วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ต่อไปนี้

สนองลายพระหัตถ์

๑) ให้เหนื่อยหน่ายในการการพูดถึงราชาศัพท์ เพราะได้กราบทูลมามากแล้ว แต่เมื่ออ่านลายพระหัตถ์มีแสร้งตรัสตั้งชื่อ “หิริศัพท์” ทำให้ต้องกราบทูลต่อไปอีก อันคำในราชาศัพท์นั้นก็เป็น “จับฉ่าย” ไม่ใช่มีแต่คำกราบทูลเจ้าอย่างเดียว เป็นคำที่ตั้งใจจะพูดให้ไพเราะมาเข้าทาง “หิริศัพท์” นั้นมีมาก ความตั้งใจก็จะเรียกอะไรของเจ้าให้ผิดไปจากคนสามัญเท่านั้น แม้คำสามัญก็ยังเรียกลักลั่นอีกเล่า เช่น “เท้า” กับ “ตีน” ลางทีก็เอาคำเขมรมาใช้ว่า “เชิง” นั่นก็เห็นได้ว่าจะพูดให้ไพเราะเข้าเรื่อง “หิริศัพท์”

อีกเรื่องหนึ่งนึกไปก็ถามตัวเองว่าจะโปรดอย่างไร ไปเมืองภูเก็ตไปได้ยินเรื่องคุณมนตรีกับนายศรีแก้วเข้าใจกันผิดหลายเรื่อง เพราะสำนวนชาวบางกอกกับชาวปักษ์ใต้ไม่เหมือนกันเท่านั้นเอง นายศรีแก้วเป็นกรมการคนหนึ่ง ผู้ใหญ่จัดให้มาอยู่กับคุณมนตรี โดยประสงค์ว่าท่านจะต้องการอะไรก็จะได้ใช้นายศรีแก้ว เพราะคนของท่านไม่รู้จักเบาะแสอะไรทางปักษ์ใต้ วันหนึ่งคุณมนตรีจะแกงไก่ จึงบอกนายศรีแก้วว่า “อ้ายศรีแก้ว ไปหามะพร้าวมาใบไป๊” นายศรีแก้วรับว่า “พ้ม” แล้วไปลากเอาทางมะพร้าวมาให้คุณมนตรี คุณมนตรีก็ดุเอานายศรีแก้ว ว่าจะต้องการลูกมะพร้าววิ่งไปเอาใบมาให้ ข้างนายศรีแก้วก็บ่นเอาคุณมนตรี ว่าจะเอาใบสิกลับจะเขาลูก ถ้าตามสำนวนชาวปักษ์ใต้จะเอาลูกก็ต้องพูดว่าหน่วย แต่ที่จริงหน่วยก็หมายความว่าหนึ่งเท่านั้น จะเป็นใบหรือลูกก็ได้เท่ากัน ตามราชาศัพท์ (หรือจะว่า “หิริศัพท์” ก็ได้) พูดว่า “ลูก” นั้นห้ามแต่จะพูด เมื่อได้ลูกมะพร้าวมาเรียบร้อยแล้วคุณมนตรีก็สั่งอีกว่า “อ้ายศรีแก้ว ไปหากระต่ายมาตัวไป๊” ทีนี้เล่นเอานายศรีแก้วหมดปัญญา เพราะกระต่ายไม่มีทางปักษ์ใต้ แต่แกก็คิดควรอยู่ที่จะไปหาตามบ้าน เผื่อใครเขาจะจับกระต่ายมาเลี้ยงไว้บ้าง แต่แกก็ไม่มีความหวังใจอยู่เลยจึงบ่นไปตลอดทาง ก็พอดีไปพบหญิงมลายูคนหนึ่งซึ่งเขาเคยมาอยู่กรุงเทพ ฯ เขาซักว่าท่านจะต้องการกระต่ายนั้นท่านทำอะไรอยู่ นายศรีแก้วก็บอกว่าท่านจะแกงไก่ หญิงมลายูคนนั้นก็ว่า “อา ไม่ใช่ร้อก เล่กคู้ด เล่กคู้ด” นายศรีแก้วก็เข้าใจ เอาเหล็กขูดมะพร้าวมาให้คุณมนตรีก็เป็นที่เรียบร้อย แล้วยังได้ทราบต่อไปว่าทางพายัพเขาเรียกว่าว่า “แมว” อยู่ข้างจะเหลือรับ แต่เพราะเขาเห็นเป็นเช่นนั้น นี่เป็นแต่เรื่องตัวอย่าง เวลานี้ท่านผู้ใหญ่ก็คิดจะให้การพูดเป็นอย่างเดียวเหมือนกันหมดทั่วทุกแห่งแล้ว

๒) เรื่องชื่อคนนั้นอย่างเก่าก็ชื่อ “มีมาสาสี” จะต้องซ้ำกันอยู่เป็นธรรมดา เมื่อซ้ำกันแล้วก็จะต้องเพิ่มหน้าหรือท้ายหรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะสังเกตให้รู้ได้ว่าคนละคน

๓) คำว่า “กระทง” ก็หมายความว่าเป็นของเล็กอยู่แล้ว คำว่า “กระทงใหญ่” นั้นเสียอีกเป็นชื่อเทียบเอากระทงเล็ก คิดว่าจะมาทีหลังการบูชาพระบาท นมทานทีนั้นมาทีหลังแน่ คิดประจบเอาการลอยกระทงนั่นเอง

๔) วังกรมเทวาอยู่ใต้ลงมาถูกอย่างที่ตรัส วังหลังคงไม่มีสิ่งก่อสร้างอะไรที่เป็นล่ำเป็นสันนอกจากตำหนักไม้ กำแพงกรุงธนคงจะเพิ่งรื้อ แต่ก็ไม่รื้อก่อนสร้างวังหลัง

๕) ที่ชายใหม่เบื่อวิทยุนั้นไม่ประหลาด เป็นธรรมดา ใจมนุษย์ย่อมกลับไปกลับมา ประเดี๋ยวชอบประเดี๋ยวไม่ชอบ เวลาไม่ชอบวิทยุก็ไม่เห็นจะยากอะไร ปิดเครื่องรับเสียเท่านั้นก็แล้วกัน ผู้มีหน้าที่ส่งข่าวเขาก็คอยสังเกตอยู่เหมือนกันว่าชนหมู่มากจะชอบอะไร แม้ชอบอะไรเช่นชอบฟังโทรเลขเป็นต้น เขาก็เอาช่วยยัดเข้าให้ทางโทรเลข เล่นเอาฟั่นเฝือจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ลังเล แต่ทั้งนี้ก็เป็นธรรมดาอีกเหมือนกัน พูดถึงสังเกตว่าใครมีความคิดดี แม้สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส เกล้ากระหม่อมก็เคยเห็นเป็นขัน แต่ไม่ใช่ประมาทว่าท่านทรงพระดำริไม่ดี ขันที่คำเช่น “อภิวาท” ซึ่งเดี๋ยวนี้เขาถือกันว่าเป็นไหว้กราบ แต่ท่านทรงสอบอรรถกถาเห็นว่าไม่เป็นโอกาสอันจะพึงไหว้กราบ ท่านก็จนพระปัญญาไม่รู้ว่าเขาทำกิริยาอย่างไรกัน ก็ควรแล้วที่จะไม่เข้าพระทัย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านว่า ถ้าจะว่าตามศัพท์ก็เป็นไปในทางว่าพูด ตามที่ว่านี้ก็ไปเข้ารอบที่มีในกัณฑ์เทศนมหาพน ว่า “กจฺจิ นุ โภโต กุสลํ กจฺจิ โภโต อนามยํ” เป็นต้น เป็นไปในความถามถึงสุขทุกข์ แต่ที่แท้จะเป็นอย่างไรเราก็รู้ไม่ได้

๖) เปรียญลูกศิษย์ท่านเจ้าเฮงคนที่ตรัสถึงนั้น เข้าใจว่าคือ นายกี อยู่โพธิ์ คนนั้นเกล้ากระหม่อมนับถือมาก ว่าเป็นคนได้อ่านหนังสือมาก

๗) คำว่า “ไทย” กับ “สยาม” เกล้ากระหม่อมก็ไม่รู้สึกว่าผิดกันกี่มากน้อยแยกออกได้แต่ว่า “ไทย” เป็นคำพื้นเมือง “สยาม” เป็นคำมาแต่ต่างประเทศ กับรู้สึกอีกว่า “เทวดารักษากัมพูฉัตร” (กัมพุชฉัตร) นั้น เป็นอันเดียวกับ “พระสยามเทวาธิราช”

๘) อนุโมทนาในพระกุศลราศี อันได้ทรงทำการสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันสวรรคตนั้นเป็นอันมาก ทางเกล้ากระหม่อมได้ทำสนองพระเดชพระคุณไปอย่างไรก็ได้กราบทูลมาแล้วเหมือนกัน

องค์หญิงประเวศเธอมาประทับอยู่ใกล้กับตำหนักซินนามอนฮอลนั้นทราบแล้ว นึกรำคาญแต่กรมหลวงสิงห์ที่เธอประชวรไม่รู้หาย เธอก็พยายามไปไหนต่อไหนอยู่เหมือนกัน แต่ก็ต้องห้ามไป พอใจที่เธอลงมาอยู่ตำหนักชั้นล่าง ไม่พยายามที่จะเหาะขึ้นไปชั้นบน กระไดตำหนักของเธอนั้นเต็มที มีเป็นพัดด้ามจิ้วอยู่ทั้งบนทั้งล่าง ขึ้นลงลำบาก

๙) ในการที่พระมหาทองสุกเธอไปเอาพระมหานิกายมาผสมรับกฐินนั้น เกล้ากระหม่อมเห็นว่าดี จะไปมัว “โกร้” ถือเบี้ยขาวเบี้ยแดงให้ขัดศรัทธาของทายกอยู่ทำไม กฐินก็กลายเป็นไหนๆ มาแล้ว จะจัดรับเขาสะดวกได้อย่างไรก็ทำอย่างนั้นเป็นดีแล้ว

กราบทูลรายงาน

๑๐) เมื่อวันที่ ๔ เดือนนี้ หญิงแก้ว หญิงนิด หญิงกุมารี หลานแมว พากันไปหา ๓ คนลาจะออกมาเฝ้าฝ่าพระบาทที่ปีนัง เว้นแต่หญิงกุมารี ไปบ้านปลายเนินสำหรับความสุขเท่านั้น ที่ไปลา ๓ คนนั้นดีอย่างยิ่ง หวังว่าป่านนี้คงออกมาถึงเรียบร้อยแล้ว

๑๑) เมื่อวันที่ ๘ เดือนนี้ ได้ทำบุญถวายสมเด็จพระปกเกล้า ด้วยเป็นวันประสูติ เพื่อสนองพระเดชพระคุณโดยกตเวที เวลาเพลเลี้ยงพระวัดราชบพิธ มีพระธรรมปาโมกข์เป็นประธาน ท่านบอกว่าถนนริมคลองคูเมืองข้างสุสานเขาขยายแต่ไม่กินถึงอนุสาวรีย์ เป็นแต่กินถนนข้างกำแพงเหลือนิดเดียว จึงหลับตาแนะนำท่านว่ารื้อทำสนามเลิกถนนข้างกำแพงเสีย ท่านถามถึงชื่อพระเจดีย์ทอง ๔ องค์ เพราะท่านไม่ทราบชื่อ ก็พอดีด้วยได้ตรัสบอกไว้ จะคัดส่งไปให้ท่านทราบ เวลาค่ำมีเทศน์ถวายกัณฑ์หนึ่ง พระครูวิจิตรธรรมภาณ วัดราชบพิธ แสดงขอถวายพระกุศล.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. คือ นายธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากร

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ