วันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ลายพระหัตถ์เวรลงวันที่ ๙ กันยายน มาถึงมือหม่อมฉันแต่วันศุกร์อีกในคราวเมล์นี้ คือเมล์มาถึงปีนังวันพฤหัสบดีเวลาค่ำ รุ่งขึ้นวันศุกร์เขาตรวจในตอนเช้าแล้วก็ให้เอามาส่ง เป็นอย่างนั้นมาสัก ๔ สัปดาหะแล้ว หวังว่าจะเป็นยุติอย่างนี้ต่อไป ที่งดรถไฟด่วนซึ่งเคยมาถึงวันอาทิตย์ก็ไม่ตัดการส่งเมล์ เป็นแต่เอาถุงเมล์เปลี่ยนขึ้นรถเช้าที่หาดใหญ่มาถึงปีนังช้าไปวันหนึ่งเท่านั้น

สนองลายพระหัตถ์

๑) จะทูลเรื่องเนื่องกับป้อมใหญ่ที่เมืองธนบุรีเมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์ฯ ต่อไป เมื่อสร้างป้อมนั้นไทยมิได้ประสงค์จะให้ทหารฝรั่งเศสมาอยู่ แต่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ส่งทหารเข้ามากองพล ๑ นายพลฝรั่งเศสชื่อเตอฟาซเป็นผู้คุมกองทหารนั้นมา พร้อมกับ ม.เดอลาลูแบร์ราชทูตฝรั่งเศสที่พาโกษาปานเมื่อยังเป็นที่พระวิสูตรสุนทร ราชทูตมาส่ง มาถึงเมืองไทยก่อนสมเด็จพระนารายณ์ฯ สวรรคต ๗ เดือน ฝ่ายไทยรู้ว่าพระเจ้าหลุยส์ส่งทหารมาเมื่อทหารมาถึงปากน้ำแล้ว มิรู้ว่าจะทำอย่างไรจึงให้ทหารฝรั่งเศสขึ้นอยู่ที่ป้อมใหญ่ ณ เมืองธนบุรี เพื่อจะมิให้เข้าไปถึงพระนคร พอสมเด็จพระนารายณ์ฯ สวรรคต สมเด็จพระเพทราชาก็ยกกองทัพลงมาล้อมป้อมใหญ่นั้น แล้วว่ากล่าวกับนายพลฝรั่งเศสตกลงกันได้ นายทหารฝรั่งเศสยอมออกจากเมืองไทยไปโดยดี มีในจดหมายเหตุฝรั่งเศสว่า “พระยาพระคลังที่เคยเป็นราชทูตฝรั่งเศสในคราวหลัง” เป็นผู้เจรจาว่ากล่าวกับนายพลฝรั่งเศสในครั้งนั้น จึงได้ความรู้ว่าโกษาปานได้เป็นพระยาพระคลังต่อปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ หรืออาจจะเป็นต่อในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา เมื่อจะให้ไปเจรจาว่ากล่าวฝรั่งเศสก็เป็นได้ เพราะมีหลักฐานแน่นอนว่ายังเป็นที่พระวิสูตร์สุนทรอยู่เมื่อก่อนสมเด็จพระนารายณ์ฯ เสด็จสวรรคตเพียง ๗ เดือน

๒) พระมหาสถูปที่วัดพระเชตุพน ๔ องค์นั้น มีเรื่องตำนานในจดหมายเหตุเป็นแน่นอน ว่าสร้างในรัชกาลที่ ๑ แต่พระเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณองค์เดียว ถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงสร้างเพิ่มขึ้นเคียงข้างอีก ๒ องค์ อุทิศถวายเป็นของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ องค์ ๑ เป็นของส่วนพระองค์ องค์ ๑ พระระเบียงต้องสร้างในรัชกาลที่ ๓ จึงล้อมพระเจดีย์ทั้ง ๓ องค์ และยังมีสิ่งสำคัญประกอบอีก ด้วยกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ทรงพรรณนาว่า พระพุทธรูปยืนที่ตั้งรายในพระระเบียงนั้น ย้ายไปจากพระระเบียงรอบพระอุโบสถ น่าสันนิษฐานว่าพระยืนเหล่านั้นเดิมเห็นจะตั้งอยู่ที่พระระเบียงชั้นนอก ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๔ ทูลกระหม่อมมีพระราชประสงค์จะสร้างพระมหาสถูปเป็นส่วนพระองค์เพิ่มขึ้นอีกองค์ ๑ จึงโปรดให้รื้อพระระเบียงรอบพระเจดีย์ทางด้านตะวันตกขยายที่ออกไปสำหรับสร้างที่พระเจดีย์องค์ใหม่ และสร้างวิหารทางด้านตะวันตกเชื่อมกับพระระเบียงเดิมที่ยังเหลืออยู่ และมีพระราชดำรัสว่า ที่สร้างพระมหาสถูป ๔ องค์นั้น เพราะพระเจ้าอยู่หัวที่สร้างได้เคยเห็นกันทั้ง ๔ พระองค์ พระเจ้าแผ่นดินต่อไปไม่จำต้องสร้างอีกดังนี้

๓) ที่ชื่อข้าวบุหรี่มาแต่ กะปูลี ข้าวปัดมาแต่ กะปัดและอาจี๋รถมาแต่แอกเษอล ภาษาอังกฤษนั้น หม่อมฉันเพิ่งรู้เมื่ออ่านลายพระหัตถ์ เห็นได้ว่าไทยได้แบบอย่างของชาวต่างประเทศไปทำ ตั้งใจจะเรียกชื่อตามเดิมแต่พูดสำเนียงไม่ชัด จึงแปรไปเป็นอย่างอื่นนั่นเอง เห็นจะมีชื่อสิ่งอื่นอีกมาก นึกขึ้นได้อีกอย่าง ๑ คือ เนื้อวัวเสียบไม้ปิ้งจิ้มน้ำปลากินที่เรียกกันว่า “ซาเต๊ะ” หม่อมฉันเคยไล่เลียงก็ได้ความว่ามาแต่ Beef Steak ภาษาอังกฤษ

๔) เมื่อทูลวินิจฉัยเรื่องนมวัวไปในจดหมายฉบับสัปดาหะก่อนแล้ว หม่อมฉันไปเที่ยวเวลาเย็นๆ ได้สังเกตการเลี้ยงวัวที่ในปีนังนี้คนเลี้ยงวัวดูอยู่แต่ในแขกอินเดีย พวกมลายูและจีนหาเลี้ยงวัวนมไม่ คิดไปถึงในเมืองไทยพวกเลี้ยงวัวนมดูเป็นแขกอินเดียทั้งนั้น แขกอินเดียที่เลี้ยงวัวก็ต่างกันเป็น ๒ พวก ๆ กะลิงถือศาสนาอิสลามเลี้ยงวัวที่ฆ่าเนื้อกินเป็นอาหาร พวกทมิฬถือศาสนาฮินดูเลี้ยงวัวนมและวัวพาหนะ พวกเลี้ยงวัวตั้งคอกอยู่เป็นหมู่กันหลายแห่ง ต่างต้อนฝูงวัวไปเที่ยวหากินตามที่มีหญ้าขึ้นเป็นธรรมดา เกี่ยวหญ้ามาๆให้กินแต่ในเวลาเลี้ยงผะคบผะงมเมื่อมีลูกอ่อนไว้รีดนมขาย พวกเลี้ยงวัวในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ท้าวประดู่สุริวงษ์มา ดูก็จะเลี้ยงเป็นอย่างเดียวกันจนทุกวันนี้ เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จกลับจากยุโรปครั้งแรกได้วัวนมใครถวายมาดูเหมือน ๒ ตัว โปรดให้เจ้าพระยาเทเวศฯ เลี้ยงอย่างผะคบผะงม แต่ทนอากาศร้อนอยู่ไม่ได้เท่าใดก็ตายหมด วัวนมที่ปีนังนี้ดูเหมือนจะเป็นพันธุ์วัวอินเดีย ขนาดก็เท่าๆ กับวัวไทยแต่สีขาวไม่เป็นสีแดงเหมือนวัวไทย เต้านมก็เล็กและน้ำนมก็ใสจะเปรียบเทียบกับวัวยุโรปไม่ได้ทีเดียว

ว่าต่อไปถึงพันธุ์สัตว์ ดูเหมือนพันธุ์สัตว์เมืองร้อนจะเอาไปประสมรักษาพันธุ์ในเมืองหนาวได้ เพราะเขาสามารถจะทำที่อบอุ่นเลี้ยงในฤดูหนาว ดังเช่นแมวไทยเขาก็เอาไปประสมรักษาพืชพันธุ์ไว้ได้ไนยุโรป แม้จนช้าง เสือ และสิงห์ที่เล่นเซอคัสและหนังฉาย เดี๋ยวนี้ก็ดูเหมือนเขาจะประสมได้ ไม่ต้องเที่ยวไล่จับไปจากป่าในเอเซียและอาฟริกาเหมือนแต่ก่อน แต่สัตว์เมืองหนาวจะเอามาประสมรักษาพันธุ์ในเมืองร้อนไม่เห็นสำเร็จได้ ดูแต่ไก่และหมาที่หาซื้อกันมาเท่าหนึ่งเท่าใด อยู่ได้ไม่ช้าก็ตาย ถ้าประสมได้พันธุ์ก็เรียวลงแล้วเลยสูญพันธุ์ไปหมด เพราะจะทำที่เลี้ยงให้อากาศเย็นอย่างยุโรปไม่ได้

๕) พระนามอย่างจีนของพระเจ้าอยู่หัวแต่ก่อนนั้น ดูเหมือนจะลงเป็นยุติได้ว่า รัชกาลที่ ๑ ว่าแต้ฮุด รัชกาลที่ ๔ ว่าแต้เหม็ง รัชกาลที่ ๕ ว่าแต้เจีย ยังขาดแต่รัชกาลที่ ๒ และที่ ๓ ทรงสืบดูทางกรุงเทพฯ ก็จะดี

๖) สิงห์ ๓ ตัวที่พระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเลี้ยงนั้น คือที่เดนมาร์กหม่อมฉันเคยได้เห็นรูปสิงห์ ๓ ตัวที่ทำไว้ ขนาดสักเท่าหมาใหญ่อย่างที่เรียกว่า หมาเดนทำหุ้มเงินตะทองตั้งรายไว้ที่ราชบัลลังก์ที่วังแห่ง ๑ เขาออกอธิบายว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นได้ครองทั้งประเทศเดนมาร์ก สวีเดน และนอรเวย์ รวมกัน รูปสิงห์ ๓ ตัวนั้น จึงเป็นเครื่องหมายราชอาณาเขตของประเทศเดนมาร์กเมื่อรุ่งเรืองด้วย คิดดูมูลในเรื่องสิงห์ดูก็เห็นได้ไม่ยาก มนุษย์ย่อมต้องมีเครื่องป้องกันภัยอย่างต่ำมีประตูบ้านเรือน ต่อขึ้นมาถึงมีคนเฝ้าประตู ต่อขึ้นมาถึงเลือกสรรคนกล้าแข็งรักษาประตู ต่อขึ้นมาถึงผู้เป็นอัจฉริยบุรุษอาจจะหัดสัตว์ร้ายให้รักษาประตูได้ มูลอันนี้เองที่เลยมาเป็นรูปภาพแล้วถึงแต่ชื่อสิงห์ก็นับว่าเป็นเกียรติยศสูง

๗) พระพุทธรูปที่หม่อมฉันหมายจะจำลองมาสร้าง นึกว่าดูเหมือนจะเป็นพระแบบศรีวิชัย อันมีองค์พระนาคปรกที่ในพิพิธภัณฑสถานเป็นตัวอย่างบริบูรณ์อยู่องค์ ๑ แต่หม่อมฉันยังไม่แน่ใจจึงขอให้เขาจำลองพระเศียรเท่าที่มีมาให้พิจารณาก่อน หม่อมฉันคิดไว้เป็น ๒ นัย ๆ ๑ ถ้าแน่ใจว่าเป็นพระแบบศรีวิชัย ก็จะให้ทำพระองค์เป็นพระศรีวิชัย ถ้าหากไม่แน่ใจก็จะให้เอาแต่ดวงพระพักตร์มาทำพระพุทธรูปแบบรัชกาลที่ ๕ ส่วนฐานนั้นนึกว่าจะทำด้วยไม้ให้เห็นชัดว่าเป็นเครื่องรองพระพุทธรูป ไม่หล่อติดกับองค์พระพุทธรูป เป็นแต่คิดไว้อย่างนี้ ตกลงใจอย่างไร จึงจะทูลต่อไป

๘) เรื่องประดิทินต่างๆ นั้นดูยากที่จะไล่เบี้ยต่อเรื่องกันให้สนิท เพราะแก้ไขซับซ้อนกันมามากนัก แต่ดูเหมือนจะเห็นหลักได้ว่า วิธีนับเดือนปีไม่ว่าประดิทินอย่างใดๆ ล้วนมาแต่โคจรของพระอาทิตย์พระจันทร์และดาวฤกษ์ทั้งนั้น ส่วนศักราชนั้นมาแต่เอาปีสำคัญอันใดอันหนึ่งในประวัติของผู้เป็นที่นับถือร่วมกัน เช่นวันประสูติหรือราชาภิเษกหรือสิ้นพระชนม์ ของพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นต้นพระราชวงศ์ ตั้งต้นนับปีแต่นั้นมาเพื่อใช้เป็นคะแนนปี ถ้าได้มากกว่า ๖๐ อันเป็นรอบใหญ่ของประดิทินที่ใช้กันอยู่แต่ก่อน ยกตัวอย่างได้ใกล้ๆ เช่นรัตนโกสินทร์ศกก็นับแต่ปีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เสวยราชย์ แม้คำที่เรียกว่า “ศักราช” ที่จริงก็หมายความเพียงว่า วันสำคัญของพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นต้นราชวงศ์ศักกะเท่านั้น แต่วิธีกำหนดด้วยวันสำคัญของพระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์อันหนึ่งมาเกิดขัดข้อง เมื่อเปลี่ยนราชวงศ์ใหม่ คงเอาวันสำคัญของราชวงศ์นั้นตั้งคะแนนศกใหม่ พวกที่ไม่นับถือก็ไม่ทำตามหรือคิดเอาเหตุอื่นเป็นต้นเป็นคะแนนศกขึ้นใช้ ก็เกิดมีศกหลายอย่างด้วยประการฉะนี้

คำเรียกชื่อศกสิบและที่เรียกชื่อสิบสองมีรอบเล็กก็ต่างกันเป็นหลายอย่าง ไทยเราเอาเลขปลายจุลศักราชมาเรียก ในประดิทินชาวลานนาเขาเรียกเป็นอย่างอื่นทังศกสิบและชื่อปี เป็นแต่ประสมอย่างเดียวกัน คิดดูตามกาลที่เปลี่ยนแปลงมา ต่อไปดูเหมือนจะรับใช้ประดิทินสุริยคติอย่างฝรั่งใช้หมดทั้งโลก แต่ยังไม่มีเงาว่าจะเอาอะไรใช้เป็นศกให้เป็นอย่างเดียวกันได้

๙) รูปภาพที่เขียนเชิงผนังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้นหม่อมฉันเคยได้ยินว่าเขียน “กระบวนเพชรพวง” ถ่ายจากต้นตำราฉบับหลวงเขียนไว้ในสมุดเมื่อรัชกาลที่ ๑ สมุดต้นตำรานั้นหม่อมฉันไปเห็นตกอยู่กับหม่อมเจ้าปิยภักดีนาถ เธอซื้อไว้จากพวกลักหนังสือหอหลวงออกขาย หม่อมฉันได้ขออนุญาตให้นายอยู่ไปคัดสำเนามาไว้ในหอพระสมุดฯ แต่เมื่อหม่อมเจ้าปิยฯ สิ้นชีพหอพระสมุดได้ตัวต้นตำราคืนมาเป็นของหลวงแล้ว ถ้าจะทอดพระเนตรตรัสแก่พระยาอนุมานก็เห็นจะทอดพระเนตรได้

๑๐) งานที่สมเด็จพระพันวัสสาทรงนำเจ้านายทำทักษิณานุประทานถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงกับสมเด็จพระศรีพัชรินทร์นั้น แต่ก่อนเคยทำ ณ พระที่นั่งนงคราญสโมสรวันที่ ๒๑ กันยายน ปีนี้เลื่อนไปทำที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามและเปลี่ยนวันไปทำเมื่อวันที่ ๘ กันยายนด้วย หม่อมฉันตรวจดูก็ได้ความว่าเปลี่ยนเป็นทำทางจันทรคติตรงกับเดือน ๑๐ แรม ๓ ค่ำ คงเป็นเพราะวันที่ ๒๑ พ้องกับงานเฉลิมพระชันษาในรัชกาลที่ ๘ ที่เปลี่ยนก็เป็นการสมควร ที่ท่านทรงรู้สึกพระองค์ว่างุ่มง่ามไปนั้น ควรปลงได้ง่าย ด้วยเราเคยเห็นเจ้านายรัชกาลที่ ๒ ที่ ๓ มาแต่ก่อน พระชันษายังน้อยกว่าพระชันษาของพระองค์ท่านในเวลานี้ทั้งนั้น

ข่าวทางปีนัง

๑๑) วันที่ ๑๕ ที่ ๑๖ นี้กำหนดเขาซ้อมปิดไฟ คราวนี้จะซ้อมพร้อมกันหมดตลอดแหลมมลายูของอังกฤษ แต่ก็เคยชินแล้วไม่นึกหวาดหวั่นอย่างไร

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ