๓๓. รบพม่าเมืองกาญจนบุรี

ครั้นถึงวันศุภวารมหาพิไชยมงคลฤกษ์ ในมฤคศิรมาศศุกรปักษ์ดิถี จึงสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ก็ถวายบังคมลาสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเจ้า เสด็จทรงเรือพระที่นั่งบัลลังก์แก้วจักรพรรดิ์ปิดทองทึบพระที่นั่งสวัสดิชิงไชยประกอบพื้นดำทรงพระไชยนำเสด็จ พรอมด้วยเรือท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาท โดยเสด็จดาษดาดำเนินพยุหโยธาทัพหลวงจากกรุงเทพฯ โดยทางชลมารค ดำรัสให้พระยากลาโหมราชเสนา พระยาจ่าแสนยากรเป็นกองหน้า ให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธ ที่สมุหนายก เป็นทัพเกียกกาย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา เป็นยกกระบัตร พระยามนเทียรบาลเป็นกองหลัง และพลทหารในกองทัพหลวงทั้งสิ้นนั้น เป็นคน ๓๐,๐๐๐ สรรพด้วยช้าง ม้า เครื่องศาสตราวุธปืนใหญ่น้อยเป็นอันมาก ดำเนินทัพหลวงไปทางบก ทางเรือ ถึงตำบลลาดหญ้าเหนือเมืองกาญจนบุรี จึงมีพระราชบัณฑูรดำรัสให้หยุดทัพหลวงตั้ง ณ ที่นั้น แล้วให้กองหน้ากองหนุนตั้งค่ายรายกันอยู่เป็นหลายค่าย ชักปีกกาถึงกันทุกๆ ค่าย และค่ายหลวงนั้นตั้งห่างค่ายหน้าลงมาทาง ๕ เส้น แล้วให้ขุดสนามเพลาะปักขวากหนามตามทำนองศึกพร้อมเสร็จ แล้วดำรัสให้พระยามหาโยธาคุมกองมอญ ๓,๐๐๐ ยกออกไปตั้งค่ายขัดตาทัพอยู่ ณ ด่านกรามช้าง

ฝ่ายทัพเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ พระยายมราช ถือพล ๕,๐๐๐ ยกออกไปตั้งค่ายอยู่เมืองราชบุรีเป็นหลายค่าย กองทัพเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ตั้งค่ายหลวงอยู่ที่เมืองนครสวรรค์ ให้เจ้าพระยามหาเสนาเป็นกองหน้า ไปตั้งค่ายอยู่เมืองพิจิตร พระยาพระคลัง พระยาอุไทยธรรมเป็นกองหลัง ไปตั้งค่ายอยู่ ณ เมืองชัยนาท ระวังพม่าจะยกมาทางเมืองอุทัยธานี

ฝ่ายกองทัพเจ้าอังวะซึ่งยกมาทางเมืองเมาะตะมะ ทัพหน้าที่ ๑ ล่วงเข้ามาทางด่านกรามช้าง เข้าตีค่ายพระยามหาโยธาแตกพ่ายหนีเข้ามา แล้วเดินทัพเข้ามาถึงตำบลลาดหญ้า ซึ่งทัพหลวงออกไปตั้งค่ายรับอยู่นั้น และทัพหน้าที่ ๒ ก็ยกหนุนมาถึงเป็นคน ๑๕,๐๐๐ ด้วยกัน เมียนวุ่นกับเมียนแมวุ่นแม่ทัพทั้งสองกอง ก็ให้นายทัพนายกองทั้งปวงเกณฑ์พลทหารตั้งค่ายรายไปเป็นหลายค่าย ชักปีกกาถึงกัน และทัพตะแคงกามะที่ ๓ ก็ยกหนุนมาตั้งค่ายอยู่ที่ท่าดินแดง ทัพตะแคงจักกุที่ ๔ ก็ยกมาตั้งอยู่ที่สามสบ ทัพหลวงพระเจ้าอังวะยกมาตั้งค่ายอยู่ที่พระเจดีย์สามองค์ที่แดนต่อแดน คอยฟังข้อราชการซึ่งกองหน้าจะบอกไปประการใด จะได้เกณฑ์ทัพหนุนเพิ่มเติมมาช่วย แล้วให้เกณฑ์รี้พลกองลำเลียงขนเสบียงอาหารมาส่งกองหน้าซึ่งมาตั้งอยู่นั้นมิได้ขาด

สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล จึงมีพระราชบัณฑูรดำรัสให้ท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวง ยกพลทหารออกโจมตีค่ายพม่า ๆ ต่อรบเป็นสามารถ พลทหารไทยและพม่าต่างยิงปืนโต้ตอบกันทั้ง ๒ ฝ่าย ล้มตายด้วยกันทั้ง ๒ ข้าง ทัพไทยจะหักเอาค่ายพม่ามิได้ก็ถอยเข้าค่าย จึงมีพระราชบัณฑูรให้ทำครกทำสากใหญ่ไว้ในค่ายหลวงสามสำรับ ดำรัสให้ประกาศแก่นายทัพนายกองและทหารทั้งปวงว่า ถ้าผู้ใดถอยหนีพม่าข้าศึก จะเอาตัวลงครกโขลกเสีย

แล้วดำรัสให้พระยาสีหราชเดโช พระยาท้ายน้ำ พระยาเพ็ชรบุรี ๓ นาย เป็นนายทัพกองโจร พระยารามกำแหง พระยาเสนานนท์ เป็นปลัดทัพ ถือพล ๕๐๐ ยกลัดป่าไปคอยสะกัดตีกองลำเลียงพม่าที่ตำบลพุไคร้ช่องแคบ อย่าให้พม่าส่งลำเลียงกันได้ พระยาสีหราชเดโชและท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวง ก็กราบถวายบังคมลา ยกพลทหารไปทำการตามพระราชกำหนด คอยสะกัดตีกองลำเลียงพม่า จับพม่าได้บ้างส่งไปยังทัพหลวงแล้วคิดย่อท้อต่อข้าศึกหลีกหนีไปซุ่มตั้งทัพอยู่ที่อื่น พวกขุนหมื่นในกองทัพมาฟ้องกล่าวโทษให้กราบทูลจึงมีรับสั่งให้พระยามนเทียรบาลและข้าหลวงหลายนาย ยกพลทหารไปจับตัวนายกองโจรทั้งสามนายพิจารณา ถ้าได้ความจริงดังโจทก์หาก็ให้ประหารชีวิตเสีย ตัดศีรษะนำมาถวาย แต่ปลัดทัพทั้งสองนายนั้นให้เอาดาบสับศีรษะคนละสามเสี่ยง ให้ขุนหมื่นผู้เป็นโจทก์นำทางไป พระยามนเทียรบาลและข้าหลวงทั้งปวงก็กราบถวายบังคมลายกออกไปถึงทัพกองโจรซึ่งไปตั้งซุ่มทัพอยู่ พิจารณาไต่ถามได้ความเป็นสัตย์สมคำโจทก์ จึงตัดศีรษะพระยาสีหราชเดโช พระยาท้ายน้ำ พระยาเพ็ชรบุรี ทั้งสามนายใส่ชะลอม แล้วเอาดาบสับศีรษะ พระยารามกำแหง พระยาเสนานนท์ คนละสามเสี่ยง ตามพระราชบัณฑูรดำรัสสั่ง แล้วเอาชะลอมศีรษะทั้งสามนายนั้นกลับมาถวาย ณ ค่ายหลวง มีพระราชบัณฑูรให้เอาศีรษะไปเสียบประจานไว้หน้าค่าย อย่าให้ผู้ใดเอาเยี่ยงอย่าง แล้วดำรัสให้พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าขุนเณรซึ่งเป็นพระโอรสพระเจ้าขุนรามณรงค์ สมเด็จพระบรมเชษฐา เป็นนายทัพกองโจร กับข้าหลวงหลายนาย คุมพลทหาร ๑,๐๐๐ ยกไปบรรจบกับกองโจรเดิมเป็นคน ๑,๕๐๐ ไปคอยก้าวสะกัดตีกองลำเลียงพม่าที่ตำบลพุไคร้ดังแต่ก่อน อย่าให้พม่าส่งลำเลียงเสบียงอาหารกันได้ กองทัพพม่าซึ่งมาตั้งรบอยู่นั้นจะได้ถอยกำลังลง พระองค์เจ้าขุนเณรและนายทัพนายกองทั้งปวง ก็กราบถวายบังคมลายกไปกระทำการตามรับสั่ง คอยซุ่มสะกัดตีตัดกองลำเลียงพม่า จับได้พม่าและช้างม้าโคต่างส่งมาถวายเนือง ๆ

ฝ่ายแม่ทัพหน้าพม่าทั้งสองนาย ให้แต่งหอรบขึ้น ณ ค่ายหน้าเป็นหลายแห่ง ให้เอาปืนใหญ่ตั้งขึ้นบนหอรบยิงค่ายทัพไทย จึงมีพระราชบัณฑูรให้เอาปืนลูกไม้แต่ครั้งกรุงธนบุรี เข็นออกไปตั้งหน้าค่าย ยิงค่ายและหอรบหม่าหักพังลงเป็นหลายตำบล และพลพม่าถูกปืนถูกไม้ล้มตายและลำบากเป็นอันมาก มิอาจออกนอกค่ายได้ รักษามั่นอยู่แต่ในค่าย ทั้งขัดเสบียงอาหารถอยกำลังลง จึงมีพระราชบัณฑูรให้แต่งหนังสือบอกข้อราชการสงคราม ให้ข้าหลวงถือเข้ามากราบถวายบังคมทูลแต่พระบาทสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเจ้า ณ กรุงเทพมหานคร

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทราบในข้อราชการสงคราม ก็ทรงพระวิตกเกรงจะเอาชัยชำนะแก่ข้าศึกมิได้โดยเร็ว ครั้นมาถึง ณ วันอาทิตย์ เดือนยี่ ขึ้น ๙ ค่ำ จึงเสด็จทรงเรือพระที่นั่งบัลลังก์บุษบกพิศาล ประกอบพื้นแดง พระที่นั่งพิมานเมืองอินทร์ประกอบพื้นดำทรงพระไชยนำเสด็จ พร้อมด้วยเรือท้าวพระยา ข้าทูลละอองธุลีพระบาท โดยเสด็จพระราชดำเนินเป็นอันมาก และพลโยธาหารในกระบวนทัพหลวงเป็นคน ๒๐,๐๐๐ เสด็จยาตราพลนาวาพยุหออกจากกรุงเทพมหานคร รอนแรมไปโดยทางชลมารคถึงเมืองกาญจนบุรี สมเด็จพระอนุชาธิราชได้ทรงทราบ ก็เสด็จพระราชดำเนินลงมาถวายบังคมรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงช้างพระที่นั่งเทพลีลาสูง ๕ ศอก ๖ นิ้ว ผูกกูบทอง พร้อมด้วยเครื่องพระกรรภิรม และธงไชยกระบี่ธุช ครุฑพ่าห์แห่โดยขนาดพลโยธาหาญล้วนสวมเสื้อสักหลาดแดงหมวกแดง พรั่งพร้อมด้วยพลสารสินธพ และธงทวนกระบวนปืนนกสับ สรรพอเนกวิธาศาสตราวุธแหนแห่แลไสว ประโคมเบญจดุริยดนตรีแตรสังข์ฆ้องกลองชนะคะโครมครึก กึกก้องท้องทุรรัถยาพนัศมณฑลสถาน สำเนียงพลทหารโห่ร้องบันลือศัพทอุโฆษกาหลนฤนาท คลี่พลพยุหยาตราโยธาทัพหลวงบรรลุถึงพระตำหนักค่ายสมเด็จพระอนุชาธิราช เสด็จยาตราคชาธารเข้าประทับเกยเถลิงราชาคารสถานที่ประทับพลับพลาไชยแล้ว มีพระราชโองการดำรัสปรึกษาราชกิจการสงคราม กับด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า ๆ จึงกราบทูลพระกรุณาว่า ทัพพม่าข้าศึกจวนจะแตกอยู่แล้วอย่าทรงพระวิตกเลย ข้าพระพุทธเจ้าจะขอรับพระราชธุระอาสาในราชการงานสงครามเอาชัยชนะพม่าปัจจามิตรสนองพระเดชพระคุณให้จงได้ ขออัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินกลับคืนยังพระนครเถิด จะได้ทรงพระราชดำริจัดการ ซึ่งจะต่อสู้อริราชดัษกรในทางอื่นๆ ให้ทันท่วงทีราชการสงคราม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเห็นชอบด้วยตามซึ่งสมเด็จพระบรมราชอนุชากราบทูลพระกรุณานั้น ครั้นเวลาค่ำวันนั้น จึงเสด็จยาตราทัพหลวงโดยกระบวนตราบเท่าถึงเมืองกาญจนบุรี แล้วเสด็จลงเรือพระที่นั่งดำเนินพลนาวาพยุหทัพกลับคืนยังพระนคร

ฝ่ายทัพพม่าได้ยินเสียงรี้พล และเสียงช้างม้าฆ้องกลองกึกก้องสนั่นไปทั้งป่า จึงขึ้นดูบนหอรบเห็นทัพหลวงหนุนมาช้างม้ารี้พลเป็นอันมาก ก็คิดครั่นคร้ามขามพระเดชานุภาพเป็นกำลัง แม่ทัพทั้งสองนายจึงให้เก็บเอาลูกปืนไม้ซึ่งยิงไปตกลงในค่ายนั้นให้คอยากับไพร่นำไปถวายพระเจ้าอังวะ แล้วกราบทูลว่าไทยเอาไม้ทำเป็นลูกปืนได้ ต่อไม้หมดทั้งป่าจึงจะสิ้นกระสุนปืน เมื่อใดไม้ในป่าจึงจะสิ้น จะตีเมืองไทยให้ได้นั้นเป็นเหลือกำลัง ทั้งกองโจรไทยก็มาซุ่มสะกัดตีตัดลำเลียงเสบียงอาหารซึ่งจะส่งกันก็ขัดสน รี้พลก็อดอยากถอยกำลังลงทุกวัน ๆ จะขอพระราชทานล่าทัพพระเจ้ากรุงอังวะก็เห็นด้วย จึงตอบหนังสือมาถึงแม่ทัพหน้าว่า ให้รั้งรอดูท่วงทีก่อน ถ้ารี้พลอิดโรยนักเห็นจะทำการไม่สำเร็จจึงค่อยล่าทัพ แต่อย่าให้เสียทีแก่ข้าศึกได้ แม่ทัพได้แจ้งในหนังสือรับสั่งพระเจ้าอังวะก็รั้งรออยู่ต่อรบแต่ในค่าย มิได้ยกออกรบนอกค่าย

สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลจึงทรงพระดำริเป็นกลศึก เพลากลางคืนให้ผ่อนช้างม้ารี้พลลงมายังค่ายเมืองกาญจนบุรี ครั้นเวลาเช้าจึงให้ยกกลับขึ้นไปยังค่ายหลวงให้เดินพลช้างม้า เรี่ยรายกันเนื่องขึ้นไปอย่าให้ขาดตั้งแต่เช้าจนเย็น ลวงพม่าให้เห็นว่ากองทัพยกหนุนขึ้นมาเป็นอันมาก กระทำดังนี้ทุกวัน ๆ

ฝ่ายพม่าขึ้นดูบนหอรบเห็นดังนั้น สำคัญว่ากองทัพไทยยกเพิ่มเติมมามากขึ้นทุกวัน ก็ยิ่งย่อท้อเกรงกลัวลงเป็นอันมาก อนึ่งด้วยเดชะพระบารมีพระราชกฤษฎาภินิหาร บันดาลให้รี้พลพม่าบังเกิดไข้ทรพิษ ป่วยเจ็บลำบากล้มตายเป็นอันมาก ทั้งขัดเสบียงอาหารกำลังศึกถอยลงทุกประการ

สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงสังเกตเห็นว่า ข้าศึกย่อท้ออ่อนกำลังลงเป็นท่วงทีแล้ว ครั้นถึง ณ วันศุกร์ เดือน ๓ แรม ๔ ค่ำ จึงมีพระราชบัณฑูรดำรัสสั่งให้ท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวง ยกพลทหารออกระดมตีค่ายพม่าทุกทัพทุกกอง ให้เอาปืนใหญ่ลากล้อออกยิงค่ายพม่าทุก ๆ ค่าย ค่ายและหอรบหักพังทำลายลงเป็นหลายตำบล พม่าต่อรบยิงปืนใหญ่น้อยโต้ตอบอยู่ตั้งแต่เช้าจนค่ำ ครั้นเวลาประมาณทุ่มเศษแม่ทัพพม่าเห็นเหลือกำลังจะต่อรบต้านทานมิได้ ก็แตกฉานออกจากค่ายพ่ายหนีไป พลทหารไทยเข้าค่ายพม่าได้ทั้งสิ้น จับได้ผู้คนและได้เครื่องศาสตราวุธปืนใหญ่น้อยเป็นอันมาก จึงมีพระราชบัณฑูรดำรัสสั่งให้กองทัพทั้งปวงยกติดตามตีพม่าไปจนปลายแดน จับได้พม่าซึ่งหนีไปไม่ทัน กับทั้งช้างม้าเครื่องศาสตราวุธมาถวายเป็นอันมาก ฝ่ายพระองค์เจ้าขุนเณรซึ่งเป็นกองโจรนั้น ได้แจ้งว่าทัพพม่าแตกพ่ายแล้วก็ยกออกก้าวสะกัดตีตามทาง จับได้ผู้คนและเครื่องศาสตราวุธช้างม้าส่งลงมาถวาย ณ ค่ายหลวงเป็นอันมาก แล้วยกติดตามไปจนถึงท่าดินแดงและสามสบ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ