วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

ความทูลสนองลายพระหัตถ์เวร ฉบับลงวันที่ ๒๙ เมษายน ยังค้างอยู่ หม่อมฉันลงลงมือเขียนจดหมายเวรฉบับนี้ตั้งแต่ก่อนเมล์กรุงเทพฯ มาถึง

ทูลสนองลายพระหัตถ์

๑) หม่อมฉันขอถวายอนุโมทนาการที่ทรงบำเพ็ญพระกุศลเมื่อตรงวันประสูติ และขอให้ผลานิสงส์จงบันดาลให้ทรงเจริญพระชันษาและเป็นสุขสถาพรสืบไปให้ช้านานเทอญ.

๒) อ่านที่ตรัสเล่าถึงประทานชื่อหลานหญิงวิสาขา หม่อมฉันนึกขึ้นถึงความบกพร่องของหม่อมฉันอันมีในอุปนิสัยอย่าง ๑ ถึงเวลาจะให้ชื่อใครเป็นปัญญาทึบคิดไม่ออก จนอึดอัดประดักประเดิดแทบทุกครั้ง อย่าว่าแต่ชื่อคนเลย ถึงจะให้ชื่อสัตว์เดียรฉานก็เป็นเช่นนั้น แมวตัวโปรดของหม่อมฉันยังเรียกชื่อแต่ว่า “อีแมว” อยู่จนเดี๋ยวนี้ แต่ก็ยังมีความจำเป็นที่ต้องให้ชื่อคนอยู่เนืองๆ เช่นหลานเหลนที่เกิดใหม่เป็นต้น หม่อมฉันต้องเลิกคติเอาตัวอักษรวรรคประจำวันขึ้นต้นชื่อ เพราะทำให้ลำบากยากยิ่งขึ้นอีกมาก แต่บางทีก็นึกได้อย่างชอบกล เหมือนอย่างชื่อลูกคนใหญ่ของชายดิศตั้งแต่ได้ยินว่าหญิงหลุยมีครรภ์ หม่อมฉันก็นึกหาชื่อจะให้ลูกเนืองๆ แต่นึกไม่ออกจนได้รับโทรเลขชายดิศบอกว่าหญิงหลุยคลอดลูกเป็นหญิง ก็นึกขึ้นถึงพระนามเดิมของสมเด็จกรมพระ พระองค์ใหญ่ในขณะนั้น จึงเอาคำ “รัศมี” มาให้ชื่อ เห็นว่าต่อกับนามสกุลว่า “รัสมีดิศกุล” ไพเราะเหมาะดี มาถึงลูกคนที่ ๒ ซึ่งท่านตรัสเรียกว่า “ถัด” นั้น หม่อมฉันนึกขึ้นว่าในบรรดาลูกชายของหม่อมฉันเรียกชื่อว่า “ดิศ” เหมือนหม่อมฉันแต่ชายดิศคนเดียวน่าจะให้ชื่อนั้นสืบสาย มีทั้งพระองค์เจ้าดิศ หม่อมเจ้าดิศ หม่อมราชวงศ์ดิศ และหม่อมหลวงดิศต่อกันไป จึงให้ชื่อว่า “ดิศนดา” แต่เห็นว่าเมื่อยังเด็กคนคงไม่ชอบเรียกชื่อพ้องกับพ่อจึงให้ชื่อสำหรับเรียกกันในบ้านอีกชื่อหนึ่งว่า “หลาน” ตามเยี่ยงอย่างกรมพระพิทักษ์ฯ ท่านประทานชื่อเจ้าพระยาเทเวศร์ ดูก็เป็นสวัสดิมงคลดี

๓) ในแผนผังวัดพระศรีมหาธาตุ เขาเขียนเอลเวชั่นไว้ข้างบน รูปพระเจดีย์เป็นสถูปดูคล้ายกับที่วัดประยูรวงศ์ ถ้าก่อรูปเป็นชั้นๆ เช่นเจ้าพระยาธรรมาทูลก็แก้ใหม่เมื่อภายหลัง ถ้าจำลองรูปพระธาตุพนมมาทำก็มิใช่เป็นองค์แรก ด้วยมีพระเจดีย์จำลองพระธาตุพนมอยู่ที่พระพุทธบาทอีกองค์ ๑ ซึ่งหม่อมฉันสันนิษฐานว่าคงเป็นของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงสร้างไว้

๔) สังเกตดูในหมายรับสั่งลักษณะพิธีพืชมงคลอย่างใหม่ เอาการไถนามาทำตอนเย็นเมื่อพระสวดมนต์จบแล้ว ไม่ไถเวลาเช้าในวันหลังเหมือนอย่างเก่า พระจะต้องสวดมนต์แต่บ่ายมิฉะนั้นเวลาไถนาก็มืด บางทีกระบวนไถนาอย่างสมัยใหม่ก็จะน่าดู

๕) ที่พระเจ้ามณีวงษ์สุรคตนั้น หม่อมฉันรู้สึกอาลัย ด้วยเคยรู้จักจนถึงชอบกันมาตั้งแต่หม่อมฉันไปเมืองเขมร เวลานั้นเธอยังเป็นที่พระแก้วฟ้า เป็นผู้รับสั่งให้เป็นผู้พาหม่อมฉันเที่ยวดูรั้ววังจึงคุ้นกัน เมื่อสมเด็จพระศรีสวัสดิ์สุรคตและเธอได้ทรงราชย์ หม่อมฉันมีจดหมายไปเยี่ยม เธอก็มีราชสาส์นเป็นภาษาฝรั่งเศสประทับราชลัญจกรใส่ซอง มีถุงตาดข้างนอกส่งมาขอบใจฉบับ ๑ เมื่องานพระเมรุสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ หม่อมฉันได้ส่งผ้าไตรทำบุญกับดอกไม้ธูปเทียนขมาพระศพ ทั้งของหม่อมฉันเองและของลูกหญิงทั้ง ๓ คนไป เธอก็มีราชสาส์นตอบขอบใจมาอีกครั้ง ๑ คราวนี้มีของฝากมาให้ทุกคน รูปฉายทรงเครื่องต้นที่ท่านทอดพระเนตรที่วังวรดิศก็เป็นของเธอฝากมาให้ และยังสั่งอวยพรถึงกันต่อมาเนืองๆ แต่เธออยู่มาจนพระชันษาถึง ๖๔ ปีก็เข้าเขตนับว่าอายุยืนอยู่แล้ว

๖) การรับรัชทายาทเมืองเขมรครั้งนี้แปลกกับที่เคยมีมาแต่ก่อน เดิมหม่อมฉันเข้าใจว่าราชบุตรจะได้รับรัชทายาท และหม่อมฉันเคยรู้จักราชบุตรองค์นั้นด้วยได้ไปพบที่เมืองฝรั่งเศส แต่มากลายเป็นราชนัดดาได้รับรัชทายาท จึงแปลกประหลาดเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น หม่อมฉันจะทูลได้ดีกว่าหนังสือพิมพ์ ด้วยเคยรู้ระแคะระคายมาแต่เมื่อไปเมืองเขมร มูลเหตุนั้นเกิดแต่เจ้านายเขมรรังเกียจกันเองอย่างเราพอจะเข้าใจได้ง่าย คือพวกลูกสมเด็จพระนโรดมถือตัวว่าเป็นเจ้านายวังหลวง ว่าลูกสมเด็จพระศรีสวัสดิ์เป็นแต่เจ้านายวังหน้ามาได้มีบุญขึ้น ข้างสมเด็จพระศรีสวัสดิ์รังเกียจพวกลูกสมเด็จพระนโรดมว่าหยิ่ง สังเกตดูในงานหลวงซึ่งสมเด็จพระศรีสวัสดิ์มีรับหม่อมฉันไม่เห็นเชิญเจ้านายพวกลูกสมเด็จพระนโรดมเลย ที่หม่อมฉันรู้จักสี่ห้าองค์เช่นองค์หญิงมัลลิกาและองค์ชายสุธารศเป็นต้นนั้น ก็พบกันที่อื่นและทุกองค์ไม่ปิดบังความรังเกียจพวกวังหน้า ดูเหมือนสมเด็จพระมณีวงษ์องค์เดียวที่เข้ากับพวกเจ้านายวังหลวงได้ ด้วยมีอัธยาศัยดีมาตั้งแต่ยังเป็นพระแก้วฟ้า พอสมเด็จพระมณีวงษ์ได้ทรงราชย์ก็พยายามที่จะให้เจ้านายทั้ง ๒ ฝ่ายกลับกลมเกลียวกัน สถาปนาองค์สุธารศราชบุตรสมเด็จพระนโรดม ซึ่งเป็นอาวุโสอยู่เวลานั้นให้เป็นกรมพระ และต่อมายกเจ้าฟ้าหญิงกุสุมาลย์ราชธิดาให้แก่เจ้าสุรามฤทธบุตรขององค์สุธารศ และตั้งให้เป็นกรมขุนวิสุทธิขัติยวงษ์ด้วยองค์ ๑ ในรัชกาลสมเด็จพระมณีวงษ์ องค์หญิงมัลลิกาเคยบอกหม่อมฉันว่าเจ้านายทั้ง ๒ ฝ่ายสมัครสมานกันดีนานมา ภายหลังหม่อมฉันได้ยินว่ามีเขมรในเมืองพนมเพ็ญพวกหนึ่งปรารถนาจะให้เจ้าสุรามฤทธลูกองค์สุธารศ ซึ่งเป็นราชบุตรเขยสมเด็จพระมณีวงษ์ได้เป็นรัชทายาท แต่หม่อมฉันห่างเหินกับเมืองเขมรมาเสียช้านานแล้วก็ไม่เอาใจใส่ จนมาปรากฏการตั้งพระเจ้ากรุงกัมพูชาองค์ใหม่นี้ นึกหวนถึงความที่รู้มาแต่หนหลัง จึงคิดเห็นเหตุการณ์แจ่มแจ้ง คือเมื่อสมเด็จพระมณีวงษ์สุรคต พวกผู้หลักผู้ใหญ่ในเมืองพนมเพ็ญคงมีปรารถนาต่างกันเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่าย ๑ อยากให้ (เจ้ามณีฤทธ หรือชื่ออะไรจำไม่ได้แน่) พระราชบุตรสมเด็จพระมณีวงษ์รับรัชทายาท สืบสายสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ อีกฝ่าย ๑ อยากให้กรมขุนวิสุทธิขัติยวงษ์บุตรองค์สุธารศ ซึ่งเป็นราชบุตรเขย รับรัชทายาทสืบสายสมเด็จพระนโรดม ฝรั่งเศสจึงคิดอ่านให้ประชุมกันเลือก เจ้าศรีอนุ (อายุได้ ๑๔ ปี) อันราชธิดาของพระเจ้ามณีวงษ์เป็นมารดาและบุตรขององค์สุธารศเป็นบิดา ขึ้นเป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชาทรงพระนามว่าสมเด็จพระนโรดมศรีอนุ โดยเป็นราชนัดดาสมเด็จพระนโรดม และสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ทั้ง ๒ พระองค์ หรือว่าอีกอย่างหนึ่ง กลับรวมสายวังหลวงกับวังหน้าเข้าเป็นเส้นเดียวกันสืบไป

๗) พระเก้าอี้มีล้อของทูลกระหม่อมนั้น ฝรั่งเขาทำสำหรับคนเจ็บที่เดินไม่ได้ใช้สอย ใครจะเอามาถวายและเหตุใดทูลกระหม่อมจึงโปรดทรงใช้คิดไม่เห็น เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดให้หม่อมฉันจัดพระนครคีรีรับดุ๊กโยฮันอัลเบร็ด หม่อมฉันไปค้นเครื่องใช้ที่รักษาไว้ในคลังกรมเด็กชา ไปเห็นพระเก้าอี้องค์นั้นอยู่ในคลังจึงสั่งให้เขาส่งไปยังพระนครคิรี หมายจะเอาไว้กับของสิ่งอื่นของทูลกระหม่อม ซึ่งรักษาไว้เป็นอย่างดี ณ ที่นั้น ต้อมาถึงรัชกาลที่ ๖ ไปเห็นพระเก้าอี้นั้นย้ายไปอยู่ ณ พระตำหนักโปร่งหฤทัยที่มิคทายวันสำหรับสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงไปตามเฉลียงตำหนักนั้น ใครจะเป็นผู้ทูลสอขึ้น และเดี๋ยวนี้พระเก้าอี้องค์นั้นจะอยู่ที่ไหนหาทราบไม่

๘) เก้าอี้หุ้มทองเหลืองที่ตำหนักใหญ่วังวรดิศนั้นก็มีเรื่องเดิมเป็นเก้าอี้สำหรับแม่นั่งเมื่อยังเป็นละคร ใครทำให้ท่านหม่อมฉันไม่ได้ถาม เมื่อแต่งวังวรดิศหม่อมฉันขอท่านมาขัดสีรักษาไว้ คิดดูอายุของเก้าอี้นั้นก็กว่า ๘๐ ปีมาแล้ว ประหลาดที่มาเห็นเก้าอี้ในห้องกินอาหารที่บ้านซินนามอน ทำรูปร่างเหมือนอย่างเก้าอี้ของแม่ไม่มีผิด เป็นแต่ขนาดเขื่องกว่าและพื้นถักหวายกับไม่หุ้มทองเหลืองเท่านั้น พวกจีนคงจะชอบเก้าอี้รูปนั้น แบบยังคงอยู่ยั่งยืนอย่างประหลาด

๙) ปีนี้ที่ปีนังทำพิธีวิสาขบูชากันตามเคย เมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ (ที่ ๑๐ พฤษภาคม) เวลาเย็น หม่อมฉันไปบูชาพระที่วัด (ลังกา) มหินทรารามและวัดปิ่นบังอร ถึงวันอาทิตย์แรมค่ำ ๑ ไปบูชาพระฟัง (ไม่ได้ยิน) เทศน์เดินเทียนทีวัดศรีสว่างอารมณ์ ขอถวายพระกุศลแก่ท่านด้วย วัดศรีสว่างอารมณ์ตั้งแต่พระมหาภุชงค์กลับมาเจริญรุ่งเรืองขึ้นด้วยไม่เกี่ยวกับสมาคมญาโนทัยเหมือนแต่ก่อน เจ้าของวัดเขาอุปการะตามแบบโบราณ ได้ยินว่าเขาคิดอ่านบอกบุญกันในพวกพ้องของเขา ได้เงินใช้สำหรับวัดเดือนละ ๙๐ เหรียญ แบ่งใช้ในการเลี้ยงพระและรักษาวัดเดือนละ ๕๐ เหรียญ ฝากธนาคารไว้เป็นทุนเดือนละ ๔๐ เหรียญเสมอไป แต่เมื่อก่อนถึงวิสาขบูชาพระมหาภุชงค์ได้รับโทรเลขว่าบิดาป่วยหนักต้องรีบกลับไปกรุงเทพฯ จะกลับออกมาต่อจวนเข้าวัสสา เมื่อทำวิสาขบูชามีแต่พระทองสุกองค์เดียว แต่นิมนต์พระวัดอื่นมาสมทบเป็น ๕ องค์ด้วยกัน ก็เป็นการเรียบร้อยครึกครื้นดี

รับลายพระหัตถ์

๑๐) สัปดาหะนี้ เขาเชิญลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๖ พฤษภาคม ซึ่งมาถึงคราวเมล์วันพฤหัสบดีที่ ๘ มาส่งต่อวันจันทร์เวลาบ่ายอีกเหมือนหนหลัง แต่หม่อมฉันนึกกริ่งใจได้ร่างจดหมายเตรียมไว้ก่อนแล้ว การที่รับลายพระหัตถ์ช้าวันไปเช่นนี้ อย่างอื่นก็ไม่สำคัญอันใด ลำบากอยู่แต่ที่มีเวลาคิดค้นและตรวจตราหาหลักฐานทูลสนองน้อย จะต้องเปลี่ยนกระบวนเป็นงดเรื่องที่จะต้องคิดค้นไว้ทูลในจดหมายฉบับหน้า ทูลตอบตามเคยแต่เรื่องที่คิดได้ทันเวลาส่งจดหมายไปทิ้งไปรษณีย์

๑๑) ซึ่งทรงปรารภว่าตราตำแหน่งที่ทำเป็นรูปสัตว์ต่างๆ อาจจะเอารูปสัตว์หัวเรือไปทำลายตรานั้น หม่อมฉันเห็นว่าจะไม่เป็นเช่นนั้น น่าจะกลับกันข้ามคือเอารูปสัตว์ในดวงตรามาทำหัวเรือ ด้วยมีหนังสือที่จะอ้างได้ ตราตำแหน่งเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่นราชสีห์ คชสีห์ เป็นต้น และยังมีรูปสัตว์อื่นอีกมากมายหลายอย่างมีอยู่ในกฎหมายลักษณะศักดินา ซึ่งตั้งในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๘ ส่วนเรือรูปสัตว์มีในเรื่องพงศาวดารว่า ประดิษฐ์ขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อราว พ.ศ. ๒๐๗๖ และมีเค้าว่าเลือกเอาแต่รูปสัตว์ตามตราของข้าราชการชั้นสูงมาทำหัวเรือ สำหรับเป็นพาหนะของข้าราชการตำแหน่งนั้นใช้ในเวลาแห่เสด็จ มีพรรณนาได้ในบทเห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ถึงรูปสัตว์หัวเรือดั้ง เช่นพาลีและสุครีพก็คงสำหรับเจ้ากรมอาสาไปในนั้น แต่เรือดั้งหัวรูปครุฑกับกระบี่เห็นจะนำเรือพระที่นั่งมาแต่เดิม

ว่าต่อไปถึงตราสำหรับประทับตราสลักสำคัญในหนังสือ หม่อมฉันเคยได้ยินอธิบายทางพระบาลีว่า “ลัญจกร” นั้นคือเอาหัวแหวนกดรอยเป็นสำคัญ ภายหลังมาเมื่ออ่านพงศาวดารเรื่องโปรตุเกสแรกออกมาถึงอินเดียมีพรรณนาในหนังสือนั้น ว่าราชสาส์นของมหาราชาในอินเดียมีถึงพระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกส จารึกในแผ่นทองคำและกด (สลัก) ด้วยหัวแหวนของมหาราชาเป็นสำคัญ ก็สมกับที่ว่าทางพระบาลี คิดต่อไปยังเห็นต่อไปอีก ว่าลักษณะตราแต่โบราณเห็นจะเป็น ๒ อย่างต่างกัน ชาวต่างประเทศทางฝ่ายตะวันตกตั้งแต่อินเดียไป ใช้ตรากดรอยอย่างเราเรียกว่า “ตราครั่ง” รอยตราที่พบในอียิปต์และซีเรียล้วนเป็นตราครั่งทั้งนั้น แม้จนทุกวันนี้ตราฝรั่งซึ่งประทบเป็นสลักสำคัญตั้งแต่ราชลัญจกรลงมาจนตราของตัวราชทูตที่ลงในหนังสือสัญญาก็ยังใช้ตราครั่ง “พระอุนาโลมทำแท่ง” ของไทยก็คงได้อย่างมาแต่อินเดีย แต่ทางเมืองจีนเขาใช้ตราชาดประทับเป็นสำคัญมาแต่โบราณอีกทางหนึ่ง ไทยเราน่าจะได้วิธีใช้ตราชาดมาจากจีน จึงมีใช้ทั้งตราครั่งและตราชาด จีนเขารู้วิชาหนังสือมาแต่ดึกดำบรรพ์ จึงเอาตัวหนังสือเป็นลายตรา แต่ไทยเราเพิ่งสันทัดใช้หนังสือจึงเอารูปภาพมาทำลายตรา ขอให้ทรงพิจารณาดูเถิด

๑๒) หูดอย่างเป็นแก่พระองค์ท่าน ที่หม่อมฉันไม่เคยเห็นมาแต่ก่อน แต่หมอของเราเดี๋ยวนี้วิชาความรู้ดีขึ้นมาก สังเกตตามที่ตรัสเล่ามาเชื่อว่าเขาคงรักษาหายได้ในไม่ช้า อาการหญิงกุมารีที่ว่ามีไฝขึ้นมากนั้น จะเป็นอย่างเขาเรียกกันแต่ก่อนว่า “ขี้แมลงวัน” ดอกกระมัง ขึ้นแล้วก็หาย หายแล้วก็ขึ้น หม่อมฉันมีอาการทำนองนั้นประจำตัวอยู่ แต่มิใช่อย่างขี้แมลงวัน แรกเป็นขึ้นเมื่ออายุ ๖๐ เศษ มีอาการเป็นปานดำโผล่ขึ้นที่แก้มข้างขวาสักเท่าเล็บมือนิ้วก้อย บางทีท่านจะได้ทรงสังเกตเมื่อเป็นอภิรัฐมนตรีอยู่ด้วยกัน ไม่รู้สึกรำคาญอย่างใด หม่อมฉันก็นิ่งอยู่ เป็นอยู่กว่าปีปานนั้นนูนขึ้นมาหน่อยหนึ่งแล้วลอกหายไป สีหนังกลับเป็นอย่างเดิมเมื่อหม่อมฉันไปยุโรป ต่อมาเมื่ออายุถึง ๗๐ ปีกลับมีปานขึ้นอีก คราวนี้ขึ้นแผ่นเล็กๆ แต่ขึ้นหลายแผ่นรายไปตามหน้า ขึ้นอยู่นานเข้านูนขึ้นมาแล้วลอกหายไป แต่ก็ขึ้นใหม่ที่อื่นอีกยังเป็นอย่างนั้น หม่อมฉันรู้สึกว่าเป็นอาการที่เขาเรียกว่า “ตกกระ” นั่นเอง ได้เคยเห็นสมเด็จเจ้าพระยาฯ กับเจ้าพระยาวิเชียรคิรี (เม่น) หน้าตกกระเช่นนี้มาแต่ก่อนแต่จะเป็นด้วยเหตุใดหารู้ตามตำรับตำราไม่ เคยได้ยินแต่เขาพูดกันว่า “แก่จนตกกระ” มาได้แก่ตัวเองก็ประหลาดอยู่

ถึงเวลาเที่ยงวันอังคารแล้ว ต้องหยุดเขียนจดหมายฉบับนี้เพียงเท่านี้ที.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ