วันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

สัปดาหะนี้กรมไปรษณีย์เขาใจดี ให้เชิญลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๑ มกราคม ซึ่งมาถึงปีนังเมื่อวันพฤหัสบดีมาส่งแต่วันศุกร์ที่ ๒๔ เวลาบ่าย หม่อมฉันมีลายพระหัตถ์เวรค้างอยู่ ๓ ฉบับด้วยกัน จึงลงมือร่างจดหมายฉบับนี้แต่วันเสาร์ที่ ๒๕

ทูลสนองลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๓๑ ธันวาคม

๑) เมืองหนองหมอนไทยใหญ่ ที่ท่านทรงพบตัวเจ้าเมือง ณ เมืองมัณฑะเลนั้น หม่อมฉันค้นพบทำเนียบในหนังสือ Burmah ซึ่งเซอร์ยอชสก็อตแต่ง อังกฤษเรียก Nawngmawn ตรงกัน ว่าเป็นเมืองไทยใหญ่เหนือ อยู่ในภาคกลาง เจ้าเมืองมีศักดิ์เป็น Myosa ตรงกับพระยาเมือง ไม่ถึงชั้นเจ้าฟ้า

๒) เรื่องเจ้าเชียงตุงนั้นทรงสำคัญสูงไป ที่จริงเรื่องเพียงเกี่ยวกับตัวหม่อมฉัน ดังจะเล่าเรื่องถวาย ครั้งหม่อมฉันไปยุโรปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ ถึงเมืองลังกาอยากเห็นพระเขี้ยวแก้ว เจ้าเมืองเขามีแก่ใจหมายสั่งสังฆนายก และกรรมการพนักงานรักษาให้เชิญพระเขี้ยวแก้วออกจากกรันต์ตั้งไว้ในพระวิหารให้บูชา และจัดรถไฟพิเศษให้หม่อมฉันขึ้นไปยังเมืองแกนดี เมื่อหม่อมฉันบูชาพระเขี้ยวแก้วแล้วออกมานั่งอยู่ที่หน้าพระวิหาร ถามเจ้าพนักงานว่ามีพระ Siamese ไทยอยู่ที่เมืองแกนดีในเวลานั้นบ้างหรือไม่ เขาบอกว่ามีแต่ผู้หญิงไทยบวชเป็นชีอยู่ ๑ คน หม่อมฉันให้ไปเรียกมาเห็นเป็นกลางคนอายุราวสัก ๕๐ ปี พูดกันอยู่หลายคำ หม่อมฉันจึงสังเกตว่าเสียงพูดแปร่งผิดกับชาวกรุงเทพฯ ถามว่าเป็นชาวเมืองไหน แกตอบว่าเป็นชาวเมืองเชียงตุง หม่อมฉันได้ฟังตกใจด้วยไม่เคยทราบมาแต่ก่อน ว่าชาวเมืองเชียงตุงพูดภาษาไทยเหมือนกับชาวกรุงเทพฯ เพิ่งแรกได้ความรู้ในครั้งนั้น ต่อมาอีกหลายปีเจ้าเชียงตุง (อินท์แถลง บิดาเจ้าฉายเมือง) ออกไปอินเดียในงานบรมราชาภิเษกพระเจ้าเอดวาดที่ ๗ ขากลับบ้านเมืองขออนุญาตอังกฤษกลับทางเมืองไทย เป็นเจ้าเชียงตุงคนแรกที่จะมากรุงเทพฯ เวลานั้นเซอร์เรลฟแปเชตเป็นราชทูต มิสเตอร์วูด (ที่ออกจากราชการแล้วเลยอยู่ ณ เมืองเชียงใหม่จนเดี๋ยวนี้) เป็นกงสุล พาเจ้าเชียงตุงมาหาหม่อมฉันที่ศาลาลูกขุน หม่อมฉันรับในห้องกลาง เซอร์เรลฟแปเชตนำให้รู้จักด้วยภาษาอังกฤษว่า “The Sawtwa of Kengtung” หม่อมฉันจับมือแล้วใช้ความรู้ที่ได้มาจากเมืองลังกาถามเป็นภาษาไทยว่า “เจ้าสบายดีหรือ” เธอก็ตอบว่า “สบายดี” หม่อมฉันถามต่อไปว่า “เจ้ามาถึงเมื่อไร” เธอตอบว่า “มาถึงสามวันแล้ว” เซอร์เรลฟแปเชตตกตะลึง ถามหม่อมฉันว่า “นั่นพูดกันด้วยภาษาอะไร” หม่อมฉันบอกว่า “พูดกันด้วยภาษาไทย เพราะชาวเชียงตุงพูดภาษาเดียวกัน” ขณะนั้นมิสเตอร์วูดหัวเราะขึ้นพลางพูดว่า “หลงใช้ล่ามพม่าพูดกับเจ้าเชียงตุงมาเป็นหลายวัน มิรู้ว่าพูดไทยได้” หม่อมฉันกราบทูลเล่าเรื่องถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงตรัสปราศรัยเจ้าเชียงตุงด้วยภาษาไทย

๓) พระเจดีย์ในพระพุทธศาสนาที่สร้างตามประเทศต่างๆ พิเคราะห์ดูได้แบบเดิมมาจากอินเดียเหมือนกันทั้งนั้น เป็นแต่มาแก้ไขให้งามตามนิยมในประเทศนั้นๆ รูปร่างพระเจดีย์จึงต่างกันไป หม่อมฉันเห็นว่าหลักเดิมมีพระเจดีย์แต่ ๒ อย่าง คือ พระเจดีย์สำหรับบรรจุพระบรมธาตุอย่าง ๑ กับพระเจดีย์สำหรับตั้งพระพุทธรูปอย่าง ๑ เท่านั้น ที่ท่านทรงพระดำริว่า ชื่อที่เรียกว่า “กู่กุด” จะมาแต่ “กู่กุฏิ” เพราะมีซุ้มตั้งพระพุทธรูปรายรอบนั้น เข้าทีดีมาก

๔) ในลายพระหัตถ์ตรัสถึงเมืองมโนรมย์ เมืองนั้นมีเรื่องตำนานชอบกล หม่อมฉันได้ยินเขาเล่าให้ฟังในหัวเมือง ว่าเดิมมีข้าราชการคน ๑ ทำความชอบในการจับช้างเผือกถวาย พระเจ้าแผ่นดินจะพระราชทานบำเหน็จ ขุนนางคนนั้นทูลขอเป็นเจ้าเมือง พระเจ้าแผ่นดินทรงพระราชดำริเห็นจะไม่สามารถปกครอง แต่ได้ออกพระโอษฐ์ประทานพรแล้วจึงโปรดให้ตั้งเมืองมโนรมย์ขึ้นให้ขุนนางคนนั้นเป็นเจ้าเมือง แต่จำกัดอาณาเขตเพียงสุดเสียงช้างร้อง เพราะเหตุนั้นเมืองมโนรมย์จึงเล็กกว่าเมืองไหนๆ หมด ได้ฟังเขาเล่าเดิมหม่อมฉันก็นึกว่าเป็นอย่างนิทาน ที่มีใครผูกขึ้นสำหรับอธิบายเหตุที่เมืองมโนรมย์เล็ก แต่ก็นึกว่าคงมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ภายหลังมาสังเกตเห็นในทำเนียบศักดินาข้าราชการหัวเมือง ชื่อเจ้าเมืองมโนรมย์เป็นที่ “พระศรีสิทธิกรรม” พ้องกันกับตำแหน่งครูคชศาสตร์ในทำเนียบข้าราชการกรมช้างก็สะดุ้งใจ ไปตรวจค้นดูในหนังสือพงศาวดาร พบเรื่องมีในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๒๕๑ เสด็จขึ้นไปเมืองนครสวรรค์ได้ช้างเผือกพังรับลงมาสมโภชแล้ว พระราชทานนามว่า “พระอินทรไอยรา” แล้วกล่าวต่อไปว่า “และให้พระศรีสิทธิกรรมอยู่บริบาล” ดังนี้ ดูเรื่องประกอบเข้ากับคำที่เล่า หม่อมฉันอยากสันนิษฐานว่า พระศรีสิทธิกรรมคนนั้นบ้านเดิมอยู่ราวตำบลเกาะเทโพแขวงเมืองชัยนาท มีความชอบด้วยฝึกพระอินทรไอยราช้างเผือก จะโปรดให้เป็นเจ้าเมืองตามประสงค์ จึงให้ตั้งเมืองมโนรมย์ตรงบ้านเดิมของพระศรีสิทธิกรรม มีอาณาเขตออกไปชั่วเสียงช้างร้องโดยรอบ

๕) เขาหิมาลัยเมื่อหม่อมฉันไป สบอากาศดีได้เห็นเต็มที่ดีกว่าทูลกระหม่อมชายได้ทอดพระเนตร เป็นเขาเทือกยาวที่สูงสุดอยู่ตรงตอนกลาง เมืองดาชีลิงอยู่ตอนปลายเขาหิมาลัยทางตะวันออกตรงทางข้ามไปเมืองธิเบต ที่ตั้งเมืองสูง ๖๐๐๐ ฟิต เวลาดึกจนเช้าน้ำค้างแข็งแต่หิมะไม่ตกมาถึง ข้อขำสำคัญที่ทำให้หูผึ่งนั้นเวลาขึ้นไปถึงเมื่อตอนบ่ายเมฆคลุมไม่เห็นภูเขาตอนสูงสุด ดูเหมือนเมืองดาชีลิงอยู่บนยอดเขา มองลงมาข้างล่างแลลึกเห็นป่าต้นไม้เมืองหนาว เปลี่ยนเป็นต้นไม้เมืองร้อนเป็นชั้นๆลงมาจนถึงป่าเต็งรังที่เชิงเขา เห็นเมฆและนกอินทรีบินอยู่ต่ำกว่าที่เราอยู่ แต่พอเช้าตรู่เขาปลุกขึ้นดูเทือกภูเขาตอนที่สูง แหงนดูคอตั้งบ่าเห็นเป็นเขาหินเปล่าไม่มีต้นไม้ มีแต่หิมะคลุมเป็นเทือกไป แรกแดดออกดูเขาตอนนั้นเป็นสีชมพูมีหิมะขาวคลุมขาวสง่างามแรกแลเห็นถึงขนลุก เมื่อหม่อมฉันไปอากาศดีดูเทือกเขาสูงแลเห็นถนัด อยู่จนราวเที่ยงหมอกจึงลงคลุมหมด

๖) ที่ตรัสปรารภถึงความหนาวบนเขาสูง หม่อมฉันมีเรื่องที่จะทูลบรรเลง เมื่อหม่อมฉันไปยุโรปครั้งหลังใน พ.ศ. ๒๔๗๓ วันสมเด็จพระราชินีประเทศฮอแลนด์ประทานเลี้ยง ตรัสถามหม่อมฉันถึงจะไปไหนอีกบ้าง หม่อมฉันทูลว่าจะไปประเทศสวิตเซอรแลนด์ ด้วยลูกหญิงเคยถามหม่อมฉันว่าหิมะเป็นอย่างไร แม้หม่อมฉันเคยพบหิมะแล้ว เมื่อไปยุโรปครั้งแรกก็ไม่สามารถจะบอกให้เข้าใจได้ เพราะหิมะเป็นอย่างหนึ่งต่างหากไม่เหมือนน้ำแข็ง จะพาเธอไปให้เห็นหิมะ เจ้าเฮนรี่ราชสามีจึงตรัสแนะนำให้ไปที่เมืองเซอมัตแล้วขึ้นรถเกรินไปถึงยอดภูเขาอัลปที่ชื่อว่า คอนนะตรัตสูง ๑๑,๐๐๐ ฟิต ก็จะพบหิมะได้ หม่อมฉันก็ไปตามที่แนะนำ เมื่อขึ้นเขาไม่รู้สึกเดือดร้อนในเรื่องหนาว เพราะเตรียมตัวแต่งเครื่องหนาวไปทุกคน ที่ในรถเกรินเขาก็ทำท่อน้ำร้อนไว้ใต้ที่นั่งอุ่นดี ตอนจวนจะถึงยอดเขาเห็นน้ำที่ไหลลงมาตามก้อนหินแข็ง รูปร่างเหมือนอย่างฟองน้ำย้อยที่ในถ้ำ ถึงสถานีรถเกรินแล้วจะต้องเดินขึ้นเนินเขาไปโฮเต็ลทางสัก ๒ เส้น ตอนนี้เกิดเดือดร้อนอย่างแปลกประหลาดอันมิได้คาด เพราะบนยอดเขาสูงอากาศเบาออกซิเยนไม่พอแก่ลมหายใจ เดินไปได้เพียงสัก ๑๐ ก้าว ต้องหยุดยืนหอบเสียครั้ง ๑ หายหอบจึงเดินต่อไปอีกพัก ๑ ต้องพักหอบหลายครั้งจึงไปถึงโฮเต็ล พอถึงโอเต็ลก็อุ่นสบายดีถอดเสื้อโอเวอโค๊ตได้ แต่บางคนถึงโอเต็ลก็เลยเป็นลม แต่ที่โฮเต็ลเขาชำนาญเพราะมีคนไปเสมอ เห็นใครเป็นลมก็พาเข้าห้องรักษาอยู่ครู่หนึ่งก็หาย แต่ได้เห็นและได้เล่นหิมะสมประสงค์ทุกอย่าง นายสมบุญ โชติจิตร ตื่นหิมะถึงคิดหาขวดใส่มา หม่อมฉันบอกว่าประเดี๋ยวมันก็ละลายเป็นน้ำ ก็ว่าไม่เป็นไรคิดจะเอาหิมะมาให้ถึงเมืองไทย จะเอามาได้หรืออย่างไรหม่อมฉันไม่ทราบ

๗) เมืองโบราณที่แนวปราการเป็นรูปไข่อีกเมือง ๑ นั้น คือเมืองสารเขตรที่อยู่ใกล้เมืองแปรในประเทศพม่า หม่อมฉันได้พรรณนาไว้ในเรื่องเที่ยวเมืองพม่าที่ได้ถวายสำเนาไปแต่ก่อน

ทูลสนองลายพระหัตถ์ฉบับวันที่ ๑๔ มกราคม

๘) เรื่องพูดควบคำเป็นคู่ดูเป็นนิสัยของไทย ชอบเอาคำพยางค์เดียวควบกัน เช่น “ฝึกหัด” “จัดแจง” เป็นต้น เพราะเหตุใดจึงชอบควบคำเช่นนั้น พิเคราะห์ดูมีหลายอย่าง คือ เอาคำต่างภาษาควบกันทั้งอัตถและแปล เช่นท่านทรงยกคำ “ทรวงอก” เป็นอุทาหรณ์ก็ได้อย่าง ๑ เอาคำที่ความคล้ายกันควบให้กินความกว้างออกไปก็มีอีกอย่าง ๑ ยกตัวอย่างคำพวกนี้เช่นว่า “เล่าลือ” หรือ “บอกกล่าว” คำว่าเล่าและบอกความหมายว่ามีตัวผู้พูด คำว่าลือและกล่าวหมายความว่าเป็นแต่กิติศัพท์ เอาควบกันว่า “เล่าลือ” หมายความรวมเป็นข่าวที่ได้ยินทุกชนิด ทูลกระหม่อมชายท่านได้เคยแยกศัพท์คู่ในภาษาไทยแปลศัพท์ภาษาอังกฤษในการทหาร แปลศัพท์ Train ว่าฝึก ศัพท์ Drill แปลว่าหัด ดูก็เข้าที ทูลกระหม่อมของเราเคยกริ้วคำ “จัดแจง” ถึงทรงพระราชนิพนธ์ห้ามมิให้ใช้ ว่าเพราะ ๒ คำนั้นความขัดกันเอง ลองนึกดูพวกคำคู่มีมาก พิเคราะห์ความดูเอาคำที่ความคล้ายกันควบให้หมายกว้างออกไปเป็นพื้น

แต่กระบวนที่เขียนหนังสือกันในสมัยใหม่ ดูเหมือนจะเลิกใช้คิดค้นความเดิมซึ่งจำต้องใช้ความเพียร ด้วยเห็นเสียเวลาเปล่าๆ นึกว่าอย่างไรจะถูกหรือจะ “เก๋” ก็เขียนอย่างนั้น ต้องให้ขมาบาป เออ ทรงทราบมูลของคำ “เก๋” ว่ามาแต่อะไรหรือไม่ หม่อมฉันก็ไม่รู้อยู่เป็นนมเป็นนาน (นมนานก็เป็นศัพท์คู่แต่ดูไม่ได้ความเข้ากัน ที่ถูกน่าจะเป็น “เนิ่นนาน”) จนเจ้าพระยาภาสฯ เล่าให้ฟังจึงได้รู้ ว่าเมื่อครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปเมืองสิงคโปร์และบะเตเวียเมื่อแรกเสวยราชย์นั้น ผู้ไปตามเสด็จเริ่มแต่งตัวใส่เสื้อเปิดอกคล้องผ้าผูกคออย่างฝรั่ง ซ้อมแต่งตัวกันเมื่อเวลาไปในเรือพิทยัมรณยุทธ พระชลธารพินิจัย (กัปตันฉุน) เป็นฝรั่งเก่าด้วยเคยไปเรียนถึงประเทศอังกฤษ แกเห็นใครแต่งฝรั่งเข้าทีก็ชมด้วยใช้คำภาษาอังกฤษว่า Gay แต่แกเป็นญวนเสียงแปร่งเป็น “เก๋” คนอื่นก็พลอยว่าเก๋ เลยเป็นศัพท์สำหรับชมอะไรที่เข้าทีต่อมา

๙) พระพุทธรูปนาคปรกนั้น ตามที่พบเค้าเงื่อนมาหม่อมฉันเห็นว่าเดิมเป็นเทวรูปประดิษฐ์ขึ้นในอินเดียฝ่ายใต้ ครั้นคนถือทั้ง ๒ ศาสนาปนกัน พวกถือพระพุทธศาสนาจึงรับเอามาสมมติเป็นพระพุทธรูป เรื่องที่ข้างในหนังสือปฐมสมโพธิว่า พญานาคมาบังฝนถวายพระพุทธองค์ที่ใต้ต้นจิกเมื่อแรกตรัสรู้พระโพธิญาณ ก็เห็นเป็นของแต่งเพิ่มขึ้น ด้วยไม่ตรงกับรูปพระนาคปรกซึ่งองค์พระที่นั่งบนอุรุคอาสนบัลลังก์ แม้ในเมืองไทยนี้เองก็มีรูปตัวอย่างให้เห็นการสับสน ในระหว่างพระพุทธรูปกับเทวรูปนาคปรก หม่อมฉันไปเห็นพระนาคปรกศิลาองค์ ๑ อยู่ที่ในปรางค์สามยอดที่เมืองลพบุรี มีรอยยังเห็นได้ถนัดว่าเดิมจะทำเป็นพระพุทธรูป แล้วจำหลักให้นุ่งถกเขมรเป็นเทวรูป แล้วกลับพอกแก้เป็นพระพุทธรูป หม่อมฉันเห็นแปลกได้ให้ย้ายเอาลงมาไว้ที่ในพิพิธภัณฑสถานจนบัดนี้

๑๐) ที่เรียกพระพุทธรูปอาการต่างๆ ว่า “พระปาง” ไปทั้งหมดเป็นด้วยเข้าใจผิดจริงอย่างทรงพระดำริ มูลของการสร้างพระปางเขาเอาเหตุการณ์ข้อสำคัญในเรื่องพุทธประวัติตั้งเป็นหลัก สร้างพระพุทธรูปเป็นเครื่องหมายเหตุการณ์นั้นๆ และมีตำราจำกัดเพียง ๘ ปางในส่วนพระพุทธประวัติ คือ เมื่อประสูติทำเป็นรูปกุมารโพธิสัตว์ปาง ๑ เมื่อตรัสรู้พระโพธิญาณ ทำพระพุทธรูปมารวิชัย ปาง ๑ เมื่อประกาศพระศาสนา ทำพระพุทธรูปจีบนิ้วพระหัตถ์เป็นวงจักร ตรัสเทศนา ปาง ๑ เมื่อเสด็จเข้าพระนิพพาน ทำพระพุทธรูปไสยา ปาง ๑ อนุโลมตามบริโภคเจดีย์สถาน ๔ แห่ง ซึ่งพระพุทธองค์ประทานอนุญาตไว้เป็นพระปางชั้นแรกมี ต่อมาเมื่อคนภายหลังสมมติที่พระพุทธองค์ทรงทำปาฏิหาริย์เป็นบริโภคเพิ่มขึ้นอีก ๔ แห่ง ก็ทำพระพุทธรูปปางสำหรับที่นั้นๆ ขึ้นอีก ๔ ปาง คือ เมื่อเสด็จลงจากดาวดึงส์ ทำพระพุทธรูปลีลาปาง ๑ เมื่อทำยมกปาฏิหาริย์ ทำพระพุทธรูปสมาธิปาง ๑ เมื่อทรงทรมานช้างนาฬาคิรี ทำพระพุทธรูปยืนปาง ๑ เมื่อทรงทรมานพระยาวานร ทำพระพุทธรูปอุ้มบาตรปาง ๑ ในสมัยนั้นพระพุทธรูปอาการต่างๆ ก็ปั้นไว้ในเครื่องประดับพระเจดีย์แล้วแต่หานับว่าเป็นพระปางไม่ ข้อนี้พึงเห็นได้ในศิลาจำหลักรูปพระปางที่ทำในอินเดีย (ได้มาไว้ในพิพิธภัณฑสถานในกรุงเทพฯ ก็มี) เขาทำแต่ ๘ ปางเท่านั้น

๑๑) ที่อยากทรงทราบว่า พระสงฆ์วัดปิ่นบังอรสวดมนต์อย่างใดถวายพรเมื่อวันปีใหม่นั้น เมื่อหม่อมฉันไปถึงจวนจบอยู่แล้ว ได้ยินสวด โส อตฺถลทฺโธ สันนิษฐานว่าคงสวดเจ็ดตำนานเพิ่มถวายพรพิเศษข้างท้าย

ทูลสนองลายพระหัตถ์ฉบับวันที่ ๒๑ มกราคม

๑๒) ข้อเมืองเพชรบูรณ์นั้นเป็นชื่อใหม่ เห็นจะตั้งรุ่นเดียวกันกับตั้งชื่อเมืองพิษณุโลก เมืองสวรรคโลก หม่อมฉันสันนิษฐานว่าราวในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เพราะสังเกตในหนังสือเก่า เช่น จารึกของพ่อขุนรามคำแหงบอกรายชื่อหัวเมืองต่างๆ ว่าทางทิศตะวันออกมีเมือง สระหลวง (พิจิตร) สองแคว (พิษณุโลก) ลุ่ม (หล่ม) บาจาย (ตรงกับเมืองเพชรบูรณ์) ในบานแผนกกฎหมายลักษณะลักพาบท ๑ ตั้งเมื่อรัชกาลพระเจ้าอู่ทอง ออกชื่อเมืองเหนือเป็นคู่ๆ กัน ก็เรียกว่าเมืองสระหลวงสองแคว ทุ่งยั้งบางยม เชลียงสุโขทัย ชากังราวกำแพงเพชร ดังนี้ เป็นหลักว่าเปลี่ยนชื่อหัวเมืองเหนือต่อภายหลังรัชกาลพระเจ้าอู่ทอง

๑๓) แต่ก่อนมา ดูเหมือนหมอไทยจะกำหนดไข้เป็น ๓ ชั้น ชั้นต่ำที่มีอาการเพียงตัวร้อน เรียกว่า “ไข้” ชั้นกลางที่มีเวลาจับและส่างเรียกว่า “ไข้จับ” ชั้นสูงที่จับไม่มีส่าง เรียกว่า “ไข้พิษ” แต่รู้อาการของไข้พิษชนิดใดๆ และอาจรักษาได้ ครั้งหนึ่งเมื่อหญิงเหลือยังเป็นเด็กอายุสัก ๔ ขวบเจ็บตัวร้อน หม่อมฉันให้พระยาพิษณุประสาทเวชรักษามาหลายวันตัวร้อนไม่คลาย หม่อมฉันรำคาญต่อว่าพระยาพิษณุฯ ว่ารักษามาเป็นหลายวันแล้วอย่างไรไม่แก้ให้ตัวสำเลาลงได้ แกตอบว่าเป็นไข้พิษ ไข้พิษอย่างนี้ไม่มีทางที่จะให้ตัวสำเลาลงได้ ได้แต่บำรุงกำลังกับระวังธาตุให้ดีพอครบ ๒๑ วันตัวร้อนก็หายไปเอง ก็เป็นอย่างแกว่า ภายหลังหม่อมฉันจึงทราบว่าไข้อย่างนั้นฝรั่งเรียกว่า ไตฟอยต์ พระยาพิษณุฯ แกไม่รู้จักชื่อเรียกได้แต่ว่าไข้พิษ แต่แกก็รู้ลักษณะไข้ รักษาหายได้

๑๔) เรือมอที่บรรทุกสินค้าไปมาในระหว่างกรุงเทพฯ กับเมืองเหนือนั้น ในสมัยเมื่อก่อนมีรถไฟหม่อมฉันไปตรวจหัวเมืองทางน้ำเจ้าพระยาพบมากมีตั้งร้อย มักเป็นของพวกมอญ การหาเลี้ยงชีพด้วยค้าเรือเหนือก็น่าพิศวง เดี๋ยวนี้สูญไปหมดแล้วจึงจะเล่าถึงวิธีค้าเรือเหนือถวาย ตามที่หม่อมฉันเคยไต่ถามทราบมาแต่ก่อน คือ คนค้าอยู่ประจำในเรือหมดด้วยกันทั้งครอบครัวเหมือนกับเป็นบ้านเรือน ถึงฤดูแล้งปลายปีซื้อสินค้ากรุงเทพฯ บรรทุกขึ้นไปขายตามหัวเมืองรายทางจนถึงเมืองอุตรดิตถ์ พอจะเข้าฤดูฝนถอยเรือลงมาจอดตามที่ว่างในลำน้ำแควใหญ่ ถางตลิ่งทำไร่ปลูกแตงและยาสูบ พอฤดูน้ำหลากก็เก็บของในไร่บรรทุกเรือล่องลงมากรุงเทพฯ ขายแล้วซื้อสินค้ากรุงเทพฯ กลับขึ้นไปเมื่อปลายฤดูแล้วซ้ำใหม่อีกรอบหนึ่งเสมอทุกปีดังนี้

๑๕) เรื่องปริศนาทรัพย์แผ่นดินเป็นเรื่องน่าพิศวง หม่อมฉันได้กะลงบัญชีแล้ว คิดว่าจะแต่งเป็นนิทานโบราณคดีสักเรื่อง ๑

๑๖) พวกละครชาตรีที่ตั้งบ้านเรือนหน้าวังวรดิศนั้น มีเรื่องทางโบราณคดีควรเล่าถวายได้

แต่เขียนมาเพียงนี้ถึงเวลาเที่ยงในวันจันทร์เสียแล้ว จะต้องส่งร่างจดหมายไปให้เขาดีดพิมพ์ ขอประทานผัด (หรือผลัด) ไปทูลต่อจดหมายเวรฉบับหน้า

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ