วันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๙ เมษายน ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

เมื่อวันพุธ เมษายน วันที่ ๒๓ ได้รับลายพระหัตถ์เวรลงวันที่ ๑๔ เมษายน ปะปิดสองด้าน จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์ฉบับนั้นต่อไปนี้

สนองลายพระหัตถ์

๑. การแต่งตัวนั้นแต่งโดยประสงค์ต่างๆ กัน แต่งเพื่อให้สวยก็มี เพื่อปกปิดความอายก็มี เพื่อต่อสู้อากาศก็มี เพื่อข่มขู่ศัตรูหรือเพื่อหนีก็มี และอื่นอีก ตามที่ทรงพรรณนามานั้นถูกทั้งนั้น แต่คำคนทุกวันนี้เขาว่า “เป็นนักปราชญ์มากเกินไป” ก็จริงของเขา เพราะคนเราทุกวันนี้ไม่ได้แต่งตัวโดยประสงค์เช่นว่า แต่งโดยจะให้เหมือนกับเพื่อนกัน ถ้าไม่เหมือนเพื่อนก็เป็นบ้า ไม่มีใครทนเป็นบ้าได้ นึกถึงพระยาดำรงแพทยาคุณแกไปพูดเรื่องบ้าที่สามัคยาจารย์ แกว่า “บ้านั้นเป็นง่ายที่สุด เอาแต่เพียงว่ามาฟังปาฐกถาวันนี้ ใครๆ เขากลับบ้านกันหมดแล้ว ยังไม่กลับคนเดียวเท่านั้นก็เป็นบ้า” ฟังให้นึกขำในใจเป็นที่สุด

จะกราบทูลให้เป็นหลักไว้ทางนักปราชญ์ในที่นี้ ว่าเสื้อกางเกงนั้นเป็นของเกิดขึ้นภายหลังเมื่อมนุษย์รู้การตัดเย็บแล้ว ก่อนขึ้นไปจะต้องเป็นผ้าผืนคิดทำขึ้นเทียมหนัง ในการใช้ก็ต้องห่มต้องพัน

มงกุฎของเรา เดิมทีจะมีรูปเหมือนเทริด แล้วเปลี่ยนไปทำรูปอย่างลังกา ทีจะเปลี่ยนเมื่อได้ท่านสวามีชาวลังกาเข้ามานำพระไทย แล้วก็เปลี่ยนมงกุฎไปอย่างลังกาด้วย เป็นการ “กันเอาอัน” เว้นไม่ได้

คำว่า “จร” หรือ “กรรเจียก” อะไรนั้น จะเป็นภาษาอะไรก็ไม่ทราบ แต่ไขออกว่ากระหนกเบื้องบนนั้นเป็นดอกไม้ทัด ดอกยาวๆ ซึ่งแนบอยู่หลังหูข้างปลายเป็นกระหนกนั้นคือ อุบะ เครื่องต้นในมนเทียรบาลมีกล่าวแต่ “มหากุณฑล” ไม่มีกล่าวถึง “จร” ถึง “กรรเจียก” กลัวคำว่า “จร” จะเป็นอันเดียวกับ “กุณฑล” นั่นเอง “กุณฑล” เป็นคำมคธ “จร” เป็นคำไทย ทั้งนี้นึกถึงฝ่าพระบาทเคยทรงพระเมตตาเอา “กะจร” มาประทานฝาก รูปร่างเก้งก้างพิลึกอยู่ แต่เห็นได้ว่าถ่ายมาจาก “กุณฑล” อย่างที่เขียนกัน เป็นลูกปะหล่ำมีพริกต่อท้ายนั้นเอง จะอย่างไรแน่ก็ยังจับเอาส่ำไม่ได้

ตาเฟโรจีแกสงสัย ว่าทำไมพระพุทธรูปตุ้มหูจึ่งยาวนัก มีรูด้วยและรูก็ยาวเหมือนกัน ในการจะอธิบายให้แกเข้าใจนั้นยากไม่ใช่น้อย ต้องเอารูปเจ้าลาวเก่าๆ ให้แกดู ว่าหูยานเพราะเขาใส่ต่างหูกัน ต่างหูที่ใส่กันนั้นก็ชอบกล ใช้ทองแผ่เป็นแผ่นม้วนยัดอย่างเป็นลูกปะหล่ำ ไม่เคยพบใครใช้ที่ไหนเลยนอกจากรูปเขียน

มงกุฎ กรอบหน้าหรือกระบังหน้า มาลา หมวก ตุ้มปี่ แลอะไรเหล่านั้น เกล้ากระหม่อมคิดว่าเป็นอันเดียวกันหมด เดิมมาแต่สวมพวงดอกไม้ หากดอกไม้สดมันเหี่ยวเร็ว จึ่งเอาอื่นทำแทน มีทองเป็นต้น ทีแรกก็เป็นดอกไม้ แต่ทีหลังกลายเป็นดุ้นแสมอะไรไปก็ได้ แล้วก็โพกผ้าด้วย สวมพวงมาลาด้วย แล้วก็เย็บผ้าโพกให้สวมได้ไม่ต้องโพก (ดูลอมพอก) กลายเป็นหมวก “พระตุ้มปี่” ก็มาแต่ “โตปี่” คำนั้นก็มาแต่ “สตูป” อีกต่อหนึ่งด้วย ยุ่งเก๋ หมวกกลีบลำดวนก็เป็นหมวกทหาร เขาทำด้วยเหล็ก ตรงกับหมวกเหล็กเวลานี้ หรือเฮลเม็ต ที่เราเรียกว่าหมวกทรงประพาสซึ่งมีอะไรรุ่มร่ามต่อลงมาก็เป็นของผสม คือร่างแหเหล็กเพื่อกันอาวุธ จะเป็นอะไรก็วนเวียนอยู่เหล่านั้นเอง แล้วก็ฉวยโน่นแทนนี่ ฉวยนี่แทนนั่น ส่ายไปไม่หยุดหย่อน แล้วแต่จะฉวยอะไรได้เหมาะ เหมือนหนึ่งพระมาลาเส้าสูงก็เคยเห็นรูปชาวเกาหลีเขาใช้กัน พระมาลาเส้าสะเทินก็ว่าเป็นหมวกที่ฝรั่งครั้งหลุยส์ที่ ๑๔ แล้วทั้งสองอย่างก็เอามาประดับดอกไม้ทองเข้า ที่สุดก็รู้้แน่ไม่ได้ว่าอะไรเป็นอะไร

มีคนตั้งปัญหาถามเกล้ากระหม่อมว่า “ไทยแต่งตัวอย่างไร” ดูไม่เป็นปัญหาซึ่งเกล้ากระหม่อมจะพึงตอบได้ แต่ก็ได้ตอบไปว่า “เห็นจะเป็นยุคเป็นคราว” คิดว่าไม่ผิด

๒. เคยเห็นเขาจดแม่น้ำโขงตอนล่างในแผนที่ไว้เป็นหนังสือขอมว่า “ทลเล” เห็นจะอ่านว่า “ตอลเล” เข้าใจว่าตรงกับคำ “ทะเล” เรานี่เอง หมายความว่ากว้าง แม่น้ำที่ตรงเมืองพนมเปญเรียกว่า “แม่น้ำปาสัก” นั้นไม่เคยได้ยิน เพราะไปที่นั่นประเดี๋ยวเดียว ทั้งแผนที่ก็ไม่เคยเห็นเสียด้วย

๓. ตามที่ตรัสสั่งให้คัดหนังสือตัวทองในห้องพระที่ตำหนักวังวรดิศส่งมาถวายให้หมดนั้น สนองพระประสงค์ไม่ได้ เพราะเกล้ากระหม่อมออกไปเสียจากตำหนักวังวรดิศแต่วันที่ ๑๒ เมษายนแล้ว ชายดิศกับหญิงหลุยเธอก็ไปส่งจนถึงบ้านปลายเนิน หลานๆ มาส่งกันแต่เพียงที่วังก็หลายคน ให้หญิงอี่อยู่เป็นเพื่อนชายดิศอีกคืนหนึ่ง รุ่งขึ้นเธอก็พาไปส่งที่บ้านปลายเนินพร้อมด้วยหญิงหลุยกับลูก ๒ คนด้วย ชายคนน้องเกล้ากระหม่อมเรียกว่า “ถัด” เพราะแกไปที่บ้านปลายเนินแกต้องการตุ๊กตากลไขวิ่ง ถัดตามอย่างคล่องแคล่วรวดเร็ว แต่เดี๋ยวนี้เดินได้เตาะแตะแล้วออกอิจฉา ทวีเรียกชายดิศว่า “ลุง” พยางค์เดียวเท่านั้น เกล้ากระหม่อมต้องใช้ถึงสองพยางค์ แต่ยังดีกว่าหญิงอาม ต้องใช้ถึงสี่พยางค์ ในการที่ออกมาจากวังวรดิศก็ไม่ใช่อื่นไกล จะไปปฏิบัติการทำบุญวันเกิดที่บ้านปลายเนินเท่านั้นเอง แต่เป็นการใหญ่ด้วยอยู่ที่บ้านปลายเนินกับอยู่ที่วังวรดิศประพฤติไม่เหมือนกัน กลับถึงบ้านปลายเนินอะไรเคยทำอย่างไรต้องรำลึกชาติกันเสียย่ำแย่ ทำผิดไปเสียมาก แต่ที่จริงก็ไม่ควรเป็นมากถึงเท่านั้น หากความจำเป็นซาลงเท่านั้นเอง

๔. หม่อมลำดวนแกจะออกมาปีนังแกก็ไปลา หลานๆ พากันไปหัวหินหลายคน หลานวิสาขาก็ลาว่าจะไปกับป้าแก้ว แต่หญิงแก้วกลับมาแล้วก็ไม่เห็นมาด้วย ทีจะอยู่กับพี่ป้าน้าอาคนหนึ่งคนใดต่อไป เพื่อสนุกสบายจะอย่างไรก็ได้ทั้งนั้น

จะกราบทูลถึงชื่อหลานวิสาขา ในวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อน ๒ ยาม เขามาตามแม่โตบอกว่าหญิงอี่เจ็บท้อง เกล้ากระหม่อมจึ่งลั่นปากว่า ถ้าออกมาวันนี้ ๒ ยามล่วงแล้ว จะให้ชื่อวิสาขา แล้วแกก็ออกมาจริงๆ เกล้ากระหม่อมก็ให้ชื่ออย่างนั้นจริงๆ น่าประหลาดที่วังวรดิศมีอากาศดีด้วยไม่ได้หวังเลย ร้อนนั้นก็ร้อนเป็นธรรมดา หน้าร้อนจะไปเอาความเย็นมาแต่ไหน ที่ประหลาดใจนั้นด้วยนึกว่าจะร้อนมากเพราะตั้งอยู่ในที่เบียดเสียด แต่ก็ไม่สู้กระไร กลับเย็นกว่าที่บ้านปลายเนินไปเสียอีก คิดได้ว่าเพราะเป็นที่ทุ่ง เกล้ากระหม่อมกำลังหาฉลองพระองค์พระกรน้อย (เสื้อกั๊ก) ใส่ ทำไว้บางๆ มี ได้มาแล้วยังหาสนับเพลาพระชงฆ์น้อย (กางเกงขาก๊วย) ต่อไปอีก มีเหมือนกันหาได้แล้ว

เมื่อวันที่ ๒๕ ชายใหม่ก็มาเยี่ยมที่บ้านปลายเนิน บอกว่าที่วังเงียบเหงาเต็มที

ข่าว

๕. เมื่อวันที่ ๒๒ ได้รับหมายพระราชวังฉบับ ๑ บอกจะมีการยกยอดฉัตรพระเจดีย์ที่วัดศรีมหาธาตุ ในวันที่ ๒๕ เมษายน เวลา ๑๗.๓๒ น. ออกจะทึ่ง แต่นึกว่าไปดูทีหลังก็ได้

๖. ในวันที่ ๒๒ นั้นเอง ไปเผาศพแม่เขียน (เจ้าจอมมารดา) ที่วัดไตรมิตร พบเจ้าพระยาธรรมาที่นั่น บอกว่าได้ไปดูวัดศรีมหาธาตุ พระเจดีย์นั้นไม่เหมือนกับที่เคยเห็นมาที่ไหนๆ หมด บอกรูปว่าซ้อนกันเป็นชั้นๆ เกล้ากระหม่อมก็เดาเอาว่าทีจะถ่ายอย่างพระธาตุพนมมาทำ หญิงจงเคยบอกว่าได้แผนผังวัดนั้นมาแต่ได้ส่งถวายฝ่าพระบาทเสียแล้ว คิดว่าแผนผังและรูปตั้งทั้งหมด อาจหาได้ที่กรมศิลปากร

มีข่าวที่จะกราบทูลเรื่องเผาศพที่วัดไตรมิตรต่อไปได้อีก ด้วยเหตุพาดพิงแก่การเผาศพแม่เขียนที่นั่น ว่าจะเผาให้เป็นอังคารไปหมดอย่างฝรั่งก็ได้ หรือจะให้เป็นกระดูกเก็บกันอย่างไทยก็ได้ ด้วยวิธีดับไฟให้ช้าและเร็ว

๗. เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน สำนักพระราชวังส่งหมายมาให้ ๒ ฉบับ คือ (๑) การพระราชพิธีพืชมงคล ทำที่ท้องสนามหลวง กับ (๒) การพระราชพิธีวิสาขบูชา ทำที่ข้างหน้าสองวัน ข้างในวันหนึ่ง มีใบพิมพ์หมายกำหนดการส่งมาด้วยอย่างละ ๒ ฉบับ ได้แบ่งส่งมาถวายเพื่อทราบฝ่าพระบาทอย่างละฉบับในคราวนี้ด้วยแล้ว พิธีพืชมงคลก็คือแรกนานั้นเอง เว้นแต่เปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น

๘. ได้เห็นข่าวในหนังสือพิมพ์บางกอกไตม์ วันที่ ๒๖ เมษายน ลงว่า พระเจ้ามณีวงศ์มหากษัตริย์เมืองเขมร สุรคตเสียแล้วแต่วันที่ ๒๔ เมษายน แม้ไม่รู้จักกับเกล้ากระหม่อมเช่นกับฝ่าพระบาทก็ทำใจให้วังเวงมาก ใครจะเป็นเจ้าเมืองเขมรต่อไปหรือเลิกก็ยังไม่ทราบ

วันที่เห็นหนังสือพิมพ์เป็นวันเสาร์ ครั้นถึงวันจันทร์เขาลงอีก ว่าพระเจ้าศรีอนุจะสืบราชสมบัติต่อไป เจ้าองค์นั้นว่าเป็นเป็นลูกพระเจ้ามณีวงศ์ ทำให้เบาใจไปถนัดที่เขาไม่เลิก

สนองลายพระหัตถ์อีกฉบับหนึ่ง

๙. เป็นการประหลาด ที่ได้กราบทูลสนองลายพระหัตถ์เวรซ้อนกันถึง ๒ ฉบับ ในหนังสือฉบับเดียวกันนี้ เพราะลายพระหัตถ์ฉบับหลังซึ่งลงวันที่ ๒๑ เมษายน นั้น เข้าถึงกรุงเทพฯ ในวันเสาร์ก็ได้รับในวันนั้น ไม่ล่าช้าไปเลย พิจารณาเห็นมีปะปิดแต่ด้านเดียว ทำมาแต่ปีนังก็เป็นอันเข้าใจได้ว่าในกรุงเลิกตรวจ จึงได้รับเร็วขึ้น

๑๐. เรื่องธรรมจักร ตามที่ทรงพระดำริก็ถูกเท่านั้น การเอาอย่างย่อมมีมานานแล้ว ทางที่กราบทูลก็เป็นคิดเอาความสมควรจะทำในเวลานี้เป็นที่ตั้งเท่านั้น

อ่อนใจเต็มที ในเรื่องเลขยันต์เวทมนต์ดลคาถา เวลานี้ก็มีคนนับถือกันอยู่มากด้วย ถ้าจะแยกออกแล้ว เลขยันต์เวทมนต์ดลคาถานั้นก็เป็นทางศาสนาพราหมณ์ ไม่เกี่ยวแก่ทางพระพุทธศาสนาเลย แต่ก็แยกกันออกไม่ได้

เรื่องจารึกยันต์ที่ฐานพระชัยนั้น เป็นแต่ได้ทราบว่ามียันต์ซึ่งสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงรังเกียจ แต่ไม่ทราบว่าเป็นยันต์ไหน ในการทำพระชัยรัชกาลที่ ๗ ก็ไม่ใช่หน้าที่เกล้ากระหม่อมทำ เป็นแต่รับปากให้ดูแลเท่านั้นเอง ยันต์อริยสัจจนั้น คือ “ตโยธภาณา” พระเถระรู้กันมากแล้ว คล้ายกับที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ทำแผ่นทองแดงส่งมาถวายฝ่าพระบาท ยันต์อีกอันหนึ่งนั้นยังไม่ทราบ ได้ถามไปที่ท่านเจ้าเผี่อน ท่านก็ไม่ทราบ แต่ท่านจับได้ว่าเป็นกลอักษร จะอ่านถอยหน้าถอยหลังหรือขึ้นลงอย่างไรก็เป็นความ มาได้เรื่องที่ท่านเจ้านาค เพราะท่านมีตำรา เข้าตำราของท่าน ทีหลังกรมพระจันทบุรีมาฉวยเอาไปให้มหาทวี (คฤหัสถ์) แปล ได้ความว่าเป็นสรรเสริญพุทธคุณ ธัมมคุณ สังฆคุณ แต่ความมัวซัวเต็มที เพราะแต่งเป็นกลอักษร

ตำรายันต์ที่มีในหอสมุดก็เคยได้ดู เว้นแต่ไม่หมด ถึงจะไม่เป็นทางชอบก็ต้องเรียน เรียนเพราะจะต้องทำกิจอันนั้น

๑๑. คำ “สัมฤทธิ์” ถ้าเป็นชื่อคนก็หมายความว่าดำ เพราะทองสัมฤทธิ์ซึ่งเข้าใจกันว่าเป็นทองดำนำไป แต่ “สัมฤทธิศก” ก็หาเข้าใจกันว่าเป็นปีดำไม่ ทองสัมฤทธิ์ซึ่งเข้าใจกันว่าเป็นทำดำทีก็จะใหม่ แต่ก่อนกลัวจะไม่เข้าใจกันว่าเป็นทองดำ ที่มีถึงดำนั้นย้อมผิวเป็นแน่นอน ที่ว่าทองสัมฤทธิ์เป็นของครั้งพระเจ้าปทุมสุริย์วงศ์นั้น “ช่างเถอะ” ที่จับได้ว่าทำขึ้นเมื่อวานนี้เองก็มี

ที่สีคนเป็นสีต่างๆ ไปนั้นทีก็จะคิดกันไปต่างๆ คำพยากรณ์ของฝรั่งก็ว่าสีเขียวคราม เขียวใบไม้ สีม่วง หมายความว่าผิวดำ ที่เป็นสีแดงหมายความว่าอนามัยดี อีกนัยหนึ่ง ทางฝรั่งนั้นเองก็แบ่งคนเป็น ๔ พันธุ์ คือ พันธุ์ ขาว เหลือง แดง ดำ หน้าโขนทาสีต่างๆ อาจให้สังเกตเห็นว่าใครเป็นใครก็ได้ แต่ข้อพระดำริที่ว่าทำสีตามผิวคนนั้นเป็นเข้าทีกว่าอื่นหมด

มีเรื่องซึ่งควรจะกราบทูลอยู่อย่างหนึ่ง เพราะเกี่ยวแก่สี เกล้ากระหม่อมเคยตั้งปัญหาถามสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์เป็นการเล่น ว่าทำไมพระจึ่งเป็นเจ้าของสีเหลือง เช่นผ้าห่มนอนสำหรับพระก็ทำสีเหลือง ทั้งหุ้มเบาะและที่นอนอะไรก็หุ้มด้วยแพรเหลือง ท่านว่าผิดทีเดียว ในบาลีวินัยห้ามสีเหลือง (ปีต) ไม่ให้พระใช้เสียด้วยซ้ำ ข้อนี้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ก็รับรองว่าถูก ท่านว่าจีวรพระต้องเป็นสีอื่น มีนิทานมากที่เห็นพระเป็นงัว เกล้ากระหม่อมจึงตัดสินในใจว่าจีวรพระต้องเป็นสีแดงงัว

๑๒. ข้อที่ตรัสว่า ผู้ซึ่งได้เคยเห็นพระองค์ทูลกระหม่อมมีอยู่น้อยแล้วนั้น เป็นเหตุให้เกล้ากระหม่อมนึกครึ้มในใจ มีคนมาถามถึงทูลกระหม่อมอยู่เนืองๆ เขาจะเอาความไปแต่งหนังสือหรืออะไรก็ไม่ทราบ เกล้ากระหม่อมเป็นคนเกิดในรัชกาลที่ ๔ ก็จริง แต่บอกเขาไม่ถูกเพราะเด็กนัก จำได้แต่ว่าทูลกระหม่อมนั้นทรงพระภูษาแดงๆ แต่ที่ประทับบนพระเก้าอี้มีล้อ ทรงหมุนถอยเข้าถอยออกนั่นแหละจำได้แม่นยำ เพราะใฝ่ใจอยู่ที่ตรงนั้น

พูดถึงเก้าอี้ เพิ่งได้เห็นเก้าอี้หุ้มทองเหลือง ทั้งพื้นที่นั่งฝังลายด้วย ตั้งอยู่ที่โต๊ะเซ็นชื่อข้างประตูตำหนัก เห็นเมื่อวันจะออกจากวังวรดิศมานั่นเอง เข้าใจว่าเก้าอี้ตัวนั้นเป็นของครั้งรัชกาลที่ ๔ เหมือนกัน

๑๓. จีน ญี่ปุ่น เขาทำตราประจำตัวก็เท่ากับเซ็นชื่อ จึงเป็นหนังสืออย่างต่างๆ ตรานากของเราควรจะทำอย่างจีนอย่างญี่ปุ่น แต่วิ่งมาทำอย่างไทยปนฝรั่ง จึงกลายเป็น “โซ้ด” ไป

ตราของเราเห็นจะเป็นสมัย ได้ทราบว่าที่เป็นรูปเทวดาและรูปคนนั้นทำตามฐานะ ถ้าเป็นคนโตทำรูปเทวดา ถ้าเป็นคนเล็กทำรูปคน แต่แล้วก็ปนกันจนไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ที่เป็นรูปสัตว์เห็นจะเก่าขึ้นไปกว่า ตราหมูปีกดูก็ดี แต่พอพูดขึ้นว่าหมูปีก ก็เป็นอันรู้ได้ทันที ว่าเจ้าของคือพระยาศิริสัตย์จัน

๑๔. ฤษี ดูทีจะตรงกับ เซนต์ ของฝรั่ง เคยอ่านเรื่องเป็นว่าไม่รู้จักว่าเป็นฤษีก็มี ฤษี หมายความว่านักบวชผู้มีฤทธิ์เท่านั้นเอง คนอื่นเขาตั้งให้เป็น

การไหว้ครูเกล้ากระหม่อมก็ไหว้ ไหว้เสมอทุกวันเกิด จะเป็นวันพฤหัสบดีหรือมิใช่ก็ช่าง การไหว้นั้นก็แปลกกว่าเขาทั้งหลาย ไหว้ฝีมือคนที่เราจำอย่างท่านเป็นครู สุดแต่จะหาฝีมือของท่านมาตั้งไหว้ได้ ถึงไม่รู้จักชื่อท่านก็นึกตั้งเรียกเอาตามชอบใจ เช่นครูวัดเชิงหวาย ครูดำดั่งเคยกราบทูลมานั้นเป็นต้น ไม่ได้ตั้งให้ท่านเป็นฤษี ประหลาดใจที่ได้ยินตรัสเล่าถึงกรมหมื่นวิวิธทรงเล่นยี่เก และทรงบูชาครูยี่เก ยังไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย

๑๕. เรื่องเมืองอ่างทองและเมืองวิเศษชัยชาญ ฟังตรัสอธิบายเข้าใจดีแล้ว เมืองวิเศษชัยชาญนั่นแหละเป็นชื่อเมืองแท้ๆ ส่วนอ่างทองนั้นเป็นแต่ชื่อตำบลบางแก้วนั้นเคยรู้ แต่ไม่เคยไปถึง ได้ไปเที่ยวเดินมะงุมมะงาหราอยู่แถวนั้นมาแล้ว พบแม่น้ำเก่าเรียกว่าแม่น้ำพายทอง สายทองอะไรลักลั่น เคยได้เล่าถวายมาทีหนึ่งแล้ว เป็นเหตุให้สงสัยอยู่มาก ว่าทำไมแม่น้ำจึงซ้อนกันอยู่ใกล้ๆ ดั่งนั้น เพิ่งจะเข้าใจในพระดำรัสอธิบาย ว่าแม่น้ำทุกวันนี้เป็นแม่น้ำน้อย

๑๖. เรื่องมณฑปโยคีที่ตรัสเล่านั้นเป็นการใหญ่มาก เมื่อนึกถึงชื่อ “ดาบศและดาบสินี” ก็เป็นนักบวชชายหญิง “โยคี” ก็เป็นผู้ทำโยคะ “ฤษี” ก็เป็นผู้สัมเรทธิ์ นี่เป็นชื่อทางศาสนาพราหมณ์ เมื่อเอาเทียบกับทางพุทธศาสนา “ดาบศและดาบสินี” เห็นจะตรงกับ “ภิกขุ ภิกขุนี” “โยคี” ตรงกับ “โยคาวจร” “ฤษี” ตรงกับ “อรหันต์” พระนามพระพุทธเจ้าเรียก “มหาฤษี” ก็มี ศาสนาพราหมณ์ กับพระพุทธศาสนาเป็นของแยกไม่ออก เป็นแต่พระพุทธเจ้าทรงตัดอัตตกิลมถานุโยคเสียเท่านั้น การที่พระสงฆ์ถือความไม่พูดก็มี แต่พระเจ้ากริ้วตามคำศิษย์กราบทูลว่าลอยขึ้นไปติดเพดานนั้น เห็นได้แก่ปลูกตัวของเรา

ใบประกาศที่ประทานไปนั้นไม่สมบูรณ์ เขาฉีกถวายแต่ที่เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งอาจเข้าพระทัยได้ เบื้องบนนั้นเป็นหนังสือทมิฬ

ถวายพระกุศล

เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ได้ทำบุญวันเกิดอายุ ๗๘ ได้เลี้ยงพระ ๖ รูป ไหว้ครู และแจกของแก่ลูกหลานและคนใช้ มีหลานๆ กับมิตรสหายมาช่วยกันหยิบโน่นฉวยนี่ และเลี้ยงดูกัน เป็นเหตุให้เกิดความอิ่มใจเป็นอันมาก ขอถวายพระกุศล

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ