วันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

เรื่องไข้เมืองเพชรบูรณ

๑) เมืองเพชรบูรณ คิดว่าเดิมตั้งใจขนานนามเป็น “เพชรบูร” ไปใกล้กันเข้ากับ “เพชรบุรี” ซึ่งแปลว่า เมืองแข็ง (ดุจเพชร) เหมือนกัน จึ่งแก้เป็น “เพชรบูรณ แปลว่าเต็มไปด้วยเพชร ไม่ใช่ติ เพียงแต่แสดงความเห็นเท่านั้น กลับนึกชมเสียอีกว่าแก้ดี ไม่เสียรูปเดิม

ไข้นั้นไม่ประหลาดอะไร ที่ไหนๆ ก็มี ไม่จำเพาะแต่เพชรบูรณ คำว่า “ไข้” เดิมก็หมายว่าคนเจ็บโรคต่างๆ มีคำว่า “คนไข้” เป็นประธานอยู่ไม่ใช่ชื่อโรค ทีหลังจึงกลายเป็นชื่อโรค ทางที่กลายไปเห็นจะเป็นที่พูดกันว่า “ไข้ป่า” หมายความว่าเจ็บมาแต่ป่า ความเจ็บที่ได้มาแต่ป่าโดยมากก็มีอย่างเดียว คำว่า “ไข้” จึงกลายเป็นชื่อโรค สำเร็จเป็น “ไข้ป่า” “ไข้กำเดา” “ไข้หวัดลม” “ไข้จับ” “ไข้สั่น” “ไข้ซึม” เป็นอเนกนับ มีชื่อที่น่ากลัวอยู่ก็ที่เรียกว่า “ไข้พิษ” เพราะคนเจ็บตาย ได้เคยถามกรมหมื่นมหิศรว่าไข้พิษมีลักษณะเป็นอย่างไร เธอบอกว่าคนเจ็บตายนั่นแหละเรียกว่าไข้พิษ ก็เป็นคำตอบอย่างเอากำปั่นทุบดิน เล่นเอาสิ้นพูด หมอสมัยใหม่เขาเรียกไข้อย่างตายว่า “ไข้มลาเรีย” อย่างตัวร้อนเท่านั้นจะเรียกว่า “ไข้” แต่ไม่มีคำ “มลาเรีย” ต่อท้ายกระมัง คำอธิบายเหตุในการที่เป็นไข้มลาเรียก็ติดจะฟังยาก นัยหนึ่งว่าเป็นด้วยยุงกัดการกำจัดไข้จึงต้องปราบยุง ดูว่าเป็นมลาเรียเกิดในตัวยุง นัยหนึ่งอธิบายว่าเพราะยุงไปกัดคนเป็นไข้แล้วมากัดคนที่ไม่เป็นไข้ทำให้เป็นไข้ด้วยเท่ากับปลูกฝี ถ้าเช่นนั้นยุงก็เป็นแต่สื่อ จะป้องกันคนเป็นไข้ไม่ให้ยุงกัดก็ได้ ผู้รู้ลางคนว่ามลาเรียเกิดในป่าที่ครึ้ม ถ้าเช่นนั้นยุงก็ไปกินอะไรในป่าเอามลาเรียติดมา ยุงที่ไม่เคยออกไปป่าจะเอามลาเรียมาให้คนหาได้ไม่ นี่จะโปรดว่าอย่างไรกัน ชาวโคราชลางคนเขาถือว่าไฟดี เพราะปกติคนคุมต่างซึ่งเดินผ่านดงพญาไฟอยู่เสมอไม่เป็นไข้เลย ด้วยปกติของเขาพอหยุดพักก็สุมไฟ นอนข้างกองไฟ ผ้าผ่อนอะไรซึ่งครองเดินทางมาก็ผลัดเอาย่างไฟ ผู้พูดเข้าใจว่าไฟเผามลาเรียไปหมด ข้อนี้ไม่มีทางจะคัดค้าน

ตามที่ตรัสถึงพระยาเพชรรัตน (เฟื่อง) ว่าผิวเหลือง ดูประหนึ่งจะมีมลาเรียเต็มไปในเลือดนั้น ทำให้นึกถึงฝรั่งเขาเล่าถึงทหารในกองรบว่ากองที่เจ็บเป็นโรคไตฟอยตายกัน เอาคนที่เหลือมาผสมกับกองที่ไปเจ็บก็พาให้เจ็บให้ตายไป แปลว่าคนที่เหลือนั้นมีเชื้อไตฟอยเต็มอยู่ในเลือด เหมือนพระยาเพชรรัตนมีเชื้อมลาเรียเต็มอยู่ในเลือดฉะนั้น เว้นแต่ไม่มีอันเป็นอย่างไรไป

คนบ้านนอกในเมืองไกลย่อมหย่อนความรู้เป็นธรรมดา เคยได้ยินกรมหลวงประจักษ์ตรัสเล่าถึงชาวหนองคาย ว่าชำระความง่ายที่สุด การเป็นอย่างไรก็ให้การอย่างนั้น ไม่มีลับลมคมในเลย เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ย่อมเห็นได้ว่าเพราะหย่อนการร่ำเรียนที่จะพึงรู้การแก้ตัว แล้วจะหาคนพื้นเมืองที่เรียนรู้แบบแผนทางชั้นในทำการอย่างไรได้

เรื่องของถูกนั้นก็มาเข้ารูปกับเรื่องเด็กที่บ้าน มันเคยไปเที่ยวทางเมืองสุรินทร์ สังขะ มันไปพบมะพร้าวราคาถูกจนมันคิดจะเอามาขายกรุงเทพฯ แต่เมื่อคิดเอาค่าบรรทุกเกวียนและรถไฟเข้าบวกก็เป็นราคาสูงกว่าที่ขายกันในกรุงเทพฯ เสียอีก ต้องเลิกคิด

เรื่องพื้นที่ปลูกยาเมืองเพชรบูรณมีกำหนดปี ทำให้นึกถึงพระยารัษฎา (ซิมบี้) แกฉุนอ้ายพวกทำไร่ตัดต้นไม้ใหญ่ลง ทำปีสองปีแล้วก็ทิ้งเป็นป่าหญ้าคาเพราะดินจืด แกคิดจะห้าม แต่ปลัดเขาคัดค้านว่าห้ามมันก็ทำไม่ได้ คนมันมิไปเสียจากบ้านเมืองหรือ แกว่าไปเสียก็ดี จะได้ไม่ทำให้พื้นที่ในบ้านเมืองเสียไป

การสร้างเมืองเอาแม่น้ำไว้กลาง เห็นจะเป็นประเพณีที่ชอบทำกันมาคราวหนึ่ง การทำเขตเมืองด้วยเอาไม้ปักถมดินเป็นแน่ว่าเก่ากว่าก่อกำแพง นี่ว่าสำหรับเมืองเรา

อ่านพระดำริเล่าถึงเรือมอบรรทุกสินค้าเมืองเพชรบูรณลงไปขายภาคใต้ ทำให้นึกถึงครั้งขึ้นไปหัวเมืองเหนือ คิดถึงพวกพ้องทางกรุงเทพฯ จะหาอะไรไปฝากก็คิดว่าน้ำผึ้งขี้ผึ้งจะเป็นดีกว่าอื่น เพราะเป็นของเมืองเหนือ แต่จะหาตามชาวป่าก็ไม่ได้ ว่าหาได้ก็เอาไปขายพวกชาวเรือเสียหมดแล้ว ไปขอซื้อที่ชาวเรือเขาก็ไม่ยอมขาย เขาว่าจะทำให้สินค้าเรือเขาเบาไปเสียเที่ยว ตกลงหาน้ำผึ้งขี้ผึ้งไม่ได้

ชื่อเมือง “อภัยสาลี” ที่พระธุดงค์เรียก ให้นึกสะดุดใจว่าจะมาแต่อะไร คิดดูก็เห็นว่ามาแต่ “ไพสาลี” คือ “เวสาลี” มีมูลที่ชื่อนั้นเคยเป็นชื่อเมืองหากเรียกเคลื่อนไป

หลักเมืองที่ปลายเป็นหัวเห็ดนั้น คิดดูมูลจะมาแต่หลักไม้ปักตอกลงไปจนหัวเยินบาน

การขุดปริศนาคือหาทรัพย์แผ่นดินนั้นชอบกล จริงอยู่มีในกฎหมาย แต่ที่นั่นกล่าวเป็นว่าฝังไว้ในที่อื่นๆ โดยเหตุที่บ้านเมืองเสีย ไม่ได้กล่าวว่าฝังที่พระพุทธรูปและพระเจดีย์ แต่เห็นที่มีรอยขุด จะเป็นได้ลายแทงก็ดี หรือจะนึกเอาก็ดี เห็นขุดกันที่ฐานพระพุทธรูปและพระเจดีย์เป็นมาก ใครจะเป็นบ้าเอาเงินไปฝังไว้ที่พระพุทธรูป ที่พระเจดีย์นั้นเข้าทีที่เป็นที่เขาบรรจุ แต่ผู้ขุดจะต้องเสียใจ ที่ขุดได้ก็จะเป็นแต่พระพุทธรูปชำรุด ซึ่งบรรจุ “ปล่อยพระบาท” เท่านั้น แต่อาจกลับเอาเป็นเงินได้ด้วยเอาไปขายพวกเล่นของเก่า คิดดูก็เป็นน่าสังเวชที่สุด ผู้ที่ขุดนั้นคิดจะรวยด้วยไม่ต้องออกแรงมาก แต่คิดผิดอย่างยิ่ง ที่วัดกุฎีดาวเป็นแหล่งที่ไปขุดกันมาก ที่หลังโบสถ์ท่านทำไว้เป็นมุขโถง พื้นก็อิฐเป็นห้องๆ แล้วถมดินด้วยคิดกั้นไว้จะไม่ให้ดินที่ถมดันเอาฐานพัง แต่คนเข้าใจว่าที่ก่ออิฐเป็นห้องๆ นั้นเป็นตรุฝังเงิน ดินที่ถมไว้ในห้องก่ออิฐถูกขุดกลับเอาล่างเป็นบนไปทั้งนั้น แม้ไปทีไรก็จะได้พบเครื่องพลีเก่าบ้างใหม่บ้างอยู่เสมอ ยังไม่ทราบว่าเหตุใดวัดกุฎีดาวจึงเป็นแหล่งที่ไปขุด “ปริศนา” กันมากมาย

รายงาน

๒) มาค้างที่วังวรดิศได้รู้อะไรขึ้นหลายอย่าง เคยได้ยินตรัสว่าของอะไร ใครเขาให้ก็เอายัดใส่ตู้ไว้เป็นดี จะไม่หายไปเสีย ได้ฟังตรัสก็ชอบใจได้เก็บของเข้าตู้ไว้อย่างตรัส เว้นแต่เก็บจำเพาะของที่เป็นครุภัณฑ์ มาเห็นที่ตำหนัก ฝ่าพระบาททรงเก็บไว้ในตู้จนกระทั่งที่บรรจุบุหงาอย่างต่างๆ ตลอดไปถึงผ้าเช็ดหน้าซึ่งพับเป็นรูปสัตว์ อันเป็นของลหุภัณฑ์ ก็ให้นึกเสียใจว่าไม่ได้ทำเช่นที่ทรงกระทำ บรรดาสิ่งที่เป็นลหุภัณฑ์อันได้มาลูกหลานคนใดต้องการก็ให้ไปไม่ได้เก็บ ย่อมเป็นอันตรธานไปเสียไม่ดี

๓) พระพุทธรูปธิเบตมีที่วัง ฝ่าพระบาททรงใส่ไว้ในตู้ แต่เป็นคนละอย่างที่กราบทูล

๔) อีกอย่างหนึ่งได้ยินเสียงกลองละครชาตรี ทำให้เกิดการไต่สวนขึ้นว้าเขาตีทำไม ตีซ้อมหรืออะไร แต่ได้ความว่าเล่นจริงๆ เวลานี้ใครบนบานก็มาเล่นละครที่บ้านละคร จัดหัวหมูและอะไรต่ออะไรให้เสร็จ ผู้บนก็เป็นแต่เสียเงินให้เท่านั้น ไปเข้ารูปการเผาศพอย่างที่เคยกราบทูลมา อนึ่งฟังเสียงกลองละครชาตรีมีตีเชิด กราวใน เสมอ อย่างละครไทย เป็นอันเข้าใจด้วยญาณว่าเอาอย่างละครไทยไปเกือบสิ้นแล้ว ที่คงเป็นละครชาตรีอยู่เห็นจะน้อยนัก

๕) การปลูกตำหนัก เห็นได้ว่าทรงปลูกตามเนื้อที่ ไม่ใช่ปลูกตามทิศแท้ เข้ารูปที่เคยกราบทูลมาว่าควรทำเช่นนั้น

๖) ดูรูปที่เขียนถวายไว้เก่าๆ เห็นกระท่อมพราหมณ์ยอพระกลิ่นเขียนเป็นพื้นปูกระดาน ไม่สมควรอย่างยิ่ง จะไปเอากระดานมาแต่ไหน ควรเป็นพื้นฟากจึ่งจะถูก

๗) เห็นนกกระจอกชอบเข้ามาที่เฉลียงตำหนัก เหมือนที่เรือนปลายเนินก็มีนกกระจอกเข้าไปที่เฉลียงเหมือนกัน จนต้องออกปากว่ามันเข้ามาทำไม แม่โตบอกว่ามันเข้ามาไข่ ไข่ไว้ในมู่ลี่ม้วน เวลาคลี่มูลี่ลงไข่ก็ตกลงมาจึงเข้าใจ ทั้งนี้ก็เหมือนกับเคยได้ยินคนพูดว่ามันเข้าไปไข่ไว้ในหมวกอันแขวนอยู่

บ่น

๘) อันความแก่นั้นเต็มที ต้องมีเครื่องอะไรประกอบร่างกายมาก เป็นต้นว่าจะเขียนหนังสือลืมแว่นตาก็เขียนไม่ได้ ต้องไปเอาแว่นตาเสียเวลามาก

ลายพระหัตถ์

๙) ถายพระหัตถ์เวรปะปิด ลงวันที่ ๑๔ มกราคม เขานำไปส่งแล้ว เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ได้ทราบความในลายพระหัตถ์ฉบับนั้นว่าหนังสือเวรไม่มาถึงพระหัตถ์ฉบับหนึ่ง จะคัดสำเนาถวายมาคราวนี้ก็ไม่ทัน จึ่งจะคัดส่งมาถวายทีหน้า บัดนี้จะได้กราบทูลสนองความลางข้อตามที่มีในลายพระหัตถ์ ซึ่งได้รับนั้นต่อไป

๑๐) เรื่องสวดมนต์ในการพิธีโสกันต์แห่นอก เมื่อรัชกาลที่ ๔ เคยได้ยินจนกระทั่งว่าพระสวดมนต์หากไม่จบจนจวนมืด ก็เยี่ยมพระบัญชรตรัสสั่งให้ปี่พาทย์ประโคม มิได้ทรงเอื้อเฟื้อแก่การสวดมนต์

๑๑) จุลราชปริตรและมหาราชปริตร เข้าใจว่าลังกาปรุง

๑๒) การแต่งธัมมะเป็นคาถา เป็นแน่ว่าเพื่อจำง่ายเพราะเป็นกลอน คาดว่าจะเป็นมานานแล้ว แม้สังคายนาก็จะเก็บเอาธัมมะจากคาถานั่นเอง

๑๓) ไปเมืองมัณฑะเล ไปดูวัด “อินคอมแปเรเบอล” แวะไปหาสมภาร ท่านถามว่า “พระเจ้าปราสาททองทรงสบายอยู่หรือ” ข้อนี้ทำให้เกิดความเข้าใจขึ้น ว่าพม่าเรียกพระเจ้าแผ่นดินไทยว่า “พระเจ้าปราสาททอง” ทั่วกัน ก็อย่างเดียวกับที่เรียกว่า “เจ้าหอคำ” ฉะนั้น

๑๔) เรื่องชื่อ “เมืองฉะเชิงเทรา” ไม่ใช่กราบทูลวินิจฉัย เป็นกราบทูลเปรียบเทียบเท่านั้น ที่จริงนึกแปลยังไม่ออก

๑๕) เรื่องปราสาทหินทราย ปราสาทหินแลง และปราสาทอิฐ ได้กราบทูลแล้วว่าอะไรจะก่อนหลังยืนยันไม่ได้ เพราะเห็นน้อยนัก เท่าที่กราบทูลว่าเพราะเหตุไรก็เป็นแต่เขาว่า อาจผิดได้ถูกได้ ที่คิดเห็นก็แต่อย่างเดียว คือปราสาทหินแลงตั้งใจจะเอาอย่างปราสาทหินทราย หากหาหินทรายไม่ได้อย่างหนึ่ง หรือกำลังมีน้อยอีกอย่างหนึ่ง

ปราสาทอิฐ เดิมคิดว่าเขาจะก่ออิฐดิบเผากับที่เมื่อก่อแล้ว แต่ผู้รู้ทางฝรั่งเศสเขาว่าเป็นไปไม่ได้ ถ้าเช่นนั้นอิฐจะไม่สุกแดงเสมอกันหมด ได้เถียงเขาว่าก็ไม่เห็นมีสอ เขายืนยันว่ามี จึงได้ไปคัดอิฐปราสาทที่พังแล้วดูก็พบว่ามีจริง แต่สอที่ก่อนั้นบางมาก ทั้งผสมสีสอให้เหมือนกับอิฐทั้งกวดให้เรียบเสมออิฐด้วย ข้อที่ทับกันสนิทนั้น ได้สงสัยมาแต่ปราสาทหินทรายแล้ว สนิทจนมดก็ลอดเข้าไปไม่ได้ จะว่าเพราะแต่งหน้าไว้เรียบก็ไม่ใช่ ถ้าเช่นนั้นจะต้องมีแต่ที่เป็นแนวตรง แต่ที่ก่อไว้นั้นหินหยักหลั่นดุจขั้นกระไดก็มี แต่ประกบกันสนิททุกด้าน ได้โจษถามขึ้นในข้อนี้ พวกผู้รู้ทางฝรั่งเศสเขาบอกให้ไปดูรูปจำหลักแห่งหนึ่งที่ปราสาทบายน ไปดูก็พบมีแต่เอาหินหน้าเหลี่ยมบรรทุกตะเฆ่มา แล้วมีปั้นจั่นชักขึ้นก่อ ส่วนเรื่องทับกันสนิทนั้นหามีปรากฏอย่างใดที่รูปไม่ ก็เป็นอันจนอยู่ยังรู้ไม่ได้

๑๖) คนที่ชื่อ หนู น้อย นุ้ย ฉิม อะไรเหล่านั้น เป็นคำของผู้ใหญ่เรียกถูกแล้วตามพระดำรัส ที่เติม ใหญ่ กลาง เล็กเข้าเป็นของคนอื่นเติม เพื่อให้รู้ว่าคนไร แต่อย่างไรก็ดี มีคราวหนึ่งที่เรียกลูกว่า “ฉิม” เป็นแฟแช่นกันคราวหนึ่งแน่

๑๗) หญิงน้อยไม่น่าจะหิวจนถึงร้องไห้ ไม่จำจะต้องไปถึงรถเสบียง บ๋อยเขาเดินผ่านไปมาอยู่เสมอ บอกให้เขาเอามาให้กิน สิ่งไรก็ได้ และที่ไหนก็ได้ นี่ว่าตามเคยอย่างแต่ก่อน เดี๋ยวนี้จะกวดขันกันขึ้นอย่างไรไม่ทราบ

๑๘) เรื่องปู่ย่าตายายนั้นชอบกล ทำไมจึงเรียกคนแก่แต่ว่าตายายไม่เรียกปู่ย่า น่าพิศวงอยู่ คำที่เรียกกันว่า ตา ยาย พ่อ แม่ อ้าย อี่ เดิมทีเป็นคำยกย่อง ว่าเป็นตาเป็นยาย เป็นพ่อเป็นแม่ เป็นพี่ชายพี่หญิง แต่แล้วมากลายเป็นหยาบช้าไป อ้ายอี่ไปก่อน เดี๋ยวนี้ ตา ยาย ก็จะเป็นไปเช่นเดียวกัน คงเหลือใช้ได้แต่ พ่อ แม่

หญิงปลื้มจิตรแกเรียกยายพุ่มคนที่เลี้ยงเกล้ากระหม่อมมาว่า “ยายเชียด” เพราะยายเรียกว่า “น้า” ตัวของยายเองแกเรียกว่า “คุณชวด” แล้วต่อขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งแกไม่มีคำอะไรจะเรียก แกก็ตอกเข้าให้ว่า “ยายเชียด” กรมขุนพิทยลาภทรงได้ยินโปรดเสียนี่กระไรเลย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ