วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

บรรเลง

๑) ได้กราบทูลมาถึงปรางค์ ทำให้ระลึกถึงเรื่องเก่าขึ้นได้ ว่ากรมหมื่นมหิศรเคยออกความเห็นให้เขียนนพศูล ๓ วา อย่างที่กวีเขาเขียนไว้ในหนังสือว่า หน้าบันชั้นสิงห์สูงเท่านั้น และยอดนพศูลสูงเท่านั้น (มีกำหนดอยู่โดยมากว่า ๓ วา) ได้ลองเขียนตามความเห็น เธอก็ใช้ไม่ได้ข่มองค์ปรางค์ฉิบหายวายวอด ไม่ใช่ข่มแต่เล็กน้อยซึ่งจะว่าเพราะองค์ปรางค์เล็กไป ข่มเอามากทีเดียวด้วย ไม่เคยเห็นมีพระปรางค์ใหญ่ที่ไหนอันจะพึงรับนพศูล ๓ วา ได้ จึงเห็นว่าคำ “นพศูล” คนโบราณกับคนเดี๋ยวนี้จะเข้าใจไปคนละสิ่งเสียแล้ว ได้ลองคิดดู อย่างทำปรางค์ ๙ ยอด เช่นกลาง ๑ ซ่างสองชั้น ๘ ก็เรียกว่านพศูลได้ จะอย่างไรแน่ยังไม่ทราบ หรือจะเป็นลิ้นกวีก็ยังไม่ทราบ ความเปลี่ยนแปลงนั้นสำคัญมาก เล่นเอาหลงไม่รู้จักทางไป เช่นจั่วเล็กๆ บนยอดปราสาทซึ่งเรียกว่า “บรรพแถลง” ทำไมจึ่งต้องมี ต่อไปเห็นปราสาทพม่าเข้าจึ่งเข้าใจว่าคือซุ้มหน้าต่าง เหตุที่เราย่นฝาลงมาจนหลังคาครอบติดกัน ช่องหน้าต่างจึ่งหายไป เลยเข้าใจไม่ได้

๒) ได้เห็นหนังสือพิมพ์ เขาว่าที่เมืองน่ำกิ่งสโนตกเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ว่าในถนนสโนท่วมถึง ๒๐ เซน (ติเมตร) และเรือนพังหลายหลังเพราะทนน้ำหนักไม่ได้ ว่าที่เมืองนั้นไม่เคยมีสโนตกมาแต่ก่อนเลย ฟังได้ ถ้าไม่เคยตก เรือนก็ไม่ได้ทำเตรียมรับน้ำหนักสโนต้องพังอยู่เอง

เหตุการณ์

๓) จะกราบทูลเหตุการณ์ลางข้อให้ทรงทราบ เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ สมเด็จพระพันวัสสาเสด็จกลับจากวัดพระแก้ว อันเคยเสด็จไปทรงฟังธรรมทุกวันพระ แวะมาเสวยที่เรือนหญิงจง หญิงจงบ่นอู้ว่ารู้ตัวเร็วนัก มาบอกเวลาบ่ายโมงว่า เสด็จจะมาบ่ายสี่โมง แต่พอบ่ายสามโมงก็เสด็จมาถึงเสียแล้ว ต้องกราบทูลให้ประทับคอย แรกเขามาบอกเธอก็วิ่งมาหาหญิงอี่ให้ช่วยกัน หญิงอี่ก็ช่วยทุกอย่าง ทั้งได้ผัดหมี่ไปตั้งเครื่องด้วย หญิงจงว่าเสวยได้มาก เกล้ากระหม่อมก็ได้ไปเฝ้าที่เรือนหญิงจงในตอนหลัง องค์สร้อยตามเสด็จมาด้วย

๔) ได้ให้เขาเปิดห้องพระที่ตำหนักออกค้นดูอะไรต่างๆ เริ่มแรกก็ดูสมุดพระธรรมตามที่ตรัสระบุบอกไป พอเห็นใบปกก็ตกใจ เพราะทำลายเป็นเก่า แต่ฝีมือเขียนเป็นใหม่ คนเขียนดูเป็นคนอ่อนนัก เพียงแต่จะเลือกใช้ภู่กันก็ไม่ถูกเสียแล้ว ต่อพลิกไปดูใบปกทางหน้าปลายจึงพบฝีมือเก่า ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นของทำซ่อม คนซ่อมไม่รู้วิธีเก่าพอ ลายที่เป็นมังกร (ไทย) นั้นจำเป็น เพราะสมุดเป็นรูปยาว จะใส่อะไรเข้าก็ไม่เหมาะเหมือนมังกร แม้หย่องหน้าต่างก็เป็นรูปยาว เหมาะที่จะใช้รูปมังกรเหมือนกัน บรรดาลายถ้าปล่อยให้ช่างเขาคิดเอง เขาก็นึกถึงเนื้อที่ซึ่งจะใส่ลายลงไปว่าอะไรจึ่งจะเหมาะ

พลิกดูสมุดนั้นเห็นใหม่อล่องฉ่อง มีหนังสือและมีรูป รูปเป็นเรื่อง ๑๐ ชาติ ไม่เข้ากับหนังสือ หนังสือตั้งต้นด้วยภาณยักษ์ภาณพระแล้วเป็นภาณวาร เห็นได้ว่าสมุดนั้นไม่เก่าไปกว่ารัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ไม่มีช้ำชอกคงเป็นด้วยไม่ได้ใช้ ถึงเก่าก็เป็นเก่าเก็บ

๕) ดูสมุดแล้วก็ดูอื่นต่อไป พระพุทธรูปองค์ซึ่งทรงตั้งไว้เป็นพระประธานในห้องนั้น เป็นพระที่ตั้งใจจะทำให้ดี แต่ต้องฟ้องว่าที่ทำหัวแหวนติดไว้ที่กลีบบัวนั้น ไม่มีมูลที่ควรทำ เพราะกลีบบัวเกลี้ยงไม่ใช่ที่อันจะพึงติดหัวแหวน

๖) พระเจดีย์องค์ที่ได้กราบทูลให้ซ่อมพลอยสี่ทิศ เป็นพลอยต่างอย่างกันนั้น จับได้ว่าฐานชั้นล่างเป็นของทำใหม่ไม่ใช่ของเดิม

๗) พระเจดีย์องค์ที่ย่อไม้ ๒๐ ถึงใหม่กว่าก็จริงแต่สมบูรณ์ เกล้ากระหม่อมชอบมาก

๘) ดีใจที่ได้เห็นรูปพระครูวัดฉลอง เกล้ากระหม่อมไม่เคยเห็นตัวท่าน ทั้งรูปท่านก็ไม่เคยเห็นด้วย

๙) พูดถึงรูป เห็นรูปสมเด็จพระสังฆราช (สา) ซึ่งตั้งอยู่ห้องทรงพระอักษร รู้ได้ด้วยญาณว่านายเวนิงถวาย บรรดารูปซึ่งนายเวนิงทำ เกล้ากระหม่อมชอบรูปนั้นมากกว่าอื่นหมด

ลายพระหัตถ์

๑๐) เมื่อวันอาทิตย์เดือนกุมภาพันธ์ วันที่ ๑๖ ได้รับลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ มีรอยปะปิดทางปีนัง กับมีตราดวงกลมประทับหลังซองมาตามเคย แต่เลขในเป็นเลข ๕ เขาหมายกองตรวจเป็นแน่ จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์นั้นแต่ลางข้อต่อไปนี้

๑๑) ข่าวดาวหาง เกล้ากระหม่อมก็เห็นเขาลงในหนังสือพิมพ์ว่าเห็นกันที่นั่นที่นี่ ทั้งความคิดประมาณว่าที่จะเห็นในกรุงเทพฯ ด้วยก็มี แต่เกล้ากระหม่อมไม่ยี่หระกับดวงดาว จะเห็นก็ช่างไม่เห็นก็ช่าง ไปทึ่งเอาเลข ๙ ซึ่งลงในดวงชาตา เรียกกันว่า “พระเกตุ” จะหมายเป็นอะไร เขาว่าทูลกระหม่อมของเรามีพระราชดำรัสสั่งให้ลงในดวงชาตา โหรเขาว่าหมายเอา Urenas แต่เห็นจะไม่ใช่ ด้วยได้สังเกตเห็นที่ลงในดวงเปลี่ยนราศีเร็วนัก ไม่สมแก่ที่ดวงดาวนั้นอยู่รอบนอกซึ่งควรจะเปลี่ยนราศีช้าที่สุด อนึ่งคาถาดวงชาตาเกล้ากระหม่อม ซึ่งเสด็จอุปัชฌาย์ทรงแต่งให้ท่องจำไว้ก็ไม่มีพระเกตุ ทราบได้ว่าแม้เป็นพระราชดำรัสทูลกระหม่อมของเราให้ลงจริง ก็เป็นทีหลังเกล้ากระหม่อมเกิดหรือหนึ่งจะหมายเอา “ธูมเกตุ” คือดาวหาง แต่ก็เห็นจะไม่ใช่อีก เพราะดาวหางมีหลายดวง และก็ไม่ได้อยู่ในจักรราศี ได้ค้นดูนวเคราะห์ในพจนานุกรมก็บอกชื่อเทวดาไว้เท่านั้น ที่มี ๙ ก็คือ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร ตามปกติเป็น ๗ นั่นเอง แต่เติมราหู กับ เกตุเข้าจึ่งเป็น ๙ เกรงว่าที่เอาชื่อเทวดาเหล่านั้นไปปรับเข้ากับดวงดาวจะเป็นทีหลัง ทั้งชื่อ “ธูมเกตุ” อันแปลว่าควันพระเกตุ ก็จะบัญญัติตั้งขึ้นทีหลังชื่อเทวดาด้วย มีนิทานทางพราหมณ์เล่าไว้ว่า ราหูกับเกตุนั้นเป็นองค์เดียวกัน คือราหูนั้นหัวเป็นยักษ์ตัวเป็นมังกร ถูกจักรนารายณ์ขาดเป็นสองท่อนเมื่อปลอมตัวจะเข้าไปกินน้ำทิพย์ พระอาทิตย์พระจันทร์เป็นผู้บอกพระนารายณ์ เพราะฉะนั้นพระราหูจึ่งอาฆาตคอยกินพระอาทิตย์พระจันทร์ (คือสูรจันทร์) เกรงว่าคำ “ธูมเกตุ” จะผูกขึ้นทีหลังนิทานนี้

คำที่นำหน้าชื่อว่า “พระ” นั้นเป็นของไทย ทางอินเดียเขาใช้คำ “ศรี” แทน “พระ” เช่น “ศรีสุรย“เป็นต้น

๑๒) ลม Water Spout นั้น เพิ่งเคยทราบตามพระดำรัสเล่าว่า ทำให้มีภัยแก่สิ่งที่อยู่บนบกได้ด้วย เราออกจะไม่รู้จักลมชนิดนั้น ลมบ้าหมูของเราก็ไม่เคยได้ยินว่าพัดเอาอะไรให้เกิดเป็นภัย ขยับจะเป็นชื่อโรคเท่านั้นไปเสียด้วยซ้ำ โรคลมอะไรต่างๆ ของเรามีมาก จนฝรั่งเขาดูถูกใช้พิมพ์ตัวหนังสือเอนๆ

๑๓) เรื่องจีนถือซ้ายเป็นใหญ่นั้นชอบกล ซากทางเราในการนอนต้อง “ผู้หญิงนอนซ้ายผู้ชายนอนขวา” ขางจีนทางฝรั่งเขาจะอย่างไรไม่ทราบ เคยเห็นแต่ฝรั่งเขาจูงกัน เขาเอาผู้หญิงไว้ขวา การรดน้ำแต่งงานสมรสอย่างใหม่ของเราก็เห็นจัดเอาผู้ชายไว้ทางขวา น่าจะถือซ้ายเป็นใหญ่อย่างจีน น่าเสียดายที่หนังสือซึ่งทอดพระเนตรเห็น เขาไม่ได้อธิบายบอกเหตุที่ข้างจีนถือชายว่าเป็นใหญ่มีข้อพิเศษอย่างไร

๑๔) ตามที่ตรัสเล่าถึงได้เสด็จไปที่ร้านหน้าเทวสถานน้ำตก ขอประทานกราบทูลให้ทรงทราบไว้ว่า เกล้ากระหม่อมชอบตุ๊กตามากกว่าเครื่องทองเหลือง ถ้าตุ๊กตาเป็นเทวรูปก็ยิ่งดีกว่าตุ๊กตาสามัญไปอีก ด้วยจะรู้ได้ว่าเขาทำเทวรูปองค์ ไหนอย่างไร เพราะเกล้ากระหม่อมมีธุระที่จะต้องทำเทวรูปอยู่เสมอ แต่ที่ทรงพระดำริว่าส่งยากนั้นถูกแล้ว ใช่ว่าได้มาแล้วจะทำตามเขาไปได้เมื่อไร ย่อมเป็นแต่สะพานทางความรู้เท่านั้น เพราะฉะนั้นจะได้หรือไม่ได้ก็ไม่สำคัญอะไร

๑๕) ตรัสบอกข่าวว่ามหาภุชงค์กลับออกมาปีนังนั้น ทำให้เกิดความปีติเป็นอย่างยิ่ง เป็นการควรเช่นนั้น

๑๖) ตามที่ตรัสบอกถึงสัตว์ประจำปีข้างจีน นับเอาเดือนวันเวลาเข้ารวมด้วยนั้น ดีเต็มที เคยเห็นปฏิทินญี่ปุ่นก็มีหมายเดือนเป็นรูปสัตว์ นึกชมว่าของเขาดี แต่ทีแท้ก็จำมาจากจีนนั่นเอง ทั้งนั้นก็เป็นอย่างเดียวกับที่เราถือวรรค อ เป็นวันอาทิตย์ วรรค ก เป็นวันจันทร์ แต่นั่นเราเอาอย่างอินเดีย ทางอินเดียเขาไม่มีสัตว์หมายปีเดือนวัน

๑๗) โปรดประทานอนุญาตให้ใช้ฉลองพระเนตร ซึ่งทรงวางไว้ตลอดถึงเปลี่ยนขาก็ได้ตามชอบใจนั้น เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า แต่ได้องค์หนึ่งซึ่งเป็นขาอ่อนใช้อยู่ ผสมกับที่เอาไปจากบ้านปลายเนินก็พอเสียยิ่งกว่าพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องแก้ไขอะไรอีก

๑๘) เป็นพระเดชพระคุณที่ตรัสบอกให้ทราบว่า พระปรางค์วัดระฆังนั้นสร้างในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์

รูปภาพนั้นจำหลักแทนอะไรต่ออะไร ไม่ใช่ตั้งใจทำเป็นรูป เช่นรูปภาพตามชั้นฐานอะไรต่างๆ ก็จำหลักกระจังให้เป็นภาพไปเท่านั้น เคยเห็นพระราชยานกงของเก่าเขาสลักเป็นรูปครุฑไว้ด้านละ ๓ ตัวเท่านั้น คือมุม ๒ กลาง ๑ ดูห่างพิลึก แต่คิดดูก็เห็นว่าได้ คือจำหลักขาสิงห์ยาวชั้นบนให้เป็นรูปครุฑ ครุฑพระที่นั่งดุสิตก็แทนทวย เมื่อซ่อมยอดพระที่นั่งจักรีเกล้ากระหม่อมก็เปลี่ยนรูปสุบรรณเหราไปเป็นทวยอย่างเก่า ด้วยเห็นว่าเป็นรูปสุบรรณเหรานั้นเอ้อเร้อ แต่กระนั้นก็มีคนทักว่าขาด การทำรูปรูปอะไรโตๆ แทนสิ่งไรนั้น คิดว่าจะจำอย่างมาแต่นครธม เพราะเห็นที่นั่นมีรูปโตๆ อยู่มาก เช่นทีแรกจะเข้าไปในเมืองก็เห็นรูปชักนาคดึกดำบรรพ์ตัวโตๆ ทำไว้แทนพะนักสะพานเสียแล้ว ปราสาทบายนที่ทำหน้าโตๆ ไว้ ๔ ทิศ แต่แรกก็ชอบ แต่ทีหลังเห็นไม่ดี จะเป็นด้วยใจเปลี่ยนไปเสียหรืออย่างไรไม่ทราบ ทางนครวัดเขาก็ไม่ทำตามเสียเลย เขาจะเห็นไม่ดีหรือเป็นของทำก่อนก็ไม่กราบ

๑๙) พระราชยานกงหุ้มทอง เกล้ากระหม่อมก็ไม่เคยทราบว่ามี แต่เขาถามมาบอกเขาไม่ได้จึงกราบทูลถามมา ด้วยเผื่อจะทรงทราบบ้าง “กง” หมายความว่าวง คือที่ท้าวแขนพระราชยานนั้นเอง ทรงพระดำริถูกแล้ว ทีจะถือกันว่ากงเป็นของสูงด้วย เห็นพระเสลี่ยงสำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรง ซึ่งเรียกกันว่าพระราชยานกงจึ่งมีกง ส่วนเสลี่ยงที่เจ้านายทรงไม่มีกง กงเห็นจะมาแต่จีน พะนักหรือลูกกรงเห็นจะเป็นอย่างไทยเราเดิมมา มีพระดำรัสติดมาด้วย ว่าพระที่นั่งพุดตานทองคำนั้น ทูลกระหม่อมทรงประดิษฐ์ขึ้น เป็นเค้าว่าพระที่นั่งพุดตานทองคำเกิดในรัชกาลที่ ๔ แต่รอฟังพระอธิบายต่อไป ข้อนี้ก็อยากทราบอยู่เหมือนกันเพราะถูกเขาถามถึงยุคที่ทำ และตอบเขาไม่ได้เหมือนกัน

๒๐) เรื่องพระโกศกุดั่นใหญ่น้อย ได้ความแจ่มแจ้งดีทีเดียวว่าแรกทำหุ้มทองคำ แล้วซ้ำได้ความไปถึงโกศไม้สิบสองด้วย คิดว่าโกศไม้สิบสองสองใบซึ่งใช้อยู่บัดนี้เป็นของใหม่ ไม่ใช่องค์ซึ่งทรงพระศพกรมพระราชวังบวรนั้น.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ