วันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

สัปดาหะนี้ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑๓ พฤษภาคม มาถึงปีนังวันที่ ๑๕ พฤหัสบดี พอวันศุกร์เขาก็เอามาส่งให้หม่อมฉันแต่ก่อนเที่ยง แต่ในลายพระหัตถ์ตรัสว่าจดหมายเวรของหม่อมฉันซึ่งไปถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๐ จนวันจันทร์ยังไม่ถึงพระหัตถ์ มันเป็นอาจินตัยดังนี้ก็ช่างเถิด

ทูลสนองลายพระหัตถ์

๑) ซึ่งทรงปรารภเรื่องแห่นางแมวขอฝนนั้น มาพ้องกับที่หม่อมฉันเคยปรารภ จึงจะทูลบรรเลงเป็นข้อต้นในจดหมายฉบับนี้ อันพิธีขอฝนแม้ทำต่างๆ กันย่อมทำด้วยถือคติอย่างเดียวกันว่า เทวดาอาจจะบันดาลให้ฝนตกได้ จึงทำพิธีอย่างหนึ่งอย่างใดให้เทวดาเห็นว่าต้องให้ฝนตก ลักษณะพิธีที่ทำจึงผิดกันต่างๆ สวดมนต์ให้เทวดาบันดาลให้ฝนตกด้วยความเลื่อมใสก็มี ถือศีลภาวนาให้เทวดาบันดาลให้ฝนตกก็มี ประสงค์ด้วยความเมตตาก็มี เอาของดีเช่นช้างเผือกออกผูกไว้กลางแดดให้เทวดาบันดาลให้ฝนตกด้วยความกรุณาก็มี อย่างต่ำเช่นชาวนามักเอาดินปั้นเป็นรูปนิมิตชายหญิงไว้กลางแจ้งให้เทวดาบันดาลให้ฝนตก เพราะรำคาญตา (ถ้ามาแต่ตำราพราหมณ์ก็เพื่อให้เทวดาเมตตา) ก็มี แต่ลักษณะพิธีที่เอานางแมวออกแห่ขอฝนไม่เข้ากับเกณฑ์ใดหมด เพราะแมวเป็นสัตว์แพ้น้ำอย่างที่สุด จะทูลอ้างตัวอย่าง เมื่อหม่อมฉันแรกจะเลี้ยงอีแมวตัวโปรด บอกลูกหญิงว่าให้เอามันไปอาบน้ำชำระตัวเสียให้สะอาด เธอว่าแมวอาบน้ำไม่ได้ เธอเคยเห็นมาแก่ตาเอง ครั้งหนึ่งพระองค์หญิงขาวได้ลูกแมวมาตัว ๑ หมายจะเลี้ยงไว้ เห็นตัวมันเปื้อนเปรอะก็เอาลงอาบน้ำแล้วเอาขึ้นมาเช็ดตัวด้วยผ้าขนหนู ลูกแมวตัวนั้นขาดใจตายในพระหัตถ์เพราะทนน้ำไม่ได้ สังเกตต่อมาก็เห็นว่าแมวกลัวน้ำจริง วันไหนฝนตกอีแมวเป็นขึ้นมาเกาะอยู่กับคนที่บนเรือน ต่อเป็นวันแล้งจึงไปเที่ยวเตร่หลับนอนที่อื่น เพราะฉะนั้นที่เอานางแมวออกแห่ดูสมกับขอให้เทวดาห้ามฝนยิ่งกว่าขอให้ฝนตก จะเกิดแต่มูลอันใดยังคิดไม่เห็น บทกลอนที่ร้องเมื่อแห่นางแมวนั้น หม่อมฉันจำได้ดังต่อไปนี้

นางแมวเอย ท่านให้ขอฝน
จะขอน้ำมนต์ รดหัวแมวบ้าง
จะขอค่าจ้าง หามนางแมวมา
(บาทนี้นึกไม่ออก) อย่าให้ข้าวตายฝอย
ข้าวเกวียนละสองร้อย อ้อยลำละยี่สิบ
ไปซื้อหมากดิบ ถึงเมืองไชโย
ลูกสาวโตๆ เร่งให้มีลูก
ขอให้ข้าวถูก ลูกไม้ก็อย่าแพง
ทำตาแดงๆ ร่อนรับร่อนเร่
ฝนก็เทลงมา ฝนก็เทลงมา

ความแต่ต้นจนปลายไม่กลืนกัน ส่อว่าไม่ได้แต่งคราวเดียวทั้งบท น่าจะเป็นคำปะติดปะต่อเพิ่มเติมมาตามใจคนร้อง หรือหลงลืมแปลงคำเดิมต่างกับบทเดิมไปเสียมาก ยังมีอีกบท ๑ หม่อมฉันจำได้หน่อยหนึ่งว่า

เทวดา วลาหก
ฝนฟ้าไม่ตก อกข้าจะแตกคราก
ผลกรรมลำบาก มากน้อยก็ไม่ว่า

จำได้เท่านั้นเอง แต่เห็นได้ว่าเป็นบทแต่งใหม่กว่าบทก่อน

๒) ที่พระยาอนุมานสันนิษฐานว่า “หกขะเมน” จะมาแต่ “หกเขมร” และคำว่า “ตีลังกา” จะมาแต่เป็นชาวแบบลังกานั้น ดูเป็นแต่พิเคราะห์ตามเสียง เมื่อคิดต่อไปถึงทางความดูไม่น่าจะเป็นเช่นสันนิษฐาน ถ้าคำเดิมว่า “หกเขมร” ความหมายว่า หกอย่างนั้นเป็นท่าชาวกัมพูชาประดิษฐ์ขึ้นก่อน แล้วไทยรับเอาแบบมาทำตาม เช่นเดียวกับฝรั่งเขามาทำ Sponge Cakeให้เห็นก่อน ไทยจึงเอามาแบบมาทำและจึงเรียกว่าขนมฝรั่งสืบมา แต่การหกขะเมนดูเป็นกิริยาโดยธรรมดามนุษย์ไม่เลือกว่าชาติใดๆ เด็กๆ มักชอบเล่นหกขะเมนทั้งนั้น หาได้เป็นกิริยาของมนุษย์เฉพาะชาติใดคิดขึ้นไม่ ไม่เหมือนอย่างคำว่า “ถกเขมร” อันหมายว่าเป็นแบบนุ่งผ้าของพวกเขมร เพราะหยักรั้งผิดกับที่ไทยนุ่งกรอมลงมา คำว่า “ตีลังกา” ยิ่งห่างออกไปด้วยมีคำว่า “ตี” อยู่ข้างหน้า หม่อมฉันเห็นว่าน่าจะเป็นชื่อเรียกท่าหกอย่างท่านตรัสว่าท่าหกของโขนก็มีชื่อเรียกต่างกันด้วย คำโบราณของไทยหรือมีใครมาตั้งให้เรียกก็เป็นได้

๓) คำว่า “ขัน” นั้น ดูใช้ความหมายได้ถึง ๓ อย่าง ใช้เป็นนามศัพท์เช่นเรียกภาชนะที่ใส่น้ำอย่าง ๑ ใช้เป็นกิริยาศัพท์ เช่นว่า “ไก่ขัน” หมายว่าออกเสียงอย่าง ๑ เช่นว่า “ขันเชนาะ” หมายความว่าทำให้มั่นอย่าง ๑ และยังใช้เป็นกิริยาคุณเช่นว่า “ขบขัน” “กวดขัน” “แข่งขัน” เป็นต้น เหล่านี้เอามาแต่คำขัน อันหมายความว่า ทำให้ มั่น ทั้งนั้น

๔) คำสรรพนามว่า “แก” เห็นจะมาแต่ “ตะแก” เช่นใช้ในเทศน์มหาชาติกัณฑ์ชูชกว่า “ตะแกก็เที่ยวภิกขาจาร” และเคยเห็นที่อื่นอีก คำว่า “ตะแก” นั้นก็เห็นได้ว่าคงมาแต่ “ตาแก่” นั่นเอง จึงใช้เป็นสรรพนามแต่เมื่อพูดถึงคนแก่เช่นชูชก สรรพนามพวกนี้ยังมีคำอื่นอีก ถ้าเป็นชายฉกรรจ์มักใช้คำว่า “เพื่อน” เช่นในเทศน์มหาชาติกัณฑ์ชูชกนั้นเอง เมื่อกล่าวถึงพรานเจตบุตร ใช้สรรพนามว่า “เพื่อน” และยังมีอีกคำ ๑ เป็นสรรพนามสำหรับคนรุ่นหนุ่มสาวเรียกว่า “ลูกอ่อน” มีในบทเสภาเมื่อขุนแผนพานางวันทองไปหาพระพิจิตร์ว่า “ครานั้นขุนแผนแสนสุภาพ กับวันทองก้มกราบลงที่นั่น ขุนแผนจึงบอกไปฉับพลัน ตัวลูกอ่อนนั้นชื่อวันทอง”

คำที่เรียกว่า “ลูกอ่อน” ภายหลังมาตัดคำหน้าออกเสียคงใช้แต่ว่า “อ่อน” ท่านคงจะยังทรงจำได้ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร ตรัสถึงสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงใช้คำว่า “อ่อน” อยู่เป็นนิจ เขาว่าท่านเอาอย่างสมเด็จพระศรีสุราลัย เรียกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมาใช้ ก็น่าจะเป็นความจริง เพราะเป็นคำเก่ามาก เมื่อสิ้นทูลกระหม่อมปราสาทแล้วก็ไม่ได้ยินใครใช้คำนั้นต่อมา คำว่า “หล่อน” ดูก็น่าจะแปลงไปจากคำว่า “อ่อน” นั่นเอง

๕) ต้นไม้ที่ว่าศักดิ์สิทธิ์อยู่ใกล้สถานเสาวภานั้น หม่อมฉันก็เพิ่งรู้ว่ามี เมื่อเห็นเรื่องในหนังสือพิมพ์ แต่ก่อนมาไม่เคยสังเกตเลย

๖) หนังสือวิสาขะตามที่ตรัสบอกมาว่าปีนี้ทำตัวหนังสือที่ในปกว่า “สุบบองคฤหัสถ์ ๔” นั้น ไม่ประหลาดใจหม่อมฉัน เพราะได้เคยเห็นเขียน “ราบินี” ที่ใบปกหนังสือวารสารโรงเรียนราชินีฉบับ ๑ ทำนองเดียวกัน ดูเหมือนผู้คิดใคร่จะให้ตัวอักษรเข้าแบบเรือนเฟโรคอนกรีตสมัยใหม่ อันเป็นแต่เส้นตรงๆ แต่ไม่รู้จักลักษณะรูปตัวอักษร จึงแผลงจนกลายไปเป็นตัวอื่น หม่อมฉันเคยบ่นว่าท่านอาจารย์พิจิตร์ฯ ว่าเป็นผู้รู้อยู่เอง ไม่ควรจะปล่อยให้ช่างเขียนแผลงจนเปลี่ยนอักษร ไปเช่นนั้น การเขียนแผลงรูปตัวอักษรไปต่างๆ เช่นเขียนเป็นตัวอักษรย่อเป็นต้น ก็มิใช่ของใหม่ อย่าว่าแต่เขียนแผลงในกระบวนช่างเลย ถึงลายมือเขียนหวัดต่างคนก็ต่างเขียนรูปต่างกัน แต่ก็คงรักษารูปตัวอักษรไว้ไม่ไขว้เขว แผลงอย่างใหม่นี้ต้องนับว่าเป็นอกุศลกรรมทำให้เกิดโทษ พระประธานวัดราชโอรสนั้น หม่อมฉันเคยสังเกตว่าเป็นงามกว่าองค์อื่นที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงสร้าง แต่ก็ยังไม่สู้นัยน์ตาอยู่นั่นเอง แต่ฐานพระประธานองค์นั้น ทำเป็นกุดั่นงามนักหนา ไม่เห็นมีที่ไหนเหมือน

๗) หม่อมฉันนึกถึงที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านทูลว่า ท่านรู้จักนมกลักเมื่ออายุได้ ๔ ขวบนั้น ก็เห็นว่าจะตรงตามจริง ตัวหม่อมฉันก็จำได้ว่าเคยกินนมกลัก แต่ยังไว้ผมจุกมื่อตอนต้นรัชกาลที่ ๕ สมัยนั้นชอบเอาขนมปัง “เจ็ม” เรียกกันว่า “ขนมปังหลังเบี้ย” จิ้มนมกลักกิน ไม่ละลายเป็นนมเหลว ยังจำได้อีกสิ่ง ๑ ซึ่งหม่อมฉันแรกเห็นเมื่อยังไว้ผมจุก คือตะเกียงใช้น้ำมันเปรโตเลียม ไปงานพระเมรุที่วัดบวรนิเวศแล้วเลยไปที่กุฏิพระองค์เจ้าปรีชาในกรมสมเด็จพระบำราบฯ ไปเห็นตะเกียงมีหลอดใช้น้ำมันก๊าดของพระองค์ปรีชามีอยู่ใบ ๑ เป็นครั้งแรกที่ได้เห็น รวมความว่านมกลักและโคมน้ำมันก๊าดแรกมีเข้ามาในเมืองไทยเมื่อต้นรัชกาลที่ ๕

๘) ฟุตโน๊ตนั้น หม่อมฉันก็ชอบใช้มีวงเล็บมือตามแบบฝรั่งเศส เพราะเห็นถนัดกว่าอย่างอื่น

๙) หม่อมฉันได้รับหนังสือแจกงานพระศพทูลกระหม่อมหญิงวลัย ชุด ๑ เห็นใบปกสมุดเล่ม ๑ มีรูปพระสถูปเป็นประธาน แต่แรกเข้าใจว่าเป็นเครื่องหมายพระธรรมปริยายที่พิมพ์ในสมุดเล่มนั้น พิจารณาไปเห็นรูปกำไลก้านบัว ๒ วงกับดอกประจำยามอยู่ข้างใต้ ได้เค้าว่าหมายว่า “วลัยกับอลงกร” แลกลับขึ้นไปดูรูปพระสถูปเห็นมีช่องคูอยู่ที่ฐานก็รู้ได้ว่าเขาหมายจะทำรูป “พระธาตุจอมเพชร์” บนยอดเขามหาสวรรค์ที่เมืองเพชร์บุรีเป็นเครื่องหมายนามกรมหลวงเพชรบุรี ก็ต้องชมว่าเขาช่างคิดเลือกจะหารูปสิ่งอื่นหมายให้เหมาะกว่าเห็นจะไม่มี

๑๐) หม่อมฉันได้อ่านลายพระหัตถ์ที่ประทานมาถึงหญิงพิลัยตามที่ทรงอนุญาต พบความที่ข้องใจถึงอยากทูลสนองมีอยู่ข้อ ๑ คือที่ว่าด้วยทวารบาล หม่อมฉันเห็นว่า รูปทวารบาลนั้นจะทำเป็นรูปมนุษย์ก็ดี อมนุษย์ก็ดี หรือสัตว์เดรฉานก็ดี ตำแหน่งที่ควรอยู่ข้างนอกเรือนทั้งนั้น ของโบราณเช่นรูปสิงห์สัตว์ยักษ์มารที่ทำเป็นทวารบาลในอินเดีย ในเมืองชวามลายู และเมืองจีน เขาก็ตั้งไว้ข้างนอกเรือนทั้งนั้น แต่ไทยเราเอาทวารบาลเข้าไว้ในเรือนบางแห่ง เช่นเขียนรูปยักษ์มารไว้หลังบานประตูโบสถ์วิหาร ตลอดจนถึงพระราชมนเทียร เช่นที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทและพระที่นั่งอมรินทร์ก็เป็นเช่นนั้น นึกว่าเดิมเห็นจะเขียนไว้ข้างนอกเหมือนอย่างวัดจีนยังเขียนอยู่ น่าจะเป็นเมื่อประสงค์จะทำประตูปิดทองลายรดน้ำ จึงเอารูปภาพทวารบาลเข้าไปเขียนข้างหลังบาน ก็กลายเป็นอย่าง ยายเฝ้าที่รักษาพระทวารเทวราชมเหศวรอยู่ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ