วันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ถึงวันอาทิตย์แล้วยังไม่ได้รับลายพระหัตถ์เวร หม่อมฉันจึงเขียนเรื่องทูลบรรเลงขึ้นต้นจดหมายฉบับนี้

เรื่องบรรเลง

๑) จะคัดตำราขี่ช้างครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชถวายทอดพระเนตรอีกบท ๑ ว่าด้วย “ขี่ช้างน้ำมันชนบำรูงา” คือวิธีหัดช้างชน ซึ่งเคยแต่ได้ยินมาแต่ก่อน เพิ่งมารู้ว่าทำอย่างไรในตำรานี้

ว่าด้วยลักษณะขี่ช้างน้ำมันชนบำรูงา.

กลจะขี่ช้างน้ำมันบำรูงา ให้จัดเอาช้างที่มีน้ำมันหน้าหลัง แลมีฝีงาด้วยกันทั้งสองฝ่าย แลให้ผู้ขี่ช้างทั้งหมอทั้งควาญแต่งตัวจงโอ่โถงทั้งสองฝ่ายให้ใส่พวงมาลัยทั้ง ศีรษะ คอ ข้อมือ ทั้งหมอทั้งควาญและหมอนั้นให้ใส่เสื้อตาระกำทั้งสองฝ่าย และให้ผู้ขี่ช้างนั้นพึงรู้จักกิริยาช้างดุจกล่าวไว้ในกลค้ำในวงพาดนั้นเถิด ถ้ารู้จักน้ำใจและกิริยาช้างแล้ว จงผูกเครื่องตัวและจะใส่เสี้ยนใส่แหลมก็ตามน้ำใจช้าง และให้ติดหน่วงติดพานติดขอประจำพก และผูกเปลสอดชนักก็ให้ตลอด รักษาตัวให้มั่นคงทั้งหมอทั้งควาญ ให้กรมเชือกทั้งซ้ายทั้งขวาเอาเชือกบาศไปพานเสาปองแต่ต้นโกลนออกไป จนถึงหูตลบรอบข้อเท้าช้างนั้นละห้าวาทั้งสองฝ่าย ให้คะเนตัวช้างทั้งสองช้างเมื่อจะมาชนกันนั้นให้ถึงกันแต่ปลายงานั้นเป็นกำหนด แล้วจึงให้เอาช้างออกไปติดเชือก และเมื่อจะเอาช้างออกไปนั้นให้เอาช้างพัง ๑๔ ช้าง ๑๕ ช้าง เดินบังตาออกไปให้เดินเข้ามาข้างหลังเสาปอง ครั้นถึงเสาปองแล้วให้เดินเคียงเสาปองขึ้นมา ครั้นสุดเสาปองแล้วจึงให้เรียงเข้ามา ให้ถอยช้างนั้นตรงเสาปองให้ตั้งหน้าออกไปเอาช้างพังยืนบังไว้ แล้วให้กรมเชือกเอาเชือกเข้าติดเท้าทั้งสองเท้า แล้วจึงเอาช้างฝ่ายข้างหนึ่งออกมาเล่า ให้เอาช้างพังเดินบังตาออกมา ครั้นถึงเสาปองแล้วก็ให้ทำดุจกัน ครั้นติดเชือกเข้าได้ที่แล้ว ให้นมัสการถวายบังคมดุจกลไล่ม้านั้น แล้วให้เคลื่อนช้างทั้งสองฝ่ายเข้าไป แต่อย่าให้วิ่งเข้าไป ให้ปกติทั้งสองฝ่ายคนจึงจะไม่เป็นอันตราย ครั้นว่าช้างวิ่งเข้าไปนั้นเชือกบาศที่ติดเท้าช้างอยู่นั้นก็ยังมิพร้อมเส้น แล้วเชือกก็ยังมิได้ยืดตัว จะถลำถลากเข้าไป ช้างจะเป็นอันตราย จึงให้ค่อยเคลื่อนเข้าไป ถ้าเชือกตึงจะได้คลายออก ถ้าหย่อนจะได้พานเสาปองเข้า แต่พอให้ช้างชนกันถึงแต่ปลายงา ถ้าเชือกไม่ตึงไม่หย่อนดีแล้ว ก็ให้ผู้ขี่ช้างแก้ไขช้างให้ชนขวิดค้อนโยนป้อนกันให้เป็นท่วงเป็นทีทั้งสองฝ่าย ให้รักษาตัวจงมั่นหน่วงพานก็อย่าให้หย่อนได้ ให้รักษาช้างไว้อย่าให้ตลบหลังมาได้ ถ้าตลบหลังมา จะเล่นเชือกและจับเชือกขึ้นบนปลายงาแต่งาเดียว ก็ให้แก้ดุจแก้สารกะนั้นเถิด ถ้าช้างเล่นเชือกจับเชือกขึ้นพาดบนปลายงาได้ทั้งสองข้างแล้ว ถ้าปลายเชือกอยู่ข้างใดให้ควาญแก้ท้ายไปข้างนั้น และถ้าแก้มิทันก็ตายด้วยกันทั้งหมอทั้งควาญ ถ้าจะแก้ช้างเล่นเชือกขึ้นพาดได้ทั้งสองงานั้น แก้ที่ท่าเจ็บกว่ากันนั้น ให้หน้าช้างต่ำลง เชือกที่พาดงาอยู่นั้นจึงจะไม่เลิกขึ้นมา จึงกล่าวไว้ว่าให้รู้จักท่าเจ็บกว่ากันนั้นไว้ จะได้แก้ตัวเมื่อจน ถ้าและแก้มิได้ทันท่วงทีตายและ ถ้าช้างชนขวิดค้อนป้อนกัน แต่ปลายงาเป็นท่วงเป็นทีแล้ว ก็ให้รักษาให้ถอยหลังออกมายืนหน้าเสาทั้งสองฝ่าย แล้วให้ออกขอใหญ่ขอเจียด ควาญนั้นก็ให้ออกสายกะแซงสามท่าแล้วออกขอข้าง และหมอจะออกขอใหญ่นั้น ฝ่ายข้างหนึ่งโยนเล่นหน้า ฝ่ายข้างหนึ่งโยนปัดเกล้า จะออกขอเจียดเล่า ฝ่ายข้างหนึ่งออกเป็นแป้งผัดหน้า ฝ่ายข้างหนึ่งออกง่าขอเจียด และควาญซึ่งจะออกสายกะแซงให้ผิดอย่างกันนั้นมิได้หาที่นอกนี้ไม่ จะหนีอย่างกันได้ก็แต่ขอข้าง ฝ่ายข้างหนึ่งออกกะเดียดพลางรำ ฝ่ายข้างหนึ่งออกลำลำจะพุ่ง และจะออกขอใหญ่ขอเจียดขอข้างนี้ ถ้าฝ่ายช้างผู้ใดออกอย่างไรก่อนแล้ว ก็ให้ผู้ออกภายหลังนั้นอย่าออกให้เหมือนกัน ให้ผิดอย่างกัน เพราะเป็นที่เยาะเย้ยกันอยู่ดูเห็นไม่เป็นท่วงเป็นที และเมื่อหมอจะออกขอใหญ่ขอเจียดนั้น ให้ควาญรักษาช้างไว้ ครั้นหมอออกขอใหญ่ขอเจียดแล้วจึงให้ควาญนั้นออกขอข้างเล่า หมอนั้นก็รักษาช้างไว้ และหมอและควาญจะออกขอนั้นให้ผลัดกันทั้งสองฝ่าย ครั้นออกขอแล้วให้นมัสการถวายบังคม ให้ทำเหมือนดุจหนึ่งเอาช้างออก แล้วจึงถอยหลังช้างเข้ามาหาเสาปอง แล้วเอาช้างพังบังไว้ทั้งสองฝ่าย ถ้ากิริยาสงบแล้วจึงให้แก้เชือกออกจากเท้า เอาช้างพังบังตาเดินเข้าไปโรง ครั้นเข้าไปถึงโรงกิริยาปกติดีอยู่แล้ว ก็เร่งให้ใส่มัดขาและปลอกทรงซ้ายขวาเข้าจงเร็ว แล้วเอาหญ้าเอาอ้อยให้กิน แล้วให้กรมพระนครบาลตักน้ำมารดสาดแล้วปิดประตูโรงไว้ ช้างพังนั้นก็ยืนอยู่หน้าโรงนั้นก่อน แล้วจึงเอาช้างฝ่ายข้างหนึ่งเข้ามาเล่า ก็ให้ทำดุจกันนั้นกลขี่ช้างน้ำมันชนบำรูงากล่าวไว้ดังนี้แล”

การหัดช้างบำรูงาเช่นว่าในตำราจะเคยมีในกรุงเทพฯ นี้บ้างหรือไม่สงสัยอยู่ เคยเห็นแต่รูปภาพเขียนไว้ที่เชิงตู้หนังสือในพระที่นั่งพุธไธสวรรย์อันเป็นฝีมือเขียนในรัชกาลที่ ๓ เคยได้ยินใครเล่าว่าได้มีเมื่อใดไม่เหมือนวิธีหัดช้างรบด้วยล่อแพนและผัดพาน ซึ่งเราเองเกิดทันเห็นหลายครั้ง ถึงการที่ยอมให้คนล่อช้างตกน้ำมันเล่นเวลาเมื่อเอาช้างไปลงน้ำ ก็เนื่องอยู่ในวิธีหัดช้างรบนั่นเอง หม่อมฉันเคยเห็นแปลกตามครั้ง ๑ ในเวลาเมื่อยังมีกรมพระราชวังบวรฯ หม่อมฉันขึ้นไปดูพลายชมภูตกมันที่วังหน้า เขายังใช้แบบเก่า เมื่อก่อนช้างน้ำมันจะออกจากโรง มีช้างพังไปก่อน ๑ ตัว หมอควาญนุ่งกางเกงแดงตัวเปล่า ตีฆ้องร้องป่าวให้คนรู้ตัวว่าช้างน้ำมันจะมา หมอควาญที่ขี่ช้างน้ำมันก็แต่งเครื่องแบบนุ่งกางเกงแดงตัวเปล่า แต่ทางวังหลวงไม่มีช้างพังล่วงหน้าและหมอควาญแต่งตัวตามชอบใจ แต่การล่อช้างน้ำมันคงเป็นกีฬาประจำปี คล้ายกับงานหลวงถึงเสด็จออกทอดพระเนตร ทูลกระหม่อมจึงโปรดให้ทำพลับพลาสำหรับทอดพระเนตรช้างน้ำมันขึ้นที่บนป้อมขัณฑ์เขื่อนเพชร คิดดูแม้เพียงเท่าที่เราเคยรู้เห็นก็น่าเสียดายคชศาสตร์ ซึ่งไทยเราเคยเชี่ยวชาญมาก มาเสื่อมสูญไปเสียแล้ว

หม่อมฉันเคยเห็นช้างบำรูงาในอินเดียครั้ง ๑ ที่เมืองประเทศราชชัยบุระ (Jaipure) มหาราชามีให้หม่อมฉันดูที่สนามในราชวัง ไปเข้าประตูวังด้านหนึ่งแล้วขึ้นเชิงเทินเหมือนที่เพนียด เดินไปจนถึงพลับพลาสูงริมสนาม หน้าพลับพลาลงไปมีกำแพงเตี้ยขนาดตาคนและข้ามได้เปนแนว เปิดช่องให้คนผ่านกำแพงได้หลายช่อง มีพนักงานประจำอยู่หลังกำแพงนั้น ขึ้นนั่งบนพลับพลาได้ประเดี๋ยวก็เห็นคนแต่งเครื่องแบบขี่ม้าถือแพน เหมือนกับทวนไทย ล่อช้างงาตัว ๑ วิ่งเหย่าๆ เข้ามาในสนามทางด้านหนึ่ง ช้างนั้นไม่มีคนขี่ มีแต่ผ้าแดงผูกคลุมหลัง พอช้างเข้าในสนามแล้วม้าก็หลบหายไป ประเดี๋ยวมีม้าแพนล่อช้างงาตัว ๑ เข้ามาทางด้านอื่น พอช้างแลเห็นกันก็วิ่งเข้าชนกัน เมื่อคราวหม่อมฉันดูชนกันไม่ถึง ๒ นาที งาช้างตัวหนึ่งหัก เจ้าหน้าที่เขาก็ถามหม่อมฉันในทันทีว่า “จะโปรดให้เลิกหรือยัง” หม่อมฉันเข้าใจว่าอยากเลิกก็อนุญาต แต่นึกสงสัยว่าช้างตัวเปล่ากำลังชนกัน เขาจะห้ามได้ด้วยอย่างใด พอเขาให้สัญญาคนที่รายอยู่หลังกำแพงข้างล่างสัก ๔ คน ก็จุดดอกไม้ไฟคล้ายกับไฟเพนียงที่ติดไว้กับปลายไม้ตระบอง ถือวิ่งตรงออกไปที่ช้างชนกัน พอช้างเห็นดอกไม้ไฟก็ผละกันวิ่งหนีแยกกันไป เมื่อช้างไปอยู่ห่างกันแล้ว คนก็ขี่ม้าถือแพนเข้ามาล่อช้างออกจากสนามไปตามทางที่มาทั้ง ๒ ตัวเป็นเสร็จกันเท่านั้น เจ้าหน้าที่เขาบอกหม่อมฉันว่า ที่ขอเลิกเร็วเพราะช้างตัวงาหักจะแพ้ ธรรมชาติของช้างถ้าชนแพ้ครั้งหนึ่งแล้วก็ไม่สู้ช้างอีกต่อไป จึงต้องระวังมิให้ชนกันถึงแพ้ชนะ ดูก็เป็นวิธีหัดช้างชนด้วยประการอย่าง ๑ เดิมก็เห็นจะหัดช้างศึก แต่กลายมาเป็นหัดไว้เป็นกีฬาสำหรับอวดแขกเมืองมีบรรดาศักดิ์ หม่อมฉันจึงได้ไปเห็น

ลายพระหัตถ์

๒) สัปดาห์นี้ต่อวันจันทร์ที่ ๑๘ กรกฎาคมเวลาบ่าย เขาจึงเชิญลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑๒ มาส่ง ได้ลงมือเขียนทูลสนองต่อวันอังคารอันเป็นกำหนดจะส่งจดหมายไปทิ้งตู้ไปรษณีย์ จะเขียนได้แต่บางข้อที่สั้นๆ ต้องรอข้อที่ความพิสดารไปทูลต่อจดหมายฉบับหน้าต่อไป

ทูลสนองลายพระหัตถ์

๓) ชื่อปราสาทกรุงศรีอยุธยานั้นดูชอบกล เดิมก็ตั้งชื่อไม่คล้องกันมาเริ่มคล้องกันเมื่อตั้งชื่อปราสาทวิหารสมเด็จ หมายความอย่างเดียวกันกับสรรเพชญ์ปราสาท จะตั้งใจให้คล้องกันหรือไม่ได้ตั้งใจก็เป็นได้ทั้ง ๒ อย่าง ประสาทสุริยามรินทร์ ถ้าไม่ได้ตั้งใจจะให้ชื่อคล้องต่อปราสาทสรรเพชญ์ก็คงเป็น สุริยามรินทร์ ถ้าตั้งใจจะให้ชื่อคล้องกับปราสาทสรรเพชญ์ ก็คงเป็นสุรยาทิอมรินทร์ ดูเป็นอย่างสมเด็จพระสังฆราชวัดราชประดิษฐ์ท่านเรียกว่า “อินเทเว” อยู่ คิดต่อไปถึงการสร้างปราสาทที่ในพระราชวังกรุงศรีอยุธยา เห็นว่าเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสร้างปราสาทสรรเพชญ์กับเบญจรัตน คงสร้างเป็นปราสาทไม้ทั้ง ๒ องค์ ปราสาทมังคลาภิเษก ซึ่งพระเจ้าปราสาททองสร้างก็ว่าน่าเป็นปราสาทไม้ ต่อเมื่อรื้อพระที่นั่งมังคลาภิเษกสร้างเป็นปราสาทวิหารสมเด็จ จึงก่ออิฐถือปูนเป็นองค์แรก หรูหรากว่าเพื่อนจึงเรียกว่า ปราสาททอง คงต้องมีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดพระองค์หนึ่งรื้อปราสาทสรรเพชญ์องค์ไม้ลงสร้างเป็นก่ออิฐถือปูน แต่มิได้กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดาร

๔) บาตรพระแต่เดิมนั้น มีเค้าที่จะรู้ไว้เดี๋ยวนี้แต่ว่า เป็นของอย่างหนึ่งซึ่งเรียกว่า “บาตร” มิใช่ภาชนะอะไรๆ ถ้าพระใส่อาหารฉันจะเรียกว่าบาตรไปทั้งนั้นอย่าง ๑ บาตรทำด้วยโลหะก็มี ทำด้วยดินเผาก็มี ทำด้วยไม้กลึงก็มีอย่าง ๑ บาตรย่อมมีขนาดจำกัดเพียงใส่อาหารเต็มแล้วคนเดียวอุ้มไหวอย่าง ๑ แต่มีเค้าอีกอย่าง ว่าชั้นเดิมก็เห็นจะคล้ายกับบาตรเช่นที่พระใช้กันทุกวันนี้นั่นเอง เพราะพึงเห็นได้ด้วยแบบบาตรที่พระลังกา พม่า มอญ ไทย เขมร ใช้เหมือนกันโดยมิได้มีใครบังคับหรือนัดแนะกันอย่างไร

สิกขาบทที่ห้ามมิให้เลียบาตรนั้น หม่อมฉันลองคิดถามตัวเองว่า “เลียทำไม” ก็ตอบไม่ได้ เพราะถ้ามีข้าวสุกติดอยู่ข้างบาตรมาก เอามือควานหยิบมากินก็ง่ายกว่าเลีย ถ้ามีติดอยู่เล็กน้อยเลียก็ไม่อิ่มหนำอันใด จึงนึกไปว่าสิกขาบทนี้เห็นจะเกิดแต่การชำระบาตรให้สะอาดเมื่อทำภัตรกิจแล้ว อันถือเป็นข้อสำคัญในสงฆมณฑล น่าจะบัญญัติด้วยมีพระมักง่ายบางองค์เลียข้างนอกบาตรเอาน้ำลายล้างแทนน้ำ ในเมื่อหาน้ำยากหรือขี้เกียจเดินไปไกล หาเกี่ยวแก่การบริโภคอาหารไม่

เขียนมาเพียงนี้ถึง ๑๑ นาฬิกาในวันอังคาร จะต้องส่งไปให้หญิงพูนดีดพิมพ์ ขอประทานผัดทูลสนองข้ออื่นไปคราวหน้า

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ