วันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

สัปดาหะนี้เขากลับส่งลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑๙ สิงหาคม ให้ในวันศุกร์อีก ก็พอเหมาะดีด้วยยังมีเรื่องที่จะทูลสนองในจดหมายเวรฉบับก่อนค้างอยู่บ้าง

ทูลสนองเรื่องที่ยังค้าง

๑) เรื่องวัดพระเชตุพนนั้นมีรายการสร้างเมื่อรัชกาลที่ ๑ อยู่ในศิลาจารึกที่วิหารพระโลกนารถ และมีรายการบุรณะปฏิสังขรณ์เมื่อรัชกาลที่ ๓ อยู่ในโคลงดั้นของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ซึ่งหอพระสมุดฯ ได้ให้ถอดเป็นความเรียงพิมพ์ไว้ในหนังสือ “ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน” แจกในงานพระศพพระวิมาดาเธออยู่ในเล่มที่ ๑ ทั้ง ๒ เรื่อง หม่อมฉันเอามาอ่านดูเมื่อจะร่างจดหมายนี้อีกครั้ง ๑ เห็นรายการพิสดารถ้วนถี่ดีมาก นอกจากนั้นในสมุดเล่มนั้นมีรูปวัดพระเชตุพนฉายจากเครื่องบินอยู่ด้วยอีก ๒ รูป ขอให้ทรงค้นเอามาพิจารณาดูเถิด หม่อมฉันเชื่อว่าคงโปรด ในจดหมายจะทูลแต่ที่เป็นโบราณคดีบางข้อ

ก. หม่อมฉันเคยเห็นแผนที่เมืองธนบุรีที่ฝรั่งเศสทำเมื่อรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ ในแผนที่นั้นมีแต่วัดเลียบกับวัดแจ้ง แต่วัดโพธิ์หามีไม่ ตรงที่วัดพระเชตุพนเวลานั้นยังเป็นชานป้อมใหญ่ซึ่งอยู่ราวโรงเรียนราชินี เพราะฉะนั้นวัดโพธิ์เป็นวัดสร้างเมื่อล่วงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ มาแล้ว

ข. เมื่อสร้างวัดพระเชตุพนในรัชกาลที่ ๑ แปลงโบสถ์วัดโพธิ์เป็นการเปรียญ สระจระเข้เดิมก็เป็นสระน้ำมีอยู่แล้วในวัดโพธิ์ สันนิษฐานว่าเขตวัดโพธิ์ทางด้านตะวันออกเห็นจะเพียงราวกำแพงสกัดนอกวิหารคด การเปรียญและกุฏิพระคงอยู่ไปทางริมแม่น้ำ เขตทางด้านเหนือคงอยู่ราวสวนไม้ต่อซึ่งสร้างในรัชกาลที่ ๓ ให้เป็นคู่กับสระ แต่ทางด้านใต้เขตวัดโพธิ์จะลงไปถึงไหนไม่มีที่สังเกต แต่ตรงที่สร้างกุฏิพระอยู่เดี๋ยวนี้เดิมเป็นชานป้อมทั้งนั้น มีคำเล่ากันมาว่า เมื่อสร้างวัดพระเชตุพนขุดพบซากศพมากกว่ามาก สมกับที่ฝรั่งเศสว่าทหารฝรั่งเศส ซึ่งส่งมาอยู่ที่ป้อมมาตายเสียมาก เหลือกลับไปได้น้อย

ค. สังเกตวัดพระเชตุพนในรูปฉายจากเครื่องบิน ดูน่าจะคิดแผนผังต่อกันหลายครั้ง แผนผังเดิมไม่ได้คิดจะมีพระมหาสถูป จึงเอาโบสถ์เป็นประธาน มีวิหารทิศต่อกับพระระเบียง ๒ ชั้นล้อมรอบ มีพระปรางค์อยู่ข้างในพระระเบียงมุมละองค์ ข้างนอกพระระเบียงออกไปมีพระเจดีย์หมู่กับวิหารคดทั้ง ๔ มุม แล้วก็ถึงกำแพงเขตวัด ดูได้ระยะพอเหมาะตลอดบริเวณภายใน เอาการเปรียญกับหอไตรไว้ที่ลานวัดเดิมข้างด้านหลัง ต่อมาเกิดจะประสงค์จะสร้างพระมหาสถูปบรรจุซากพระพุทธรูปศรีสรรเพชญ์ แต่ไม่อยากแก้แผนผังเดิม จึงขยายที่สร้างพระมหาสถูปต่อออกไปทางด้านหลังอีกบริเวณหนึ่ง ดูเป็นดังนี้ ขอให้ทรงพิจารณาดูเถิด

๒) ที่เรียกว่า “จรดกันบิดกันไตร” เดิมเห็นจะเป็นพิธี ๒ อย่างต่างกัน พิธีจรดกันบิดใช้แต่มีดโกนผม เช่นโกนผมไฟทารก พิธีจรดกันไตรใช้แต่ตระไกรตัดผม เช่นตัดจุกเด็ก จะทำอย่างใดแต่อย่างเดียวก็ได้ หรือทำทั้ง ๒ อย่างด้วยกันก็ได้ โกนผมไฟเจ้านายเมื่อสมโภชเดือนจึงไม่ต้องมีคนสำคัญเริ่มโกน เป็นพยานการเปลี่ยนวัยของเด็กเหมือนตัดจุก ที่เรียกในตำรารวมกันทั้ง ๒ พิธีว่า “จรดกันบิดกันไตร” นั้น เห็นจะมาแต่เขียนควง ว่าจรด กันบิด กันไตร} เอาไปเขียนต่อในบรรทัดเดียว จึงเข้าใจว่าเป็นชื่อเดียวกัน เหมือนเช่นยศขุนหลวงพระไกรศรี ก็เห็นได้ว่าเดิมคงมาแต่เขียนควง หมายความว่าจะเป็นขุนหรือเป็นหลวงหรือพระก็ได้ ที่เรียกคำว่า “ขุนนาง” ก็น่าจะมาแต่คำควงเหมือนกัน เช่นว่าให้หมายสั่งทั้ง ขุน นาง } แล้วจึงมาเปลี่ยนเป็นทั้ง ฝ่าย หน้า ใน } ถ้าค้นต่อไปเห็นจะยังได้คำอื่นอีก

๓) ซึ่งตรัสปรารภถึงชื่อที่เรียกของต่างๆ บางอย่างเดี๋ยวนี้ ยังมีแต่ชื่อไม่รู้ว่าของเป็นอย่างไร เช่นขนมแชงม้าเป็นต้น บางอย่างรู้จักของเป็นอย่างไร แต่ไม่รู้ว่าเหตุใดจึงเรียกชื่ออย่างนั้น เช่นขนมอย่างหนึ่งซึ่งเรียกว่า “สังขยา” เป็นต้น หม่อมฉันลองคิดดู เห็นว่าชื่อที่เรียกเดิมคงมีมูลเนื่องกับสิ่งของทั้งนั้น เช่นเรียกชื่อนกอย่างหนึ่งว่า “กา” และเรียกชื่อสัตว์จตุบาทอย่างหนึ่งว่า “แมว” ก็มี มูลมาแต่เสียงมันร้องเช่นนั้น เรียกขนมอย่างหนึ่งว่า “ขนมปัง” ก็มีมูลมาแต่ภาษาฝรั่งผู้เจ้าของตำราขนมนั้นเขาเรียกว่า Pan ชื่อว่าเรือล่องบดก็มาแต่ Long boat ภาษาอังกฤษอย่างเดียวกัน

ชื่อที่ไม่สูญไปด้วยกันกับสิ่งของ เป็นเพราะมีผู้เขียนลงไว้ในหนังสือหรือแต่งไว้ในบทกลอน ดังเช่นชื่อขนมแชงม้า ถ้าไม่มีบทเห่กล่อมก็คงสูญไปเสียนานเล้ว

หม่อมฉันนึกเรื่องตัวอย่างจะทูลได้เรื่อง ๑ เมื่อหม่อมฉันฉลองอายุครบ ๕ รอบ เชิญเสด็จสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เสวยที่วังวรดิศคืน ๑ ทำงานนั้นเดือน ๑๒ จึงคิดจะจัดการตั้งเครื่องกระบวนลอยกระทง ให้หญิงจงเธอทำเมนูเครื่องเสวยเวลาค่ำตามบทเห่เรือพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทำเครื่องว่างเวลาดึกตามบทเห่เรือพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ และแจกพัดหางปลาญี่ปุ่นเขียนรูปปลารูปนกตามบทเห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ หญิงจงสามารถทำของกินตามบทเห่เรือได้ทุกอย่างหมด เว้นแต่ “ขนมมัศกอด” ที่มีในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เธอเที่ยวสืบสวนเท่าใดก็ไม่ได้ความว่าเป็นขนมอย่างไร ต้องยอมจนอย่างเดียวเท่านั้น ขนมมัศกอดก็อยู่ในประเภทเดียวกับขนมแชงม้านั่นเอง คิดดูเห็นว่าถึงของอื่นในชั้นใหม่ลงมา ที่จวนจะสูญเหลือแต่ชื่อก็ยังมี นึกได้ ๒ สิ่ง สิ่ง ๑ คือ “หมากหลัวหลก” หม่อมฉันลองถามลูก หญิงจงเคยเห็นและบอกลักษณะถูก แต่ชั้นหญิงพูนไม่รู้ทีเดียวว่าหมากหลัวหลกเป็นอย่างไร อีกสิ่ง ๑ คือ “ข้าวปัด” ในกรุงเทพฯ ก็ดูเหมือนจะสูญแล้ว แต่ที่นี่รู้กันหมดจนชั้นชายหยด เพราะพวกมลายูยังทำด้วยขายกันกับซาเต๊ะที่เมืองปีนัง เรียกว่า “ตุมปัด” ชวนให้เห็นว่าไทยชาวนครคงได้ตำราจากมลายู ไปเรียกแต่คำท้ายตามวิสัยชาวนคร จึงกลายเป็น “ข้าวปัด” อธิบายยังส่อต่อไปว่าคำเรียกชื่อที่ไม่รู้มูลและแปลไม่ออก จะเป็นคำภาษาต่างประเทศโดยมาก เรียกตรงตามศัพท์เดิมเช่นขนมปัง และเรือล่องบด ผิดเพี้ยนไปบ้าง

หม่อมฉันนึกเรื่องตัวอย่างได้อีกเรื่อง ๑ ครั้งหนึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสหัวเมือง ดูเหมือนจะเป็นที่เมืองสระบุรี วันหนึ่งเสวยกลางวันโปรดขนมอย่างฝรั่งที่กุ๊กเจ๊กในกรมทหารเรือทำตั้งเครื่องวันนั้นว่าอร่อยดี ตรัสสั่งให้ไปถามชื่อขนมนั้น เผื่ออยากเสวยเมื่อใดจะได้สั่งให้ทำ ผู้รับสั่งกลับมาทูลว่าชื่อ “ขนมกี๊ก” ตรัสว่าดูอย่างไรคล้ายกับเตะ kick ให้ไปถามอีกว่าชื่อภาษาอะไร กุ๊กบอกว่าชื่อภาษาฝรั่ง ได้ทรงฟังตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้นมันก็ Cake แปลว่าขนมหวานเท่านั้นเอง” เลยไม่ได้ความพระราชประสงค์ ถ้าหากพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงทราบภาษาอังกฤษ ขนมอย่างนั้นก็เห็นจะได้ชื่อว่า ขนมกี๊ก เรียกกันเป็นตำรา

คำว่า “สังขยา” นั้น รู้กันแพร่หลายด้วยพระชอบใช้เมื่อบอกศักราชตามแบบเก่า บอกเศษเวลาก่อนเปลี่ยนพุทธศกว่าเศษสังขยาเท่านั้นเดือนเท่านั้นวัน หม่อมฉันคิดว่าชื่อเดิมของขนมคงจะเป็นภาษาอื่น เสียงดังคล้ายๆ กับสังขยา คนเอาคำพระไปเรียกตามสะดวกปากจึงกลายเป็นสังขยา หาใช่คำลึกซึ้งอันใดไม่

๔) พระนามพระเจ้าอยู่หัวในกรุงรัตนโกสินทร์ ๕ พระองค์ ที่เรียกเป็นภาษาจีนนั้น ดูเหมือนหม่อมฉันได้ค้นทูลไปในจดหมายเวรครั้งหนึ่งแล้ว เวลานี้นึกดูก็จำไม่ได้หมด แต่นึกว่าแต้เหม็ง จะเป็นของทูลกระหม่อม แต้เจีย จะคิดขึ้นสำหรับสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ดูเหมือนได้พิมพ์ในหนังสืออะไรแล้วตลอดชุด แต่นึกก็ไม่ออกว่าจะเป็นเรื่องอะไร

ทูลสนองลายพระหัตถ์ฉบับหลัง

๕) ที่ทำมุมเป็นไม้ ๒๐ และไม้ ๒๘ นั้น หม่อมฉันคิดดูเห็นว่าที่ทรงพระดำริว่าสำหรับทำฐานนั้นถูกทีเดียว ในเมืองพม่าก็ชอบทำ แต่ประหลาดอยู่ที่ของพม่าชั้นเก่าถึงสมัยพุกามหาทำเช่นนั้นไม่ ชอบทำแต่ของที่ปรากฏว่าได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์มาหลายครั้งหลายคราว เช่นพระเกศธาตุและพระมุเตาเป็นต้น น่าจะเป็นความคิดประดิษฐ์ขึ้นภายใน ๓๐๐-๔๐๐ ปีมานี้ ไม่เก่าแก่เท่าใดนัก ลองพิจารณาหาเหตุดู เห็นว่าลักษณะพระเจดีย์เดิมทีเดียวองค์พระสถูปกลม มีฐานทักษิณรองชั้น ๑ บ้าง ๒ ชั้นบ้าง ๓ ชั้นบ้าง ฐานทักษิณย่อมทำเป็นสี่เหลี่ยม ว่าตามสังเกตพระเจดีย์ที่เมืองพม่า ความคิดที่ย่อมุมฐานทักษิณเป็นไม้ ๒๐ และไม้ ๒๘ นั้น เห็นจะเกิดขึ้นเมื่อจะสร้างพระเจดีย์ใหม่สวมองค์พระเจดีย์เดิมให้สูงขึ้นไป จำต้องขยายตอนล่างให้กว้างออกไปสำหรับทานน้ำหนักตอนบน จึงแก้รูปฐานทักษิณชั้นบนกับชั้นกลางให้สอบเข้าไปต่อกับปากระฆังพระสถูป เมื่อเช่นนั้นจะคงรูปไว้เป็นสี่เหลี่ยมไม่ได้ จะทำกลมก็มิใช่องค์พระสถูป จึงคิดย่อมุมฐานทักษิณชั้นบนเป็นไม้ ๒๐ ชั้นกลางเป็นไม้ ๒๘ ให้ดูกลมกลืนกับทรง องค์พระสถูปคงไว้เป็นสี่เหลี่ยมแต่มีทางคนเดินแต่ฐานทักษิณชั้นล่าง ในเมืองไทยมูลเหตุก็น่าจะเป็นทำนองเดียวกัน แต่หม่อมฉันไม่เคยพิจารณา จึงทูลได้แต่ตามที่ได้สังเกตในเมืองพม่า

๖) ซึ่งทรงพระดำริว่า ลักษณะฐานชั้นสิงห์ของไทยมาแต่เครื่องไม้ เขาทำไว้สำหรับให้ยกได้นั้น หม่อมฉันว่าถูกทีเดียว คิดดูยังเห็นต่อไปว่า ชั้นสิงห์นั้นน่าจะเอาแบบมาแต่เตียง “จมูกสิงห์” ของจีนซึ่งมีหน้าสิงห์ทุกมุม จึงเรียกว่าฐานสิงห์ทั้งไม่มีหน้าสิงห์ปรากฏอยู่ ที่นับถือว่าฐานสิงห์เป็นเครื่องหมายศักดิ์สูงนั้นก็พอเห็นเหตุ ที่ในพิพิธภัณฑสถานมีพระแท่นที่ประทับและที่บรรทมของกรมพระราชวังบวรฯ แต่งรัชกาลก่อนๆ อยู่หลายองค์ ล้วนเป็นเตียงจำหลักปิดทอง มีหน้าสิงห์อยู่ที่มุมทุกขา คงถือกันมาแต่ก่อนว่าเตียงจมูกสิงห์เป็นของใช้ได้แต่เจ้านาย

เตียงสิงห์ของจีนยังมีอีกอย่าง ๑ แรกหม่อมฉันเห็นชื่อในบทเสภา พรรณนาเครื่องแต่งกฏิเถรกวาดว่า “เตียงจีนตีนตั้งสิงโตรอง” หม่อมฉันนึกว่าจะหมายเอาเตียงจมูกสิงห์นั่นเอง จนถึงรัชกาลที่ ๗ สมเด็จพระสังฆราชกรมหลวงชินวรฯ เสด็จลงไปทางหัวเมืองชายทะเล ไปพบพระแท่นขุนหลวงตากอยู่ที่วัดในเมืองแกลง อันเป็นวัดถิ่นเดิมของพระสังฆราชชื่นตรัสสั่งให้ส่งมายังพิพิธภัณฑสถาน เป็นเตียงจีนมีรูปสิงโตจำหลักปิดทองรองขาเตียงที่ต่อกับพื้นทั้ง ๔ ขา หม่อมฉันจึงเข้าใจว่าเตียงอย่างนั้นเองที่พรรณนาในบทเสภา

คิดต่อไปว่าเหตุใดจีนจึงทำหน้าสิงห์ที่ขาเตียง เห็นว่าน่าจะได้แบบ “สิงหาสน์” มาแต่อินเดีย หม่อมฉันเคยเห็นพระพุทธรูปลีลาทำประทับบนอาสนะ ใต้อาสนะลงมามีรูปสิงห์ (ไลออน) ๒ ตัวหมอบหันหัวออกไปทางมุม ๒ ข้าง ดูตรงกับที่เรียกว่า “สิงหาสน์” นึกถามต่อไปว่าที่เอาสิงห์กับอาสน์เข้าด้วยกันนั้นหมายเหตุอันใด เคยได้ยินอธิบายว่า เป็นอุประมาว่าพระพุทธองค์เป็น “นรสีห์” แต่ยังใช้ต่อมาเป็น “รัตนสิงหาสน์” และ” สีหบัญชร” ของพระเจ้าแผ่นดินดูจะเป็นแต่รูปภาพเครื่องหมายศักดิ์ เช่นตั้งสิงห์ตัวใหญ่ที่ประตูเท่านั้นเอง ทรงพิจารณาดูเถิด

๗) ลายมือเขียนหวัดในจดหมายสมัยเก่าที่รูปอักษรต่างกันตามสำนักนั้นเป็นความจริง จะว่าตามลายมือท่านผู้เป็นหัวหน้าสำนักนั้นๆ ก็ว่าได้ เช่นรูปอักษรเขียนในกรมราชเลขาธิการก็เหมือนลายพระหัตถ์กรมพระสมมตฯ รูปตัวอักษรเขียนในกระทรวงต่างประเทศก็เหมือนลายพระหัตถ์สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ เพราะลายพระหัตถ์งามทั้ง ๒ พระองค์ ตัวหม่อมฉันไม่เคยมีชื่อเสียงว่าเขียนหนังสืองาม แต่กระนั้นก็เคยมีเหตุถึงหม่อมฉันหลงเอง เมื่อครั้งยังเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย วันหนึ่งเห็นกระดาษเขียนร่างด้วยเส้นดินสอวางอยู่บนโต๊ะเขียนหนังสือห้องเลขานุการ จำลายมือได้ว่าหม่อมฉันเขียนเอง แต่เมื่อหยิบเอามาอ่านเห็นความในนั้นไม่ใช่ความคิดของหม่อมฉัน ก็นึกฉงนว่าทำไมจึงได้เขียนเช่นนั้น จนออกปากถามว่าหนังสือของใคร จึงรู้ว่าเป็นลายมือของพระยาศิริธรรมบริรักษ์ (ทับ) ซึ่งเคยเป็นมหาดเล็กรับใช้ติดตัวหม่อมฉันมาตั้งแต่รุ่นหนุ่ม จนมาเป็นนายเวรเลขานุการอยู่ในเวลานั้น เจ้าตัวเองก็ไม่ได้ตั้งใจพยายามจะเขียนเลียนให้เหมือนลายมือหม่อมฉัน คงเป็นเพราะอยู่ด้วยกันเสมอเห็นลายมือหม่อมฉันชิน ลายมือก็ตามไปด้วยจนเหมือนถึงตัวหม่อมฉันเองหลงดังทูลมา แต่เรื่องรูปลายมือหวัดเขียนหนังสือหรือบรรจง นับว่าสูญแล้วเพราะเกิดเครื่องพิมพ์ดีด ดูน่าอนาถใจอยู่บ้าง

๘) เรื่องหม่อมฉันจะหล่อพระพุทธรูปนั้น เมื่อชายใหม่ออกมาปีนัง มาบอกว่า เธอไปดูพระบรมรูปสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เห็นฟีโรจีปั้นโกลนหน้าหม่อมฉันไว้ว่าอยากจะปั้นรูปหม่อมฉัน ขอให้เธอคิดอ่านฉายรูปศีรษะหม่อมฉันทุกด้านเอาไปให้ แต่มันมีความขัดข้องที่จะส่งรูปไปในเวลาสงคราม หม่อมฉันจึงสั่งชายใหม่ให้ไปบอกฟีโรจีว่า ช่วยปั้นและหล่อพระพุทธรูปให้หม่อมฉันฉลองเมื่ออายุครบ ๘๐ ปีจะพอใจยิ่งกว่าปั้นรูปหม่อมฉัน ด้วยมีพระพุทธรูปโบราณที่หม่อมฉันรักอยู่องค์ ๑ มีแต่พระเศียรทำด้วยดินเผาอยู่ในพิพิธภัณฑสถาน สีพระพักตร์งามจับใจ ตั้งแต่ได้มาไว้ในตู้ห้องเครื่องดินเผา หม่อมฉันเดินผ่านไปทีไรเป็นต้องหยุดยืนชมเสมอ ถ้าฟีโรจีสามารถจำลองพระพักตร์พระพุทธรูปองค์นั้นให้เหมือนได้ หม่อมฉันก็จะหล่อพระ แต่ขอให้ลองจำลองเป็นปูนปลาสเตอมาให้หม่อมฉันเห็นฝีมือก่อนจึงจะคิดต่อไป เพราะยังต้องคิดทรวดทรงและลักษณะครองผ้าให้เข้ากับสมัยของลักษณะพระพักตร์ ยังรออยู่เพียงนี้

หม่อมฉันก็ไม่ชอบให้ห่มผ้าพระพุทธรูปและสวมพวงมาลัยที่ฐาน เพราะเห็นว่าทำให้เสียโฉมอย่างเช่นพระองค์ท่านทรงพระดำริ ดื้อได้แต่ไม่ห่มผ้า แต่พวงมาลัยนั้นถ้าไม่ยอมให้มีพวกผู้หญิงแม่งานก็ใจขาด จึงต้องยอมผ่อนผันเพียงให้มีพวงมาลัย

๙) ที่ชายใหม่ทูลว่าเล่าเรื่องยายเพิงยอมให้เลือดกินเอาบุญนั้น พอเหมาะกับเรื่องที่หม่อมฉันรู้ใหม่คล้ายกัน หมายว่าจะทูลบรรเลงอยู่ทีเดียว อ่านหนังสือเขาพรรณนาถึงวิธีทำสิรัมสำหรับฉีดกันไข้ไตฟอยที่เมืองปักกิ่ง เบื้องต้นเขาเอาเลือดคนกำลังเป็นไข้ไตฟอยฉีดสมองหนูตะเภา (เหมือนทำสิรัมแก้พิษหมาบ้า) หนูตะเภาติดโรคนั้นตายแล้วเอาเอ็นหนูตะเภาไปฉีดพิษเข้าตัวเหาอีกชั้นหนัง เมื่อโรคติดเหาแล้วจึงเอาตัวเหารวมกันบดประสระประสมยาทำเป็นสิรัมดังนี้ แต่ที่เมืองปักกิ่งเขาจะทำสิรัมให้มีกำลังเสมอกัน จึงประสมเหาเลี้ยงไว้ เลือกเอาเหาที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกันทำสิรัมทุกครั้ง วิธีเลี้ยงเหานั้นพวก ๑ ให้อยู่ในหีบขนาดสักเท่าซองบุหรี่เป็นใบๆ หีบนั้นเปิดด้านใหญ่ด้าน ๑ กรุด้วยผ้าโปร่ง ถึงเวลาเขาไปจ้างเจ๊กคนโซมา เอาหีบเหาผูกตามหน้าแข้งเป็นหลายแถว หันด้านผ้าโปร่งเข้าทางหนังคนให้เหากินเลือด ในสมุดพรรณนามีรูปฉายคนโซกำลังนั่งชันเข่าเลี้ยงเหาให้เห็นด้วย ดูหน้าตามันก็เฉยดี ถ้ามีเช่นนั้นในเมืองไทยก็จะเป็นทางอันหนึ่งสำหรับทำบุญตามวิสัยของยายเพิง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ