วันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๕ มีนาคม เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๙ เวลาเช้า ตามกำหนดเคยส่ง ไม่ช้าไปในสัปดาหะนี้

ทูลสนองลายพระหัตถ์

๑) พระพุทธรูป เทศนาธรรมจักร์องค์ที่ตรัสถึงนั้น เป็นพระพุทธรูปฝีมือช่างโยนกชาวคันธารราษฎร์ ห้างบอมเบเบอม่าเขาเสาะหาได้มาจากอินเดีย ให้หม่อมฉันนำถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อครั้งหาพระพุทธรูปต่างๆ ตั้งพระระเบียงวัดเบญจมบพิตร์ นอกจากนั้นเขาไว้พระพุทธรูปหล่อจากเมืองพม่ามาถวายด้วย ๒ องค์ ตั้งอยู่ที่พระระเบียง แต่พระเทศนาธรรมจักร์เป็นพระศิลาและขนาดเล็กไป จึงมิได้ตั้งไว้ที่วัดเบญจมบพิตร์

๒) รูปฝาลองประกอบโกศนั้น พิเคราะห์ดูเห็นว่าจะมีแบบบัญญัติมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้วเป็น ๓ ชั้น –

ก. ชั้นสูงสุดเป็นทรงมงกุฎ มีตัวอย่างเก่าก่อนเพื่อนคือลองประกอบโกศโถใบ ๑ ซึ่งมีเค้าเงื่อนในทางตำนาน ว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีสร้างสำหรับพระศพกรมพระเทพามาตย์ราชชนนี แล้วได้ทรงพระศพพระเจ้ากรุงธนบุรี ต่อมาเมื่อมีโกศอื่นขึ้นแล้ว ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานลองโกศโถใบนั้นไปประกอบโกศศพเจ้าพระยานครน้อย โดยนัยว่าเป็นราชบุตร์ของพระเจ้ากรุงธนบุรี ไปพลัดตกแตกยังมีรอยอยู่ ฝาลองประกอบโกศทรงมกุฎ ต่อจากลองโกศโถใบนั้นมาก็ถึงลองพระโกศไม้สิบสองซึ่งสร้างขึ้นทรงพระศพกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท แล้วถึงพระลองทองใหญ่

ข. ฝาลองประกอบโกศชั้นรองลงมาจากทรงมงกุฎทำเป็นทรงปราสาทตัวอย่างเก่าก่อนเพื่อน มีลองประกอบโกศแปดเหลี่ยม ก็น่าจะเป็นของสร้างครั้งกรุงธนบุรี สำหรับทรงพระศพเจ้านายชั้นสูง เพราะฉะนั้นจึงถ่ายแบบลองแปดเหลี่ยมนั้น มาสร้างลองพระโกศกุดั่นทรงพระศพสมเด็จพระพี่นาง ตั้งแต่ก่อนมีลองพระโกศแปดเหลี่ยมและลองพระโกศทองใหญ่

ค. ลองประกอบโกศชั้นต่ำฝาเป็นทรงปริก สำหรับศพขุนนางก็เป็นแบบมีมาแต่เดิม ล้วนมีเค้าสาวขึ้นไปได้ถึงกรุงศรีอยุธยาทั้งนั้น บัญญัติน่าจะมาเลือนไปด้วยพระราชทานเกียรติยศพิเศษ เช่นว่าทำศพสมเด็จเจ้าพระยาอย่างพระศพเจ้า และรุของเก่าเมื่อทำของใหม่ ดังเช่นรุลองประกอบโกศโถใบฝาทรงมงกุฎลงมาเป็นกับลองโกศโถสามัญ และทำปลีต่อยอดปริกฝาลองไม้สิบสองให้เป็นคู่กับลองไม้สิบสองอีกใบหนึ่ง ลงปลายก็ไปถือเอาแต่ตัวลองเรียกว่าอย่างไรเป็นหลัก

๓) เรื่องชั้นฉัตร์ซึ่งมีคำ “ท้วง” ว่าถ้าเอาเกณฑ์ที่มีชัยเป็นชั้นฉัตร์ไฉนจึงไม่มี ๖ ชั้น หรือ ๘ ชั้นนั้น หม่อมฉันอยากจะมีคำ “ติง” ตอบว่า จำนวนชั้นฉัตร์เป็นแต่บัญญัติเทียบชั้นยศ หรือว่าอีกอย่างหนึ่งยกย่องอานุภาพว่าถึงภูมิชั้นนั้นๆ พึงเห็นได้ด้วยชั้นฉัตร์ที่กำหนดจำนวนเป็นคู่ ดังฉัตร์ ๒ ชั้น ๔ ชั้น ๖ ชั้น ๘ ชั้น ๑๐ ชั้น หามีไม่

๔) ที่เรียกว่า “กฎีจีน” นั้น มีตัวกฎีจริงและเป็นของสำคัญในโบราณคดีด้วย หม่อมฉันก็เผอิญไปรู้เห็นโดยมิได้คิดคาด ครั้งหนึ่งหม่อมฉันรับเชิญไปช่วยงานหล่อระฆังใหญ่ที่วัดกัลยาณมิตร์ กระบวนงานออกจะยุ่งต้องคอยอยู่นานกว่าชั่วโมง หม่อมฉันจึงไปเที่ยวเดินดูวัดกัลยาณมิตร์ไปถึงเขตวัดทางด้านใต้ที่ริมคลองกฎีจีนแลดูข้ามฟากคลองไป เห็นมีศาลเจ้าจีนขนาดใหญ่อยู่ทางฝั่งโน้น ห่างแม่น้ำลับเข้าไปสัก ๒ เส้นยังบริบูรณ์ดีดูเหมือนจะยังมีผู้คนนับถือ หม่อมฉันถามคนที่ไปด้วยว่านั่นศาลเจ้าอะไร เขาบอกว่าศาลเจ้ากฎีจีน หม่อมฉันสังเกตดูเห็นศาลเจ้านั้นสร้างหันหน้าแปรไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่หันหน้าตรงลงแม่น้ำหรือทางคลองกฎีจีน ได้คิดก็ “หูผึ่ง” ด้วยรู้ได้ว่าศาลเจ้านั้นพวกจีนคงสร้างแต่เมื่อที่ตรงนั้นเป็นหัวแหลมแม่น้ำเลี้ยว เหมือนชอบสร้างในที่อื่นๆ เช่นเดียวกัน คือสร้างเมื่อสายแม่น้ำเจ้าพระยายังไปทางคลองบางกอกใหญ่ เวลาที่ตรงวัดกัลยาณมิตร์ยังเป็นแม่น้ำ ในสมัยเมื่อแรกหรือก่อนขุดคลองลัดบางกอกครั้งรัชกาลสมเด็จพระชัยราชาธิราช คลองกฎีจีนเป็นแนวฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาในสมัยนั้น แต่ตรงที่สร้างวัดกัลยาณมิตร์เห็นจะตื้นเขินจนเกิดคลองกฎีจีนมาแต่ในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีตั้งเมืองธนฯ เป็นราชธานี รวบรวมผู้คนที่แตกฉานกระจัดกระจายให้มาอยู่ที่กรุงธนฯ จึงโปรดให้พวกจีนชาวพระนครศรีอยุธยามาตั้งบ้านเรือนอยู่ข้างเหนือคลองกฎีจีนตรงที่วัดกัลยาณมิตร์ เจ้าสัวมันบิดาเจ้าพระยานิกรบดินทร์มาอยู่ที่นั่น และเจ้าพระยานิกรบดินทร์เกิดที่นั่น จึงเป็นเหตุที่สร้างวัดกัลยาณมิตร์เมื่อรัชกาลที่ ๓ ท่านก๋งของเราก็มาอยู่ที่นั่น แต่อยู่แพจอดตรงที่ทูลกระหม่อมทรงสร้างหอไตร วัดกัลยาณมิตร์ ส่วนฝรั่งเชื้อสายโปรตุเกสที่เคยอยู่ ณ พระนครศรีอยุธยาก็ให้รวมกันตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำใต้กฎีจีนต่อลงไป จึงเรียกกันว่าฝรั่งกฎีจีน มีจีนอีกพวก ๑ ดูเหมือนจะเข้ามาจากเมืองเขมร เพราะหัวหน้าเป็นพระยาราชาเศรษฐี โปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำทางฝั่งตะวันออก ตรงที่สร้างพระบรมมหาราชวังเดี๋ยวนี้ แล้วย้ายลงไปอยู่สำเพ็งเมื่อสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ พวกมอญเก่าครั้งกรุงศรีอยุธยา เห็นจะตั้งบ้านเรือนอยู่ริมคลองคูพระนครทางฝั่งตะวันออก สะพานถนนเจริญกรุงที่มุมสวนสราญรมย์จึงได้ชื่อว่าสะพานมอญ บ้านลาวก็ตั้งต่อกันไปทางฝ่ายเหนือ บ้านญวนอยู่ราวสี่แยกถนนพาหุรัดกับถนนตรีเพชร แต่พวกแขกเจ้าเซ็นมีน้อยจึงโปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ทางข้างเหนือพระราชวังไปจนถึงคลองมอญ

๕) ที่ปลูกบัวไม่ขึ้นในสระที่ตำหนักปลายเนินนั้น คงเพราะน้ำเค็มนั่นเอง

๖) หญิงพูน เธอชอบเรื่องที่เราเจรจากันว่าด้วยสิ่งของต่างๆ ที่บนตำหนักวังวรดิศ เธอว่าเธอรู้จักสิ่งของเหล่านั้นแต่ยังมิใคร่รู้เรื่องและชอบฟังพระวิจารณ์ของท่านด้วย สัปดาหะนี้หม่อมฉันนึกขึ้นได้อีกสิ่ง ๑ คือพานทองขาวที่อยู่ในตู้ห้องรับแขกชั้นบน พานนั้นพระองค์หญิงวงศ์จันทร์ท่านประทานหม่อมฉัน ว่าเป็นพานพระศรีของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สำหรับทรงใช้ในวันอุโบสถ แต่ดูเล็กอยู่สักหน่อย หรือจะเป็นพานหมากเสวยวันอุโบสถ แต่เมื่อยังเป็นกรม แต่ดูก็จะเป็นความจริงเพราะเครื่องทองขาว ไม่มีที่ใช้เวลาอื่นนอกจากวันอุโบสถ เครื่องราชูประโภคทองขาววังหลวงสำหรับวันอุโบสถก็มี ทูลกระหม่อมทรงเปลี่ยนเสียเป็นเครื่องนาค เห็นจะเป็นด้วยทรงพระราชดำริว่ามิได้ทรงสมาทานอุโบสถศีล เครื่องราชูประโภคทองขาวองค์เดิมหม่อมฉันนึกว่าเคยเห็นใช้เป็นเครื่องยศของกรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ทูลกระหม่อมเห็นจะเลื่อนพระราชทานไปดอกกระมัง ท่านทรงจำได้หรือไม่

๗) ยังมีของอีกสิ่ง ๑ คือขันเชิงเงินที่ตั้งอยู่หน้าห้องพระก็มีเรื่องเดิมเมื่อเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ เป็นราชทูตไปประเทศอังกฤษในรัชกาลที่ ๕ ให้ทำขันเชิงใบนั้นที่กรุงลอนดอนว่าราคากว่า ๒๐๐ ปอนด์ แล้วเอามาให้เป็นขันข้าวบาตร์อยู่นาน ถึงเมื่อสมัยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โปรดเสด็จไปประพาสเมืองเพชรบุรีในตอนปลายรัชกาล พระยาสุรพันธุ์พิสุทธ์ (เทียร บุนนาค) เป็นลูกเขยเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ ทำพลับพลารับเสด็จที่บ้านปืน เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ จึงให้เอาขันเชิงนั้นไปใช้เป็นขันน้ำสรง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทอดพระเนตร์เห็นก็โปรด ต่อมาในหมู่นั้นทรงพระราชดำริจะให้ทำขันเชิงถมถวายพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านายในยุโรปพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ตรัสสั่งให้หม่อมฉันเรียกเอาขันเชิงเงินของเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ ที่พระยาสุรพันธุ์ฯ เอาไปรับเสด็จ มาให้ช่างดูเป็นตัวอย่างทำรูปและขนาดขันเชิงถมนั้น หม่อมฉันก็เรียกเอามาตามรับสั่ง ตัวหม่อมฉันได้เห็นเป็นครั้งแรกเมื่อเรียกมานั้น ครั้นเสร็จกิจช่างเขาเอาขันเชิงมาส่งหม่อมฉันๆก็ให้เอาไปส่งต่อเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ ขันเชิงนั้นอยู่กับท่านต่อมาจนถึงอสัญกรรมในรัชกาลที่ ๖ ธิดาท่านคน ๑ ได้รับเป็นมรดกรักษามาจนถึง พ.ศ. ๒๔๖๕ มาบอกขายแก่แม่ และเล่าเรื่องที่เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ สร้างขันเชิงนั้นให้ทราบ แล้วบอกความปรารภว่าจะเอาไว้กับตัวต่อไปก็ได้ แต่รักษาไว้ไม่เกื้อกูลการเลี้ยงชีพเมื่อเวลาอัตคัด ครั้นจะขายไปเป็นสาธารณเหมือนของสิ่งอื่น ขันเชิงใบนั้นเป็นของรักของเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ เกรงผู้ซื้อจะเอาไปยุบเสีย จึงอยากจะให้ขันเชิงใบนั้นอยู่กับหม่อมฉันเพราะเป็นเจ้านาย และเคยชอบกับเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ คงจะรักษาไว้อย่างเดิม แม่จึงรับซื้อไว้เป็นราคา ๙๐๐ บาท แล้วให้ทำขวัญหม่อมฉันเมื่องานฉลองอายุครบ ๖๐ ปี ที่ตัวขันเชิงนั้นเดิมเขาทำที่ว่างไว้สำหรับจารึกด้าน ๑ เมื่อแม่จะให้เป็นของขวัญได้ทูลความกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ แต่งคำฉันท์จารึกไว้ด้วย.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ