วันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

เมล์กรุงเทพฯ มาถึงปีนังเมื่อวันพฤหัสบดีนี้เห็นจะมีหนังสือน้อย เพราะฉะนั้นพอรุ่งขึ้นวันศุกร์ที่ ๔ พนักงานไปรษณีย์เขาก็เชิญลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑ เมษายนมาส่ง

ทูลสนองลายพระหัตถ์

๑) เรื่องพระพุทธบาท หม่อมฉันเคยพิจารณาและสอบหนังสือเก่าได้เรื่องราวพอจะทูลอธิบายถวายได้ ว่าตามวัตถุที่มีปรากฏเห็นว่าพระพุทธบาทแรกมีขึ้นในสมัยเมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างพุทธเจดีย์เมื่อ พ.ศ. ๒๐๐ เศษ เกิดแต่พระสถูปสร้างในสมัยนั้น ชอบจำหลักรูปภาพเรื่องพุทธประวัติเป็นเครื่องประดับ แต่มีคติห้ามมิให้ทำพระพุทธรูป เพราะฉะนั้นที่ตรงไหนในเรื่องจะต้องเป็นพระพุทธรูป จะคิดทำรูปภาพสิ่งอื่นแทน คือตอนเสด็จออกมหาพิเนษกรมณ์ทำเป็นรูปรอยพระบาท หมายกิริยาที่ทรงพระดำเนินออกจากราชมนเทียร ตอนตรัสรู้พระโพธิญาณทำรูปพุทธบัลลังก์อยู่ใต้ต้นโพธิ์ หมายเอาที่ประทับเมื่อตรัสรู้ ตอนทรงประกาศพระศาสนาทำรูปจักรมีกวางหมอบอยู่ หมายเอาเมื่อทรงแสดงพระธรรมจักร ณ มฤคทายวัน ตอนเสด็จดับขันธปรินิพพานทำรูปพระสถูป หมายเอาที่บรรจุพระบรมธาตุ พึงเห็นได้ว่ามูลของรูปพระพุทธบาท เป็นแต่ทำแทนพระพุทธรูปเมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์เสด็จออกจากฆราวาสสมบัติถือสละกามสุขออกโปรดสัตว์ มิได้หมายว่ารอยพระบาทซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงเหยียบไว้ ณ ที่แห่งหนึ่งแห่งใด น่าจะเป็นสมัยภายหลังมาช้านาน เมื่อมีพระพุทธรูปขึ้นแล้วจึงทำพระพุทธบาทเป็นเจดีย์วัตถุ ทำเป็นฝ่าพระบาทบ้าง ทำเป็นรอยที่ทรงเหยียบไว้บนแผ่นดินบ้าง ที่ทำเป็นรอยเหยียบพระบาทเป็นเหตุให้เกิดปัญหาขึ้นว่า “เหยียบไว้ที่ไหน” และ “เหตุใดจึงทรงเหยียบพระบาทนั้น” เลยเป็นมูลต่อมา ถึงอ้างว่าทรงเหยียบไว้ ๕ แห่ง อันผูกเป็นคาถาว่า สุวณฺณมาลิเก สุวณฺณปพฺพเต สุมนกูเฎ โยนกปุเร นมฺมทายนทิยํ และเกิดนิทานเช่นอ้างในบุณโณวาทสูตรเป็นต้น วิษณุบาทนั้น เห็นว่าจะเกิดขึ้นภายหลังต่อมาอีกจึงไม่มีแพร่หลาย และเหตุที่จะเกิดมีวิษณุบาท ก็พอคิดเห็นได้ ด้วยตามลัทธิวิษณุเวทถือว่าพระวิษณุแบ่งภาคลงมาเป็นพระพุทธเจ้าในปางอันหนึ่ง พวกถือศาสนาพราหมณ์นิกายวิษณุเวทย่อมกราบไหว้พระพุทธรูปและรอยพระพุทธบาทเหมือนกับคนถือพระพุทธศาสนา แต่เขาถือว่าไหว้เป็นพระวิษณุจึงเรียกว่าวิษณุบาท ดังพวกพราหมณ์มหันต์ผู้เป็นเจ้าของถิ่นบูชาเจดียสถานที่พุทธคยามาจนบัดนี้ และแต่งเรื่องนิทานอ้างเหตุไปทางเฉลิมเกียรติพระวิษณุ

๒) ว่าถึงเรื่องพระพุทธบาทในเมืองไทย เมื่อหม่อมฉันหาหนังสือให้หอพระสมุดฯ ได้หนังสือฉบับเขียนของเก่าเรื่อง ๑ เรียกว่า “คำให้การขุนโขลน” ถามเมื่อรัชกาลที่ ๑ (หอพระสมุดฯ พิมพ์แล้วแต่หม่อมฉันไม่มีฉบับอยู่ที่นี่) ได้ความรู้เรื่องพระพุทธบาทแปลกออกไปหลายอย่าง หม่อมฉันสอบกับหนังสือพระราชพงศาวดารได้เรื่องพระพุทธบาทดังจะเล่าต่อไปนี้ –

ก. ในคำให้การขุนโขลนว่า–เดิมมีพระสงฆ์ไทยพวกหนึ่งออกไปเมืองลังกา (เมื่อรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม) พระลังกาถามถึงความประสงค์ พระไทยบอกว่าจะไปบูชารอยพระพุทธบาทบนยอดเขาสมณากูฏ พระลังกาว่ารอยพระพุทธบาทบนเขาสุวรรณบรรพตก็อยู่ในเมืองไทยแล้ว ไฉนจึงต้องออกไปบูชาถึงเมืองลังกา พระไทยเอาความที่พระลังกาว่านั้นมาเสนอในเมืองไทย ทราบถึงพระเจ้าทรงธรรมจึงโปรดให้มีท้องตราสั่งตามหัวเมือง ให้เที่ยวค้นหารอยพระพุทธบาท

ข. ในหนังสือพระราชพงศาวดารเริ่มกล่าวถึงพระพุทธบาท ว่าเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๑๔๙ เมืองสระบุรีมีใบบอกว่าพรานบุญพบรอยในศิลาที่บนเขาเหมือนรอยเท้าคน พระเจ้าทรงธรรมเสด็จไปทอดพระเนตรเห็นว่าเป็นรอยพระพุทธบาท “สมกับลังกาบอกมา” จึงโปรดให้สร้างมณฑป สร้างวัด ถวายที่กัลปนาโยชน์ ๑ โดยรอบ ให้ฝรั่งส่องกล้องทำถนนกับสร้างวังที่ท้ายพิกุล และสร้างตำหนักท่าเจ้าสนุก สร้าง ๔ ปีสำเร็จ เสด็จขึ้นไปฉลอง

สันนิษฐานว่า พระมณฑปพระพุทธบาทที่พระเจ้าทรงธรรมทรงสร้างนั้นคงสร้างด้วยเครื่องไม้ และเป็นมณฑปโถง

ค. ในพงศาวดารรัชกาลพระเจ้าปราสาททองว่า เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๑๗๖ พระเจ้าปราสาททองโปรดให้ย้ายที่ประทับ ณ พระพุทธบาทจากท้ายพิกุล สร้างเป็นตำหนักมีที่ประพาส ณ ธารเกษม และทำศาลารายทางขึ้นพระบาท กับสร้างตำหนักนครหลวง แต่หากล่าวว่าได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์พระมณฑปพระพุทธบาทอย่างใดไม่

แต่มีสิ่งสำคัญปรากฏอยู่ ดังเช่นเครื่องศิลาอ่อนที่ทำเป็นหัวเม็ดและใบเสมาบนกำแพงแก้วรอบพระมณฑป เป็นแบบอย่างครั้งพระเจ้าปราสาททอง เพราะมีเหมือนกันกับที่วัดชัยวัฒนาราม ประกอบกับการที่ทรงสร้างตำหนักที่ประพาสธารเกษม และสร้างตำหนักประทับร้อนที่พระนครหลวง ล้วนเป็นเครื่องอิฐอย่างถาวร เห็นว่าพระเจ้าปราสาททองคงทรงสร้างมณฑปพระพุทธบาทก่ออิฐ เปลี่ยนมณฑปไม้ของเดิมซึ่งสร้างมาถึงเวลานั้นได้ ๒๓ ปีคงจะทรุดโทรมลง แต่มณฑปก่อที่สร้างครั้งพระเจ้าปราสาททองคงยังเป็นมณฑปโถงอยู่อย่างแต่ก่อน พระมงคลทิพย์มุนี (มุ่ย) จึงเห็นรอยฝาผนังเดิมก่อเป็นโค้ง

ฆ. ในหนังสือพงศาวดารรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่าโปรดให้ทำถนนแต่เมืองลพบุรีไปถึงพระพุทธบาทสาย ๑ และทำ (ซ่อม) ถนนแต่ท่าเจ้าสนุกขึ้นไปพระพุทธบาทสาย ๑ และว่าทรงปฏิสังขรณ์พระมณฑปด้วย

แต่ที่ว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงปฏิสังขรณ์พระมณฑปนั้นเห็นจะผิด เพราะเวลานั้นพระมณฑปเพิ่งสร้างไม่ช้านัก และมีสิ่งอื่นปรากฏอยู่ ซึ่งน่าจะเป็นของสร้างครั้งสมเด็จพระนารายณ์ คือก่อคันกั้นน้ำที่ไหล่เขาชักน้ำฝนมาลงพระที่ในลานพระพุทธบาท ที่จริงเห็นจะทรงสร้างเขื่อนนั้นเป็นสิ่งสำคัญ

ง. ในหนังสือพงศาวดารรัชกาลพระเจ้าเสือ ว่าเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๒๔๕ โปรดให้สร้างมณฑปพระพุทธบาทแปลงหลังคาเป็น ๕ ยอด และว่าครั้งนั้นสมเด็จพระสังฆราชตามเสด็จขึ้นไปด้วย จึงโปรดให้สมเด็จพระสังฆราชเป็นแม่งานสร้างพระมณฑป แต่ในพงศาวดารว่าการสร้างครั้งนั้นสำเร็จเพียงยกเครื่องบน ค้างปิดทองประดับกระจก (ก็สิ้นรัชกาล)

ในคำให้การขุนโขลนกล่าวความในตอนนี้ว่า โปรดให้ “สมเด็จเจ้าแตงโม” เป็นแม่งาน แต่สมเด็จเจ้าแตงโมไปสั่งให้ตัดต้นเลียบใหญ่ต้น ๑ เลยเป็นเหตุให้ถึงมรณภาพ ดังนี้

พิเคราะห์ดูอายุพระมณฑปแต่พระเจ้าปราสาททองสร้างมาได้ถึง ๖๙ ปี คงชำรุดมาก จึงเป็นเหตุให้พระเจ้าเสือทรงสร้างเปลี่ยนเครื่องบนใหม่ ที่ให้แก้เครื่องบนเป็น ๕ ยอดนั้นน้ำหนักมากขึ้น จึงเป็นเหตุให้ก่อฝาอุดช่องทำเป็นผนังทึบ มิได้เป็นมณฑปโถงดังแต่ก่อน

คำให้การขุนโขลนไขความรู้ต่อออกไปว่า สมเด็จพระสังฆราชองค์นั้นชื่อแตงโม องค์เดียวกับที่สร้างวัดใหญ่ ณ เมืองเพชรบุรี เพราะตำหนักของสมเด็จพระสังฆราชนั้นก็เอาไปปลูกไว้ที่วัดใหญ่ประกอบกัน แลไขความในพงศาวดารอีกข้อ ๑ ที่ว่าพระมณฑปสร้างค้าง คงเป็นเพราะสมเด็จพระสังฆราชแตงโมผู้เป็นแม่งานสิ้นพระชนม์นั่นเอง

จ. ในพงศาวดารพระเจ้าท้ายสระ ว่าเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๑๗๑ โปรดให้ “ประดับกระจกแผ่นใหญ่ในผนังพระมณฑป” และมีการฉลองพระพุทธบาท แม้ในพงศาวดารว่าเพียงเท่านี้ มีเค้าที่จะกล่าวอธิบายขยายออกไปให้ชัดเจน คือ

ที่ในพงศาวดารว่า “ประดับกระจกแผ่นใหญ่“นั้น ก็ตรงกับกล่าวในคำฉันท์บุรโณวาท (ดูเหมือน) ว่า “ฝาดาดกระจกแจ่ม ชวลิตงามเงา” ความชัดว่าประดับด้วยกระจกเงา ปัญหามีแต่ว่าถ้าประดับด้วยแผ่นกระจกเงา อันทำไม่ได้ในเมืองไทย เอาแผ่นกระจกเงานั้นมาแต่ไหน ข้อนี้เผอิญอาจจะตอบได้แน่นอนว่าแผ่นกระจกเงานั้น เดิมประดับฝาผนังพระที่นั่งธัญมหาปราสาท ณ เมืองลพบุรี ยังสังเกตเห็นรอยต่อแผ่นกระจกที่ผนังปราสาทได้จนบัดนี้ กระจกเงานั้นคงได้มาแต่เมืองฝรั่งเศส แต่ครั้งสมเด็จพระนารายณ์ และประดับฝาปราสาทตามอย่างห้องแก้วที่วังเวอซาย ตั้งแต่สมเด็จพระนารายณ์สวรรคต พระเจ้าแผ่นดินไม่ได้เสด็จไปประทับที่วังเมืองลพบุรีมา ๒ รัชกาล ตลอดเวลากว่า ๒๐ ปี พระราชมนเทียรที่เมืองลพบุรีคงถูกทอดทิ้งทรุดโทรมมาก และมิได้มีเจตนาที่จะบูรณะปฏิสังขรณ์อีก พระเจ้าท้ายสระทรงสร้างมณฑปพระพุทธบาทซึ่งยังค้างอยู่ จึงโปรดให้ปลดกระจกเงาจากฝาพระที่นั่งธัญมหาปราสาทไปประดับฝาผนังพระมณฑป อย่างว่า “ไปปล่อยพระพุทธบาท” เป็นแน่ ดังนี้ไม่มีที่จะสงสัย เมื่อทรงสร้างพระมณฑปสำเร็จแล้ว ก็มีการฉลองตามประเพณี

ฉ. ในพงศาวดารรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ ว่าเมื่อพบเทือกทองคำที่บางตะพานโปรดให้เอาทองที่แรกได้มาแผ่เป็นทองปะทางกล้องปิดมณฑปพระพุทธบาทและให้แผ่หุ้มยอดกับเหมและนาค “บนหลังคาพระมณฑป”

การหุ้มทองเห็นจะหุ้มมณฑปน้อยข้างใน มิใช่พระมณฑปใหญ่ ยังมีของอีก ๒ สิ่ง ซึ่งน่าจะสร้างเมื่อรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ แต่ในพงศาวดารไม่กล่าวถึง คือบานประตูประดับมุก ๔ คู่ กับดาดแผ่นเงินปูพื้นในพระมณฑป

ช. ในพงศาวดารรัชกาลพระเจ้าเอกทัศ ว่าเวลาพม่าล้อมพระนครศรีอยุธยาอยู่เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๐๙ นั้น พวกจีนที่อาสาสู้ศึกตั้งค่ายอยู่ ณ สวนพลูสมคบกันสัก ๓๐๐ คน ไปปล้นที่พระพุทธบาท เลิกเอาแผ่นทองคำที่หุ้มยอดกับแผ่นเงินที่ปูพื้นมณฑปแล้วเอาไฟเผามณฑปพระพุทธบาทใหม่หมด เหลือแต่ซากมาจนถึงรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์จึงได้สร้างใหม่

๓) เรื่องธรรมเจดีย์ หม่อมฉันคิดเห็นว่าเจดีย์ที่บัญญัติเป็น ๔ อย่างนั้นเดิมเห็นจะมีแต่พระธาตุเจดีย์กับพระบริโภคเจดีย์มากว่า ๒๐๐ ปี จนถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชอุปถัมภกพระพุทธศาสนาทรงจารึกพระธรรมเป็นตัวอักษรในแผ่นศิลา ประดิษฐานไว้ในที่ต่างๆ พระธรรมมีรูปเป็นปูชนียวัตถุขึ้น จึงเรียกศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกว่าพระธรรมเจดีย์เป็นปฐม ต่อมาเมื่อพระพุทธรูปและพระพุทธบาทกับอะไรอื่นมีเป็นปูชนียวัตถุเพิ่มเติมขึ้นจึงเรียกของที่เกิดขึ้นภายหลังรวมกันว่า อุเทสกเจดีย์ หมายว่าอะไรๆ อื่นนอกจาก ๓ อย่างข้างต้น

ตัวอย่างธรรมเจดีย์ของโบราณที่ปรากฏต่อจากจารึกของพระเจ้าอโศกมาก็มีแต่จารึกคาถา เย ธมฺมา ฯ อันรวมอริยสัจเป็นยอดพระธรรมอยู่ในนั้น ดูชอบจารึกกันแพร่หลาย และจารึกไว้ไม่ว่ากับอะไรต่ออะไร แม้จนอิฐก่อพระสถูปก็มีขีดรอยตัวอักษร เย ธมฺมาฯ ไว้ ที่ธรรมเจดีย์ของพระเจ้าอโศกจะกลายมาจนเป็นจารึก เย ธมฺมาฯ ด้วยอาการอย่างใดได้แต่เดา แต่ก็ไม่มีของโบราณเป็นตัวอย่างที่จะอ้างเป็นหลักฐาน มีเค้าอยู่แต่ว่าดูเหมือนจะชอบจารึกคาถา เย ธมฺมาฯ เป็นธรรมเจดีย์ทั่วไปอยู่เพียงยุคหนึ่ง แล้วพวกถือลัทธิหินยานเลิก อาจจะเลิกเมื่อเขียนพระไตรปิฎกลงเป็นตัวอักษรแล้ว นับถือคัมภีร์พระไตรปิฎกว่าเป็นธรรมเจดีย์ก็เป็นได้ ยังชอบจารึกคาถา เย ธมฺมาฯ อยู่แต่พวกถือลัทธิมหายาน ในเมืองไทยเมื่อสมัยศรีวิชัยถือลัทธิมหายาน ก็ชอบจารึกคาถา เย ธมฺมาฯ ยังพึงเห็นตัวอย่างได้เช่นพระพิมพ์ดินดิบที่พบ ณ เมืองพัทลุงและเมืองตรัง ย่อมมีคาถานั้นพิมพ์ไว้ข้างหลัง แต่ถึงสมัยเมื่อรับลัทธิหินยานมาจากเมืองลังกาแล้ว เลิกประเพณีนั้นทีเดียว หม่อมฉันเคยถามคนแต่ก่อนว่าที่เรียกพระธรรมเจดีย์นั้นเป็นอย่างไร เขาบอกอธิบายว่าจารึกพระธรรมลงในแผ่นลานประจุในองค์พระเจดีย์แทนพระบรมธาตุ จึงเรียกว่าธรรมเจดีย์ หม่อมฉันเห็นว่า อธิบายเช่นนั้นมาแต่ไทยเราเรียกพระสถูปว่า “พระเจดีย์” ติดปากชินมาจนเข้าใจว่าพระสถูปอย่างเดียวเป็นพระเจดีย์ ถ้าจารึกพระธรรมไว้ต่างหากจากพระสถูปก็หาเป็นธรรมเจดีย์ไม่

เมื่อครั้งปลงศพหม่อมเฉื่อยหม่อมฉันเริ่มสร้างที่บรรจุอัฐิธาตุของดิสกุล ณ วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ บอกคนอื่นว่าศิลาจารึกก้อนนั้นเป็นธรรมเจดีย์ ดูก็หามีใครค่อยจะเข้าใจไม่ แต่กรมพระสมมตฯ โปรดมาก ตรัสว่าเสด็จไปบางปะอินเมื่อใดเป็นต้องเสด็จไปที่พระธรรมเจดีย์นั้นเสมอไม่ขาด

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ