วันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

สาธุ สัปดาหะนี้เขาเชิญลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๖ สิงหาคม มาส่งให้แต่วันศุกร์อีก มีเวลาเขียนตอบมากขึ้น

สนองลายพระหัตถ์

๑) เรื่องชื่อกรมแผ่นดินกับกรมเจ้านายนั้น หม่อมฉันมานึกได้ว่ายังทูลขาดความอยู่ข้อหนึ่ง ที่กรมแผ่นดินย่อมมีอยู่เสมอ แต่กรมเจ้านายมีอยู่เพียงชั่วคราว พอเจ้านายสิ้นพระชนม์แล้วกรมก็เลิกสูญไป เพราะเหตุนั้นดอกกระมังจึงเรียกชื่อเจ้ากรมเป็นชื่อกรม

๒) คติที่ไม่ออกชื่อคนสำคัญนั้น หม่อมฉันเคยได้ยินกรมพระสมมตฯ ท่านประทานอธิบายดูชอบกล ว่าเกิดแต่คติที่ถือกันแต่โบราณว่ากระทำแก่ผู้ใดต้องได้ชื่อจริงคือชื่อเดิมไปเขียนลงในยันต์จึงจะศักดิ์สิทธิ์ คิดดูก็เห็นจริง ดังเช่นเถรกวาดทำเสน่ห์ ถ้าจดชื่อลงในยันต์แต่ว่า “พระไวย” หากว่าพระไวยได้เลื่อนเป็นจางวางมหาดเล็กก็จะพ้นเสน่ห์ ผู้ที่เป็นพระไวยแทนก็จะมาหลงรักนางสร้อยฟ้า เกิดความชู้สาวจึงจำต้องเขียนชื่อว่าพลายงามในยันต์ คติที่ซ่อนชื่อเดิมของคนสำคัญเกิดแต่จะป้องกันกฤตยาคม แต่คติที่ถือชื่อเดิมนั้นใช้ทางข้างทำคุณก็มี เช่นจะอุทิศส่วนบุญแก่ผู้ใดที่ล่วงลับแล้วโดยเจาะจง ถือว่าต้องออกชื่อเดิมส่วนบุญจึงจะได้แก่ผู้นั้น ท่านเคยทรงทราบจากคนแก่ๆ แต่ก่อนว่าสวดมนต์ไหว้พระถวายส่วนกุศลแก่พระเจ้าอยู่หัวแต่ปางก่อน ย่อมออกพระนามเดิมว่าถวาย “ขุนหลวงด้วง” “ขุนหลวงฉิม” ดังนี้เป็นต้น แต่ตามอธิบายที่กรมพระสมมตฯ ตรัสเล่าเป็นคติเก่าแก่ก่อนเรารู้เห็น ถ้าว่าเพียงเท่าที่เรารู้เห็นเอง การที่หลีกชื่อเดิมของผู้มีบรรดาศักดิ์สูงดูเป็นความคิดของบริวารชน มิใช่ตัวท่านผู้มีศักดิ์เองจะสั่งเสียทำเช่นนั้น ยกตัวอย่างดังเช่นเรียกดอกรำเพยเป็นดอกกระบอก เพราะจะมิให้พ้องพระนามสมเด็จพระเทพศิรินทร์ก็ดี เรียกดอกกรรณิกาว่ามะลิก้านแดงมิให้พ้องกับพระนามสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนขัติยกัลยาก็ดี เป็นแต่คำข้าหลวงในตำหนักเรียก ก็เป็นเรื่องเดียวกันกับนายดิศเปลี่ยนชื่อเป็นนายเดช นายจิตรเปลี่ยนชื่อเป็นนายจี๊ด เพื่อจะมิให้ชื่อพ้องกับชื่อหม่อมฉัน และพระนามของท่าน คิดดูว่าถ้าชื่อพ้องกันอยู่จะมีโทษอย่างใด เห็นมีอยู่เพียงให้ช่องแก่คนปองร้ายแกล้งพูดค่อนข้างเสียนั้นหรือด่าคนชื่อนั้นเปรียบ หรือมิฉะนั้นผู้มีศักดิ์เปรียบว่าตัวหม่อมฉันได้ยินคนเรียกใครว่า “อ้ายดิศ” ก็จะรำคาญหูเท่านั้น แต่คติซ่อนชื่อหรือเปลี่ยนชื่อมิให้พ้องกับผู้มีบรรดาศักดิ์ดูก็สูญไปหมดแล้ว

๓) คำว่า “หลวง” ตรงกับ great มิใช่ Royal อันตรงกับ “ราช” ในภาษาไทยแปลงคำ “หลวง” เป็น “ชาติ” ตามเยอรมันจะยุ่งมาก เมียหลวงแปลงเป็นเมียชาติจะกลายไปใกล้กับเป็นหญิงนครโสภิณี แปลงเขาหลวงเป็นเขาชาติ คลองบางหลวงเป็นคลองบางชาติ ก็เลยไม่ได้ความทีเดียว

จะเลยทูลวินิจฉัยในทางโบราณคดีเนื่องด้วยคำ “หลวง” ตามที่นึกขึ้นได้ต่อไป สิ่งซึ่งเรียกว่าหลวงพ้องกันมีมาก จะพรรณนาเพียงที่นึกได้ในเวลานี้ ภูเขาชื่อว่า “เขาหลวง” มีในแขวงจังหวัดนครศรีธรรมราชแห่ง ๑ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์แห่ง ๑ จังหวัดเพชรบุรีแห่ง ๑ หวัดสุโขทัยแห่ง ๑ บางหลวงมีที่จังหวัดธนบุรีแห่ง ๑ ที่จังหวัดปทุมธานีแห่ง ๑ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาแห่ง ๑ ท่าหลวง มีในแขวงจังหวัดพิจิตรแห่ง ๑ ในแขวงจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแห่ง ๑ เหตุใดจึงเรียกซ้ำกันเช่นนั้น จะเอาภูเขาเป็นหลักวินิจฉัย เพราะภูเขาเป็นของเก่ามีมาก่อนบ้างและก็คำว่า “หลวง” เป็นภาษาไทย หมายความว่าใหญ่แปลกเพื่อน ชื่อที่เรียกว่าเขาหลวงต้องเป็นของไทยตั้ง เพราะฉะนั้นต้องมีขึ้นเมื่อไทยได้ปกครองประเทศสยามแล้ว ก่อนนั้นขึ้นไปเมื่อแผ่นดินยังเปนของชนชาติอื่นมิใช่ภูเขาเหล่านั้นจะยังไม่มีชื่อ ที่จริงคงมีชื่อเรียกอย่างใดอย่างหนึ่งตามภาษาของเจ้าของถิ่นเดิมอยู่แล้ว เมื่อไทยได้ครองอยู่ถิ่นใดไม่รู้จักชื่อเดิมของภูเขาหรือเรียกชื่อไม่สะดวกปาก จึงอาศัยแต่สังเกตว่าเป็นเขาใหญ่โตแปลกกับเขาที่มีสำคัญเป็นในถิ่นนั้นก็เรียกว่า - เขาหลวง พวกที่ไปอยู่ถิ่นอื่นก็ไปทำเช่นนั้นเหมือนกัน ชื่อเขาหลวงจึงมีหลายแห่ง เพราะเดิมตั้งชื่อสำหรับเรียกกันแต่ในพวกไทยที่อยู่ในถิ่นนั้นๆ แต่เขาหลวงที่เมืองเพชรบุรีนั้นเดิมคงเรียกว่า “เขาถ้ำหลวง” ส่วนบางและท่านั้นก็เป็นทำนองเดียวกัน บางหลวงหมายว่าบางที่เป็นทางน้ำยาวใหญ่กว่าเพื่อนในถิ่นนั้น ท่าหลวงก็เป็นท่าประชุมชนที่ใหญ่กว่าเพื่อนเช่นเดียวกัน

๔) สร้อยชื่อนายวราลูกจ่าอัศวราชที่ว่าเป็นคนที่ ๒ นั้น หม่อมฉันพิจารณาดูได้เค้าว่าจ่าอัศวราชมีเมีย ๒ คน เมียคนแรกมีลูกหญิงชื่อกลีบคน ๑ ลูกชายชื่อเมธคน ๑ กวีคน ๑ นายกวีจึงมีสร้อยชื่อว่า “ปิยบุตรที่สาม” ต่อมาจ่าอัศวราชมีเมียอีกคน ๑ ชื่อพริ้ม ลูกคนแรกเป็นผู้หญิงชื่อฉวี จึงมีสร้อยชื่อว่า “ฉวีผิวงามบุตรแม่พริ้มแรกเกิด” แล้วมีลูกชายต่อมา คือ นายวรา จึงมีสร้อยชื่อว่า “วราประเสริฐ ที่สองงามสม” หมายความว่าเป็นลูกที่สองของเมียที่ชื่อพริ้มนั้น

๕) เรื่องพระนามพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๑ หม่อมฉันสังเกตต่อมาเห็นมีวินิจฉัยที่น่าจะพิจารณาอยู่อีก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มีพระองค์เจ้าลูกเธอประสูติ เมื่อก่อนเสด็จเสวยราชย์ทรงพระนามว่า พระองค์เจ้ากล้ายพระองค์ ๑ อยู่มาจนในรัชกาลที่ ๑ ได้ออกวังแล้วจึงได้สิ้นพระชนม์ เมื่อเสด็จเสวยราชย์แล้วมีพระองค์เจ้าลูกเธอเป็นลำดับดังนี้ -

๑. พระองค์หญิงนุ่ม อยู่มาจนรัชกาลที่ ๓

๒. พระองค์ชายทับทิม เป็นกรมหมื่นอินทรพิพิธ ในรัชกาลที่ ๒

๓. พระองค์หญิงผอบ

๔. พระองค์หญิงพลับ อยู่มาจนรัชกาลที่ ๔

ทั้ง ๔ พระองค์ไม่มีพระนามในกลอน ต่อไปนี้จึงเริ่มมีพระนามในกลอนคือ -

๕. พระองค์เจ้าชายเสือ ได้พระนามว่า อภัยทัต เป็นกรมหมื่นเทพพลภักดี

๖. พระองค์เจ้าชายช้าง ได้พระนามว่า อโณทัย เป็นกรมหมื่นศักดิพลเสพ

๗. พระองค์เจ้าชายทับ ไม่มีพระนามในกลอน เป็นกรมหมื่นจิตรภักดี อยู่มาจนรัชกาลที่ ๓

คัดพระนามลงมาแต่ ๗ พระองค์ให้เห็นว่าในกลอนไม่มีพระนามหมดทุกพระองค์ อีกอย่าง ๑ มีพระนามเรียกเมื่อยังทรงเยาว์ว่า พระองค์เสือ พระองค์ช้างก่อนแล้วจึงมีพระนามขนานว่าอภัยทัตและอโณทัย พระองค์อื่นจะมี ๒ พระนามเช่นเดียวกันรือไม่ ทราบไม่ได้

ปัญหามีอยู่ว่าพระนามว่าเสือว่าช้างนั้นใครเป็นผู้ตั้ง และพระนามว่าอภัยทัตและอโณทัยนั้นใครขนาน พิเคราะห์ดูเห็นว่าหน้าที่สมเด็จพระบรมชนกนาถจะพระราชทานทั้ง ๒ อย่าง คิดดูตามประเพณีเมื่อมีพระราชกุมารอุบัติ แม้แต่ก่อนอาจจะไม่เสด็จลงทำพิธีสมโภชที่ตำหนักเหมือนตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ ถึงกระนั้นพอทรงเจริญวัยก็ย่อมต่องพาขึ้นเฝ้า เวลายังไม่ได้ขึ้นเฝ้าน่าจะเรียกกันแต่ว่าพระองค์ชาย หรือพระองค์หญิงของเจ้าจอมมารดานั้น เมื่อพาขึ้นเฝ้าจึงตรัสให้เรียกพระนามอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ทรงนึกเห็นนิมิตเหมาะในเวลานั้น พระนามเช่นว่า นุ่ม ทับทิม ผอบ พลับ ช้าง เสือ ทับ เห็นจะเป็นพระนามพระราชทานเมื่อแรกขึ้นเฝ้าเช่นว่าสำหรับให้เรียกกัน หม่อมฉันเคยได้ยินเขาว่าเจ้านายแต่ก่อน เจ้าจอมมารดาขนานพระนามก็มี ถ้าเช่นนั้นก็จะมีบางพระองค์ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวตรัสเรียกด้วยชื่อเจ้าจอมมารดา มิได้พระราชทานพระนาม ครั้นถึงเวลาบอกบาญชีเบี้ยหวัด เจ้าจอมมารดาจึงต้องหาพระนามอย่างใดอย่างหนึ่งให้ลงบาญชี

พระนามขนานเช่นว่า อโณทัยและอภัยทัตนั้น เห็นจะพระราชทานเมื่อทรงพระเจริญขึ้นแล้ว อนุโลมตามคติโบราณที่พระราชทานพระนามเจ้าฟ้าเมื่อพระชันษาได้ ๙ ขวบ สังเกตดูพระนามพระเจ้าลูกเธอก่อนรัชกาลที่ ๔ ดูก็เป็น ๒ อย่าง เป็นพระนามอย่างว่าพระราชทานสำหรับให้เรียกเช่น พระองค์กล้าย พระองค์นุ่มในรัชกาลที่ ๑ และพระองค์เจ้าชายมัง พระองค์เจ้าชายเน่า ในรัชกาลที่ ๒ แต่เป็นอย่างพระนามขนานก็มีมาก เช่นพระองค์ชายคันธรส พระองค์หญิงจงกล ในรัชกาลที่ ๑ พระองค์เจ้าชายพนมวัน พระองค์เจ้าชายขัติวงษ์ ในรัชกาลที่ ๒ แต่พระนามพระเจ้าลูกเธอรัชกาลที่ ๓ สังเกตดูประทานเป็นอย่างพระนามขนานโดยมาก

๖) หนังสือที่เรียกว่า “พระราชนิพนธ์” นั้น เรียกได้จนหนังสือซึ่งพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงตรวจตราแก้ไข ยกตัวอย่างดังบทละครเรื่องรามเกียรติ์ รัชกาลที่ ๑ มีกว่า ๑๐๐ เล่ม ก็เรียกว่าพระราชนิพนธ์ หม่อมฉันเข้าใจว่าแต่เดิมต่อแต่งเป็นบทกลอนจึงเรียกว่า “นิพนธ์”

๗) เรื่องหมาของหญิงไอนั้น ขันดี ที่เธอให้ชื่อว่า “มาแต” หม่อมฉันก็เห็นว่าไม่เหมาะ เพราะใครจะเรียกก็จำยาก ทั้งความภาษาเดิมก็ดูเหมือนหมายว่า “แม่” ไม่สมกับเป็นชื่อหมา ที่เปลี่ยนเป็น “อีแต” นั้นเข้าทีดีนัก หม่อมฉันเห็นว่าไพเราะเหมาะกว่าชื่อเดิม เรียกก็จำง่าย ทั้งไม่พ้องกับชื่อคนหรือชื่อหมาตัวอื่นหมดทั้งโลก หม่อมฉันอนุโมทนาด้วย

บรรเลง

๘) ที่สวนสนุก New World ซึ่งเขาเคยทำภาพนรกและเมืองสมุทรให้คนดูดังหม่อมฉันได้เคยเล่าไปถวายแต่ก่อนนั้น เดี๋ยวนี้เขาทำภาพวิมานนางฟ้าให้คนดู หม่อมฉันลองให้ชายหยดไปดูก่อน กลับมาเสนอรายงานว่า “ไม่สนุก” แต่หม่อมฉันนึกว่าถึงเป็นอย่างไรก็ทูลรายงานตามเคย จึงไปดูในเวลาชิงพลบไม่ให้ต้องเบียดคนอีกครั้ง ๑ เห็นลักษณะที่ทำก็เป็นทำนองเดียวกันกับแต่ก่อน คือกั้นที่ในลานเป็นบริเวณ ๑ ต่างหาก ใครจะเข้าไปดูข้างในเมื่อเวลาเขาเล่นแต่ ๒ ทุ่มไปต้องเสียค่าเข้าประตูอีก ๑๐ เซ็นต์ แต่หม่อมฉันไปยังห่างกับเวลาเล่น ตาแขกคนรักษาประตูใจดียอมให้เข้าไปดูได้เปล่า และคำนับแถมให้ด้วย เห็นฝากั้นบริเวณด้านหน้าเขียนประสานสีน้ำมันเป็นรูปเขาไม้ทางไปสวรรค์ซีก ๑ เขียนเป็นรูปนางฟ้า ๗ ตนซีก ๑ นางฟ้านั้นขี่พาหนะต่างกัน ขี่ลูกน้ำเต้ากายสิทธิ์คน ๑ ขี่นกยางคน ๑ ยืนบนดอกไม้คน ๑ ขี่นกยูงคน ๑ ขี่มังกรคน ๑ ขี่หงส์คน ๑ ขี่กิเลนคน ๑ ที่ข้างในบริเวณด้าน ๑ มีศาลาโถงทำเป็นวิมานแต่งเครื่องประดับอย่างเก๋งกงเต๊ก ฝาด้านหลังเขียนรูปนางฟ้า ๗ ตนนั่งประชุมกัน อีกด้าน ๑ ซึ่งตรงกันข้ามยกพื้นเป็น ๓ ชั้น ลำดับกันขึ้นไปแล้วมีเก๋งน้อยเห็นจะเป็นวิมานเทพยเจ้าหลัง ๑ ที่หน้ายกพื้นผูกแผงอย่างเขาไกรลาศ เขียนประสานสีเป็นยอดเขาและเป็นเมฆโดยลำดับกันขึ้นไป ทูลตามตาเห็นได้เพียงเท่านี้ ว่าตามคำชายหยดเล่าต่อไปเมื่อถึงเวลาเล่นให้เด็กหญิงแต่งตัวเป็นนางฟ้า แต่ละคนขี่แผงประสานสีทำเป็นรูปพาหนะต่างๆ ตามตำรานั้น ลากเลื่อนไปบนยกพื้นเหมือนอย่างว่าเหาะไปบนอากาศเท่านั้นเอง

๙) สังเกตดูที่เมืองปีนังนี้มี “ร้านข้าวแกง” มากกว่าเมืองไหนๆ ที่หม่อมฉันเคยเห็นมา มีทั้งอย่างเป็นร้านชำอยู่ในห้องและเป็นอย่างร้านแผงลอยตั้งกลางแจ้ง แต่ร้านแผงลอยนั้นเทศบาลเขาบังคับให้อยู่รวมในบริเวณเดียวกันเป็นแห่งๆ แต่ละร้านก็มีโต๊ะตั้งเก้าอี้หรือม้าล้อม และมีเตายกได้คล้ายกับหาบเจี้ยมอี๋ ที่ประกอบอาหารเป็นชุดกัน ตั้งเรียงไปในบริเวณนั้น หม่อมฉันไปเที่ยวผ่านไปในเวลาเย็นเห็นคนนั่งกินเต็มไปทุกแห่ง พิจารณาดูก็เข้าใจว่าเพราะเหตุใดจึงมีร้านข้าวแกงมากและมีคนกินมากอยู่เสมอ เป็นด้วยมีคนชั้นกรรมกรมาก พวกนั้นเช่นเจ๊กลากรถเป็นต้น ไม่มีหลักแหล่งแปลงที่ มีแต่ตัว เที่ยวรับจ้างเขาในวันหนึ่งได้ค่าจ้างเท่าใด เวลาจะกินก็ไปซื้อกินตามร้านข้าวแกง ถึงเวลาจะนอนก็ไปเช่าห้องเขานอน คนจำพวกนี้เห็นจะมีนับร้อยหมื่นจึงมีร้านข้าวแกงมากถึงเพียงนั้น มีร้านข้าวแกงอีกชนิดหนึ่ง เป็นชั้นสูงขึ้นมา ทำนองเดียวกับถนนราชวงศ์ในกรุงเทพฯ เปิดขายแต่เวลากลางคืน ขายอาหารอย่างดีขึ้นและแพงกว่าข้าวแกงสามัญ ในสวนสนุกและใกล้ๆ โรงหนังฉายมีร้านเช่นนั้นตั้งประจำทุกแห่ง ขายแก่พวกเที่ยวเตร่เวลาค่ำ เปิดใหม่เมื่อเร็วๆ นี้แห่ง ๑ เรียกชื่อส่วนภาษาอังกฤษว่า Popular Store ที่ตั้งอยู่เป็นบริเวณอันหนึ่งคล้ายกับที่นครเกษมในกรุงเทพฯ ร้านต่างๆ ตั้งเรียงกันอยู่กลาง หันหน้าร้านออกมาข้างนอกทั้ง ๔ ด้าน ข้างหน้าร้านเป็นชาลาร้านหนึ่งก็ตั้งโต๊ะเก้าอี้ที่กินชุด ๑ อวดทำของกินที่ในร้านให้แลเห็น ใครอยากกินอาหารคาวหรือหวานอย่างใดก็นั่งกินที่หน้าร้านทำอาหารอย่างนั้น ชั้นสูงต่อขึ้นไปก็ถึงโรงเกาเหลา เช่นห้อยเทียนเหลาในกรุงเทพฯ สำหรับบุคคลผู้ดีมีทรัพย์มากไปเลี้ยงดูกัน แต่ร้านของกินทุกชั้นที่พรรณนามานี้ล้วนเป็นอาหารอย่างจีน ซึ่งไทยเรากินด้วยได้ แต่พวกแขกกินยากก็มีกระบวนกินไปอย่างอื่น สังเกตดูพวกมลายูดูเหมือนจะอยู่กินเป็นครัวเรือนเหมือนกับไทย พวกแขกอินเดียที่ถือศาสนาอิสลามมักซื้อขายเป็นหลักแหล่ง ไม่มีที่เป็นชั้นกรรมกร ก็เห็นจะอยู่กินด้วยกันตามบ้านที่พัก พวกอินเดียที่ถือศาสนาฮินดูก็ต้องหุงหาอาหารกินเอง พวกแขกจึงไม่ต้องอาศัยร้านจีนขายอาหาร

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ