วันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๔๘๔

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ขอประทานกราบทูลสนองความตามลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ต่อไปนี้

สนองลายพระหัตถ์

๑) การไม่ออกชื่อผู้สูงศักดิ์ เห็นจะมีความหวังเป็นหลายอย่างไม่จำกัด เช่นปิดเพื่อไม่ให้เอาไปทำกฤตยาคมเป็นต้น ตลอดถึงเพื่อจะหลีกการต่ำสูง นึกดูถึงการออกพระนามแผ่ส่วนบุญ ถ้าเจาะถวายจำเพาะพระองค์จะไม่ใช้ “ขุนหลวงด้วง” “ขุนหลวงฉิม” จะใช้อะไร จะใช้ “รามาธิบดี” ก็เพรื่อไป เป็นใครก็ได้ พระนาม “พระพุทธยอดฟ้า” “พระพุทธเลิศหล้า” ก็ยังไม่มี เดี๋ยวนี้เลิกการเปลี่ยนชื่อก็เพราะชื่อเปลี่ยนไปตามเวลาหมดแล้ว ที่คนจะชื่อ” มีมาสาสี” อย่างแต่ก่อนนั้นไม่มีแล้ว แต่ความจริงสำหรับเรียกก็ต้องการคำเดียว กว่านั้นก็สำหรับเต็มยศ จะกราบทูลถวายตัวอย่างได้ เช่น “นายมีใจภักดิ์”นายเวรสนมพลเรือนก็เรียกกันแต่ว่า “นายมี” เข้ารูป “มีมาสาสี” ตามปกติ ซ้ำผู้มีบรรดาศักดิ์ยังตอกเป็น “อ้ายมี” เข้าอีกด้วย นั่นเป็น “อิลลิเก้อ” อย่างเอก

๒) จะเขาเรื่องหมาของหญิงไอมากราบทูลพ่วงเข้าในที่นี้ ด้วยเพราะเป็นพวกชื่อด้วยกัน ที่ถูกเปลี่ยนเรียกชื่อว่า “อีแต” นั้น เจ้าของก็ออกจะยอมๆ ว่าควร แกพูดคำหนึ่งซึ่งน่าฟังอยู่มาก ว่าที่ใช้คำ “อ้ายอี” นำชื่อนั้นออกจะจำเป็น ด้วยจะได้รู้ว่าเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย

๓) เรื่อง “เขาหลวง” “บางหลวง” “ท่าหลวง” ตรัสแยกแยะว่า มีที่ไหนบ้างเท่าที่ทรงรำลึกได้นั้นดีเต็มที เป็นความรู้ซึ่งไม่เคยรู้ได้มากขึ้น จริงอยู่ที่เดิมทีหมายอย่างๆ หนึ่ง แล้วก็จูงเอาสิ่งซึ่งประกอบกันไปด้วย เช่นเขาหลวงที่เมืองเพชรบุรีก็ถูกจูง เดิมทีก็ตั้งใจจะเรียกถ้ำหลวง แล้วก็พาเอาเขาซึ่งทรงถ้ำใหญ่อยู่นั้นเป็นเขาหลวงไปด้วย ลางทีก็ถูกต่อหน้าหรือเติมท้ายเข้า นั่นก็เป็นด้วยชื่อซ้ำกัน เติมเข้าเพื่อให้รู้ว่าที่ไหน ในที่นี้อยากจะกราบทูลว่า ที่เรียก “บางหลวงอ้ายเอียง” นั้นที่ไหน ที่กรุงเก่าหรือมิใช่ ชะรอย “อ้ายเอียง” จะอยู่ที่บางหลวงนั้นอย่างเดียวกับที่ตรัสเล่าถึง “วังยายอ้น”

๔) นาย “วราประเสริฐที่สองงามสม” นั้น เห็นด้วยตามพระดำริ ว่าถูกเป็นแน่แล้ว เป็นที่สองรอง “ฉวีผิวงาม” ไม่ใช่รอง “กลีบเรณู”

๕) ชื่ออันไม่ไพเราะเกล้ากระหม่อมเคยเรียกว่า “ชื่อบ่าวตั้ง” แต่เป็นเรียกเล่นเท่านั้น ส่วนความจริงย่อมจะเป็นไปได้หลายอย่าง พระเจ้าลูกเธอ ชั้นก่อนซึ่งมีพระนามไม่ไพเราะตามที่ตรัสเล่า ทีก็จะเป็นทรงเรียกตามนิมิตอย่างใดๆ หรือใครจะตั้งถวายก็ได้ เฉพาะพระนามองค์ใดที่ฟังไม่ไพเราะ จะเปลี่ยนพระราชทานเสียใหม่ก็ได้ ที่ไพเราะอยู่แล้วจะทรงปล่อยไปก็ได้ ที่เรียกกันมาเสียจนชินแล้วไม่ทรงเปลี่ยนก็ได้ เหตุทั้งนั้นเป็นเครื่องสนับสนุนว่ากลอน “อโณทัยอภัยทัต” ไม่ใช่พระราชนิพนธ์ เป็นใครแต่งขึ้นทีหลังด้วยตั้งใจกล่าวพระนามท่านเหล่านั้นตามที่ท่านมี “เอ้ตัดทัคคะ” อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ ไม่ได้คิดจะทำพระนามโดยลำดับพระเจ้าลูกเธอรัชกาลที่ ๑ ก็เป็นได้

๖) หนังสือเก่าๆ ซึ่งเรียกว่า “พระราชนิพนธ์” นั้น มีคนหัวเราะกันอยู่ว่าเป็นยกถวาย ไม่ใช่พระราชนิพนธ์จริง ๆ ก็มีมาก

๗) สวน “โลกใหม่” ซึ่งตรัสเล่าเข้าไปว่าเขาทำเป็นเมืองนรกนั้น อยากจะกราบทูลถึงระเบียงที่นครวัด แต่ที่นั่นเขาจำหลักไว้แต่ทางไปสวรรค์ ไม่มีไปนรก ไม่เข้าเรื่องที่จะกราบทูลจึงเลยระงับ บัดนี้ที่สวนนั้นเขาทำสวรรค์เติมขึ้นก็ดีแล้ว แต่ทางไปสวรรค์ไม่มีอะไรเหมือนที่นครวัดจึ่งไม่ได้ยกเอาเรื่องที่นั่นมากราบทูล ไปจับใจแต่นางฟ้าเจ็ดตนด้วยไปเข้ารูปกับนางเทพธิดามหาสงกรานต์ ขี่อะไรต่ออะไรด้วย แต่สิ่งที่ขี่นั้นเป็นทางข้างจีนอย่างที่ “โป๊ยเซียน” ถือก็มี ที่จะเหยียดเอาพาหนะของนางเทพธิดามหาสงกรานต์ไปเข้าได้ก็มี ที่เข้าไม่ได้ก็มี ที่ทำแผงให้ขี่ทีก็มาเข้ารูปม้าแผงซึ่งเล่นโขนละครของเรา แต่ที่เขาทำชักเลื่อนให้เกาะไปนั้นเป็นความคิดฝรั่ง เอาอย่างมาจากละคร “โลเฮนกริน” นางเทพธิดามหาสงกรานต์นั้นก็ชอบกล มีชื่อ “ทุงษะ” “กิมิทา” ทีเป็นสังสกฤต แต่ไปหาพจนานุกรมของอาจารย์โมเนียวิลเลียมก็ไม่พบ ไม่มีกล่าวถึง

๘) ตามที่ตรัสเล่าว่าปีนังมีร้านข้าวแกงมากกว่าที่เมืองไหนๆ และทรงพระดำริสันนิษฐานว่าเพราะกรรมกรมากนั้น เป็นการถูกต้องไม่ประหลาดเลย ข้างจีนเขาเข้าใจในการค้าขาย จะขายอะไรได้มากนั้นเขารู้เขาทำขายเสมอ เหมือนหนึ่งในกรุงเทพฯ ขี่รถผ่านไปทางถนนใหม่ (เจริญกรุง) ก็เห็นถ้วยเงินใส่ตู้อยู่มากมายเป็นหลายร้าน เห็นก็เข้าใจได้ว่าในกรุงเวลานี้ มีรางวัลกันด้วยถ้วยเงินมากมาย พวกจีนขายได้จึงขายกันอึดตะกรึไป ไม่ว่าอะไรมี “ดิมานด์” แล้ว ก็ต้องมี “สัปปลาย” ในที่สุดก็แย่งกัน หลวงนรเศรษฐแกว่า “การค้าขายก็เหมือนกับการเล่นพนัน ถ้าไม่ทันเขาก็เสียเปรียบเขาขนาบไป” เห็นด้วยกับคำแกว่าเต็มตัว

ย้อนหลัง

๙) เมื่อเขียนหนังสือเวรถวายคราวก่อน ส่งมาแล้วนึกขึ้นได้ว่าในหนังสือเรื่อง “อนุรุธ” เขาเขียน “สิงหาศน์บัญชร” ตามที่เขียนถวายมาเป็น “สีหบัญชร” แปลว่าเขียนไปตามคำพูดอันย่อหย่อนในชั้นต่อมา คำเก่านั้นยิ่งชัดเสียอีก ที่คิดเดากราบทูลถวายมาเป็นคลอกนั้นไม่ผิดเป็นแต่เขียนผิดไปเหมือนเก่าไปเท่านั้น

บรรเลง

๑๐) ในหนังสือปฐมสมโพธิมีคำ “เทวทูต” อธิบายว่าเทวดามาแสดงนิมิตถวายให้พระพุทธกุมารเห็นรูปคนแก่เจ็บตายและพระภิกษุ แต่มีคนสงสัยว่าพระพุทธกุมารก็เป็นผู้อยู่ในหมู่คน อันหมู่คนก็จะต้องมีเกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา นัยว่าปิดก็จะปิดไปได้อย่างไร ต่างว่าปิดได้พระราชบิดาของพระองค์ซึ่งย่อมจะได้ทรงเห็นอยู่เสมอก็ทรงชราลงไปทุกวันปัญหาข้อนี้ก็ไม่มีใครตอบได้ ต่อมาได้สนทนากับสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ท่านว่าท่านได้ดูหนังสือซึ่งชื่อว่า “เทวทูตสูตร” ในนั้นไม่มีกล่าวถึงเทวดาเลย ตกเป็นว่าผู้ใดรู้สึกความแก่เจ็บตายขึ้นในใจเมื่อไร ก็เหมือนกับทูตของเทวดามาบอกเมื่อนั้น ทำให้เห็นว่าการแปลนั้นยาก ถ้าแปลไปตามศัพท์ก็อาจเขวไปได้มาก สำคัญอยู่ที่ความหมาย ในการที่เทวดาแปลงเป็นพระภิกษุมานำพระทัยพุทธกุมารนั้น จะต้องเข้าใจว่าเวลานั้นในเมืองกบิลพัสดุ์มีพระภิกษุอยู่ดาษดื่นไปแล้ว จนกระทั่งตอนที่กล่าวถึงว่าฤษีกาลเทวิลมาดูพระลักขณะพุทธกุมาร เมื่อทราบว่าจะได้ตรัสเป็นพระสัพสัญญูแน่แล้ว จึงไปบอกแก่นาลกผู้เป็นหลานให้ไปบวชคอยอยู่ นาลกก็บวชไปคอยอยู่ในป่าหิมพานต์ ป่าหิมพานต์นั้นดูเป็นไปง่ายอยู่ง่ายในหนังสือว่า “ไปซื้อผ้ากาสาวพัสตรกับบาตรดินแต่ร้านตลาด” มา นั่นเป็นข้อยืนยัน ว่าพระภิกษุมีอยู่ดาดดื่นแล้ว กระทั่งผ้าเหลืองและบาตรก็มีขายในท้องตลาด ทำให้เห็นว่าเมืองกบิลพัสดุ์ครั้งโน้นก็ไม่ผิดอะไรไปกว่ากรุงเทพฯ เดี๋ยวนี้เลย

๑๑) การคิดเดาอะไรนั้นเดายาก หนักไปทางข้างจะเดาผิดเสมอเหมือนหนึ่งกับหนังสือพิมพ์ “บางกอกแตม” ซึ่งวันเสาร์ขาดรูปภาพไปเดากราบทูลมาว่าเห็นจะเลิกนั้น วันเสาร์ที่ล่วงมาแล้วนี้ก็กลับลงอีก แปลว่าที่คิดเดากราบทูลมานั้นเป็นเดาผิด พระยาเพชรพิชัย (เจิม อมาตยกุล) เดาว่า “นักเลงปี้ขา” นั่นคือ “นักเลงภิกขา” หมายความว่าขอเขามาเล่น ที่เป็น “ปี้ขา” ไป ก็เพราะพูดว่า “ภีกขา” แล้วก็กลายเป็น “ภี่ขา” ความเห็นนั้นฟังขึ้น แต่ได้อ่านหนังสือพิมพ์ประมวญวันเขาเดาว่า “ส้าระตะ” เป็น “สารตฺถ” คำนี้สงสัย

ข่าวล่วงแล้ว

๑๒) ทราบข่าวว่าหลานแมวเป็นโรคไส้ตันเหมือนหลานหมู ต้องไปผ่าท้องเพื่อรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ข่าวนี้ไม่ทำให้เกิดวิตกอย่างไร เพราะเด็กๆ เป็นขาขึ้น ไม่เหมือนกับคนแก่ซึ่งเป็นขาลง หญิงอี่หญิงอามกับแม่โตไปเยี่ยม ก็กลับมาบอกว่าหายแล้ว เขาจะเอาตัวปลิงออก เพราะการผ่านั้นเขาเอาตัวปลิงเกาะแผลไว้

๑๓) อ่านหนังสือพิมพ์เห็นไม่ดี นึกโทษเอาอะไรไปต่างๆ เป็นต้นว่า กระดาษมัว และตีพิมพ์ไม่ติดดี แต่ที่แท้ก็คือตาแก่เกินไปเท่านั้นเอง ในที่จะแก้ก็ใช้แว่นขยายส่องต่ออีกทีหนึ่ง เอาแว่นขยายไปไว้ในที่นอน ก็เพราะอ่านหนังสือพิมพ์ก่อนนอน แต่ลางอันก็ติดกับสิ่งอื่นซึ่งใช้อยู่ จะเอามากักไว้ก็ป่วยการธุระอื่น แต่ลางอันก็เห็นไม่ดีเพราะเจียรไนแก้วไม่ดี นึกถึงอันดีที่สุดก็นึกถึงที่วังวรดิศขึ้นมาได้ เป็นแว่นสำหรับดูหนังสือโดยจำเพาะ หญิงอี่จะไปวังวรดิศจึงให้ขอเอามา ไม่ใช่ขโมยหรือไม่ใช่ริบ อยู่ที่นั่นก็ไม่มีใครใช้ ที่จริงเป็นของชำรุดทิ้งแล้ว แต่ให้ไปซ่อมมาใช้ดังได้กราบทูลมาก่อนแล้ว และครั้งนี้ก็กราบทูลให้ทรงทราบไว้เสียด้วยอีกซ้ำหนึ่ง

ข่าวสด

๑๔) เมื่อวันจันทร์อันเป็นวันที่ดีดพิมพ์หนังสือเวรถวายนี้ เขาเอาลายพระหัตถ์เวรซึ่งลงวันที่ ๘ กันยายนมาส่ง มีปะปิดหัวท้ายซองทั้งสองด้าน ทั้งทางปีนังและทางกรุงเทพฯ จะกราบทูลสนองในคราวหน้าตามเคย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ