วันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๔ สิงหาคม

สนองลายพระหัตถ์

๑) “ผ้าเกี้ยว” เห็นไม่เกี่ยวแก่การขี่ช้าง เป็น “ยูนิฟอม” จริงอย่างกระแสพระดำริ

๒) สินบลของผู้ปกครองบ้านเมืองซึ่งเคยเห็นมาในหนังสือเก่าๆ ย่อมมีอยู่สองอย่าง เป็นอย่างน้อยกับอย่างใหญ่ อย่างน้อยเป็นให้ทองเท่าลูกฟัก อย่างใหญ่แบ่งสมบัติให้กึ่งหนึ่ง การครองสมบัติกึ่งพระนครอันเป็นหลักของวังหน้า เพิ่งได้สติตามกระแสรพระดำริ ว่าเป็นหน้าที่รักษาพระนคร เดิมทีเขาจะคิดอย่างหนึ่งไม่ใช่ “โล” หรือเอา “โล” เข้าล่อก็เป็นได้เหมือนกัน

๓) ย่อไม้สิบสอง เห็นด้วยตามพระดำรัส การย่อไม้สิบสองนั้นแต่ทำมณฑปหรือปรางค์ ย่อไม้ยี่สิบกรมหมื่นมหิศรเคยยุให้ทำทีหนึ่งแล้ว พร้อมทั้งนพศูลสูงสามวา แต่นพศูลสูงสามวานั้นล้ม เพราะปรากฏว่าทำไม่ได้ ส่วนย่อไม้ยี่สิบนั้นได้เคยเห็นแต่เขาทำแนบเนียนดี ไม่ขวางโลกอย่างที่เราทำ ด้วยเหลี่ยมย่อมันกว้างไปกว่าเหลี่ยมตั้ง เล่นเอาต้องไปดูพระปรางค์เก่าที่กรุงเก่าว่าเขาทำอย่างไร องค์ที่ไปดูเป็นตัวอย่างนั้นเป็นปรางค์เจ็ดชั้น เขาย่อถึงเป็นไม้ยี่สิบแปดไปเสียด้วยซ้ำ คือมุมละเจ็ด แต่ปรากฏว่าเขาทำรูปกลม ไม่ใช่เหลี่ยมตัดมุม แล้วมุมที่บากถึงยอดก็เป็นแต่สิบสองมุมเท่านั้น ส่วนอีกสิบหกมุมบากไม่ถึงยอด เป็นบากไปตามทรงคือแปดมุมบากขึ้นไปเพียงชั้นหก อีกแปดมุมบากขึ้นไปเพียงชั้นห้า จึงเป็นเหตุให้เห็นได้ว่าการย่อมุมนั้น ท่านตั้งใจจะย่อให้เป็นกระเปาะอย่างที่ตั้งบันแถลงเท่านั้นเอง เหมือนหนึ่งฐานสิงห์ก็คือแหวะหน้ากระดาน เพื่อจะได้สอดมือเข้าไปยกได้ง่ายเช่นกระบะเป็นต้น ได้สังเกตวัดกุฎีดาว เขาทำฐานโบสถ์ไม่มีสิงห์ แต่ทำฐานมุขเด็จมีสิงห์ ขัดกันอยู่ถนัดใจ ตริตรองก็เห็นได้ว่าที่มุมเด็จนั้นมาแต่เอาเตียงตั้ง จึงตกลงใจว่าสิ่งใดซึ่งควรยกได้ จึงทำฐานสิงห์ ถ้าเป็นของยกไม่ได้ก็ไม่ทำฐานสิงห์ เช่นฐานเสาเป็นต้น เพราะเสาเป็นของปัก จะมีฐานเป็นสิงห์หาได้ไม่ แล้วก็มาถือเอาฐานสิงห์เปนยศ อะไรจะให้ประกอบด้วยยศก็ทำฐานสิงห์นั่นเป็นอันหลงไป

๔) ที่เข้าใจว่าหญิงเหลือขี่ม้าแข็งนั้น เพราะฝันว่าได้เห็นรูปเธอขี่ม้ากระโดดข้ามรั้ว จึงนึกว่าเธอขี่แข็ง

๕) เหตุขลุกขลักของหญิงหลุยนั้น ถามหมอเขาบอกว่าคลอดเร็วไปเลี้ยงยาก ถูกแล้ว ที่ระงับไปเสียได้นั้นดีเต็มที

๖) ที่ชายดิศเธอไปพบคนหัวขาดที่เพชรบุรีนั้น ก็ควรแล้วที่เธอจะเล่าไม่ถูกเรื่อง เพราะเธอยังเด็กนักและไม่รู้เรื่องตลอดด้วย สมควรที่ฝ่าพระบาทจะตรัสเล่ามากกว่า

๗) ลายมือหนังสือ ฝ่าพระบาทตรัสว่าเปลี่ยนไปตามสมัยนั้นถูกแล้ว หนังสือตัวประจงพอเห็นก็บอกได้ว่ารัชกาลไหน จะกราบทูลความเขลาของเกล้ากระหม่อม ได้เคยวานพระเทพราชแสนยา (แม้น) เขา “ปั้น” หนังสือ เพราะลายมือเขาดี ไม่เป็นหนังสือมาก เพียงสักสองประทัดเท่านั้น ควรจะได้แล้วแต่ยังไม่ได้จึงเตือนเขา เขาหัวเราะบอกว่ายังซ้อมอยู่จึงได้เข้าใจ ในการที่ลายมืองามนั้นไม่ใช่งามอยู่เสมอ ต้องเขียนอยู่เสมอจึงจะงามได้ ตัวหวัดนั้นแต่ก่อนนี้พอเห็นก็บอกได้ว่ามาแต่สำนักไหน แต่เดี๋ยวนี้บอกไม่ได้ เพราะผู้เขียนโอนไปโอนมาได้เสียแล้ว หนังสือตัวย่อนั้นแกล้ากระหม่อมเคยได้หัดเขียนกับขุนจิตรอักษร (ชื่อตัวชื่อไรไม่ทราบ) ดูทีจะเป็นแบบรัชกาลที่ ๔ เทียบกับตัวหนังสือย่อเก่าไม่เหมือนกัน ตามที่ตรัสเอาหนังสือรูปตัวต่างๆ เข้าเป็นหนังสือย่อนั้นควรแล้ว

๘) กระแสพระดำริซึ่งทรงพระวินิจฉัยถึงคำใช้ “หน้า” “หลัง” นั้นดีเต็มที ต่อไปจะปฏิบัติตามกระแสพระดำรินั้น

๙) ตามที่ตรัสว่าเจ้าพระยาวรพงศ์เป็นสหชาติก็ต้องเป็นเช่นนั้น ด้วยนับกันว่าท่านเกิดปีจอ แต่ดูเหมือนจะได้เคยไต่สวนอย่างละเอียดมาแล้ว ตกเป็นวันที่สุดแห่งปีจอหรืออะไรเทือกนั้น จะต้องเป็นอ่อนกว่าฝ่าพระบาท และถ้าจะอาศัยใบดำ ในนั้นลงว่าอายุ ๘๐ ก็เป็นแก่กว่าฝ่าพระบาท เพราะพระชันษาฝ่าพระบาทยังไม่ครบ ๘๐ แต่อาจเป็นได้ที่นับลงนิ้วเอาปีจอด้วย แต่จะถามลูกหลานท่านเอาแน่ได้ จะกราบทูลมาภายหน้า

ข่าว

๑๐) เมื่อวันที่ ๑๒ ซึ่งล่วงมาแล้ว อ่านหนังสือพิมพ์ “บางกอกแตม” เห็นข่าวเขาคัดหนังสือพิมพ์ไทยมาลง ว่าเจ้าพนักงานรถไฟทางมลายูบอกมา ว่ารถด่วนเมืองไทยซึ่งเคยเดินถึงไปอาทิตย์ละสองหนนั้น ให้เดินแต่อาทิตย์ละหน ถ้าจะเดินอาทิตย์ละสองหน หนหนึ่งก็ให้ไปหยุดเพียงปดังเบซา แล้วมีความต่อ เข้าใจว่าเป็นของหนังสือพิมพ์เอง ว่ากำหนดนั้นจะตั้งต้นในเดือนหน้า ในข่าวก็ไม่ปรากฏว่ารถด่วนจะเดินถึงไปรวันอาทิตย์หรือวันพฤหัสบดี คงจะมีผลถึงหนังสือเวร ต้องเปลี่ยนวันและจะเป็นประการใดก็มีเวลาถึงเดือนหน้า ให้รอฟังก่อน

ครั้นต่อมาอีกสองวันก็ได้เห็นหนังสือพิมพ์ “บางกอกแตม” เขาลงอีก เป็นประกาศกรมรถไฟ ว่าตั้งแต่วันที่ ๖ กันยายนไป รถด่วนจะเดินถึงไปรแต่ครั้งเดียว ออกจากกรุงวันพุธกลับวันเสาร์ ส่วนรถด่วนวันเสาร์นั้นจะไปเพียงหาดใหญ่ สอบปดิทินพบว่าวันที่ ๖ นั้นเป็นวันเสาร์ แปลว่ารถด่วนซึ่งออกจากกรุงวันนั้นจะไปหยุดเพียงหาดใหญ่เป็นต้นไป ผลแห่งความเปลี่ยนแปลงไม่กระทบถึงหนังสือเวร เพราะทางเกล้ากระหม่อมส่งไปกับรถวันพุธ และทางฝ่าพระบาทส่งกับรถวันศุกร์ เขาเลื่อนเป็นออกวันเสาร์ มีเวลายาวไปอีกวันหนึ่งเสียอีก ไม่มีขัดข้อง

บรรเลง

๑๑) เมื่อวันที่ ๑๖ ซึ่งล่วงมาแล้ว ชายเติม หญิงกุมารี กับหลานแมว มาลาไปเที่ยวเชียงใหม่ ชายใหม่ไปหาด้วย แต่ไม่ใช่จะไปด้วย ไปเพื่อปรึกษาเรื่องจะหล่อพระในพระชันษาฝ่าพระบาทได้ ๘๐ ทำให้นึกถึงเมื่อพระชันษา ๖๐ ประทานพระพุทธรูปแกะด้วยงาช้าง กับเรือนแก้วพระนิรันตรายซึ่งทำเสีย มาให้ทำฐานปรับปรุงกันเข้า ก็ได้คิดเป็นอย่างดี แต่ครั้นไปในงานพระชันษาฉลองพระพุทธรูปนั้นก็เห็นมีพวงมาลัยรัดฉลองด้วยพวงมาลัยปิดฐานซึ่งคิดไปด้วยดีนั้นเสียหมด แม้จะเอาแต่พระพุทธรูปกับเรือนแก้วปักลงบนกระดานไม่คิดฐานก็จะเห็นเหมือนกัน เหมือนหนึ่งพระชันษาวัน เจ้านายเคยตรัสว่าทำแต่พระเศียรไปเสียบเข้ากับกรวยตาดก็แล้วกัน (เพราะพระองค์ทรงผ้าแพรซับในและตาดชั้นนอกจนเป็นกรวยและไม่เห็นพระองค์ว่าเป็นอย่างไร) ได้นึกแต่เวลาเมื่อฉลองพระพุทธรูปองค์นั้น ว่าควรทำฐานมาลัยต่อลงมาเสียต่างหาก จะได้ไม่ปิดฐานที่คิด ต่อมาก็ได้ไปพบอีกในงานทำบุญศพ ๗ วัน ใช้พระพุทธรูปองค์เล็กฐานเตี้ยตั้งมีมาลัยรัด อยากจะว่าเห็นแต่พระเศียรพระพุทธรูปโผล่ขึ้นไปจากพวงมาลัย นั่นก็ได้คิดว่าถ้าทำฐานมาลัยรองพระพุทธรูปเสียอย่างคิด ก็จะไม่เห็นเป็นเช่นนั้นไปได้ แต่ไม่มีโอกาสจะทำ จนกระทั่งทำที่ตั้งโกศอัฐิ “นุนู” ไว้ประจำบ้าน จึงได้คิดทำฐานมาลัย แต่เมื่อไม่ได้ผูกมาลัยดูไม่สู้ดี แต่เมื่อผูกมาลัยแล้วสำเร็จเป็นผลบริบูรณ์ จึงคิดว่าพระพุทธรูปซึ่งจะสร้างในพระชันษา ๘๐ นั้น ถ้าทำฐานมาลัยรองเสียจะเป็นดี เมื่อพ้นเวลาฉลองไปแล้ว จะมีฐานมาลัยรองแม้ดูไม่ดีถอดออกเสียเอาไว้ต่างหากก็ได้ ได้บอกชายใหม่ให้เข้าใจแล้ว ฐานบัลลังก์ซึ่งฉลักลูกแก้วติดไว้กลาง คิดว่าเดิมทีก็จะเป็นมาลัยรัดนั้นเอง แต่ทำเป็นมาลัยครึ่งซีก

๑๒) ชายใหม่บรรเลงถึงยายเพิง ว่าที่นอนมีเลือด (ตัวสัตว์) ก็ทนนอนให้มันกัดอยู่ได้ ใครจะฆ่ามันก็ห้ามว่าบาป เกล้ากระหม่อมเห็นว่าบาปนั้นแก้ได้ รุที่นอนเก่าทำเสียใหม่ก็แล้วกัน แต่มันก็จะตายอีก เพราะไม่มีใครบริจาคเลือดให้มันกิน การถืออะไรนั้นยากนัก เพราะเป็น “ต่างคนก็ต่างใจ” ถามชายใหม่ได้ความว่ายายเพิงยังมีชีวิตอยู่

๑๓) ชายใหม่บรรเลงอีกว่า ที่ปีนังเวลานี้กำลังคิดชื่อที่เป็นคำเดียวให้เป็นสองคำ ว่าหญิงพูนเป็นคนคิด แต่ที่บอกตัวอย่างนั้นดูเป็นตั้งเล่นเอาความขันเพื่อหัวเราะกันเล่นเป็นประมาณ ไม่ใช่ตั้งจริง ๆ

๑๔) วันนี้เป็นวันจันทร์ แต่ยังไม่ได้รับลายพระหัตถ์เวรตามเคย ถึงกำหนดพิมพ์หนังสือเวรถวายก็ให้ดีดพิมพ์ตามเคย จะได้รับลายพระหัตถ์เวรเมื่อไรก็ตามที แต่คงจะทำหนังสือเวรส่งมาถวายเสมอตามกำหนด จะได้มากหรือน้อยก็ตามที แล้วจะไม่มีใจผูกพันว่าจะมาถึงพระหัตถ์เมื่อไรด้วย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ