วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

สัปดาหะนี้มีอันเป็น คอยจนวันอาทิตย์แล้ว ลายพระหัตถ์เวรก็ยังหามาถึงมือหม่อมฉันไม่ จึงต้องเขียนจดหมายฉบับนี้เริ่มด้วยเรื่องทางนี้ก่อน

เรื่องทางปีนัง

๑) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๖ พฤศจิกายน ลูกหญิงแก้ว หญิงนิด กับหลานแมวออกมาถึงโดยเรียบร้อย หม่อมฉันได้เห็นหน้าลูกหลานซึ่งห่างกันมาช้านานก็ชื่นบานสำราญใจเป็นธรรมดา เธอจะอยู่ที่นี่สัปดาหะหนึ่ง กลับวันศุกร์พร้อมกับจดหมายนี้ หญิงแก้วพาของกินที่คุณโตมีแก่ใจฝากมาให้หม่อมฉัน มามอบให้ตามประสงค์ของเธอแล้ว ขอได้โปรดตรัสบอกคุณโตว่าหม่อมฉันขอบคุณมาก

เวลานี้เป็นฤดูต้นเงาะที่ปีนังกำลังออกลูก หม่อมฉันถามหญิงแก้วเธอว่า ในกรุงเทพ ฯ ยังไม่ถึงฤดู ก็เป็นอันสมโอกาสดี จึงสั่งให้เขาหาลูกเงาะฝากเธอมาถวายตามมีตามเกิด

บรรเลง

๒) หม่อมฉันเห็นในหนังสือ Novel ฝรั่งแต่งเล่าถึงอินเดียเรื่อง ๑ เขาว่าราษฎรในอินเดียเรียกชาวต่างด้าวว่า Pardesi เห็นเข้าก็รู้ความซึมทราบว่าปรเทสี เช่นเดียวกับที่เรียกพระว่า คามวาสี และอรัญวาสี ภาษาไทยไม่มีวิธีเปลี่ยนสระท้ายคำ จึงเรียกว่า “แขกบรเทศ” ก็ได้ความตรงกันควรชมว่าแปลถูกแล้ว แต่มามีผู้แปลงคำ “บรเทศ” เป็น “วรเชษฐ์” ดังเรียกเพลงดนตรีเพลงหนึ่งว่า “เพลงแขกวรเชษฐ์” ก็น่าหัวเราะ คงเป็นเพราะผู้นั้นไม่รู้ความของศัพท์บรเทศ สังเกตแต่เสียงก็แปลงไปเป็นวรเชษฐ์ หมายว่าจะถูก ความก็รับทำให้กลายเป็นเพลงของมลายู ด้วยศัพท์ เชษฐ์ นั้นตรงกับศัพท์ อะบัง ที่พวกมลายูชอบเรียกกันตามภาษาสุภาพของเขา น่าจะยังเรียกกันว่า เพลงแขกวรเชษฐ์ อยู่โดยมาก

๓) ทีนี้จะทูลบรรเลงถึงเรื่อง “จีวร” ตามความรู้ที่ได้จากหนังสือวินัยมุข ของสมเด็จพระมหาสมณะ ท่านประทานอธิบายว่าเมื่อแรกพระพุทธเจ้าทรงตั้งสงฆมณฑลนั้น ประทานอนุญาตให้พระภิกษุมีผ้าครองแต่องค์ละ ๒ ผืน คือผ้านุ่ง เรียกว่า อันตรวาสก ผืน ๑ กับ ผ้าห่ม เรียกว่า อุตราสงค์ ผืน ๑ เรียกรวมกันว่า “จีวร” มีเพียงเท่านั้นมาก่อน จนถึงกาลครั้ง ๑ ในฤดูหนาว พระพุทธองค์ทรงปรารภว่า ห่มอุตราสงค์นอนไม่พอจะทนหนาวได้ ทรงลองเอาผ้าซ้อนกันห่มถึง ๓ ชั้น จึงถึงขนาดพอทนหนาวได้ ก็ทรงประดิษฐ์จีวรผ้า ๒ ชั้นขึ้นอีกผืน ๑ เรียกว่า สังฆาฏิ สำหรับคลุมทับอุตราสงค์ที่ห่มนอนให้เป็นผ้า ๓ ชั้นกันหนาว แต่นั้นก็ทรงบัญญัติให้พระภิกษุต้องมี ผ้านุ่งผืน ๑ ผ้าห่มผืน ๑ ผ้าคลุมผืน ๑ เรียกรวมกันว่า “ไตรจีวร” สำหรับตัวหมดทุกรูป

ได้ความรู้ข้อนี้ (ซึ่งที่จริงก็เคยได้ยินมาบ้างแล้ว แต่ยังไม่ซึมทราบถึงที่อ่านอธิบายของสมเด็จพระมหาสมณะ) ก็นึกพิศวง ถึงอยากถามสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ว่า เหตุไฉนชาวเรา ทั้งพระและคฤหัสถ์ จึงเอาคำจีวรมาเรียกเป็นชื่อเฉพาะอุตราสงค์ ทำให้คนทั้งหลายโดยมากสำคัญว่า สบงและสังฆาฏิมิใช่จีวร ถ้าจะพิสูจน์ความเข้าใจเช่นนั้น ลองสั่งลูกศิษย์ให้ไปหยิบจีวร ก็คงไปฉวยเอาอุตราสงค์มาถวาย แม้หม่อมฉันเองก็เคยหลงสงสัยเมื่ออ่านหนังสือบางเรื่องซึ่งกล่าวว่า พระสาวก ส่งบาตรและจีวรถวายพระพุทธองค์ เมื่อเสด็จจะเข้าบ้าน และมีกล่าวถึงพระภิกษุผู้เป็นเจ้าของถิ่นรับบาตรและจีวรพระอาคันตุกะ ฉงนว่าเหตุไฉนจึงส่งถวายและรับแต่บาตรกับอุตราสงค์ สังฆาฏิไปอยู่เสียที่ไหนเวลานั้น ต่อเห็นอธิบายในหนังสือวินัยมุขจึงเข้าใจชัดว่า คำจีวรหมายรวมกันทั้งอุตราสงค์และสังฆาฏิ หรือแต่ผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ ยังคำที่เราเรียกอันตรวาสกว่า “สบง” นั้น เกิดขึ้นด้วยเหตุใดและไฉนจึงเรียกกันเช่นนั้นทั่วไปก็อยากถามสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ด้วย

ผ้าสังฆาฏินั้น สมเด็จพระมหาสมณะตรัสอธิบายต่อไปว่า “ใช้อย่างไรไม่ได้ความชัด ในพระสูตรกล่าวว่าพระสาวกปูถวายพระศาสดาเสด็จนั่งบ้าง ผทมบ้าง ในพระวินัยว่าใช้ซ้อนห่มเข้าบ้าน แต่ในเวลาเข้าประชุมสงฆ์ในอาราม ใช้อย่างไรไม่กล่าวถึง ไม่ได้กล่าวว่าให้พาดบ่า มีภิกษุในเมืองเราเท่านั้นใช้พาดบ่า พระพม่าพระลังกาใช้ห่มซ้อนไปด้วยกันในเวลาเข้าบ้าน ในวัดไม่ได้ใช้ (สังฆาฏิ)” ดังนี้ ก็ได้ความบ่งต่อออกไป ให้เห็นเหตุที่พระมหานิกายกับพระธรรมยุติห่มคลุมผิดกันว่าเกิดแต่แปลคำ “ซ้อน” (ภาษามคธว่ากระไร หม่อมฉันไม่ทราบ) ต่างกันมาแต่โบราณ พระภิกษุไทย คือพระมหานิกายเข้าใจว่าเอาสังฆาฏิห่มคลุมเข้าข้างนอกอุตราสงค์เป็นห่มซ้อน แต่พระพม่า มอญ และลังกา อันเป็นต้นแบบห่มผ้าอย่างธรรมยุติ เข้าใจว่าเอาสังฆาฏิทาบกับอุตราสงค์ห่ม จึงเป็นซ้อนกัน มูลมีเท่านี้เอง

แต่สมเด็จพระมหาสมณะท่านได้ทรงพิสูจน์จนตระหนักพระหฤทัยว่า ลักษณะที่พระครองผ้าเช่นเห็นกัน จะเป็นอย่างมหานิกายก็ตามหรืออย่างธรรมยุติก็ตาม เป็นแบบคิดประดิษฐ์ขึ้นใหม่เมื่อภายหลังพุทธกาลทั้งนั้น เพราะเหตุใดท่านจึงเห็นเช่นนั้น ได้ทรงชี้แจงหลักฐานประกอบด้วยรูปฉายไว้ในหนังสือวินัยมุขเล่ม ๒ โดยพิสดาร

๔) ถึงวันอังคารที่ ๑๑ พฤศจิกายน เวลาเช้า ๑๑ นาฬิกาแล้วยังไม่ได้รับลายพระหัตถ์เวร และหนังสือพิมพ์ซึ่งมาถึงปีนังเมื่อคราวเมล์วันพฤหัสบดีที่ ๖ ถึงกำหนดจะต้องส่งจดหมายไปทิ้งไปรษณีย์ในวันอังคารนี้ จึงจำต้องหยุดเขียนจดหมายฉบับนี้เพียงเท่านี้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ