วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๗ ตุลาคมแล้วตามเคย

สนองลายพระหัตถ์

๑) หม่อมฉันสังเกตดูคำต่างๆ ที่เอามาใช้นำหน้าชื่อ ดูเลือกล้วนคำที่หมายความว่า “เลิศ” คือข้างฝ่ายสูงกว่าผู้อื่นมาใช้ทั้งนั้น ดังเช่นคำ “อ้าย” “อี่” ก็แสดงว่าเลิศชั้นน้อง “พ่อ แม่” ก็แสดงว่าเลิศกว่าชั้นลูก “นาย นาง” ก็แสดงว่าเลิศกว่าชั้นบ่าวไพร่ “เจ้า” ก็แสดงว่าเลิศกว่าชั้นบริวารชน “คุณ” ก็แสดงว่าเลิศด้วยเป็นผู้ให้ประโยชน์แก่ผู้อื่น “หม่อม” ก็แสดงว่าเป็นผู้มีสกุลสูง เดิมน่าจะใช้เพื่อยกย่องบุคคลหรือจำพวกด้วยเติมคำนำชื่อเช่นนั้น ต่อภายหลังจึงใช้กันแพร่หลายไปจนฟั่นเฝือ จนถึงถือกันว่าคำหน้าชื่อบางคำเช่นอ้ายอีสำหรับเพิ่มหน้าชื่อคนชั้นเลวทราม แม้จนโจรผู้ร้ายหรือจะด่าว่ากันก็เอาคำอ้ายอีเพิ่มเข้าข้างหน้าชื่อ แต่คำว่า “หม่อม” นั้นคงมาแต่ “กระหม่อม” หมายความว่า หัวเป็นคำเก่ามาก เจ้าเมืองไทยใหญ่เช่นเมืองเชียงตุงเป็น “เจ้าฟ้า” ถ้าเป็นเมืองน้อย เช่นเมืองเชียงแขงเป็น “เจ้าหม่อม” ประหลาดที่การใช้คำนำหน้าชื่อแปรปรวนมาจนสมัยนี้ เช่นใช้คำว่า “คุณ” หม่อมฉันได้ยินว่าเดี๋ยวนี้ใช้กันแทนคำว่า “นาย” อยู่แทบทั่วไปแล้ว

ที่เรียกชื่อแต่พยางค์เดียว หม่อมฉันยังนึกชื่อได้อีก เช่นเรียกพระเทวพรหมาว่า “พระเท” เรียกพระยามานวราชเสวีว่า “พระยามาน” เสียงพ้องกับพระยามาร ดูไม่ไพเราะเลย แต่ก็ไม่ถือกัน นึกได้ชื่อ ๑ พระสรสาตรพลขันธ์ (สมบุญ) เคยเล่าให้หม่อมฉันฟังว่า เมื่อทูลกระหม่อมจะทรงตั้งสมเด็จพระสังฆราชวัดราชประดิษฐ์ เมื่อยังเรียกกันว่าอาจารย์สา ให้เป็นพระราชาคณะ ทรงประดิษฐ์ราชทินนามเอานามเดิมของท่านขึ้นต้นแล้วต่อสร้อยว่า พระสาสนดิลกนาม ๑ พระสาสนโสภณนาม ๑ โปรดให้พระสรสาสตร์ไปถามว่าท่านจะชอบนามไหน ท่านว่านามสาสนดิลกนั้นสูงนัก ขอรับพระราชทานเพียงนามสาสนโสภณก็ได้นามนั้น คนทั้งหลายเรียกกันโดยย่อว่า “เจ้าคุณสา” ได้ความเข้าที แต่มาถึงพระสาสนโสภณองค์หลังๆ เรียกว่าเจ้าคุณสา กลายไปเป็นย่ออย่างเดียวกับพระเทและพระยามาน แต่ประหลาดอยู่ที่การเรียกชื่อย่อไม่เรียกแต่พยางค์เดียวไปทั้งนั้นเอาไว้ ๒ พยางค์ ๓ พยางค์ก็มีมาก เช่นชื่อหม่อมฉันเองก็เรียก “ดำรง” ไม่เรียกแต่ว่า “ดำ” พระนามสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ก็เรียกว่า “เทววงศ์” ไม่เรียกว่า กรมเท เหมือนอย่างพระเท สังเกตต่อไปถึงเรียกชื่อคนในเรื่องละครมีชื่อถึง ๓ พยางค์เช่น อุนากรรณ ๔ พยางค์เช่น กะหมังกุหนิง ๕ พยางค์เช่น สุวรรณกันยุมา ก็เรียกกันเต็มชื่อเสมอ เอาอะไรเป็นเกณฑ์เรียกชื่อย่อน่าพิศวงอยู่

๒) ว่าถึงคำที่เกิดขึ้นใหม่ ดูเกิดแต่มูล ๒ อย่าง คือเพื่อจะให้ไพเราะ หรือว่าอีกอย่าง ๑ โดยไม่จำเป็น เช่นเปลี่ยนคำ “กิน” ไปต่างๆ อย่าง ๑ อีกอย่าง ๑ เพราะไม่มีคำภาษาไทยจะใช้ให้ตรงกับศัพท์ภาษาฝรั่ง หรือว่าอีกอย่างโดยจำเป็น เช่นเมื่อร่างประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ จะต้องหาคำภาษาไทยให้ตรงกัน Inn และ Hotel ทูลกระหม่อมชายท่านหาคำว่า “โรงแรม” มาแปลเรียกอินน์ได้ แต่คำโฮเต็ลหาคำแปลไม่ได้ ต้องใช้ทับศัพท์เดิมว่า โฮเต็ล ในประมวลกฎหมาย มาถึงสมัยนี้ดูมีคำจำพวกที่แปลจากศัพท์ฝรั่งเกิดขึ้นมาก แต่สังเกตดูคำที่เกิดใหม่นั้นเป็นภาษามคธแทบทั้งนั้น หรือว่าอีกอย่าง ๑ แปลศัพท์ภาษาของคนชาติ ๑ ไปเป็นภาษาของคนอีกชาติ ๑ ซึ่งเรารู้มากกว่า มิใช่แปลเป็นภาษาไทย หม่อมฉันเห็นศัพท์ตั้งใหม่เมื่อใดต้องค้นหาศัพท์ภาษาฝรั่งเศสสอบอยู่เสมอ แต่ว่านานเข้าก็คงชินไปเอง

๓) เรื่องแม่น้ำลำคลองในจังหวัดกรุงศรีอยุธยา ความรู้หม่อมฉันเป็นรองพระยาโบราณฯ ดูเหมือนแกเขียนอธิบายไว้ในหนังสือเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว คลองบางหลวงอ้ายเอียงนั้นเห็นจะเป็นคลองขุดจึงขึ้นชื่อว่า “บาง” หมายว่าเป็นคลองตันอยู่ก่อน แม่น้ำน้อยแต่ก่อนลงมาออกบางไทรทางตำบลสีกุกแต่ทางนั้นเดี๋ยวนี้ตื้นจวนจะตันอยู่แล้ว เพราะสายน้ำแปรมาไหลแรงทางคลองบ้านกุ่มมาออกที่ภูเขาทอง แพซุงซึ่งเคยล่องทางสีกุกเดี๋ยวนี้ก็มาล่องทางคลองบ้านกุ่มนั้น หม่อมฉันได้เคยเห็นตั้งแต่ยังเป็นคลองแคบ จนน้ำกัดกว้างออกไปเป็นลำแม่น้ำภายในเวลา ๑๐ ปีเท่านั้น ว่าโดยย่อแม่น้ำลำคลองในแขวงจังหวัดกรุงศรีอยุธยาเป็นอาจินตัย ทูลไม่ถูก

๔) บรรดาหนังสือเรื่องประวัติของศาสดาผู้ตั้งศาสนาไม่เลือกว่าศาสนาใดๆ ที่แต่งในคัมภีร์ในศาสนาล้วนพรรณนาปาฏิหาริย์เป็นสำคัญ ทั้งความที่เป็นเรื่องประวัติมีน้อย เหมือนกันทุกศาสนา เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น คิดดูก็พอเห็นได้ เพราะในเวลาเมื่อตัวศาสดายังอยู่สาวกยังมีน้อย และสาวกล้วนเป็นผู้ที่อยู่ใกล้รู้จักทั้งตัวทั้งชาติตระกูลกับทั้งประวัติของศาสดาเจนใจ ไม่ต้องหาความรู้ในเรื่องนั้น เป็นแต่คอยฟังคำสั่งสอนและปฏิบัติตามกับช่วยสอนผู้อื่น ต่อเมื่อสิ้นตัวศาสดาแล้ว คนถือศาสนาในชั้นหลังมาจึงต้องถามถึงศาสดาว่า “ท่านเป็นอย่างไร” ผู้ที่เคยเห็นก็เลือกเอาคุณความดีของศาสดามาเล่า ว่าท่านดีอย่างนั้นๆ เป็นบุรุษพิเศษผิดกับคนสามัญด้วยอย่างนั้นๆ ยิ่งนานมาเมื่อศาสนานั้นถือกันแพร่หลายไปถึงชนต่างชาติ ต่างประเทศ คุณวิเศษของศาสดาที่พรรณนาก็ยิ่งพิสดารขึ้น จนถึงเกินกว่าธรรมดามนุษย์ เพราะทั้งผู้เล่าและผู้ฟังเชื่อว่าศาสดาเป็นบุรุษพิเศษผิดสามัญมนุษย์ จึงเกิดเรื่องปาฏิหาริย์ต่างๆ หนังสือที่แต่งเมื่อเชื่อปาฏิหาริย์กันอยู่มั่นคงแล้ว ก็ต้องแต่งไปตามความเชื่อถือกันในสมัยที่แต่งนั้นและยังเชื่อกันมั่นคงโดยมากสืบมาจนบัดนี้เหมือนกันทุกศาสนา ความคิดค้นเรื่องประวัติแต่ที่อาจจะเป็นได้จริงเป็นของใหม่อย่างว่า เกิดขึ้นเมื่อวานซืนนี้ ความเชื่อปาฏิหาริย์มีตัวอย่างน่าพิศวงอยู่จนในรัชกาลที่ ๔ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์แต่งหนังสือ กิจจานุกิจ ก็ว่าตั้งใจจะแต่งตามความรู้สมัยใหม่ ยังพยายามที่จะพิสูจน์ว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จขึ้นไปจำวัสสาอยู่ในดาวดึงส์จริงๆ

เรื่องพุทธประวัติที่เอามาแต่งเป็นหนังสือเรื่องต่างๆ เช่นปฐมสมโพธิ์เป็นต้น ดูเหมือนจะเก็บเอามาจากนิทานวัจนะข้างต้นพระสูตรเป็นพื้น นักปราชญ์ฝรั่งเขาก็ค้นกันมาก มีพุทธประวัติที่ฝรั่งแต่งก็หลายเรื่อง ที่แต่งดีน่าอ่านก็มี ฉบับภาษาจีนที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ได้มาถ้าแปลออกก็เห็นจะพบแต่ปาฏิหาริย์เต็มไปทั้งนั้น

๕) ชื่อวัดสังกระจายนั้นชอบกลมาก วัดนั้นเป็นวัดโบราณสร้างแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เป็นแต่ทรงปฏิสังขรณ์ให้เป็นวัดคุณเสือ เพราะฉะนั้นชาวกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้ให้ชื่อ เขาจะเอาอะไรเป็นมูล ข้อนี้เข้าใจกันนัยหนึ่งว่า เอานามพระมหาเถร “กจายนะ” ซึ่งคนชอบเรียกกันว่าพระสังกะจาย มาให้เป็นชื่อวัด คนจึงเรียกกันโดยมากว่า “วัดสังกระจาย” แต่เข้าใจกันอีกนัยหนึ่งว่า เพราะหอยสังข์แตกตกอยู่ตรงที่สร้างวัดนั้น จึงเอานิมิตให้ชื่อว่า “วัดสังข์กระจาย” เช่นเรียกเป็นคำหลวง อธิบายที่ตรัสว่าแต่งไว้เป็นโคลงติดไว้ที่ฝาผนังในโบสถ์ จะว่ากระไรหม่อมฉันไม่เคยเห็น แต่นึกว่าชื่อที่ถูกเห็นจะมาแต่ “กจายนะ” คือคัมภีร์มูลเวยยากรณ์ที่พระมหาเถรกจายนะ เป็นผู้แต่ง เรียกกันว่า “มูลกะจายน์” เพราะเหตุที่วัดนั้นเป็นแหล่งสอนคัมภีร์มูลกะจายน์ หรือมิฉะนั้นก็เพราะมีใครสร้างรูปพระสังกระจายท้องพลุ้ยองค์ใหญ่ไว้ในวัดนั้น จึงเอาเป็นนิมิตเรียกชื่อวัด แต่ที่อ้างว่าหอยสังข์แตกเป็นมูลของชื่อวัดนั้น หม่อมฉันเห็นว่าห่างเหินเกินไปนักไม่อยากเชื่อ

๖) หม่อมฉันยินดีที่หญิงหลุยคลอดลูกเรียบร้อย ด้วยนึกวิตกอยู่ตั้งแต่เธอเจ็บท้องขึ้นกลางคันครั้ง ๑ น่าพิศวงที่เดี๋ยวนี้หมออาจจะสั่งให้คลอดลูกได้ หม่อมฉันนึกชอบหมอคนนั้นทั้งยังไม่รู้จักตัวเขา ได้แต่นึกอำนวยพรให้เขามีชื่อเสียงยอดเยี่ยมด้วยการผดุงครรภ์ต่อไปภายหน้าเทอญ

คำที่เรียกว่า “แม่ซื้อ” นั้นตรงกับผู้ได้ทำพิธีเช่นคุณโตรับลูกหญิงหลุย เพราะแปลได้ทั้งคำ “แม่” และ “ซื้อ” แต่ที่เรียกแม่ผีว่าแม่ซื้อนั้นหม่อมฉันจะลองแปลแข่งกรมหมื่นจรัสพรว่า ที่ถูกจะเป็น “แม่สื่อ” ดอกกระมัง หมายความว่าเป็นผู้ที่พาลูกมาให้ แต่เสียงซื้อกับสื่อใกล้กันจึงกลายเป็นคำเดียวกันไป เพราะผีไม่มีกิจเกี่ยวข้องกับการซื้ออย่างหนึ่งอย่างใดเลย

๗) เมื่อหม่อมฉันเขียนวินิจฉัยเรื่องปราสาทวิหารสมเด็จได้เคยนึกว่าอาจจะพิสูจน์ได้ด้วยตรวจดูซากปราสาทนั้น ว่าเป็นยอดปรางค์หรือมิใช่ ถ้าเป็นยอดปรางค์คงมีเสาก่อรับยอด ถ้ายอดไม้คงไม่มีเสาก่อรับ แต่เมื่อนึกต่อไปว่าจะได้ใครไปพิสูจน์ สิ้นพระยาโบราณฯ เสียแล้วก็จนใจ มาได้เห็นในลายพระหัตถ์ตรัสว่าท่านได้เคยทรงตรวจเองเห็นมีรอยเสาก่อ ๔ ต้น หม่อมฉันก็เป็นอันสิ้นสงสัย เชื่อว่าปราสาทวิหารสมเด็จคงเป็นยอดปรางค์เป็นแน่

๘) หม่อมฉันเคยพบในหนังสือซึ่งพระยาอนุมานแต่ง เขาค้นได้ความว่าแต่ก่อนจีนเรียกชาวประเทศที่อยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงว่า กาวจี๋ คำนี้เป็นมูลของคำว่า “ลาวกาว” ตรงตามพระดำริเป็นแน่ หม่อมฉันก็ได้อนุมัติแล้ว คำว่า “แอ่ว” หมายความว่า “เที่ยว” นั้นก็เคยได้ทราบ ที่เอามาใช้หมายความว่าขับร้องนั้น อธิบายว่าตามประเพณีของไทยพวกเหนือ เวลาค่ำเขาตามไฟไว้ที่นอกชานเรือนและปล่อยให้ลูกสาวนั่งปั่นฝ้ายอยู่จนถึงเวลาเข้าเรือนนอน พวกเจ้าหนุ่มที่หาเมียก็พากันไป “เที่ยว” ตามละแวกบ้านในเวลานั้น ชอบใจสาวคนไหนก็ขับลำนำเกี้ยวพาน ถ้าเจ้าสาวชอบก็ขึ้นไปนั่งพูดด้วยได้ จนสิ้นเวลา ประเพณีไทยใต้เดิมก็น่าจะเหมือนกันเช่นนั้น จึงเป็นมูลของร้องดอกสร้อยสักรวาแล้ว กลายมาเป็นเพลงยาว

๙) การฉลองพระนาคหลวงแต่ก่อนมา เจ้านายที่ทรงผนวชทั้งเป็นพระภิกษุและสามเณร ได้รับนิมนต์เข้าไปนั่งต่อแถวพระราชาคณะฉันที่พระพุทธรัตนสถานในวันทรงตักบาตรน้ำผึ้ง เขาว่าเป็นการฉลอง ส่วนพระภิกษุนาคหลวงที่มิใช่พระองค์เจ้านั้น ได้รับนิมนต์ฉันที่พระมหาปราสาทในพิธีสารท ว่าเป็นการฉลองเหมือนกัน ที่ทำเป็นงานพิเศษดูเหมือนแรกมีในรัชกาลที่ ๕ แต่ก็นึกไม่ออกว่าฉลองเจ้านายพระองค์ไหนเมื่อทรงผนวช

ข่าวทางปีนัง

๑๐) ตั้งแต่วันพุธที่ ๘ จนวันศุกร์ที่ ๑๐ นี้ ฝนตกหนาบ้างบางบ้างทั้งกลางวันกลางคืนตลอด ๔ วัน ตามที่ราบน้ำฝนไหลลงรางข้างถนนไม่ทัน น้ำท่วมสนามและถนนตามที่ต่ำแทบทั่วไป ที่บนเขาน้ำก็กัดถนนและไหล่เขาพังทลายหลายแห่ง ตามลำธารน้ำก็ท้นกัดสะพานและตลิ่งพังต้นไม้โค่นลงน้ำ ตั้งแต่หม่อมฉันมาอยู่ยังไม่เคยเห็นเหมือนครั้งนี้ สวนลิงก็ต้องปิดไม่ให้รถเข้ามาสามสี่วันแล้ว เพราะน้ำในลำธารกัดสะพานพังถึง ๒ แห่ง รอดตัวแต่ที่เขาทำรางน้ำดี น้ำท่วมอยู่เพียงสามสี่ชั่วโมง ก็ลดไหลออกทะเลไปได้หมด

แถม

๑๑) เดิมหม่อมฉันคิดว่าสัปดาหะนี้จะทูลบรรเลงว่าด้วย Vitamins ซึ่งเพิ่งพบอธิบายในหนังสือพิมพ์ แต่เมื่อลงมือเขียนแล้วเกิดติดศัพท์ภาษาหมอสองสามศัพท์ จะต้องค้นหาคำแปลจึงเขียนไม่ทันต้องรอไว้คราวหน้า แต่ยังมีวินิจฉัยเรื่องพระสังกระจายซึ่งเพิ่งคิดเห็นเมื่อดีดพิมพ์จดหมายฉบับนี้แล้ว จึงเขียนทูลแถมในท้ายจดหมาย

พระสังกระจายนั้นเรียกกันเป็น ๒ อย่างเรียกว่า“กจายน”อย่าง ๑ เรียกว่า “สังกจาย” อย่าง ๑ พระกจายนะเป็นพระอรหันต์ซึ่งนับในพระสาวก ๘ ทิศองค์ ๑ กล่าวกันว่าเดิมรูปโฉมท่านละม้ายคล้ายพระพุทธเจ้าถึงคนสำคัญผิดตัว ท่านจึงทำปาฏิหาริย์แปรรูปให้อ้วนพีท้องพลุ้ยเสียโฉม มิให้คล้ายพระพุทธองค์ รูปพระศรีอารยเมตไตรของจีนก็ทำเป็นรูปพระท้องพลุ้ยเช่นเดียวกับรูปพระกจายนะ น่าที่มูลจะมาแต่รูปเดียวกันแต่แต่งอธิบายขึ้นประกอบต่างกัน ใครคงเอาอย่างใครฝ่าย ๑ มิใช่คิดขึ้นพ้องกัน กล่าวกันอีกอย่าง ๑ ว่าพระกจายนะเป็นผู้แต่งคัมภีร์มูลเวยยากรณ์ภาษามคธ แต่คัมภีร์มูลนั้นน่าจะเป็นของเกิดขึ้นภายหลังพุทธกาลช้านาน คือเมื่อเขียนพระไตรปิฎกลงเป็นหนังสือเกินเวลาที่องค์พระกจายนะอรหันต์จะมีอายุอยู่ได้ เพราะฉะนั้นน่าจะเป็นพระ ๒ องค์ชื่อ กจายนะ พ้องกันดอกกระมัง จึงเอาคำ “สังข” นำหน้านามพระกจายนะองค์หลังเพื่อให้ผิดกับองค์แรก อันเป็นประเพณีมีปรากฏอยู่ในคัมภีร์ต่างๆ เช่นธรรมบทเป็นต้น ว่าชอบใช้กันแต่โบราณ จึงได้ชื่อว่าพระสัง (ข์) กจายน์ หมายความว่า พระกจายนะองค์ขาวเท่านั้นเอง แต่เราเอามาปนกันไปเสียจึงยุ่ง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ