วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

เมื่อวันอังคาร เดือนมิถุนายน วันที่ ๓ ได้รับลายพระหัตถ์เวรซึ่งลงวันที่ ๒๗ พฤษภาคม มีปะปิดทับเดียวแต่ทางกรุงเทพฯ แล้วรุ่งขึ้นก็ได้รับหนังสือหญิงพิลัย มีอาการเป็นอย่างเดียวกัน จะอย่างไรก็ไม่เป็นไร แต่จะเขียนกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์นั้นคราวที่แล้วมาหาทันไม่ จึงเลื่อนมากราบทูลสนองคราวนี้

สนองลายพระหัตถ์

๑) ตามพระดำรัสในเรื่องเรือนนั้น ทรงพระดำริไปในทางประวัติพงศาวดาร อันเกล้ากระหม่อมไม่ถนัด จะกราบทูลขัดหรืออำนวยก็ไม่ไหวทั้งนั้น ได้แต่จะกราบทูลอย่างเลเพลาดพาดว่าเรือนก็จะต้องเป็นหลังโดดๆ มาก่อนเหมือนกันทั่วโลก แล้วจึงเอามาผสมติดต่อกันเข้าในภายหลัง ในการมีมุขเป็นสามเป็นสี่ หรือการมีซ้อนชั้นนั้น ก็อยู่ในการทำผสมนั่นเอง เรือนเมืองเราที่ทำประหนึ่งว่าสองชั้นนั้น แท้จริงก็เพื่อจะหนีน้ำท่วม ลางแห่งพื้นล่างก็ฉำแฉะและเททิ้งของโสโครกลงไป ไม่สมควรที่คนจะเข้าไปจึงเกิดถือกันเป็นใต้ถุนขึ้น

จริงอยู่ในการที่เรือนมีมุขมากนั้นถือว่าดี จนกระทั่งมีนามฉายาเรียกว่า “ท่านที่มุข” ทำให้คนตะเกียกตะกายต้องการให้เรือนของตนมีมุขมาก แต่ใช่ว่าจะตะเกียกตะกายไปเช่นนั้นทุกคนก็หามิได้ เป็นการทำตามแฟแช่นซึ่งเขาทำกัน ถ้าไม่ดั่งนั้นก็จะเป็น “เปิ่น” จนอาจดูรู้ได้ว่าเป็นเรือนทำครั้งไหน เมื่อทำแล้วต้องแก้ก็มี เช่นกั้นฝาอุดเฉลียงให้เป็นห้องเป็นต้น นั่นก็มาแต่เห็นใช้ไม่ได้ รับแดดฝนไม่อยู่ ในการทำเฉลียงนั้นเกล้ากระหม่อมรังเกียจมาก ถ้ายิ่งทำเฉลียงรอบห้องด้วยแล้วก็เห็นอยู่ไม่ได้ทีเดียว แต่ว่าใจใครก็ใจใครเป็นที่ตั้ง

อันการทำบันไดนอกเรือนหรือในเรือน ก็ทำกันไปตามแฟแช่น แต่เมื่อคิดด้วยปัญญาตนเองก็เห็นทำได้โดยควรทั้งสองอย่าง ในสถานที่ให้คนอยู่มากๆ เช่นเรือนทหารเป็นต้นควรทำบันไดไว้นอก เพราะมากหน้าหลายตาด้วยกัน ใครแปลกปลอมขึ้นไปก็เห็น จะทำไว้ข้างในก็เสียที่คนอยู่ แต่ถ้าเป็นเรือนคนอยู่น้อยตัวแล้ว ทำบันไดไว้ในเรือนดีกว่า เพราะปิดรักษาขโมยได้ง่าย ที่ทำบันไดไว้นอกแล้วต้องแก้อุดฝากันก็มี นั่นคือทำผิด ในการทำบันไดข้างในจะทำเป็นไม่ให้ต้องลอดใต้ถุนก็ทำได้ ได้กราบทูลมาทีหนึ่งแล้ว

๒) เรื่องขาดแคลนที่ปีนัง ข้อที่ตรัสถึงใช้กล้วยแทนลูกแอบเปิลนั้นเห็นขัน อันนั้นก็มาต้องทางแก่เกล้ากระหม่อมเข้าโดยปริยาย ได้บอกลูกอยู่เนืองๆ ว่าพ่อไม่ติดอะไร ถ้าของที่เคยกินสิ่งใดหาไม่ได้ก็เอาอื่นมากินแทนได้ แม้อย่างอื่นเกล้ากระหม่อมก็ไม่มีถืออะไรทุกอย่าง เช่นรถเป็นต้น แต่ก่อนนี้ก็ขี่ทุกอย่าง มาเว้นแต่รถซึ่งเกิดขึ้นใหม่ ไม่ใช่จะรังเกียจอะไร แต่เพราะมีรถขี่อยู่แล้ว

๓) การกรวดน้ำนั้นทีจะเข้าใจผิดเป็นว่าทำบุญอย่างน้อย เป็นการทำบุญกลางป่า ซึ่งจะหาพระมาทำบุญอย่างใหญ่ไม่ได้ ที่เข้าใจว่าเป็นการทำบุญอย่างน้อยก็เพราะการกรวดน้ำ ย่อมทำติดกันไปกับการทำบุญเสมอ ความเข้าใจผิดนั้นย่อมมีอยู่เป็นอเนกนัย แต่เราจะรู้เข้าใจว่ากรวดน้ำกันทำไมยังต้องคิดเทียบทานกันเสียย่ำแย่ ทำไมจะเข้าใจผิดไม่ได้

๔) เรื่องฉัตรเป็นของกลางแจ้ง ตรัสอ้างถึงการราชาภิเษกอย่างเก่าซึ่งตั้งพระเศวตฉัตรกลางแจ้งนั้นดีเต็มที ตามพระดำริว่าเพราะถือเอาฉัตรเป็นยศ จึงเอาเข้าไปตั้งในท้องพระโรงนั้นถูกที่สุด ไม่ว่าอะไร แรกทำขึ้นก็ทำสำหรับสะดวกแล้วก็ถือเอาเป็นยศไปทั้งสิ้น

ตามที่ตรัสอ้างถึงการราชาภิเษกอย่างเก่า ทำให้ต้องย้อนกลับไปกราบทูลถึงเรื่องเขียนรูปพงศาวดาร ถ้ารู้อยู่ว่าเวลานั้นเป็นอย่างไรก็จำจะต้องเขียนให้เป็นไปตามที่รู้ เช่นจะเขียนรูปเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าเสด็จออกแขกเมือง ณ พระที่นั่งอมรินทร์ จะเขียนเสาเป็นสี่เหลี่ยมใหญ่นั้นหาควรไม่ เพราะรู้อยู่ว่านั่นทำแก้ในรัชกาลที่ ๓ ถ้าไม่รู้ก็จนใจ ต้องทำเดาไปตามบุญตามกรรม

๕) ในการเชิญพระศพเข้าพระเมรุ จะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไรก็เห็นไม่เป็นไร เพราะได้เปลี่ยนแปลงมาหลายตกแล้ว เท่าที่รู้เดิมทีก็เป็น (ตะเฆ่) แล้วก็เป็นรถเป็นคานหาม จะใหญ่หรือเล็กก็เป็นสิ่งนั้นอยู่นั่นเอง ส่วนที่เอาเจ๊กปลอมเป็นไทยนั้นแก้ได้ ที่เป็นเจ๊กก็เพราะทำง่ายเท่านั้น ถ้าจะไม่ให้เป็นเจ๊ก บังคับไม่ให้ใช้เจ๊กก็เป็นไปได้ ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ เว้นแต่ทำยากกว่าเท่านั้น สงสารแต่การทำพระเมรุ ขัดข้องจริงๆ พระพรหมพิจิตรบอกว่าหาซื้อกระดาษทองอังกฤษย่นในตลาดไม่ได้พอ ต้องเอาของซึ่งมีเหลืออยู่ในกรมเข้าผสมจึงพอเป็นไปได้ ถ้าจะเอาทองให้มากกว่านั้นขึ้นไปแล้วเป็นหงายท้องทีเดียว ทั้งนี้ก็แสดงว่าทางบางกอกก็ขาดอะไรต่ออะไร ไม่ใช่ขาดแต่ที่ปีนัง

ข่าว

๖) เมื่อวันที่ ๒ เดือนนี้ หญิงจงพาชายดำมาหา เห็นเข้าก็ดีใจที่กลับมาได้ ถามเธอบอกว่ามาเรือเดนมารคขึ้นที่เยอรมัน แล้วไปรุสเซียกลับทางรถไฟไซบีเรีย ไปพักอยู่ญี่ปุ่นแล้วจับเรือตรงเข้ามากรุงเทพฯ เธอแสดงความประสงค์ว่าอยากมาเฝ้าฝ่าพระบาทที่ปีนัง เกล้ากระหม่อมก็ได้พูดเตือนสติ ว่าถ้าไม่มีขัดข้องแล้วไปเป็นการดีไม่มีปัญหา

๗) เมื่อวันที่ ๔ สำนักพระราชวังส่งหมายการบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายสมเด็จพระปกเกล้ามาให้ มีหมายกำหนดการใบพิมพ์ส่งมาให้ด้วย ๒ ฉบับ ได้แบ่งส่งมาถวายเพื่อทราบฝ่าพระบาทด้วยฉบับ ๑ ในคราวนี้ด้วยแล้ว

ในการนี้เกล้ากระหม่อมได้ไป ไม่มีจัดตั้งอะไรเป็นพิเศษ แม้ของไทยธรรมก็ทรงประเคน อย่างเดียวกับทำบุญสงกรานต์ที่วังวรดิศ ชายงั่ว (ซึ่งนั่งอยู่นอกโบสถ์กับพวกหม่อมเจ้า) ไม่ได้เห็นก็รับรองว่าถูก ในโบสถ์ตั้งเก้าอี้เป็นสี่แถว ขวาพระสองแถวเป็นพลเรือน พวกเก่าอยู่ชิดฝา พวกใหม่ถัดออกมาแถวนอก ซ้ายพระอีกสองแถว แถวนอกทหาร แถวในเจ้า ดูเหมือนชั้นพระวรวงศ์เป็นอย่างต่ำ เจ้านายผู้หญิงก็จัดให้ประทับที่มุขเหนือ จัดตั้งเก้าอี้ไว้ทางผนังด้านตะวันตกซีกเดียว สังเกตว่ามีพระเจ้าวรวงศ์เป็นที่สุด นอกกว่านั้นนั่งกันอยู่ที่พระระเบียงด้านเหนือ

จะกราบทูลถึงสิ่งที่ทำตามเคย คือพระ ๔ รูปซึ่งสวดธรรมคาถาเมื่อเทศน์จบ ตั้งเครื่องนมัสการอย่างพระแท่นสวดพระอภิธรรม มีเทียนดูหนังสือด้วย แต่พระสวดท้ายเทศน์ท่านหาต้องดูหนังสือไม่ ตั้งเทียนดูหนังสือก็ได้แก่ “กินกาว”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์นำสวดมนต์ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ถวายเทศน์ นี่เป็นเวลาเย็น เวลาเช้าไม่ได้ไป แต่สืบได้ความว่าพระพรหมมุนี (ปลด) ถวายเทศน์

๘) วันที่ ๖ มิถุนายน นั้น ได้รับหมายสำนักพระราชวังฉบับ ๑ บอกว่า สมเด็จพระพันวัสสาจะทรงบำเพ็ญพระกุศลถวายพระปกเกล้าที่วัดเบญจมบพิตร วันที่ ๘ เวลา ๑๖.๐๐ น. สวดมนต์ ๑๐ รูป แล้วทรงธรรม วันที่ ๙ เวลา ๑๐.๓๐ น. เลี้ยงพระ แล้วมีสดับปกรณ์เท่าพระชันษา

๙) ในวันที่ ๖ นั้นเอง ได้รับหนังสือต่างใบดำ บอกว่าหม่อมเจ้าอุดมดิเรกลาภ ทวีวงศ์ สิ้นชีพตักษัยในวันที่ ๕ มิถุนายน เวลา ๒๒.๒๗ น.

๑๐) กับได้รับหนังสือสำนักพระราชวัง ว่าการทรงผนวชเจ้านายเคยมีหนังสือถามมา แต่นี้ต่อไปจะเลิก ถ้ามีเจ้าลูกจะทรงผนวชก็ให้บอกไป และถามว่าปีนี้จะมีหรือไม่ ได้ตอบไปว่าไม่มี

ที่มีหนังสือถึงกันในชั่ว ๗ วัน ให้ชื่อว่า “หนังสือเวร” นั้น ชายใหม่ชอบนัก การให้ชื่อหนังสือในทางราชการอย่างหนึ่งเรียกว่า “หนังสือเวียน” สังเกตเห็นเป็นหนังสือถึงข้าหลวงผู้ว่าราชการทุกเมือง อันไม่จำกัดว่าเป็นการจำเพาะเมืองใด เข้าใจว่าแปลมาแต่คำ “เซอคุลา”

๑๑) เมื่อวันที่ ๘ เกล้ากระหม่อมก็ไปวัดเบญจมบพิตร ในการที่สมเด็จพระพันวัสสาทรงบำเพ็ญพระกุศลถวายสมเด็จพระปกเกล้า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์นำสวดมนต์ทั้งถวายเทศน์ด้วย

ในงานคราวนี้ผิดกับงานหลวงที่มีตั้งพระบรมรูปหล่อทองแดงผูกภูษาโยงด้วย มีการทอดผ้าชักสดับปกรณ์กัน “เย็อกเย็นไม่เห็นพระเห็นเจ้า” อย่างเคย กับตั้งเก้าอี้เป็นสองซีก เจ้าอยู่ซีกซ้ายทางที่ประทับ ขุนนางอยู่ซีกขวาทางพระสงฆ์นั่ง ข้างในอยู่มุขเหนือ ตั้งเก้าอี้สองตับทางผนังทั้งสองด้านเพื่อให้เข้านั่งได้มากคน หม่อมเจ้าก็เข้าไปนั่งในโบสถ์ได้ทั้งข้างหน้าข้างใน

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ