วันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ข่าวล่วงแล้ว

๑) เมื่อวันอังคาร เดือนกันยายน วันที่ ๒๓ ได้รับลายพระหัตถ์เวรซึ่งลงวันที่ ๑๕ กันยายน เข้าใจว่ามากับรถไฟซึ่งถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๒๐ มีปะปิดหัวซองท้ายซอง คือทางปีนังกับทางกรุงเทพฯ จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์นั้นต่อไปในเบื้องล่าง หนังสือเวรซึ่งส่งถวายเขาจะทำอย่างไร จะถึงปีนังเมื่อไร แล้วเขาจะนำไปถวายเมื่อไร ย่อมบันดาลไม่ได้ สุดแต่จะเป็นการสะดวกแก่เขา เป็นแต่ว่าจะส่งหนังสือเวรถวายในวันพุธ ซึ่งรถไฟออกจากกรุงเทพฯ ไปปีนังตามเคยเท่านั้น

สนองลายพระหัตถ์

๒) ตรัสเล่าเรื่องทหารฝรั่งเศสกับป้อมที่กรุงธนนั้นดีเต็มที เกล้ากระหม่อมไม่ได้ทราบเรื่องมาก่อนเลย ทำให้ได้ความรู้กว้างออกไปอีกมาก

๓) พระเจดีย์ ๔ องค์ที่วัดพระเชตุพนนั้น เคยได้ยินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสเล่าถึงกระแสพระราชดำรัสทูลกระหม่อมของเรา การสร้างพระเจดีย์นั้นเป็นเรื่อง “ใส่คะแนน” อย่างสร้างพระชัยประจำรัชกาลเป็นต้น ที่ทูลกระหม่อมของเราตรัสห้าม ทรงพระราชดำริหาเหตุผลมาตรัสตัดเสียก็ควรแล้ว เพื่อไม่ให้ทำใส่คะแนนอีก การใส่คะแนนต่อไปจะลำบากมากขึ้นทุกที เจ้านายเราก็เคยพูดกันมาแล้ว

๔) “ซาเต๊ะ” มาแต่ “สเต๊ก” นั้นเคยทราบ แต่ออกจะลืมๆ ไปแล้ว คำไรที่ว่ามาแต่คำไรนั้นก็ดูชอบกล ลางคำก็เชื่อ ลางคำก็สงสัย เช่น เรือ “ล่องบด” ตรัสว่ามาแต่ “ลองโบด” นั้นเชื่อ หรือคำ “ทุ่มโมง” เช้าว่ากลางวันตีด้วยฆ้อง กลางคืนตีด้วยกลอง นั้นก็เชื่อ แต่ที่ว่า “มูลี่” มาแต่ “ม้วนคลี่” หรือ “กระโถน” มาแต่ “กระถ่ม” นั้นออกจะเอือมๆ ที่จะเป็นด้วยใกล้หรือห่าง

๕) ตามตรัสเล่าถึงได้ทอดพระเนตรเห็นการเลี้ยงวัวที่ปีนังมีแต่แขกนั้น พอใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ในบางกอกก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน เห็นได้ว่าแขกเขาเคยทำมาอย่างไรก็ทำไปตามเคย เราเห็นต้องด้วยพระบาลีก็อุดหนุน มีให้ที่เลี้ยงอันเป็นที่ว่างเปล่าอยู่เป็นต้น ส่วนที่เขาส่งนมเห็นเขาจะทำด้วยใจเขาเองเป็นการตอบคุณ ไม่ใช่เราบังคับ ข้อเหล่านี้ทำให้ภูมิใจว่าที่กราบทูลมาก่อนนั้นไม่ผิด

เรื่องพันธุ์ ชนิดไรเหมาะกับที่ไหนนั้นเอาเป็นแน่ได้ ย่อมเป็นไปด้วยอากาศเป็นต้น ได้เที่ยวไปในประเทศชวาหลายเมือง สังเกตวัวเห็นลางเมืองก็ใหญ่ ลางเมืองก็เล็ก ที่ใหญ่เล็กจะเป็นต่างพันธุ์กันหรือมิใช่นั้นไม่ทราบ แต่คิดว่าเป็นด้วยอากาศเหมือนหนึ่งตาฉาย (หม่อมศิริวงษ์วรวัฒน์) แกแกล้งเอาลูกมะเขือเทศมาให้ ที่สวนบางกอกนั้นลูกเท่าหัวแม่มือ แต่ที่สวนเมืองเชียงใหม่นั้นโตเท่าลูกพลับจีน วัวที่บ้านเจ้าพระยาเทเวศรฯ เกล้ากระหม่อมก็ได้เห็น พอเห็นก็รู้ว่าวัวฝรั่งไม่ต้องบอก เพราะผิวมันสีชมพูอย่างผิวฝรั่ง เห็นมันนอนหอบไม่ยืนไม่กินตามปกติวัว เห็นได้ว่ามันผิดอากาศร้อนทนไม่ไหว อีกหน่อยก็ได้ยินว่าตาย วัวนั้นทราบว่าเอมเปอเรอออสเตรียถวาย เมืองฝรั่งนั้นเขาอาจจะเลี้ยงสัตว์เมืองร้อนได้ ด้วยทำห้องปิดเสียไม่ให้อากาศเย็นเข้าไปได้เท่านั้น เปรียบอย่างเราพูดว่า “พายเรือตามน้ำ” แม้กระนั้นพูดถึงเลี้ยงช้างก็จะเลี้ยงได้แต่สองสามตัว ถ้าจะเลี้ยงกันตั้งโขลงแล้วก็ไม่ไหว ทางบ้านเราแม้จะทำที่เลี้ยงสัตว์เมืองหนาวก็จะต้องทำตรงกันข้าม คือทำห้องเย็น ต้องเอาน้ำแข็งใส่เป็น “พายเรือทวนน้ำ” ยากกว่าเขามากมาย

๖) พระนามอย่างจีนของพระเจ้าแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทรนั้น ได้บอกไปให้ที่หอสมุดเขาค้นแล้ว

๗) นึกถึงพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเลี้ยงสิงห์ “เป็นเป๊น” ก็นึกไม่ได้ดี ทีจะเห็นรูปภาพสำเนารูปเขียนเก่า จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินประเทศใดก็นึกไม่ได้

๘) พระพุทธรูปซึ่งตรัสว่าเป็นแบบศรีวิชัยนั้น ถ้าเทียบกับหน้าพระโพธิสัตว์ ซึ่งเราได้มาก็เป็นคนละอย่าง แต่หน้าพระพุทธรูปเขาอาจทำไปคนละอย่างก็ได้ นึกถึงที่เมืองชวาก็จำไม่ได้ อย่างไรก็ดี ในการที่จะทำ “กุละ” พระองค์ขึ้นนั้นยากไม่ใช่น้อย ทางศรีวิชัยเป็นห่มผ้าไม่มีกลีบทั้งนั้น ที่ห่มผ้ามีกลีบเข้าใจว่าเป็นพระพุทธรูปที่ฝรั่งเขาทำ ถ้าเป็นทางอินเดียแท้แล้วก็ห่มผ้าไม่มีกลีบทั้งนั้น เข้าใจว่าเอาพระพุทธรูปอย่างแก้ผ้าของศาสนาชินมาแก้ และเข้าใจว่าพระนาคปรกนั้น เขาตั้งใจจะทำ “พุทธาวตาร” ไม่ใช่สัตตมหาสถานร่มไม้จิกอันพระปางของเรานั้นเอาหนังสือปฐมสมโพธิเข้านาบแต่ท่าเดียว ลางปางไม่เห็นด้วยก็มี อันพระนาคปรกนั้นได้เจาะสังเกตทางอินเดียไม่เคยพบ พบแต่ทางแถบใกล้บ้านเรา ทีจะคิดทำกันขึ้นทางแถบเรานี้ อนึ่งที่พูดว่าพระพุทธรูปทางอินเดียห่มผ้าไม่มีกลีบนั้น ก็ออกจะมาขัดกับพระโลกนาถนั่นตอนข้างหน้าจีวรมีกลีบ แต่เป็นกลีบเล่นๆ เห็นได้ว่าถ่ายแบบพระพุทธรูปอย่างจีวรมีกลีบมาทำเลียน เพราะที่ว่างอยู่ไม่ใช่แบบเดิมมาแล้วจะเป็นของเดิมหรือปั้นซ่อมก็ไม่ทราบ รู้ไม่ได้เพราะทองปิดอยู่ เช่นพระบาทก็เป็นของซ่อมทองลอกจึ่งเห็นว่าเป็นปูน

๙) ประดิทินชวาซึ่งเขียนถวายมาคราวก่อน เขียนชื่อปีที่ ๒ เป็น “เวเฮ” นั้นดีดพิมพ์ผิด ที่ถูกเป็น “เอเฮ” เกล้ากระหม่อมได้อ่านตรวจก็จำไม่ได้ ต่อดูต้นฉบับจึงเห็น แต่ก็เป็นภาษาอาหรับ และไม่มีธุระอะไรที่เราจะจำ เป็นแต่กราบทูลให้ทรงทราบไว้เท่านั้น

เรื่องศักราช ประเทศที่เขาใช้ประดิทินฝรั่ง เขาใช้คริสตศักราชด้วยประชาชนโดยมากไม่ใช่ถือศาสนาคริสตังกันก็มี ว่าใช้เพื่อสะดวก ขันที่แม้ฝรั่งเองลางพวกก็ไม่อยู่สุข คิดเปลี่ยนประดิทินใหม่ เอาปีหนึ่งเป็น ๑๓ เดือน เดือนหนึ่งเป็น ๔ อาทิตย์เกินอยู่วันหนึ่งจัดเอาเป็นวันพิธี คุณที่ยกขึ้นอ้างก็ว่าต้นเดือนวันไรก็เป็นวันนั้นตลอดปี เกล้ากระหม่อมมีศรัทธาเห็นชอบด้วยเขาเต็มประตู นึกถึงวันเก่าอย่างฝรั่งก็ชอบกล มี ๑๒ เดือน เหมือนกับเรา แต่มีชื่อ ๘ เดือนเป็นนัมเบอร์ ๔ เดือน มีตั้งต้นแต่เดือนที่ ๗ เป็นต้นไป เดือนสุดปีเป็นนัมเบอร์ ๑๐ ทีเดิมจะมี ๑๐ เดือนเป็นปีหนึ่ง ตามที่ตรัสว่าทางลานนาออกชื่อปีเป็นอย่างหนึ่งไปนั้นได้สอบแล้ว ไปเหมือนกันเข้ากับทางไทยอาหม ทำให้รู้สึกในใจว่าเขาเก่ากว่าเรามาก

ที่ว่าพระเจ้าปราสาททองลบศักราชนั้นเป็นให้ชื่อผิด ที่จริงไม่ได้ลบศักราชลบปีต่างหาก แต่ปีที่ทรงลบนั้นก็ไม่ปรากฏว่าต่อมาได้ใช้ที่ไหนเลย เห็นจะใช้แต่ในแผ่นดินนั้น สิ้นแผ่นดินแล้วก็แก้ไปหาเก่า การเปลี่ยนปีนั้นเปลี่ยนยาก ด้วยเป็นของใช้กันอยู่มากในโลกนี้อย่างเดียวกันทั้งนั้น

๑๐) “กระบวนเพชรพวง” ทราบว่าทำในแผ่นดินพระนารายณ์ ได้ทราบนั้นเป็นกระบวนช้าง เคยได้ให้พระยาอนุมานสอบดูช้างที่ผูกเครื่องพระคชาธารมาทีหนึ่งแล้ว ในกระบวนนั้นไม่มี แล้วมาทราบที่ตรัสครั้งนี้อีก ว่าที่เขียนวัดพระแก้วนั้นก็คือเอาออกจากกระบวนเพชรพวงนั้นเอง ถ้าเช่นนั้นกระบวนเพชรพวงก็มีทุกอย่าง ทำขึ้นเป็นตำราครั้งแผ่นดินพระนารายณ์ จะขอฉบับเขาดูก็ทีจะไม่เป็นประโยชน์อะไรแก่ตัว นอกจากจะมีสงสัยอะไรอยู่

๑๑) ในการที่สมเด็จพระพันวัสสาทรงทำบุญร่นวันเร็วเข้ามานั้น ทรงสันนิษฐานเหตุผลนั้นเห็นเป็นถูกแล้ว และข้อที่ตรัสสอนให้ปลอบใจตัวนั้นมีราคามากเป็นความจริงดังนั้น

๑๒) เรื่องเขาจะดับไฟมืดนั้นเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีอะไรจะกราบทูล

บรรเลง

๑๓) ได้กราบทูลเรื่องละครหมัด เรื่องนั้นพาให้กราบทูลเรื่องบรรเลงนี้ต่อไป

ที่ในประเทศชวาพบเขามี “แฝ” กันบ่อยๆ แต่ไม่ใช่บ่อยซ้ำอยู่ในเมืองเดียว เขาย้ายไปมีที่เมืองนั้นบ้างเมืองนี้บ้าง เราก็เที่ยวย้ายที่ไปเหมือนกันจึงได้พบ “แฝ” บ่อยๆ ลางทีพระองค์ทูลกระหม่อมชายเองก็ทรงนำเข้าเที่ยวในนั้น ลางทีก็ลูกของท่านนำเอาเป็นนิยายไม่ได้ “แฝ” นั้นก็จัดเป็นร้านตามเคย ผู้นำไม่ได้นำเข้าดูทั่ว เห็นจะนำดูแต่ที่เก็งว่าจะพึงใจ ในเรื่องละครหมัดนั้น ได้กราบทูลถวายแล้ว ต่อไปนี้จะกราบทูลด้วยเรื่องเขากินปลา เขาเอาปลาทองเลี้ยงไว้ในหม้อแก้วเป็นหลายใบ แล้วคนกินก็มากินเข้าไปทั้งน้ำทั้งปลา แล้วก็กลับรากออกมาทั้งน้ำทั้งปลา เอาภาชนะซึ่งทำด้วยแก้วรอง น้ำก็ใสบริสุทธิ์ กับทั้งปลาก็ว่ายอยู่ในน้ำตามเคย น้ำที่เห็นกลืนเข้าไปนั้นเห็นมากเกินกว่าที่กระเพาะจะมีรับรองได้ด้วย เขาจะทำอย่างไรไม่ทราบ คิดอะไรไม่ออกที่นอกจากว่า “เขาบัง” มีอีกอย่างหนึ่งซึ่งควรจะกราบทูล เขาว่าเขียนรูปภาพสีน้ำมันแล้วแผ่นหนึ่งได้ในกี่นาทีก็ลืมเสียแล้ว เข้าไปดูเห็นเขียนรูปนั้นเป็นต้นมะพร้าว ๒ ต้น ก็เอาเป็นแล้ว การนี้รับอาสาทำได้ไม่ยากเลย การเที่ยวร้านนั้นชอบกล ย่อมแล้วแต่ใครจะพึงใจอะไร เหมือนหนึ่ง “แผ่” ซึ่งกราบทูลนั้น พวกผู้หญิงไปจมอยู่ที่ร้านขายพลอย อื่นๆ ไม่ได้เห็นแต่เขาก็ไม่มีประสงค์ที่จะเห็น เหมือนหนึ่งเกล้ากระหม่อมมาพูดถึงร้านขายไม้กรอบรูปที่ถนนพาหุรัด แต่แม่โตไม่เคยเห็นเลยว่ามี ทั้งนั้นก็เพราะมีใจประสงค์ต่างกัน

ข่าวใหม่

๑๔) ในวันที่ ๒๙ กันยายน อันเป็นวันดีดพิมพ์หนังสือเวรฉบับนี้ สำนักพระราชวังส่งหมายมาให้ฉบับ ๑ บอกว่าวันที่ ๔-๔ (เข้าใจว่าวันที่ ๔-๕) สมเด็จพระพันวัสสาจะทรงทำบุญถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า กับสมเด็จพระเทพศิรินทร์ที่โบสถ์วัดพระแก้ว เวลา ๑๐.๐๐ น. เหมือนกันทั้งสองวัน

๑๕) กับได้รับลายพระหัตถ์เวรซึ่งลงวันที่ ๒๑ กันยายนมีปะปิดสองด้าน จะกราบทูลสนองความในคราวหน้าตามเคยเพราะคราวนี้ไม่ทัน

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ