วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ข่าวสด

๑) จะกราบทูลข่าวสดให้ทรงทราบเสียก่อนอื่น หญิงอามบอกเมื่อวันที่ ๒๔ ซึ่งล่วงมาแล้วว่าไปรับพี่ชายดิศ กลับมาถึงแล้วโดยทางรถไฟ ว่าต้องเปลี่ยนโปรแกรม เพราะทางเรือเมาคลื่นกันตกขอบตลอดจนถึงเด็กๆ ชายใหม่ก็กลับมากับรถไฟนั้นด้วย เกล้ากระหม่อมก็ดีใจ จะอย่างไรก็ได้ สุดแต่ให้มีความสุขก็แล้วกัน

รุ่งขึ้นคิดว่าจะไปเยี่ยมเธอ แต่ยังไม่ทันไปเธอก็มาหาเสียก่อนแล้วทั้งครัวเรือน มีหญิงหลุยกับลูกทั้งสองคนเป็นต้น ชายใหม่ติดมาด้วย เอาของมาฝากเกล้ากระหม่อมฉันและพี่น้อง ต่างก็ดีใจไปด้วยกันหมดทั้งนั้น ชายดิศเอาหนังสือซึ่งทรงพระเมตตา ฝากประทานไปให้ด้วย ๒ เล่ม เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า เธอบอกว่าในการศพแม่หวน ตรัสแนะให้ตีพิมพ์เรื่องสมเด็จพระนเรศวรตอนหลัง ซึ่งทรงพระนิพนธ์ไว้อยู่ในห้องหนังสือที่ตำหนัก ยังไม่ได้ตีพิมพ์ เอาประกอบเข้ากับตอนก่อนอันได้ตีพิมพ์แล้ว เธอว่าตรัสสั่งให้เอาตอนหลังซึ่งทรงพระนิพนธ์ไว้ส่งไปให้เกล้ากระหม่อมตรวจเสียก่อน แต่เธอก็ยังไม่ได้ส่งมา เห็นเวลามีไม่พอที่เธอจะทำเช่นนั้นได้ เมื่อเกล้ากระหม่อมไปอยู่ที่วังวรดิศก็ได้ใช้ห้องสมุดนั้นทำอะไรต่ออะไรในเวลากลางวัน แต่ไม่ได้ค้นว่ามีอะไรบ้าง เห็นแต่สมุดแหละเป็นพะเนินเทินทึก

๒) ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ได้รับลายพระหัตถ์เวรซึ่งลงวันที่ ๑๐ มิถุนายน มีปะปิดหัวซองท้ายซอง ด้านหนึ่งเป็นกระดาษม่วง มีตราประทับประจำต่อเป็นเส้นรูปสี่เหลี่ยมรี มีหนังสือในนั้นว่า “Opened by Censor 10” รู้ได้ว่าเป็นปิดมาทางปีนัง ส่วนอีกด้านหนึ่งปิดกระดาษแดง มีหนังสือขาวหรูหรา มีตรากลมๆ เลข ๑ (ฝรั่ง) อยู่ข้างในประทับประจำต่อ รู้ได้ว่าเป็นทางกรุงเทพฯ จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์นั้นตามเคย

สนองลายพระหัตถ์

จะกราบทูลเรื่องกล้วย บรรดาคำแนะนำของหมอก็เป็นความเห็นของเขา ซึ่งลางทีก็ถูกลางทีก็ผิด ความเห็นที่ขัดกันก็มี เช่นหมอไรเตอเห็นว่าปลาแห้งไม่ดี ข้างหมอปัวเห็นว่าปลาแห้งดี แต่หมอด้วยกันยังมีความเห็นไม่เหมือนกัน อาการหญิงจงนั้นก็เคยได้ยิน พระวรสุน (หมอเพี้ยน) ออกความเห็นว่าถึงจะเป็นโรคอะไรอยู่ก็ตามที แต่ที่ท้องเสียนั้นเป็นด้วยกินสำส่อน ไม่ใช่โรคที่เป็นอยู่บันดาลให้เป็น นั่นเขาก็นึกมาจากที่เธอชอบทำของกิน ทำแล้วก็ต้องกิน ไม่กินก็รู้ไม่ได้ว่าอร่อยดีหรือไม่ดี ที่เครื่องฝ่าพระบาทมีกล้วยเผาเสมอนั้นเกล้ากระหม่อมก็ทราบ จะว่าพระชนม์ยืนเพราะเสวยกล้วยเผาก็สงสัย เกล้ากระหม่อมไม่ได้กินก็พลอยอยู่จนแก่ได้ด้วย จริงอยู่เกล้ากระหม่อมอ่อนกว่าฝ่าพระบาทสิบเดือน แต่เมื่อคิดถึงใครๆ ซึ่งมีอายุอ่อนกว่าลงไปอีกตายไปแล้วเสียก็เป็นอันมาก ก็ฮึกเหิมเอาตัวเข้าเทียบกับฝ่าพระบาท พูดถึงอายุก็เห็นขัน มีคนเขาว่าเขาแก่กว่าเกล้ากระหม่อมปีหนึ่ง เพราะเขาเกิดปีจอ แต่เมื่อคิดละเอียดเข้าเขาแก่กว่าเดือนหนึ่งไม่ถึงเสียอีกก็มี นึกถึงหนังสือพิมพ์ “ติดบิด” เขาเคยเก็บเอาคำคนแก่มาลง เหตุด้วยตามธรรมดาคนแก่มักมีวิธีรักษาตัวอย่างใดอยู่ เขาคิดจะเอาวิธีรักษาตัวนั้นมาลงพิมพ์ให้เป็นประโยชน์แก่คนทั้งปวง แต่เมื่อไปถามเข้าก็บอกวิธีไปต่างๆ กัน ที่เป็นปฏิปักษ์กันก็มี เขาก็เห็นขันเก็บเอาคำคนแก่ที่บอกนั้นมาลงพิมพ์ แต่ในที่สุดเขาเห็นว่าอยู่ได้เอง ไม่ใช่อยู่ด้วยรักษาตัว ในการที่เราใช้กล้วยเลี้ยงเด็กเห็นจะรู้สึกว่าใช้ข้าวนั้นหนักมากเกินไป กล้วยเป็นของหาง่ายอันจะพึงมีอยู่ทุกบ้านทุกเรือน จึ่งได้ใช้กันทั่วไป ใช่จะรู้ว่าวิตมินมีอยู่ในนั้นมากก็หาไม่ วิตมินก็เป็นความรู้ใหม่ของฝรั่ง พูดถึงวิตมินก็ขัน ฝรั่งหมายวิตมินเอ บี ซี ดี เห็นจะเป็นกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์เล่นตลกว่า ถ้าตัวหนังสือฝรั่งไม่พอจะให้ยืมกอข้อของเราไปใช้

๔) ที่กราบทูลถึงว่ารถซึ่งเกิดขึ้นใหม่นั้น หมายถึงรถสามล้อถูกตามที่ทรงคาดนั้นแล้ว รถสามล้ออย่างที่คนโดยสารนั่งข้างหน้าในกรุงเทพฯ ยังไม่พบ พบแต่ทางหัวเมือง ได้เคยขี่มาแล้วหลายหัวเมืองด้วย ตามที่ตรัสถึงอันตราย ทำให้นึกถึงคำพระยาสโมสร แกว่าขี่รถรางเป็นดี ถึงจะชนกับใครก็ไม่มีแพ้

๕) เรื่องไม่ต้องการ “ยถา” ของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ยัง) นั้น เคยได้ยินพระดำรัสเล่าด้วยพระโอษฐ์ แต่ไม่ถี่ถ้วนเช่นลายพระหัตถ์คราวนี้

๖) เสียใจที่จะต้องกราบทูลเรื่องเทศน์สวด หรือสวดเทศน์อะไรนั้น ดำเนินไปในทางข้างไม่ดี แต่เพราะมีความเห็นเช่นนั้น อันการสวดท้ายเทศน์นั้นเป็นของใหม่ถอดด้ามทีเดียว ทีจะไม่ได้ตั้งใจเลียนสวดแรกเทศน์ แต่ตั้งใจจะเลียน “มฤตกวัตร” หรือที่เปลี่ยนชื่อเป็น “ศราทธพรต” ผิดกันแต่ว่าศราทธพรตต้องใช้พระมากและสวดเป็นทำนองสังโยค สวดท้ายเทศน์นั้นใช้พระแต่ ๔ รูปเปลืองน้อยลง และเปลี่ยนทำนองสวดเป็นสรภัญญะ ย่อมถือกันว่าใครจะมีก็ได้ หรือมีบัญญัติก็ไม่ทราบ เพราะศราทธพรตนั้นประกอบด้วยยศ ทางเจ้าภาพก็สำคัญ ถ้ามีเทศน์ในงานอวมงคลแล้ว เทศน์จบลงก็ต้องมีสวด ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นงานเป็นการ ทั้ง “เปิ่น” ด้วยตกเป็นแฟแช่น ฝ่ายเจ้าพนักงานก็แต่งการตามเคย เอาแบบสวดแรกเทศน์เข้ามานาบ แม้จะสวดไม่ขึ้นเตียงก็เอาเครื่องบูชาอย่างเตียงสวดมาตั้ง จึ่งมีเทียนดูหนังสืออย่างที่กราบทูลว่า “กินกาว” การสวดท้ายเทศน์นั้นใครจะเป็นผู้คิดไม่ทราบ แต่รู้สึกในใจได้ว่าธรรมยุติคิด เพราะทำนองสรภัญญะนั้นทางมหานิกายไม่ได้ใช้ แม้มหานิกายเทศน์มีสวดท้ายก็ใช้ทำนองสรภัญญะ ยังได้นึกว่าจะใช้ทำนองอื่นไม่ได้หรือ

๗) พระที่นั่งอมรินทร์นั้นทราบแล้วว่าเดิมไม่มีฝา แต่คิดว่าทรงทราบแล้วจึงไม่ทรงกราบทูล ได้กราบทูลแต่เสา แม้ท้องพระโรงหน้า (พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน) สมเด็จพระจุลจอมเกล้าก็ตรัสบอกว่าเดิมไม่มีฝา กรมสมเด็จพระสุดารัตน์เมื่อทรงพระเยาว์ยังได้ทรงปีนบัวพะนักทอดพระเนตรออกไปข้างนอก

๘) เรื่องชายหยดคิดจะบวชเป็นเณรในสำนักพระมหาภุชงค์ที่ปีนังนั้น ก็แปลว่าเธอนึกถึงฝ่าพระบาท ถ้าจะให้ถูกแบบก็ได้ เข้ามาบวชในกรุงเทพฯ แล้วออกไปปีนังก็จะเป็นไรไป แต่ที่ตรัสชัดว่าจะไม่เป็นประโยชน์อะไรแก่ตัวเธอนั้นถูกเป็นอย่างยิ่ง

๙) คำ “เซอคุลา” ถ้าจะแปลให้ตรงก็ทีจะว่าเป็นวงกลม “ตราหมู่” จะเรียกว่า “ตรากลม” หรือ “หนังสือกลม” ทีก็จะไม่เหมาะ ที่จริงไม่จำเป็นต้องแปลเลย การแปลภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่งนั้นยากนัก สังเกตดูผู้ที่รู้มากแล้วไม่ค่อยหาญจะแปลเพราะแปลโดยตรงก็ยากที่จะเข้าใจได้ จะแปลตามความเข้าใจก็อาจ “โก๋” ไปได้ ถ้าจะปรับเอาหนังสือกรมวังถามเจ้านายถึงหม่อมเจ้าบวช จะเรียกว่า “หนังสือเวียน” ควรอยู่

๑๐) สำเนาลายพระหัตถ์ถึงสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กับสำเนาหนังสือซึ่งท่านถวายตอบมา ท่านคัดส่งไปให้โดยท่านปรึกษาในข้อเหล่านั้นแล้ว เกล้ากระหม่อมได้เขียนตอบไปถึงท่าน ว่าเกล้ากระหม่อมไม่เคยไปทางริมแม่น้ำโขง ไม่รู้อะไรทางนั้นทั้งสิ้น แทนที่จะบอกอะไรแก่ท่านกลับที่ท่านชี้แจงจะเป็นประโยชน์แก่เกล้ากระหม่อมที่จะได้รู้เสียอีก หนังสือซึ่งตอบท่านไปนั้นไม่ได้คัดสำเนาส่งมาถวาย เพราะเห็นป่วยการที่จะทรง กราบทูลแต่ข้อความเท่านั้นก็พอแล้ว

จะทักคำในสำเนาหนังสือสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ข้อที่ท่านพูดถึง “เมืองเชียงแตง” แล้วลงคำเขมรไว้ในวงเล็บว่า “สตรึงเตร็ง” นั้นผิดตัว ร ในคำหน้าเกิน ที่ถูกเป็น “สตึง” เท่านั้น เขมรเขียน “สทิง” เสียด้วยซ้ำ แต่อ่านเป็น “สตึง” แปลว่าคลองหรือลำน้ำ นิคหิตอ่านใส่เอาเอง เช่น “อัศวานึก” เป็นต้น ที่อ่าน ท เป็น ต พ เป็น ป นั้นลามไปจนถึงภาคพายัพ ในแขวงสงขลาก็มีคำว่า “สทิงพระ” หมายความว่าคลองพระ (เจดีย์) เราดื้อๆ แต่นึกกันให้เป็นภาษาไทยว่า “จะทิ้งพระ” บ้าง อะไรบ้างก็เลยเขวไป ประหลาดหนักหนาที่ภาษาเขมรข้ามไปมีถึงฝั่งปักษ์ใต้ หนังสืออะไรที่สำคัญ เขียนเป็นหนังสือและภาษาเขมรที่เคยพบทั้งคำมลายูเหมือนกันก็มีมาก เห็นทีว่าเขมรจะปกครองไปถึงมลายูด้วยในครั้งหนึ่งมีเป็นแน่

ตัวควบนั้นเราเห็นจะมาติดเขมร ภาษาของเราแต่เดิมเห็นจะไม่มีหรือมีก็น้อย นึกว่าคำ แผ่ ก็คือแพร่ แผก ก็คือ แปลก แปง ก็คือ แปลง เช่นนี้เป็นต้น กับคำที่เปลี่ยนตัว เช่น พง ป่ง หรือ พวง ปวง ก็เป็นไปเช่นได้กราบทูลมาแล้วข้างต้น

ข่าวแห้ง

๑๑) กราบทูลถึงข่าวสดมาข้างต้นแล้วก็ให้รู้สึกนึกถึงห้องสมุดที่วังวรดิศ ต้องใช้อาการตาบอดอยู่เนืองๆ เป็นต้นว่าลืมอะไรไว้ในห้องสมุดที่ตำหนักอันดับไฟเสียแล้ว แม้จะมีไฟอยู่ห้องนอกแต่พอเห็นอะหรุ่มอะเหรื่อก็ต้องงมหมู แต่ลูกแกเห็นดีสาวตีนไปเปิดไฟให้ อาการตาบอดนั้นย่อมเป็นไปในสถานอื่นด้วยอีกมาก จะพรรณนาไปก็เห็นจะมากความไป เอาแต่เท่านั้นก็พอแล้ว

๑๒) จะกราบทูลด้วยเรื่องผู้หญิงทาปาก ทาทำไมไม่เห็นมีประโยชน์เลย ได้สังเกตเห็นริมฝีปากเป็นสีหนึ่ง และในปากเป็นอีกสีหนึ่ง พวกละครเขาทานั้นควรอยู่ เพราะเขาอยู่บนยกพื้นห่างตาคน ที่ลับเข้าไปจะเป็นอย่างไรก็ไม่มีใครเห็น เอาแต่ให้เห็นภายนอกสวยเท่านั้นก็เป็นแล้ว แล้วคนธรรมดาก็จำอย่างเอามาทำบ้าง แต่มาประชันหน้ากันห่างศอกเดียวก็อยู่กันเท่านั้น ข้อพระดำรัสที่ว่าผู้หญิงทาปากย่อมเห็นปากก่อนหน้าจึ่งจับใจยิ่งหนัก การทาปากของผู้หญิงเกล้ากระหม่อมเรียกว่า “ยอพระกลิ่น” หมายความว่ากินแมว

คำที่เป็นรูปเดียวกัน แต่ต่างกันที่เขียนควบและยืด ย่อมจะมีความหมายต่างกัน เห็นชัดได้ที่ ตรวจ กับ ตำรวจ แม้มีคำอื่นก็มี เช่น ทลาย เป็นพังเอง ทำลาย เป็นรื้อ แต่ที่ปนกันเสียจนแยกออกไม่ถูกก็มี ทางที่เปลี่ยนความหมายนั้นเกล้ากระหม่อมคิดแยกเอาเองก็มี เช่น ตรัส เกล้ากระหม่อมบัญญัติว่าเป็นพูด ดำรัส นั้นบัญญัติว่าเป็นคำ ส่วน สวย (ในพระลอลิลิตเขียนว่า “นิ้วสรวยสรดเล็บเลิศ”) สวยมีตัว ร เป็นสรวย เกล้ากระหม่อมแปลว่างามเอง ส่วน สำรวย นั้นนึกเป็นว่าแต่งตัวให้สรวย ก็ได้แก่การทาปาก ถึงคำโบราณก็เป็นเช่นนั้น เช่นว่า “ทำสำรวย” เป็นต้น

๑๓) เมื่อวันที่ ๒๘ ที่แล้วมา ได้ไปวัดเบญจมบพิตร ในการมีสวดมนต์แซยิดทูลกระหม่อมชายแทนลูกหลานของท่านทำถวาย จำนวนพระที่สวดมนต์ เป็นพระในวัด ๖๒ รูป นิมนต์วัดอื่นซึ่งทูลกระหม่อมชายทรงนับถือเติมเข้าอีก ๔ รูปเป็น ๖๖ รูป มีพระบรมวงศ์ชั้น ๕ กับพระเจ้าวรวงศ์ พระวรวงศ์ หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ และผู้อื่นทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายในก็ไปกัน ออกจะมากพอใช้ พวกหลานๆ ดิศกุลที่ไปเท่าที่สังเกตเห็นมีหญิงจง หญิงมารยาตร หญิงเป้า ชายใหม่ นอกนั้นจะมีใครไปอีกบ้างสังเกตไม่เห็น ไม่ได้บอกต้อนกันไปเพราะเห็นเป็นการไปรเวต

รุ่งขึ้นวันที่ ๒๙ ไปเลี้ยงพระในการนั้น เลี้ยงสำรับแต่ในโบสถ์ ๑๐ รูป นอกนั้นจัดอาหารข้าวหม้อแกงหม้อส่งไปถวาย ฉันที่กุฏิทั้งเณรด้วยอีก ๑๙ องค์ แล้วนิมนต์ลงมารับไทยธรรมและอนุโมทนาที่ในโบสถ์ หลานๆ ดิศกุลที่สังเกตเห็นในเช้าวันนี้มี หญิงจง หญิงมารยาตร หญิงแก้ว หญิงเป้า หญิงกุมารี ไป

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ