วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔

ทูลสมเด็จกรมพระนริศฯ

สัปดาห์นี้เจ้าพนักงานไปรษณีย์ เขาเชิญลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ มาส่งวันเสาร์ที่ ๒๒ เวลาเช้า จึงมีเวลาจะเขียนสนองลายพระหัตถ์ได้ทั้งฉบับลงวันที่ ๑๑ ซึ่งค้างอยู่ กับฉบับลงวันที่ ๑๘ ในคราวเดียวกัน

แต่การดีดพิมพ์จดหมายฉบับนี้ ต้องเปลี่ยนตัวเสมียน เพราะเสมียนคนเคยดีดพิมพ์เขาอยากจะกลับไปกรุงเทพฯ ด้วยกันกับคนขับรถ ๆ หาชาวปีนังมาตัวแทนได้ แต่ชาวปีนังไม่มีใครอาจดีดพิมพ์ภาษาไทยได้ หญิงพูนเธอจึงมีแก่ใจรับอาสาดีดพิมพ์เหมือนอย่างหญิงอาม จนกว่าจะหาเสมียนดีดพิมพ์ได้

ทูลฉลองลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๑๑

๑) ซึ่งทรงปรารภว่าหิมะเป็นอย่างไร “แลไม่เห็น” นั้น หม่อมฉันจะลองทูลอธิบายอย่าง “บอกลาย” ชิ้นกิมตึ๋งถวาย อันน้ำแข็งที่ตกลงมาในโลกนี้เป็น ๔ อย่างต่างกันคือ หิมะ Snow อย่าง ๑ เปลวหิมะ flake อย่าง ๑ ลูกเห็บ hail อย่าง ๑ และน้ำค้างแข็ง frost อย่าง ๑ เผอิญหม่อมฉันเคยเห็นตัวจริงทั้ง ๔ อย่างในเวลาและประเทศต่างกัน จึงสามารถทูลได้

เมื่อหม่อมฉันยังอยู่ในโรงเรียน วัน ๑ ไปเที่ยวด้วยกันกับสมเด็จพระราชปิตุลาและเจ้าพี่พระองค์อื่น เวลาอยู่ในห้างเดอเบก๊อตเต ซึ่งตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำตรงหน้าวัดอัสสัมชัญ ฝนตกห่าใหญ่ ติดฝนอยู่ด้วยกันในห้างนั้น พอฝนซา ได้ยินคนพวกที่ห้างเขาว่าลูกเห็บตก ออกไปดูเห็นตกเกลื่อนอยู่ในลานหน้าห้าง แต่ละก้อนขนาดสักเท่าก้อนช็อคโคแล็ตที่เขาใล่กลักขาย เก็บเอามาพิจารณาดูเป็นน้ำแข็งใสเหน่ง เหมือนอย่างน้ำแข็งที่ทำขายไม่มีผิด

เมื่อหม่อมฉันไปยุโรปครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๓๔ ขึ้นรถไฟไปที่เมืองเนปปอลในประเทศอิตาลี จะไปลงเรือที่เมืองบรินดีซี รถไฟหยุดพักที่สถานีแห่ง ๑ บนภูเขาสูง กำลังเปลวหิมะตก เปลวหิมะนั้นเป็นแผ่นบางอย่างกระดาษขนาดสักเท่าเล็บมือ ปลิวร่อนลงมาช้าๆ แลเห็นถนัด เมื่อถึงพื้นแล้วจึงเกาะกันเป็นพื้นหิมะ ควักเอาขึ้นปั้นก้อนปากันเล่นได้

กลับจากยุโรปครั้งนั้นหม่อมฉันผ่านมาทางอินเดีย เมื่อขึ้นไปเมืองดาจีลิงบนภูเขาหิมาลัย เวลารุ่งเช้าเห็นน้ำค้างแข็งอยู่่ตามยอดหญ้าที่ในสวน รูปกลมๆ เหมือนกับลูกปัดแต่ใสเป็นแก้วขนาดสักเท่าเมล็ดผักกาดติดอยู่ตามยอดหญ้า แรกตกลงมาเป็นน้ำเหลว เมื่อมาค้างอยู่บนยอดหญ้าแล้วจึงแข็ง เวลาหนาวจัดเมื่อใกล้รุ่ง

หม่อมฉันไปยุโรปครั้งหลังใน พ.ศ. ๒๔๗๓ ไปเห็นหิมะบนยอดคอนนะกรัดของภูเขาอัลปดังที่เล่าไปแล้ว ลักษณะหิมะนั้นน่าเปรียบด้วยทรายยิ่งกว่าสิ่งอื่น ด้วยหิมะที่ตกนั้นขนาดเดียวกับเมล็ดทรายปลิวมา แลเห็นก็อย่างทรายปลิวไม่เห็นเมล็ด แต่ถ้ามีลมพัดพาหิมะปลิวมาถูกหน้า เมื่อตกถึงพื้นแล้วจึงเกาะกันเป็นแผ่น เช่นเดียวกันกับเปลวหิมะ และอาจควักขุดเอาขึ้นมาปั้นเล่นได้เหมือนกันจับก็ไม่เปียกมือ เพราะธาตุน้ำแข็ง ไม่เยิ้มเหมือนอย่างก้อนน้ำแข็งสามัญ

๒) ชื่อเมืองเพชรบูรณนั้น ตั้งเมื่อเมืองเพชรบุรีมีอยู่แล้ว หม่อมฉันนึกว่าเดิมเห็นจะตั้งชื่อว่า “พีช” หมายความว่า เป็นที่เกิดพืชผลเมืองโบราณในอินเดียชื่อว่า Bijpure ก็มี อาจถ่ายชื่อมาเหมือนเช่นเมืองอโยทธยา แต่ภายหลังมาเปลี่ยนหรือเรียกเพี้ยนไปเป็น “เพชรบูรณ” วินิจฉัยนี้ใกล้ชิดกว่าเปลี่ยนสามแสนเป็นสามเสน

๓) คำสำหรับเรียกญาติต่างชั้นดูเป็น ๒ ประเภท ประเภท ๑ เป็นญาติสืบสายโลหิตมีชื่อบัญญัติแต่ “๗ ชั่วโคตร” นับแต่ตัวเองถอยขึ้นไป ๓ ชั่วคือ พ่อ ปู่ ทวด นับต่อลงไป ๓ ชั่วคือ ลูก หลาน เหลน เพราะถือว่ารู้จักตัวกันได้เพียงเท่านั้น สูงกว่าบัญญัติขึ้นไปไม่มี นุนูจึงต้องคิดคำ “เชียด“” ขึ้นใหม่ ชื่อชั้นต่ำกว่าบัญญัติก็ไม่มี จึงเรียกกันว่า “ลื้อ” บ้าง “หลาน” บ้าง ฝรั่งก็บัญญัติ ๗ ชั่วโคตรอย่างเดียวกัน ถอยขึ้นไปมี Father, Grandfather, Greatgrand father. ชั้นต่อลงมาก็มี Son, Grandson, Greatgrandson. กว่านั้นใช้เพิ่มค่ำ Great นำว่า Great-grandfather, Great-Greatgrandson. ชื่ออีกประเภท ๑ เรียกสาขาญาติเช่น ลุง ป้า อา น้า พี่ น้อง ทั้ง ๒ ประเภทยังเรียกชื่อต่างกันตามลิงค์ ชั้นสูงคือ-พ่อแม่ ปู่ตา ย่ายาย ประหลาดอยู่ที่บางคำบอกลิงค์ เช่น-ปู่ ลุง เป็นชาย แม่ ยาย ป้า เป็นหญิง แต่บางคำรวมกันทั้ง ๒ ลิงค์เช่นทวด อา น้า พี่ น้อง ต้องเอาคำอื่นเพิ่มเข้าให้รู้ลิงค์ จับเกณฑ์ไม่ได้ว่าไฉนจึงเป็นเช่นนั้น

๔) ปรางค์เงินที่เขาให้หม่อมฉัน ณ เมืองสกลนครนั้น ไม่เหมือนปรางค์อรดีมายานารายณ์เชงเวงเลยทีเดียว ผู้ทำอาจไม่ได้ดูก็เป็นได้ ปรางค์ตัวจริงของเขางาม เป็นปรางค์แบบขอมแท้ จำหลักลายเป็นรูปทางวิษณุเวท

ทูลสนองลายพระหัตถ์วันที่ ๑๘

๕) ซึ่งทรงปรารภถึงยอดนพศูลนั้น หม่อมฉันลองเปิดพจนานุกรมภาษาบาลีของจิลเดอส์ดู พบคำ สูลา Sula แปลว่า เครื่องมือที่ปลายแหลมอย่าง ๑ ว่า หอก Lance อย่าง ๑ ก็ตรงกับที่เราเรียกพระแสงตรีศูล ใช่แต่ไทยเราเท่านั้น เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปเมืองชวา สุลต่านยกยาถวายหอก ๓ เล่ม คร่ำทองของโบราณเล่ม ๑ เขาก็เรียกว่า “ตรีศุละ” เพราะฉะนั้นที่เรียกยอดพระปรางค์ว่า นพศูล คงหมายว่า ยอดแหลม ๙ ยอด รูปยอดกลางก็เหมือนหอก ยอดกิ่งสาขาอีก ๘ ยอดก็มีคมและแหลม น่าสงสัยแต่ที่ว่า “๓ วา” ในหนังสือพงศาวดารมีหลายแห่ง ก็ดูเหมือนว่า ๓ วาทั้งนั้น หามีที่ว่ายอดนพศูล ๒ วาหรือ ๖ ศอกหรือ ๑ วาไม่ จึงชวนให้สงสัยว่าเขาตั้งใจจะว่ายอดนพศูล “๓ ชั้น” แต่ตรงคำ “วา” เดิมจะเป็นคำอื่น

๖) แบบเรือนจีน แม้ที่เอามาสร้างในเมืองไทย ย่อมทำหลังคาแข็งแรงกว่าแบบเรือนไทยหรือเรือนฝรั่ง เข้าใจกันมาว่าเพราะจะให้ทานน้ำหนักหิมะ “สะโน” ที่ตกเสมอทุกปีได้ สังเกตดูอย่างตึกจีนในสำเพ็ง ถ้าหิมะท่วมเพียง ๒๐ เซนต์ดูก็น่าจะพอทานได้ ตึกเมืองน่ำกิงที่หลังคาพังน่าจะเป็นตึกสมัยใหม่ ซึ่งเอาแบบฝรั่งเข้าเจือปน และทำโดยสับเพร่าไม่นำพาต่อหลักของแบบเมืองจีน จึงทนน้ำหนักหิมะไม่ไหว และจึงพังแต่บางหลัง

๗) พระเจดีย์ในห้องพระ นอกจากที่ทรงพรรณนามายังมีพระเจดีย์ศิลาอ่อนอีกองค์ ๑ เป็นฝีพระหัตถ์พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ สร้างตามประสงค์ท่านกลีบผู้สร้างวัดกรรณมาตยาราม เป็นเศรษฐินีพระราชภพบริหาร (อ่ำ) ได้รับมรดกพระเจดีย์ฝีพระหัตถ์พระองค์เจ้าประดิษฐฯ ๓ องค์ เอามาให้หม่อมฉัน เป็นพระเจดีย์กาไหล่ทองคู่ ๑ พระเจดีย์ศิลาอ่อนองค์ ๑ หม่อมฉันชอบพระเจดีย์องค์ศิลาอ่อน แต่นึกว่าถ้าไม่รับพระเจดีย์กาไหล่ทองไว้ด้วยก็จะเลยสูญเสีย จึงรับไว้ทั้ง ๓ องค์ แล้วถวายพระเจดีย์กาไหล่ทองทั้งคู่ไปตั้งไว้ในคูหาใต้รูปพระอัครสาวก ที่ในโบสถ์วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ อยู่ที่นั่นจนบัดนี้

๘) คำว่า “พระ” นั้น ถ้าใช้ในทางศาสนาเช่นว่า “ไหว้พระ” เป็นต้น พม่าใช้เช่นเดียวกันและคำเดียวกันกับไทย เป็นแต่สำเนียงแปร่งไปเป็น “พยะ” ประเพณีที่เอาคำพระนำหน้าเรียกเครื่องราชูปโภคและอื่นๆ อันเนื่องด้วยพระมหากษัตริย์ พม่าก็มี แต่เขาใช้คำกระไรหม่อมฉันลืมเสียแล้ว นึกไม่ออก

๙) ประเพณีที่ฝรั่งจูงผู้หญิงนั้น มิคติว่าจูงโดยปกติให้ผู้หญิงอยู่ข้างขวา เป็นการเคารพ ถ้าเวลาแต่งงานให้ผู้หญิงอยู่ข้างซ้ายเพราะใกล้หัวใจชาย แต่ในการเคารพฝรั่งถือว่าข้างขวาเป็นสำคัญ เช่นนั่งรถหรือเลี้ยงอาหารย่อมให้แขกนั่งข้างขวา ดูจะสืบมาแต่ประเพณีประทักษิณนั่นเอง

๑๐) คติที่ไทยชอบทำรูปภาพตัวใหญ่ๆ เห็นจะเอามาแต่เขมรจริงอย่างทรงพระดำริ เมื่อพระยาโบราณฯ ขุดเปลื้องกองดินที่ท่วมฐานพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ ก็พบทำรูปครุฑตัวใหญ่ๆ รายตลอดฐานบัทม์ เห็นได้ว่าเอาแบบมาแต่พลับพลาสูงที่นครธม ยอดประตูพรหมที่ในพระราชวังกรุงศรีอยุธยา ก็ทำแต่หน้าพรหมตามแบบเขมร เป็นของประดิษฐ์ในครั้งพระเจ้าปราสาททองทั้งนั้น

๑๑) หม่อมฉันเข้าใจว่าพระที่นั่งพุตตานคนหามมีขึ้นในรัชกาลที่ ๔ แต่คิดหาหลักฐานที่จะอ้างเวลานี้ยังนึกไม่ออก นอกจากวินิจฉัยที่ได้คิดโดยสันนิษฐาน ด้วยลักษณะพระที่นั่งพุดตานเหมือนกันกับพระยานมาศทุกอย่าง ผิดกันแต่พระที่นั่งพุดตานมีแผงโล่บังพระองค์ ๒ ข้าง พระยานมาศไม่มีแผงโล่เช่นนั้น สังเกตในหนังสือเก่าก่อนรัชกาลที่ ๔ เห็นเรียกพระที่นั่งพุดตานแต่สัปคับช้างทรง (เช่นเอาอย่างมาทำธรรมาสน์งานพระบรมศพสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง) มีแผงโล่บังพระองค์ สำหรับป้องกันหอกซัดหรือลูกธนูซึ่งอาจพุ่งมาได้แต่ไกล เพราะประทับอยู่ที่สูงบนหลังช้าง ก็เป็นการสมควรอยู่ แต่ที่เอามาทำ “ซ้อนชิ้น” กับพระยานมาศดูไม่มีมูลอะไร นอกจากจะให้แปลก อีกประการ ๑ เมื่อก่อนรัชกาลที่ ๔ พิเคราะห์ตามความที่ได้สดับมา การที่พระเจ้าแผ่นดินทรงพระยานมาศมีน้อยครั้ง แม้พระมหามงกุฎในรัชกาลที่ ๒ (และที่ ๓) ก็ไม่ได้ทรง ดูไม่มีเหตุอะไรที่จะสร้างพระที่นั่งพุดตานขึ้นเมื่อก่อนรัชกาลที่ ๔

๑๒) หม่อมฉันยินดีที่ทราบว่าสมเด็จพระพันวัสสาเสด็จไปเสวยบ้านหญิงจง เจ้านายที่เสด็จไปคงชื่นพระหฤทัยที่ได้พบปะกันเช่นนั้นทุกพระองค์ หม่อมฉันอยู่ไกลรู้เข้าก็ยังชื่นใจด้วย พวกลูกหลานก็คงพลอยยินดีทั่วหน้า

ข่าวเมืองปีนัง

๑๓) ได้ยินว่าขึ้นเดือนมีนาคมเขาจะซ้อมปิดมืดอีก และคราวนี้จะปิดตลอดรุ่งติดๆ กันหลายวัน คิดดูการปิดมืดมันออกจะเป็นประเพณีโลกอยู่แล้ว ต้องปลงใจว่าเป็นเวรกรรมจะเดือดร้อนไปทำไม เมืองที่อยู่ในสมรภูมิเขาปิดทุกๆ คืนมาตั้งปีก็ยังทนอยู่ได้ เลยคิดต่อไปถึงสัตว์นรกที่ถูกต้มถูกเผาอยู่เป็นนิจ นานเข้าก็คงเคยตัวจนมีวันสบายและไม่สบายที่ในกะทะและกองไฟนั้น.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. วัดนี้ปัจจุบันเขียนชื่อว่าวัดกันมาตุยาราม

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ