วันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน

สนองลายพระหัตถ์

๑) เรื่องห่มคลุมห่มแหวกนั้นอยากรู้มานานแล้ว เหตุด้วยตัวเองบวชเป็นธรรมยุตินั้นอย่างหนึ่ง แล้วซ้ำต้องทำรูปพระในทางช่างเข้าด้วยอีกอย่างหนึ่ง จึ่งทำให้ต้องสอบสวน ดังจะกราบทูลต่อไปนี้

สังเกตในบุพสิกขาว่าจะพูดถึงครองผ้าอย่างไรก็ไม่ได้ความ พูดแต่ห้ามไม่ให้ห่มอย่างนั้นอย่างนี้ มีห่มพาดสองบ่าอย่างนักเลงสุราเป็นต้น พระควรห่มอย่างไร ก็ว่าไว้แต่เพียงห่มให้เป็นปริมณฑลเท่านั้น ได้สังเกตต่อมาเห็นว่าสิ่งที่เป็นอยู่บัดนี้ไม่เหมือนกับที่มีในหนังสือ เช่นในหนังสือห้ามไม่ให้เลียบาตร (“น ปตฺตลิเลหกํ”) บาตรเดี๋ยวนี้เลียได้เมื่อไร กรมพระสมมตเคยตรัสบอกว่า จีวรแต่ก่อนกับเดี๋ยวนี้ผิดกัน ในหนังสือเป็นเล็กที่เห็นอยู่บัดนี้ใหญ่ เกล้ากระหม่อมก็รู้สำนึกทันทีที่ว่ามีดุมนั้นจะว่าไว้ทำไม ถ้าห่มม้วนอย่างเดี๋ยวนี้ก็ไม่ต้องมีดุม มีดุมแปลว่าเพื่อกันปลิวเปิด แสดงว่าเป็นผ้าผืนเล็กไม่ได้ห่มม้วน

เมื่อดูพระพุทธรูปเก่าใหม่ ก็เห็นห่มผ้าเป็นหลายอย่างต่างกัน ทางอินเดียเห็นทำเป็นห่มผ้าย่นเป็นกลีบก็มี ไม่ย่นก็มี ห่มคลุมอย่างถลกข้างล่างก็พบ ห่มดองก็พบ แต่มัดตนกับห่มแหวกไม่พบเลย ส่วนทางบ้านเรานั้นพบอะไรแปลกๆ สังเกตเห็นแต่ว่าหลงยับไปทั้งนั้น จะกล่าวแต่ที่น่าสังเกต อย่างที่มีเพิงข้างหลังทำเป็นอื่นไปไม่คิดว่าเป็นผ้าห่มก็มี ที่ทำเป็นแต่งครึ่งตัวนุ่งแต่สบงเท่านั้นก็มี ที่ห่มผ้าด้วยก็มี ดูทีเป็นว่าห่มผ้ายัดลงไปในสบง เป็นอันว่าทำไปด้วยไม่ได้คิดว่าอะไรเป็นอะไรทั้งนั้น อย่างแต่งครึ่งตัวนั้นเขาทำสำหรับทรงเครื่อง อย่างห่มผ้าไม่มีกลีบ เป็นแต่จับริมจีวรขึ้นจากเนื้อเกลี้ยงๆ สงสัยว่าจะเอาพระอย่างเปลือยกายมาแก้

วิธีครองเอาสังฆาฏิซ้อนจีวรนั้น พระเถระท่านก็บอกว่ามีหนังสือ แต่เกล้ากระหม่อมยังไม่พบ พบแต่ที่ว่าเอาสังฆาฏิคลุมนอก นี่ก็ไปเข้าแบบที่สอนให้รักษาสงวนสังฆาฏิไม่ให้เก่า ข้อที่ห้ามไม่ให้นั่งทับสังฆาฏินั้นก็ชอบกล ถ้าห่มผ้าซ้อนสองชั้นแล้ว เมื่อจะนั่งก็ต้องหลกตูด แต่ก็ไม่เห็นพระท่านทำกัน นั่งทับสังฆาฏิกันเรื่อย ทำให้นึกถึงสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตรัสว่าเมื่อเขานิมนต์เทศน์ รู้อยู่ว่าเบาะซึ่งลาดไว้บนธรรมาสน์นั้นยัดนุ่น จะจับโยนลงมาเสียได้หรือ จะได้เป็นบ้า จำต้องทนให้เป็นอาบัติเพราะนั่งเบาะยัดนุ่น พระอริยมุนี (เผื่อน) ท่านก็ใช้คำไปอีกอย่างหนึ่ง เมื่อท่านไปเที่ยวกับเจ้าพระยาเทเวศร จะไปไหนก็เห็นท่านเดินไป เกล้ากระหม่อมเห็นสมภารบ้านนอกจะไปไหนไกลก็ขี่ม้า จึงพูดว่าท่านควรจะขี่ม้า แม้จะต้องอาบัติก็เท่ากับขี่รถในกรุงเทพฯ ท่านตอบว่าขี่ม้าดูไม่เป็นสมณสารูป ก็ฟังได้อยู่ ไม่ว่าจะทำผิดถูกอย่างไร ให้ดูเป็นสมณสารูปนั้นเป็นสำคัญอยู่มาก

๒) ว หรือ บ คือ พ นั้น ต่างภาษาย่อมกลับกันอยู่เสมอ แล้วก็เป็นธรรมดาอีก คนที่ถนัดภาษามคธสังสกฤตก็ลากเอาคำใช้เข้าไปเป็นภาษามคธสังสกฤตเสมอ คำ “วัด” เป็น “วัฏ” อย่างพระดำรัสนั้นยังไม่เคยได้ยิน ได้ยินแต่ “วัดวา” ว่าเป็น “วตฺวา” กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์เคยเล่นตลกว่า แม้พบคำ “ข้าวตัง” เข้าก็ต้องเปิดดิกชันนารีมคธ สังสกฤต คำ “วัด” นั้นเขมรมีใช้ เช่น “อังครวัด” (คือ “นครวัด”) เป็นต้น แต่จะเป็นคำเขมรหรือคำไทย ใครจำอย่างใครไม่ทราบ คำเขมรกับคำไทยนี่เหมือนกันมีมากนัก คำ “บริเวณ” ดูพจนานุกรมของอาจารย์ชิลเดอแปลให้ไว้ว่ากุฎฤษี หรือกุฎพระในพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นเอาเป็นยุติได้ว่า คำ “บริเวณ” จะต้องเป็นเรือน แลจะเอาไปใช้นอกสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่นวัดเป็นต้นนั้นหาควรไม่

๓) ตรัสเล่าถึงหญิงรัศมีกับชายถัด ซึมซาบดีทีเดียว เกล้ากระหม่อมเคยสังเกตมาแล้ว ผู้หญิงกับผู้ชายนั้นใจผิดกันมาแต่เล็ก ตรัสถึงชายถัดพูดได้เล็กน้อย ทำให้นึกถึงชายงั่ว โตแล้วยังพูดไม่ได้นอกจากอื้อๆ อ้าๆ จนแม่เขาคิดว่าจะเป็นใบ้ แต่ยายเลี้ยง (หม่อมราชวงศ์ละมุลในกรมหมื่นอมรมนตรี) เถียงว่าถ้าหากเป็นใบ้แล้ว หูจะต้องไม่ได้ยิน แต่นี่เธอก็ได้ยิน จะว่าเป็นใบ้หาได้ไม่ ก็จริงๆ อีกหน่อยก็พูดออกมาได้เว้นแต่ติดอ่างยับ แต่ทีหลังก็หาย จึงรู้ได้ว่าที่ไม่พูดในเวลาอันสมควรนั้น เพราะติดอะไรไปต่างๆ

๔) วัดปทุมคงคา เห็นกระแสพระดำรัสก็นึกได้ ว่าที่เพชรบุรีมีวัดคงคา แต่สร้อยอะไรจำไม่ได้ วัดปทุมคงคาอาจตั้งใจใช้ชื่อวัดเก่าแต่เติมหน้า เช่นวัดศรีสว่างอารมณ์ ไม่ได้ตั้งใจจะเปลี่ยนชื่อแม่น้ำก็เป็นได้ วัด “ก้าละหว่า” หรือ “กัลวารี” ก็รู้จักดี เคยเข้าไปในโบสถ์นั้นก็หลายหน แต่ไม่มีใครบอกชื่อวัดนั้นเป็นภาษาอะไร แปลว่ากระไร ส่วนคำ “โรซารี” นึกไม่ได้ว่าเคยได้ยินหรือไม่

๕) เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ที่ตรัสบอกว่า “กลิอ่อง” อยู่ในเมืองทวาย เป็นความอ่อนอันหนึ่งของเกล้ากระหม่อมที่จำอะไรไว้ได้ครึ่งๆ กลางๆ แต่ครั้นจะเอาที่มาเข้าก็ตกขอบหาไม่พบ เท่ากับค้นเข็มในท้องมหาสมุทร เหมือนหนึ่งครั้งเขียนตรานกวายุภักษ์ของกระทรวงคลังมาทีหนึ่งแล้ว จำได้ดีว่านกวายุภักษ์นั้นคือนกการเวก มีที่กล่าวไว้ที่ไหนว่าพระมาลาปักขนนกวายุภักษ์ หาที่มาก็ไม่พบ จนฝ่าพระบาทตรัสบอกว่าในพระราชวิจารณ์จึงค้นพบ มังกรก็เช่นเดียวกัน เคยเห็นหนังสือฝรั่ง เขาว่ามังกรนั้นเขาสังเกตเห็นทำกันอยู่ ๓ อย่าง เป็นแพะอย่างหนึ่ง (ได้แก่อย่างที่มีเขา) เป็นช้างอย่างหนึ่ง (ได้แก่อย่างที่มีงวงมีงา) แล้วเป็นอะไรอีกอย่างหนึ่งจำไม่ได้ ตามหาต้นเดิมที่เห็นมา ที่โน่นก็ไม่พบที่นี่ก็ไม่พบ ต้องขาดรู้ไปเสียอย่างหนึ่งจนบัดนี้

ถอยหลัง

๖) จะเล่าถึงที่ไปในการบวชพระยาพหลถวาย

วัด อันวัดพระศรีมหาธาตุนั้น ไปที่นั่นรู้สึกว่าไกลมาก ทั้งตั้งอยู่ในที่ต่ำ เป็นแน่ว่าต้องถมมากมาย เดี๋ยวนี้ทางเข้าก็ปูกระดานไว้ สิ่งที่จัดว่าเป็นแล้วก็มีพระเจดีย์อย่างหนึ่ง แต่ดูองค์ระฆังโตข่มบัลลังก์ยอดไปหน่อยหนึ่งไม่สู้กินกันงาม เห็นรั้วทำไว้ตอนหนึ่งยังไม่แล้ว ทีก็อย่างรั้ววัดเบญจมบพิตร ที่ปลายเสาใหญ่เป็นเรือนตะเกียง ที่ราชวัติเป็นลูกตั้ง โบสถ์ก็ทีเดียวกับวัดเบญจมบพิตร แต่เห็นจะกว้างกว่า มีอะไรผิดกันไปบ้างทั้งนั้นก็เป็นด้วยผู้ทำแบบเอาอย่างมาแก้ไข จะกราบทูลบ้างเท่าที่ได้เห็นหน้าบันมุขหน้าทำเป็นรูปอรุณ ข้างภายในเห็นบานประตูหน้าต่างซึ่งเปิดติดกับฝาเบ้ไปมาก ดูก็เข้าใจได้ว่าเป็นด้วยลดกบบานประตูหน้าต่างให้ข้างบนสอบเห็นจะมาก ด้วยไม่ได้คิดถึงบาน ที่บานเปิดแนบฝาก็เพราะ ก่อนผนังบางอย่างใหม่ไม่มีบานแผละ บานอย่างเก่าไม่ได้เปิดแนบฝา เป็นแนบกับบานแผละไม่เห็นเบี้ยว โบสถ์วัดเบญจมบพิตรนั้นคิดสำหรับตั้งพระชินราช ที่นี่ตั้งพระสิหิงค์องค์เล็กกว่ากันมาก จึงต้องทำขั้นที่มุขหลังตั้งซ้อนกันใหญ่โต ไม่ฉะนั้นก็หลอน ที่สุดองค์พระสูงไปมาก ด้านสกัดแห่งมุขทั้งสี่มีใบเสมาอยู่ในคูหาข้างฐานพระ และข้างประตูมุขละ ๒ ใบ ในการที่เกล้ากระหม่อมไปก็ด้วยเหตุ ๒ ประการ คืออยากเห็นวัดนั้นประการหนึ่ง กับพระยาพหลมาลาบวชถึงบ้านอีกประการหนึ่ง เพราะฉะนั้นการไปก็เป็นสำหรับงานพระยาพหล เมื่อถึงการบวช หมอประจำตัวพระยาพหลจึงออกเที่ยวเดินดูการก่อสร้าง เห็นพระระเบียงกว้างกว่าที่วัดเบญจมบพิตร จะมีขนาดกว้างกว่าหรืออย่างไรไม่ทราบ แต่ดูกว้างกว่าที่เสาชั้นใน ในประธานไม่มีนั้นอย่างหนึ่งเป็นแน่ พบเสาเสมาก่อค้างอยู่ในลานพระระเบียงสองต้น ถามได้ความว่าที่ฝังลูกนิมิตนั้นฝังข้างนอก แต่พระยังไม่ได้สวด ออกไปนอกพระระเบียงเห็นมีตึกขวางอยู่ข้างหลัง เขาบอกว่าเป็นโรงเรียนนักธรรม ทางขวามือออกไปไกลมีตึกทำอยู่ ๕ หลัง มีกุฏิใหญ่อยู่กลางกุฏิเล็กอยู่ข้างละ ๒ หลัง ทางซ้ายมือก็เหมือนกัน เขาบอกว่าทางขวาสำหรับเจ้าวัดกับลูกวัด ทางซ้ายสำหรับรองเจ้าวัดกับลูกวัด แต่ล้วนกำลังทำอยู่ทั้งนั้น ต่อนั้นก็ไปดูพระเจดีย์ ที่นี่เป็นแล้วมากกว่าที่อื่น ด้านหน้าแห่งพระเจดีย์องค์เล็กข้างในนั้น จัดที่บูชาไว้ดูทีเป็นสำหรับประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้านขวาเป็นที่บูชาเชลยศักดิ์ ที่เจ้านาคจะบูชา ณ ที่นี้ซึ่งปรากฏในหนังสือพิมพ์ พระเจดีย์องค์เล็กข้างในนั้นเวลานี้เป็นปูน แต่เขาบอกว่าจะปิดทอง พระเจดีย์ใหญ่ที่ครอบนอกนั้นทำช่องหน้าต่างไว้สว่างไสวดี ไม่มืดกระชึมงึมอย่างวัดพระแก้วและวัดบวรนิเวศ ต่อจากนั้นก็ขึ้นรถกลับบ้าน

จัด มุขหน้า ซีกขวาตั้งโต๊ะถวายของพระ เห็นธูปเทียนแพกับพัดรองเป็นอันมาก พัดรองนั้นสีดำเห็นอะไรไม่ได้ยิ่งกว่านั้น ซีกซ้ายตั้งเก้าอี้แถวสำหรับคนนั่ง มุขขวาเป็นที่ทำสังฆกรรมบวชนาคกัน ตั้งอาสนสงฆ์แหวะตามแบบหันไปทางมุขหน้า มุขหลังที่ตั้งประธานตั้งที่บูชาผู้เป็นประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตรงกลางตั้งม้าเตี้ยเป็นที่บูชาเจ้านาคข้างซ้าย มุขซ้ายตั้งเก้าอี้เป็นที่นั่ง ๓ แถว แถวในเป็นที่นั่งพระบรมวงศานุวงศ์ มีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อยู่เบื้องหน้า แถวกลางทหารแถวนอกเป็นข้าราชการประจำการ โดยนัยนี้ทำให้เข้าใจไปว่าแถวทางมุขหน้านั้นตั้งไว้สำหรับข้าราชการพลเรือนรุ่นเก่า อนึ่งทางเข้าแต่พระเจดีย์ไปหาโบสถ์อันมีประมาณ ๒ เส้นนั้นปักเต๊นต์จัดเป็นที่นั่งทั้ง ๒ ข้าง

พิธี การบวชนั้นมี ๒ นาคแต่แบ่งเป็นละตอน พระยาพหลบวชก่อน สมเด็จพระสังฆราชเป็นอุปัชฌาย์ เขาว่าสมเด็จพระวันรัตน์กับสมเด็จพระมหาวีรวงศ์เป็นคู่สวด แต่เกล้ากระหม่อมไม่เห็นเพราะพระนั่งหัตถบาสบัง บอกอนุสาสน์ เขาว่าสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และเขาว่าให้ศีลนั้นสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ เมื่อบวชเสร็จแล้วถวายของประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ถวายเครื่องบริขาร จะเป็นของหลวงพระราชทานหรือมิใช่ไม่ทราบ เห็นเจ้าพนักงานขนเข้ามาแต่นอกโบสถ์ไม่ได้ตั้งบนโต๊ะในโบสถ์ ที่สุดประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ถวายห่อกระดาษไม่ทราบว่าอะไร เข้าใจว่าเป็นของส่วนพระองค์ แล้วใครๆ ก็ถวายต่อไป เสร็จแล้วสมเด็จพระสังฆราชยถา พระนั่งหัตถบาสอนุโมทนา นั่งอยู่อย่างไรก็สวดตามที่นั่งอยู่ แล้วสมเด็จพระสังฆราชกลับพระเถระกับพระที่นั่งหัตถบาสก็กลับบ้างเป็นลางองค์ เข้าใจว่าแบ่งให้น้อยลง แล้วหมอประจำตัวพระยาพหลก็นุ่งขาวหุ่มขาวเข้าโบสถ์และขอบรรพชา เกล้ากระหม่อมก็ไปเที่ยวดูการก่อสร้างเสียแล้วก็เลยกลับ ไม่ได้เห็นการที่เป็นไปตลอด แม้เวลาไปก็แกล้งไปให้ช้า ไปถึงกำลังสวดญัตติพระยาพหลอยู่ในก๊าดและหนังสือพิมพ์ว่าพระยาพหลบวชแล้วจะไปอยู่วัดเบญจมบพิตร

ข่าว

๗) เมื่อวันที่ ๘ ซึ่งล่วงแล้วมา เกล้ากระหม่อมก็เข้าไปรับเทียนชนวนจุดเทียนวรรษาที่วัดพระแก้วตามหมาย แต่ไม่เห็นพระยาพหลเข้าไปรับพุ่มหลวง ทีจะไม่นับว่าเป็นนาคหลวง

วันที่ ๙ เกล้ากระหม่อมก็ไปจุดเทียนวรรษาและบูชาในสถานที่ต่างๆ ที่วัดพระเชตุพนตามเคย แต่ไม่มีอะไรจะกราบทูล เพราะได้กราบทูลมานานแล้ว มีอย่างเดียวแต่พนักรอบพระอุโบสถซึ่งจำหลักศิลาเป็นเรื่องรามเกียรติ์ อันเขาว่าเป็นฝีมืออาจารย์ใจ (หลวงพรหมพิจิตร) เมื่อฝีมืออ่อนอยู่เป็นผู้ให้อย่าง ดูไปก็เกิดไม่เชื่อขึ้นในใจ เพราะเห็นมีอะไรที่เขลาอยู่มาก เป็นต้นว่ารูปทศกรรฐ์ลักสีดาก็อุ้มไปในท่านางนั่งพับเพียบ อันจะเป็นไปไม่ได้ คนจะมีชื่อลือชา แม้จะเป็นในภายหน้าก็จะต้องมีความคิดอยู่บ้าง ทั้งรูปร่างแห่งรูปภาพก็ไม่ใกล้ฝีมืออาจารย์ใจเข้าไปเลย ส่วนบานมุขที่พระอุโบสถว่าเป็นฝีมือเจ้ากรมอ่อน (หลวงพรหมปกาสิต) เป็นผู้ให้อย่างนั้นเชื่อ เขาว่าเป็นพี่ชายอาจารย์ใจ ไปคราวไรยิ่งดูก็ยิ่งดีไม่มีเลวลงเลย จนนึกไหว้อยู่ในใจคิดเอาว่าเขาเป็นครูอยู่คนหนึ่ง

ไปวัดพระเชตุพนเห็นอะไรชำรุดอยู่เสมอ แต่ไม่ใช่ว่าไม่ได้ซ่อมเห็นสิ่งที่ได้ซ่อมใหม่ก็มี แต่ไม่พอกัน จึงเข้าใจได้ว่าเพราะใหญ่เต็มที

๘) เมื่อวันที่ ๑๒ ที่แล้วมา ได้รับหมายพระราชวัง บอกว่าวันที่ ๑๔ กรกฎาคม เวลา ๗.๓๐ น. ผู้เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จะไปเปิดถนนสายกรุงเทพฯ สมุทรปราการ-ฉะเชิงเทรา (ตอนคลองด่านสอง)

เรียน

๙) ทรงทราบพอที่จะตรัสบอกได้หรือไม่ ว่าเหตุใดสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ลี) ผู้เป็นธรรมยุติ จึ่งเป็นเจ้าวัดปทุมคงคาอยู่ในหมู่มหานิกายแต่องค์เดียว การลงโบสถ์ (ฟังปาติโมกข์) ท่านทำอย่างไร

ชื่อมหานิกายและธรรมยุติกนิกายนั้น อาจลงศักราชได้ด้วยรู้อยู่ว่าพระสงฆ์แยกเป็นสองนิกายเมื่อไร และพวกธรรมยุติก็เป็นผู้ตั้งชื่อให้มหานิกาย อย่างเดียวกับพวกมหายานตั้งชื่อให้แก่หินยานฉะนั้น

ทันด่วน

๑๐) เมื่อวันจันทร์คราวนี้ วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ได้รับลายพระหัตถ์เวรซึ่งลงวันที่ ๘ กรกฎาคม มีปะปิดสองทับ จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์นั้นคราวนี้ไม่ทัน ต้องเอาไว้คราวหน้า

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ