วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ถึงวันจันทร์ที่ ๑๐ แล้ว ลายพระหัตถ์เวรที่มาถึงปีนังเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๖ กุมภาพันธ์ ยังไม่มาถึงมือหม่อมฉัน วันจันทร์นี้ก็เป็นวัน “ธนาคารหยุดงาน” ด้วย อย่างเร็วก็จะได้รับลายพระหัตถ์ต่อวันอังคารพรุ่งนี้ ถ้าเขียนจดหมายตอบทันเวลาก็จะได้ทิ้งไปรษณีย์ ณ วันพุธเวลาเช้า ช้าไปวัน ๑ แต่ก็เห็นจะทันส่งคราวเมล์วันศุกร์ที่ ๑๔ ไม่ขาดกำหนด

ข่าวเบ็ดเตล็ดที่ปีนัง

ในสัปดาหะที่ล่วงมามีเหตุแปลกประหลาด ๒ อย่าง คือ

๑) เขาโจษกันว่าเห็นดาวหาง ในหนังสือพิมพ์ก็ว่าเห็นที่เกาะลังกา และที่อื่นอีก แต่ตัวหม่อมฉันไม่ได้เห็น เพราะคืนแรกเวลา ๒ ทุ่มเศษพอกินอาหารเสร็จแล้วยังนั่งอยู่ที่โต๊ะ เห็นชายหยดไปกระซิบบอกหญิงพูน ว่ากระไรหม่อมฉันก็ไม่ได้ยิน เห็นแต่หญิงพูนยิ้มแล้วก็นิ่งอยู่ ต่อวันรุ่งขึ้นจึงรู้ว่าพวกที่อยู่บนเรือนเขาเห็นดาวแปลกดูเหมือนเป็นดาวหาง จึงให้ชายหยดลงไปบอกหญิงพูน แต่ดูหมิ่นกันเสียว่า เธอเป็นเด็กจึงไม่มีใครเอะอะไปดู ในคืนหลังต่อมาจะดูก็เผอิญฝนตก ท้องฟ้ามืดไม่เห็นดาว รอมาจนถึงคืนฟ้าสว่างดาวหางก็หายไปเสียแล้ว

๒) เหตุอีกอย่าง ๑ นั้นเมื่อวันพุธที่ ๕ เวลาบ่าย ๔ โมงเศษฝนตกหนักเกิดลมบ้าหมูในทะเลพัดดูดน้ำขึ้นไปเป็นลำตาล Water Spout แล้วเลื่อนลงมาจากทางข้างเหนือ มาถูกเกาะปีนังที่ตรงโฮเต็ล E and O พัดกระเบื้องมุงหลังคาปลิวไปมาก และดูดเอาเก้าอี้และกระถางต้นไม้ในสนามริมเขื่อนลอยละลิ่วขึ้นไปด้วย แล้วลมนั้นเลยไปถูกโรงเรียนเซนต์ซาเวีย พัดเอาสังกะสีมุงหลังคาปลิวไปตกถึงถนนอื่น และดูดเอาต้นไม้ในสนามถอนรากขึ้นมาได้ต้นหนึ่ง นอกจากนั้นหาปรากฏว่าถูกอะไรเสียหายอีกไม่

๓) เมื่อตรุษจีนแล้วสัปดาหะหนึ่ง เวลาหม่อมฉันเข้านอนพอถึงเที่ยงคืนได้ยินเสียงจุดประทัดกึกก้อง ก็เคยรู้ว่าเขาจุดประทัดส่งเทวดาที่ลงมาให้พรมนุษย์ในเวลาตรุษจีนกลับไปสวรรค์ตามเคย แต่ครั้งนี้นึกขึ้นว่าที่ไทยเราเรียกว่า “วันส่ง” ตรุษและสงกรานต์เห็นจะเขามาจากประเพณีจีน แต่ของเขามีมูล น่าจะเป็นด้วยเราอยากเล่นเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกวัน ๑ ก็เอาชื่อวันส่งมาเรียก

หม่อมฉันอ่านพบในหนังสือเรื่องเมืองจีนอีกอย่างหนึ่ง คือคติที่ถือว่าฝ่ายซ้ายเป็นใหญ่กว่าฝ่ายขวานั้นเป็นคติของจีน แต่จะเป็นเพราะเหตุใดหามีอธิบายในหนังสือนั้นไม่

๔) กลางเดือน ๓ มีงานประจำปีที่นี่หลายอย่าง คือ พวกทมิฬแห่เทวรูปพระสุประมันยา คือพระขันธกุมาร ไปสมโภชที่เทวสถานถนนน้ำตก ๓ วัน และเป็นเวลาใช้บนของพวกทมิฬตามเคย ดังทูลพรรณนาไปแต่ปีก่อนๆ แล้ว หม่อมฉันก็ไปดูตลาดนัดที่หน้าเทวสถานตามเคย เห็นร้านของเครื่องทองเหลืองอย่างอินเดียมี ๔ ร้าน และมีร้านขายตุ๊กตาปั้นรูปแบบอินเดียเพิ่มขึ้นร้าน ๑ สั่งให้หยุดรถหมายจะลงไปเลือกหาของแปลกๆ ส่งไปถวาย แล้วกลับนึกขึ้นได้ว่าเวลานี้ส่งของยากกว่าแต่ก่อนก็สั่งให้ขับรถเลยไป

๕) งานกลางเดือน ๓ อีกอย่าง ๑ นั้น เป็นประเพณีที่ผู้ปกครองพาหญิงสาวขึ้นรถเที่ยวชมแสงจันทร์ เป็นโอกาสให้พวกชายหนุ่มเลือกคู่ ปีแรกๆ ที่หม่อมฉันมาอยู่เมืองปีนัง ตามบ้านมักแต่งโคมไฟฟ้า ผู้หญิงก็ไปในรถเปิดโถง แต่งตัวด้วยเครื่องเพชร์นิลจินดาสวยหรูหราเห็นได้ถนัด แต่เสื่อมมาโดยลำดับ เดี๋ยวนี้ตามบ้านก็ไม่ตกแต่ง ซ้ำรถยนต์ที่ใช้กันในปัจจุบันนี้ก็เป็นรถเก๋งมีแต่ “รูต่าง” ใครอยู่ในนั้นก็ไม่ใคร่เห็น จะแต่งตัวประดับประดาหรือไม่ก็ไม่ผิดกันอย่างใด สังเกตดูพวกผู้หญิงจะเปลี่ยนเป็นขึ้นรถเที่ยวในตอนบ่ายเสียมาก

๖) พระมหาภุชงค์กลับออกมาปีนังเมื่อสัปดาหะก่อน มาอยู่วัดศรีสว่างอารมณ์ด้วยกันกับพระมหาทองสุก กลับฟื้นทำพิธีมาฆบูชาเมื่อวันอังคารที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ บอกกำหนดงานมาว่าเวลา ๑๙.๐๐ น. จะสวดมนต์ เวลา ๑๙.๓๐ น. เทศนาทั้งภาษาไทยและภาษาจีนฮกเกี้ยน เวลา ๒๐.๐๐ น. เดินเทียน หม่อมฉันจะไปช่วยตามเคย

๗) หม่อมฉันได้เห็นหนังสือพิมพ์เมื่อวันที่ ๑๐ นี้ มีบอกอธิบายประดิทินจีน ว่าตั้งแต่ (ตรุษจีน) วันที่ ๒๗ มกราคมนี้ขึ้นปีใหม่เป็น “ปีงู” แล้วจาระนัย ๑๒ นักษัตรตามลำดับตรงกับของไทย ผิดกันแต่ปีมะโรงเขาว่าปีมังกร ปีมะแม เขาว่า “ปีแกะ” Ram ยังมีอธิบายแปลกออกไปว่า แต่โบราณจีนเอาสัตว์ต่างๆ เรียกเป็นชื่อ มีรอบใหญ่ ๖๐ ปีต่างกันทุกปี และเอาชื่อสัตว์ต่างๆ เรียกชั่วโมงประจำวัน และเรียกวันประจำเดือนต่างกันตามชื่อสัตว์ด้วย เขาเขียนตัวอย่างว่าเช่น จะบอกลงหนังสือเดินทางโดยประดิทินนั้นในเวลานี้จะต้องบอกว่า “เกิดเวลาหนู วันหมา เดือนวัว ในปีมังกร” ดังนี้ และว่าประดิทินนักษัตรนี้มีมาแต่ครั้งราชวงศ์ฮั่น ราว พ.ศ. ๓๓๗

สนองลายพระหัตถ์

ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ มาถึงหม่อมฉันต่อวันอังคารที่ ๑๑ จริงดังคาด แต่เขาเอามาส่งเช้ามีเวลาพอทูลสนองให้ทันคราวเมล์ได้

๘) แว่นตาของหม่อมฉันที่ทิ้งอยู่บนโต๊ะเขียนหนังสือที่วังวรดิศนั้นเป็นแว่นที่หม่อมฉันไม่ใช้แล้วทั้งนั้น คู่ใดเหมาะกับสายพระเนตร หม่อมฉันขอถวายด้วยความยินดี กรอบคู่ใดไม่โปรดก็จงเปลี่ยนตามพระอัธยาศัยเถิด

๙) รูปปรางค์เมืองสกลนครนั้น หม่อมฉันได้ทูลอธิบายไปแล้วในจดหมายฉบับที่ผ่านกับลายพระหัตถ์ฉบับนี้ พระปรางค์วัดระฆังสร้างเมื่อรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร มีจดหมายเหตุก่อฤกษ์ปรากฏอยู่ หม่อมฉันได้เคยพิจารณาลักษณะพระปรางค์ที่สร้างในเมืองไทย ดูเป็น ๒ อย่างต่างกัน อย่าง ๑ มีคูหาทุกชั้น เห็นได้ว่าแก้มาแต่แบบปรางค์เขมรอันมูลเป็นเทวสถาน อีกอย่าง ๑ มีแต่กลีบบัว ซึ่งเรียกกันว่ากลีบขนุนไม่มีคูหาตามชั้นอย่างนี้เป็นปรางค์ไทย มูลน่าจะมาแต่พระสถูป หรือว่าอีกอย่าง ๑ ปรางค์เขมรสร้างเป็นวิมานเทวดาในชั้นฟ้า ปรางค์ไทยสร้างเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุมีรูปยักษ์รูปครุฑล้อมตามเรื่องเทพชุมนุมและมีเทวดาอยู่รักษาประจำอยู่ทุกทิศ ดังนี้ คนโบราณที่ให้แบบอย่างอาจจะคิดด้วยมีความรู้ แต่คนอื่นโดยมากขาดความรู้ก็ได้แต่ทำตามอย่างของที่มีแล้ว และยังมีพวกมักง่ายเอาแต่ความสะดวกเป็นประมาณ เครื่องหมายหลักฐานจึงเลือนมา

๑๐) หม่อมฉันไม่เคยได้ยินว่ามพระราชยานกงหุ้มทองคำ เคยเห็นในหนังสือเรื่องเลียบพระนครครั้งรัชกาลที่ ๔ ว่าโปรดให้กรมสมเด็จพระเดชาดิศร ทรง “เสลี่ยงกง” (สันนิษฐานว่าจะเอายานมาศผูกคานหาม ๘ คน) ตามเสด็จในกระบวน เพราะมีในหนังสือพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ อีกแห่ง ๑ ว่าเมื่อครั้งโสกันต์พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าศรีพัฒนา กับพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าโตสินี (ทำลดหย่อนลง) โปรดให้ทำเสลี่ยงอย่างใหม่ แก้ยานมาศลดชั้นรูปสัตว์เสียผูกคานหาม ๘ คน แห่ทางข้างในอย่างโสกันต์พิธีตรุษ อธิบายเหล่านี้ชวนให้เห็นว่าศักดิ์เสลี่ยงกงต่ำกว่ายานมาศ และหาใช้เป็นราชยานไม่ น่าที่คนจะหลงเรียกพระที่นั่งพุดตานทองคำที่ทูลกระหม่อมทรงประดิษฐ์ขึ้นว่า พระเสลี่ยงกงดอกกระมัง ที่จริงคำว่า “กง” เป็นของสำหรับทรงพิงและวางพระกรก็มีในราชยานทุกอย่าง ตั้งแต่พระราเชนทรยานลงมา

๑๑) ที่ตรัสถามว่าลองพระโกศกุดั่นเมื่อทรงพระศพสมเด็จพระพี่นาง หุ้มทองใบหรือไม่นั้น หม่อมฉันค้นพบความเป็นหลักฐานในหนังสือพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ตอนเมื่อกรมพระราชวังบวรฯ สวรรคตว่า “เชิญพระศพประดิษฐานในพระโกศไม้สิบสอง ซึ่ง (กรมพระราชวังบวรฯ) ทรงพระราชดำริจัดไว้เมื่อประชวรหนัก โปรดให้รื้อเอาทองคำที่หุ้มพระโกศกุดั่นใหญ่กุดั่นน้อย ซึ่งทรงพระศพสมเด็จพระพี่นางทั้งสองพระองค์นั้น มาหุ้มพระโกศกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และพระโกศกุดั่นใหญ่กุดั่นน้อยนั้น โปรดให้ลงรักปิดทองประดับกระจกไว้สำหรับทรงพระศพเจ้านาย” ดังนี้

เขียนแล้วเพียงนี้พอเวลาเที่ยงวันอังคาร ทันส่งให้ดีดพิมพ์ได้ในภายกำหนด

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ