วันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๘ กันยายน ตรัสว่าได้รับหนังสือเวรซึ่งถวายไปลงวันที่ ๒ แต่ลงเดือนเป็นกรกฎาคมก็ให้ตกใจ ตรวจดูร่างซึ่งถวายมาก็เป็นเดือนกรกฎาคม แปลว่าหลง ไม่ว่าอะไร ทำก็ทำไปตามเคย เพราะติด เช่นปี เมื่อเปลี่ยนแล้วก็ยังหลงเขียนปีเก่าอยู่ แท้จริงก็ถึงสองตา คือร่างตาหนึ่ง ดีดพิมพ์ตาหนึ่ง เมื่อตาหนึ่งทำผิดอีกตาหนึ่งก็ควรจะแก้ แต่ก็ทำให้ผิดมาจนทอดพระเนตรเห็น แต่ก็ไม่เป็นไร ทรงแก้เสียให้ถูกเท่านั้น หากแต่นึกเสียใจว่าไม่ควรเป็นเท่านั้น ต่อไปนี้จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์เวรซึ่งลงวันที่ ๘ กันยายน

สนองลายพระหัตถ์

๑) ชื่อ “กรมช้างอัษฐคชะ” ทีก็จะเอามาแต่คำ “อัฐคช” และ คำ “อัฐคช” ก็คงโยกเอามาแต่คำ “ช้างอัฐทิศ” ซึ่งเขาว่าเป็นช้างประจำทิศอยู่บนสวรรค์ เห็นได้แน่ในคำนั้นมีในตำราช้างเรียกว่า “อัฐคชำนวยพงศ์” เป็นลูกหลานของช้างทั้งแปด คือช้าง “อัฐทิศ” นั้น แล้วกรมช้างอัษฐคชะก็มีหน้าที่กลายเป็นอื่นไป อันคำใช้ทั้งปวงย่อมจะเดินไปเสมอในพวกชื่อช้างต่างๆ เห็นจะเดินเปลี่ยนไปตามสมัยเก่าใหม่เหมือนหนึ่งคำว่า “ช้างต่อ” ดูในตำราชี่ช้างซึ่งคัดประทานไปก็ไม่มีปรากฏชัดแต่ “ช้างค้ำ” กับ “ช้างเชือก” อัน “ช้างเชือก” นั้นก็เรียกอยู่ในทางอื่นแต่ในทางคล้องช้างไม่ได้เรียกกันทั้ง “ช้างค้ำ” ก็ดูเป็นเลิก ใช้ “ช้างเชือก” เท่านั้นเองเรียกว่าช้างต่อ คำว่า “ช้างต่อ” ก็มีมานานแล้วดุจในหนังสือเรื่องไชยเชฐมีว่า “ให้ช้างต่อหมอเถ้าไปเที่ยวค้น” แต่ในหนังสือ “นำเที่ยว” เขาไปคัดเอามาแต่ไหนก็ไม่ทราบ ช้างต่อ เป็นว่าช้างพัง ปล่อยไปพาเอาช้างป่าเข้ามาบ้าน เป็นความหมายไปอย่างหนึ่ง การจับช้างของเราได้ยินว่าเขาคัดเอามาแต่ตัวเมี่ยงๆ ส่วนตัวที่เก่งได้ยินว่าเขาคัดออกเสียแต่ในป่าแล้ว เว้นแต่จะต้องการให้สนุกหรือที่คัดไม่ออก ที่คัดไม่ออกนั้นก็มีช้างสีดอซึ่งไม่มีงาเป็นพื้น ช้างที่ล้อมโขลงเกล้ากระหม่อมก็เคยได้ยินเขาเรียก “ช้างค่าย” อีกนัยหนึ่งก็เรียกกันว่า “ช้างแซง” ที่แท้หากว่าแปลตามศัพท์ก็ควรจะผิดกัน ถ้าเป็น “ช้างค่าย” ก็ควรจะตั้งล้อมอยู่กับที่ดุจค่าย ถ้าเดินก็ควรจะเรียกว่า “ช้างแซง” แต่พวกช้างล้อมโขลงนั้นใช้เป็นสองอย่าง เวลาตั้งล้อมอยู่กับที่เช่นเวลานอนเป็นต้นก็ควรเป็น “ช้างค่าย” เวลาเดินก็ควรเป็น “ช้างแซง” ลางทีจะเป็นอย่างที่ว่านี้จึงมีชื่อเรียกเป็นสองอย่างแต่นี่เป็นความเห็นเท่านั้น ตำราชี่ช้างนั้นอ่านเข้าใจยาก เพราะเราไม่รู้ขี่ช้าง แต่สังเกตเอาชื่อได้ ๓ อย่าง คือ “ค่าย” “ค้ำ” กับ “ช้างเชือก”

อนึ่งในตำราชี่ช้างนั้นมีคำแปลกๆ เช่น “ขาซาย” เป็นต้น เรามาเรียกสิ่งที่ค้ำอะไรในบ้านเรา แม้จะเป็นของชั่วคราวหรือของประจำก็ว่า “ขาซาย” ต้นเดิมคงใช้ค้ำคอกจับช้างมาก่อน ที่เรียกว่า “ขาซาย” ก็เป็นขาแห่งเนื้อซายอันเป็นของป่าด้วยกัน เคยได้ยินพระยาไชยา (ขำ คือ “ซิวเยีย”) เรียกว่า “นางอุ้ม” ต่างถิ่นอาจเรียกชื่อไปต่างกันก็ได้ คำที่เรียกว่า “เพนียด” ก็เห็นได้ว่าเอาสิ่งที่ดักนกไปเรียกคอกจับช้างไขว้เขวไป โบราณท่านเรียกคอกจับช้างว่า “วงพาด” เห็นจะมาแต่ร้านฆ้องวงจึงเห็นว่าควรจะเขียน “วงพาทย์” หรือจะอย่างไรก็ไม่ทราบแน่

๒) เรื่องเพลง “สรรเสริญพระบารมี” แม้ตอนใดจะทรงทราบความจริงก็ย่อมประกอบด้วยทรงสันนิษฐานต่อ ทั้งนั้นก็เพื่อจะให้เรื่องติดต่อกัน แต่พระดำรัสนั้นเป็นไปในทางข้างเป็นเพลงไทยทำขึ้นในเมืองนี้ไม่ใช่ซื้อฝรั่งเขามาแต่เมืองยะโฮ ข้อความที่จะกราบทูลสนองในเรื่องเพลง “สรรเสริญพระบารมี” เห็นจะยืดยาว เป็น “ชักความยาวสาวความยืด”

ได้เคยช่วยเจ้าพระยาเทเวศรจัดเพลงเล่นคอนเสิตรับเจ้าฝรั่ง พบว่าเพลงสรรเสริญเยอรมันนั้นเหมือนกับอังกฤษ แต่คำต่างกัน เขาว่าเนื้อเพลงนั้นมาแต่ “ฮิม” เขาไม่ถือ เหมือนกันก็ได้ โดยเหตุนั้นที่เราทำสรรเสริญอังกฤษ ก็จัดว่าไม่ผิดแต่ไม่ดี

คุณมรกตกับครูมีแขกนั้นเคยได้ยินแต่ชื่อไม่เคยเห็นตัว แต่เจ้ากรมขุนเณรนั้นได้เคยรู้จักตัวทั้งทราบฝีมือด้วยทีเดียว เห็นแกมาแต่เข้าไปนั่งกำกับปี่พาทย์ตีเล่นละครหลวง แต่ไม่เห็นแกตีอะไร ไปนั่งเป็น “P.K.K.” อยู่เท่านั้น จนกระทั่งวันหนึ่งมีเทศน์มหาชาติในพระที่นั่งอัมรินทร์ พอกัณฑ์กุมารจบก็ได้ยินปี่พาทย์ตีเชิดโอด ฟังผิดกับที่ตีอยู่ตามเคยเป็นอันมาก ถึงต้องออกไปดูว่าอย่างไรกัน ที่ไหนได้ไปพบเจ้ากรมขุนเณรเข้าโจ้ระนาดอยู่ทีเดียว เขาว่าแกเข้าตีเพราะเป็นการบุญ ที่เห็นผิดปกติจนถึงออกไปดูนั้น ก็เพราะเสียงระนาดผิดกว่าปกติ คนโบราณนับถือคนระนาดที่ว่าตี “ไหว” ก็คือตีได้เร็วซึ่งไม่มีตัวมากนัก คนโบราณซึ่งนับว่าตี “ไหว” นั้นใช้ไม้ตีผิดกับเดี๋ยวนี้คือปื้นหนาและพันไม่สู้แข็งนัก ซึ่งคนเดี๋ยวนี้พูดว่า “ดูดไหล่” อยากจะมีชื่อว่าเป็นคน “ไหว” ก็เปลี่ยนไม้ตีเป็นทำปื้นบางทั้งแข็งเป็นหัวขโมย ประสงค์ว่าพอระไปไม่ใช่ตีเครื่องปี่พาทย์ก็ดังเสียแล้ว ทำให้เร็วเป็นคน “ไหว” ไปได้ แต่เจ้ากรมขุนเณรแกเป็นคนเก่าคนลือ ใช้ไม้สำหรับมืออย่างเก่าตีฟังแจ่มกระจ่างมากจึ่งต้องออกไปดู ก็เป็นอันได้รู้ว่าฝีมือเจ้ากรมขุนเณรเป็นอย่างไร ที่จริงแกจะต้องตีอยู่เสมอ แต่ตีอยู่ที่บ้านไม่ออกแขก ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะตีไปไม่ได้เลย

ครูยูเซนนั้นก็เป็นแต่ได้ยินเรียกกัน ไม่เคยเห็นตัว ตามที่ตรัสบอกรูปบอกชื่อจริงนั้นดีเต็มที ทำให้สิ่งที่ไม่รู้ก็รู้กว้างออกไปได้ แตรตอดเพลงสรรเสริญพระบารมีซึ่งทหารเป่าอยู่บัดนี้ เข้าใจว่าเป็นของพระยาวาทิต (ชิด) ปรุงไม่ใช่ของครูยู่เซนปรุง แตรตอดเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้นเข้าใจว่าใครแต่งก็แต่งเอา แม้ทหารเป่าก็ไม่เหมือนกัน แต่นี่เป็นเพียงประมาณว่าควรจะเป็นเช่นนั้น ด้วยเกล้ากระหม่อมยังไม่รู้ภาษาอะไร เมื่อรู้แล้วอาจกราบทูลได้ว่าทหารบกกับทหารเรือเป่าสรรเสริญพระบารมีแตรตอดไม่เหมือนกัน

ยังมีอีกเพลงหนึ่ง เรียกว่า “สรรเสริญพระนารายณ์” ใครจะทำขึ้นก็ไม่ทราบ พอได้ยินชื่อก็นึกถึงหนังสือลาลูแบ กลับไปดูหนังสือนั้นอีกทีหนึ่งก็พบคำ คำนั้นแต่ก่อนก็เห็น แต่ส้าระตะไม่ออกก็ข้ามไป คราวใหม่นี้ส้าระตะได้ความว่า “สายสมรเอย ลูกประคำซ้อนเสื้อ ขอแนบเนื้อเจ้าคืนเดียว หน่อยเอย” เห็นเป็นคำสมพาส ไม่ใช่สรรเสริญพระบารมีจึงไม่เอื้อ เนื้อเพลงจะได้กันหรือไม่ได้ก็ไม่ทราบ ทั้งเพลงที่เรียกว่า “สรรเสริญพระนารายณ์” นั้นก็ลืมแล้ว เลยกราบทูลอะไรไม่ได้ต่อไป

เพลงชั้นเดียว สองชั้น สามชั้น เกล้ากระหม่อมได้เรียนทราบจนถึงตัวเองก็ยืดตัดได้ทุกอย่าง ถ้าจะพูดให้คนมากเข้าใจก็เหมือนกับสเคลเรานี่เอง ถ้า ๑:๑๐๐ เป็นเพลงชั้นเดียว ๑:๕๐ ก็เป็นเพลง ๒ ชั้น ถ้า ๑:๒๕ ก็เป็นเพลง ๓ ชั้น จะใช้ในแผนที่แผนผังรูปตั้งอะไรก็เหมือนกัน เป็นแต่ใหญ่ขึ้นทำอะไรได้ละเอียดขึ้น อันเพลง ๒ ชั้นและชั้นเดียวนั้นมีมาแต่โบราณ เช่นละครรำ เพลงช้าก็ทำเพลงช้าต่างๆ เป็นเพลง ๒ ชั้นอยู่หมดด้วยกัน ครั้นถึงละครรำเพลงเร็วก็ต้องทำเพลงเร็ว ถ้ายืนรำอยู่ตะโพนเขาก็ตี จะ-ตุบ-ผริ่ง-ผริ่ง นั่นปี่พาทย์ต้องทำเพลงเร็ว ๒ ชั้น ถ้าละครออกเดินตะโพนเขาตัดเข้าไปเป็นตี ตุบ–ผริ่ง ผริ่ง ปี่พาทย์ก็ตีตัดเป็นเพลงเร็วชั้นเดียว แม้รับเสภาแต่ก่อนนี้ก็ทำเพลง ๒ ชั้นกัน จะเป็นเพลงช้าหรือเพลงเร็วก็แล้วแต่คนขับเสภาเขาจะส่ง มามีเพลง ๓ ชั้นขึ้นในรัชกาลที่ ๔ ครูมีแขกเป็นต้นคิด เดิมทีก็ใช้ในการรับเสภาก่อน แล้วทีหลังก็พร่ำเพรื่อไปใช้ไม่ว่าอะไร มโหรีเจ้าพระยานรรัตน์ก็ทำเพลง ๓ ชั้นแล้วยังไม่พอ เอาละครเข้ารำอีกด้วย เจ้าพระยาเทเวศรว่าคุณย่าของท่านเรียกว่า “ละครอมพาต” เห็นว่าสมควรแล้ว แต่ทำไมละครพระองค์สิงหนาทจึ่งไปเกี่ยวกับมโหรีเจ้าพระยานรรัตน์เข้านั้นไม่ทราบ ได้เห็นแต่ชั้นหลังเป็นเจ้าพระยาเทเวศรชอบกับเจ้าพระยานรรัตน์มาก

แตรฝรั่งของเราเคยเห็นเป่าอยู่ ๔ เพลง คือ เป่าในฝูงกลองชนะและนำปี่พาทย์ประโคม ไม่ทราบว่าเพลงอะไรอย่างหนึ่ง ๒ เป่าประโคมเสด็จออก นั่นฟังออกว่าเป็นเพลงจีนลั่นถันท่อนสองอย่างหนึ่ง ๓ เป่าประโคมเสด็จขึ้น ฟังไม่ออกว่าเพลงอะไรแต่เข้าใจเป็นเพลงจีนอย่างลั่นถันเหมือนกันอย่างหนึ่ง กับ ๔ เป่าประโคมเวลาสรง นั่นฟังออกว่าเป็นเพลงลงสรงท่อนหนึ่งอีกอย่างหนึ่ง ๓ อย่างข้างหลังเห็นจะเติมใหม่ คิดว่ารัชกาลที่ ๔ อะไรแตรฝรั่งเป่าเพลงจีน เพลงไทย “ผิดมนุษย์ม้วย” อย่างต้นนั่นแหละเห็นจะเป็นเนื้อเพลงเดิม คล้ายกับเพลง “สรรเสริญพระบารมี” ที่แตรวงทหารเป่าอยู่มาก แต่จะพูดตามความรู้ว่าเนื้อเดิมของเพลงแตรฝรั่ง เป็นชั้นเดียวสองชั้นสามชั้นอย่างใดก็ไม่ถนัด ทั้งมีสงสัยอยู่มาก เพราะเหตุที่เพลงแตรฝรั่งเป่าไม่มีจังหวะ แต่เพลงสรรเสริญพระบารมีที่แตรวงทหารเป่านั้นมีจังหวะ นั่นก็อย่างหนึ่ง กับทั้งเสียงที่สูงก็สูงเกินเพลงแตรฝรั่ง ที่ต่ำก็ต่ำเกิน นั่นก็อีกอย่างหนึ่ง จึงเป็นเหตุให้สงสัย แต่ถ้าหากผู้รู้จะผูก “กุละ” ขึ้นใหม่ให้คล้ายกับที่แตรฝรั่งเป่านำปี่พาทย์ประโคมนั้นก็เป็นได้ ที่แตรทหารเป่ารับวังหน้าแต่ครึ่งเพลงนั้น ดูจะเป็นทำตามเคยมาแต่เมื่อยังใช้เพลงสรรเสริญอังกฤษอยู่ก็เป็นได้ ทรงทราบอยู่แล้วว่า “เพลงสรรเสริญพระบารมี” ที่เจ้าจอมมโหรีฝันกับแตรวงที่ทหารเป่าไม่เหมือนกัน เกล้ากระหม่อมอาจกราบทูลรับรองได้ ด้วยได้เคยตรวจเพลง “สรรเสริญเสือป่า” ซึ่งทูลกระหม่อมชายทรงแต่งเมื่อรัชกาลที่ ๖ ไปทรงสืบงัดเอาเพลง “สรรเสริญพระบารมี” เก่ามาทำเป็นเพลง “สรรเสริญเสือป่า” ได้ ที่จริงเพลง “สรรเสริญพระบารมี” เก่ากับที่ทหารเป่าควรจะเป็นเพลงเดียวกัน สงสัยว่าคุณมรกตจะไม่ได้เข้าเป็นกรรมการด้วย ถ้าเป็นก็คงจะพูดคัดง้าง หรือได้คัดแล้วแต่ถ้อยคำตกไปเสียก็ไม่ทราบ ที่ชื่อว่า “สรรเสริญพระบารมี” นั้นเป็นประมูลเพลงเก่า ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๒ ทรงตั้งชื่อนั้นไว้ จนได้จัดเป็นเพลงตับมโหรี เป็น “สรรเสริญพระบารมี กินรีฟ้อน ศศิธรทรงกลด” จะเป็นเท่านั้นหรือกว่าก็ไม่ทราบ ตามปกติพวกปี่พาทย์มักไม่ได้เพลงมโหรี เกล้ากระหม่อมเป็นลูกศิษย์พวกปี่พาทย์ก็พลอยไม่ได้เพลงตับอันกล่าวแล้วนั้นไปด้วย ได้ไว้แต่ชื่อ อนึ่งคำว่า “มโหรี” นั้นก็ชอบกล ถ้าดูตามหนังสือเรื่องอิเหนาก็เป็นชื่อเพลง แต่ตามที่โลกเข้าใจกันเป็นการเล่นชนิดหนึ่ง

เพลง “มหาชัย” ซึ่งเข้าพระทัยว่าทูลกระหม่อมชายทรงกระทำนั้นเข้าพระทัยผิด ความจริงเกล้ากระหม่อมเป็นผู้ทำเนื้อเพลง เอาเพลงมหาชัยเหยียดให้ใกล้เป็นเพลงฝรั่ง แล้วส่งให้พระยาวาทิตทำเป็น “สโลมาช” และแต่งแตรตอดตามที่ต้องการใช้ แกไปแก้ท้ายเนื้อเพลงหน่อยหนึ่งก็เพื่อจะกลับต้นให้กินกันดี ที่จริงเกล้ากระหม่อมก็ได้คิดไปแล้ว แต่แกไม่ชอบใจก็แก้ไป ได้สังเกตแล้วเห็นแก้นั้นไม่ผิดเนื้อก็ปล่อยไป การทำอันนี้เป็นครั้งกรมหลวงนครชัยศรีกลับจากยุโรป มาทรงจัดให้มีการเดินธงในเวลาเปลี่ยนกาดใช้เพลงนั้นขึ้น ขณะนั้นทูลกระหม่อมชายยังไม่ได้เสด็จกลับจากยุโรป

๓) เรื่องลานทองจารึก ตามที่ตรัสเล่าว่าหลวงบริบาลกราบทูลถวายนั้น ความแจ่มแจ้งดีกว่าที่เกล้ากระหม่อมได้ยินมามาก เป็นต้นที่ว่าได้มาจากพระเจดีย์เก่าเท่านั้นก็ผิดแล้ว เห็นได้ที่ในคำจารึกนั้นเองก็พูดแต่สร้างวิหาร หาได้พูดถึงพระเจดีย์ไม่ คำ “พระอัษฐารส” นั้นให้นึกสงสัย จะเป็นพระนั่งหรือพระยืนหรือนั่งก็ได้ยืนก็ได้ ถ้าแปลตามศัพท์ก็เป็นว่า “พระ(พุทธรูป) สิบแปด” เท่านั้นตามที่พูดกันเคยได้ยินว่าสิบแปดนั้นหมายถึงว่าสูงสิบแปดศอก นัยว่าๆเป็นขนาดพระองค์พระพุทธเจ้า ถ้าถูกพระพุทธเจ้าก็ออกจะเป็นยักษ์ ในวัดมหาธาตุเมืองสุโขทัยนั้นไม่ได้เที่ยวดูทั่ว เช่นมณฑปพระ “สาวสิบห้าปี” ก็ไม่ได้เข้าไปดู เพราะประตูเขาใส่ประแจ จะเป็นพระนั่งหรือพระยืนก็ไม่ได้เห็น คำที่หลวงบริบาลกราบทูลว่า “โบสถ์” นั้น อาจเป็นเคยปากติดในกรุงทุกวันนี้ซึ่งโบสถ์เป็นประธานไปแล้วก็ได้ ที่วัดมหาธาตุเมืองสุโขทัย สถานที่อันมีสีมาล้อมซึ่งควรเรียกว่าโบสถ์นั้นไม่เคยเห็น

เมื่อเขียนหนังสือเวรถวายมาแล้วก็ได้รับรูปฉายลานทองจารึกซึ่งตรัสถึงนั้นที่มหาฉ่ำจดว่าเนื้อความเป็นภาษาไทยใต้นั้นอ่านได้สบาย เป็นหนังสือพวกเรานี่เอง เว้นแต่เลขศักราชดูไม่ออก ส่วนตอนท้ายซึ่งมหาฉ่ำจดว่าเป็นหนังสือไทยเหนือนั้นก็อ่านได้ คล้ายกับหนังสือขอม

ที่ว่าพระมหาเถรจุฬามณีเป็นลูกพ่อขุนผาเมืองนั้น ได้รับประทานพระดำรัสชี้แจงว่าเป็นลูกพ่อขุนรามคำแหง แปลว่าต่ำลงมาอีกชั้นหนึ่ง

เรื่องปีเดือนวันคืนนั้น อยากทราบว่าทางชวาเขาเป็นอย่างไร จึงได้ทูลถามทูลกระหม่อมชายออกไป ท่านจึ่งเรียกคนพื้นเมืองมาซัก ได้ความว่าในเมืองชวาใช้ประดิทินกันอยู่ ๓ อย่าง ทางราชการและทางค้าขายใช้ประดิทินฝรั่ง ทางศาสนาใช้ประดิทินมะหะหมัด ทางประเพณีเมืองใช้ประดิทินชวา อันประดิทินของชวานั้นแปลกมาก มีอยู่ ๘ ปีแทนที่ ๑๒ ปีของเราเรียกชื่อว่า “อาลิป เวเฮ ชิมอาวัล เช ดาล เบ วาว ชิมอาฮีร์” “อาวัล” แปลว่าก่อน “อาฮีร์” แปลว่าหลัง หมดนั้นเป็นเสียงอาหรับ “ชวด ฉลู” ของเราจะเป็นภาษาอะไรก็ยังสืบไม่ออก แต่ก่อนนึกว่าภาษาจีน แต่สืบทราบว่าจีนสามัญก็ไม่รู้ รู้แต่พวกโหร คนสามัญมีคำต่างหาก ไม่เช่นนั้นก็รู้เป็นหนูเป็นวัวควายไปทีเดียว ในทางข้าง ๘ ปีเจ้าแขกเขาก็ถือ “เบญจเพศ” กันอย่างเรา แต่ข้างเขาเป็น ๓ รอบ ข้างเราเป็น ๒ รอบ แต่จำนวนปีก็ตรงกัน

ศักราชนั้นได้เคยสังเกตมาในที่หลายแห่ง ดูเป็นใช้ตามใจชอบ แต่ไม่มากไปจากที่มีในกฎหมาย เมื่อประชุมบางแผนกกฎหมายเข้าแล้วก็มีศักราชอยู่ ๔ อย่าง คือ ๑ พุทธศักราช ๒ มหาศักราช ๓ จุลศักราช ๔ ศักราชอะไรไม่ทราบ เขาเรียกกันว่า “ศักราชกฎหมาย” เขาจะใช้ศักราชอะไรโดยมากเขาก็ไม่ได้บอก เราต้องส้าระตะเอาเอง อย่างไรก็ดีเกล้ากระหม่อมก็ได้คิดเหมือนกัน ว่าศักราชนั้นจะต้องมีตำแหน่งที่มา และเกี่ยวกับผู้ใช้ด้วย ผู้ใช้หนักไปทางไหนด้วยเหตุใดก็ใช้ศักราชอย่างนั้น “เอกศก โทศก” ถ้าไม่เกี่ยวแก่ศักราช เป็นแต่เกี่ยวกับปีแล้ว ในการที่เดี๋ยวนี้เขียนแต่ชื่อปีลุ่นๆ ก็เป็นอันทำผิด

๔) ในเรื่องนมงัวบานใจที่ได้ทราบว่าพระมหามนตรี (ทรัพย์) เป็นเทือกเถาของชายดิศ

การที่ให้แขกเลี้ยงงัวไว้เป็นฝูง อาจเป็นการทำให้ต้องตามพระบาลี เช่นมีคำว่า “นตฺถิ โคสมิกํ ธนํ” ก็ได้ ทั้งได้ฟังนิทานทางอินเดียมาก็หลายเรื่อง แต่ล้วนกล่าวว่าโคเป็นทรัพย์ทั้งนั้น น้ำนมซึ่งแขกเอาไปส่งที่ประตูย่ำค่ำนั้น อาจมีคนกินน้อย เททิ้งเสียมากก็เป็นได้ โถนมที่เอาไปตั้งให้พระฉันเวลาบิณฑบาตนั้น ทีจะไม่มีใครกิน “เหม็นนมเหม็นเนย” กัน

น้ำนมที่เติมน้ำ น้าข้าว ดินสอพอง นั่นแปลว่าน้ำนมมีน้อยไม่พอต้องการ การทำเนยนั่นแปลว่าน้ำนมมีมากเหลือกินแล้วจึงเอาไปทำเนย คือว่าหลอกให้คนกินสองกลับ เหมือนหนึ่งหนังสือพิมพ์เมืองไทย เจ้าของหนึ่งก็ออกตั้งสองสามฉบับ เพื่อหลอกให้คนซื้อด้วยสำคัญว่าต่างเจ้าของกัน มีผู้มาแนะนำให้กินนมส้ม ไม่สู้จะอาจกินเพราะกลัวลงท้อง เมื่อกินหลายหนเข้าก็ลงจริงๆ ไม่ใช่ว่ากินมาก

ตรัสเล่าถึงการเลี้ยงงัวในยุโรปได้คติมาก ในสามประเทศนั้นเคยเห็นรูปเขียนเมืองวิลันดามาก บริบูรณ์ไปด้วยงัวทั้งนั้น เมืองเดนมารคทราบว่าเขาเลี้ยงงัวมากก็เพราะพระยาชลยุทธส่งเนยถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนเมืองสวิสนั้นได้ยินแต่เขาว่า อย่างไรก็ดี งัวและสัตว์เลี้ยงต่างๆ ต้องสั่งซื้อ “หนวดเต่าเขากระต่าย” ไปให้กินนั้นทราบ ตามที่ตรัสเล่าว่าเมืองวิลันดาเขาเลี้ยงงัวต่าง เมืองเดนมาร์คเขาเลี้ยงวัวแดง นั่นก็แสดงอยู่ในตัวแล้วว่าอากาศผิดกัน ต้องเลี้ยงงัวต่างพันธุ์กัน เขาเมืองหนาวด้วยกันยังเป็นเช่นนั้น เมืองไทยอากาศผิดกว่าเมืองเหล่านั้นมากไม่ไหวเป็นแน่

๕) นกคิริบูนซึ่งว่าร้องเป็นเพลงได้นั้น ได้ยินแต่เขาว่าไม่ได้เห็นตัวจริง ตามที่ตรัสเล่าถึงวิธีหัดนั้นออกจะทรมานมันมาก

๖) พระยานรเนตินั้นทรงทราบกำพืดแกดียิ่ง อยากจะกราบทูลถามต่อไป ว่าพวกพระยาศรีสุนทร (น้อย) นั้นนามสกุลเป็น “อาจารยางกูร” หรือมิใช่ จำได้ไม่สู้แน่

ข่าวล่วงแล้ว

๗) เมื่อวันที่ ๑๗ ซึ่งล่วงแล้วมา ได้รับหมายสำนักพระราชวังบอกงานเฉลิมพระชันษา มีใบพิมพ์หมายกำหนดการส่งมาให้แต่ฉบับเดียว ต้องไปขอเขามาอีก ได้แบ่งส่งถวายมาเพื่อทราบฝ่าพระบาทฉบับหนึ่งนี้แล้ว

ปัญหา

๘) ขอประทานกราบทูลถามมูลเหตุในคำ “ถอนสายบัว” ว่ามีอย่างไร เกล้ากระหม่อมไม่ได้ทราบเลย เพียงแต่คิดว่าคงเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๕ เท่านั้น

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ