วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔

ทูลสมเด็จกรมพระนริศ ฯ

สัปดาหะนี้ หม่อมฉันคาดว่าจะได้รับลายพระหัตถ์เวรต่อวันจันทร์หรือวันอังคาร เพราะวันศุกร์เป็นวัน “กูดไฟรเด” และวันเสาร์ก็ยังอยู่ในเขต “อีสเตอ” ที่เขาหยุดงาน น่าขอบใจพนักงานไปรษณีย์ที่เขาส่งลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๘ เมมายน มาให้ในวันเสาร์แต่เวลาเช้า

สนองลายพระหัตถ์

๑) ที่ท่านใคร่จะทรงทราบว่า เครื่องต้นมีมาแต่เมื่อใดนั้น หม่อมฉันคิดค้นหาวิสัชนาเริ่มด้วยมูลเครื่องแต่งตัวมนุษย์ก็เกิดพิศวง ที่ได้เค้าว่าเครื่องแต่งตัวไม่ว่าอย่างใดๆ ไม่เป็นของจำเป็นที่มนุษย์จะต้องใช้ และมนุษย์เกิดมาก็ไม่ได้ใช้เครื่องแต่งตัวอย่างหนึ่งอย่างใด ข้อนี้อาจพิสูจน์ได้แม้ในปัจจุบันนี้ เบื้องต้นแต่เด็กที่ยังไม่รู้เดียงสาก็ชอบเปลือยกายโดยธรรมดา มนุษย์ที่ยังคงรักษาประเพณีเดิม เช่นพวกคนป่าในออสเตรเลียและเกาะนิวกินี ก็ยังมีชอบเปลือยกายเป็นปรกติทั้งชายหญิงอยู่จนตลอดชีวิต และซ้ำเกิดมีฝรั่งบางพวกกลับหันหาประเพณีเดิม ชอบเปลือยกายอยู่ด้วยกันทั้งเด็กผู้ใหญ่ชายหญิงในเวลาอาบแดด แม้มนุษย์ชาวบ้านชาวเมืองที่ใช้เครื่องแต่งตัวมาแล้วตั้งร้อยปีพันปี ก็ออกจะกลับนิยมหันไปหาประเพณีเดิม พึงเห็นได้ด้วยแต่งตัวน้อยลงทุกที ว่าเพียงสังเกตเห็นในปีนังนี้ ผู้ชายไปไหนเดี๋ยวนี้ก็ไม่ชอบใส่เสื้อชั้นนอก ยังใส่เสื้อเชิ้ตแขนสั้นเปิดคอ กางเกงก็ชอบนุ่งแต่ที่เรียกว่า “ช็อด” คือกางเกงขาก๊วยนั่นเอง ถึงเวลาเล่นกีฬาหรืออยู่เปล่าก็มักชอบนุ่งแต่กางเกงขาก๊วยเปลือยตัวเปล่า ฝ่ายผู้หญิงก็ชอบเปิดเสื้อให้เห็นเนื้อหนังมากขึ้นทุกที กระโปรงที่นุ่งก็ตัดชายให้สูงขึ้นเป็นลำดับมา จนเหลือเท่ากับขนาดกางเกงขาก๊วยให้คนเห็นเนื้อหนังจนถึงโคนขา ถุงเท้าก็เป็นอันเลิกไม่ใช้แล้ว ยังคงปกปิดแต่นิมิตกับหัวนม ๒ แห่งเท่านั้น ถ้าความนิยมของมนุษย์เดินไปในทางนี้ มนุษย์ก็น่าจะกลับเปลือยกายด้วยกันหมดเหมือนแต่เดิมสักเวลาหนึ่งในภายหน้า จึงเห็นได้ว่าเครื่องแต่งตัวมนุษย์เป็นแต่ของเกิดขึ้นตามความนิยมชั่วคราวไม่ยั่งยืน ความขวยอายของมนุษย์ก็เกิดขึ้นโดยสมมติและเสื่อมไปไม่ยั่งยืน

เครื่องแต่งตัวที่มนุษย์คิดประดิษฐ์ขึ้นก่อน และคิดพ้องกันยิ่งกว่าสิ่งอื่นนั้นดูเหมือนเป็นเครื่องปกปิดนิมิต มีตั้งแต่ใช้ใบไม้ขึ้นมาจนถึงนุ่งผ้านุ่งกางเกง เครื่องแต่งตัวอย่างอื่นนอกจากนั้นดูประดิษฐ์ขึ้นเพื่อประโยชน์ต่างๆ เป็น ๓ ประเภท คือ –

ก. ประดิษฐ์เครื่องแต่งตัวเพื่อฤดู เช่นมนุษย์อยู่ในประเทศหนาวเป็นนิจต้องแต่งเครื่องปกคลุมตัวให้อบอุ่น ตั้งแต่ห่มหนังสัตว์จนใส่เสื้อกางเกงกันหนาว มนุษย์อยู่ในประเทศร้อนเป็นนิจไม่จำต้องมีเครื่องอบอุ่น ก็ชอบอยู่ตัวเปล่าเป็นปรกติ ประดิษฐ์เครื่องแต่งตัวจึงประดับกับตัวเปล่า เช่นรูปภาพสร้อยถนิมพิมพาภรณ์เทวดาและเครื่องต้นอย่างพวกโนราแต่ง เป็นของคิดประดิษฐ์ขึ้นในประเทศร้อน จึงแต่งกับตัวเปล่า ตรงกันข้ามกับเครื่องแต่งตัวรูปภาพในเมืองหนาว เช่นเทวดา “พ่อคริสต์มัช” เป็นต้น ทำแต่งตัวใส่เสื้อหนาสำหรับอบอุ่นเป็นประธานทั้งนั้น

บางประเทศมีทั้งร้อนและหนาวเปลี่ยนตามฤดู เช่นเมืองไทยเรา ประเทศเช่นนั้นใช้เสื้ออบอุ่นในฤดูหนาว เป็นมูลของเสื้อครุยกรองและเสื้ออย่างน้อย แต่เวลาใช้มีน้อย บางประเทศมีเปลี่ยนร้อนจัดหนาวจัดในวันเดียวกัน เช่นในอะเรเบีย เครื่องแต่งตัวต้องใส่หนากรอมถึงเท้าเสมอ เป็นเครื่องบังทั้งไอหนาวและไอร้อนมิให้ถูกตัว

ข. ประดิษฐ์เครื่องแต่งตัวเพื่อกันภัย เบื้องต้นแต่พวกคนป่าเขียนหน้า ทาตัวให้สีแปลกและเอาเขี้ยวเขาสัตว์เข้าแซมตัว เพื่อให้ศัตรูหวาดหวั่นครั่นคร้าม ตลอดขึ้นมาจนใส่เกราะเหล็กเกราะนวมเสื้อยันต์กันสาตราวุธ ฉลองพระองค์เครื่องต้นน่าจะมาแต่เครื่องแต่งตัวประเภทนี้

ที่เอาเงินทองทำเป็นเครื่องแต่งตัวประจำตัวก็อยู่ในประเภทเพื่อป้องกันตัวเมื่อเวลาจะต้องหนีภัยไปแต่ตัวโดยทันที จะได้ติดตัวไปเป็นทุนเลี้ยงชีพ

หม่อมฉันเคยเห็นเครื่องแต่งตัวเพื่อกันภัยเป็นอย่างแปลกประหลาดครั้ง ๑ ที่เมืองปารีส เขาเอาชาวอาฟริกาพวก ๑ ไปให้คนดู ผู้หญิงของมนุษย์พวกนั้นล้วนเจาะริมฝีปากทั้งข้างล่างข้างบน แล้วเอาไม้กลึงเป็นรูปอย่างจานใส่ในรูที่เจาะระเบิดรูให้กว้างออกไปโดยลำดับ จนปากยื่นออกมาเหมือนกับปากเป็ดทุกคน เพราะที่ในอาฟริกาพวกอาหรับไปเที่ยวไล่จับเชลยเอาไปขายประเทศอื่นเสมอ ผู้หญิงจะหนีไม่พ้นจึงคิดประดิษฐ์เจาะปากอย่างนั้นเสียให้เสียโฉม ศัตรูจะได้ไม่ปรารถนาจับ แต่ดูพวกมันเองก็ชื่นบานเพราะเคยมาเสียหลายชั่วคนแล้ว ก็เลยถือเป็นเครื่องแต่งตัวดูประหลาดหนักหนา

ค. ประดิษฐ์เครื่องแต่งตัวอวดฐานะของผู้แต่ง เป็นเบื้องต้นแต่นุ่งห่มแต่งเครื่องประดับที่มีค่า ให้คนเห็นว่าเป็นผู้ดีมีทรัพย์สินหรือสวยงามน่ารัก ใคร่ ตลอดจนรู้ว่าเป็นผู้มีศักดิ์สูงถึงชั้นนั้นๆ เครื่องต้นอยู่ในประเภทนี้ รูปพรรณสัณฐานย่อมผิดกันตามความนิยมของมนุษย์ต่างชาติ และเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาโดยลำดับด้วยกันทั้งนั้น

ตามวินิจฉัยที่กล่าวมา วิสัชนาเครื่องต้นของพระราชามหากษัตริย์ไม่เลือกว่าประเทศใด คงเริ่มมีมาพร้อมกับเมื่อมีพระราชามหากษัตริย์ แต่รูปสัณฐานหรือสิ่งซึ่งบัญญัติว่าเป็นเครื่องต้นต่างกัน และคงแก้ไขโดยลำดับมาด้วยกันทุกชาติ

พิจารณาดูรูปสัณฐานเครื่องต้นของไทยเทียบกับเครื่องต้นของประเทศอื่นออกประหลาดใจ ที่เห็นไปคล้ายกับลังกายิ่งกว่าประเทศอื่น เป็นต้นว่าทรงพระมหามงกุฎเหมือนมงกุฎลังกาในรูปภาพที่ทำไว้ ณ เมืองสุโขทัยแต่ครั้งพระร่วง และรูปมงกุฎลังกาในรูปภาพเรื่องพุทธประวัติที่ชาวลังกาพิมพ์ขายในบัดนี้ ทรวดทรงก็ยังคล้ายมงกุฎไทย แต่รูปมงกุฎในอินเดียและแบบขอมผิดไปอย่างหนึ่งหาคล้ายกับของไทยไม่ จะเป็นด้วยเหตุใดยังคิดไม่เห็น

๒) เครื่องทรงสวมพระเศียร พระราชามหากษัตริย์ ดูมีแต่ ๓ ชนิด ๆ ๑ คือ มงกุฎ อันเกิดแต่กรอบหน้า ชนิด ๑ คือ ชฎา อันเกิดแต่ผ้าโพก ชนิด ๑ มาลา อันเกิดแต่หมวก ทำชนิดใดให้ผิดกันกี่อย่างก็หาคุณศัพท์ต่อเพิ่มเข้าเรียกเป็นชื่อต่างกันทุกอย่าง ดังชฎามหากฐินก็เห็นจะหมายว่า พระชฎาที่มักทรงเมื่อเสด็จไปทอดกฐินเท่านั้น พระมาลานั้นเดิมน่าจะเป็นรูปหมวกกลีบลำดวน เช่นเจ้านายทรงเมื่อยังเยาว์ รูปเป็นดอกไม้จึงเรียกว่ามาลา ต่อมามีหมวกทรงรูปอื่นก็เอาคุณศัพท์เพิ่มเข้าเป็นพระมาลาทรงประพาส พระมาลาเส้าสูง พระมาลาเส้าสะเทิน เป็นต้น

๓) หม่อมฉันเพิ่งทราบว่าท่านเคยทรงเป็นตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการหาปลาเนื้อดีถวายมาแต่ก่อน ก็รับรองเห็นจริงด้วยเคยตระหนักใจว่าปลาที่ประทานมาทีไร ดีทุกครั้ง

๔) ที่คนเรียกเมืองจำปาศักดิ์ว่า “ปาศักดิ์” นั้นเห็นว่าจะเป็นแต่เรียกมักง่าย ฝรั่งเศสก็พลอยเรียกตาม มีสำคัญกว่านั้นคือลำน้ำที่ตั้งเมืองพนมเปญ เขมรก็เรียกว่าแม่น้ำปาสัก หม่อมฉันสืบก็ไม่ได้ความว่าหมายเอาอะไรเป็นนิมิต เห็นห่างไกลกับแม่น้ำป่าสักของเรามากนัก จึงไม่คิดเห็นว่าจะเรียกตามกัน

๕) คาถาที่ติดไว้ในห้องพระที่โปรดคัดสำเนาประทานมาหน่อยหนึ่งนั้น ประหลาดใจที่หม่อมฉันจำไม่ได้ทีเดียวว่าใครให้ พิเคราะห์ดูเหมือนจะได้รับเมื่อทำบุญฉลองอายุครบ ๗๐ ด้วยมีคำว่าให้พรเมื่อเป็นอภิรัฐมนตรีแล้ว และส่อเหตุที่จำไม่ได้เพราะได้รับแล้ว ๓ วันก็เกิดฉุกละหุก จึงไม่ทรงจำติดแน่นอยู่ในญาณ เกิดอยากอ่าน ถ้าโปรดให้ใครคัดประทานมาทั้งอรรถและแปลจะขอบพระเดชพระคุณมาก

เบ็ดเตล็ด

๖) หม่อมลำดวนออกมาถึงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ รับฝากหนังสือแจกงานศพมาเป็นเพนินเทินทึก หนังสืองานศพหม่อมเจ้าคอยท่า หม่อมเจ้าเสริมสวาสดิ์ กฤดากร หม่อมเจ้าถาวรมงคลวงษ์ และเจ้าพระยาวงษาฯ เจ้าภาพเขาฝากมาให้ทุกงาน

๗) หม่อมฉันถามคำให้การหม่อมลำดวนถึงญาติที่อยู่ในกรุงเทพฯ บอกว่าพระองค์ท่านแต่มาประทับที่วังวรดิศดูทรงสบายเปล่งปลั่ง เป็นความยินดีแก่หม่อมฉันอย่าง ๑ ต่อนั้นว่าลูกชายแอ๊วและหลานหมูหายเจ็บเป็นปรกติแล้วก็ยินดีสิ้นห่วง หม่อมลำดวนยอมว่าอากาศที่ปีนังสบายกว่ากรุงเทพฯ ว่ากรุงเทพฯ กำลังร้อนจัดมาก ดูเหมือนพวกลูกหลานที่วังวรดิศก็จะไปหัวหินกันหลายคน แต่ที่ปีนังนี้ก็ร้อนกว่าเช่นเคย ปรอทดูไม่ต่ำกว่า ๘๐ เลย แต่ก็พอทนไม่ถึงรำคาญ จึงยังไม่คิดที่จะขึ้นเขาปีนี้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ