วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๓๐ กันยายนตามเคย แต่ออกประหลาดใจที่สังเกตในลายพระหัตถ์เห็นว่าจดหมายเวรของหม่อมฉันที่ถวายไป ไปถึงพระหัตถ์ช้ากว่าปกติมาหลายคราว หม่อมฉันส่งจดหมายไปทิ้งไปรษณีย์ในวันอังคารเสมอเป็นนิจ สังเกตวันที่ได้ทรงรับก็เห็นได้ว่าเขาส่งไปจากปีนังในคราวเมล์วันศุกร์เสมอ ที่ช้าไปช้าในเมืองไทยมิใช่ที่นี่ แต่คิดดูก็ไม่สำคัญอันใดสุดแต่ให้ไปถึงพระหัตถ์ก็แล้วกัน

สนองลายพระหัตถ์

๑) ที่ว่าคำว่า “มุ่ลี่” มาแต่ม้วนคลี่ และคำว่า “กระโถน” มาแต่กระถ่มนั้น เป็นคำแปลของกรมหมื่นจรัสพรฯ เขียนส่งลงพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ แต่พอเห็นก็ฮากันลั่น ถึงสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทนไม่ได้ ทรงแปลสู้คำ ๑ ว่า “กระจาด” มาแต่ (คำผวน) “กระจ่ายตลาด” ดังนี้

ที่จริงการหามูลของคำต่างๆ ยากมิใช่ง่าย ต้องมีความซอกแซกจึงแปลได้เช่นแปลคำว่า “ซาเต๊ะ” และเรือ “ล่องบด” ต้องรู้ภาษาอังกฤษ และบางคำต้องรู้โบราณคดีจึงแปลได้เช่นแปลคำ “ทุ่มโมง” ถ้าแปลแต่โดยเดาก็เป็นอย่างมุลี่ และกระโถน มีบางคำที่หม่อมฉันยังคิดไม่เห็นมูล แปลไม่ออกจนบัดนี้ เช่นคำว่า “กิน” และ “นอน” เหตุไฉนเมื่อใช้แก่พระจึงว่า “ฉัน” และ “จำวัด” หมากพระกินเรียกว่า “เภสัช” แต่พอคิดเห็น ว่าเอาคำภาษามคธมาใช้อย่างขอไปที แต่พลูพระกินเรียกว่า “เภลา” นั้นก็ไม่รู้ว่ามาแต่อะไรทีเดียว

๒) พระพุทธรูปทำกลีบผ้าครองเป็นแบบเดิมของชาวโยนกที่ริสร้างพระพุทธรูป เมื่อชาวอินเดียแรกทำพระพุทธรูปก็ยังเอาอย่างมาทำผ้าครองเป็นกลีบ เรียกว่าพระพุทธรูปแบบ “อมราวดี” มีตัวอย่างอยู่ในพิพิธภัณฑสถาน ต่อมาจึงทำแต่เป็นริ้วรอยพอให้เห็นว่าครองผ้า พระพุทธรูปลังกาก็ทำทั้งมีกลีบและมีแต่รอยผ้าครอง ที่ไม่ทำกลีบผ้าครองน่าจะเกิดแต่อยากทำรูปทรงองค์พระพุทธเจ้าให้งาม เห็นกลีบผ้าครองกีดจึงลดและเลิกเสีย มิใช่เอาอย่างมาแต่รูปศาสดาของพวกเชนที่ทำเปลือยกาย หม่อมฉันเคยเห็นรูปเชนในอินเดีย ถ้าทำเป็นรูปนั่งแลดูเหมือนพระพุทธรูปสมาธิไม่มีผิด ต่อสังเกตจึงเห็นว่าผิดกันที่ไม่มีรอยผ้าพาด กับทำเป็นรูปคล้ายขนมเปียกปูนโปนขึ้นมาที่ตรงอุณาโลมหน่อยหนึ่ง รูปเชนที่ทำเป็นพระยืนหม่อมฉันเคยเห็นแต่ในรูปภาพพิมพ์ไว้ในสมุด บางองค์ก็ทำรูปนิมิตให้แลเห็นบางองค์ก็แกล้งทำเถาละดาเลื้อยบังมิให้เห็นนิมิต นอกจากนั้นเอาแบบพระพุทธรูปไปทำทุกอย่าง เพราะรูปเชนเป็นของเกิดขึ้นภายหลังพระพุทธรูป

๓) ความคิดที่ทำประดิทินนั้น ก็อยู่ในจะหากำหนดอันใดให้ร่วมกันได้ทั้งโคจรของดาว เดือน ตะวัน และฤดูกาล เป็นแต่พอหาได้ใกล้เข้าไปยังไม่เต็มตามที่ประสงค์ จึงมีโหราจารย์ต่างๆ คิดแก้ไขมาโดยลำดับดังเช่นประดิทินสุริยคติที่ฝรั่งใช้ เดิมใช้อย่างกรีซคิด แล้วโป๊ปองค์หนึ่งชื่อเกรกอรี แก้วันเคลื่อนกัน ๑๔ วัน เดี๋ยวนี้ฝรั่งก็ยังใช้ประดิทินต่างกันเป็น ๒ อย่าง ดูความยากมันอยู่ที่จะให้มนุษย์ซึ่งใช้ประดิทินอย่างหนึ่งจนคุ้นเคยมาช้านานแล้วเปลี่ยนไปใช้เป็นอย่างอื่น พึงเห็นได้แม้ในเมืองเรา เดิมใช้ประดิทินทางจันทรคติ เมื่อมาเปลี่ยนใช้ประดิทินทางสุริยคติในรัชกาลที่ ๕ ก็ลำบากมิใช่เล่น ยกตัวอย่างดังวันอุโบสถของพระก็ยังต้องใช้ทางจันทรคติตามพระบาลี พวกพลเมืองมาใช้สุริยคติจะรู้วันฟังเทศน์ทำบุญก็ยากขึ้น จะป่วยกล่าวไปไยถึงคนอื่น แม้ตัวหม่อมฉันเองก็ได้รับความลำบากในการแต่งหนังสืออยู่เสมอ ด้วยในหนังสือจดหมายเหตุเก่าใช้จันทรคติหนังสือแต่งใหม่ใช้สุริยคติ ต้องคิดหักทอนเสียเวลาลำบากอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นประดิทินอย่างที่มีผู้คิดใหม่จะให้เป็นปีละ ๑๓ เดือนนั้น กว่ามนุษย์จะรับใช้เห็นจะยังนาน

๔) ที่พระเจ้าปราสาททองทำพิธีอินทราภิเษกและลบศักราชนั้น ผู้แต่งหนังสือพระราชพงศาวดารไปถือเอาพลความเป็นสำคัญ ข้อสำคัญที่จริงนั้นพระเจ้าปราสาททองตีได้ประเทศกัมพูชา จึงเอาเหตุนั้นเฉลิมพระเกียรติ์เป็นพระเจ้าราชาธิราช คือเลื่อนจาก King เป็น Emperor ด้วยทำพิธีอินทราภิเษก การเปลี่ยนปีที่เรียก–ลบศักราช–เป็นแต่อุปกรณ์ในพิธีนั้น คิดดูในเวลานี้เห็นว่าถ้าพระเจ้าปราสาททองตั้งชื่อปีเสียใหม่ทั้ง ๑๒ ปี ให้ใช้แทนชื่อปีชวด ฉลูฯ อย่างเดิมก็น่าจะสะดวกกว่า เพราะที่ให้เลื่อนปีกุนขึ้นมาเป็นสัมฤทธิศกนั้น ทำให้จดหมายเหตุเก่ายุ่งหมด พวกที่ไม่ได้อยู่ในบังคับ เช่นพม่าก็ไม่ยอมใช้ตามอยู่เอง ถึงพวกที่อยู่ในบังคับเช่นไทยก็ใช้เพียงชั่วพระชนมายุของพระเจ้าปราสาททองแล้วก็ต้องเลิกอยู่เอง ศักราชแปลกอย่าง ๑ ที่ใช้ในกฎหมายนั้นหม่อมฉันเคยค้นหามูลก็ไม่ได้ พระยาโหราฯ บอกแต่ว่าเรียกศักราชจุฬามณี ซักหาเหตุต่อไปก็ไม่ได้ความ สังเกตในบทกฎหมายเห็นใช้ศักราชนั้นในบางแผนกกฎหมายของพระเจ้าทรงธรรมก็มี พระเจ้าปราสาททองก็มี และพระเจ้าบรมโกศก็มี เห็นได้ว่ามิใช่ตั้งขึ้นหรือเริ่มใช้เมื่อพระเจ้าปราสาททองลบศักราช

๕) แฝที่ชวานั้นหม่อมฉันก็ได้เคยเห็นที่เมืองบันดุง และได้เคยเห็นทั้งละครหมัดและคนกลืนปลาเป็นๆ นอกจากนั้นได้เห็นอีกบางอย่าง อย่าง ๑ คือพวกคนเตี้ย (ไม่ใช่ค่อม) เขาเอามาจากเกาะอันใดอันหนึ่ง มันสูงเพียงสักเท่าเด็กอายุ ๑๐ ขวบ เขาให้มันเล่นเต้นรำอยู่บนยกพื้นสูงเสมอตาคนยืนดู อีกอย่าง ๑ ฝรั่งดัดตน ฝรั่งคนนั้นแขนขาของมันจะเอาไปทางไหน คดงออย่างไรได้หมด แต่ที่หม่อมฉันชอบมากกว่าอย่างอื่นนั้น ที่เขาทำแผนที่เกาะชวาอย่างปั้นนูนไว้ในตึกใหญ่ที่อยู่กลางมีทางรถไฟทางเรือ และทำหุ่นรถไฟหุ่นเรือให้เห็นแล่นตามที่เป็นจริงอยู่ตลอดเกาะชวาน่าดูนัก ลูกหญิงเหลือของหม่อมฉันก็เป็นอย่างคุณโตที่มักสาละวนขวนขวายดูในร้านขายเครื่องเพชรพลอยต่างๆ มากกว่าแห่งอื่น

การมีแฝในชวาดูเหมือนเขามีกำหนดแน่นอน มีในเมืองใหญ่ปีละครั้ง ๑ เมืองน้อยก็มี ๒ ปี ๓ ปี ครั้ง ๑ มีที่ไหนพวกทำของขายหรือทำอะไรให้คนดูทั้งที่อยู่ต่างถิ่นและในท้องที่ก็ไปรวมกันหาประโยชน์ที่แฝนั้น แปลว่ามีช่องขายดีและซื้อง่ายปีละครั้งเสมอ เป็นการอุดหนุนหัตถกรรมทั่วทั้งเกาะชวา แต่พลเมืองของเขามีมาก อาจจะซื้อเฉลี่ยกันเสียเงิน ซื้อหรือเสียค่าตาดูคนละเล็กละน้อย ก็พอให้ออกแฝได้เสมอทุกปีไม่จืด

ทูลข่าวทางปีนัง

๖) เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ตรงกับเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๓ ค่ำ คนขับรถเขาพาหม่อมฉันไปเที่ยวทางถนนสาย ๑ ซึ่งตึกแถวทั้ง ๒ ข้างมีร้านขายจันอับมาก วันนั้นเห็นตามร้านขายจันอับพากันแต่งประทีปและแต่งเครื่องประดับ บางร้านมีเครื่องกระดาษทำเป็นโคมรูปปลามีคันสำหรับถือและสิ่งอื่นๆ พวกจีนกำลังเข้าออกตามร้านเหล่านั้นเกลื่อนกลุ้ม เขาว่าเป็นวัน “สารทขนมเปีย” ของจีน หม่อมฉันจับเอาที่ทำโคมรูปปลาเป็นนิมิต นึกขึ้นว่าลอยกระทงเดือน ๑๑ ของเรา จะมาแต่จีนเสียดอกกระมัง เพราะในกฎมนเทียรบาลว่าเดือน ๑๑ ทำพิธีอาสยุช แข่งเรือพระที่นั่งพระเจ้าแผ่นดินกับพระมเหสีเสี่ยงทาย เดือน ๑๒ มีพิธีลดชุด ลอยโคม ส่งน้ำ ๓ อย่าง พิธีลดชุดดูเหมือนจะสูญมาจนทูลกระหม่อมของเราจึงทรงประดิษฐ์พิธีชักโคมชัยขึ้นแทน พิธีลอยโคมนั้นตรงกับลอยกระทง ฝรั่งที่ได้เห็นทำเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาได้พรรณนาไว้ให้เข้าใจด้วยว่า มีทั้งลอยกระทงและจุดดอกไม้ไฟ พิธีส่งน้ำนั้นยังทำอยู่ที่เมืองเขมร จนในสมัยพระเจ้าศรีสวัสดิ์ เขาเล่าว่าทำเมื่อเวลาน้ำปีเริ่มลด พระเจ้าแผ่นดินเสด็จลงประทับที่แพหน้าวังมีสายเชือกขึงจากแพออกไปถึงเรือที่ทอดอยู่ตรงหน้าแพลำ ๑ สมมติว่าขึงกั้นน้ำไว้ พระเจ้าแผ่นดินตรัสอนุโมทนาคุณของน้ำที่มาท่วมให้ทำนาได้จนตลอดฤดู แล้วทรงตัดเชือกเหมือนหนึ่งว่าปล่อยให้น้ำกลับไป ต่อนั้นมีการแข่งเรือกันสนุกสนาน เห็นได้ว่าการลอยกระทงเป็นพิธีเดือน ๑๒ ที่มาลอยในเดือน ๑๑ อีกครั้ง ๑ ต้องเกิดขึ้นทีหลัง คือเอาอย่างลอยกระทงเดือน ๑๒ มาทำ แต่ก็ทำอย่างเหี่ยวๆ ไม่ครึกครื้นถึงทำกระทงใหญ่เช่นเดือน ๑๒ จึงนึกว่ามูลน่าจะมาจากที่อื่น ขอให้ทรงพิจารณาดูเถิด

๗) เทศกาลออกพรรษาปีนี้ พระทองสุกซึ่งอยู่รักษาการสอนพระศาสนาที่วัดศรีสว่างอารมณ์แทนพระมหาภุชงค์ เธอจัดให้มีการพิธีเมื่อวันที่ ๕ กลางเดือน เวลา ๑๙.๐๐ น. นัดสัปบุรุษประชุมไหว้พระสวดมนต์ เวลา ๑๙.๓๐ น. เดินเทียน (เป็นของชาวปีนังชอบ) ๒๐.๐๐ น. ฟังเทศน์ ๒๑.๐๐ น. ทำพิธีสงฆ์ พระสวดมนต์ถวายพระราชกุศลแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วเป็นเสร็จการ

หม่อมฉันให้หาภัตตาหารไปเลี้ยงพระเวลาเพล ถึงเวลาเย็นหม่อมฉันกับลูกพร้อมกันไปที่วัดศรีสว่างอารมณ์ก่อนเวลาประชุมสัปบุรุษ บูชาพระรัตนตรัย และพระบรมรูปทูลกระหม่อม ซึ่งเธอจัดตั้งไว้ที่เครื่องบูชาแห่ง ๑ ในโบสถ์ แล้วกลับมา ขอถวายพระกุศลให้ท่านทรงอนุโมทนาด้วย

เมื่อไปวัดเห็นพระทองสุกเธออยู่แต่องค์เดียว อุตส่าห์พยายามรักษาวัดเรียบร้อยสะอาดสะอ้าน และบำเพ็ญกิจวัตรในการรักษาพระศาสนามิให้บกพร่อง ต้องออกปากชม ฟังคำเธอพูดก็น่าสรรเสริญ เธอว่าในระหว่างเวลามีสงครามนี้ การติดต่อกับคณะสงฆ์ธรรมยุติในกรุงเทพฯ ไม่สะดวก เธออยู่องค์เดียวก็จะพยายามรักษาการที่พระมหาภุชงค์ได้จัดไว้ให้คงอยู่อย่าให้เสื่อมทรามไปจนสิ้นสงคราม แต่สังเกตดูพวกสัปบุรุษที่บำรุงวัดเขาก็ยังเลื่อมใสแข็งแรงดี

๘) เรื่องทูลบรรเลงในคราวนี้ เห็นอยู่ข้างบกพร่อง จึงถวายนิทานโบราณคดี เรื่องตั้งโรงพยาบาล มาทรงอ่านเล่นอีกเรื่อง ๑

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ