาตีกรุงและอังกฤษจะมาช่วยเป็นทัพเรือยกเข้ามาทางปากน้ำเจ้าพระยา ครั้น ณ เดือนยี่พระเจ้าอังวะให้อินแซะวุ่นเป็นแม่ทัพคุมไพร่พลมาตีหัวเมืองขึ้นเมืองเชียงใหม่ ๆ ออกรบพุ่งต่อสู้ จับพม่าได้ ๑๒ คน ถามให้การว่าพระเจ้าอังวะเกณฑ์กองทัพยกมาตีเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง อังกฤษจะเอาสลุบกำปั่นเข้ามารบทางทะเล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำรัสให้สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ยกกองทัพขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่ แล้วให้เกณฑ์กองทัพไปรักษาเมืองตาก เมืองระแหง เมืองกาญจนบุรี เมืองราชบุรี เมืองอุทัยธานี ตามทางซึ่งพม่าเคยมาแต่ก่อน การศึกครั้งนั้นทรงสงสัยอยู่ว่า อังกฤษจะเข้าด้วยจริง เพราะคำพม่าให้การกับหนังสือแขวนก็ต้องกัน จึงโปรดให้มีตราออกไปเกณฑ์กองทัพ ให้เจ้าอนัมก๊กยกมาช่วยรักษาเมืองสมุทรปราการ เจ้าอนัมก๊กบอกเข้ามาว่า จะให้องฮีกุนเป็นแม่ทัพ ให้องยำเกือนเป็นปลัดทัพ องโปโฮ องทำตรีบินโป องทุงวาย องพนวาย องโววาย องเป็ดวาย องพอเตียง เป็นนายกองคุมเรือรบใหญ่ ปากกว้าง ๔ วา ๑๕ ลำ เรือกูไล ๑๕ ลำ เรือแง่ซาย ๗๘ ลำ รวมเป็นเรือ ๑๐๘ ลำ ไพร่ ๗,๗๒๐ คน เครื่องศาสตราวุธพร้อมกำหนด ณ เดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ จะยกเข้ามาช่วยราชการทัพ แต่ครั้นต่อมาได้ความว่าที่พม่าว่าอังกฤษจะยกทัพเรือขึ้นมาช่วยตีกรุงเทพมหานครเป็นการไม่จริง จึงโปรดให้มีตราออกไปบอกเลิกกองทัพญวนไม่ต้องให้ยกมา



[๗๔] พ.ศ. ๒๓๔๐

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ