วันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ตามเคย ซองก็ตัดข้างเดียวปิดตั๋วแดงตามเคย แปลกแต่ที่มีตรายางประทับหลังซองเพิ่มขึ้นอีกดวง ๑ เป็นรูปสี่เหลี่ยมรีมีตัวอักษรโรมันเป็นภาษาอังกฤษอยู่ในเส้นขอบว่า THAILAND IMPLORES FOR WORLD PEACE.

สนองลายพระหัตถ์

๑) ถ้าจะทำตำราศัพท์ต่างๆ จัดเป็นพวกเช่นราชาศัพท์ยังมีอีกพวก ๑ นอกจากที่ทรงกะมา จะเรียกว่า– “หิริศัพท์” ก็เห็นจะได้ คือศัพท์ที่คิดเปลี่ยนคำน่าเกลียดเป็นคำสุภาพเช่นคำผวน (แต่เวลานี้หม่อมฉันกำลังเขลา คิดหาคำตัวอย่างไม่เห็น นึกได้แต่ว่าพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ไม่กล้าเปลี่ยนคำมโหรี เพราะชอบใช้กันแพร่หลายเสียมากแล้ว) กับเปลี่ยนคำอีกจำพวก ๑ ซึ่งทำให้ใจนึกถึงของหยาบ เช่นเปลี่ยน ๒ บาทเป็นกึ่งตำลึง เปลี่ยนปลาช่อนเป็นปลาแห้งสด เปลี่ยนปลาสลิดเป็นปลาใบไม้ เปลี่ยนผักกะเฉดเป็นผักทอดยอดเป็นต้น

๒) ลักษณะชื่อคนนั้นดูชอบกล ถึงจะเป็นมนุษย์ต่างชาติต่างภาษากัน การที่ใช้ชื่อมีมูลอย่างเดียวกันทั้งนั้น คือเบื้องต้นตั้งชื่อสำหรับเรียกให้รู้ว่าต่างคนกันในครัวเรือน ทำอย่างเดียวกันหลายครัวเรือนก็เกิดมีคนชื่อเดียวกันหลายคนในตำบลอันเดียวกัน จึงต้องมีคำเพิ่มขึ้นสำหรับเรียกให้รู้ว่าต่างคนกัน มูลเหมือนกันมาเพียงนี้ เริ่มมีวิธีต่างกันแต่ใช้คำเพิ่มเข้ากับชื่อสังเกตดูใช้โคตร (นามสกุล) ก็มี ใช้ชื่อถิ่นที่อยู่ก็มี เอาชื่อมารดามาใช้ เช่น พระสาริบุตรและพระโมคลีบุตรก็มี เรียกตามอาชีพเช่นสกุลอังกฤษเรียกว่า Smith และ Carpenter. ก็มี ใช้คำสามัญคุณศัพท์เช่นว่า ดำ, ขาว, ใหญ่, เล็กก็มี พิเคราะห์ดูจะอยู่ที่คนเรียกเป็นผู้เลือกว่าจะเรียกอย่างไร

๓) พระราชพิธีเดือน ๑๒ ที่เรียกในกฎมนเทียรบาลว่า “ลดชุดลอยโคมลงน้ำ” นั้น ที่จริงเป็น ๓ พิธีแน่ พิธีลดชุดดูเหมือนจะตรงกับที่ในอินเดียว่า “ทีปวลี” ชาวอินเดียเขายังทำกันที่เมืองปีนังในเดือน ๑๒ พิธีลอยโคมนั้นตรงกับลอยกระทงใหญ่ กระทงเล็กมาแต่จีน พิธีส่งน้ำในหนังสือกฎหมายผู้เขียนลืมขีดไส้ตัว “ส” เท่านั้น จึงกลายเป็นลงน้ำ เพราะความซ้ำกับคำ “ลอย” มิใช่เป็นคุณศัพท์ของลอยโคม ลักษณะพิธีที่พรรณนาในกฎมนเทียรบาลว่า เสด็จทรงเรือและทรงสร้าวลงมาตามน้ำก็เป็นการมาส่งน้ำ เห็นไม่มีที่สงสัย

๔) กำแพงวังหลังที่ท่านได้ทอดพระเนตรเห็นนั้น เป็นกำแพงวังหลังจริงจริ๊ง มิใช่กำแพงวังกรมเทวาฯ เพราะเมื่อตั้งโรงพยาบาลศิริราช รื้อกำแพงวังหลังลงเพียงตอนที่ต้องการ ที่ยังเหลือกำแพงวังหลังตอนข้างเหนืออยู่มาอีกนาน จึงได้รื้อเมื่อโปรดให้สร้างคุ้มพระราชทานพระเจ้าเชียงใหม่ วังกรมเทวาฯ อยู่ใต้ลงมามาก

จะเลยทูลเรื่องตำนานวังหลังตามที่หม่อมฉันสืบรู้เมื่อจะแต่งหนังสือเรื่อง “ตำนานวังเก่า” ประกอบกับความคิดเห็นขึ้นเมื่อร่างจดหมายนี้ เมื่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ กรมพระราชวังหลังได้เป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศรก่อน แต่แรกคงสร้างวังขึ้นที่พระนิเวศน์เดิมของท่าน ณ ตำบลสวนลิ้นจี่ วังแรกนั้นคงเป็นอย่างวังเจ้าต่างกรม ทำนองเดียวกับวังท่าพระ เสด็จอยู่วังนั้นมาราว ๔ ปี เวลานั้นกำแพงเมืองธนบุรีทางฝั่งตะวันตกก็ยังอยู่ ต่อเลื่อนพระยศขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข จึงสร้างวังหลัง เวลานั้นรื้อกำแพงเมืองธนฯ ทางฝั่งตะวันตกหมดแล้ว วังหลังที่สร้างขึ้นใหม่จึงเป็นทั้งที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขและเป็นป้อมรักษาพระนครฝ่ายฝั่งตะวันตกทางข้างเหนือ คู่กันกับพระราชวังเดิมเป็นป้อมรักษาทางข้างใต้ จึงขยายที่ทำแนวปราการวังหลังต่อลงมาทางข้างใต้จนถึงที่ฉางเกลือ เมื่อสร้างวังหลังขึ้นแล้วกรมพระราชวังหลังสร้างพระมนเทียรอยู่ในบริเวณวังเดิม ที่วังซึ่งขยายต่อลงมาข้างใต้โปรดให้พระองค์เจ้าชายลูกเธอที่เป็นผู้ใหญ่สร้างตำหนักเป็น ๓ แปลง กรมหมื่นนเรศโยธีอยู่แปลงเหนือ กรมหลวงเสนีบริรักษ์อยู่แปลงกลาง กรมหมื่นนราเทเวศรอยู่แปลงใต้ (ตรงที่สร้างโรงพยาบาลศิริราช) อยู่ในกำแพงวังหลังด้วยกันทั้งนั้น เดิมคงเป็นอย่างว่ามานี้ ผู้รู้เรื่องประวัติวังหลัง คือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว. เจริญ อิศรางกูร) เป็นต้น จึงเล่าว่าเมื่อกรมพระราชวังหลังเสด็จทิวงคตแล้ว ปันที่วังหลังเป็น ๔ วัง วังตอนที่สร้างพระมนเทียรสถานเจ้าข้างใน (ทองอยู่) พระอัครชายาปกครองอยู่ด้วยกัน กับพระโอรสธิดาที่ยังมิได้ออกวัง ที่ข้างใต้ลงมา ๓ แปลงก็เป็นวังของเจ้านาย ๓ กรมตามที่ได้ครองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจึงมิได้โปรดให้เจ้านายพระองค์อื่นไปอยู่วังหลัง เหมือนเช่นพระราชวังเดิมและวังเจ้านายต่างกรมแห่งอื่น แต่พระวงศ์ของกรมพระราชวังหลังที่ได้ครอบครองวังทั้ง ๔ แห่งนั้นสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๒ หมดทุกพระองค์ พึงสันนิษฐานประกอบว่าพระมนเทียรสถานและตำหนักในวังหลังล้วนสร้างด้วยเครื่องไม้ก็หักพังทรุดโทรมไปตามอายุด้วย ไม่มีเจ้านายต่างกรมพระองค์ใดปรารถนาหรือหม่อมเจ้าเชื้อสายในกรมพระราชวังหลังองค์ใดสามารถจะครองวังทั้ง ๔ นั้นได้ วังหลังก็ร้างมาแต่ในรัชกาลที่ ๓ ด้วยประการฉะนี้ มีแต่บุคคลภายนอกพวกไม่มีบ้านเรือนเข้าไปปลูกทับกระท่อมอาศัยด้วยไม่มีผู้ใดห้ามปราม

ที่วังกรมหมื่นเทวานุรักษ์นั้นเป็นที่ต่างตำบลกับวังหลัง และมีเรื่องประวัติต่างหาก หม่อมฉันก็เพิ่งรู้เรื่องประวัติเมื่อสืบเรื่องแต่งหนังสือตำนานวังเก่า ที่ตรงนั้นเดิมเรียกว่าตำบลสวนมังคุด เป็นที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี ตั้งพระนิเวศอยู่เมื่อครั้งกรุงธนบุรี เมื่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จกรมพระเทพสุดาวดีเสด็จเข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวัง จึงประทานพระนิเวศเดิมแก่เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์รณเรศพระโอรสพระองค์น้อย เสด็จอยู่มาจนตลอดพระชนมายุแล้วหม่อมเจ้าในกรมครองต่อมา เดิมเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีกับเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์อยู่วังที่เหนือท่าเตียนต่อกับโรงวิเสท ถึงรัชกาลที่ ๒ ไฟไหม้วังเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี จึงโปรดให้เสด็จไปอยู่พระราชวังเดิม เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ยังอยู่ที่วังเก่ามาจนในรัชกาลที่ ๓ ไม่พอพระทัยจะอยู่ใกล้พระราชวัง ทรงทราบว่าวังเจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์รณเรศจวนจะร้าง ด้วยหม่อมเจ้าในกรมรักษาไม่ไหว จึงรับซื้อที่วังสวนมังคุดจากหม่อมเจ้าในกรมหลวงนรินทร์รณเรศ แล้วเสด็จข้ามฟากไปอยู่ที่นั่นจนตลอดพระชนมายุ กรมหมื่นเทวานุรักษ์กับหม่อมเจ้าในกรมจึงได้อยู่วังนั้นต่อมา

๕) เมื่อเร็วๆ นี้ชายใหม่เธอเขียนจดหมายถึงเจ้าหญิงบ่นว่าเดี๋ยวนี้เธอเบื่อฟังวิทยุเสียแล้ว เบื่อด้วยอย่างไรตรัสถามเธอดูเถิด แต่หม่อมฉันได้ยินก็กลั้นหัวเราะไม่ได้ เพราะตัวหม่อมฉันเบื่อวิทยุก่อนเธอมาช้านาน และได้เคยบอกแก่เธอเมื่อออกมาปีนังว่า ชอบฟังวิทยุจงระวัง มันอาจจะเสียเส้น มันก็เป็นจริงๆ ทั้งเธอยังหนุ่มแน่นจึงเห็นขัน ในลายพระหัตถ์ฉบับนี้ท่านตรัสบ่นมาถึงความลำบากที่จะรู้เรื่องอะไรด้วยอ่านหนังสือพิมพ์ข่าวภาษาไทย อย่างเดียวกับหม่อมฉันเคยทูลปรับทุกข์ไปแต่ก่อนก็นึกขัน แต่มิใช่จะยิ้มเยาะ เพราะเห็นอกว่าท่านอ่านหนังสือข่าวภาษาอังกฤษเข้าใจยากกว่าหม่อมฉัน (ลองงดราชาศัพท์ดู) แต่หนังสือพิมพ์ฝรั่งเดี๋ยวนี้มันก็เลวเต็มทีเหมือนกัน จะหาความจริงยากเกือบเหมือนฟื้นฝอยหาตะเข็บอยู่แล้ว เพราะการสงครามนำให้ผันแปรไปในทางอกุศลต่างๆ อ่านหนังสือพิมพ์ฝรั่งยังดีกว่าหนังสือพิมพ์ภาษาไทยเพียงไม่กลุ้มใจด้วยต้องเที่ยวหาข่าวเท่านั้น

จะทูลถึงกระบวนหม่อมฉันอ่านหนังสือต่อไป อิริยาบถของหม่อมฉันนั้นตอนเช้าอ่านหนังสือข่าวแล้ว เขียนหนังสือกับค้นสอบหนังสือซึ่งจะเอามาประกอบกับการเขียน ตอนบ่ายอ่านหนังสือพิมพ์ข่าวอีกพักหนึ่ง ตอนค่ำตั้งแต่กินอาหารเย็นแล้วอ่านหนังสือไปจนเวลาเข้านอน หนังสือซึ่งอ่านโดยปกตินั้น ตอนหัวค่ำอ่านหนังสือเรียนหาความรู้เพิ่มเติมเป็นหนังสือไทยบ้าง หนังสือฝรั่งบ้าง เดี๋ยวนี้กำลังอ่านหนังสือวินัยมุขของสมเด็จพระมหาสมณะ วินิจฉัยของท่านอยู่ข้างดีมาก จะเขียนบางเรื่องทูลบรรเลง ตอนดึกอ่านหนังสือประโลมโลก Novel อันเป็นแต่ทำให้เพลิดเพลินหย่อนใจพอสิ้นกังวลแล้วก็เข้านอน เป็นดังนี้เสมอทุกวันเป็นนิจ ที่เมืองปีนังนี้เขามีหอสมุดดีมาก เสียค่าธรรมเนียมปีละ ๖ เหรียญเพียงเท่าราคาซื้อสมุดใหม่เล่ม ๑ ก็หาหนังสือดีๆ อ่านได้ตลอดปี

๖) เรื่องไล่ภาษาไทยนั้น หม่อมฉันถือว่าเป็นอาจินตัยมาเสียนานแล้วเดิมมีเปรียญ ๖ ประโยคศิษย์สมเด็จพระวันรัตน (เฮง) คน ๑ สึกมาขอทำงานในหอพระสมุดฯ หม่อมฉันได้อบรมมาจนสามารถแต่งหนังสือเรื่อง “ปัญหาพระยามิลินท์” พิมพ์แจกในงานพระเมรุถึง ๓ เล่ม ใครอ่านก็ชมว่าแต่งดี แต่เมื่อหม่อมฉันออกมาอยู่ปีนังแล้ว ได้ยินว่าเปรียญคนนั้นเข้าสอบความรู้กับข้าราชการด้วยกัน–ไปตกภาษาไทย หม่อมฉันก็มิรู้จะว่าอย่างไรจึงเลยเป็นอาจินตัยต่อมา

แต่เมื่อคิดดูตามที่สังเกตหนังสือแต่งใหม่ๆ เห็นมีคำแปลกๆเกิดขึ้นมาก ถ้าเอาแต่คำเหล่านั้นเป็นหลักสูตรสอบความรู้ ถึงพระองค์ท่านหรือหม่อมฉันเข้าสอบก็เห็นจะตก แต่การสอนและสอบภาษาไทยเดี๋ยวนี้จะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ จึงตกอยู่ในเป็นอาจินตัยอีกอย่าง ๑

๗) ลักษณะที่ใช้คำ “ไทย” ในที่ต่างๆ ดูอาจจะหมายให้ผิดกันได้ดังทรงพระดำริ เช่นชื่อ “บริษัทกระเบื้องและกระดาษไทย” ที่ทรงยกเป็นตัวอย่างประทานมา พิเคราะห์ความตามที่เขียนต้องเข้าใจว่า บริษัทนั้นทำกระเบื้องและกระดาษอย่างไทย แต่ถ้าเขียนว่า–บริษัทไทยทำกระเบื้องและกระดาษ ก็หมายความว่าไทยเข้ากันเป็นบริษัททำกระเบื้องและกระดาษ จะเป็นกระเบื้องและกระดาษอย่างไทยหรืออย่างฝรั่ง อย่างจีนก็ได้ทั้งนั้น

คำว่า “ไทย” กับ “สยาม” ที่จริงความหมายต่างกัน ไทยเป็นชื่อมนุษย์จำพวก ๑ สยามเป็นชื่อแผ่นดินประเทศ ๑ หม่อมฉันแต่งหนังสือก็ชอบเรียกว่า “ไทย” และ “เมืองไทย” มาช้านาน แต่บางทีขัดข้องจะใช้คำ “ไทย” แทน “สยาม” ไม่ได้ก็มี

ข่าวปีนัง

๘) เมื่อวันที่ ๒๓ เวลาเช้าพร้อมกันทำบุญทักษิณานุประทาน อุทิศถวายสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงที่ตำหนักพระองค์หญิงประเวศฯ เดี๋ยวนี้ เธอย้ายมาประทับตำหนักริมถนนกาเลไว ใกล้กับบ้านหม่อมฉันเดินไปมาถึงกันได้ไม่ต้องใช้รถ มีเลี้ยงพระสวดมนต์และสดับปกรณ์พระบรมอัฐิ เวลาบ่ายพร้อมกันมาถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าที่บ้านหม่อมฉัน เหมือนเคยทำมาแต่ก่อน ขอถวายพระกุศลให้ท่านทรงอนุโมทนา

๙) มรรคทายกเขามาบอกบุญว่าจะทอดกฐินที่วัดปุโลติกุส วันที่ ๒๘ เขาเลยเล่าให้ฟังว่าพวกทายกทอดกฐินที่วัดศรีสว่างอารมณ์เมื่อวันที่ ๒๖ พระทองสุกเธอไม่ได้บอกให้หม่อมฉันรู้ จึงไม่ได้ไปช่วย วัดนั้นมีพระทองสุกเป็นธรรมยุติอยู่องค์เดียวทำกฐินอย่างไรกัน เขาบอกว่านิมนต์พระมหานิกายวัดอื่นมาสมทบอีก ๔ องค์ ก็เป็นรับกฐินอย่างสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ศรี) รับพระกฐินหลวงที่วัดสัมพันธวงศ์ หม่อมฉันก็นึกชมว่าเธอมีสติปัญญา เพราะทำเช่นนั้นดีกว่าถือนิกายไม่ยอมรับกฐินให้ทายกเขาเสียศรัทธาเปล่าๆ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ