๑๔๒. เสนาบดีในรัชกาลที่ ๑

มหาดไทย ๑. เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) ข้าหลวงเดิม ได้เป็นที่พระอักขรสุนทรเสมียนตรา กรมมหาดไทยครั้งกรุงธนบุรี ได้ตามเสด็จการสงคราม มีความชอบหลายครั้ง และได้รับราชการต่างพระเนตรพระกรรณมามิได้มีความผิด โปรดให้เป็นที่สมุหนายกเมื่อปราบดาภิเษก อสัญกรรมในรัชกาลที่ ๑

กลาโหม ๑. เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) บุตรพระยากลาโหมคลองแกลบกรุงเก่า ได้เป็นพระยาเพ็ชรบูรณ์ ครั้งกรุงธนบุรี ได้ตามเสด็จการสงครามมีความชอบด้วยกล้าหาญในการศึก โปรดให้เป็นสมุหพระกลาโหมเมื่อปราบดาภิเษก อสัญกรรมในกลางศึก ที่เมืองทวายในรัชกาลที่ ๑

๒. เจ้าพระยามหาเสนา (ปิ่น) เป็นข้าหลวงเดิมรับราชการมาในพระองค์ เป็นกำลังช่วยกรมพระราชวังหลัง ปราบปรามจลาจลในกรุงธนบุรีมีความชอบได้เป็นพระยาพลเทพเมื่อปราบดาภิเษก แล้วจึงเลื่อนเป็นที่สมุหกลาโหม แล้วเลื่อนเป็นเจ้าพระยาอภัยราชาผู้กำกับราชการ อสัญกรรมในรัชกาลที่ ๒

๓. เจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) เป็นบุตรพระยาจ่าแสนยากร กรุงเก่า เป็นสามีเจ้าคุณนวล กนิษฐภคินีกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ รับราชการมาในพระองค์ ได้ตามเสด็จการสงครามหลายครั้งมีความชอบ ได้เป็นพระยาอุทัยธรรม เมื่อปราบดาภิเษก แล้วเป็นพระยายมราช แล้วจึงเป็นที่สมุหพระกลาโหม อสัญกรรมในรัชกาลที่ ๑

กรมท่า ๑. เจ้าพระยาพระคลัง (สน) เป็นพระยาพิพัฒนโกษาครั้งกรุงธนบุรี ได้เป็นเจ้าพระยาพระคลังเมื่อก่อนปราบดาภิเษก อยู่มาสติปัญญาฟั่นเฟือนไป ลงไปส่งสำเภาหลวงข้ามสันดอน มีใบบอกเข้ามาขอศีรษะสุกรและบายศรี รับสั่งว่าเลอะเทอะหนักแล้ว โปรดให้ถอดเสีย ภายหลังได้เป็นพระยาศรีอรรคราช ช่วยราชการในกรมท่า

๒. เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เมื่อครั้งกรุงธนบุรี เป็นหลวงสรวิชิตมีความชอบที่ได้นำขอราชการไปกราบทูลถึงด่านพระจารึก ได้เป็นพระยาพระคลังเมื่อปราบดาภิเษก ภายหลังได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาพระคลัง เป็นจินตกวีแต่งหนังสือหลายเรื่อง อสัญกรรมในรัชกาลที่ ๑

๓. พระยาพระคลัง (กุน) เป็นพระราชประสิทธิ์ครั้งกรุงธนบุรี ได้เป็นพระยาศรีพิพัฒน์เมื่อปราบดาภิเษก แล้วจึงเลื่อนเป็นพระยาพระคลัง ท่านผู้นี้ว่าเป็นเศรษฐีค้าสำเภา เป็นที่สมุหนายกในรัชกาลที่ ๒

กรมเมือง ๑. พระยายมราช ชื่อไม่ปรากฏ ครั้งกรุงธนบุรีเป็นหลวงอินทราธิบดีสีหาราชรองเมือง เป็นผู้รู้ขนบธรรมเนียมกรมพระนครบาลมากมีความชอบเมื่อตามเสด็จในการสงคราม ได้เป็นพระยายมราชเมื่อปราบดาภิเษกครั้นเมื่อศึกพม่าครั้งที่ ๑ ได้เป็นแม่ทัพไปตั้งรับพม่าที่เมืองราชบุรี ไม่เอาใจใส่ในราชการสงคราม มีความผิดถูกถอด ภายหลังได้เป็นพระยามหาธิราช ช่วยราชการในกรมพระนครบาล

๒. พระยายมราช (บุนนาค) คือเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค)

๓. พระยายมราช (บุญมา) บุตรพระยาจ่าแสนยากร กรุงเก่า เป็นพี่ต่างมารดากับเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) เดิมรับราชการในพระองค์ได้เป็นพระยาตะเกิงเมื่อปราบดาภิเษก แล้วจึงได้เลื่อนเป็นพระยายมราช เป็นที่สมุหพระกลาโหมในรัชกาลที่ ๒

กรมวัง ๑. เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (บุญรอด) เชื้อพราหมณ์พฤฒิบาศ เป็นบุตรพระยามนเทียรบาล กรุงเก่า เป็นพระยาธรรมาธิกรณ์ครั้งกรุงธนบุรี เป็นผู้คุ้นเคยรักใคร่ในพระองค์ และได้มีความชอบเมื่อตามเสด็จการสงคราม และรู้แบบแผนการกรมวังมาก จะย้ายไปกรมอื่นไม่ได้ จึงได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์เมื่อปราบดาภิเษก ครั้นเมื่อศึกพม่าครั้งที่ ๑ เป็นแม่ทัพออกไปตั้งรับพม่าที่เมืองราชบุรี ไม่เอาใจใส่ในราชการสงครามมีความผิด ถูกถอด ภายหลังได้เป็นพระยาศรีธรรมาธิราชช่วยราชการในกรมวัง ในรัชกาลที่ ๒ เลื่อนเป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช อสัญกรรมในรัชกาลที่ ๒

๒. พระยาธรรมาธิกรณ์ (ทองดี) รับราชการในพระองค์ได้เป็นจมื่นศรีสรรักษ์ เมื่อปราบดาภิเษก แล้วเลื่อนเป็นพระยาพิพัฒนโกษา แล้วจึงได้เป็นพระยาธรรมาธิกรณ์ อสัญกรรมในรัชกาลที่ ๑

๓. พระยาธรรมาธิกรณ์ (สด) เป็นข้าหลวงเดิมในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้เป็นพระยามนเทียรบาล เมื่ออุปราชาภิเษก แล้วจึงเลื่อนเป็นพระยาธรรมาธิกรณ์ อสัญกรรมในรัชกาลที่ ๒

กรมนา ๑. พระยาพลเทพ (ปิ่น) คือ เจ้าพระยามหาเสนาที่เลื่อนเป็นเจ้าพระยาอภัยราชา

๒. เจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาค) เดิมอยู่บ้านแม่ลา กรุงเก่า ต้นคิดตีกรุงธนบุรี ได้เป็นเจ้าพระยาไชยวิชิต ผู้รักษากรุงเก่าเมื่อปราบดาภิเษก แล้วเลื่อนเป็นเจ้าพระยาพลเทพ เป็นโทษต้องประหารชิวิตในรัชกาลที่ ๒

ตำแหน่งเสนาบดีในรัชกาลที่ ๑ อัครมหาเสนาธิบดีมหาดไทยและกลาโหมเป็นเจ้าพระยา แต่เสนาบดีตำแหน่งจตุสดมภ์ เมือง วัง คลัง นา นั้น ในหนังสือครั้งรัชกาลที่ ๑ ที่ได้พบเห็นปรากฏเป็นแต่พระยา โดยมากที่ได้พบหลักฐานแน่นอนว่า เป็นเจ้าพระยานั้น คือ เจ้าพระยาธรรมา (บุญรอด) ๑ เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ๑ เจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาค) ๑ นอกจากนั้นยังไม่พบหลักฐานนอกจากที่กล่าวในพงศาวดาร ซึ่งเรียบเรียงขึ้นภายหลัง

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ