วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ทูลรายงาน

๑) ได้กราบทูลมาถึงได้รับความลำบากในเรื่องแว่นตาเมื่อมาค้างอยู่ที่วังวรดิศ จะกราบทูลรายงานให้ทรงทราบต่อไปว่า แรกมาก็เข้าใช้โต๊ะทรงพระอักษร หยิบของลางอย่างซึ่งทรงวางไว้ขึ้นดู พบฉลองพระเนตรแก้วกันแดด ลองใส่ดูก็เห็นได้ดี เว้นแต่ขาแว่นเป็นขาแข็งขัดกับหูก็ไม่ได้ทำอะไรต่อไป วางไว้ในที่เดิม วันหลังเมื่อกราบทูลความลำบากมาแล้วได้ค้นดูอีก พบฉลองพระเนตรแก้วขาวขาอ่อนซึ่งจะใส่ได้ไม่ว่าหูชนิดไร จึ่งได้ส่งไปให้หญิงอี่ทำความสะอาด แล้วเอามาใช้เพิ่มขึ้นอยู่ทุกวันนี้ เป็นการทำให้เบาความลำบากมากขึ้น ขอถวายพระกุศล

๒) ปรางค์เงินในตู้ ซึ่งได้กราบทูลถามมานั้น เห็นทีจะจะเป็นปรางค์ใหม่ทำขึ้นบนฐานอะไรเก่า เข้ากันไม่ได้เลย อันว่าปรางค์นั้น มีลำดับสังเกตที่ในเมืองเขมรเห็นเป็นอย่างฮินดูก็มี เป็นอย่างปรางค์เขมรอ้วนๆ ก็มี เข้าใจว่าที่เป็นฮินดูนั้นเป็นของเก่า ที่เป็นปรางค์อ้วนๆ นั้นเข้าใจว่าเป็นของเขมรคิดตามเอาปราสาทอย่างทำด้วยไม้ในเมืองเขมร กับเทวสถานอย่างฮินดูเข้าปนกัน ปรางค์อย่างอ้วนนี้มีบัญชรอยู่ทุกชั้น แม้ที่กรุงเก่าก็เห็นทำปรางค์อย่างเขมรอ้วนๆ มีบัญชรทุกชั้นเหมือนกัน เห็นได้ว่าจำอย่างเขมรมาทำ ตลอดจนถึงในกรุงรัตนโกสินทร์ พระปรางค์วัดระฆังก็เป็นเช่นนั้น เข้าใจว่าทำครั้งกรุงเก่า อย่างที่เป็นดุ้นแสมแกะเป็นกลีบขนุนไม่มีบัญชรตามชั้นนั้น คาดว่าทีหลังลงมาอีก เข้าใจว่าเกิดแต่ทำของเล็กละๆ เอาแต่พอให้เป็นทีอย่างเดียวกัน เหมือนเสาบุษบกซึ่งเรียกไม้สิบสอง ไปเห็นบุษบกทรงพระพุทธบาทเขาทำเป็นเสาสิบสองต้นทีเดียว มุมละสามต้น จึ่งเข้าใจได้ว่าที่มาทำต้นเดียวเซาะเป็นสามกลีบก็เพราะทำของเล็ก อันจะทำเสาสามต้นไม่ไหวแล้วก็ลืม เมื่อทำของใหญ่ซึ่งควรจะทำเสามุมละสามต้นได้ก็ไม่ทำ ดุจปรางค์เงินซึ่งกราบทูลถามมานั้น ยอดเป็นดุ้นแสมและไม่เข้ากับฐานล่างจึ่งเห็นว่าเป็นของทำต่อใหม่

พระธาตุพนม ตามที่ทำรูปเงินตั้งไว้กลางตู้นั้น ก็เป็นของก่อต่อเหมือนกัน ตอนล่างเป็นของเขมรมีสองชั้น เข้าใจว่าเดิมจะต้องมีสามชั้นแต่พังเสียแล้วชั้นหนึ่ง ลักษณะเป็นมณฑปซ้อนกันอย่างหอกลองในกรุง แต่ยอดจะเป็นอย่างไรพูดไม่ถูก คิดว่าเป็นของเขมรเก่าก่อนที่โคราช เช่น พิมาย พนมรุ้ง ขึ้นไปอีก

ที่เมืองเขมรเองก็แก้ยับไปเหมือนกัน จะเห็นได้ง่ายๆ ที่ปราสาทบายน พื้นที่ซึ่งถมขึ้นไปจนถึงยอดปรางค์บริวารนั้นเป็นพื้นถมทีหลัง สิ่งที่เป็นประธานอยู่บนพื้นนั้นต้องเป็นของทำใหม่

๓) ที่วังวรดิศ สัตว์ต่างๆ น้อยกว่าที่บ้านปลายเนินทุกอย่าง ได้ความสุขจากการถูกสัตว์รบกวนเป็นอันมาก จะกราบทูลถึงไปอยู่กับแม่ใหญ่ (เทวกุล) ที่สวนเมืองชุมพร เรือนที่นั่นบริบูรณ์ไปด้วยจิ้งจกตุ๊กแก จะปราบปรามก็เกรงใจเจ้าของบ้าน ด้วยเห็นเป็นผู้เคร่งครัดในทางพระพุทธศาสนาจะเสียใจ ต้องปล่อยให้เพ่นพ่านอยู่อย่างเคย สังเกตเห็นท่านแม้จะมีอายุมากก็ยังแข็งแรง เกล้ากระหม่อมไปถึงไหนก็ตามไปถึงนั่นด้วย ไม่นึกเลยว่าจะสิ้นอายุไปเสียเร็ว ได้คุ้นกับหลานมดก็ที่นั่น ขึ้นมาเล่นซ่อนหาอยู่กับหญิงไอที่บนเรือน

๔) ได้สังเกตนกกระจอกซึ่งมันบินเข้ามาในเฉลียงตำหนักว่ามันบินเข้ามาด้วยธุระอะไร เห็นมันเข้าไปที่ปลายบัวเสาอยู่นานๆ ทีจะทำรังไข่อย่างแม่โตว่า แต่นี่เป็นเดาด้วยแลไม่เห็น

๕) อยู่ที่วังเย็นๆ ลงเดินเล่นตามที่เคยเดิน เห็นโอ่งสวรรคโลกตั้งอยู่ที่ขอบสนามข้างตำหนัก ทีจะเป็นโอ่งชนิดนั้นเองที่เรียกว่า “นางเลิ้ง” พิจารณาดูเห็นไม่มีชำรุดที่ไหนเลยหมดทั้งใบ เพิ่งจะเคยเห็น นับได้ว่าเป็นของดีที่สุด รู้สึกในใจว่าเพราะผลที่ได้ทรงว่ากระทรวงมหาดไทยจึ่งได้ของที่ไม่ชำรุดมา เข้าใจว่าไม่ใช่ของอยู่ที่เตาซึ่งเขาทิ้งเสียเพราะชำรุด คงเป็นของที่คนเอาไปใช้อยู่ที่ไหนแห่งหนึ่ง

๖) เมืองหงสา (วดี) อันเป็นเมืองขึ้นเมืองหลวงพระบางนั้น ได้ทราบที่ตั้งจากหนังสือพิมพ์แล้ว อยู่แถวปากลาย ฟากข้างนี้

๗) รอลายพระหัตถ์เวรอยู่จนวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ก็ไม่ได้รับ จะเขียนกราบทูลสนองความก็ไม่ได้ แล้วจะได้รับเมื่อไรก็ยังไม่ทราบ

ทูลถาม

๘) เขาว่าแต่ก่อนมีพระราชยานกงองค์หนึ่งหุ้มทองคำ แต่เกล้ากระหม่อมไม่เคยเห็น ฝ่าพระบาทจะได้ทอดพระเนตรเห็นตัวพระราชยานหรือทอดพระเนตรเห็นหนังสือ ซึ่งเขากล่าวถึงพระราชยานองค์นั้นบ้างหรือไม่

๙) มีพระราชยานพุดตานหุ้มทองอยู่องค์หนึ่ง ทรงทราบหรือไม่ว่าทำครั้งไร

๑๐) พระลองกุดั่นใหญ่น้อย เมื่อแรกทำขึ้นประกอบพระศพสมเด็จพระพี่นาง หุ้มทองคำหรือปิดทอง ข้อนี้อาจจะทรงทราบได้ด้วยหากมีหนังสือกล่าวไว้อย่างไร

ข่าว

๑๑) เมื่อวานนี้ สำนักพระราชวังส่งหมายมาฆบูชามาให้ มีใบพิมพ์หมายกำหนดการส่งมาด้วย ๒ ฉบับ ได้แบ่งส่งมาถวายกับหนังสือนี้ด้วยฉบับ ๑ แล้ว

คะเน

๑๒) คำว่า “คันฉ่อง” ก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นกระจกส่องตั้งเอียงๆ อยู่บนม้า แต่ทำไมจึ่งเรียกว่า “คันฉ่อง” แลไม่เห็นในคำนั้น มาจนเมื่อเร็วๆ นี้จึงนึกได้ว่าคือ “คันส่อง” นั่นเอง ฉ กับ ส ไขว้กันตามเคย คำว่า “คัน” ได้แก่ด้ามที่มือถือ ต้นเดิมคงเป็นแว่นอย่างเวียนเทียน

ลายพระหัตถ์

๑๓) ลายพระหัตถ์เวรลงวันที่ ๒๘ มกราคม ซึ่งมากับรถไฟ วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ คราวนี้ เขานำมาส่งต่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ช้าไปวันสองวัน ควรจะไม่เป็นไร แต่เผอิญได้รับเวลามีงาน ทั้งเกล้ากระหม่อมก็ไม่สบายด้วย แต่ไม่ควรทรงพระวิตกอะไร เป็นแต่ในท้องมันมีแต่ลมอลึ่งฉึ่งเป็นอึ่งอ่างไป ทำให้นอนหลับไม่ได้กว่าลมจะออกเท่านั้น ทั้งนี้จะเป็นด้วยเรื่องกินมากไปอาหารไม่ละลาย เรื่องกินนี่ยากเต็มที แก่ลงกินมากไม่ได้ ข้อนี้ก็ทราบนานแล้ว เว้นแต่กะไม่ถูก

ลายพระหัตถ์ฉบับที่ได้รับนี้ มีรอยปะปิดด้วย แลมีตรากลมๆ ประทับอย่างที่กราบทูลมาก่อนแล้วด้วย เว้นแต่เลขในเปลี่ยนไปเป็นเลข ๔ แต่จะกราบทูลสนองก็ไม่ทัน ตามเหตุอันได้กราบทูลมาแล้ว ขอประทาน “ผลัด” ไปกราบทูลสนองคราวหน้า

ในท้ายลายพระหัตถ์ที่ประทานไปทรงเขียนผัดผลัด ทำให้นึกขำเต็มทีต้องเอาอย่าง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ