คำนำ

ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องหมายเชิดชูชาติ เป็นสิ่งที่จะประกาศให้ชาวโลกยกย่องสรรเสริญและยอมรับนับถือความเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่เก่าแก่ มีวัฒนธรรมอันไพบูลย์งอกงามมาแต่บรรพกาล ดังนั้นทุกชาติจึงบันทึกเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมืองไว้เป็นหลักฐาน เพราะถือว่าเป็นเกียรติยศอันสูงส่งของชาติ

เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ได้วิริยะอุตสาหะเรียบเรียงพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ขึ้น เมื่อพุทธศักราช ๒๔๑๒ หลังจากเหตุการณ์ล่วงมาถึง ๒ แผ่นดิน โดยรวบรวมจากเอกสาร บ้านเมืองที่เก็บรักษาไว้ตามที่ต่างๆหลายแหล่ง และจากข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งสูงในแผ่นดิน ดังได้กล่าวไว้ในบานแผนกแล้ว นับว่าประสบความลำบากมิใช่น้อยกว่าจะสำเร็จบริบูรณ์ จึงเป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาในยุคปัจจุบันจะได้สดุดีรำลึกถึงคุณงามความดีและความสามารถให้ปรากฏ ครั้นถึงพุทธศักราช ๒๔๔๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นำพระราชพงศาวดารฉบับนี้มาตรวจสอบชำระและอธิบายเพิ่มเติมให้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น และมีพระบรมราชโองการโปรดให้พิมพ์ขึ้นเป็นหนังสือสำคัญของบ้านเมือง เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๔

การจัดพิมพ์ครั้งนี้ กรมศิลปากรได้พิจารณาเชิงอรรถเพิ่มเติมไว้เพื่อความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชื่อสถานที่ เหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย นอกจากนั้น ได้นำหมายรับสั่งรัชกาลที่ ๑ ที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์มาร่วมพิมพ์ไว้เป็นภาคผนวกด้วย หวังว่าผู้ศึกษาจะได้รับประโยชน์อย่างกว้างขวาง

อธิบดีกรมศิลปากร

กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์

๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๑

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ