วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์ ซึ่งลงวันที่ ๒๘ มกราคม แต่ลางข้อดั่งต่อไปนี้

สนองลายพระหัตถ์เก่า

๑) เป็นพระเดชพระคุณอย่างยิ่ง ที่ทรงพระเมตตาค้นหาเมืองหนองหมอน ตรัสบอกให้ทราบเกล้า ตาเจ้าเมืองแกคงถูกบ่าวยกย่องให้มียศสูง แล้วแกก็ละเมอตามไป ไม่ถือเอาทำเนียบ ที่แท้แกเห็นจะมีเชื้อเจ้า จึ่งรับความยกย่องเป็นเจ้าฟ้า

๒) เรื่องเจ้าฟ้าเชียงตุง ไม่ได้ทราบเรื่องทางฝ่าพระบาทเสียเลย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบเรื่องทางฝ่าพระบาทนั้น ไม่ประหลาดอะไร ลางทีจะตรัสเล่าเรื่องทางพระองค์ปนไปกับเรื่องทางฝ่าพระบาทควบกัน แต่เกล้ากระหม่อมฟังไม่สรรพจับเอามากระเดียดก็เป็นได้ ข้อความซึ่งกราบทูลมาถ้าข้อใดเคลื่อนคลาดไปแล้วขอประทานโทษ เพราะเป็นการนานมาแล้ว

๓) พระเจดีย์ หรือธาตุเจดีย์ หรือสถูป เป็นของมีมาแล้วแต่ก่อนพุทธกาล สิ่งสำคัญแห่งสถูปเจดีย์ก็ต้องมีต่อม คือกองดินซึ่งกลบฝังศพหรืออัฐิธาตุ เมื่อแพร่ไปถึงประเทศต่างๆ ก็ตกแต่งรูปไปต่างๆ อย่างพระดำรัสนั้นถูกแล้ว แต่หลักอยู่ที่พระเจดีย์แล้วต้องมีต่อม ที่เป็นซุ้มพระพุทธรูปนั้นคิดว่าเกิดขึ้นภายหลัง มาแต่ “ปฏิมาฆร” กับ “ถูป” ปนกัน

๔) ตรัสถึงเมืองมโนรมย์แคบเล็ก จำกัดอาณาเขตเพียงเท่าเสียงช้างร้อง จะอย่างไรก็ตามที แต่ใช่ว่าพระศรีสิทธิกรรมเจ้าเมือง จะมีชื่อพ้องกับครูคชศาสตร์ในทำเนียบกรมช้างอย่างเดียวเท่านั้นก็หามิได้ แม้ชื่อช้างเผือกพระอินทร์ไอยรา ก็มาพ้องกับพระอินทร์ไอยรา ชื่อช้างเผือกในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าเข้าด้วย เขตเมืองมโนรมย์ที่ว่ากว้างเท่าเสียงช้างร้องนั้นซึมซาบดี คติโบราณย่อมถือเอาเสียงมีแบบอยู่ เหมือนหนึ่งคาวุตหรือคาพยุตก็ถือเอาเสียงโคร้อง สี่คาวุตเป็นโยชน์หนึ่ง เสียงโคร้องสี่ต่อไม่ถึง ๔๐๐ เส้นเป็นแน่ ที่ว่าโยชน์หนึ่ง ๔๐๐ เส้นเห็นทีจะยาวเกินไป

๕) อ่านพระดำรัสเล่าถึงหิมาลัยถึงสโนนั้นแลไม่เห็น เป็นแต่ได้ยินเขาบอกเปรียบว่าสโนนั้นเหมือนกากมะพร้าว ดูรูปที่เขาเขียนสโนติดบนยอดไม้หรือหลังคา ก็ตัดสินไม่ได้ว่าดีไม่ดีเป็นประการใด เราแปลหิมะกันว่าน้ำค้างเข้าใจไม่ได้อย่างเอก ที่นายสมบุญเอาสโนใส่ขวดด้วยตั้งใจจะเอามาเมืองไทยนั้น ไม่สำเร็จเป็นแน่

๖) “บอกกล่าว” กับ “เล่าลือ” นั้นมีน้ำหนักผิดกันมากอย่างที่ตรัส ดีมากที่โปรดประทานมาพร้อมทั้งพระวินิจฉัย เป็นการเข้าระบอบกับความพิศวงหลงใหลของเกล้ากระหม่อมในการคิดถึงคำคู่ เราชอบใช้กันเสียจริง เป็นคู่อยู่หลายอย่าง ลางทีความหมายก็ซ้ำกัน ลางทีก็ต่างกัน ยังคิดไม่เห็นว่าทำไมจึ่งชอบใช้คำคู่ ภาษาต่างประเทศนั้นยกไว้ คำเข้าคู่เป็นภาษาไทยนั้นตั้งใจจะแปล แต่ที่เป็นภาษาไทยด้วยกันก็มี

๗) คำ “เก๋” ได้ทราบแต่ว่าเป็นภาษาฝรั่งมาแต่...... ส่วนมูลเหตุนั้นหาได้ทราบไม่ คิดดูเห็นว่าคำนั้นที่เคลื่อนคลาดจากฝรั่งไปมาก ย่อมจะเป็นไปสองทาง คือพูดฝรั่งเสียงสูง (อย่างกรมหลวงประจักษ์ทรงตั้ง) อย่างหนึ่ง กับ เหยียดเสียงเป็นฝรั่งเป็นเสียงไทย (....เป็น ก) อีกอย่างหนึ่ง กปิตันฉุนรับผิดชอบในเรื่องฝรั่งเสียงสูง แต่ทีเหยียดฝรั่งเป็นไทยเห็นจะเป็นคนอื่น เกิดแต่ผู้ไม่ได้เรียนภาษาฝรั่ง อย่างที่เราว่า “ลิ้นแข็ง”

๘) การแก้พระพุทธรูปเป็นเทวรูป และแก้เทวรูปเป็นพระพุทธรูปนั้นมีมากนัก พบทั้งในเมืองเขมรและเมืองเรา คงเกิดแต่เวลานั้นนับถือศาสนาอะไรกัน พระปางซึ่งตรัสอ้างถึงพระจำหลักศิลาในพิพิธภัณฑ์สถานนั้นได้เห็นแล้ว ด้วยอำนาจที่จับใจ เขาถอนถ่ายเป็นปูนขาวไว้มีจึ่งฉวยเอามา แต่บัดนี้อยู่ที่บ้านปลายเนิน จำไม่ได้ทั่วว่าเป็นปางใดบ้าง แต่แปดปางนั้นแน่ กลางเป็นพระพุทธรูปมารวิชัยองค์ใหญ่ถนัดแล้วมีอีก ๗ ปางล้อม จำได้แต่ว่ามีปางเข้านิพพานเป็นพระนอนอยู่ข้างบน ส่วนปางประสูติจำได้แต่มีพระพุทธมารดาโหนกิ่งไม้อยู่ ส่วนองค์พระสิทธารถอันเป็นหลักซึ่งควรจะจำได้แต่จำไม่ได้ ในการทำรูปพระพุทธเจ้าตอนยังไม่ได้ตรัสรู้ ถ้าไม่ร้อยตรองกับพระพุทธรูปแล้วออกจะเข้าใจยาก เหมือนหนึ่งปางประสูติซึ่งทำไว้ที่วิหารพระปฐมเจดีย์ คนก็เรียกกันว่าวิหารตุ๊กตา แต่ส่วนวิหารพระม้าที่นครศรีธรรมราชนั้นเข้าใจกันดีว่าคือพระพุทธเจ้า เห็นว่าเข้าใจด้วยรู้ซึมซาบเท่านั้นเอง

๙) การสวดถวายพระพร จะว่าสวดเจ็ดตำนานเป็นถวายพระพรเห็นจะไม่ได้ การถวายพระพรตกไปอยู่ที่จัดโต๊ะตั้งพระบรมรูป

๑๐) ชื่อเมืองบาจายที่เคยได้พบมา ไม่ได้คิดเลยว่าจะตรงกับเมืองเพชรบูรณ์

๑๑) ตามกำหนดจัดไข้เป็นสามชั้นตามพระดำรัสนั้น เห็นเป็นควรที่สุดแล้ว จะเป็นไข้ชนิดใดก็รวมอยู่ในสามอย่างนั้นได้ เช่นไข้ไตฟอยก็รวมอยู่ในไข้พิษนั้นเอง จะจำแนกเป็นชื่อต่างๆ ไปก็ไม่มีที่สุด เป็นเรื่องที่หมอเขาจะพึงรู้เป็นวิชาหมอต่างหาก

๑๒) พระดำรัสพรรณนาถึงเรื่องเรือมอ ทำให้นึกถึงเมืองพิจิตร (ใหม่) อยู่เรือกันทั้งนั้น เขาว่าที่สุดจนแต่งงานบ่าวสาวก็เรียกเอาเรือหอ ที่ไปจอดทำไร่ชั่วคราวอย่างที่ตรัสก็เคยเห็น นึกถึงที่ตรัสว่าเมืองพิจิตร (ใหม่) อาจเลิกได้ในชั่วโมงเดียวนั้นได้จริง เพราะถอยเรือไปเสียเมื่อไรก็ไม่มีเมืองเมื่อนั้น ที่เมืองพิจิตร (ใหม่) นั้นตะเข้ชุมอย่างแปลกประหลาด เมื่อเกล้ากระหม่อมขึ้นไปก่อนถึงเมืองพิจิตร ก็เห็นตะเข้ขึ้นลอยฟ่องอยู่ เล่นเอาหนาวไป เคยนั่งกินข้าวอยู่หน้าเก๋งเรือ กินอะไรมือเปื้อนก็ล้างในแม่น้ำ พอเห็นตะเข้ขึ้นลอยก็ไม่กล้าจุ่มมือลงในแม่น้ำกลัวตะเข้ฮุบ แต่ครั้นไปถึงเมืองพิจิตรก็ไม่เห็นชาวบ้านเขาอินังขังข้อ เด็กลงเล่นน้ำกันอยู่ฟากข้างโน้น ตะเข้ขึ้นอยู่ฟากข้างนี้เขาก็เฉยๆ ยังคนลงช้อนกุ้งกลางคืน ถามเขาว่าไม่กลัวตะเข้หรือเขาก็หัวเราะหึๆ เขาว่าเป็นด้วยทำเลที่นั้นมันหากินคล่อง เวลาน้ำมากก็เข้าไปหากินในหนองซึ่งอยู่ข้างใน เวลาน้ำน้อยก็ออกมาหากินในแม่น้ำ เล่ากันว่าขี่ม้าไปก็ถูกตะเข้กัด เพราะตะเข้มันบุกพงย้ายที่หากินนั่นเอง เมื่อไปประจวบกันเข้าตรงหนทางในเวลามืดๆ ม้าไปเหยียบมันเข้าจึงคลุกกัดเอาทั้งม้าทั้งคน

๑๓) เรื่องชุดกริสนาจะทรงแต่งเป็นนิทานโบราณคดีนั้นโมทนาสาธุด้วยพระดำริมาก จะต้องทรงทราบมากทีเดียว

สนองลายพระหัตถ์ใหม่

๑๔) ลายพระหัตถ์เวรฉบับใหม่ ซึ่งลงวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ คราวนี้ได้รับแต่วันเสาร์กุมภาพันธ์ วันที่ ๘ อันเป็นรถเมล์เข้าถึงกรุงเทพฯ นับว่าเร็วมาก ในเรื่องตัดตรวจ นึกว่าจะต้องเป็นสองรอย คือทางกรุงเทพฯ และทางปีนัง เพราะทางกรุงเทพ ฯ ก็มีกฎออกมานานแล้ว เงี่ยฟังพระดำรัสอยู่ก็เพิ่งตรัสบอกเข้าไปคราวนี้ ที่ปีนังเห็นจะไม่ได้เปิดตรวจ คงเชื่อทางกรุงเทพฯ ว่าได้เปิดตรวจแล้วไม่มีความแสลงอะไร ลายพระหัตถ์ซึ่งประทานเข้าคราวนี้ก็มีรอยปะปิดทางปีนังมีตราดวงกลมสีม่วงเป็นเลข ๗ ประทับเข้าไป

๑๕) ชื่อที่เรียก “ละครชาตรี” เห็นจะตั้งกันขึ้นในกรุงเทพฯ เป็นแน่ พวก “โนรา” นอกจากเล่นเรื่องแล้วก็มักเล่นแสดงวิชาควบเข้าด้วย มีการลุยไฟเป็นต้น เราจึ่งตื่นกัน เรียกชื่อละครพวกนั้นว่า “ละครชาตรี” หมายความว่าละครมีเวทมนต์ อย่างเดียวกับคำ “คงกะพันชาตรี” อันคำ “ชาตรี” นั้นองค์ธานีเอาหนังสือซึ่งสมาคมค้นวิชาประเทศไทย (สยามสมาคมเก่า) เขาวินิจฉัยไว้ แต่กราบทูลอะไรไม่ได้ เพราะยังไม่ได้อ่าน อยู่ที่บ้านปลายเนิน

เป็นพระเดชพระคุณที่ตรัสบอกให้ได้ทราบว่ากรมเกณฑ์บุญ คือพวกชาวละครซึ่งแต่ก่อนไม่ได้ทราบว่ากรมเกณฑ์บุญมาแต่ไหน

๑๖) ทาส ๗ อย่างตามกฎหมาย เมื่อลองคิดจัดทีก็จะเป็น ๔ อย่างเท่านั้นคือ ๑ ทาสสินไถ่เป็นอย่างหนึ่ง ถ้ามีเงินมาไถ่ก็หลุดจากเป็นทาสได้ ๒ ทาสช่วยพ้นจากอาญา ทาสรอดจากทุพภิกขภัย ทาสเชลย สามพวกนี้ถอนตัวไม่ออก ต้องคงเป็นทาสอยู่เสมอไป ๓ ลูกทาสเป็นอย่างหนึ่ง ย่อมจะหลุดได้และไม่ได้ตามพ่อ ๔ ทาสรับมรดก ทาสมีผู้ให้เป็นอย่างหนึ่ง เป็นแต่เป็นนายผู้รับต่อ ทาสจะหลุดไปได้หรือไม่ได้ก็แล้วแต่ฐานะของทาส

๑๗) เกล้ากระหม่อมออกจะเป็น “เอกษเปิด” ในเรื่องสมุดพระธรรมของเก่าด้วยเที่ยวไปดูวัดเก่าๆ ก็แสวงดูสมุดพระธรรมไปด้วย ถ้าพบที่ไหนพระท่านไม่ต้องการก็ขอเอามา ย่อมทรงทราบอยู่แล้วว่า ในสมุดเหล่านั้นมีรูปเขียนอยู่ด้วย เผอิญคราวหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยากทอดพระเนตรเห็นรูปเก่าๆ เหล่านั้น จึงส่งเข้าไปถวาย แล้วก็ไม่ได้พระราชทานคืนกลับออกมา ยังมีเหลืออยู่ในมืออีกเล่มเดียว เพราะรูปเขียนในนั้นล้วนแล้วไปแต่ด้วยต้นไม้ดอกไม้ไม่เข้าอย่างที่ต้องพระราชประสงค์ทอดพระเนตร

สมุดพระธรรมนั้นจัดได้ว่า ถ้าเป็นของเก่ามากแล้วมีขนาดแคบมาก เพราะเนื่องมาแต่คัมภีร์ใบลาน ถ้าใหม่ลงก็กว้างออก สมุดพระธรรมในห้องพระที่ตำหนักวังวรดิศนั้นยังไม่ได้เห็น เพราะเกล้ากระหม่อมสั่งให้เขาปิดห้องลั่นประแจไว้ กลัวจะมีนักเลงดีเข้าไปเต๋งเอาอะไรในนั้นไป เพราะเหตุดั่งนั้นตัวเองก็เลยไม่ได้เข้าไปค้นอะไรในนั้นดูด้วย เมื่อได้ทราบตามพระดำรัสนั้นแล้ว จะให้เขาไขประแจเข้าไปค้นดู

ตัวหนังสือซึ่งเขียนในสมุดพระธรรม เป็นอย่างเส้นเล็กปนเส้นใหญ่นั้น พิจารณาก็ไม่เห็นว่าผิดกันกับอย่างที่เขียนเส้นเล็กล้วนไปเลย แต่ดูงาม เกล้ากระหม่อมก็จำมาเขียนในลายบ้าง ทีหลังคุณชุมเถ้าแก่แกเคยเป็นเด็กเรียนเขียนหนังสืออย่างนั้นมาแต่รัชกาลที่ ๓ แกหลาวไม้ไผ่เป็นปากกาเขียนให้ดู จึงเข้าใจว่าใช้ปากกาอย่างไรเขียนอย่างไร ที่เขียนเส้นเล็กล้วนเอาอย่างหนังสือจารมา ถ้าว่าที่แท้แล้วเรียกอย่างเขียนเส้นหนาปนเส้นบางว่า “ขอมย่อ” ทีจะไม่ถูก น่าจะเรียกว่า “ขอมเขียน” แม้เขียนเส้นเล็กล้วนควรเรียกว่า “ขอมจาร” เพราะเอาอย่างมาแต่หนังสือจาร

มังกรอย่างที่ตรัสนั้น ภาษาช่างเขาเรียกว่า “มังกรไทย”

๑๘) เรื่องพม่าเรียกพระเจ้าปราสาททอง เกล้ากระหม่อมก็ได้ยินแต่ล่ามแปลเหมือนกัน ท่านสมภารจะใช้คำพม่าว่ากระไรนั้นไม่ได้สังเกต ไม่รู้ และไม่อะไรต่างๆ เห็นด้วยตามพระดำริว่าเขาหมายถึงพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น ไม่ว่าของเขาหรือของเรา คำ “ปราสาททอง” กับ “มณเฑียรทอง” ถ้าจะว่าอย่างหยาบเป็นเหมือนกันก็ได้ แต่ถ้าว่าอย่างละเอียดแล้วผิดกัน ปราสาทหมายถึงพระที่นั่งองค์เดียว “มณเฑียร” หมายถึงพระที่นั่งทั้งหมู่ แต่เกล้ากระหม่อมไม่ติดใจในคำนั้น ไปติดใจในพระนามพระเจ้าประสาททอง ว่าเอาคำพม่ามาใช้หรือไม่ใช่

๑๙) เรื่องคำ “ทวด” ทำให้เกิดสงสัยว่า ทางพูดมีคำหลาน เหลน ฯลฯ ดูเป็นแบ่งให้รู้ชั้นได้ดี แต่หนังสือเขียนว่าหลานหมด ดูไม่สู้ดี จะเป็นด้วยเหตุใดไม่ทราบ

๒๐) ในการที่มาอยู่วังวรดิศ มีความแปลกประหลาดไปน้อย เพราะคุ้นเคยกันกับผู้อยู่ที่วังแล้วมาก ไม่ใช่แต่ตัวหลานแมว กระทั่งพ่อแม่ตายายก็คุ้นกันหมด จนลูกหลานเรียก เด็จลุง เด็จพ่อ เด็จอา เด็จปู่ เด็จตา ก็เข้าใจกันหมดว่าพูดถึงใคร

๒๑) รูปปรางค์เงินซึ่งกราบทูลถามมานั้น มีความเสียใจมากที่ได้ทราบว่า เป็นสถานอรดีนารายณ์เชงเวง นึกว่าสถานนั้นเป็นของเก่าทึ่งอยู่มาก จนกระทั่งเด็กที่บ้านมาลาว่าจะออกไปสกลนครก็ได้สั่งเขาว่าถ้ามีเวลาแล้วให้ไปดูสถานนารายณ์เชงเวง แล้วมาบอกด้วยว่าเป็นอย่างไร ไม่รู้เลยว่าเป็นสถานทำใหม่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง แล้วทำให้นึกขึ้นได้ว่าที่กราบทูลว่าปรางค์เก่าเขาทำยอดอ้วนมีบัญชรนั้น เป็นการทำด้วยความเข้าใจไปคนละอย่าง ที่ทำยอดอ้วนนั้นกินทรงกับชั้นล่างที่ใช้อยู่ ด้วยตั้งใจจะให้เป็นเรือนชั้นตามหลักคำ “ปราสาท” ซึ่งแปลว่าเรือนชั้น แต่ทีหลังมาเข้าใจว่า “ปราสาท” เป็นเรือนยอดจนมีคำว่า “ยอดปรางค์” ก็ไม่มีอย่างอื่น ต้องทำเป็นยอดดุ้นแสมเท่านั้น

๒๒) รูปศาลาพราหมณ์ยอพระกลิ่น พระอินทร์จะนึกถึงกระดานนั้นนึกได้ แต่พรมทีจะนึกไม่ถึง เห็นจะนึกได้แต่เจียมขลิบ

รายงาน

๒๓) จะกราบทูลฟ้องนกกระจอก เวลากินข้าวค่ำแล้วเกล้ากระหม่อมออกเดินบนเฉลียงตำหนัก ไปเหยียบอะไรเข้าก้มลงดูเป็นก้อนกรวด หญิงอี่บอกว่านกกระจอกมันคาบเอาแต่เพิงหลังคากระไดชั้นล่างเข้ามา แล้วเธอเดินเก็บได้เป็นฟายมือ รู้ได้ด้วยญาณว่ามันเก็บเอาเข้ามาทำรัง แต่ธุระของมันนั้นเป็นการรื้อตำหนักเสียด้วย ข้อนี้ทำให้แจ้งใจขึ้นได้ ว่าที่คนโบราณทำรังนกกระจอกแขวนไว้ให้ ก็เพราะป้องกันจะไม่ให้มันทำอะไรในบ้านให้เสียหายไปนั่นเอง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ