วันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

การส่งหนังสือที่มาคราวเมล์วันพฤหัสบดีที่ ๒ มกราคมนี้ อยู่ข้างประหลาด เมื่อวันศุกร์เวลาบ่ายเขาส่งแต่หนังสือพิมพ์บางกอกไตม์มาให้ ถึงวันเสาร์เช้าเขาส่งจดหมายที่สลักหลังซองถึงคนอื่น คือจดหมายหญิงอามมีถึงหญิงพิลัยเป็นต้นมาให้ แต่ยังไม่ส่งลายพระหัตถ์เวรมาให้หม่อมฉันจนถึงวันอาทิตย์แล้ว จึงลงมือเขียนจดหมายเวรของหม่อมฉันประจำสัปดาหะนี้ ก่อนได้รับลายพระหัตถ์

ปกิรณกะ

๑) ขึ้นปีใหม่แต่ก่อนมา ถึงวันที่ ๑ เมษายน เวลาเช้าหม่อมฉันใส่บาตร ตอนสายคนในครัวเรือนรดน้ำ กลางวันเลี้ยงข้าวแช่เสมอทุกปี ปีนี้เปลี่ยนวันปีใหม่มาเป็นวันที่ ๑ มกราคม “กลับตัวไม่ทัน” เพราะพวกบริวารอยากรดน้ำและให้เลี้ยงข้าวแช่ต่อฤดูร้อน ขอให้เลื่อนพิธีไปทำต่อวันเถลิงศกสงกรานต์พร้อมกับที่ไทยชาวปีนังเขาทำกัน ปีนี้หม่อมฉันจึงต้องทำบุญปีใหม่อย่างฉุกละหุกไปคราว ๑ อนึ่งวันที่ ๑ มกราคมปีนี้เป็นวันพระบรมราชสมภพ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวครบ ๕ รอบ ซึ่งกระหม่อมเตรียมจะทำบุญอุทิศถวายด้วย วันที่ ๑ นั้นเวลาบ่ายหม่อมฉันจึงไปตามวัดในเมืองปีนังนี้ ๕ วัด คือวัดปุโลติกุส วัดศรีสว่างอารมณ์ วัดปิ่นบังอร วัดจันทราราม และวัดมหินทราราม ทำพุทธบูชาแล้วถวายหนังสือสวดมนต์ฉบับหลวงไว้สำหรับพระท่องจำ วัดละเล่ม ๑ บ้าง ๒ เล่มบ้างตามมีจำนวนพระมากและน้อย รวมสมุด ๑๐ เล่มอุทิศกุศลถวายสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระมงกุฎเกล้า และหม่อมฉันขอถวายส่วนบุญที่ได้ทำในวันปีใหม่ให้ท่านทรงอนุโมทนาด้วย

ไปเห็นการแปลกที่วัดควรเล่าถวายได้ ๒ อย่าง เมื่อไปถึงวัดปิ่นบังอรเห็นพระกำลังนั่งประชุมกันอยู่ในโบสถ์ ที่กลางโบสถ์ตั้งโต๊ะเครื่องบูชามีพระบรมรูป สมเด็จพระอานันทมหิดลอยู่บนนั้น วงสายสิญจน์ล่ามมาถึงพระสงฆ์กำลังสวดถวายพรปีใหม่ เห็นเข้าก็ชอบใจ ที่วัดมหินทรารามนั้นพระลังกาพาไปอนุโมทนาที่ในโบสถ์ ท่านคลี่กลุ่มสายสิญจน์สีเหลืองมาให้หม่อมฉันกับลูกที่ไปด้วยกันถือสายสิญจน์นั้น ตัวท่านถือข้างต้นสวดมนต์อนุโมทนาด้วยบทพระบาลีอะไรบ้าง หูหม่อมฉันตึงไม่เข้าใจได้หมด แต่มี อิติปิโส สวากขาโต สุปฏิปันโน อยู่ข้างต้นเลยทำให้นึกขึ้นว่าสายสิญจน์เห็นจะเป็นของสำหรับประสิทธิอานุภาพพระปริตร ไม่ใช่แต่เฉพาะทำน้ำมนต์ ถ้าประสิทธิ์แก่คนน้อยก็ล่ามไปถึงตัวคนเช่นเด็กโกนจุก เป็นต้น ถ้าคนมากจะให้ถือสายสิญจน์ทุกคนไม่ได้ ก็วงสายสิญจน์รอบมณฑลที่คนนั่งรวมกันอยู่ จะเลยว่าต่อไปถึงการใช้ตาลิปัตร ประเพณีเดิมดูเหมือนตาลิปัตรจะสำหรับพระถือเวลาเข้าบ้าน พระพม่าสวดมนต์ในบ้านก็ถือตาลิปัตรสวดมนต์ พระไทยสวดมนต์ในบ้านไม่ถือตาลิปัตร เพราะมือติดถือสายสิญจน์ แต่เมื่อไม่ต้องถือสายสิญจน์เช่นสวดอนุโมทนาก็ยังตั้งตาลิปัตร ประเพณีเดิมน่าจะเป็นเช่นว่ามานี้

๒) ในเกาะปีนังนี้ มีที่ฝังศพจีนเก่าใหม่ล้วนใหญ่กว้างหลายแห่ง เวลาหม่อมฉันผ่านไปในรถเคยนึกเนืองๆ ว่าถ้าประเพณีเป็นไปอย่างนี้ไม่ช้านานถึงหลายร้อยปี แผ่นดินในเกาะปีนังจะเป็นที่ฝังศพจีนมากเสียกว่าอย่างอื่น ครั้นวันนี้ได้เห็นหนังสือพิมพ์ ว่าสมาคมจีนสำหรับรักษาที่ฝังศพเขาตกลงกัน ว่าจะขุดศพราว ๑๐,๐๐๐ ซึ่งฝังเต็มที่ฝังศพแห่ง ๑ หมดแล้วมาช้านาน เก็บร่างกระดูกใส่ลงไหศพละใบแล้วเอาไปรวมฝังไว้ ณ ที่บริเวณหนึ่งต่างหาก จะลงมือขุดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ นัยว่าสักปี ๑ จึงจะสำเร็จ ก็คือว่าเอาที่ฝังศพเดิมใช้ฝังศพไปใหม่ ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ต้องเกรงว่าเกาะปีนังจะกลายเป็นที่ฝังศพไปหมด แต่หม่อมฉันไม่เคยได้ยินว่าพวกจีนเคยทำที่อื่นอย่างนี้ ได้เห็นในหนังสือว่าเมืองจีนทั้งกว้างใหญ่อย่างนั้น แผ่นดินเป็นที่ฝังศพไปเสียสัก ๑ ใน ๑๐ เพราะไม่มีวิธีแก้ไข ป่าช้าฝรั่งเขาแก้มาก่อนแล้ว อย่างเช่นทำที่เมืองบันดุงในเกาะชวา ซึ่งท่านคงทอดพระเนตรเห็นแล้ว

ปัญหา

๓) ในจดหมายเวร แต่ก่อนเราได้เคยพูดกันถึงวินิจฉัยเรื่องเศวตฉัตรมาบ้างแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้หม่อมฉันนึกถึงวินิจฉัยเรื่องเศวตฉัตรขึ้นอีกอย่าง ๑ จะทูลให้ทรงพิจารณาในคราวนี้ ได้คิดวินิจฉัยกันเป็นยุติแล้วว่า “ฉัตร” คือร่มใหญ่ที่มีคนถือกั้นนั้นเป็นเครื่องหมายของผู้เป็นนายกเปรียบเช่นนายพล ย่อมมีฉัตรกั้นเป็นสำคัญในเวลาเมื่อเข้าสู่สนามรบทุกคน ฉัตรชั้นนายพลเป็นสีอื่น แต่ฉัตรของจอมพลใช้สีขาวให้ผิดกับฉัตรนายพล พระเจ้าแผ่นดินย่อมเป็นจอมพลจึงใช้ฉัตรสีขาวเป็นนิจ อันนี้เป็นมูลเหตุที่ถือกันว่าเศวตฉัตรเป็นเครื่องยศเฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน และต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดินประเทศที่เป็นอิสระด้วย ถ้าเป็นประเทศราชก็ใช้เศวตฉัตรไม่ได้ เพราะฉะนั้นการที่พระเจ้าแผ่นดินประเทศหนึ่งไปปราบพระเจ้าแผ่นดินประเทศอื่นจึงมักใช้คำในบทกลอนว่า “ชิงฉัตร” หมายความว่าเอาอิสระของประเทศโน้นมาไว้ในเงื้อมพระหัตถ์ และเป็นมูลที่ใช้ฉัตรหลายคัน หรือหลายชั้นเป็นเครื่องยศต่างชั้นกัน พวกนายพลฉัตรเครื่องยศก็เป็นสีอื่น พระเจ้าแผ่นดินก็เป็นสีขาว หมายความว่ามีอานุภาพสามารถ “ชิงฉัตร” ข้าศึกได้ถึงเท่านั้นๆ คัน

ประเพณีประเทศลานช้างในสมัยเมื่อยังเป็นอิสระ เรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า “พระเจ้าร่มขาว”ความก็บ่งชัดว่าแต่โบราณพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวที่ใช้เศวตฉัตรได้ ในกฎมณเทียรบาลตอนกล่าวถึงการพระราชพิธี ก็พรรณนาว่า เศวตฉัตรมีแต่ในเครื่องราชูปโภคเครื่องยศของผู้อื่นแม้สมเด็จพระอัครมเหสีและสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าก็หามีเศวตฉัตรไม่ แต่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ดูเหมือนจะถือกันว่ามีผู้อื่นอีกที่มีเศวตฉัตรเป็นเครื่องยศ และลดหลั่นชั้นฉัตรลงมาเป็นลำดีบ คือ พระมหาอุปราชกับพระอัครมเหสีเศวตฉัตร ๗ ชั้น กรมพระราชวังหลังเศวตฉัตร ๕ ชั้น และสมเด็จพระสังฆราช เศวตฉัตร ๓ ชั้น แต่ก็หาเคยมีในลายลักษณ์อักษรตำรับตำราอันใด ที่กำหนดเศวตฉัตรเช่นนั้นไม่ จึงอยากรู้ว่ามีอะไรเป็นมูลและเป็นหลักว่าผู้อื่นนอกจากพระเจ้าแผ่นดินอาจมีเศวตฉัตรเป็นเครื่องยศเช่นนั้น

อีกอย่างหนึ่งหม่อมฉันเคยได้ยินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสเล่าว่าพระมหาเศวตฉัตรแต่ก่อนหุ้มด้วยตาดขาว ถึงรัชกาลที่ ๔ ทูลกระหม่อมทรงพระราชดำริว่า ที่หุ้มตาดนั้นกลับทำให้เศวตฉัตรเลวลง จึงโปรดให้เปลี่ยนเป็นหุ้มผ้าขาวมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ หรือมาหุ้มตาดเมื่อรัชกาลที่ ๓ และทำให้นึกต่อไปอีกข้อ ๑ ว่า ฉัตร ๕ ชั้นหุ้มโหมด และฉัตรกำมะลอ ๕ ชั้นที่แขวนเพดานพระเมรุศพเจ้านายจะเป็นศักดิ์อย่างใด หม่อมฉันเคยได้ยินเขาเล่าว่าตามวังเจ้านายแต่ก่อน ที่ในท้องพระโรงมีพระแท่นแขวนฉัตร ๕ ชั้น เค้าเดียวกับพระแท่นเศวตฉัตรในท้องพระโรงหลวง สำหรับเสด็จออกแขก แต่เจ้านายใช้พระแท่นนั้นเพียงเป็นธรรมาศน์พระเทศน์ พระแท่นเช่นนั้นหม่อมฉันเคยเห็นที่วังกรมหมื่นพิศาลบวรศักดิ์ ว่าเดิมเป็นของเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ (ที่จะรับพระแท่นของกรมหมื่นศักดิพลเสพต่อมา) กรมพิศาลฯ ท่านตรัสประทานหม่อมฉัน แต่หม่อมฉันไม่มีที่ตั้งก็ไม่รับเอามา ถ้าเป็นเช่นนั้นฉัตรโหมด ๕ ชั้นที่แขวนพระเมรุก็จะเป็นอันเดียวกันกับฉัตรแขวนท้องพระโรงนั่นเอง ส่วนฉัตรกำมะลอน่าจะเป็นทูลกระหม่อมทรงประดิษฐ์ขึ้นแทนฉัตรโหมด โดยนัยเดียวกันกับที่เปลี่ยนตาดที่หุ้มพระมหาเศวตฉัตรเป็นเป็นหุ้มผ้าขาว ที่โปรดให้เพิ่มลายทองเป็นกำมะลอก็เห็นจะมิให้เป็นเศวตฉัตร ถึงกระนั้นก็ยังไม่สิ้นสงสัยว่าฉัตรโหมด ๕ ชั้นนั้นศักดิ์อย่างไร ท่านได้เคยทรงพิจารณามาบ้างหรือไม่

บ่น

๔) ถึงวันอังคารที่ ๗ มกราคมแล้ว เวลาเช้าลายพระหัตถ์เวรที่มาถึงปีนังคราวเมล์วันพฤหัสบดีก่อน ที่ยังไม่มาถึงหม่อมฉันเกิดสงสัยว่าจะหายหกตกหล่นไปเสียแล้ว แต่หากจะมาส่งตอนบ่ายในวันอังคารนี้ก็เขียนตอบไม่ทัน เพราะไม่มีเวลาพอจะตริตรองและตรวจหาหลักฐานอันเผื่อจะต้องอ้างจึงยุติเขียนจดหมายเวรสัปดาหะนี้เพียงเท่านี้แต่ถวายนิทานโบราณคดี เรื่องความไข้เมืองเพชรบูรณ์มาทรงอ่านเล่นเรื่อง ๑ พอสำราญพระหฤทัยแทนทรงอ่านทูลสนองความในลายพระหัตถ์ฉบับที่ขาดไปนั้น

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. นิทานโบราณคดี ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธนี้มีรวมทั้งหมด ๒๐ เรื่อง ได้เคยตีพิมพ์รวมเล่มแล้วหลายครั้ง

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ