วันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔

ทูลสมเด็จกรมพระนริศ ฯ

สัปดาหะนี้เขาเอาจดหมายลูกหลานกับหนังสือพิมพ์มาส่งแต่วันศุกร์ แต่ลายพระหัตถ์เวรจนวันอาทิตย์แล้วก็ยังหาเอามาส่งไม่ จะต้องเขียนทูลเรื่องทางนี้ก่อน

๑) หญิงจงบอกว่าท่านเสด็จกลับไปประทับที่ตำหนักปลายเนินแล้ว หม่อมฉันทูลขอให้ทรงถือว่าวังวรดิศเป็นที่สำหรับเสด็จแปรสถาน จะมาประทับเมื่อใดก็ได้เสมอเป็นนิจ ถ้าเสด็จมาเมื่อใดก็จะมีความยินดีแก่พวกหม่อมฉันทั้งครัวเรือน

๒) ได้ทราบว่าเขาปลงศพคุณเขียนที่เตาวัดไตรมิตรตามอย่างแบบใหม่ คิดดูหม่อมฉันก็ไม่ติเตียน เพราะคัดความลำบากได้มาก ถึงจะมีใครบ่นว่ากระไรหน่อยหนึ่งก็ลืมหมด

๓) มีอธิบายของที่วังวรดิศเตรียมไว้ว่าจะทูลยังค้างอยู่เรื่อง ๑ ถึงเสด็จกลับไปแล้วก็คงจะยังทรงจำได้ ว่ามีต้นชมพู่สำลีต้น ๑ อยู่ระหว่างตำหนักใหญ่กับเรือนพิศมัย ชมพู่ต้นนั้นมีเรื่องมาดังนี้ เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคตแล้วไม่ช้า วันหนึ่งคุณหญิงพุ่มเพชดาฯ ซึ่งเป็นมารดาพระยาไกร (ทัด) พระยาอนุชิต (สาย) และพระยาสิงหเสนี (สอาด) มาหาแม่เอาลูกชมพู่สำลีนั้นมาด้วยกระทง ๑ บอกว่าเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงยังเสด็จอยู่ เวลาชมพู่สำลีที่บ้านออกลูกได้เคยนำเข้าไปถวายเสมอทุกปี ชมพู่ออกลูกปีนั้นคิดถึงสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงแบ่งชมพู่ถวายเจ้านาย มีสมเด็จพระราชปิตุลาเป็นต้น และให้หม่อมฉันด้วยส่วนหนึ่ง ให้เสวยแทนสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง แม่เรียกหม่อมฉันไปรับและขอบใจคุณหญิงนุ่ม แต่นั้นมาถึงฤดูชมพู่สำลีต้นนั้นออกลูก คุณหญิงนุ่มก็เอามาเองหรือให้คนเอามาให้กระทง ๑ เสมอทุกปี ครั้นคุณหญิงนุ่มถึงอนิจกรรม พระยาอนุชิตได้รับมรดกบ้านเรือน รู้เรื่องเดิม พอชมพู่สำลีออกลูก คุณหญิงเชยอนุชิตก็ส่งลูกชมพู่มาให้ต่อมาทุกปีจนตลอดอายุคุณหญิงเชย เมื่อคุณหญิงเชยถึงอนิจกรรม วันหนึ่งหม่อมฉันไปเยี่ยมศพ พระยาอนุชิตฯ บอกว่าคุณหญิงเชยเคยปรารภว่าชมพู่สำลีต้นเดิมนั้นแก่มากแล้ว จึงเอาเมล็ดเพาะไว้สืบพันธุ์แตกใบแล้วหลายต้น ขอให้หม่อมฉันรับไว้เป็นมรดกของคุณหญิงเชยต้น ๑ แล้วแกหิ้วหม้อที่ปลูกต้นชมพู่นั้นเองมาส่งให้ถึงรถ เวลานั้นหม่อมฉันแรกไปอยู่วังวรดิศ เห็นว่าเป็นชมพู่มีเรื่องจึงปลูกไว้ใกล้ๆ ตำหนักใหญ่ ก็เติบโตแตกเรือนงามน่าชม แต่ต้องคอยมากกว่า ๑๐ ปี จึงเริ่มออกลูก หม่อมฉันก็ตั้งธรรมเนียมอนุโลมตามเรื่องประวัติเดิมของชมพู่นั้น ให้เอาลูกที่ออกต้นฤดูไปถวายพระอุทิศกุศล ให้คุณหญิงนุ่มพระยาอนุชิตและคุณหญิงเชยก่อนแล้วจึงบริโภคเองเสมอทุกปี

๔) ต่อจากเรื่องโยคีที่หม่อมฉันทูลไปในจดหมายเวรฉบับก่อน หม่อมฉันคิดต่อมาเกิดฉงนว่าลักษณะ“บำเพ็ญโยคะ” ของโยคีกับ “บำเพ็ญตะบะ” ของดาบศผิดกันอย่างไร ยังค้นหาอธิบายให้พอใจไม่ได้

ค้นดูในบาลีพจนานุกรมของจิลเดอส์–ตะโป แปลว่าทรมานกาย Self Mortifications หรือสำรวมมั่นในศาสนกิจ Religious austerity Yoga แปลว่า วิธี Method pious ชวนให้เข้าใจว่า “ตะบะ” จะได้แก่วิธีสำรวมกาย “โยคะ” จะได้แก่วิธีสำรวมใจ

เหมือนอย่างโยคีที่สมาทานนั่งขัดสมาธิอยู่ที่เดียวแต่เช้าจนค่ำ บางคนเพิ่มกองไฟล้อมรอบตัว บางคนก็นั่งบนปลายตะปู อย่างนี้เป็นบำเพ็ญตะบะ การบริกรรมโน้มใจไปสู่พระเป็นเจ้าก็ดี หรือบำราบกิเลศก็ดี “เป็นการบำเพ็ญตะบะโยคะ

ถ้าว่าทางพระพุทธศาสนา การนั่งสมาธิเป็นตะบะ การที่ภาวนากรรมฐานเป็นโยคะ ผิดกันแต่ทางฝ่ายศาสนาพราหมณ์ถือว่ายิ่งบำเพ็ญด้วยทนความลำบากได้มากยิ่งดี แต่ฝ่ายพระพุทธศาสนาให้บำเพ็ญแต่พอสมควรแก่ธรรมดาของร่างกาย

แต่การบำเพ็ญตะบะแม้ของพวกพราหมณ์ ก็เห็นว่าไม่ได้นั่งกรึ้งอยู่ทีเดียวตั้งร้อยปีพันปีดังความที่กล่าวในหนังสือชวนให้เข้าใจ ในวันหนี่งคงนั่งมีกำหนดเวลา เพราะต้องเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อสริรกิจ และต้องหลับนอนผ่อนพักร่างกายให้มีเวลาพัก ทั้งต้องไปเที่ยวหาอาหาร และอาจจะบำเพ็ญแต่เป็นฤดู เช่นในเวลาพรรษาเป็นต้นด้วยซ้ำไป

หม่อมฉันเห็นตาโยคีนั่งที่มุขหน้าอาศรม ใจไปนึกถึงพระเวสสันดร เมื่อก่อนชูชกไปถึง พระมัสทรีไปป่า สองกุมารก็เที่ยววิ่งเล่นไปตามประสาเด็ก คงนั่งอยู่แต่องค์เดียวอย่างนั้น และอาจจะบำเพ็ญโยคะด้วย

๕) จดหมายฉบับนี้จะไปถึงพระหัตถ์ต่อภายหลังวันประสูติ หม่อมฉันจึงมีโทรเลขไปถวายพรต่างหาก เมื่อวันที่ ๒๘ เดิมหมายจะหาส้มจัฟฟาส่งไปถวายในงานวันประสูติ แต่เผอิญขาดตลาดไปเสียในเวลานี้ จนใจ

๖) หม่อมฉันเพิ่งได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๒ เมษายน เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๘ เวลาเที่ยง

สนองลายพระหัตถ์

๗) รูปภาพสมเด็จพระนารายณ์เสด็จออกรับราชทูตฝรั่งเศส หม่อมฉันก็ได้สังเกตว่าฝาท้องพระโรงดูเหมือนจะทำเป็นประดับแผ่นกระจกเงาน่าจะหมายว่าเสด็จออกในพระที่นั่งธัญมหาปราสาท อันหม่อมฉันอยากจะสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในคราวเดียวกันกับตึกรับแขกเมือง (ซึ่งเรียกว่าบ้านวิชาเยนทร์) เนื่องในการรับราชทูตฝรั่งเศสที่เมืองลพบุรี แต่แปลกใจอย่างหนึ่งที่ในรูปภาพนั้นทำพระรูปสมเด็จพระนารายณ์ทรงพระชฎาประทับที่พระบัญชร ๆ นั้นเขียนรูปเป็นอย่างหน้าต่างเกลี้ยงๆ ไม่มีซุ้มหรือลายประกอบอย่างใด แต่ที่จริงที่พระบัญชรนั้นยังมีรอยเจาะที่ฝาผนังเป็นรอยสังเกตได้ว่ามีบุษบกมาลาทำด้วยไม้ประกอบอยู่ข้างหน้าพระบัญชร เหมือนอย่างที่ทูลกระหม่อมทรงประดิษฐ์ขึ้นในมุขหลังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เชื่อว่าคงทรงถ่ายแบบมาจากรอยที่ปรากฏอยู่ ณ พระที่นั่งธัญมหาปราสาทนั้นเอง แต่ในรูปภาพของฝรั่งเศสไม่มีเค้าบุษบกมาลา กลับไปทำรูปเศวตฉัตร์ปักแต่พื้นขึ้นไปข้างหน้าพระบัญชรที่ตรงที่พระนารายณ์ประทับ คิดไม่เห็นว่าจะเป็นได้เช่นนั้น จึงสงสัยว่าช่างฝรั่งเศสผู้เขียนจะเขียนรูปภาพนั้นตามคำบอกเล่าของพวกทูตที่อาจจะลืม เลยพรรณนาไขว้ไปได้

แต่ประหลาดอยู่อย่างหนึ่งที่พระนารายณ์โปรดเสด็จออกขุนนางที่พระบัญชรเป็นนิจ ไม่แต่รับแขกเมืองเท่านั้น หม่อมฉันได้พิจารณาพระราชมนเทียรที่พระนารายณ์ทรงสร้างไว้ ณ เมืองลพบุรีหลายแห่ง คือพระที่นั่งจันทรพิศาล พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ พระที่นั่งธัญมหาปราสาท และพระตำหนักทะเลชุบศร มีที่เสด็จออก ณ พระบัญชรทุกแห่ง นอกจากพระที่นั่งธัญมหาปราสาทอันมีบุษบกมาลาแห่งเดียว แห่งอื่นพระองค์ประทับอยู่ห้องใน เผยพระบัญชรเยี่ยมออกรับแขกทั้งนั้น ประเพณีเสด็จออกที่พระบัญชรอย่างสมเด็จพระนารายณ์จะเป็นประเพณีมีมาแต่เดิมหรืออย่างไร ไม่มีราชมนเทียรในพระนครศรีอยุธยาที่เหลืออยู่อันจะพึงสอบได้ ที่ประหลาดใจนั้นเพราะมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ไม่มีพระราชมนเทียรองค์ใดทำที่เสด็จออก ณ พระบัญชรเลย เช่นมุขเด็จพระมหาปราสาทและในพระที่นั่งอมรินทร์ก็เปลี่ยนเป็นบุษบกมาลา ที่ประทับเวลาเสด็จออกว่าราชการในท้องพระโรง ก็เปลี่ยนเป็นประทับพระแท่นยาวเอนพระองค์ได้ อันน่าจะมาแต่แบบพระเจ้าบรมโกศเสด็จออกว่าราชการ ณ พระที่นั่งทรงปืนเมื่อชั้นหลัง การเสด็จออกพระบัญชรในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ปรากฏแต่เวลาจำเป็น เช่นว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพุทธยอดฟ้าฯ ทรงพระชราเสด็จออกที่พระบัญชรพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ถึงรัชกาลที่ ๔ ทูลกระหม่อมจึงทรงสร้างสีหบัญชรขึ้นในระหว่างพระที่นั่งไพศาลฯ กับหอพระธาตุมนเทียร ก็น่าจะทรงประดิษฐ์ขึ้นตามแบบสมเด็จพระนารายณ์ เพราะฉะนั้นจึงมีวินิจฉัยว่าเมื่อก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์ พระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกขุนนางอย่างไร และประเพณีเสด็จออกพระบัญชรอย่างสมเด็จพระนารายณ์มาเปลี่ยนแปลงเมื่อใด

๘) ลักษณะที่เกิดแร่ทองมี ๒ อย่างต่างกัน อย่างหนึ่งทองติดเป็นเทือกอยู่กับหิน เช่นที่บ่อทองที่เมืองวัฒนา ต้องเอาหินมาป่นแยกเอาเนื้อทอง อีกอย่างหนึ่งทองระคนอยู่กับดินเช่นที่บางตะพาน ขุดเอาดินที่มีทองขึ้นมาร่อนในน้ำให้ดินละลายไหลไป เหลืออยู่แต่ทอง ทองบางตะพานเป็นทองนพคุณ เนื้อสุกดีกว่าทองบ่ออื่นๆ ในเมืองไทยนี้ จึงขึ้นชื่อลือเลื่องมาก หม่อมฉันเคยเห็นทองบางตะพานขุดได้ก้อน ๑ มีแต่เนื้อทองบริสุทธิ์หนักถึง ๑๖ บาท พิจารณาดูเหมือนก้อนทองหลอม สมกับคำนักปราชญ์เขาว่า ไฟกลางโลกเผาธาตุทองละลายในใต้แผ่นดินแล้วพ่นขึ้นมา ที่ปนขึ้นมากับธาตุหินเมื่อแข็งแล้วก็กลายเป็นเทือกทองอยู่ในหิน ที่ขึ้นมาแต่ลำพังทองแข็งเข้าก็กลายเป็นก้อนทองจมอยู่ในแผ่นดินดังนี้

เขียนมาเพียงนี้ ถึงเวลาจวนเที่ยงในวันอังคาร ต้องหยุดให้หญิงพูนมีเวลาดีดพิมพ์ทันทิ้งไปรษณีย์ในวันนี้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ