วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ตกมาถึงวันอังคาร พฤษภาคม วันที่ ๑๓ จึงได้รับลายพระหัตถ์เวรซึ่งลงวันที่ ๕ พฤษภาคม มีปะปิดสองทับ จะกราบทูลสนองลายพระหัตถ์นั้นลางข้อต่อไปนี้

สนองลายพระหัตถ์

๑. ในเรื่องทำเรือนมีความเห็นต่างกันไป ส่วนเกล้ากระหม่อมโทษเอาแต่แกช่างผู้สร้างฝ่ายเดียว ส่วนฝ่าพระบาททรงพระดำริเห็นว่าเป็นทั้งช่างผู้สร้างกับทั้งเจ้าของเรือนด้วย แปลว่าฝ่าพระบาททรงพระดำริถูก

๒. เรื่องภาพจับ จะว่าโขนเอาอย่างเขียนหรือเขียนเอาอย่างโขนนั้นว่ายาก เพราะเป็นของเก่ามาด้วยกัน จะว่าโขนเอาอย่างเขียนแต่ลดลาวาศอกลงเสียบ้างก็ได้ หรือจะว่าเขียนเอาอย่างโขน แต่ใส่สีให้เป็นสานเสื่อไปก็ได้ อย่างเหยียบซ้อนตัวกันภาษาโขนเขาเรียกว่า “จับลอย” เป็นการทำยากจริงอย่างตรัส มักมีพลาดพลั้งทำไม่สำเร็จ

๓. เรื่องคนหัวนอก เคยได้ฟังความเห็นเขามามากต่อมากแล้ว มีพิสดารอะไรต่างๆ ที่กล่าวแต่เพียงรูปเขียนนั้นเบามาก ที่หนักกว่านั้นไปก็มีมาก เช่นว่าพระราชวังกรุงเก่ารักษาไว้ทำไม รื้อทำสนามเตนนิสเสียดีกว่าก็มี ที่เห็นควรจะรื้อวัดพระแก้วลงทำเสียใหม่ ให้เป็นอย่างพระที่นั่งอนันตสมาคม (องค์เดี๋ยวนี้) ก็มี ได้เห็นหนังสือพิมพ์เขาลงว่า มีความเห็นวันหนึ่งว่าปราสาทพิมายเอาไว้ทำไม ควรจะรื้อลงเสียให้ราบเป็นหน้ากลองเพราะเป็นฝีมือเขมร แต่มีความเห็นอันหนึ่งแย้งว่า ถึงเป็นฝีมือเขมรก็จริง แต่อยู่ในแผ่นดินของเรา เป็นการแสดงว่าเราได้แผ่นดินของเขมรมา ควรจะรักษาไว้เป็นอนุสาวรีย์ หนังสือพิมพ์เขาว่าเขาเห็นด้วยกับความเห็นแย้งข้างหลังนั้น เกล้ากระหม่อมก็พลอยเห็นด้วย แต่ไม่ใช่อะไร ใจใครก็ใจใคร ความเห็นจะลงเป็นรอยเดียวกันหมดไม่ได้อยู่เอง

ในเรื่องซ่อมรูปภาพเขียนซึ่งฝ่าพระบาทไปตรัสห้ามไว้นั้น ก็เพราะฝ่าพระบาททรงทราบในค่าแห่งฝีมือเขียนอยู่ เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๕ ได้ตรัสสั่งกรมหมื่นวรวัฒน์ให้ไปเขียนซ่อมรูปเขียนในโบสถ์วัดราชบูรณะนั้นเอง ก็เพราะทรงทราบค่าแห่งฝีมือเขียนอยู่เหมือนกัน ได้ทราบข่าวว่าทำยากมาก ไม่ใช่แต่ผู้เขียนต้องเป็นช่างฝีมือดีเท่านั้น ย่อมประกอบทั้งของใช้ด้วย เป็นต้นว่าวิมานสามช่องจะต้องทาสีใหม่ช่องหนึ่ง เอาชาดเดี๋ยวนี้เข้าทาไม่ได้ สีไม่เหมือนกันเพราะเจือสีสวรรค์ กรมหมื่นวรวัฒน์ต้องไปค้นก้นร้านขายน้ำยา ได้ชาดอย่างเก่ามาจึงใช้ได้ ถ้าเป็นช่างเดี๋ยวนี้ก็ไม่ยากอะไร ทาทับเสียทั้งสามช่องก็แล้วกัน การซ่อมทุกวันต้องเห็นเหมือนทำใหม่ ถ้าไม่เช่นนั้นก็ไม่เป็นได้ซ่อม วิธีซ่อมรูปเขียนจะมีอะไรนอกจากว่าประมูลราคากัน ใครว่าราคาต่ำผู้ซ่อมก็ให้แก่คนนั้นทำ เป็นแน่ว่าจะต้องตกแก่ช่างเลวๆ เพราะช่างดีเขากลัวซ่อม เห็นว่าเขียนใหม่เสียดีกว่า เหตุฉะนั้นจึงให้ราคาซ่อมต่ำไม่ได้ก็เป็นอันไม่ได้ทำ ผู้จัดการให้ซ่อมย่อมไม่รู้ฝีมือ สุดแต่ให้เห็นใหม่แล้วเป็นได้กัน

ชื่ออาจารย์อินโข่งนั้นได้ความว่าคืออินโค่ง หมายความว่าบวชเป็นเณรอยู่จนเป็นเณรโค่ง การพูดเคลื่อนคลาดอย่างนั้นก็มีตัวอย่าง เช่นหอยโข่งก็คือหอยโค่ง เห็นจะเป็นแต่ก่อนนี้พูดแปร่งเช่นนั้นกัน ตัวอย่างที่พูดกันอยู่เดี๋ยวนี้ก็มี แต่เป็นคำอื่นเช่น “บ้านนอกขอกนา” ก็คือ”บ้านนอกคอกนา”

๔. สวนลิงที่ปีนัง ได้เห็นหนังสือพิมพ์ว่าเดี๋ยวนี้เขาปิดเวลาย่ำค่ำ เหตุก็ด้วยเรื่องยุงอย่างเช่นเคยตรัสเล่าเข้าไปแล้วแต่ก่อน ที่ไม่เสด็จไปโรงเต้นรำนั้นควรแล้ว แม้เสด็จไปก็จะไม่ได้อะไรใส่พระเป๋าเสด็จกลับมา ในบางกอกพวกหนุ่มๆ ก็นิยมชมชอบอยู่มากเหมือนกัน สวนสนุกนั้นควรเสด็จไปทอดพระเนตร เพื่อจะได้ทรงทราบว่าเขาทำอะไรกันบ้าง แต่ไม่จำต้องไปเบียดคน เสด็จไปในเวลาที่คนไม่ชุกก็ดีแล้ว ถึงไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นยมบาลมาตัดหัวสัตว์นรกก็จะเป็นไรไป ทรงทราบว่าเขาทำอะไรกันบ้างก็เป็นได้เรื่องใส่พระเป๋ามาตรัสเล่าได้พอแล้ว คำสรรเสริญคนดีที่ว่าไม่ประพฤติทางสัพเพเหระนั้นเห็นใช้ไม่ได้ ถ้าไม่ประพฤติก็ไม่รู้ในสิ่งนั้น

หนังฉายนั้นในยุโรปติดการรบ ไม่มีใครทำเป็นแน่ แม้ประเทศที่ไม่ติดการรบ เรือก็มีเดินน้อย หนังฉายก็ย่อมจะหายากอยู่เอง

ตามที่ตรัสเล่าถึงการกรวดน้ำในหนังฉายนั้น “หูผึ่ง” ใช้น้ำใส่ถาดเอามือกวนก็ได้ เกล้ากระหม่อมกำลังคิดและสอบสวนการกรวดน้ำอยู่ทีเดียว แต่ขยับจะไม่ได้เรื่อง ทีเป็นหมายความว่าให้ เช่นในเรื่องพระเวสสันดรเมื่อให้สองกุมารหรือพระมัทรี ก็หลั่งน้ำให้แก่ชูชกและพระอินทร์ซึ่งแปลงเป็นพราหมณ์ ส่วนที่เรากรวดกันอยู่เป็นปรกติในเวลานี้กรวดใส่ขัน แต่แล้วก็ให้คนใช้เอาไปเทลงเหนือแผ่นดิน ต้องกันกับที่ฝ่าพระบาทตรัสเล่าถึงผู้หญิงซึ่งทอดพระเนตรเห็นในหนังฉาย แต่จะให้ใครไม่ทราบ ทีจะให้แก่ผี เพราะการกรวดน้ำย่อมกรวดเมื่อพระยถาเป็นปรกติอันมีคำว่า “ทินฺนํ เปตานํ” ซึ่งแปลว่าให้เก่เปรต แต่ส่วนที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร มีพระนเรศวรเป็นต้น นั่นดูเป็นทางก่อเวร ไม่เป็นว่าให้ แต่ก็รดน้ำลงเหนือแผ่นดินเหมือนกัน ยังอีกอย่างหนึ่ง ทำพรมแดนก็ว่ารดน้ำลงเหนือแผ่นดิน จะแปลว่าให้หรือเป็นก่อเวรก็ไม่ได้ทั้งนั้น เขาแปลกันว่าพรมน้ำ กลัวจะเป็นเข้าใจผิดกันขึ้นในภายหลัง การถวายกุฏิพระก็เห็นมีคนโทน้ำถวาย เข้าใจว่าทูลกระหม่อมทรงบัญญัติให้จัดขึ้น นั่นแปลว่าให้ได้

โหมกูณฑ์นั้นทราบนานแล้ว ว่าตามประติเขาขุดหลุมสุมไฟ การสุมไพในหลุมก็ประสงค์จะบังลม ส่วนเตากูณฑ์ที่สุมไฟกันในโรงพิธีก็เคยเห็น ทำด้วยทองแดงหรือทองเหลืองอะไรไม่ทราบแน่ เพราะดำพ่ำพำเขาไม่ได้ขัด ทำรูปเป็นเหลี่ยมลูกบาศก์เว้นแต่ล่างโตบนเล็ก ด้านบนดูเหมือนเจาะเป็นช่องกลม ด้านข้างล่างกลวงเฉยๆ ที่ทำดังนั้นก็ประสงค์ให้บังลมเหมือนกับขุดหลุมสุมไฟอย่างสามัญนั่นเอง

๕. ตามที่ตรัสว่าผู้หญิงทาปาก ผู้หญิงนุ่งกางเกงขาก๊วย ย่อมเห็นปากเห็นกางเกงก่อนเห็นหน้าตานั้น จริงทีเดียว จับใจยิ่งนัก ที่เขากราบทูลถึงเรื่องผู้หญิงแต่งเครื่องเพชรพลอยนั้น เขาได้สังเกตได้คิดอย่างที่ควรมาแล้ว การทำอะไรกันมักประกวดประขันกันในสิ่งนั้นจนลืมหลัก กรมหลวงสรรพสิทธิ์เคยตรัสว่า แต่งตัวใส่นวมสวมเกี้ยวให้แก่เด็ก จะแต่งให้เป็นกองทองให้ได้ จับใจยิ่งนักจนจำคำที่ตรัสไว้ได้ไม่รู้ลืมเลย

๖. ลูกหญิงคนใหญ่ของชายดิศ เวลาเย็นเกล้ากระหม่อมออกเดินรอบๆ ตำหนัก พอเข้าประตูต้นไม้ข้างตำหนักเลขาเมื่อไรแกก็วิ่งมารับทุกที ดูเหมือนว่าถ้าเดินสักสิบรอบแกก็จะวิ่งมารับทั้งสิบเที่ยว หญิงอามก็บอก ว่าชายดิศจะพาไปเฝ้าเด็จปู่ที่ปีนัง แกไม่ต้องการ ว่าเด็จปู่มีแล้ว หญิงหลุยจะมาปีนังนั้นไม่ขัดข้อง เพราะท้องยังไม่แก่ ไม่เหมือนเมื่อครั้งท้องชายถัด นั่นท้องแก่มากแล้ว แต่กระนั้นยังอุตส่าห์ไปที่บ้านปลายเนินจนเกล้ากระหม่อมเกรงจะออกลูกที่บ้านปลายเนิน หมอตำแยนั้นช่วยไว้ เพราะมีอยู่ที่บ้านเวลานั้นหลายคน แต่ของใช้ในการออกลูกไม่มี ไม่ได้ดระเตรียม กลัวจะวิ่งหัวกระทบกันไม่เป็นท่า ชายถัดก็สำคัญ เดินยังไม่แข็งแม่โตจึ่งจูงพาให้เดินเล่นที่บ้านปลายเนิน สนามราบๆ มีถมไปแกก็ไม่เดิน แพ่นขึ้นไปเดินบนขอบถนนซึ่งเล็กเต็มที เอาอิฐซีเมนต์ฝังไว้เท่านั้น

ปรารภ

๗. พิศดูพระแท่นเศวตฉัตร เห็นเป็นว่าเป็นของที่ควรจะตั้งกลางแจ้ง ที่แจ้งอันควรตั้งก็ไม่เห็นมีที่ควรที่ไหนนอกจากมุขเด็จ สังเกตมุขเด็จปราสาทเก่าๆ เห็นไม่มีรอยว่าเคยมีหลังคามาก่อนก็มี ที่เอาเข้าตั้งในท้องพระโรงแล้วปักร่มนั้นดูไม่เข้าทีเลย

จะกราบทูลด้วยเรื่องมุขเด็จ ถ้าเรียกชื่อนั้นก็ต้องเป็นหลังคาขาดจากเทือกหลังคาใหญ่ ถ้าหลังคากินเทือกกันแต่หลั่นลงเขาเรียกว่ามุขลด

ยอดเครื่องสูงซึ่งแกะเป็นหน้าพรหมนั้นเห็นจะเป็นของใหม่ สงสัยว่าจะไม่เกินรัชกาลที่ ๔ ขึ้นไป ด้วยสังเกตยอดฉัตรของเก่าไม่มีเลยที่ทำเป็นหน้าพรหม ไม่ใช่ว่าหน้าพรหมจะเป็นของใหม่ เข้าใจว่าเลียนเอายอดประตูมาทีหลัง เกล้ากระหม่อมเคยให้แบบพระที่นั่งเศวตฉัตรในพระที่นั่งอภิเศก ทำยอดพระเศวตฉัตรเป็นพรหมพักตร์ตามแบบเครื่องสูงพระมหากษัตริย์ ทีแรกวาดทรงอย่างยอดฉัตรทั้งหลายทั้งปวง แต่ครั้นค้นเป็นหน้าพรหมเข้าดูหลิมไปพิลึก จึงต้องเปลี่ยนทรงใหม่เป็นทรงมงกุฎน้ำเต้าจึ่งไปได้

ดูพระแท่นเศวตฉัตรมุกในพระที่นั่งดุสิต เห็นมีฐานเขียงปิดทองรอง ซ้ำบนพื้นฐานเขียงนั้นก็กรุด้วยผ้าอะไรมีสีแดงเสียด้วย ทำให้เห็นขัดกับองค์พระแท่นไปพิลึก เป็นธรรมดาของช่างที่ทำอะไรก็ย่อมมุ่งจะให้สิ่งที่ตนทำนั้นให้คนเห็นว่างาม ไม่ได้นึกถึงสิ่งที่ติดต่อเลย จำได้ว่าฐานเขียงรองพระแท่นมุกนั้นทำในรัชกาลที่ ๗ รู้ตัวคนให้แบบเสียด้วยว่าพระเทวาภินิมมิต นึกถึงที่ได้เคยเห็นมาเมื่อเล็กๆ ในรัชกาลที่ ๕ ดูเหมือนเขาทำเป็นขั้นกะไดกรุแพรดำ ติดบัวสำเร็จมาแต่นอกปิดทอง ถ้าถูกดังนั้นก็เข้ากันกับองค์พระแท่นดี

ข่าว

๘. ในงานพระศพทูลกระหม่อมหญิงเพชรบุรี มีอะไรที่ไม่รู้ตัวเหมือนแต่ก่อนหลายอย่าง

(๑) พอไปถึงพระเมรุ กรมวังเขาก็ชี้ทางให้ไปขึ้นพลับพลาทางข้างในเกล้ากระหม่อมก็เขลาค้านเขาว่านั่นเป็นข้างใน เขาต้องบอกว่าปนกันจึ่งเข้าใจ จะเป็นไรมี คุ้นเคยกันอยู่ทั้งนั้น ที่ต้องนั่งปนเพราะพลับพลาเล็กไม่เหมือนคราวก่อนๆ ที่เจ้านายนั่งเฝ้าเป็นขุนนางนั่งเฝ้า เจ้านายฝ่ายหน้าจึ่งหลุดเข้าไปข้างใน

(๒) เมื่อพระศพเข้าเวียนพระเมรุก็ลงจากพลับพลา เพราะในการพระศพใหญ่เวียนพระเมรุต้องลงอยู่แล้ว แล้วเห็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เข้าเดินตามพระศพท้ายกระบวน ข้อนั้นไม่ยาก ได้เดินนำพระราชวงศ์ฝ่ายหน้าตามกระบวนคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไป

(๓) จะขึ้นถายพระเพลิงอย่างไร ข้อนี้เป็นยาก ได้สังเกตในหมายกำหนดการก็ไม่มีบังคับไว้ จึ่งปรึกษากับองค์หญิงอาทรซึ่งนั่งอยู่ใกล้กันว่าอย่างไรจะดี เธอเห็นว่าขึ้นกับข้างในเป็นดีเพราะนั่งปนกันอยู่แล้ว เกล้ากระหม่อมเห็นชอบด้วยจึ่งขึ้นทางข้างในตาม “โปเจียม” เป็นการนำพระราชวงศ์ฝ่ายหน้าอยู่ในตัว จะควรหรือไม่ควรก็ทราบไม่ได้

๙. เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม หญิงกุมารีกับหญิงหลุยมาก่อน แล้วชายดิศพาลูก ๒ คนมาทีหลังเมื่อกลับจากสำนักงานแล้ว ถามหญิงกุมารีว่าแม่กลับจากหัวหินแล้วหรือยังก็บอกว่ากลับแล้ว ประเดี๋ยวจะมา ก็จริงๆ แต่พอค่ำก็พาชายนิพัทธ หญิงเป้า กับหลานแมวมา ชายนิพัทธกับหม่อมเจิมลาไปเชียงใหม่ ด้วยทางราชการสั่งให้ชายนิพัทธย้ายขึ้นไปอยู่กรมสรรพากรที่เชียงใหม่ ได้ให้พรแก่เธอ

๑๐. ได้ยินว่าชายใหม่จะออกมาปีนังในวันที่ ๔ เดือนหน้า จะฝากสมุดซึ่งได้แจกเมื่อวันวิสาขบูชามาถวายด้วย เพราะส่งทางไปรษณีย์เดี๋ยวนี้ส่งยาก

๑๑. มีธุระจะต้องทำการบรรจุอังคารที่ “จาตุรนตอนุสสารี” จึงได้เขียนหนังสือไปขอให้พระพรหมพิจิตรช่วย ในท้ายหนังสือนั้นได้เขียนขอแบบวัดพระศรีมหาธาตุไปด้วย เขาพิมพ์แบบโบสถ์ส่งมาให้ เห็นลักษณะเป็นอย่างเดียวกันกับโบสถ์และพระระเบียงวัดเบญจมบพิตร

๑๒. แม่โตถามว่า เชียงทองกับเชียงคำเป็นคนละแห่งหรือแห่งเดียวกัน เกล้ากระหม่อมก็จำนนเพราะไม่ทราบ ได้แต่บอกความเห็นในใจว่าควรจะเป็นแห่งเดียวกัน

๑๓. เมื่อเลี้ยงพระวันเกิด สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านเอาหนังสือมาให้เป็นหนังสือตีพิมพ์แจกงานศพ นายเคงเหลียน ศรีบุญเรือง ซึ่งเผาที่วัดเทพศิรินทร์ เรื่อง “พระถังซัมจั๋ง” พอได้รับก็นึกถึง “นุนู” แกได้อ่านเรื่อง “ไซอิ๋ว” ซึ่งเล่าเรื่องพระถังซัมจั๋งไปสืบพุทธศาสนาทางอินเดีย แกเล่าหัวเราะอ้าย “เฮ่งเจีย” ซึ่งเป็นศิษย์พระถังซัมจั๋ง หนังสือซึ่งเขาตีพิมพ์นั้นเขาก็กล่าวถึงเฮ่งเจีย แต่เขาตัดทิ้งเห็นเป็นสวะ ดีดอก เป็นหนังสือที่เขาเขียนเองตามความเห็นของเขา เลือกเอาแต่สิ่งที่เป็นสาระ ทั้งสอบสวนคำสังสกฤตเก่าใหม่และที่กลายเป็นคำจีนด้วย แต่ยังอ่านไม่จบ เล่มหนามาก

ในคำพูดของเขาถูกมาก ว่าหนังสือเก่าแล้วถ้าเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ก็มีต้องปาฏิหารย์ติดอยู่ด้วยตามใจคน (ต้องกับคำที่เกล้ากระหม่อมเคยพูด ว่าพระเจ้าแล้วต้องเป็นผี) เขาพูดดีที่ว่าคนโบราณท่านแต่งหนังสือไว้ ก็เปรียบเหมือนท่านเก็บข้าวใส่ยุ้งไว้ให้เรา แม้จะปนอะไรบ้างก็เป็นหน้าที่ของเราจะคัดออก เอาแต่ที่จะพึงบริโภคได้สีซ้อมขึ้น

อีกอย่างหนึ่งเขาบ่นถึงคำแปลของฝรั่งว่าแปลไม่ถูก เพราะต้นฉบับเป็นหนังสือจีน ซึ่งผู้แปลยึดเอาตามคำในหนังสือ เขาว่าคำพูดมีความหมายนอกไปจากคำก็มี เขายกตัวอย่างภาษาไทยเช่นว่า “ใจคอกว้างขวาง” ถ้าหากจะแปลคำ “คอ” และ “ขวาง” เข้าด้วยความก็เป็นอื่นไป ข้อนี้เกล้ากระหม่อมรู้สึกดีทีเดียว ด้วยได้เคยถอดหนังสือเขมร ถูกมหาเยาว์เขาทักในลางคำ ซึ่งเขมรมีความหมายไปอีกอย่างหนึ่ง แต่พูดเป็นอีกอย่างหนึ่ง

จดหมายเหตุ

๑๔. ลายพระหัตถ์เวรลงวันที่ ๑๐ พฤษภาคม เขาเชิญมาส่งแล้วเมื่อวันอาทิตย์ ไม่มีปะปิดอย่างไรหมด มีแต่ตราประทับหลังซองสามเหลี่ยมกับกลมๆ มา ๒ ดวงเท่านั้น จะกราบทูลสนองความทีหลัง ตามทางที่ทรงปฏิบัติแบ่งตอบนั้นเห็นสะดวกดี จะเอาอย่างโดยเสด็จบ้างในภายหน้าถ้าจำเป็น

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ