วันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

เบ็ดเตล็ด

๑. ได้ตั้งใจว่าจะไม่ใช้ภาษาต่างประเทศโดยไม่จำเป็น เว้นแต่ไม่ได้ปฏิบัติจริงๆ ความสำคัญอยู่ที่ภาษาต่างประเทศลางทีก็ทำให้เข้าใจดีกว่าใช้ภาษาของเราไปเสียอีก ในการใช้ภาษาต่างประเทศก็มีนานานแล้ว เช่น ทรวงอก ยกเลิก เป็นต้น มีคำแปลติดกันไป คงเป็นด้วยพูดภาษาต่างประเทศไม่เข้าใจจึ่งต้องแปล แต่ภาษาของเราซ้อนซ้ำเป็นคู่กันอยู่ก็มี เช่น เพิ่มเติม ฝึกหัด เป็นต้น และไม่เห็นว่าซ้อนซ้ำกันทำไม คำที่กราบทูลมาก่อนว่า “แฟแช่น” นั่นก็เป็นคำต่างประเทศถ้าเทียบเอาคำของเราที่ก็จะได้กับ ฮือ การฮือหรือแฟแช่นนั้นสำคัญมาก เหมือนหนึ่งเขียน ประณีต เป็น ปราณีต ได้บอกแก่คนที่ควรบอกได้ ว่าเขียน ปราณีต นั้นผิดนะ ไปค้นดูเถิด ในพจนานุกรมทุกฉบับจะเป็นประณีต ทั้งนั้น แต่เขาก็ไม่ฟังเพราะเขียนกันเป็นปราณีตทั่วบ้านทั่วเมือง ถ้าไม่เขียนตามเขาไปก็ไม่เป็นคน ยังเขียน ผัด เป็น ผลัด อีก หนังสือพิมพ์ประมวญวันเดือดร้อน จนถึงแต่งสักวาลงไปในหนังสือพิมพ์ จำไว้ได้แต่ครึ่งคำ ว่า “สักวานายสวัสดิไปผลัดช้าง” มีความชี้ให้เห็นว่าเป็นคนละคำ ผลัดช้าง เป็นไปลากซุงแทนช้าง ผัดช้าง เป็นล่อช้าง แต่คำชี้แจงนั้นดูก็ไร้ผล เขาเขียน ผลัด กันทั่วบ้านทั่วเมือง ไม่เขียนตามเขาก็ไม่เป็นคน

ย้อนหลัง

๒) ในเรื่องความรู้ทางพราหมณ์ ไม่จำเป็นว่าต้องเรียนอะไรมากมาย อยากรู้อะไรสดๆ หาดูในพวกพจนานุกรมก็ทราบได้ เพราะท่านอาจารย์ผู้แต่งพจนานุกรมท่านก็ได้ดูสอบสวนมาแล้ว เว้นแต่ท่านบอกไว้เท่าที่ท่านเห็นสมควรจะบอกเป็นแน่ว่า ถ้ารู้มากกว่าที่บอกไว้ในพจนานุกรมก็ดีขึ้น แต่ก็มีความสำคัญอยู่ที่มีธุระจะต้องเล่น ถ้าไม่มีธุระจะเล่นก็ไม่ต้องเรียนให้เสียเวลา สวะทั้งนั้น

คาด

๓) พระนาคปรก คิดว่าตั้งใจทำเป็นพุทธาวตาร คือนารายณ์แบ่งภาคมาเป็นพระพุทธ เดิมทีคาดว่าเป็นความคิดเขมร เพราะเห็นพระนาคปรกโดยมากเป็นฝีมือเขมร รูปในอินเดียซึ่งทำเข้ามาให้ดูในสมุดต่างๆ ไม่พบเลย แต่ไปเที่ยวเกาะชวาไปพบเข้าว่ามีที่นั่น ก็ต้องว่าไว้ทีว่าเป็นความคิดศรีวิชัย ที่เราว่าเป็นปางประทับร่มไม้จิกนั้นน่ากลัวผิดเหมือนหนึ่งพระรำพึง เกล้ากระหม่อมก็ได้ถามท่านผู้ใหญ่ว่า รำพึงอะไรที่ไหน ท่านบอกว่ารำพึงธรรมที่จะไม่แสดง คือตอนที่พรหมมาอาราธนาทำให้คิดเห็นไปว่าปางนั้นควรเป็นพระนั่ง ไม่ควรเป็นพระยืน เรื่องพระปางต่างๆ นั้นสมเด็จพระปรมาทรงรับผิดรับชอบ ที่คิดว่าเป็นปางใดนั้นปางมารวิชัยและปางสมาธินำไป แต่ที่จริงพระพุทธรูปซึ่งสร้างขึ้น ด้วยอาการต่างๆ นั้นมีอยู่มาก เขาย่อมจะสร้างขึ้นด้วยนึกทางใดๆ ต่างๆ กัน แล้วจะมาเหยียดเอาเข้าปางหมดทั้งนั้นเห็นเป็นหลง

ข่าว

๔) เมื่อวันที่ ๑๐ เดือนนี้ ได้ไปในการทำบุญ ๕๐ วันศพชายวิบูลย์ที่บ้านของเธอ เห็นศพใส่ไว้ในหีบอย่างฝรั่ง ทำด้วยไม้ขัดมัน คงเป็นหีบที่ใส่ศพมาจากปีนังนั่นเอง แล้วก็ทำชั้นรองขึ้นสองชั้น เป็นไม้สักอย่างเกลี้ยงๆ ขัดมันเข้าชุดกับหีบ

๕) เมื่อวันที่ ๑๑ เป็นวันเสาร์ ชายดิศเธอว่างจึ่งพาหญิงหลุยกับลูก ๒ คนมาหาสนทนากันเล่น เธอชวนให้ไปค้างที่วังวรดิศ ก็ได้ไปตามใจเธอเมื่อวานนี้ หนังสือเวรฉบับนี้ทำที่วังวรดิศเป็นประเดิม แต่คิดจะไปๆ มาๆ

๖) เมื่อวันที่ ๑๒ ไปตำหนักองค์เหม เธอประชุมญาติเลี้ยงน้ำชาในการพระชันษาของเธอได้ ๔ รอบ ไม่ได้ออกการ์ดเชิญ เป็นแต่บอกให้รู้กันระหว่างญาติซึ่งเธอคุ้นเคย

ลายพระหัตถ์

๗) ลายพระหัตถ์เวรปะปิด ซึ่งลงวันที่ ๗ มกราคม พร้อมทั้งนิทานโบราณคดี “เรื่องไข้เมืองเพชรบูรณ์” เขานำไปส่งแล้วเมื่อวันที่ ๑๒ จะกราบทูลสนองลางข้อต่อไปนี้

๘) ตามที่ตรัสเล่าถึงเสด็จไปทำบุญขึ้นปีใหม่ ทรงอุทิศพระกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เป็นการที่ได้ทรงปฏิบัติดีมีกตเวทีอยู่เป็นหนักหนา ขอถวายอนุโมทนาด้วย ยินดีเป็นอย่างยิ่ง

มีสิ่งสดุดใจอยู่ในเรื่องซึ่งตรัสเล่าถึงอยู่ ๒ ประการ ประการหนึ่งว่าที่วัดปิ่นบังอรตั้งโต๊ะพระบรมรูป ล่ามสายสิญจน์มาถึงพระสวดถวายพระพรปีใหม่นั้น พระสวดอะไรซึ่งตรัสเรียกว่าสวดถวายพระพร อีกประการหนึ่งที่วัดมหินทรารามเอาด้วยสายสิญจน์ย้อมเหลืองมาให้ทรงถือ อะไรๆ ของพระที่ย้อมเหลืองนั้นเป็นอย่างไทย เกณฑ์เอาว่าพระเป็นเจ้าของสีเหลือง ที่จริงไม่จำเป็นเช่นนั้น สีเหลืองก็นึกเอาสีจีวร จีวรก็ว่าแต่ว่าย้อมน้ำฝาด น้ำฝาดไม่จำเป็นจะต้องเป็นสีเหลืองอย่างเดียว สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ที่ท่านบอกว่า มีหนังสือมากที่เห็นพระเป็นงัว นั่นแสดงว่าจีวรเหมือนสีงัวไม่ใช่เหลือง อนึ่งที่เรียกว่า “สายสิญจน์” นั้นก็แคบตำราพิธีตรุษของเก่าซึ่งโปรดประทานไป ในนั้นเรียก “มงคลสูตร” ดีอยู่ ได้จดบันทึกความเห็นถวายมาแล้วในเรื่องนั้น

พัดที่พระใช้บังหน้าสดมนต์ น่าจะไม่ใช่ประเพณีครั้งพุทธกาลได้เคยขอให้ท่านผู้รู้ค้นหนังสือซึ่งกล่าวครั้งพุทธกาลมาแล้ว มีแต่สำหรับใช้โบกปัด เป็นพัดหรือแซ่อะไรก็จับไม่ได้ชัด ที่เป็นกำหางนกยูงก็มีนั่นใกล้ไปข้างเป็นไม้ยูงกวาด สายสิญจน์หรือมงคลสูตรนั้นครั้งพุทธกาลไม่มีแน่

๙) การฝังศพทางข้างจีน ที่เอากระดูกใส่หม้อนั้นไม่ใช่ของใหม่ ข้างจีนแบบเก่าเขาก็ทำอย่างนั้นแล้ว ที่เมืองจีนเสียที่เป็นที่ฝังศพไปเสียถึง ๑ ใน ๑๐ นั้น เป็นด้วยเก็บที่ห้องซุ้ยกันไว้รายละมากๆ ไม่จำเพาะแต่ที่ฝังศพ ในการที่ปีนังจัดนั้นก็คือเลิกการเก็บห้องซุ้ยเป็นทางเอาอย่างฝรั่งแท้จริงฝรั่งก็มีหลายอย่างตามฐานะที่เป็นคนมั่งคั่งและคนจน ที่เป็นตึกใหญ่ก็มี เปลืองที่พอใช้เหมือนกัน แต่ยังน้อยกว่าห้องซุ้ยใหญ่ๆ

๑๐) เรื่องฉัตร เห็นว่าพระดำริจะถูกโดยมาก คิดจะจัดเดาให้เป็นระเบียบก็เดาไม่ได้ ได้แต่คิดเห็นไปเป็นอย่างๆ ดั่งต่อไปนี้

ก) ฉัตรเครื่องหรือฉัตรเบญจาก็เป็นอันเดียวกัน คือฉัตร ๕ สี เดิมทีก็จะเป็นผ้าสีเปล่า แต่เอาเครื่องทอประดับเข้า แล้วก็กลายเป็นปักไหมทอง ปักทองแผ่ลวด และตีพิมพ์ทอง กลายเป็นลายไป ฉัตรกำมะลอก็อยู่ในพวกนั้นเอง

ข) ฉัตรทั้ง ๕ สีนั้น เมื่อแยกใช้อันเดียวก็ถือเอาว่าสีขาวเป็นสูงพระเจ้าแผ่นดินใช้ขาว แต่ผู้อื่นใช้สีอื่น

ค) ฉัตร ก็คือร่ม ควรจะเป็นชั้นเดียว ที่ซ้อนชั้นนั้นก็ได้ยินมีผู้คิดมาแล้วว่าเพราะตีเมืองได้จึ่งซ้อนชั้นขึ้น ถ้าหากเป็นเช่นนั้นก็เป็นในอินเดียไม่ใช่เป็นทางบ้านเรา ด้วยได้สังเกตมาแล้ว ฉัตรซ้อนชั้นนั้นมีมาแต่อินเดียเราเอาอย่างเขา เขามีอะไรเราก็มีบ้าง ทางเราถือซ้อนชั้นกันเป็นยศ แต่ก็เห็นจะถือกันเป็นอย่างใหม่ ก่อนขึ้นไปดูเลเพลาดพาด เหมือนหนึ่งพระราชพิธีสนามใหญ่ในกฎมนเทียรบาลก็มีฉัตร ๙ ชั้น ๗ ชั้น ๕ ชั้น ๓ ชั้น ๒ ชั้น ชั้นเดียวอันชั้นเดียวนั้นทีจะได้แก่ร่มเรานี่เอง

ฆ) ยศฉัตรที่ทำด้วยสิ่งต่างๆ ทราบว่าผ้าขาวเป็นที่ ๑ กำมะลอเป็นที่ ๒ ตาดขาวเป็นที่ ๓ ตาดเหลืองเป็นที่ ๔ โหมดเป็นที่ ๕ แต่ดูเหมือนกำหนดชั้นเหล่านี้ จะเป็นครั้งรัชกาลที่ ๔ เพราะได้ทรงพระธาชดำริฉัตรผ้าขาวและกำมะลอขึ้น พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ว่าพระมหาเศวตฉัตร เดิมหุ้มตาดก็เคยได้ยิน แต่ไม่เข้าใจว่าตาดอะไร ขาวหรือเหลือง อย่างไรก็ดีเป็นอันตื่นทอง ตั้งใจจะให้เป็นฉัตรทอง

ง) ฉัตรพระคชาธาร ในตำรากระบวนเพชรพวงครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ไม่มี น่ากลัวจะมาคิดขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์หรือปลายกรุงเก่า

เหล่านี้ละเมอถวาย เพื่อเป็นทางทรงพระดำริต่อไป

๑๑) หนังสือเวรซึ่งส่งมาถวาย ถ้าคราวใดไม่ได้ทรงรับโปรดให้ทราบด้วย จะได้คัดส่งมาถวายอีก

๑๒) นิทานโบราณคดีเรื่องไข้เมืองเพชรบูรณ์นั้น ยืดยาวมาก ไม่ใช่แต่ต้องใช้เวลาอ่านนาน มีข้อที่จะกราบทูลมากด้วย จำเป็นต้องตัดออกไว้กราบทูลต่อคราวหน้า

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ