วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

ข่าวเก่า

๑) เมื่อวันอังคารเดือนนี้ อันเป็นวันที่ ๑๘ ได้รับลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน เข้าใจว่ามากับรถไฟซึ่งเข้าไปถึงในวันที่ ๑๕ แปลว่าได้รับช้าไปวันหนึ่งเช่นคราวก่อน เห็นมีปะปิดหัวเดียวแต่สองทับ ตราวงสี่เหลี่ยมรีซึ่งบอกโฆษณาไม่มี จะกราบทูลสนองความต่อไปในเบื้องล่างนี้

๒) หญิงจงเธอมาหาเมื่อวันที่ ๑๕ ที่แล้วมาเธอก็ได้พูดว่าเด็จพ่อไม่ได้ทรงรับหนังสือเวร ทำให้นึกว่าเขาคงส่งถวายช้าไป ครั้นล่วงมาอีกสามวัน หญิงแก้วกับหญิงนิด หญิงกุมารี และหลานแมวพากันมาหา สามคนกลับมาจากปีนัง เว้นแต่หญิงกุมารีคนเดียวมาเที่ยวบ้านปลายเนินเล่นเฉยๆ ได้ถามหญิงแก้วถึงเหตุการณ์ต่างๆ จนพอใจแล้ว ได้ความที่เธอบอกเรื่องหนึ่ง ว่าเด็จพ่อไม่ได้ทรงรับหนังสือเวรมาสองคราวแล้ว ตรัสใช้ให้ไปสืบที่ออฟฟิศไปรษณีย์ก็ไม่ได้เรื่อง จึงเตรียมสำเนาไว้คิดจะส่งถวาย แต่นึกว่าอาจจะคลาดคราวรถไฟไปก็เป็นได้ ควรจะฟังข่าวให้ทราบอะไรเสียบ้างก่อนจึงยังไม่ส่ง

อนึ่ง เมื่อหญิงนิดเธอมาหาเธอก็นุ่งผ้าปูมมาด้วย หญิงอามบอกว่าเด็จลุงตรัสว่า “แต่งเหมือนผนังโบสถ์” จึงจะกราบทูลเพื่อทรงทราบ ว่าผ้าปูมนั้นช่างเขียนเขากลัวกัน เพราะลายมันเป็นอย่างทอ มีพลอมแพลมไม่เรียบอย่างเขียนย่อมเขียนยาก เพราะฉะนั้นถ้าไม่จำเป็นจะต้องเขียนแท้แล้วเขาก็ไม่เขียนกันเลย

๓) อีกอย่างหนึ่งมีหลักกระดาษซองขวดยามาวางอยู่บนโต๊ะเขียนหนังสือ อ่านหนังสือตัวใหญ่อันบอกชื่อยาก็อ่านไม่ออก จะอ่านหนังสือตัวเล็กก็จะต้องมีประโยค พยายามเอาแว่นมาฉายก็เลยขี้เกียจ ถามเด็กคนใช้ก็ไม่ได้ความ ต่อถามหญิงอามจึงได้เรื่อง ว่าคือยา “วิตามิน” ที่เด็จลุงเสวย พี่แก้วเอามา คิดอยู่ว่าจะให้หมอจำรัสตรวจดู

สนองลายพระหัตถ์

๔) ได้บอกแม่โตตามพระดำรัสแล้ว ในเรื่องที่แกส่งของไปถวาย แล้วบอกว่าปลาแห้งไม่ได้ส่ง เพราะหาที่ดีไม่ได้

๕) ข้อที่ตรัสบอกถึงว่าได้ทอดพระเนตรพบคำชาวอินเดีย ซึ่งเขาเรียกชาวต่างประเทศว่า “ปรเทสี” นั้นดีมาก แล้วก็ทำให้นึกถึงคำพราหมณ์เอมอันได้กราบทูลมาแล้ว ที่เขาเรียกชื่อพราหมณ์เก่าว่า “ไวยทึก” “เทสันกรี” และ “นาลิวัน” นั้น เป็นแน่ว่าคำเดิมมาจากเขมร เห็นได้ที่ “ไวทิก” เป็น “ไวยทึก” ทางเขมรสระ อิ เขาอ่านเป็น อึ เช่น “ทิก” (น้ำ) ก็อ่านว่า “ตึก” เป็นต้น แม้แต่คำมคธ สังสกฤต เช่น “ผลึก” “อัศวานึก” ก็เติมนิคหิตลงไป

อันคำทั้งปวงที่เคลื่อนไปตามที่ตรัสบอกก็ดีเต็มทีทั้งนั้น ล้วนแต่ทำความเข้าใจให้กว้างออกไปทั้งสิ้น นึกดูถึงเพลงเก่า ซึ่งเขาเขียนไว้ในบทตำราดอกสร้อยก็เป็น “แขกประเทศ” หรือ “แขกบรเทศ” ทั้งนั้น แต่เหตุไฉนจึงมีชื่อเพลงกลายเป็น “แขกวรเชฐ” ไปได้ ถ้าจะกลายแต่ “บร” เป็น “วร” ก็อาจจะให้อภัยได้ เพราะอยู่ในตะเภาเดียวกัน แต่ “เทศ” “เชฐ” นั้นไม่ควรเป็น ลางทีจะเปลี่ยนมาแต่ไกลก็ได้

คำที่เป็นไทยไปแล้ว เช่น “ฝรั่ง” “อังกฤษ” เป็นต้น ก็รู้อยู่ว่า “ฝรั่ง” มาแต่ “ฟรังค์” และ “อังกฤษ” มาแต่ “อิงลิช” ได้เห็นเขาเขียนเปลี่ยน “อังกฤษ” เป็น “บริติช” ก็ออกจะไม่พอใจ อันคำว่า “ฝรั่ง” เราก็หมายเป็นว่าคนขาวทั่วไป แม้ชาติอื่นทางเราก็หมายเช่นนั้นเหมือนกัน ถ้าจะหมายเอาคำ “ฝรั่ง” ว่าเป็นฝรั่งเศสเท่านั้นก็ “ป้วย” อนึ่งคำว่า “อบัง” ก็ได้ยินแต่ตลกยี่เกเขาใช้ ไม่ทราบว่าเป็นคำมลายูและหมายถึงอะไร เพิ่งจะได้ทราบว่าหมายถึงพี่ตามที่ตรัสบอกในครั้งนี้ นึกดูก็เห็นอย่างเช่น “อนัก” มี “อนักองเอง” เป็นต้น ตัว อ ที่นำอยู่ข้างหน้านั้น เขาไม่อ่านจึงกลายเป็น “นัก” ไปเฉยๆ จะเห็นได้ที่ “อนะวิยดา” เป็นต้น นั่นก็เป็นคำเขมร “อนะ” หรือ “อนัก” นั้นเขาหมายความว่าลูก ยังอื่นอีกเช่น “กำปง” หรือ “กำพง” อันหมายความว่า หมู่บ้านก็โดนกัน แต่ไม่ทราบเหตุว่าทำไมภาษาเขมรจึงไปพ้องกับภาษามลายูเข้ามากนัก

จะต้องเป็นความใหญ่โต ว่าที่ว่า “วร” มาเป็น “พระ” นั้นเห็นไม่จริง หากแต่เผอิญมาเหมาะกันเข้าเท่านั้น ที่แท้คำ “พระ” จะคิดขึ้นอย่างไรก็ตามที แต่เป็นคำเดียวกับ “พญา” จะเห็นได้จากที่เรียกชื่อว่า “อลองพระ” หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า “อลองพญา” ทำให้รู้ได้ว่าคำ “พระ” กับ “พญา” นั้นเป็นอันเดียวกัน ไม่ได้คิดเอา “พระ” มาจาก “วร” แล้วยังหลงเขียนเป็น “พระยา” ไปอีก ชื่อขุนนางเก่าซึ่งเรียกว่า “ออกญา” นั้นเป็นภาษาเขมร เขมรเขาเขียน “โอญ่า” (ถ้าไม่มีฟันหนูข้างบนจะต้องอ่านว่า “เญีย”) คิดว่าเป็นคำผูกขึ้นทีหลัง นึกว่าคำ “พระ หรือ “พญา” นั้นตั้งใจจะผสมตัวให้เป็น “ฟ้า” ด้วยเข้าใจว่าแต่ก่อนนี้ไม่มีตัว ฟ จะเขียน เพิ่งมาขีดหางตัว พ เป็น ฟ กันขึ้นทีหลัง เห็นได้จากพม่าก็เขียน “พวา” เป็น “ฟ้า” และเขมรก็เขียน “ห์วา” เป็น “ฟ้า” ทั้งชื่อ “เจ้าพระขวัญ” ก็ควรจะเป็น “เจ้าฟ้าขวัญ” ย่อมเห็นได้อยู่ทั้งนั้นว่าคำ “พระ” กับ “ฟ้า” นั้นเป็นอันเดียวกัน แต่ความจริงอย่างไร จะถูกหรือผิดก็ไม่ทราบแน่ เพราะนี่เป็นคิดเอาทั้งนั้น

๖) ตามที่มีพระประสงค์จะใคร่ตรัสถาม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ในเรื่องจีวรนั้นไม่เป็นไร เกล้ากระหม่อมจะถามแทนพระองค์ได้ เกล้ากระหม่อมก็อยากรู้อยู่เหมือนกัน ถามได้ความประการใดจะเขียนหนังสือกราบทูลไปให้ทราบฝ่าพระบาท

อันหนังสือบาลีอรรถกถาอะไรทั้งปวงนั้นฟังยาก เพราะเขียนทีหลังพุทธกาลมามาก ท่านผู้เขียนคิดเห็นว่าเป็นอย่างไรก็เขียนไปอย่างนั้น เกล้ากระหม่อมไม่ได้คิดว่าครั้งพุทธกาลหนังสือจะไม่มี จะมีแล้วก็ได้ เว้นแต่พระอรหันตสาวกท่านไม่ได้นึกว่า พระศาสนาจะเป็นหลักโลกส่วนหนึ่งจึงไม่ได้เขียนไว้ก็ได้

อย่างไรก็ดี การห่มผ้านั้นแต่ก่อนไม่ได้ม้วนเป็นแน่ เห็นได้ที่มีดุม แสดงว่าผ้าเล็กอาจที่ถูกลมจะปลิวเปิดไปได้ง่าย ถ้าเป็นผ้ากว้างใหญ่ถึงห่มม้วนได้อย่างเดี๋ยวนี้ จะต้องมีลูกดุมทำไม ที่มีดุมอยู่เดี๋ยวนี้ก็เป็นแต่กันอาบัติเท่านั้น ท่านผู้อื่นนั้นไม่ทราบ แต่ส่วนเกล้ากระหม่อมอาจกราบทูลได้ว่าได้กลัดบ้าง ไม่ได้กลัดบ้าง มีดุมแต่ไม่ได้กลัดนั้น แปลว่าไม่ต้องการ

ที่กล่าวกำหนดว่าผ้าห่มกี่คืบนั้นเป็นชั้นที่เขียนหนังสือ ดูเหมือนถือเอาคืบพระสุคตเป็นประมาณ องค์พระสุคตก็ใหญ่โตเต็มที เป็นความคิดของคนชั้นหลังซึ่งคิดว่าคนโบราณตัวจะใหญ่ แต่ทางฝรั่งเขาได้พยานประกอบหลายอย่าง ว่าคนแต่ก่อนเล็กกว่าคนทุกวันนี้ เป็นการตรงกันข้าม ทั้งนี้ก็ไปเข้าทางที่ว่าคนมาแต่ลิง

ในการที่สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสไม่เข้าพระทัย ในคำพระอรรถกถาจารย์ ซึ่งเกล้ากระหม่อมเห็นเป็นขันเช่นได้เคยกราบทูลมาแล้วนั้น เพราะคำของพระอรรถกถาจารย์ท่านเขียนขึ้นเมื่อพุทธกาล ล่วงไปแล้วมาก ก็จำเป็นอยู่เองที่จะเข้าพระทัยไม่ได้ ต้องทรงพระดำริเดาขึ้น ข้อที่ว่าส่งบาตรกับจีวรหรือรับบาตรและจีวรนั้น แสดงว่าเข้าใจกันว่าจีวรเป็นผ้าห่มมาแต่คราวเขียนหนังสือโพ้นแล้ว กับทั้งที่เราเอาสังฆาฏิพาดบ่ากันอันผิดกับประเทศอื่นก็ทีจะมาแต่ห่มผ้ามัดตนอันเป็นประเพณีของเรานั้นเอง เรื่องห่มผ้ามัดตนก็ได้ถามความเห็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์แล้ว ท่านเห็นว่าเพื่อไม่ให้ลุ่ยหลุด จะเป็นประโยชน์ที่สุดแก่พระบวชใหม่

คำ “สบง” ซึ่งเราใช้เรียกแทน “อันตรวาสก” นั้นเป็นคำเขมร เราจำเอามาใช้ก็เห็นจะเป็นด้วยสั้นกว่าที่จะเรียก “อันตรวาสก” ถึงสามพยางค์ ไปเห็นพระบ้านนอกนุ่งผ้าลายประกอบริม รู้สึกใจว่ากระไรๆ อยู่ ดูออกจะไม่เป็น “สมณสารูป” แต่ดีใจที่ไม่เห็นพระในบางกอกใช้กันเลย

ย้อนหลัง

๗) ที่กราบทูลว่าหนังสือพิมพ์ไทยเขาประชุมบอกข่าวนั้น บัดนี้ทีก็จะเป็นผลสำเร็จแล้ว ด้วยได้เห็นหนังสือพิมพ์บางกอกไตม์สามหน เขาคัดเอาแต่จ่าหน้าพาดหัวของหนังสือพิมพ์ไทยต่างๆ มาลงด้วยปราศจากความ ดูก็ออกจะพอๆ เพราะหนังสือพิมพ์ไทยโดยมากมักเรียงเป็นสามชั้น คือ พาดหัวเป็นข่าวย่อชั้นหนึ่ง แล้วขยายออกไปให้กว้างเป็นข่าวกลางอีกชั้นหนึ่ง แล้วกล่าวละเอียดเป็นข่าวพิสดารอีกชั้นหนึ่ง ดูแต่ข่าวพาดหัวจึงรู้สึกว่าพอดังกล่าวมาแล้วนี้

๘) จะกราบทูลย้อนหลังในเรื่องมหาชาติคำหลวง ที่นักสวดเขาสวดกันอยู่ในโบสถ์วัดพระแก้วในกาลเข้าวรรษานั้น เขาสวดแต่มหาพนกัณฑ์เดียว ทีจะเรียนได้แต่เท่านั้น ทั้งคิดว่าทีจะสวดได้ไม่ตลอดกัณฑ์ด้วยซ้ำ เพราะพอเสด็จกลับก็เลิก ตามที่สวดก็คงเป็นประเพณีมาแต่ครั้งกรุงเก่า แต่ก่อนเห็นเอานักเรียนมาสวดคำเทียบมูลบทตามศาลารายแทน “โอ้เอ้วิหารราย” แต่ปีนี้เห็นเปลี่ยนเด็กเป็นคนรุ่นหนุ่ม แต่เจ้าหนุ่มออกมานั่งเสียไหน ๆ ไม่เห็นสวด แต่ก็ตั้งม้ารองสมุดไว้ตามเคย เขาจะจัดอะไรมาให้สวดกันก็ไม่ทราบ

มหาชาติคำหลวงนั้นได้ดูบ้างไม่ได้ดูบ้าง เขาว่าได้ฉบับเก่ามาไม่ครบ ต้องแต่งขึ้นในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้เพื่อซ่อมแซมก็มี อาจารย์ศรีสุนทร (น้อย) หยอดมหาชาติคำหลวงนัก เพราะมีคำมคธกับคำไทยควบกันไปเสมอ ได้รู้ว่าคนโบราณเขาคิดว่าคำไทยคำไรหมายว่าอย่างไร

๙) ได้กราบทูลถึงสันกำแพงที่ฉัฏฐมราชานุสรณ์ ว่าควรจะทำเป็นสันอกไก่นั้น เห็นควรว่าสันกำแพงทั้งปวงจะทำเช่นนั้นเสมอไป ดีกว่าเอาแก้วแตกติด ติดแก้วแตกนั้นดูไม่งาม ทั้งดูเป็น “บ้าเบเรียน” ไปด้วย ที่ตามมุมฉัฏฐมราชานุสรณ์นั้นหยักเป็นไม้สิบสองไปทุกมุม แต่ที่จริงไม่มีมูลอันควรจะหยักเลย

๑๐) ข้อที่พูดถึงเพลงยาว นึกขึ้นมาได้ถึงไปเที่ยวในแขวงโคราช ไปได้ฟังเพลงอย่างหนึ่งซึ่งเขาเรียกว่า “เพลงช้าเจ้าหงส์” มีต้นบทชายหญิงร้องแก้กันอย่างเพลงปรบไก่ แต่ลูกคู่รับยืนอยู่ว่า “ช้าเจ้าหงส์เอย ปีกอ่อนร่อนลง เข้าในดงลำไย” ถ้าซ้ำซากมากนักก็เปลี่ยนไปเป็น “อินนะชิตฤทธิรงค์ เข้าในดงลำไย” (เพลงของอ้ายจิ๊กจิ๊กจ๊อกจ๊อกนั้นมีมูลแต่เพลงอันนี้ หรือถ้าซ้ำหนักเข้าก็เปลี่ยนเป็น “หนนำมาน” (หนุมาน) “ชาญณรงค่ เข้าในดงลำไย” คิดดูก็เล็งเห็น ว่าที่เราเรียกกล่อมหงส์ว่า “ช้าหงส์” หรือ “ช้าเจ้าหงส์” นั้น มาแต่ชื่อเพลงอันนี้

กราบทูลรายการ

๑๑) เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ได้ไปเผาศพเจ้าพระยาวรพงศ์ที่วัดเทพศิรินทร์ จัดเป็นงานเสด็จพระราชดำเนิน ปลูกเมรุหน้าพลับพลา และเปิดพลับพลา มีประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปแทนพระองค์คนเดียว

ในงานนี้เขาแจกหนังสือ ๓ เล่มเป็นของพวกลูก ๆ น่าจะทอดพระเนตรเรื่อง “สุวรรณภูมิวจนาลังการ” อันเป็นหนังสือเก่าออกจากหอสมุด เกล้ากระหม่อมเองแนะนำให้ตีพิมพ์แจก เป็นหนังสือเล่ม ๒ ซึ่งได้มาเล่มเดียว แปลจากหนังสือพม่าเก่า คำ “สุวรรณภูมิ” เห็นจะหมายถึง “แหลมทอง” อย่างที่เราถนัดพูดกันอยู่ทุกวันนี้ จะส่งฝากใครที่รู้จักเขาเมื่อเขาจะต้องออกมาปีนังให้นำมาถวาย จะส่งทางไปรษณีย์ก็กลัวจะไม่ถึงพระหัตถ์ อีกเล่มหนึ่งมีจ่าหน้าสมุดว่า ประวัติเจ้าพระยาวรวงศ์ เกล้ากระหม่อมยังไม่ได้อ่าน แต่แม่โตอ่านแล้วว่าดี ถ้าอ่านเห็นว่าดีจริงก็จะส่งมาถวายด้วย ในต้นเรื่อง “สุวรรณภูมิวจนาลังการ” ก็มีประวัติ แต่กล่าวถึงได้เลื่อนยศเป็นอะไรเมื่อไร กับได้ตราอะไรเมื่อไรเป็นหลัก อย่างที่เขาทำกันอยู่อ่านจืด

ข่าวใหม่

๑๒) เมื่อวันจันทร์เดือนนี้ วันที่ ๒๔ ได้รับหนังสือส่งทางไปรษณีย์ ๒ ฉบับ เป็นลายพระหัตถ์เวรลงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ฉบับหนึ่ง กับลายพระหัตถ์องค์หญิงมาลิกา ฉบับหนึ่ง ลายพระหัตถ์เวรนั้นมีปิดหัวเดียวทับเดียวแต่กระดาษม่วง และมีตรารูปสี่เหลี่ยมรีกับตรากลมๆ ประทับมา เปิดดูลายพระหัตถ์เวรนั้น ก็ปรากฎความว่าหนังสือซึ่งไม่ได้ทรงรับนั้นได้ทรงรับแล้วก็เบาใจ ในการที่ได้ทรงรับช้าเร็วประการใดนั้นเห็นเป็นไม่สำคัญ สุดแต่ไม่หายก็แล้วกัน แต่จะกราบทูลสนองลายพระหัตถ์เวรซึ่งได้รับคราวนี้ไม่ทัน ต้องไว้คราวอื่น ส่วนลายพระหัตถ์องค์หญิงมาลิกานั้น คราวนี้เป็นปกติ บริสุทธิ์ เธอบอกว่าคราวก่อนนั้นฝากบุคคลไป

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ