วันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๘ ตุลาคม แล้วตามเคย มีแปลกแต่ที่หลังซองปิดตั๋วตราไปรษณีย์ราคา ๒๕ สตางค์ เป็นรูปควายไถนา ซึ่งหม่อมฉันไม่เคยเห็นมาแก่ก่อน

สนองลายพระหัตถ์

๑) ซึ่งทรงพระดำริว่า คำว่า “อ่อน” และ “หล่อน” สำหรับผู้ใหญ่เรียกเด็กนั้นแน่แล้ว เดิมผู้ใหญ่คงเรียกทารกทั้งชายหญิงว่า “ลูกอ่อน” หม่อมฉันจะทูลเดาเล่นต่อไป ว่าเรียกเช่นนั้นจนเมื่อทารกเติบใหญ่ใกล้จะเป็นหนุ่มสาว จึงลดคำหน้าเสียคงเรียกว่า “อ่อน” เหมือนกันทั้งผู้ชายผู้หญิง เมื่อเป็นฉกรรจ์แล้วจึงเรียกว่า “ออ” เหมือนกันทั้งผู้ชายผู้หญิง คำนี้ก็มาแต่อ่อนนั่นเอง

คำว่า “หล่อน” เห็นว่าแปลงมาแต่คำอ่อน แต่ผิดกับ “ออ” ที่ใช้แต่สำหรับหญิงสาว และมักเป็นคำที่ผู้หญิงสาวพูดกับผู้หญิงสาวด้วยกันเอง ผู้ใหญ่จะใช้คำหล่อนต่อผู้เยาว์ หรือผู้เยาว์จะใช้คำหล่อนต่อผู้ใหญ่หามีไม่ ใคร่จะเดาว่ามูลที่ใช้คำหล่อนจะเกิดแต่ผู้หญิงสาวไม่ชอบให้เรียก “ออ” อันความหมายว่าเป็นสาวใหญ่เสียแล้ว เพราะการเลือกคู่ชายย่อมอยากได้หญิงที่รุ่นสาว ก็อยากคงเป็น “อ่อน” อยู่ให้นานที่สุดซึ่งจะเป็นได้ จึงเรียกกันเองว่า “อ่อน” แล้วแปลมาเป็น “หล่อน” หรือแปลเรียกว่าหล่อนมาแต่แรกก็เป็นได้

๒) คำว่า “บาง” นั้น หมายความว่าคลองตันเป็นแน่ไม่มีที่สงสัย หม่อมฉันเคยคิดหาว่า “บางกอก” อยู่ที่ไหนมาช้านาน จับเค้าได้อย่าง ๑ ด้วยสังเกตการขุดคลองแต่โบราณในสมัยเมื่อยังไม่ใช้เครื่องมือทำแผนที่ได้อย่างฝรั่ง คูย่อมขุดจากปลายบางทางหนึ่งให้ไปต่อปลายบางอีกทางหนึ่งเป็นคลอง ไม่มีที่จะฟันตลิ่งเป็นปากคลองจากแม่น้ำ ยกตัวอย่างดังในกรุงเทพฯ นี้ เมื่อขุดคูพระนครก็เอาบางลำภูเป็นปากคูข้างเหนือขุดแยกจากปลายบางลำภูมาต่อปลายบาง (อะไรชื่อสูญเสียแล้ว) ซึ่งออกแม่น้ำข้างเหนือวัดตีนเลนเป็นปากคูข้างใต้ สังเกตดูเหมือนจะต้องขุดแผ่นดินเป็นคลองเพียงแต่วัดสระเกศไปจนราววังบูรพาฯ เท่านั้น นอกจากนั้นก็เป็นแต่ขุดแปลงบางให้เป็นคูพระนคร พิจารณาต่อขึ้นไปถึงพระนครศรีอยุธยาก็เป็นเช่นนั้น เช่นขุดคลองลัดที่บางหลวงเชียงราก และขุดคลองลัดที่บางบัวทอง ก็ล้วนขุดปลายบางเป็นคลองทั้งนั้น ครั้งขุดคลองลัดที่บางกอกเมื่อรัชกาลสมเด็จพระชัยราชาธิราช ก็เห็นจะขุดปลายบางกอกน้อยไปต่อกับปลายบางกอกใหญ่ให้เป็นคลอง ชื่อบางกอกน้อยทางฝ่ายเหนือ กับชื่อบางกอกใหญ่ทางฝ่ายใต้จึงยังอยู่ ตัวบางกอกก็คงอยู่ที่แม่น้ำตอนตรงหน้าพระราชวังนั่นเอง ยังบางว้าอีกแห่ง ๑ หม่อมฉันสืบก็ไม่ได้ความว่าอยู่ที่ไหน แต่มีหลักที่จะเดาได้ด้วยชื่อวัดบางว้าใหญ่และวัดบางว้าน้อย ว่าวัดทั้ง ๒ นั้นคงอยู่ริมฝั่งบางว้า ทำให้เห็นต่อไปว่าเมื่อขุนหลวงตากสร้างกรุงธนบุรี คงขุดบางว้าเป็นคูพระนครทางด้านตะวันตก เขตวัดระฆังกับวัดอมรินทร์จึงตกคลองคูพระนครทั้ง ๒ วัด

๓) ซึ่งทรงปรารภถึงเรื่องปาฏิหารย์นั้น ชอบกลอยู่ หม่อมฉันคิดจะทูลสนอง แต่จะเป็นวินิจฉัยยาวสักหน่อย ขอประทานรอไว้ทูลตอบในจดหมายฉบับอื่นต่อไป

๔) โคลงจารึกไว้ที่ผนังโบสถ์วัดสังกะจาย ถ้ามีคำว่า “สังข์พระสี่กรทรง” ดังทรงจำได้หน่อยหนึ่งเท่านั้น หม่อมฉันเข้าใจว่าคัดเอาโคลงใน “นิราศนรินทร์อิน” ไปลง แต่ที่นี่ไม่มีหนังสือจะสอบจึงทูลไม่ได้แน่ นิราศนรินทร์อินนั้นก็เป็นหนังสือเรื่องหนึ่งซึ่งทำให้ชื่อผู้แต่งปรากฏอยู่ เพราะนับถือกันว่าเป็นนิราศโคลงยอดเยี่ยมกว่าเรื่องอื่น เช่นเดียวกับบทละครเรื่องระเด่นลันได และพระมะเหลเถไถ

สังเกตดูรูปพระเถระที่นับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ ดูชอบทำเป็นพระท้องพลุ้ย เช่นพระกจายนะแทบทั้งนั้น จะเป็นเพื่อให้เห็นชัดว่าผิดกับพระสาวกองค์อื่นดอกกระมัง พระท้องพลุ้ยองค์ที่เมืองนครศรีธรรมราชนั้นเป็นรูปพระสุภูติ จึงทำนั่งแหงนหน้าดูฟ้าขอฝน รูปพระอุปคุตที่มอญทำมีใบบัวปกหัวสำหรับขอฝนก็ทำท้องพลุ้ย รูปพระควัมปติกับพระภควัมอาจจะหมายองค์เดียวกันก็ได้ แต่พวกมหายานเอาไปสมมติให้มีฤทธิ์เดชในวิชาตันตระจึงเกิดทำเอามือปิดตา บางทีทำหลายแขนเรียกว่า “ปิดทวารทั้งเก้า” ดูเป็นคติเดียวกับญี่ปุ่นทำรูปลิงปิดปากปิดหูปิดตาไปทาง ๑ ต่างหาก จึงชื่อต่างกันเป็น ๒ องค์

๕) รูปสัตว์ที่ทำแปลกไปจากธรรมดาต่างๆ นั้น หม่อมฉันเห็นว่ามูลจะเกิดแต่คำคนเรียกก่อน เช่น สีห์พันธุ์ ๑ มีฤทธิ์เดชยิ่งกว่าสีห์พันธุ์อื่น จึงเรียกว่าราชสีห์ ช่างเอาคำที่เรียกราชสีห์นั้นไปเขียนรูปภาพให้ผิดกับสีห์สามัญ คนดูก็เลยเชื่อว่าราชสีห์มีลักษณะอย่างเช่นเขียนนั้น ถ้าใครเขียนเพี้ยนผิดไปก็ไม่ถือว่าเป็นรูปราชสีห์ สีห์พันธุ์ ๑ รูปร่างใหญ่โตกว่าสีห์พันธุ์อื่นจึงเรียกว่า คชสีห์ ช่างเขียนก็เพิ่มงวงงาอย่างช้างเข้าตามชื่อที่เรียก รูปสัตว์เหล่านี้ต่อทีหลังจึงมาผันแปรไปต่างๆ เหตุใดจึงเรียกรูปสัตว์ที่ตัวเป็นนกหัวเป็นคนว่า “อรหันต์” หม่อมฉันก็คิดไม่เห็น แต่ประหลาดอยู่ที่รูปสัตว์ที่ทำหัวเป็นคนตัวเป็นนกดูมีด้วยกันหลายชาติหลายภาษา บางทีเราจะได้แบบอย่างมาจากชาติอื่น เขาเรียกชื่อดังคล้ายๆ กับอรหันต์ เราจึงมาเรียกว่าอรหันต์ที่เป็นคำเจนปากดอกกระมัง คติที่ว่ามนุษย์หน้าเป็นสัตว์เดียรฉานนั้นดูจะเกิดแต่คำอุปรมา มีตัวอย่างชี้ได้ใกล้ๆ เช่น กรมหลวงประจักษ์ฯ ตรัสว่า มองซิเออร์ ฮาดุวิน กงสุลฝรั่งเศสหน้าตาเหมือนสิงโตไฟที่เล่นหน้าพลับพลากลางคืน และหลวงนิพัท (หรืออะไร) ในกรมวังหน้าตาเหมือนสิงโตญวนหกเล่นหน้าพลับพลากลางวัน คงจะเกิดแต่พูดอุปรมาเช่นนั้นก่อน เมื่อทำรูปภาพจึงเอาหน้าสัตว์นั้นมาทำ อย่างนี้ฉันใด ที่ทำหน้าเป็นมนุษย์ตัวเป็นสัตว์เดียรฉานก็น่าจะเกิดแต่อุปรมาฤทธิ์เดชหรือกิริยามารยาทของมนุษย์บางคน ยกตัวอย่างเช่นรูป “สฟิงค์” ของชาวอิยิปต์ซึ่งหน้าเป็นคนตัวเป็นสิงห์ ก็คงมาแต่อุปรมาอานุภาพของบุคคลว่าเหมือนสิงห์ ว่าโดยย่อมูลเดิมของคติคงเกิดแต่มีความจริงโดยธรรมดาแล้วจึงแปรไปต่างๆ ทำนองเดียวกัน

๖) หม่อมฉันจะลองทูลแก้ปัญหาที่ว่ามูลของ “ดอกสร้อย” “สักรวา” “เพลงยาว” จะมาแต่อะไร จะว่าด้วยเพลงยาวก่อน อันคำที่เรียกว่า เพลงยาว จำต้องมีเพลงสั้นเป็นคู่กัน อะไรเป็นเพลงยาวและอะไรเป็นเพลงสั้น จะพิจารณาเค้ามูลข้อนี้ก่อน เจ้ากรมเทศของหม่อมฉันที่ท่านเคยทรงรู้จัก แกมีเมียชื่อ “อิ่ม บ้านไผ่” เป็นคนมีชื่อเสียงในการเล่นเพลงปรบไก่ หม่อมฉันจึงได้เคยดูเขาเล่นเพลงปรบไก่แต่เมื่อรุ่นหนุ่มเนืองๆ คนเล่นเพลงปรบไก่นั้นมีผู้ชายพวก ๑ ผู้หญิงพวก ๑ ยืนเรียงกันเป็นวง มีต้นบทฝ่ายละ ๒ คน ต้นบทเป็นผู้คิดและขับถ้อยคำแก้กัน ลูกคู่เป็นผู้ร้องรับเมื่อปลายบท บทเพลงปรบไก่ตอนแรกเล่น คือที่เป็นพื้นเรื่อง บทไม่มีจำกัดคำ แล้วแต่ต้นบทจะว่าไปจนสิ้นกระแสความ สั้นหรือยาวเท่าใดก็ได้ และใช้ลำนำแต่อย่างเดียวต่อเมื่อใกล้จะเลิกออกท่ารำและร้องลำนำต่างๆ ใช้บทสำเร็จไม่ต้องคิดใหม่ บทละ ๔ คำเป็นจำกัด ลักษณะที่เล่นเพลงปรบไก่ส่อให้สันนิษฐานว่า เพลงเช่นร้องตอนต้นอันบทไม่จำกัดจำนวนคำนั้นเป็นเพลงยาว เพลงที่ร้องเมื่อจวนเลิกอันบทมีจำกัดเพียง ๔ คำนั้นเป็นเพลงสั้น

ที่เรียกว่า “เล่นเพลง” หมายความว่าคนรวมกันขับลำนำ แต่ลักษณะที่เล่นเพลงมีหลายอย่าง อย่างต่ำดูเหมือนจะเป็น “เพลงเกี่ยวข้าว” เวลาบอกแขกเกี่ยวข้าวคนถือเคียวยืนรายกันเป็นแถว ร้องเพลงไปพลางเกี่ยวข้าวไปพลาง บทและลำนำที่ขับก็แล้วแต่จะจำได้ด้วยกันมากไม่มีกำหนด สุดแต่ให้รื่นเริงเพลิดเพลินเป็นประมาณ

ต่อขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งถึง “เพลงเรือ” เล่นเวลาเทศกาลเล่นเรือเช่นไหว้พระ ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า เป็นต้น พวกหนุ่มสาวมักลงเรือโดยลำพังชายและหญิง เวลาพายเรือไปร้องเพลงสั้นด้วยบทสำเร็จตามที่จำได้ให้เพลิดเพลินก็มี หรือเวลาร้องเพลงชายหญิงไปพบกันเมื่อพายไปด้วยกันหรือจอดประชุมกัน เรือผู้ชายร้องเพลงด้วยบทสำเร็จเพลงสั้นเกี้ยวผู้หญิงเป็นสาธารณะไม่เฉพาะพวกไหนหรือคนไหนก็มี บ้างที่มีเรือเพลงพวกผู้หญิงร้องโต้ตอบกันก็มี

การเล่นดอกสร้อยที่จริงก็มาแต่เล่นเพลงเรือนั้นเอง แต่เป็นของผู้ดีพาหญิงสาวบริวารของตนลงเรือไปเที่ยว พวกเจ้าหนุ่มก็พาเพื่อนลงเรือไปเที่ยวบ้าง ขับร้องแต่โดยลำพังก็ได้ หรือเกี้ยวกันก็ได้ ใช้บทเพลงสั้นเหมือนเพลงเรือที่ราษฎรเล่น ผิดกันแต่ร้องลำนำต่างๆ และตีทับรำมะนาประกอบให้ไพเราะกว่าเพลงเรือสามัญ ที่เรียกว่าดอกสร้อยนั้นเห็นจะเป็นเพราะเวลาเล่นเรือ เรือชายกับหญิงอยู่ห่างกัน เห็นหน้ากันได้บ้างไม่เห็นบ้าง จึงแต่งบทเกี้ยวหญิงเป็นสาธารณะใช้อุปมาชมดอกไม้เป็นคำเกี้ยวดังบทว่า-

“มาเอยมาพบ ดอกสร้อยสวรรค์มาลัย
พี่คิดจิตจงจำนงใจ จะใครได้ซึ่งดอกมาลา”

“สักรวา” นั้น (ชื่อจะมาแต่อะไรไม่ทราบ) ดูคล้ายกับเพลงปรบไก่มาก เป็นต้นแต่ต้องมีคู่โต้และว่ากันด้วยกลอนสด ร้องลำนำก็อย่างเดียว (แต่เพลงพระทอง) จนจวนเลิกจึงร้องลำต่างๆ เหมือนกัน ผิดกันแต่เพลงปรบไก่ใช้เพลงยาว สักรวาใช้เพลงสั้น และสักรวาเล่นเป็นเรื่องไม่ด่าว่ากันหยาบคายเหมือนเพลงปรบไก่ ข้อสังเกตมีอีกอย่าง ๑ ที่เพลงปรบไก่เป็นการเล่นบนบกแทนเพลงเรือฉันใด สักรวาก็เป็นการเล่นบนบกแทนดอกสร้อยทำนองเดียวกัน จึงเห็นว่าสักรวาน่าจะมาแต่เพลงปรบไก่และดอกสร้อยน่าจะมาแต่เพลงเรือทำนองเดียวกัน

ที่เรียกหนังสือบทกลอนเขียนเกี้ยวกันว่า “เพลงยาว” นั้นเห็นว่าน่าจะเอาคำขับที่เรียกเพลงยาว เพลงสั้นมาใช้ หมายความว่าจะแต่งยาวเท่าไรก็ได้ไม่มีจำกัด พึงเห็นได้อย่าง ๑ ที่เฉพาะหนังสือกลอนแต่งเกี้ยวพานจึงเรียกว่า “เพลง” ยาว ไม่เรียกว่า “กลอน” ยาว อันนี้ก็ส่อว่ามูลมาแต่คำขับร้องเพลงเกี้ยวมาเขียนเป็นหนังสือ และเอาชื่อเดิมมาเรียก

๗) หม่อมฉันขอถวายอนุโมทนาในการทรงบำเพ็ญพระกุศลอุทิศถวายสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม และถวายอนุโมทนาต่อไปถึงที่ไม่เสด็จไปเข้างานหลวงในวันนั้น ด้วยหม่อมฉันเคยนึกปรารภอยู่เนืองๆ ทั้งในส่วนตัวเองและนึกต่อไปถึงพระองค์ท่านด้วย ว่าอายุสังขารมันแก่ชราลงมากแล้ว ควรจะงดเว้นกิจการเช่นเคยทนทำได้ลงแต่พอกับกำลังสังขาร ตัวหม่อมฉันเองเดี๋ยวนี้การเข้าสมาคมไม่ว่าอย่างใดงดหมด คงแต่เย็นๆ ขึ้นรถเที่ยวตากอากาศทุกวัน และเดินออกแรงสัปดาหะละ ๒ ครั้ง กับนานๆ จะไปหอสมุดหรือไปดูหนังฉายแต่เวลา ๑๘ น. จน ๒๐ น. สักครั้ง ๑ ส่วนพระองค์ท่านหม่อมฉันเห็นว่าถึงประชวรหรือไม่ประชวร ถ้าทรงงดงานหลวงได้จะเป็นการดี เพราะงานหลวงผิดกับงานที่อื่นที่–ก) ต้องแต่งเครื่องยศ ข) มักต้องไปในเวลาร้อนจัด ค) ต้องนั่งกรึ้งอยู่นาน ฆ) มักทำในที่อบไอ เช่นที่ท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีและพระที่นั่งอมรินทร์เป็นต้น เสด็จไปมีแต่การเสียเปรียบในทางอนามัยมิมากก็น้อย ที่มีหมอไว้ใกล้พระองค์และประทานโอกาสให้เขาทูลตักเตือนได้เสมอนั้นเป็นการสมควรยิ่งนัก

๘) หม่อมฉันเห็นรูปก่องนมฝรั่งอย่าง ๑ ซึ่งจะเรียกว่าเสื้อหรือผ้าห่ม หรืออะไรอื่นนอกจาก “ก่องนม” ไม่ได้ จึงตัดส่งมาถวายทอดพระเนตร

๙) หม่อมฉันถวายนิทานโบราณคดี “เรื่องอนามัย” อันเนื่องกับเรื่องตั้งโรงพยาบาลที่ถวายไปแล้ว มาทรงอ่านเล่นอีกเรื่อง ๑

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ