วันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

เมื่อวันจันทร์ เมษายน วันที่ ๗ เวลาค่ำ ได้รับลายพระหัตถ์เวรซึ่งลงวันที่ ๓๐ มีนาคม ปะปิดสองด้าน จะกราบทูลสนองความต่อไปนี้

สนองลายพระหัตถ์

๑) พระพุทธรูปปางเทศนาธรรมจักรองค์ที่สลักศิลา นึกว่าฝ่าพระบาททรงนำเอาเข้ามา เพิ่งทราบตามพระดำรัสในครั้งนี้ว่าหาใช่ไม่ พระพุทธรูปพม่า ๒ องค์ซึ่งตั้งไว้ที่พระระเบียงวัดเบญจมบพิตรก็ได้เห็น แต่ไม่ทราบว่ามาแต่ไหน และเกี่ยวข้องกับพุทธรูปปางเทศนาธรรมจักรนั้น เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้าที่ตรัสบอกให้ทราบเรื่อง

ที่ทำรูปธรรมจักรเป็นล้อรถนั้นก็ได้ทำตามเขาไป แต่มาคิดเห็นในบัดนี้ว่าหาถูกไม่ เพราะไปเอาอย่างแบบพระเจ้าจักรพรรดิอันมีชัยด้วยล้อรถมา จะถูกที่ไหน ธรรมจักร หมายความว่าขอบเขตที่ถือธรรม (ของพระพุทธเจ้า) ควรจะเป็นเธาะขัดสมาธิ อันหมายว่าธรรม (ไม่ต้องมีหางเป็นโคมูตร) อยู่ในวงกลมจึ่งจะควร

๒) ฝาลองประกอบโกศมี ๓ อย่างนั้นก็ทราบอยู่แล้ว และพระดำรัสที่ว่าเป็นแบบมาแล้วแต่กรุงเก่านั้นก็ไม่เถียง แต่เมื่อคิดว่าอะไรจะมาแต่อะไร และอะไรจะมาก่อนมาหลัง นั่นและทำให้หัวหมุน อย่างยอดปริกอาจมาก่อนก็ได้ เพราะเป็นอย่างเดียวกันกับยอดโกศทั้งหลาย ทรงมงกุฎอาจต่อจากทรงปริกก็ได้ หรือจะแปลงจากทรงมณฑปก็ได้ ฝาทรงมณฑปก็รู้ไม่ได้ว่ามาแต่อะไร แม้กระทั่งโกศเองก็ไม่ทราบว่ามาแต่อะไร มาแต่แต่งศพนั่งทางหนึ่งนั้นเป็นแน่ แต่การแต่งศพนั่งเราไปเอาอย่างใครมา ได้เคยกราบทูลถามถึงศพเจ้าลาวก็ได้ความว่าเขาแต่งใส่หีบ ในการใส่โกศได้พิจารณากรุงเก่าซึ่งเป็นต้นแบบอย่าง ก็พบพระนามพระเจ้าบรมโกศอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นแน่ว่าแต่งพระศพลงพระโกศจนเป็นอย่างมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ พระเจ้าแผ่นดินซึ่งล่วงลับไปแล้ว เรียกกันว่า “ในพระโกศ” เกือบสิ้น ต่อจากนั้นขึ้นไปก็มีศพโกศในแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ โดยก็ปรากฏในหนังสือ “สมเด็จพระบรมศพ” สูงขึ้นไปอีกไม่พบ หรือพบก็เชื่อไม่ได้

๓) ออกสนามใหญ่ในกฎมนเทียรบาล มีอภิรุม ๒ ชั้น เป็นชั้นคู่ ฟังแปลกพิลึก แต่ก็มีอยู่เท่านั้น ถ้าจะถือเอาว่าชั้นฉัตรเป็นยศที่ลดลงเสียก็มี เช่นเศวตฉัตรพระคชาธาร วังหลวง ๗ ชั้น วังหน้า ๕ ชั้น

๔) “กฎีจีน” นั้น “หูผึ่ง” ไม่เคยรับไม่เคยรู้ “กฎีเจ้าเซ็น” มีเป็นอย่างอยู่ค้านไม่ได้ เป็นสภาพชนิดเดียวกัน ดีมากที่ทำให้เกิดความรู้แน่ขึ้นได้

๕) พานทองขาว ถึงแม้ได้เห็นแต่เมื่อแรกเข้าอยู่ที่ตำหนักก็ไม่ได้สังเกต ต่อเมื่อได้ฟังตรัสเล่าประวัติจึ่งได้สังเกตเห็นเป็น ๒ ใบ ใบหนึ่งเป็นแปดเหลี่ยม ฝีมือทำไม่สู้เรียบร้อยนัก แต่รูปร่างสมบูรณ์ อีกใบหนึ่งเป็นกลม ตัวปรุตีนปรุเป็นทีว่ากลีบบัว ฝีมือทำเรียบร้อย แต่รูปร่างไม่สมบูรณ์ คาดว่าใบที่กล่าวก่อนทำในเมืองนี้ ใบที่กล่าวทีหลังทำมาแต่เมืองจีน เข้าใจว่าใบที่ตรัสเล่าประวัติเป็นใบกล่าวก่อน ขนาดติดจะย่อมสักหน่อย แต่รู้สึกว่าใช้เป็นพานพระศรีได้ไม่ขัดข้อง

อันชื่อว่าทองนึกได้ ๕ อย่าง คือ (๑) ทองดำ (๒) ทองแดง (๓) ทองเหลือง (๔) ทองขาว (๕) ทองคำ อันทองดำนั้นเวลานี้ทีจะได้แก่ทองสัมฤทธิ์ แต่ต้องดำเป็นหมึกทีเดียว สังเกตคำโบราณกล่าวถึงหล่อรูปอันใด ก็ว่าหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ แต่เมื่อได้เห็นรูปนั้นก็หาดำเป็นหมึกไม่ จึงได้สอบพจนานุกรมสังสกฤตเขาเขียน “สัมฤต” แปลให้ไว้ว่าทองผสม ก็ได้ความพอใจที่ต้องกับคำโบราณนั้น ที่ทองสัมฤทธิ์ดำเป็นหมึกเคยได้เห็นตำราทำ ดูอย่างหยาบๆ เป็นว่าย้อมด้วยถ่านใบบัวบกทองแดง คือ ทองที่มีสีแดง โบราณเรียกว่านากก็มี นากเจือทองเห็นจะเป็นวิธีใหม่ โดยประสงค์จะไม่ให้สีหมองต้องขัดบ่อยๆ เป็นทางที่พวกเล่นแปรธาตุเขาหัวเราะกันด้วย ถ้าใครทำนากต้องเจือทองมากก็ถูกหัวเราะ เขาว่าไม่จำเป็น ทำไม่เป็น ทองเหลืองนั้นเป็นสีเหลือง เขาว่าใหม่เหมือนกัน เขาว่าทองแดงผสมตะกั่ว ทองขาวนั้นเป็นสีนวล ผสมอะไรไม่ทราบ เข้าใจว่ามาทางจีน ถ้าจะว่าไปทั้ง ๕ อย่างก็รวมลงเป็น ๒ อย่างเท่านั้น คือทองผสมกับไม่ได้ผสม เครื่องกินนากในวันอุโบสถ เห็นจะทำด้วยทองแดงกันมาก่อนทองขาว เพราะไม่ต้องผสม เครื่องยศทองขาวของเสด็จอุปัชฌาย์นั้นไม่เคยเห็น แต่อย่างไรก็ดีที่ทำเครื่องกินวันอุโบสถเป็นเครื่องทองแดงทองขาวนั้นเกินไป อุโบสถศีลมีองค์ “ชาตรูป” อยู่ในนั้นเมื่อไร ถึงจะคงกินเครื่องทองอยู่ก็กินได้ ยักย้ายไปให้เก๋ไม่ใช่สิ่งที่เป็นทองอย่างพระเณรบ้างเท่านั้นเอง

๖) ชั้นเชิงอโปลโล เคยได้ยินตรัสบอกนานแล้ว ว่าเป็นของเจ้าพระยาภาณุวงศ์ (ท้วม) แต่ไม่ได้ตรัสบอกรายละเอียด เพิ่งได้ทราบเรื่องละเอียดที่ตรัสเล่าคราวนี้เอง แม้เมื่อมาอยู่ที่ตำหนักคราวนี้ก็เห็นตำตาอยู่ แต่ไม่ได้ใฝ่ใจดู การใฝ่ใจดูจะว่าเพราะเหตุใดก็ยังคิดเห็นไปไม่ตลอด ลางอย่างเมื่อได้ทราบประวัติก็ทำให้ใฝ่ใจดู ลางอย่างแม้ได้ทราบประวัติก็เฉยๆ ตกเป็น “รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม” การรอบรู้แม้ชายดิศซึ่งเป็นผู้รักษาอยู่เอง เธอก็ไม่รู้พอที่จะบอกอะไรได้ไปทุกอย่าง

๗) ที่ตำหนักนั้นมีหนังสือกับรูปฉายเป็นมากที่สุด รูปฉายแผ่นหนึ่งเจ็บปวดมาก เป็นรูปครั้งกระโน้น ใครต่อใครในนั้นยังเป็นสาวๆ เด็กๆ กันอยู่ทั้งนั้น มีรูปหญิงพูนกับหญิงเหลือยังหัวจุกอยู่ แต่ก็ดูจำได้ มีรูปคนหนึ่งเป็นหญิงรุ่นกะเตาะแล้วจำไม่ได้ ถามชายดิศเธอบอกว่าหญิงเล็ก (ถวิลวิถาร) อนิจจา จำไม่ได้เลย

ข่าว

๘) แม่เขียน (คุณย่าสกุลวรวรรณ) ตายแล้วเมื่อวานนี้ อาบน้ำศพวันนี้ที่เรือนหมู่แถววังพระนางลักษมี เกล้ากระหม่อมได้ไปเห็นเจ้าจอมมารดารัชกาลที่ ๔ คนที่สุด เขาลงในใบดำว่าอายุ ๙๘

๙) กับวันนี้ได้รับลายพระหัตถ์เวร ลงวันที่ ๖ เมษายน จะกราบทูลสนองความได้ต่อหนังสือเวรคราวหน้า

บรรเลง

๑๐) เรื่องบรรเลงจะต้องเป็นเรื่องเหลวสำหรับทรงพระสรวลเล่นเท่านั้นเรื่องหนึ่งชายใหม่เก็บมาเล่า ว่าป้าของแม่มาเด็ดเอาดอกบุนนากของฝ่าพระบาทไปบูชาพระ ครั้นฝ่าพระบาทตรัสห้ามไม่ให้ใครเด็ดดอกไม้ไปจากต้น แกก็เอาธูปเทียนจุดมาปักที่โคนต้น ถือเอาดอกไม้บนต้นผสมเป็นเครื่องบูชาพระ ฝ่าพระบาทตรัสว่าเกณฑ์ให้พระเจ้ารับของโจร เกล้ากระหม่อมเห็นขันและเห็นถูกที่สุด เป็นไปเสียตั้งแต่เด็ดดอกไม้ซึ่งไม่ใช่ของๆ ตนไปบูชาพระนั้นเสียแล้ว

๑๑) มีคนอธิษฐานเอาสัตว์ประจำปีไปเป็นตราประจำตัวแห่งตน แล้วก็มีคนออกปากทักว่าใช้ไม่ได้ เห็นใช้ไม่ได้จริง คนเกิดปีนั้นมีมากด้วยกัน

๑๒) ชอบกลที่สุดนั้นคือฤษี ไม่มีในบ้านในเมืองเราเลย เว้นแต่เราขึ้นใจอย่างเอก ขึ้นใจไปด้วยไม่รู้อะไรเลย อะไรก็ยกไว้ แต่ถ้าถึงเรื่องหมอๆ เข้าแล้วจะต้องเป็นฤษี จนทำให้สดุดใจต้องไปพลิกพจนานุกรมสังสกฤตสอบได้ความในนั้น ครูหมอเรียกว่า “ไวทฺยนาถ” คือองค์พระอิศวรนั่นเอง ถือใบอะไรลืมเสียแล้ว (ต้นตำราอยู่ที่บ้านปลายเนิน) สันนิษฐานว่าเป็นอย่างเดียวกันกับพระเจ้าถือผลสมอ ซึ่งเรียกว่า “ไภสชฺยคุรุ” หาใช่ฤษีสัพเพเหระไม่

กราบทูลถาม

๑๓) เมืองอ่างทองอยู่ที่ไหน พบแต่เมืองวิเศษไชยชาญ ทำไมจึ่งชื่อดั่งนั้น

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ