วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒ ธันวาคม ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

จะกราบทูลสนองลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน

สนองลายพระหัตถ์

๑) เขมรได้แบบปรางค์มาแต่อินเดียนั้นไม่มีที่สงสัย การก่อจะเป็นหินก็ดี อิฐก็ดี ทางแถวบ้านเราไม่มีด้วยกันทั้งนั้น แต่ที่เขมรได้มาจากอินเดียก็ได้มาแต่เพียงท่วงทีท่าทาง ที่กราบทูลว่ามาทำอย่างปราสาทไม้ในเมืองเขมร ก็เป็นแต่แก้เข้าหาที่เคยทำมาเท่านั้น

ปรางค์ไทยที่มีแต่กลีบขนุน คิดว่าเนื่องมาแต่ทำของเล็กๆ ซึ่งหยักแต่พอเป็นที แท้จริงกลีบขนุนก็คือนาคปักบันแถลงนั่นเอง แต่เพราะทำทรงเป็นก่งออกให้สมกับที่เป็นของก่อ จึงได้ทำนาคปักบันแถลงเป็นทรงก่งออกไปตามกัน เพื่อให้เข้ากัน ทำให้คำเรียกชื่อเปลี่ยนไปเป็นว่ากลีบขนุนตามรูปซึ่งเหมือนใบขนุน จะว่ากลีบขนุนเป็นของพราหมณ์ไม่ได้เพราะในอินเดียไม่มี มีแต่ที่เมืองเขมร ที่ตรัสเรียกว่า “ช่องวิมาน” นั่นแหละคือ “ช่องบัญชร” เหตุที่ปรางค์ไทยเราไม่มีช่องบัญชรจึงคิดว่าสืบมาแต่ทำของเล็กอันหยักแต่พอเป็นที

ถ้าจะว่าถึงปราสาทของเราก็เป็นอันทำผิด ด้วยย่นเอาหลังคาลงมาซ้อนติดกันเสียจนผนังหายไป เป็นเหตุให้ช่องบัญชรหายไปด้วย คงเหลือแต่ซุ้มซึ่งเรียกว่าบันแถลง ถ้าถือเอาที่แท้แล้วจะต้องเป็นชั้นอย่างถะของจีนเป็นต้น คำว่า “ปราสาท” ก็หมายความว่าเป็นเรือนชั้นอยู่แล้ว ทางพม่าเขาทำปราสาทก็มีชั้นมีบัญชรอยู่ ที่เราย่นหลังคาลงมาก็เป็นตั้งใจจะทำเป็นเรือนชั้นเดียวมียอดแหลม ปรางค์อย่างที่ทำยอดเป็นเฟืองก็ได้เห็น แต่เห็นที่ไหนก็ลืมเสียแล้ว ได้คิดเมื่อได้เห็นเหมือนกันว่าเป็นอะไร ก็ตกลงในใจว่าเป็นหลังคาลูกฟูก โดยตั้งใจจะทำเป็นเรือนชั้นเดียวยอดแหลมนั่นเอง จะว่าเป็นแบบไทยก็ควร เพราะในเมืองเขมรไม่เห็นมีเลย

๒) อันชื่อเมืองนั้นเดิมชอบด้วยตามกระแสพระดำริ อันชื่อ “เมืองเชลียง” และ “เมืองชากังราว” ก็คิดว่าเป็นภาษาไทยนั่นเอง แต่เป็นไทยเก่าขึ้นไปซึ่งเราแลไม่เห็น ชื่อที่เรารู้ไม่ได้มีอีกถมไป เช่น “เมืองฉะเชิงเทรา ” “เมืองระยอง” “เมืองระนอง” เป็นต้น “เมืองคณฑี” นั้น แปลว่าไม่รู้ชื่อก็เรียกเอาตามชื่อตำบล ที่หองให้ก็มีเช่น “เมืองอภัยสาลี” เป็นต้น

อยากจะกราบทูลอาราธนาให้ทรงชี้แจงในเรื่อง “เมืองเชลียง” กับ “เมืองศรีสัชนาลัย” ว่าอย่างไรกัน เกล้ากระหม่อมแม้ได้ไปถึงก็ไม่ทราบอะไรเลย เพราะไม่มีใครอธิบายให้เข้าใจ

๓) ที่บีบเอาคำฝรั่งเป็นภาษาไทย เช่น “หันแตร” เป็นต้นนั้น เห็นว่าดีควรจะบำรุงให้เป็นไป หรือไม่เช่นนั้นก็เปลี่ยนเสียให้เป็นคำไทย เช่น “หนังฉาย” เป็นต้น คำ “ตะแล้บแก๊บ” นั้นชาวปักษ์ใต้เขาตัดเรียกกันแต่ว่า “แก๊บ” เท่านั้นเสียด้วยซ้ำ เป็นพวกไฟไหม้หมดหลัง คำ “ไปรษณีย์” ก็มาเขียนแก้กันในครั้งสมเด็จกรมพระสวัสดิ์ เมื่อครั้งสมเด็จพระสังฆราช (สา) เขียนกันเป็น “ไปรสนีย์” ท่านเดินทางใช้ภาษามคธกับสังสกฤตปนกัน

คำ “ซีจำปลุ๊ก” กับ “ครือคะรึ” ตามตัวอย่างที่ตรัสเล่าเกล้ากระหม่อมก็ได้ทราบ แต่ได้ทราบเพียงครึ่งๆ กลางๆ ไม่ทราบว่าจะต้องมีพระราชประสงค์เอาหนังสือมาทำไม กับเจ้าคุณพระประยุรวงศ์นั้นทราบไขว้ไปเป็นว่าคุณปลัดเสงี่ยม แม้กระนั้นก็ขันแทบตาย

ให้รู้สึกประหลาดจะเว้นกราบทูลเสียไม่ได้ อันคำว่า “ปรยุระ” หรือ “ประยูร” นั้น หน้าตาเป็นภาษามคธหรือสังสกฤต แต่เมื่อไปพลิกพจนานุกรมสองภาษานั้นดูก็ไม่พบ จึงทราบว่าไม่ใช่ ก็เป็นอันเดียวกันกับคำ “จงกลนี” จำได้ว่าสมเด็จกรมพระสวัสดิ์กับโปรเฟสเซอร์เซเดย์จะทะเลาะกันหรือหลงไปด้วยกันก็ลืมเสียแล้ว นั่นหน้าตาเป็นภาษามคธหรือสังสกฤตเหมือนกัน แล้วไปสอบพจนานุกรมในสองภาษานั้นก็ไม่พบ เป็นอันทราบได้ว่าไม่ใช่ภาษามคธสังสกฤตอีกเหมือนกัน

๔) จะกราบทูลเล่าถึงเรื่อง “พระนนทิการ” เมื่อเกล้ากระหม่อมไปเที่ยวเมืองชวา ทูลกระหม่อมชายพาไปเที่ยวเขาเดียงอันเป็นเทวสถานเก่า โฮเตลที่นั่นเขาเก็บเอาเทวรูปฉลักหินมาไว้มาก มีรูปหนึ่งเป็นคนขี่คอคน แต่หน้าเป็นงัวไปทั้งคู่ ตัวล่างพอเดาออกว่าคือพระนนทิการ ส่วนตัวที่ขี่คอควรจะเป็นพระอิศวรควรหน้าจะเป็นมนุษย์ แต่ไฉนหน้าจึงเป็นงัวไปด้วยกัน มาโจษขึ้นกับทูลกระหม่อมชายก็ตรัสว่าจะเป็นคอหักแล้วฉวยเอาหน้างัวมาต่อไว้กระมัง เล่นเอาต้องกลับไปดู ยกหัวตัวที่ขี่คอขึ้นก็พบว่าคอหักแล้วเอาหัวงัวมาวางไว้จริง ๆ

๕) อ่านหนังสือพิมพ์ข้างไทย เขาลงข่าวว่าที่บ้านนอกอดข้าวกัน มีแม่ลูกเอารำมาต้มกินแล้วก็ตายไปด้วยกัน ออกไม่เชื่อ ซ้ำยังคิดว่าในเมืองไทยจะมีทุพภิกขภัยไม่ได้ด้วย เพราะคนเมืองเรายังมีน้อย พื้นที่ว่างเปล่าอันไม่มีเจ้าของหวงแหนยังมีมาก คนที่อดอาจจะไปหาอะไรกินแทนข้าวได้ในที่อันว่างเปล่าอยู่นั้น ผิดกันกับเมืองจีน นั่นคนอดต้องกินดิน น่าสมเพชมาก ตามพระดำรัสเล่าว่าหมอฝรั่งทางสิงคโปร์เขาคิดเอารำทำแป้งขนมปัง รำจะต้องขึ้นราคา “ไม่เข้าใครออกใคร” ขอให้เป็นผลสำเร็จเถิด ฝรั่งกับไทยมีความเห็นแตกต่างกัน ข้างฝรั่งเห็นรำดีกว่าข้าว แต่ข้างไทยเห็นข้าวดีกว่ารำ

๖) เขมรเขาเรียกดินว่า “ดี” ก็ถ้าเขาจะเรียกดินสอว่า “ดีสอ” มาเคลื่อนในภาษาไทยเป็นดินสอดูก็ไม่สู้กระไรนัก แต่คำเรียก “ดีสอ” โดยตรงนั้นยังไม่พบ เป็นแต่เทียบเอาที่เขาเรียกแผ่นดินว่า “แผนดี” ตามที่ทรงกำหนดเอาความหมายในปัจจุบันเป็นที่ตั้งนั้นชอบแล้ว ที่กราบทูลถึงคำว่า “ดินสอ” ก็เพื่อจะให้ทรงเห็นว่าเป็นการเข้าใจผิด เช่นเดียวกับคำ “เวทนาสงสาร” อะไรเหล่านั้นเท่านั้น

๗) นายปานขลิกนั้นสูงมาก ไม่ทราบเลยว่าแกเป็นพี่ชายหลวงศิลป์ (เล็ก) ตัวหลวงศิลป์เองก็รู้จัก เว้นแต่ไม่คุ้น ที่ไม่คุ้นก็อาจเพราะแกตายเสียก่อนก็เป็นได้ เขาว่าแกเป็นคนตลก เรื่องของแกที่เล่าฟังเห็นขันทั้งนั้น นายปานขลิกก็ไม่หยอก แต่ไม่เป็นอันตรายแก่ใคร เรื่องนามสกุลนั้น เกล้ากระหม่อมไม่ได้ทราบเลย ตามที่ตรัสเล่าให้ทราบเกล้านั้นเป็นพระเดชพระคุณไม่น้อย อันนามสกุลนั้นเกิดในรัชกาลที่ ๖ ซึ่งเกล้ากระหม่อมไม่ได้รับราชการจึงไม่ทราบ แต่ได้กลับเข้ารับราชการอีกในรัชกาลที่ ๗ ดูก็ประหลาดอยู่

๘) เรื่องภาษาผิดกัน ให้นึกเจ็บใจเมื่อครั้งเกล้ากระหม่อมไปตรวจสายโทรเลขทางภาคปักษ์ใต้ ไปข้ามคลองอันหนึ่ง ถามเอาชื่อคลองแก่ตาหมอช้างเพื่อจะจดลงรายงาน แต่แกก็จน ขณะนั้นเห็นเด็กมาเล่นน้ำอยู่ในคลองหลายคน จึงถามเด็กว่า “คลองอะไร” เด็กเหล่านั้นแลดูตาค้างแสดงว่าไม่เข้าใจ ตาหมอช้างจึงส่งภาษาอย่างชาวปักษ์ใต้ว่า “คลองเรย” (คำหลังอ่านอย่างธรรมยุติสวดมนต์) มันก็บอกชื่อคลองทันที จึงมานึกว่าเราก็ใช้ภาษาไม่ผิดกับชาวปักษ์ใต้ไปมากนัก หากแต่เยิ่นเย้อไปเท่านั้น ควรหรือไม่เข้าใจได้ ระลึกได้ว่าได้เคยสนทนากับพระที่เกาะสมุยมาครั้งหนึ่ง เราพูดไปท่านก็ต้องตรอง ท่านพูดมาเราก็ต้องตรอง จะโต้ตอบกันทันทีหาได้ไม่ แต่เพราะท่านก็เป็นผู้ได้เรียน เราก็เป็นผู้ได้เรียน จึงพูดกันเข้าใจได้ การพูดนั้นดูสำคัญอยู่ที่ผู้อยู่ต่อแดนต่างประเทศจำจะต้องพูดกับเขาให้เข้าใจกัน ดีกว่าจะไม่รู้ภาษาของเขาเสียเลย

๙) ที่ตรัสเรียกว่า “ชมพู่สำลี” นึกแปลคำ “สำลี” ข้างท้ายไม่ออก มีแม่สำลีลูกสาวพระยาอนุชิต (สาย) อยู่คนหนึ่ง ดูก็ไม่น่าจะมาเกี่ยวข้องกับชมพู่นั้นเลย “ชมพู่แดง” ก็แปลออกว่า เพราะสีมันแดงผิดไปจากธรรมดาของชมพู่ ชมพู่ธรรมดาจะต้องเป็นสีชมพู ที่เราใช้อยู่ว่า “สีชมพู” ก็คือหมายถึงลูกชมพู่นั้นเอง ที่มาแปลกันว่า “หว้า” หรือ “ต้นหว้า” นั้นเห็นจะผิดไปมาก อันการแปลผิดนั้น ถ้าไต่สวนน้อยก็อาจแปลผิดไปได้มากเหมือนหนึ่ง “ขทิร” เราแปลกันว่าต้นตะเคียน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านดูหนังสือบาลี ปรากฏว่า “ขทิร” นั้นมีหนาม เพราะฉะนั้นจะเป็นต้นตะเคียนหาได้ไม่ ได้ดูสอบพจนานุกรมภาษาบาลีเขาก็บอกชื่อไว้เป็นภาษาลาติน เลยไม่รู้ว่าต้นอะไร อันชื่อภาษาลาตินนั้นก็ไม่แน่ เคยถามพวกนักเรียนพฤกษศาสตร์ บอกชื่อไม่ลงกันก็มี ต่อมาจึงได้ทราบว่า นักเรียนต่างโรงเรียนกันจะตีกันตายด้วยเรื่องชื่อต้นไม้ก็มี เหตุที่เป็นดังนั้นก็เพราะท่านอาจารย์ท่านคิดตั้งชื่อต้นไม้เอาตามชอบใจ เว้นแต่เอาอย่างกันจึงลงกัน ถ้าไม่รู้ก็ต่างกันไป ครั้งหนึ่งเขาเกณฑ์พระราชาคณะผู้ใหญ่ให้แปลมหาชาติ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านคิดจะรับแปลกัณฑ์มหาพน เกล้ากระหม่อมทัดทานว่าอย่าเอาเข้าไปเลยจะต้องแปลชื่อต้นไม้ตายทีเดียว ท่านเห็นด้วยจึ่งเลี่ยงไปรับเอากัณฑ์กุมาร

๑๐) “แขกเทศ” คำนี้ ถ้าจะแปล “แขก” ก็ว่าคนมาแต่ต่างถิ่น “เทศ” ก็แปลว่าต่างประเทศ เห็นจะไม่กำหนดว่ามาแต่ประเทศไร ถือศาสนาอะไร เหมือนคำ “เทศ” อื่นๆ เช่น “ม้าเทศ นกกระจอกเทศ” เป็นต้น นั่นก็หมายความว่าเป็นสัตว์มาแต่ต่างประเทศ ที่เรียก “พราหมณ์เทศ แขกชวา แขกมลายู” นั้นรู้อยู่แล้วว่ามาแต่ไหน ถือศาสนาอะไร

พูดถึงคำนี้ก็นึกถึงนายเรโกลี แกเคยถามว่าลูกฝรั่งทำไมจึงเรียกว่า “ฝรั่ง” ที่เมืองฝรั่งไม่มีเลยก็ต้องจนแก ตอบแกไม่ได้ เพราะไม่ได้ตริตรองเตรียมตัวไว้เลย

ข่าว

๑๑) เมื่อวันที่ ๒๖ ที่แล้วมา ได้รับใบดำบอกว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม) วัดพระเชตุพน ฯ ถึงมรณภาพแล้ว กำหนดการพระราชทานน้ำอาบศพวันนั้นเวลา ๑๖.๐๐ น. แต่แม่โตต้มสุกมอบน้ำให้ชายงั่วไปแล้วจึงไม่ได้ไป ไม่ได้เห็นอะไรมากราบทูล

๑๒) ครั้นวันที่ ๒๗ แม่โตบอกว่าพรุ่งนี้จงไปทำขวัญเดือนให้ลูกชายดิศ ครั้นรุ่งขึ้นก็ไปวังวรดิศตามที่แกนัด แกอุ้มเด็กให้ทำขวัญด้วยแกถือว่าเป็นลูกของแก หน้าตาป้อยล่อยดี

๑๓) เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ได้รับหมายมาแต่สำนักพระราชวัง ๒ ฉบับ มีใบพิมพ์หมายกำหนดการส่งมาด้วยงานละฉบับ คือ

(๑) หมายทรงบำเพ็ญพระราชกุศลร้อยวัน พระราชทานที่ศพนายตั้ว ลพานุกรม ที่บ้าน ณ วันที่ ๓ พฤศจิกายน เวลา ๑๗.๐๐ น.

(๒) แล้วรุ่งขึ้น ณ วันที่ ๔ เวลา ๑๖.๓๐ น. พระราชทานเพลิงศพ นายตั้ว ลพานุกรม ที่สุสานวัดเทพศิรินทร์

แล้วยังได้รับใบพิมพ์หมายกำหนดการอีก ๖ ฉบับ คือ งานร้อยวันกับงานพระราชทานเพลิงศพอย่างละ ๒ ฉบับ กับทั้งมีหมายกำหนดการเปิดประชุมสภาผู้แทนส่งมาด้วยอีก ๒ ฉบับ เข้าใจว่านี่เป็นส่งนอกทางราชการ อยู่ข้างจะฟุ่มเฟือย จึงได้แบ่งส่งมาถวายเพื่อทราบฝ่าพระบาทอย่างละฉบับ การเปิดสภาผู้แทนราษฎรจะมีหมายส่งมาให้ต่อไปหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ

๑๔) เมื่อวันเสาร์เดือนนี้ วันที่ ๒๙ นั้น ได้รับลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน กับหนังสือพิมพ์รูปผู้หญิงหน้าลาย เร็วผิดปกติกว่าที่เคยมาก ตรวจดูเห็นซองปิดสองหัว เป็นกระดาษม่วงข้างหนึ่ง กระดาษแดงข้างหนึ่ง ไม่มีตราโฆษณาประทับ จะกราบทูลสนองลายพระหัตถ์นั้นในคราวอื่น

คงจะทรงสังเกตได้ว่าหลบคำ “ทีหลัง” “ภายหลัง” อะไรเหล่านั้น หากจะใช้ก็แต่จำเป็นที่จะทำความเข้าใจให้ผิดไป.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ