วันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

จะกราบทูลสนองลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๒๔ พฤศจิกายนต่อไปนี้

สนองลายพระหัตถ์

๑) พี่น้องพระยาธรรมศาสตร์ (จุ้ย) เคยรู้จักตัวแต่พระยาพิพิธ (ชม) กับนายโชติ ส่วนคุณหญิงเชยนั้นไม่รู้จักตัว ทราบแต่ว่าเป็นภรรยาพระยาอนุชิต (สาย) ยังล้อกันอยู่ว่า “ผึ้งต่าย” เจ้าจอมจำเริญกับเจ้าจอมลม้ายนั้นมืดแปดด้านไม่รู้จักเลย พระยาอนุศาสตร์ (จุ้ย) เกล้ากระหม่อมสำคัญว่าตายนานแล้ว ต่อคุณหญิงชุ่มกับดุษฎีดิศมาตามจึงรู้ว่าเพิ่งตาย เล่นเอาต้องถามว่าบ้านอยู่ที่ไหน เคยทราบแต่บ้านฟากข้างโน้นแต่ก็เก่าแก่เต็มทีแล้ว ที่ไม่รู้จักคุณหญิงชุ่มก็เพราะไม่เคยเห็นเลย เคยรู้จักแต่เจ้าพระยามุขมนตรีกับหม่อมแช่ม แต่ทราบว่าทั้งสามคนเป็นพี่น้องกัน ทั้งได้ทราบอย่างเลวๆ ว่า พระยามุขมนตรีเป็นลูกท่านน้อย แต่วงศ์วานจะมาทางไรไม่ทราบ ที่ตรัสชี้แจงให้เข้าใจนั้นดีมาก พระยาธรรมศาสตร์ (จุ้ย) นั้นเคยทราบว่ามีเมียเป็นฝรั่ง ได้เคยสอนให้ “นุนู” เต้นรำแต่เมื่อเล็กๆ เพราะเหตุนั้นจึงต้องไปในการอาบน้ำศพ ไปก็เห็นผู้หญิงฝรั่งแก้มตอบๆ คนหนึ่งนั่งปนอยู่กับผู้หญิงไทย เข้าใจว่าเป็นคนนั้นแต่ไม่ได้พูดกัน

๒) เสือพวกลายเป็นดวงๆ เคยเห็นชาวเราเอามาเลี้ยงกันอยู่บ่อย ๆ ออกจะเชื่องได้มาก ๆ เคยเรียกหารูปเสือเอาแก่ชายไส จะเอามาเขียนอะไรก็ลืมเสียแล้ว แกก็หาให้มา แต่จำลายลางแห่งได้ว่าไม่เหมือนกับที่เคยเห็น แต่ชายไสแกว่าเสือนั้นมีหลายอย่างมากนัก ก็เห็นว่าตามที่แกว่านั้นเป็นความจริง เอาแต่สองอย่างว่าอย่างไรเป็นเสือดาว อย่างไรเป็นเสือลายตลับ เท่านั้นก็ตกเสียแล้ว หรือนับว่าเป็นอย่างเดียวกันก็ไม่ทราบ พวกเรียนบาลีแปล “ทิปิ” กันว่าเสือเหลือง คำ “ทิปิ” ก็หมายถึงเสือชนิดลายกลม ๆ เสือดาวกับเสือลายตลับจะเป็นชนิดเดียวกันหรือต่างกันก็ไม่ทราบ ที่เรียกรวมกันนั้นมีมาก เช่นเนื้อเป็นต้นที่เรียกแจกออกไปเป็นว่า “กวาง” ว่า “ละมั่ง” ก็มี เกล้ากระหม่อมก็อยากทราบว่าชื่ออย่างไรเป็นชนิดไรที่เรียกว่า เนื้อ ดูตรงกับคำว่า “มังสะ”

ที่เขียนว่า “ราชสีห์” เข้าใจว่าจะหมายถึงนายสิงห์ ที่เขียน “สีหราช” เข้าใจว่าจะหมายยกย่องพระราชาว่าเก่งดุจสิงห์ นี่เป็นเข้าใจเอาเอง

๓) ที่่ว่าหน้าเป็นลูกตาลเชื่อมเกล้ากระหม่อมก็ทราบ แต่ลืมแล้ว ต่อตรัสขึ้นจึ่งนึกได้ แต่ที่ว่ารูปร่างเป็นขวดเหล้าฮ็อกนั้นไม่ลืม ที่เอาคำนั้นมาใช้โทรเลขอยู่ข้างจะหนักมือ

๔) เรื่อง “โทน” “ทับ” และ “ตะโพน” นั้นชอบกลจะรอการวินิจฉัยไว้ ฟังกระแสพระดำริซึ่งตรัสไว้ในท้ายลายพระหัตถ์ ว่าจะทรงวินิจฉัยใหม่นั้นก่อน อย่างไรก็ดี ละครของเรานั้นเข้ากับโทนเป็นแน่ อย่างที่กราบทูลถึง “จ๊ะจ๋งจ๊ะ” เป็นต้น ซ้ำยังได้ตรัสอ้างถึงเพลงลงสรงและร้องรถร้องม้าก็เรียกว่า “โทน” นั้นเป็นต้น แต่ล้วนเป็นหลักฐานว่าละครเข้าด้วยโทนทั้งนั้น นั่นก็ไม่ประหลาดอะไร เห็นได้ว่าสืบมาแต่ “โนรา” คำ “ทับ” ก็มีหลักฐาน เช่นเรียกว่าหน้าทับอะไรต่ออะไรเป็นต้น แม้ในตำราบทดอกสร้อยก็ปรากฏอยู่ เช่น “ทับเนรปัตตี” เป็นต้น ตะโพนกลัวจะเป็นของใหม่ จะแบกเอาลงไปตีเล่นในสระแก้วดูใหญ่โตเกินไป ได้ลองถามพวกมอญว่าตะโพนมอญเรียกอะไร เขาบอกว่าเรียก “ปัตตะยา” แล้วเขาอธิบายด้วยว่าคือ “พาทยะ” นั้นเอง ดูก็ไม่เข้าเรื่อง มีอีกไม้หนึ่ง พวกครูปี่พาทย์เขาจัดให้ลูกศิษย์ไหว้ครูเขาให้เคารพตะโพน เรียกว่า “พระประโคนทับ” มีคำ “ทับ” อยู่ที่ “ตะโพน” แต่เห็นว่าไม่ใช่หมายเอาคำ “ทับ” เป็นหมายเอาที่ได้มาแต่เรื่องรามเกียรติ์ว่าเป็นเครืองมือของเทวดาจึงควรเคารพ

๕) กระแสพระดำรัสในเรื่องก่องนม ตามพระดำรัสนั้นถูกหมดเสียด้วย ซ้ำเป็นคติในทางความรู้เสียด้วย จะกราบทูลรับรองแต่ในสิ่งที่ได้ทราบ ในการที่หญิงสาวเปิดนมไม่ใช่มีแต่รูปเขียน ได้ไปเห็นหญิงสาวชาวเมืองลับแลเขาห่มผ้าคล้องคอ เห็นจะอย่างที่ในกฎมนเทียรบาลเรียกว่า “ห่มสไบสพักสองบ่า” แต่ผ้าห่มนั้นจะปลิวไปข้างไหนก็ช่าง ก็คือเปิดนมนั่นเอง อาจารย์นาคเขียนรูปนางมารไว้ที่วิหารทิศด้านหน้าวัดพระเชตุพน กรมหมื่นวรวัฒน์มาชมว่าเขียนดี เขียนนางมารแก่ไม่ใช่เขียนอย่างภาพกาก เล่นเอาต้องไปดู เห็นเขียนหน้าเป็นนางผู้ใหญ่ทั้งนมก็คล้อย จึงเข้าใจว่าท่านเขียนอย่างไร กับเมื่อเป็นนางนอซาตอน ละครเรื่อง “นิทราชาคริต” ในเรื่องว่าเจ้าสาวแต่งงานนั้นแต่งตัว ๗ คาบ ๗ สี สมเด็จพระราชปิตุลาจึงทรงจัดเครื่องแต่งตัวมา ๗ สำรับ แต่ได้แต่งไม่ถ้วนสำรับ เพราะตัวเองเบื่อกับทั้งกลัวคนดูจะเบื่อด้วย เพราะไม่มีการดำเนินเรื่อง ในเครื่องแต่งตัวนั้นเป็นอย่างอินเดีย มีก่องนมติดกับเสื้อกั๊กมาด้วย

ที่สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสท่านทรงใช้คำว่า “สไบเฉวียง” นั้นก็ถูก เพราะห่มพาดบ่าซ้าย เป็นคำเขมร “เฉวียง” ว่าซ้าย คู่กับ “สดำ” ว่าขวา แต่คำทางเราก็มีว่า “เฉียง” ถ้ายืดออกก็เป็น “เฉลียง” ใช้ในทางว่าเป๋ๆ เป็นไปในทิศว่า “เฉลียงๆ” เห็นจะหมายความว่าเท เฉลียงเรือนก็จะหมายว่าหลังคาเทนั่นเอง แต่นี่เป็นเรื่องคำ ลางทีก็จะเดาถูก ลางทีก็จะเดาผิด กราบทูลไปตามบุญตามกรรมเท่านั้นเอง

๖) หญิงเภา หมายถึงตะเภาทองนั้นเข้าใจ ไม่ใช่หมายถึงคำเภาว่าสุดท้อง เมื่อหญิงแก้วหมายความว่า ตะเภาแก้ว ก็เป็นสิ้นปัญญา เห็นกลักไอศกรีมของเธอทำเป็นรูปนกแก้ว จึงพาให้หลงเข้าใจไปว่าชื่อของเธอนั้นตั้งใจว่านก

๗) พระเจดีย์ทององค์ต้นที่วัดราชบพิธ เห็นจะเป็น “สุนันทาอนุสาวรีย์” แน่ เพราะคำผูกเก่า ๆ ไม่เห็นสู้จะมีสนธิ เหตุด้วยภาษาเราเป็นคำโดด ๆ อนึ่ง คำ “อนุสาวรี” ก็เป็นคำเดาผิด เดี๋ยวนี้เขาแก้กันไปเป็น “อนุสสรณีย์” ก็มี คำเหล่านี้ทำให้นึกถึงสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ท่านโปรดอย่างเก่า เช่น “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสร” เป็นต้น แปลว่าโปรด คำ “อนุสรณ์”

ตามลายพระหัตถ์ว่าควรจะแนะนำให้พระธรรมปาโมกข์ท่านจารึกชื่อติดเสียนั้น เห็นจะไม่ควรบังคับท่านโดยตรง ควรจะบอกท่านแต่ว่าควรมีจารึกติดเท่านั้น ท่านจะจารึกติดหรือไม่ก็ตามที

ธรรมดาจารึกติดนั้นอาจจะหลุดไปเสียได้ง่าย ๆ อย่างไรก็ดี อยากจะกราบทูลถามเพื่อได้รู้ว่าประตูถนนใหม่นั้นเดิมทีมีรูปร่างเป็นอย่างไร เกล้ากระหม่อมไม่เคยเห็น ได้เห็นต่อเมื่อทำเป็นประตูยอดอย่างเทศไปเสียแล้ว แต่ที่แก้เป็นสามช่องขึ้นนั้นจำได้ แล้วคนก็เรียกชื่อตามที่แก้ไปว่า “ประตูสามยอด”

๘) พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ที่หล่อใหม่เกล้ากระหม่อมก็ได้รับ ตัวนายเฟโรจีเอามาให้เอง ไม่ได้คุยอวดอะไร เป็นแต่เกล้ากระหม่อมทักว่าใหญ่มาก และถามว่าทำอย่างไร แกบอกว่าหล่อเป็นท่อน ๆ แล้วเชื่อมต่อ

ในการหล่อที่เมืองนอกก็มีแต่พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าองค์เดียว ที่ทำดังนั้นก็เป็นอันคิดแบ่งงานซึ่งเกล้ากระหม่อมจะต้องทำ ว่าอย่างไรจะทำได้ง่ายเท่านั้น แต่ก่อนนี้ถึงจะใหญ่เท่าใหญ่เพียงไรก็หล่อกันในบ้านเรานี้ทั้งนั้น การสั่งของดูเป็นง่าย แต่ความจริงลางอย่างก็ง่าย ลางอย่างก็ยาก ที่ว่ายากนั้นเป็นต้นว่าแห่งใดจะประดับศิลา แต่จะกะให้เป็นแผ่นเดียวก็จะหาศิลายาก จึงกะเป็นสองแผ่น แต่แผ่นหนึ่งมาแตกเสียตามทาง สั่งไปใหม่ได้มาก็ทำพิษ ถึงเป็นศิลาอย่างเดียวกันก็จริง แต่สีไม่เหมือนกันและลายก็ไม่เหมือนกัน คือลายหยาบกับละเอียด ก็เอาติดต่อกันเข้าไม่ได้

๙) คำว่า “นาคพัน” นั่นก็ต้องกับภาษาของเรา ทั้งเราทั้งเขมรก็เขียนอย่างนั้น แต่เขมรเขาออกเสียงเป็น “เนียกเปี๊ยน” ไปเสีย อันต้นไม้ขึ้นหุ้มปรางค์นั้นเห็นจะเป็นปกติ จนกระทั่งเมื่อเกล้ากระหม่อมไปเมืองเขมรก็ยังได้เห็นรากที่ชอนไปนั้นชอนเข้าไปไหนๆ และใหญ่หลายๆ กำด้วยไม่ใช่เล็กน้อย เว้นแต่ที่ปรางค์ “เนียกเปี๊ยน” นั้นเขาตัดหมดเแล้ว รูปม้าซึ่งตรัสถึงนั้นโปรเฟสเซอร์เซเดส์บอกว่า โปรเฟสเซอร์อะไรคนหนึ่งว่าชื่อ “วลาห” แกออกจะภูมิใจว่าไม่มีใครรู้ เกล้ากระหม่อมก็บอกว่าข้างไทยก็มี เรียก “วลาหก” หรือ “พลาหก” แกออกจะตื่นๆ แต่ที่ทรงสันนิษฐานว่าจะเป็นม้าตัวที่พระเจ้าทรงเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์นั้นงามกว่า

๑๐) หนังสือเรื่องสมพาสที่ทรงนั้น ทรงเลือกเอาคนแต่งที่ดีเสียด้วย มีหนังสือสมพาสที่ข้างไทยแต่ง แต่ไม่รู้ความจริงอะไรเลย แต่เรารู้ก็ต้องหัวเราะ อันวิธีอยู่ไฟนั้น ถ้าเราจำทางอินเดียมาก็ไม่ประหลาดเลย สำคัญแต่ที่เราจะได้มาแต่ไหนเท่านั้น

๑๑) หนังสือพิมพ์รูปผู้หญิงหน้าลายซึ่งส่งประทานเข้าไปนั้น พิจารณาดูก็ปรากฏในใจ ว่าข้อใหญ่ใจความก็คือแนะทางให้แต่งตัวให้สวย อันเป็นธรรมดาของผู้หญิงเท่านั้น

ย้อนหลัง

๑๒) โคลงที่วัดสังกะจาย ชายงั่วแกไปคัดมาให้แล้ว มีว่า

“สังข์กจายสังฆ์กจัดด้วย เหตุใด พระเอย
สังฆเพศฤาพาลไภย ออกอ้าง
สังข์ทรงจักรไกร เกรียงเดช ดอกพ่อ
สังข์ราพนารายน์มล้าง ต่างลี้ หนีกจาย”

ที่กราบทูลถวายว่าจำได้นั้นคือบาทสาม แต่ไปหลงจำเอานิราศนรินทร์อินทร์มากราบทูล แล้วชายงั่วแกไปคัดเอาโคลงจารึกที่หลังโบสถ์มาให้อีกด้วย ว่าอยู่หลังพระประธานพ้นที่เกล้ากระหม่อมจะเห็นได้ โคลงนั้นว่าดังนี้

“สังข์กจายหมายชื่อชี้ ใช่สงฆ์ กจายเอย
สงข์บจากเขตคง ถิ่นนี้
สังข์ราพต่อยุทธองค์ สังข์จัก กรีนา
สังข์หมู่สังข์อสูรลี้ หลบเร้น กจายหาย”

โคลงหน้าโบสถ์กับหลังโบสถ์เป็นโคลงอย่างเดียวกัน ยึดเอาสังขอสูรเป็นชื่อวัด ออกจะไม่เก่งที่เอาเรื่องไสยศาสตร์มาใส่กับพุทธศาสตร์ ทั้งสังขอสูรก็ดุเหมือนไม่มีบริวารด้วย

๑๓) ลืมไปไม่ได้กราบทูล มีผู้รู้เขาวินิจฉัยว่าคำ “ประยูระ” นั้นมาแต่คำ “อุปโยราช” แต่เกล้ากระหม่อมไม่เห็นด้วย

๑๔) เมื่อวันที่ ๒ เดือนนี้ ได้รับหมายพระราชวังสั่งเปิดสภาผู้แทนราษฎรดั่งได้กราบทูลท้าวถึงมาแล้ว มีหมายกำหนดการใบพิมพ์ส่งมาให้ด้วยฉบับหนึ่ง

บรรเลง

๑๕) มีเรื่องพิลึกกึกกือที่จะเล่าถวาย เมื่อวันที่ ๒ เดือนนี้ ตาฉาย (หม่อมอนุวงศ์ศิริวัฒน์ ลูกกรมนฤบาล) มาหาแม่โต ห่อของพะรุงพะรังมา แต่โตถามว่าอะไร แกบอกว่า “ของที่คุณพี่ต้องการ” แล้วแก้ออกเป็นขันครอบเงิน แล้วบอกแสดงความเสียใจว่ามีสำรับเดียว แต่แม่โตไม่รู้อะไรเลย สนทนากันจึงได้ความว่ามีผู้หญิงถือหนังสือแม่โตไปยืมขันครอบสองสำรับ ตาฉายหนักจึงมาหาแม่โตด้วยตนเอง เอาตัวผู้หญิงซึ่งถือหนังสือไปให้ใส่รถมาด้วย แต่ครั้นมาถึงตลาดประตูน้ำก็บอกให้รถหยุดว่าจะลงไปซื้อดอกมะลิ ท่าน (แม่โต) สั่งมาเป็นสองอย่าง คือให้มาเอาขันครอบกับให้ซื้อดอกมะลิไปให้ด้วย ตาฉายก็พาซื่อหยุดรถให้ลงแล้วคอยอยู่ตั้งครึ่งชั่วโมงก็ไม่เห็นกลับมา แปลว่าหนี เมื่อเกล้ากระหม่อมได้ฟังเรื่องก็แนะนำแม่โตว่าควรจะบอกแก่โปลิศ แต่เรื่องเกี่ยวกับตาฉายควรจะปรึกษากัน ครั้นแม่โตไปปรึกษาตาฉายก็ว่าเสียเวลาเลยระงับ คิดว่าคนที่ถือหนังสือไปเอาขันนั้นไม่ใช่ตัวการ ตัวการคงมีต่างหากที่รู้ความเป็นไปทั้งสองข้าง

๑๖) สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านได้รับแจกหนังสือตีพิมพ์ในงานศพ ท่านฝากชายงั่วมาให้ เพราะเป็นหนังสือเรื่องรามเกียรติ์ครั้งกรุงธน มีบานแพนกลงไว้ว่าจุลศักราช ๑๑๓๒ (พ.ศ. ๒๔๑๓) ปีขาล โทศก เพราะในนั้นมีคำแปลก ๆ ก็จริงดอก มีคำแปลก ๆ อยู่บ้าง เพราะเป็นหนังสือเก่า แต่ดูจะเป็นเขียนเขลาแก้เขลาเสียมาก แต่อย่างไรก็ดี จะไม่กราบทูลคำเท่านั้น จะกราบทูลแต่อื่น ๆ ในหนังสือนั้นตอนพระมงกุฎพบ “เมื่อนั้น” แต่สองแห่ง นอกนั้นก็เป็นกลอนเต็มๆ แต่เกล้ากระหม่อมต้องกราบทูลสารภาพว่ายังอ่านไปไม่ตลอด แต่สังเกตได้ว่าพบ “เมื่อนั้น” น้อยก็ต้องเป็นว่าที่มี “เมื่อนั้น” “บัดนั้น” ทุกบทไปเป็นของเกิดทีหลังครั้งกรุงธน

อีกอย่างหนึ่งที่บอกหน้าพาทย์ไว้นั้นก็แปลกมาก เป็นต้นว่าเพลง “เข้าม่าน” ในชีวิตเกล้ากระหม่อมก็เห็นว่าทำกันอยู่แต่โหมโรงสวดมนต์เย็น แต่ในหนังสือนั้นมีลงหน้าพาทย์เพลง “เข้าม่าน” ด้วย คิดไปก็เห็นว่าไม้กลอง ไม่ผิดอะไรกับ “เชิดฉาน” ซึ่งยังคงใช้อยู่ก็ควรจะใช้ได้ อันเพลงต่างๆ นั้นอาจใช้แทนกันได้ เหมือนหนึ่งเจ้าพระยาเทเวศรท่านเคยเล่าให้ฟัง ว่าละครหลวงเรียกหน้าพาทย์ว่า “จิ้งจกทอง” เล่นเอาคนปี่พาทย์เหลียวหน้าแลหลัง แปลว่าถามกันว่าใครได้บ้าง ท่านก็บอกว่า “เพลงฉิ่ง” พวกปี่พาทย์ก็เอาเพลงฉิ่งตีให้ก็เป็นได้กัน แปลว่าจิ้งจกทองก็เป็นเพลงฉิ่งเหมือนกัน

ในรามเกียรติ์ทางอินเดีย เขาว่าพระรามมีลูกสองคนเป็นฝาแฝด คนหนึ่งชื่อ “ลว” อีกคนหนึ่งชื่อ “กุศ” คนหลังนี้มาถึงเมืองเราเปลี่ยนเป็น “มงกุฎ” จะเห็นว่าคำ “กุศ” นั้นเลวไปหรือไม่เป็นภาษาจึงเปลี่ยนเสีย ชาวบ้านเรียกกันเป็น “บุดลบ” เสียด้วยซ้ำ ในคำว่า “มงกุฎ” ทำให้เกิดสงสัยขึ้น ว่าทูลกระหม่อมเราจะมีพระนามอย่างนั้น โดยหมายว่าเป็นลูกพระรามเสียดอกกระมัง ชื่อเมืองลพบุรีอาจจะหมายว่าเป็นเมืองของพระลพก็เป็นได้ เพราะคนโบราณท่านรู้หลักทางอินเดีย

เรียน

๑๗) คำต่อท้ายพระนามพระเจ้าแผ่นดินที่มีว่า “มหาราช” เข้าใจว่าเป็นของฝ่าพระบาททรงบัญญัติขึ้น อยากทราบว่าเลียนเอาคำ “The Great” ของฝรั่งหรือไม่ใช่ และคำ “The Great” นั้นใครตั้งให้ นักพงศาวดารหรือคนอื่น ได้ทรงทราบบ้างหรือไม่

รายการ

๑๘) วันจันทร์เดือนนี้ วันที่ ๘ ได้รับลายพระหัตถ์เวรซึ่งลงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน อันเป็นเวลาควรและตามเคยได้รับมาแต่ก่อน มีปะปิดสองหัวและมีตราสี่เหลี่ยมรีโฆษณาประทับหลังซอง จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์นั้นคราวหน้า

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ